โละคำสั่งคุมจว.
ปชป.ยอมสงบศึก

‘บิ๊กตู่’ ยันสัมพันธ์พรรคร่วมรัฐบาลแน่นแฟ้น ยังร่วมมือทำงานเข้มแข็ง ทีมโฆษกรัฐบาลแจงอีกนายกฯ ไม่ได้รวบอำนาจแก้โควิด แค่โอนมาชั่วคราว เพื่อให้ประชุมสั่งการแก้ปัญหาได้ทันที ‘จุรินทร์’ ย้ำปัญหาคำสั่งนายกฯ แบ่งงาน รมต.คุมโซนจังหวัด จบแล้ว ยุติความเห็น ไม่ตรงกัน เผยเบื้องหลังนายกฯ โละคำสั่งใหม่ กลับมาใช้ฉบับเดิม เพราะหวั่นฝ่ายค้านโจมตี หาว่าแบ่งเค้กกับพรรคการเมือง ส่วนเรื่อง รธน. ‘เสรี’ ย้ำแก้ไม่ได้แน่ หากยังมีการเสียดสีส.ว.

‘บิ๊กตู่’ยันพรรคร่วมแน่นแฟ้น

เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่สื่อมวลชน ได้ตั้งคำถามถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ถึงความแน่นแฟ้นของพรรคร่วมรัฐบาลหลังเกิดความระหองระแหงขึ้นนั้น พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่าพรรคร่วมรัฐบาลยังมีความมุ่งมั่นร่วมมือกันทำงานและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับประชาชนว่า นายกฯ และพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดยังทำงานด้วยความเข้มแข็ง

ส่วนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 เม.ย. เห็นชอบการกำหนดอำนาจรัฐมนตรีตามกฎหมาย ใน 31 พ.ร.บ. ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกฯ นั้น เป็นการโอนอำนาจหน้าที่ชั่วคราว ไม่ได้โอนอำนาจหน้าที่ในส่วนของคณะกรรมการตามกฎหมายมาเป็นของนายกฯ หมายความว่าในพ.ร.บ.ทั้ง 31 ฉบับ คณะกรรมการในชุดต่างๆ ยังทำงานได้ตามปกติ โดยมีรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาหรือเป็นประธานคณะกรรมการตามเดิม ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ เว้นแต่มีกรณีใด หรือคณะกรรมการชุดใดที่นายกฯ อาจเข้าไปดำเนินการหรือเข้าประชุมร่วมหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เพื่อให้ประชุมและสั่งการได้ทันที

ที่มีเพิ่มขึ้นมาคือ การประกาศว่าให้นำเสนอ ปัญหาอุปสรรคและวิธีการแก้ปัญหาทุกประการ ให้นายกฯ ในฐานะผอ.ศูนย์บริหารสถานการณ์ แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รับทราบทุกครั้ง ทั้งเรื่องหน้ากาก อนามัย เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโควิด-19 เรื่องยา ฟาวิพิราเวียร์ เรื่องขออนุญาต การขึ้นทะเบียน การนำเข้า การจัดหาหรือการติดต่อกับต่างประเทศ รวมทั้งการจัดสรรวัคซีน การจัดหาออกซิเจน จำนวนเตียงผู้ป่วยหนัก ในสถานพยาบาลการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม การรับแจ้งเหตุเกี่ยวกับผู้ป่วยการอำนวยความสะดวกและการบริการลำเลียงผู้ป่วย การควบคุม เส้นทางคมนาคม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

เปล่ารวบอำนาจแก้โควิด

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจํา สํานักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การกำหนดอำนาจ รัฐมนตรีตามกฎหมาย ใน 31 พ.ร.บ. ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกฯ นั้น ยืนยันไม่ใช่ ควบรวมอำนาจของนายกฯ และไม่ได้ลดบทบาทของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ก่อนมีมติครม.ดังกล่าว ได้หารืออย่างรอบด้านรัดกุม เพื่อให้คำสั่งแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 เป็นไป ด้วยความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูงสุด จะต้องมีการมอบอำนาจ 31 พ.ร.บ.ให้นายกฯ ซึ่งรัฐมนตรีทุกคนเห็นด้วยว่าจะช่วยให้การแก้ปัญหามีความคล่องตัวมากขึ้น ถือเป็นการลดช่องว่างในการแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดี

ในการประชุม ศบค.เมื่อวันที่ 29 เม.ย. พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันต่อที่ประชุมว่า ไม่ได้ต้องการรวบอำนาจ แต่เพื่อความรวดเร็ว ในการทำงาน นายกฯ มีอำนาจเพียงการสั่งการตามหน้าที่และความรับผิดชอบ ส่วนการดำเนินงาน ยังเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เปิดใจว่า ไม่เคยรู้สึกว่านายกฯ รวบอำนาจ ซึ่งการทำงานร่วมกันเกือบ 2 ปี เป็นไปด้วยดี มีการพูดคุยหารือ กันตลอด และยังจะทำงานร่วมกันต่อไป เพื่อแก้ไขสถานการณ์นี้ให้ได้โดยเร็ว

ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นรัฐบาล

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงในที่ประชุมครม.ว่าการมอบอำนาจรัฐมนตรี เฉพาะส่วนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่เกี่ยวกับคณะกรรมการอื่น ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ เพื่อแก้ไขปัญหาทำงานความล่าช้า รวมถึงแก้ปัญหา ข้อสั่งการข้ามกระทรวง

“ภาพรวมการทำงานของรัฐบาลมีเอกภาพ นายกฯและรัฐมนตรี ได้ประสานงานกันตลอด เวลา ไม่ว่าจะเป็นจากข้อสั่งการตามระบบบริหาร ราชการ โทรศัพท์ และแอพพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งการระดมทุกสรรพกำลังเพื่อแก้ไขสถานการณ์ วิกฤต ให้ประเทศไทยผ่านพ้นช่วงเวลา ยากลำบากโดยเร็ว ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า รัฐบาลมุ่งสร้างประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชน แนวทางการแก้ไขสถานการณ์ของรัฐบาล จะช่วยให้สถานการณ์นี้คลี่คลายได้” น.ส.ไตรศุลีกล่าว

‘จุรินทร์’ลั่นรมต.คุมจังหวัดจบแล้ว

ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ให้สัมภาษณ์ถึงนายกฯ ยกเลิกคำสั่งมอบหมายรัฐมนตรี รับผิดชอบภารกิจขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ในแต่ละจังหวัด โดยให้รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบในเขตจังหวัด แต่ส.ส.ภาคใต้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะเคลื่อนไหวกดดันให้รัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐได้ดูแลพื้นที่ภาคใต้ว่า เรื่องดังกล่าวตนไม่ได้คุยกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะเข้าใจว่า เป็นเรื่องของ รัฐบาล และนายกฯ ไม่ได้แจ้งอะไร แต่ตนหารือ กับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่เห็นตรงกันว่า การออกคำสั่งดังกล่าว น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุดแล้วในสถานการณ์นี้ เรียกได้ว่าเรื่องนี้จบแล้วก็น่าจะได้ ถัดจากนี้หากจะมีการเปลี่ยนแปลง จะมีการหารือกัน เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาโดยไม่จำเป็น

ผู้สื่อข่าวถามว่าถือว่าเรื่องนี้เข้าใจกันดีแล้วใช่หรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า ถือว่าจบได้ อย่างน้อยที่สุดในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนนายกฯได้ส่งสัญญาณใดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำสั่งหรือไม่นั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า นายกฯได้แจ้งในที่ประชุมแล้ว ถึงการแบ่งงานให้รองนายกฯ รับผิดชอบในเขตจังหวัด แทนการแบ่งให้รัฐมนตรีไปดูแล จึงเป็นการยกเลิก และยุติความเห็นที่ไม่ตรงกัน

เผยเหตุนายกฯฉีกคำสั่ง

“ขณะนี้นายกฯพยายามแก้ไขปัญหา ไปที่ละเปลาะ น่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น สำคัญที่สุดคือ พรรคร่วมรัฐบาลต้องช่วยกันแก้ปัญหาของประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน เพราะตอนนี้รัฐบาลต้องเผชิญทั้งปัญหาเศรษฐกิจ โควิด และปัญหาทางการเมือง แต่ผมมั่นใจว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาได้ แม้ทั้งสามปัญหาจะสัมพันธ์กัน แต่สุดท้าย น่าจะมีทางออกในการแก้ปัญหาร่วมกันได้” นายจุรินทร์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าจากปัญหาดังกล่าวจะมีการยุบสภาในช่วงปลายปีนี้หรือไม่ นายจุรินทร์ได้แต่หัวเราะ ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม เมื่อถามว่า การทำงานร่วมกันของรัฐบาลยังเป็นเอกภาพอยู่หรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า วันนี้การทำงาน ยังเป็นเอกภาพอยู่ ตามที่ตนบอกว่าเราเป็นรัฐบาลผสม

รายงานข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า แกนนำพรรคได้รับแจ้งถึงเหตุผลการออกคำสั่งนายกฯ ฉบับล่าสุด เนื่องจาก นายกฯ มองว่าจำเป็นต้องทำเช่นนี้ เพื่อป้องกัน ไม่ให้รัฐบาลถูกโจมตีจากฝ่ายค้าน ที่นำเรื่องดังกล่าวไปเปิดประเด็นว่า เป็นการแบ่งเค้กกันเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของพรรค ขณะเดียวกันใกล้ถึงช่วงที่สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 แล้ว รวมทั้งรัฐบาล ถูกจับตาเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณในการ แก้ปัญหาและผลกระทบจากโรคโควิด-19

จี้ฝ่ายค้านร่วมมือฝ่าวิกฤต

ด้านนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญติดตามการใช้ งบประมาณโควิด-19 กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เรียกร้องรัฐบาลทบทวนการใช้จ่ายงบประมาณ ที่มีอยู่ว่าโครงการใดยังไม่ได้เบิกจ่ายหรือโครงการใดดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อจะได้เร่งนำงบที่เหลืออยู่มาเยียวยาประชาชน ในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้การเยียวยาและดูแลประชาชนตรงกลุ่มเป้าหมายและตรงตามวัตถุประสงค์ของพ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ ส่วนกมธ.จะนัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นเพื่อทำเป็นข้อเสนอในนามของกมธ. ส่งต่อไปยังพล.อ.ประยุทธ์ ให้ปรับแผนการเยียวยาต่อไป

ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านเรียกร้องให้นายกฯ ลาออกนั้น ไม่เกิดประโยชน์ แต่จะทำให้สถานการณ์แย่ลง เพราะกระบวนการเลือก นายกฯใหม่ หรือตั้งรัฐบาลใหม่ ต้องใช้เวลา แล้วช่วงสุญญากาศ ใครจะมาดูแล ใครจะเป็นผู้บริหารจัดการ วันนี้สิ่งสำคัญคือ การร่วมกันระหว่างฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล หน่วยงานราชการ ที่เกี่ยวข้อง ฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน และขอเรียกร้องฝ่ายค้านว่า ขอให้ยุติข้อเรียกร้อง ที่เป็นประเด็นทางการเมืองและไม่เกิดประโยชน์กับประชาชนหรือเกิดประโยชน์กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไปก่อน เชื่อว่าฝ่ายค้านส่วนใหญ่หวังดีกับประชาชน

เพื่อไทยบี้‘บิ๊กตู่’ลาออก-ยุบสภา

นายวิสาร เตชะธีราวัตน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์รวบอำนาจในการบริหารสถานการณ์โควิด-19 โดยอ้างว่าเพื่อการบริหารจัดการที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทั้งที่พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจเต็ม มานานแล้ว ตั้งแต่การจัดการ ศบค.รวมทั้งออกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ที่ผ่านมาล้มเหลวทั้งระบบ ไม่สามารถระงับยับยั้งการระบาดโควิด-19 ได้

ส่วนที่พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาขู่รัฐมนตรีร่วมรัฐบาลว่าจะยึดโควตาคืน เพราะได้ยินมาว่า รัฐมนตรีนินทาตัวเองนั้น เป็นการขู่เพื่อปกป้อง ตัวเอง น่าประหลาดใจที่พล.อ.ประยุทธ์ ได้ยินเสียงนินทา แต่ไม่ได้ยินเสียงประชาชนที่ส่งเสียงถึงรัฐบาลมานานแล้วว่าใช้ชีวิตลำบาก ไม่มีเงิน ไม่มีงาน เจ็บป่วยไม่มีเตียงรักษา หลายคนเสียชีวิตจากเข้าไม่ถึงการบริหาร ทางการแพทย์

“ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ผิดพลาด มาตลอด ล้มเหลวการแก้ปัญหาโควิด-19 และแก้เศรษฐกิจแบบตาบอดคลำช้าง หากรักประเทศจริงตามที่พูด ควรลาออกหรือยุบสภา ขืนอยู่ต่อจะสร้างปัญหาให้ประเทศเพิ่มมากขึ้น ควรออกไปได้แล้วเพื่อให้คนที่เก่งกว่า มาทำหน้าที่ อย่าอยู่สร้างภาระให้ประชาชนต่อไปเลย” นายวิสารกล่าว

‘อ๋อย’แนะตัดงบซื้ออาวุธมาใช้สู้

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) โพสต์ เฟซบุ๊กถึงเรื่องการหาแนวทางแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า ถ้าเราสามารถ ปรับลดงบประมาณที่กองทัพจะเอาไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ลงสัก 6,000 ล้านบาท แล้วเอามาซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับใช้ต่อสู้กับโควิด-19 ได้ ในสถานการณ์ที่วิกฤตอยู่ตอนนี้ เราน่าจะได้

1.เครื่องช่วยหายใจ (คิดที่ราคาแพง) เครื่องละ 800,000 บาท 1,000 เครื่อง เป็นเงินประมาณ 800 ล้านบาท 2.ยาฟาวิพิราเวียร์ เม็ดละ 150 บาท 10 ล้านเม็ด เป็นเงินประมาณ 1,500 ล้านบาท ก็จะยังเหลือเงินไปซื้อวัคซีนยี่ห้อต่างๆ ที่นายกฯ จำชื่อไม่ได้ ในราคาเฉลี่ยรวมกันประมาณ 10 ล้านโดส

เรื่องงบประมาณ การอ้างว่างบนี้ได้รับอนุมัติแล้ว ดำเนินการตามขั้นตอนแล้วหรือการอ้างถึงความสัมพันธ์ที่ดีใดๆ ก็ตาม เป็นเรื่อง ฟังไม่ขึ้น ในสถานการณ์วิกฤตโรคระบาด ร้ายแรง อาวุธของกองทัพไม่มีความจำเป็นใดๆ เลยเมื่อเทียบกับการปกป้องรักษาชีวิตของประชาชน

‘เสรี’ชี้แก้รธน.ไม่ได้ถ้ายังเสียดสีส.ว.

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ในฐานะประธานกมธ.การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ว่า ตนไม่มั่นใจว่าการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญในช่วงปลายเดือนพ.ค.นี้จะทำได้หรือไม่ ในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทราบว่า มีพนักงานและเจ้าหน้าที่วุฒิสภาติดเชื้อ โควิด-19 รวมถึงต้องกักตัวกลุ่มเสี่ยงสัมผัส

สำหรับการเมืองในรัฐสภา หลังจากที่ ฝ่ายค้านเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก เป็นไปตามภารกิจของฝ่ายค้าน แต่ข้อเท็จจริงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ มีหลายคนคิดและ ข้อเสนอว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ฝ่ายค้าน จะร่วมมือแก้ปัญหาโรคระบาด จากที่เห็นการวิจารณ์ ติติง รัฐบาล และเรียกร้องให้ยุบสภา ลาออก แล้วเลือกตั้งใหม่ มองว่าเป็นไปไม่ได้ หากพรรคร่วมรัฐบาลยังปรองดองและเกาะกลุ่มอย่างเหนียวแน่น

ส่วนการเมืองนอกสภา เกี่ยวกับการชุมนุมเรียกร้องนั้น ถือว่าลดระดับ เพราะสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 แต่เชื่อว่าจะมีการนำเสนอ ประเด็นอื่นๆ เป็นระยะ เช่น แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะตัดอำนาจ ส.ว. ในการออกเสียง แก้รัฐธรรมนูญ วาระ 1 และวาระ 3 รวมถึงตัดอำนาจร่วมเลือกนายกฯ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ หากไม่มาพูดคุยกับส.ว. อีกทั้งการแสดงท่าทีตำหนิ เสียดสีส.ว. ยิ่งทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นไปไม่ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน