ฝ่ายค้านบี้ลดอำนาจสว.
วุฒิผ่านฉลุยกู้5แสนล้าน

วุฒิสภาผ่านฉลุย พ.ร.ก.กู้ 5 แสนล้าน ‘บิ๊กตู่’รุดแจงเอง โต้รวบอำนาจบริหารงบฯ ยัน 7 ปีไม่มีเงินผ่านมือสักบาท ลั่นยิ่งไล่ยิ่งสู้ อยู่จนครบวาระ ฝ่ายค้านได้ฤกษ์ 16 มิ.ย. ยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญ ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ไม่เห็นด้วยรัฐสภาเปิดถก 22 มิ.ย. ยันต้องพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติให้เสร็จก่อน พปชร.ผนึกส.ว.ขวางแก้ปมลดอำนาจสภาสูง ลบล้างคำสั่งคสช. ‘ภูมิธรรม’ จวกรัฐบาลแก้โควิดล้มเหลว หมกมุ่นสร้างภาพลวงตา ป.ป.ช.คาด ‘บิ๊กติ๊ก’ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาปกปิดบัญชีทรัพย์สิน กลางมิ.ย.นี้

‘ชวน’เล็งถกแก้รธน. 22 มิย.

วันที่ 14 มิ.ย. ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวว่า จากการพูดคุยกับนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แจ้งว่าพรรคฝ่ายค้านจะยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญวันที่ 15 มิ.ย.นี้ ส่วนพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค คือประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนา ยังไม่แจ้งมาว่าจะยื่นญัตติเมื่อใด เป็นเรื่องของแต่ละพรรคจะยื่นญัตติแก้มาตราใด แต่กำหนดการประชุมร่วมรัฐสภา คาดว่าเป็นวันที่ 22 มิ.ย.นี้ เพราะนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา แจ้งว่าวุฒิสภาติดภารกิจวันที่ 29 มิ.ย. ส่วนจะพิจารณาวันที่ 22 มิ.ย.วันเดียวหรือไม่ ต้องดูวาระการประชุม อีกครั้งว่ามีทั้งหมดกี่ญัตติ

ฝ่ายค้านยื่นญัตติแก้รธน.16 มิย.

เวลา 11.50 น. ที่ทำการ พท. แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านเปิดแถลงข่าว ภายหลังประชุมร่วมกันตั้งแต่เวลา 09.30 น. ถึงการยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการ พท. กล่าวว่า สาระสำคัญ 3 ประเด็น 1.พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นพ้องต้องกันว่ารัฐสภาต้องจัดประชุมเรื่องร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติก่อน เมื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ. ประชามติเสร็จแล้วจึงค่อยพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป

2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีรายละเอียดดังนี้ แก้ไขรายมาตรา ในมาตรา 272 พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นญัตตินี้พร้อมกัน และการยื่นแก้ไขมาตรา 256 พท.จะเป็นผู้นำเสนอ โดยขอยืนยันหลักการเดิมที่เคยเสนอไป แต่พท.ไม่ปิดโอกาสให้พรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นมาร่วมเสนอ และ 3.ประเด็นอื่นๆ เช่น สิทธิเสรีภาพของประชาชน ระบบการเลือกตั้ง และเรื่องอำนาจส.ว. รวมถึงการนิรโทษกรรมคสช. ซึ่งพท.จะเป็นผู้นำเสนอญัตติ ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านใดจะร่วมเสนอก็ยินดี ทั้งนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านจะร่วมกันเสนอญัตติต่อประธานสภาวันที่ 16 มิ.ย.

ชี้ต้องพิจารณากม.ประชามติก่อน








Advertisement

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า ตอนนี้รัฐบาลพยายามลากยาวอำนาจ พรรคไม่ต้องการมีส่วนร่วมหรือร่วมสังฆกรรมกับการแก้รายมาตราของนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หากเรียงลำดับความสำคัญของกฎหมาย ร่างพ.ร.บ.ประชามติต้องมาก่อน เป้าหมายและโจทย์ใหญ่การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้อยู่ที่ 250 ส.ว. ที่มีส่วนเลือกนายกฯ ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่เป็นร่างตามมาก็มีส่วนสำคัญ แต่สำคัญที่สุดไม่อยากให้หลุดคือเรื่อง 250 ส.ว. จึงเน้นเรื่องนี้ก่อน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า วันที่ 22-23 มิ.ย.นี้ ฝ่ายค้านได้รับการประสานจากเลขานุการของประธานรัฐสภาว่าจะนำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาพิจารณาก่อน โดยรัฐบาลขอเป็นวาระพิเศษซึ่งไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะร่างแก้ไขที่จะเข้าสภาครั้งนี้ไม่มีฉบับของรัฐบาลเลย แต่เป็นฉบับของพรรคหนึ่งเท่านั้น จึงไม่มีเหตุผลใดเลยที่รัฐสภาจะนำเรื่องรัฐธรรมนูญพิจารณาก่อนร่างพ.ร.บ.ประชามติ

จี้‘ชวน’อย่าให้รัฐบาลสั่งสภาได้

นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ถ้ารัฐสภายอมให้เรื่องใดเรื่องหนึ่งถูกบรรจุเข้ามาเป็นวาระพิเศษได้ แปลว่ารัฐบาลมีอำนาจเหนือรัฐสภา จึงอยากขอร้องให้ประธานรัฐสภาที่ทำหน้าที่บรรจุวาระครั้งนี้ อยากให้ประธานวิปฝ่ายค้านประสานประธานรัฐสภา ให้รักษาเกียรติของรัฐสภาไว้ก่อน และขอให้ประชาชนติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขวิกฤตของประเทศ ไม่ใช่แก้ไขปัญหาให้พรรคใดพรรคหนึ่ง

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการ ก.ก. กล่าวว่า สิ่งที่ระบอบ คสช.ทำอยู่ผ่านการเสนอแก้ไขรายมาตราของนายไพบูลย์ หัวใจจริงๆ เป้าหมายมีเพียง 2 เรื่อง คือ 1.ทำอย่างไรจะไม่เปิดช่องไปสู่การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 60 แล้วให้ประชาชนร่างใหม่ทั้งฉบับ 2.มีการสร้างเงื่อนไขต่างๆ ให้นายกฯ คนต่อไปยังเป็นพล.อ.ประยุทธ์ หัวใจสำคัญที่เขาเสนอคือ ระบบการเลือกตั้งที่คิดว่าวันนี้ตัวเองได้เปรียบด้วยอำนาจรัฐและอำนาจอิทธิพลต่างๆ เปิดช่องให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเข้าไปเบียดบังงบประมาณ แทรกแซงข้าราชการเพื่อประโยชน์ทางการเมืองในอนาคต การกำหนดวาระการประชุมร่วมของรัฐสภานี้ เป็นอำนาจเต็มของ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เราไม่อยากเห็นประธานรัฐสภาจัดวาระการประชุม เพื่อตอบสนองความต้องการทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาลเพียงพรรคเดียว

พปชร.ไม่ขัดถกกม.ประชามติก่อน

นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้า พปชร. กล่าวกรณีฝ่ายค้านเสนอให้เร่งพิจารณา พ.ร.บ.ประชามติก่อนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า จุดยืน พปชร.ไม่คัดค้านหากจะนำกฎหมายประชามติที่ค้างอยู่มาพิจารณาให้แล้วเสร็จก่อน แต่เรียกร้องไปถึงฝ่ายค้านการอภิปรายมาตราที่เหลืออย่าเยิ่นเย้อ กินเวลาสภาโดยเปล่าประโยชน์ ไม่พูดโชว์เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน หากร่วมมือก็จะทำให้กฎหมายประชามติผ่านได้เร็วขึ้น เพราะต้องมีกระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก่อนประกาศใช้ ส่วนใครจะดำเนินการอย่างไรก็ไปว่ากัน แต่ไม่เห็นด้วยที่ฝ่ายค้านคาดหวังว่าเมื่อกฎหมายประชามติผ่านแล้วจะไปทำประชามติยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อตั้งส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะแนวทางที่ดีที่สุดเวลานี้ควรแก้รายมาตรา หากเสนอมาจริงจะไม่ได้รับความเห็นชอบจากเสียงข้างมากในสภา

พปชร.-สว.ไม่ยอมแก้ 272,279

เมื่อถามถึงการแก้ไขที่มาส.ว. นายไพบูลย์กล่าวว่า เราแตะเฉพาะมาตรา 270 ที่เดิมเป็นอำนาจ ส.ว.อย่างเดียวในการติดตามการปฏิรูปประเทศ จึงเสนอ 1 ใน 5 ประเด็นแก้ไขให้เป็นอำนาจของรัฐสภา ส่วนกรณีมาตรา 272 เรื่องการตัดอำนาจโหวตเลือกนายกฯ รวมถึงมาตรา 279 ที่เกี่ยวข้องกับการลบล้างประกาศ-คำสั่งจากผลพวงการรัฐประหาร ตนสอบถามจากส.ว.และภายใน พปชร.ยืนยันตรงกันไม่เอาด้วย จึงเชื่อว่า 2 ประเด็น ดังกล่าวจะไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา

ส่วน 3 พรรคร่วมรัฐบาลเตรียมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีบางประเด็นแตกต่างจาก พปชร. นายไพบูลย์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญต้องเอาคำว่าพรรคร่วมรัฐบาลออกไปก่อน การแก้ไขเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา สุดท้ายร่างใดจะเป็นรูปธรรมขึ้นอยู่กับการลงมติของที่ประชุม เชื่อว่าร่างของ พปชร. เป็นแนวทางประนีประนอมกับทุกฝ่าย รวมถึงฝ่ายค้าน เช่น การแก้ระบบเลือกตั้งให้กลับมาใช้บัตร 2 ใบแบบเดิม และมองความเป็นไปได้ ว่าจะได้เสียงเห็นชอบตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

ภูมิธรรมซัดรบ.แก้วิกฤตเหลว

นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค พท. และเลขานุการผู้นำฝ่ายค้าน โพสต์เฟซบุ๊ก “รำลึก 24 มิ.ย. 64 : 89 ปี ของการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิป ไตย” ว่า ภาพที่ปรากฏและเห็นกันประจักษ์ชัดทางการเมืองวันนี้ คือรัฐบาลที่บริหารไม่เป็น รับมือวิกฤตสุขภาพไม่ทั่วถึง ไม่เป็นธรรม ไม่มีการวางแผนแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ แต่หมกมุ่นอยู่กับการสร้างภาพลวงตา

จัดการวัคซีนได้ไม่เพียงพอ ประกาศเลื่อนฉีดกะทันหันหลังวันดีเดย์ของรัฐบาลไม่ถึงสัปดาห์ ประกาศว่ารัฐจัดหาวัคซีนทางเลือกไว้แล้วแต่ไม่มีการกำหนดเวลาที่เป็นจริง ความมั่นใจต้องเกิดจากการกระทำให้ทุกคนเห็น หาใช่การสร้างภาพ ให้ข้อมูลความหวังแต่การกระทำตรงข้ามคนยิ่งไม่มั่นใจ ประสานกับการตอบคำถามของผู้นำรัฐบาลในสภาและการตอบคำถามเรื่องทำไมต้องกู้ ยิ่งสะท้อนถึงการไร้ความสามารถของผู้นำ ถนัดแต่พูดก่นด่า ตำหนิผู้คนไปทั่ว

คาดยุบสภาเร็วสุดต้นปี 65

มีเสียงวิจารณ์ว่าหากไม่สามารถคลี่คลายวิกฤตจะเกิดปรากฏการณ์ “คอนเวิร์ส : ตัวใคร ตัวมัน” ในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล แต่ที่ว่าการยุบสภาอาจเกิดหลังครบ 105 วันในการพิจารณางบเสร็จ หรือหลังก.ย.นั้นยากมาก เพราะแม้ไม่ราบรื่นแต่พรรคร่วมรัฐบาลจะพยายามประคับประคองผลประโยชน์ต่อไปจนถึงที่สุด อย่างน้อย 3 เดือน หรือ 90 วัน เพื่อให้งบประมาณเริ่มใช้ และพยายามแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่จะทำให้พวกเขาได้ประโยชน์สูงสุด การยุบสภาจึงอาจเกิดขึ้นเร็วที่สุดคือช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 (ม.ค.-มี.ค. 65) เป็นไปได้มากที่สุด

เงื่อนไขสำคัญอันหนึ่งก่อนยุบสภาคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รัฐบาลต้องการทำให้เร็วที่สุดก่อนเลือกตั้ง โดยแก้สาระที่รัฐบาลจะได้เปรียบ โดยเฉพาะเรื่องบัตร 2 ใบ ที่พปชร.เชื่อว่าจะได้ประโยชน์สูงสุดและเกิดประโยชน์ต่อพรรคใหญ่ ประเด็นบัตร 2 ใบ พอมีเหตุผลยอมรับฟังกันได้ อีกประเด็นสำคัญ คือ การเพิ่มและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนหลายเรื่องที่ขาดหายไป และการลดอำนาจ ส.ว. ส่วนการปฏิรูปที่มาของอำนาจตรวจสอบ ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ระบบองค์กรอิสระ ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ ปลดโซ่ตรวนอนาคตประเทศและการล้างมรดกบาปของการรัฐประหารยังเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องนำเสนอให้สังคมและฝ่ายประชาธิปไตยช่วยกันหาทางออกต่อไป

อาคมแจงวุฒิ-กู้ 5 แสนล.

เวลา 10.20 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมวุฒิสภา พิจารณา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาผู้แทนฯ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ชี้แจงว่า การกู้เงินตามพ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท ใช้จ่ายไปแล้ว 9.8 แสนล้านบาท มีวงเงินเหลือเพียง 1,764 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาการระบาดระยะต่อไป และหากมีความจำเป็น ครม.สามารถปรับกรอบวงเงินตามแผนการใช้เงินแนบท้ายบัญชีได้ การช่วยเหลือประชาชนในระยะต่อไป จะเน้นการช่วยเหลือกลุ่มเอส เอ็มอี เพื่อรักษาธุรกิจและการจ้างงาน

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ ส.ว. ในฐานะประธาน กมธ.การเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง วุฒิสภา อภิปรายว่า การกู้ยืมเงินตามพ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท พบอนุมัติโครงการของ ครม.ทำได้ 93% แต่เบิกจ่ายไปเพียง 29% ควรทบทวนและปรับปรุง ตนสนับสนุนการปรับเพดานหนี้สาธารณะ แต่รัฐบาลเตรียมรองรับอย่างไรหากต้องกู้เงินมากกว่ากรอบ 5 แสนล้านบาท หากโควิด-19 ยังยืดเยื้อ

ตู่โต้รวบอำนาจใช้งบฯ

เวลา 11.50 น. พล.อ.ประยุทธ์เข้ารับฟังการพิจารณาประมาณ 1 ชั่วโมง กล่าวชี้แจงว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทจะมีผลบังคับใช้แล้วแต่ยังไม่ได้กู้เงินสักบาท ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่รู้จะกู้ไปทำไม ขอให้ความเป็นธรรมกับตนบ้าง วันนี้มีปัญหามากคือการเสนอร่างพ.ร.บ.งบปี 65 การพิจารณาของกมธ.วิสามัญ เคยตัดยอดไปแล้วไปทำโครงการใหม่ขึ้นมา

“การเยียวยาทุกอย่างก็ให้จนจะกลายเป็นรายจ่ายประจำไปแล้ว บางอันไปอยู่ในงบกลางเพราะบริหารในภาพรวม ไม่ใช่ว่าผมไปยึดอำนาจ ผมไม่อยากยึดอำนาจมาหรอก หลายคนบอกว่าผมรวบอำนาจ เพื่อสั่งการเอง จะบ้าหรือ ผมต้องการจะปลดล็อกให้เขา เพราะทุกกระทรวงมีกฎหมายของตัวเองทั้งสิ้น จึงต้องแก้ปัญหาให้เขา ผมไม่ได้แก้ตัว เพียงแต่ต้องการเล่าให้ฟังว่าทำงานอย่างไร ยืนยันว่าตลอด 7 ปีที่บริหารงบประมาณ ไม่มีเงินผ่านมือผมสักบาท มีแค่ตัวเลข ดังนั้น หากพบว่ามีโครงการใดทุจริตขอให้แจ้งเรื่องกับผมพร้อมข้อมูล และพร้อมตรวจสอบ เพราะไม่ต้องการให้ใครทำผิดจากนโยบายที่ให้ไป” พล.อ. ประยุทธ์กล่าวและว่า ที่ทำไม่ใช่ไม่รู้ข้อมูลพื้นฐาน ไม่รู้กฎหมายเพราะตนก็ต้องปลอดภัยเหมือนกัน ไม่ทำอะไรที่ให้รัฐบาลเดือดร้อน

ลั่นอยู่ครบวาระ-ยิ่งไล่ยิ่งสู้

เรื่องการด้อยค่ารัฐบาล ฟังมากก็ปวดหัว ตามใจมากก็ปวดหัว ตนเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ของท่าน ดูสิว่าจะเชื่อหรือไม่ ถ้าเชื่อตามไปหมด ข่าวลวง ข่าวบิดเบือน ข่าวด้อยค่าหากเชื่อไปทั้งหมดก็ทำอะไรไม่สำเร็จ ติดกับดักตัวเอง ดังนั้นต้องมองภาพกว้างอย่างตน หากทำแล้วไม่พอขอให้บอก รับฟังทุกคน ไม่ว่าจะ ส.ส.หรือ ส.ว. ให้เกียรติทุกคน

“ตำแหน่งนายกฯ เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ แต่ผมตั้งเกียรติเองไม่ได้ ต้องให้คนอื่นมอบให้ หากผมทำดีควรให้เกียรติ หากไม่ดีก็ไม่ให้เกียรติ หากเลือกตั้งในอนาคต ผมยืนยันอยู่จนครบจะได้เลิกพูดสักที วันหน้าหากเลือกตั้งก็เลือกให้ดี” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ทั้งนี้ ระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจง พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้ส่งข้อความเตือนให้ตอบคำถามหลังอภิปรายเสร็จ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “มีคนไล่ผมแล้ว ในนี้ไม่มีพวก” ก่อนจะถามขึ้นว่า “ในนี้มีใครไม่เชื่อมั่นผมหรือไม่ ขอให้ยกมือ” แต่ไม่มีใครยกมือ พล.อ.ประยุทธ์จึงกล่าวว่า “ก็ไม่มี ผมบังคับไม่ได้ ผมเคารพท่าน 5-7 ปีที่ผ่านมา ผมไม่เคยยุ่งกับพวกท่าน ผมเชื่อมั่นในวุฒิภาวะ ภายใต้ความเข้าใจผมจำเป็นต้องแก้ปัญหาทุกเรื่อง นำไปสู่การแก้ปัญหาที่พะรุงพะรัง รวมถึงการฟ้องร้องคดีที่ผ่านมา และมีอีกร้อยคดีที่ฟ้องร้อง ผมพร้อมสู้ ที่ผ่านมาผมไม่เคยนึกถึงตัวเอง หัวผมทำงานทุกวัน ฝันก็ยังเป็นงาน ไม่เคยฝันเป็นอย่างอื่น อยากจะฝันก็ไม่ได้ และยิ่งไล่ผมยิ่งสู้”

มติเอกฉันท์กู้ 5 แสนล้าน

เวลา 17.00 น. หลัง ส.ว.อภิปรายเสนอแนะอย่างกว้างขวาง และ รมว.คลังแจงเสร็จสิ้น นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา เป็นประธานที่ประชุม ให้สมาชิกได้ลงมติ โดยที่ประชุมอนุมัติ 205 เสียง ไม่อนุมัติไม่มี งดออกเสียง 2 เสียง

ปชป.ปัดส่งสัญญาณยุบสภา

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกปชป.เผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค กำชับบุคลากรของพรรคในทุกเขตเลือกตั้งว่าต้องไม่หยุดนิ่งทำงานในพื้นที่ ประกอบกับขณะนี้มีตัวแทนพรรคประจำจังหวัดและสาขาพรรคครบ 350 เขตเลือกตั้ง การที่ปชป.ประกาศตัวเปิดผู้สมัครส.ส.เพื่อให้สมาชิกและประชาชนได้รู้จักและพร้อมทำงานร่วมกัน ใช้เป็นข้อมูลตัดสินใจ ไม่ได้เป็นเพราะมีสัญญาณใดๆ เกี่ยวกับการยุบสภา แต่ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายพรรคการเมือง และเตรียมความพร้อมไว้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ส่วนจะยุบสภาตอนไหนคงไม่มีใครตอบได้ เพราะเป็นอำนาจของนายกฯ

ป.ป.ช.ปูพรมสอบเสาไฟกินรี

ที่สำนักงานป.ป.ช. นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการไต่สวน กรณีกล่าวหาการใช้เงินงบประมาณอบต.ราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ จัดทำโครงการเสาไฟประติมากรรมรูปกินรีกว่า 1 พันล้านบาทว่า เบื้องต้นสั่งการให้ป.ป.ช. สมุทรปราการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ขั้นตอนอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐาน เพื่อพิจารณาว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ คุ้มค่าหรือไม่

คาดว่าคงไม่ได้มีโครงการลักษณะนี้แค่แห่งเดียว แต่มีสื่อและประชาชนนำเสนอลักษณะนี้อีกหลายท้องที่ จึงสั่งให้ป.ป.ช. จังหวัดต่างๆ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลด้วยว่าโครงการลักษณะนี้ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร คุ้มค่าหรือไม่ นอกจากนี้ ต้องดูว่าการจัดทำโครงการเช่นนี้ควรมีมาตรการอะไรหรือ ไม่ เวลาจะทำโครงการต่างๆ ควรดูว่าเกิดประโยชน์กับประชาชนและคุ้มค่าด้วยหรือไม่

‘บิ๊กติ๊ก’รับทราบข้อหากลางมิย.

นายพิเชฐ พุ่มพันธ์ รองเลขาธิการป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์กรณีป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม กรณียื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงอันควรแจ้งให้ทราบสมัยเป็นสนช.ว่า ขณะนี้ได้เชิญพล.อ.ปรีชามารับทราบข้อกล่าวหา โดยเมื่อรับทราบข้อกล่าวหาแล้วจะมีเวลาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา 15 วัน และขอขยายเวลาได้ ซึ่งยังมีประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์ช่วง โควิด-19 ระบาดด้วย แต่คาดว่าพล.อ.ปรีชาจะเข้ามารับทราบข้อกล่าวหากลางเดือนมิ.ย.

หากพล.อ.ปรีชาเข้ามาชี้แจงและอ้างถึงพยานที่เกี่ยวข้องต่างๆ สำนักงานป.ป.ช.จะต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วนเพื่อความเป็นธรรมทุกฝ่าย ขั้นตอนหลังจากนั้นคือสรุปสำนวนและส่งเข้าที่ประชุมคณะ กรรมการป.ป.ช.พิจารณา คาดว่าคงใช้เวลาเป็นเดือน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน