บิ๊กตู่นัดถกสภากลาโหม
เคาะ‘ปลัด-ผบ.ทร.-ทอ.’
จ้อ52ชม.งบปี65ผ่านฉลุย

‘บิ๊กตู่’ นัดถกสภากลาโหมเคาะโผทหารสูตรไขว้วันที่ 25 ส.ค.นี้ จับตา ตท.20-21 ผนึกกำลังตรึงเก้าอี้ ‘ปลัดกลาโหมผบ.ทร.-แม่ทัพฟ้า’ ด้าน ‘บิ๊กบี้’ ขยับรุ่นน้องเข้าไลน์ 5 เสือทบ. หลังลากยาว 52 ชั่วโมง สภาฉลุยผ่านงบประมาณปี 2565 วุฒิสภา นัดถกต่อวันที่ 30 ส.ค.นี้ ‘ไพบูลย์’ ไม่กังวล ก้าวไกลขู่ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความแก้รธน.เกินขอบเขตหรือไม่ เชื่อไม่เข้าหลักเกณฑ์ ส.ส.ก้าวไกลเล็งโหวตสวนมติพรรคใหญ่ หวังพลิกเกม ชูระบบสัดส่วนผสมเอ็มเอ็มพี ‘พรเพชร’ แจงวุ่น ยันไม่เคยสั่งส.ว.โหวต ปิดประตูยุบสภาเร็วหลังแก้รธน. ปชป.เฮ กกต.ชี้ 9 ส.ส.ไม่ผิดคดีหุ้นสื่อ

ป่วนม.36-ก้าวไกลขอเปิดเอกสาร

เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วาระที่ 2 เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยตั้งแต่เวลา 20.30 น. การอภิปรายผ่านไปอย่างรวดเร็ว ไม่ค่อยมีผู้อภิปราย โดยมาตรา 30 งบประมาณหน่วยงานของรัฐสภา 3,673,549,900 บาท มาตรา 31 งบประมาณหน่วยงานของศาล 7,914,590,500 บาท มาตรา 32 งบประมาณหน่วยงานองค์กรอิสระและองค์กรอัยการ 5,346,183,400 บาท มาตรา 33 งบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 76,410,472,000 บาท มาตรา 34 งบประมาณของหน่วยงานอื่นของรัฐ 191,055,000 บาท มาตรา 35 งบประมาณสภากาชาดไทย 8,265,442,700 บาท ที่ประชุมลงคะแนนเห็นด้วยกับที่กมธ.เสียงข้างมากแก้ไข ทั้งนี้ ทั้ง 6 มาตราใช้เวลาพิจารณา 1 ชั่วโมง 30 นาทีเท่านั้น

ต่อมาเวลา 21.46 น. พิจารณามาตรา 36 งบประมาณส่วนราชการในพระองค์ 8,761,390,800 บาท โดยนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.ก้าวไกล ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อยขออนุญาตใช้ภาพและสไลด์ประกอบการอภิปราย แต่นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาชี้แจงว่ากรณีดังกล่าว นายชวน หลีกภัย ประธานสภาวินิจฉัยไว้แล้วว่าไม่สามารถอนุญาตได้ แต่ส.ส.ก้าวไกลพยายามแย้งว่าหน่วยงานทุกหน่วยงานสามารถให้ตรวจสอบอย่างละเอียดได้ และประธานสภาไม่ได้ระบุว่าใช้กฎหมายมาตราใดพิจารณา และพยายามขอให้ทบทวน แต่นายศุภชัยชี้แจงว่าประธานสภาวินิจฉัย ไปแล้ว ซึ่งอภิปรายได้ แต่ภาพและเอกสารที่หมิ่นเหม่ไม่ควรนำมาประกอบ ดังนั้น เมื่อประธานสภาวินิจฉัยแล้วถือว่าเด็ดขาด

จากนั้นนายพิจารณ์ นายรังสิมันต์ โรม น.ส.เบญจา แสงจันทร์ และน.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ซึ่งเป็นส.ส.ก้าวไกลทั้งหมดได้อภิปรายเสนอปรับลดงบส่วนราชการ ในพระองค์ลง โดยนายรังสิมันต์ เสนอตัดสูงถึง 3,568 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40.72% ก่อนที่ประชุมลงมติเห็นด้วยกับกมธ.ที่ไม่แก้ไข

สภาโหวตงบปี 65 ผ่านฉลุย

เวลา 22.38 น. ที่ประชุมพิจารณามาตรา 37 งบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนงานบูรณาการ 204,179,444,100 บาท มาตรา 38 งบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนงานบุคลากร ภาครัฐ ให้ตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับ งบประมาณ 770,159,975,000 บาท มาตรา 39 งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียนให้ตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ 195,370,402,900 บาท มาตรา 40 งบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนงานบริหาร จัดการหนี้ภาครัฐ ให้ตั้งเป็นงบประมาณ รายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ 297,631,438,900 บาท มาตรา 41 งบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 596,666,700 บาท และมาตรา 42 งบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย 24,978,560,000 บาท โดยสิ้นสุดในเวลา 01.09 น. ทั้งนี้ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นด้วยกับที่กมธ.เสียงข้างมากแก้ไข

จากนั้นเวลา 01.10 น. ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบปี 2565 วาระที่ 3 ด้วยคะแนนเสียง 257 คะแนน ไม่เห็นด้วย 189 คะแนน งดออกเสียง 4 คะแนน และไม่ลงคะแนน 1 คะแนน จากนั้นที่ประชุมมีมติ เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) งบประมาณ

สุพัฒนพงษ์ลั่นใช้งบโปร่งใส

ต่อมานายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รอง นายกฯ และรมว.พลังงาน เป็นตัวแทนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวขอบคุณสมาชิกสภาและจะนำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงการดำเนินงานของหน่วยรับงบประมาณ เพื่อให้มีการใช้จ่ายงบอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด โดยรัฐบาล จะกำกับดูแลการใช้งบให้โปร่งใส

จากนั้นนายชวนได้กล่าวขอบคุณสมาชิกสภา และสั่งปิดประชุมในเวลา 01.21 น. วันที่ 22 ส.ค. รวมใช้เวลาพิจารณาตลอดทั้ง 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 18-22 ส.ค. นานกว่า 52 ชั่วโมง ขั้นตอนต่อไปสภาจะส่งให้กับวุฒิสภาพิจารณาต่อไป

คาดวุฒิสภาถกงบ 30 ส.ค.

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ให้สัมภาษณ์ถึงการนัดประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 ที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสร็จแล้วว่า คาดว่าน่าจะเป็นวันที่ 30 ส.ค. เนื่องจากเพิ่งผ่านการพิจารณาของสภา ส่วนจะวันเดียวจบหรือไม่นั้น วิปวุฒิสภายังไม่ได้หารือกัน

เพื่อไทยจี้‘บิ๊กตู่’ลาออก

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นคร ราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงสภาพิจารณาผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2565 ว่า การจัดสรรงบฉบับนี้ไม่ตอบโจทย์ความเดือดร้อนของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งปัญหาหลักมาจากรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพ บริหารผิดพลาด ไม่มีความรู้ความสามารถ และไม่มีความเข้าใจความทุกข์ร้อนของประชาชนอย่างแท้จริง จนส่งผลให้การจัดสรรงบไม่มีประสิทธิภาพและไม่สอดคล้องต่อความต้องการของประชาชน ซ้ำร้ายหลายโครงการยังส่อว่าอาจก่อให้เกิดการทุจริต แอบแฝงการเอื้อประโยชน์พวกพ้องและการหาประโยชน์ทางการเมืองจากงบประมาณ หากปล่อยให้ผ่านไปอาจสร้างภาระหนี้สิน ซ้ำเติมประเทศชาติและประชาชน

นายประเสริฐกล่าวว่า พท.จึงมีมติไม่รับร่างพ.ร.บ.งบปี 2565 เพื่อยืนยันแนวทางไม่รับร่างงบประมาณไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ หากนำเงินงบมาใช้ในทางที่ไม่ถูกไม่ควร พท.จะตรวจสอบอย่างเข้มข้นเพื่อให้ใช้เม็ดเงิน อย่างคุ้มค่า และไม่ไว้วางใจให้พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศชาติให้ล้มเหลว ซ้ำซากอยู่ในตำแหน่งได้อีกต่อไป จึงขอเรียกร้องให้เห็นแก่ชีวิตความเป็นอยู่และลมหายใจของประชาชน โปรดพิจารณาตัวเอง และเปิดทางให้ผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาแก้ไขวิกฤตประเทศ โดยเร็วก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป

ก้าวไกลแจงส.ส.ติดโควิด

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า ส.ส.พรรค ก้าวไกลที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมและลงมติร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 คือนายจรัส คุ้มไข่น้ำ ส.ส.ชลบุรี เนื่องจากติดโควิด-19 ที่ผ่านมานายจรัสได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้รับการเหลียวแล จากนั้นมีอาการคล้ายโควิด จึงตรวจด้วยชุดตรวจ ATK 2 ครั้ง แสดงผลว่าติดโควิดทั้ง 2 ครั้ง มีอาการปวดหัว เหนื่อยอ่อน ค่าออกซิเจนลดลง จึงกักตัวเองมาตลอดในช่วง 4-5 วันที่ผ่านมา และไม่ได้เข้าร่วมประชุมสภามาตั้งแต่แรก ทั้งนี้ นายจรัส เพิ่งได้รับการติดต่อจากโรงพยาบาลให้เข้ารับการรักษา เนื่องจากอาการป่วยเข้าขั้นสีเหลืองแล้ว และเป็นการเข้าคิวตามปกติ

กกต.ชี้ 9 ส.ส.ปชป.ไม่ผิดคดีหุ้นสื่อ

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงความคืบหน้าคดีส.ส.ปชป.ถือหุ้นสื่อว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้แจ้งผลการพิจารณามายังผู้ถูกร้อง ซึ่งมีทั้งส.ส.และอดีตส.ส.รวม 9 คน กลุ่มแรกให้ยุติเรื่องทั้งหมด 4 คน นายประกอบ จีรกิติ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ นายวีระชัย วีระเมธีกุล และนายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และกลุ่มที่ 2 วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพความเป็นส.ส. ของ 5 ส.ส.ยังไม่สิ้นสุดลง ได้แก่ นายประมวล พงศ์ถาวราเดช ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช น.ส.ตั๊น จิตภัสร์ กฤดากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ และนายสมชาติ ประดิษฐพร ส.ส.สุราษฎร์ธานี ถือว่าคดีหุ้นสื่อคำวินิจฉัยถึงที่สุดแล้ว

นายราเมศกล่าวว่า ส.ส.และอดีตส.ส.ที่ถูกร้องทั้งที่ไม่เป็นความจริงไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นเจ้าของในกิจการสื่อสารมวลชน ไม่มีชื่อปรากฏในทางทะเบียนพาณิชย์ แต่ผู้ร้อง ไม่ได้ตรวจตราให้ละเอียด ไปยื่นร้องก็มี ผลกระทบต่อผู้ถูกร้อง ขณะนี้ทราบว่าส.ส. และอดีตส.ส.จะขอใช้สิทธิตรวจดูคำร้องเพื่อปกป้องสิทธิของตนตามกระบวนการต่อไป

องอาจมั่นใจร่างรธน.ผ่านแน่

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคและประธานส.ส.ปชป. กล่าวถึงการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 24-25 ส.ค.ว่า ตนได้นัดส.ส.ประชุมในวันที่ 23 ส.ค. เวลา 16.00 น. เพื่อเตรียมพร้อมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ปชป.เสนอและกมธ.ได้พิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งมีประเด็นที่ต้องถกแถลงกันพอสมควร โดยเฉพาะมีข้อท้วงติงว่าการแก้ไขของกมธ.เป็นการแก้ไขเกิน หลักการที่ผ่านการรับหลักการจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา ซึ่งกมธ.เสียงข้างมากเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ ปชป.เชื่อมั่นว่าร่างแก้ไขที่ผ่านรัฐสภาวาระแรก มีความสมบูรณ์ และการพิจารณาของกมธ.ไม่ได้ ขัดหลักการ ส่วนที่มีบางพรรคเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำขัดหลักการจะยื่นให้มีการตีความก็เป็นสิทธิที่ทำได้

นายองอาจกล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับความเห็นพ้อง ต้องกันของฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และส.ว. ซึ่งปชป.เชื่อมั่นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นนี้จะผ่านความ เห็นชอบของสมาชิกรัฐสภา เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้นในการใช้สิทธิเลือก ส.ส.” นายองอาจกล่าว

ไพบูลย์เมินก้าวไกลยื่นศาลตีความ

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานกมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) รัฐสภา กล่าวถึงนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะ ยื่นญัตติให้รัฐสภาพิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกินเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และหากที่ประชุมรัฐสภา มีมติไม่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าวอาจมีสมาชิกไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า เรื่องนี้เป็นญัตติที่พรรคก้าวไกลยื่นตามข้อบังคับรัฐสภาข้อที่ 151 ตนพิจารณาในญัตติที่เสนอมาเห็นว่าไม่มีปัญหา จึงเชื่อว่าที่ประชุมจะลงมติ ไม่เห็นด้วยกับญัตติของพรรคก้าวไกล เมื่อ ที่ประชุมมีมติแล้วถือว่าเป็นเด็ดขาด

นายไพบูลย์กล่าวว่า การที่พรรคก้าวไกลเอาประเด็นนี้ไปส่งศาลรัฐธรรมนูญ เท่าที่ตนดูข้อกฎหมายแล้วไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลจะรับไว้พิจารณา ทั้งนี้ ตนไม่กังวลว่าเขาจะยื่นหรืออะไรก็ตาม และยังไม่รู้จะยื่นได้หรือไม่ เพราะจำนวนผู้เข้าชื่อส.ส.จะต้อง 70 กว่าคนขึ้นไป และเรื่องที่ยื่นต้องมีหลักเกณฑ์ที่ยื่นได้ ซึ่งจำนวนผู้เข้าชื่อก็เห็นว่าไม่น่าจะได้ ก็ต้องรอดู แม้จะได้ชื่อแต่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าให้ศาลรับไว้พิจารณา

ไม่ห่วงกมธ.ดำเนินการตามรธน.

“ผมไม่ห่วง เพราะกมธ.ดำเนินการตาม ข้อบังคับข้อที่ 124 ซึ่งชอบด้วยรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว และเรื่องนี้เสนอมาเพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ซึ่งแล้วแต่ที่ประชุม” นายไพบูลย์กล่าว

เมื่อถามถึงกรอบเวลาการประชุมวันที่ 24-25 ส.ค.นี้ นายไพบูลย์กล่าวว่า ตามระเบียบ วาระการประชุม จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดและร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด ซึ่งจะพิจารณาก่อน คาดว่าจะใช้เวลา 3 ชั่วโมง จากนั้นจะเสนอขอเลื่อนญัตติเรื่องด่วนที่พรรคก้าวไกลเสนอขึ้นมาพิจารณา และต่อด้วยวาระการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ และเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับนวัตกรรม ดังนั้น การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นในช่วงบ่ายของวันที่ 24 ส.ค. คาดว่าหากมีประเด็นไม่มากเพราะมีเพียง 11 มาตรา ก็อาจจะจบในวันเดียวกัน แต่หากไม่จบก็ต่อในช่วงเช้าของวันที่ 25 ส.ค.

ก้าวไกลรอดูสภาตีความญัตติ

นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ด่านแรกเราขอดูการตีความตามที่ได้ยื่นญัตติว่าการเสนอแก้มาตรา 83 และ 91 นอกเหนือจากเนื้อหารับหลักการที่รัฐสภาพิจารณาว่าการแก้ไขเกินเลยแบบนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ด่านที่ 2 เรามองว่า ส.ส.เขต 400 คน บัญชีรายชื่อ 100 คน จะเกิดการกินรวบในสภาโดยพรรคใหญ่พรรคเดียว ทำให้เกิดระบอบที่หลายฝ่ายไม่สบายใจและเคยนำไปสู่การรัฐประหารเมื่อปี 2549 เชื่อมโยงถึงปี 2557 ทั้งนี้ การใช้ระบบบัตร 2 ใบ ไม่ได้สะท้อนความนิยมในพรรคจริง ซึ่งส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ได้มาเป็นแค่ของแถม

ขู่โหวตสวน-ชูระบบสัดส่วนผสม

นายธีรัจชัยกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เราจะสู้ในเรื่อง มาตรา 91 ให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม (เอ็มเอ็มพี) ของเยอรมัน ซึ่งสะท้อนภาพประชาชนได้ดีกว่ารัฐธรรมนูญปี 40 และเป็นการนำจุดแข็งของรัฐธรรมนูญปี 40 มาบวกกับจุดแข็งของรัฐธรรมนูญปี 60 ส่วนจะสู้พรรคใหญ่ได้หรือไม่นั้น ตนมองว่า 2 พรรคใหญ่ค่อนข้างได้ประโยชน์ในเรื่องนี้ แต่วันนี้เชื่อว่าพรรคเล็ก พรรคขนาดกลางและวุฒิสภาเห็นด้วยกับเรา ซึ่งเราไม่ต้องการให้พรรคทำเพื่อตัวเอง

“หากท้ายที่สุดแล้ว ยังเดินหน้าเสนอตามที่พรรคใหญ่เสนอ เราจะโหวตสวนแน่นอน เรายึดตามระบบเอ็มเอ็มพี เท่าที่ฟังเสียง หลายๆ พรรคเห็นด้วยกับเอ็มเอ็มพี ดังนั้น ถ้าถึงวันจริงอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงก็ได้ แต่ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงก็ควรปักหมุดว่าการเมือง ไทยไม่ควรถอยหลังไปจุดเดิมอีกแล้ว” นายธีรัจชัยกล่าว

พรเพชรนัดส.ว.ติวเข้ม

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 24-25 ส.ค. เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และ 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง ว่า ในวันที่ 23 ส.ค.นี้ ส.ว.จะสัมมนาที่อาคารวุฒิสภา เพื่อเตรียมความพร้อม เบื้องต้นจะมีนายคำนูณ สิทธิสมาน และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นวิทยากร พูดคุยในประเด็นข้อถกเถียงแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และจะได้ตัดสินใจในการประชุมร่วมรัฐสภาได้ถูกต้อง

นายพรเพชรกล่าวอีกว่า ประเด็นที่ส.ว. เห็นว่ายังไม่มีความชัดเจน คือประเด็นที่มีการแปรญัตติที่เกินหลักการหรือไม่ ซึ่งตนยังไม่ได้ดูรายละเอียด แต่คำว่า เกินหลักการที่ถกเถียงกัน อาจหมายความว่า ร่างกฎหมายธรรมดาก็อยู่ในหลักการนั้น แล้วไปรับร่างมาฉบับเดียว คราวนี้ร่างฉบับเดียวนั้น มีการเพิ่มมาตราต่างๆ เข้ามา ตามหลักกฎหมายโดยทั่วไป ถ้าจำเป็นก็เพิ่มได้ แต่ต้องเกี่ยวเนื่องกัน แต่ถ้ามีปัญหาว่ามีการสร้างขึ้นมาใหม่หรือไม่ จำเป็นหรือไม่กับร่างเดิม ตรงนี้ก็ต้องโต้เถียงกัน ส.ว.จะสัมมนากันถึงประเด็นนี้ แต่ฝ่ายกมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า เขาสามารถแก้ไขได้เพื่อให้ร่างเดิมสมบูรณ์

ยันไม่เคยสั่ง-ปล่อยโหวตอิสระ

เมื่อถามว่าข้อถกเถียงตรงนี้พรรคการเมืองอาจจะนำไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ นายพรเพชรกล่าวว่า กฎหมายทุกฉบับยื่น ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

เมื่อถามอีกว่าการลงมติโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของส.ว.ต้องเป็นไปตามมติส.ว. หรือปล่อยโหวตอิสระ ประธานวุฒิสภากล่าวว่า การสัมมนา วันที่ 23 ส.ค.นี้ คงยังไม่ได้พูดถึง ประเด็นนี้ แต่ที่ผ่านมาตามหลักแล้ว ส.ว.ไม่ใช่พรรคการเมือง ส.ว.คงจะไปสั่งใครไม่ได้ ทุกครั้งที่มีปัญหาลักษณะนี้ ส.ว.จะสัมมนาเพื่อให้ซักถาม ส่วนดุลพินิจเขาก็คงไปคุยกัน ว่าจะเอาอย่างไร พูดตรงๆ ไม่เคยเลยที่จะไปบังคับให้โหวตผ่านหรือโหวตคว่ำ ใครจะพูดอย่างไรไม่รู้ แต่ตนไม่เคยสั่งแน่นอน

วันชัยชี้ส.ว.ไม่กล้าออกตัวแรง

นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้ว่า ส.ว.ไม่ออกตัวแรง เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของพรรค การเมืองล้วนๆ โดยเฉพาะพรรคใหญ่ ประชาชน และประเทศไม่ค่อยได้อะไร เท่าที่ฟังมา ส.ว.มีความเห็นเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งที่จะแก้ครั้งนี้หลายเเนวทาง เช่น เห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 60 มีพรรคเล็ก มีส.ส.แบบปัดเศษมากเกินไป ไม่ตรงความต้องการของประชาชน ทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ แต่ถ้าแก้เป็นแบบปี 40 ที่จะทำอยู่นี้ ส.ว.หลายกลุ่มเห็นว่าจะทำให้พรรคใหญ่กินรวบในสภา เกิดเผด็จการรัฐสภา เหมือนในอดีต พรรคเล็กๆ จะไม่มีที่ยืน

ขณะที่อีกระบบที่มีบางพรรคแปรญัตติ เสนอระบบแบบสัดส่วนผสม หรือเอ็มเอ็มพี ใครได้รับเลือกตั้งในเขตใด คนนั้นได้เป็นส.ส. และเอาคะแนนของพรรค มาคำนวณเป็น สัดส่วนส.ส.พึงมี โดยมีหลายพรรคสนับสนุน ระบบนี้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ได้อย่างแท้จริง ถ้าเอาผลประโยชน์ประชาชนเป็นตัวตั้ง ระบบเอ็มเอ็มพี น่าจะสนองความต้องการประชาชน ประเทศได้เป็นอย่างดี

หวั่นจุดชนวนขัดแย้งในรัฐบาล

นายวันชัยกล่าวว่า ขณะนี้ส.ว.กำลัง ถกเถียงกัน คาดว่าจะได้ข้อยุติไม่เกินวันที่ 23-24 ส.ค.นี้ ส่วนตัวเห็นว่าถ้าคำนึงถึงประโยชน์ประเทศ ต้องการแก้ปัญหาทางการเมือง ควรใช้ระบบเอ็มเอ็มพี ดีที่สุด เท่าที่ดูขณะนี้พรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์ เสนอ พรรคชาติไทยพัฒนาก็เห็นด้วย ส่วนพรรคภูมิใจไทยเท่าที่ดูลึกๆ ไม่เห็นด้วยกับระบบเอ็มเอ็มพี เพราะเขาจะเสียเปรียบ จึงเกิดความขัดแย้งระหว่างพรรค เพราะมีพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข เนื่องจากทำให้พรรคตัวเองเสียคะแนน มีแนวโน้ม จะไม่โหวตสนับสนุน และอาจจะร่วมกับพรรคฝ่ายค้านบางพรรค ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความหลังจากโหวตผ่านวาระที่ 3

“การแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้ อาจทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาล และในสภา อีกทั้งมีทีท่าว่าที่จะแก้ได้เร็วนั้น อาจไม่เร็วตามที่ต้องการก็เป็นไปได้ ส.ว.ทั้งหมด จึงจะไม่เคลื่อนไหว และออกตัวแรงเรื่องนี้มาก โดยเรื่องที่มีบางคนคาดหวังว่า ถ้าแก้รัฐธรรมนูญ เสร็จแล้วจะยุบสภาเร็วได้เลยก็อาจจะไม่ทันดังที่หวังก็ได้” นายวันชัยกล่าว

‘บิ๊กตู่’นัดเคาะโผทหารสูตรไขว้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 25 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม จะเป็นประธานการประชุมสภากลาโหมประจำเดือน คาดว่าช่วงก่อนหรือหลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จะหารือเฉพาะคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล หรือบอร์ด 7 เสือกลาโหม ประกอบด้วย พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทสส. พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวารขาน ผบ.ทร. และ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผบ.ทอ. เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารรอบสุดท้าย หลังจากผบ.เหล่าทัพ ได้จัดทำบัญชีรายชื่อเรียบร้อยแล้ว

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ให้นโยบายว่าการปรับย้ายต้องให้เกิดความเป็นธรรมในทุกตำแหน่ง และให้เป็นอำนาจของ ผบ.เหล่าทัพ โดยให้พิจารณาถึงความรู้ ความสามารถ และความอาวุโสเป็นหลัก ขณะที่ตนจะดูในภาพรวมทั้งหมด หากที่ประชุมเห็นไม่ตรงกันในส่วนของส่งรายชื่อไขว้ระหว่างหน่วย โดยเฉพาะระดับหัว ก็ต้องลงคะแนนโหวต กันในที่ประชุม แต่นายกฯจะให้กรรมการ ได้เสนอ เหตุผลและหาข้อยุติกันด้วยการ พูดคุยกันก่อน

จับตาเก้าอี้‘ปลัดกห.-ผบ.ทร.’

มีรายงานว่า การพิจารณาผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม นอกจากยึดธรรมเนียม ปฏิบัติผู้ได้รับการเสนอชื่อคนในสำนักงานปลัดแล้ว ยังต้องพิจารณาเรื่องความเหมาะสมอีกหลายปัจจัย เนื่องจากพล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย (ตท.20) รองปลัดกระทรวงกลาโหมอาวุโสสูงสุด เคยได้รับผลกระทบจากการปรับย้ายสมัยที่พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ดำรง ตำแหน่งผบ.ทร. โดยถูกเตะจากกองทัพเรือ มาอยู่ที่สำนักงานปลัด จึงต้องพิจารณา คืนความชอบธรรมให้กับพล.ร.อ.สมประสงค์ ให้กลับไปดำรงตำแหน่ง ผบ.ทร.หรือไม่ แต่ในที่สุด ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาร่วมกันระหว่าง รมว.กลาโหม และพล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน (ตท.20) ผบ.ทร.คนปัจจุบัน ที่เสนอชื่อ พล.ร.อ.ธีรกุล กาญจนะ (ตท.21) เสนาธิการทหารเรือ ว่าจะเลือกใครดำรงตำแหน่ง

จากนั้นจึงพิจารณาผู้ที่เหมาะสมมาเป็น ปลัดกระทรวงกลาโหมต่อไป ซึ่งมีแนวโน้มว่าพล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ (ตท.20) ปลัดกระทรวงกลาโหม จะดึง พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ (ตท.20.) เสนาธิการทหารบก ข้ามมาเพื่อเสนอชื่อเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม คนใหม่ เพื่อเปิดทางให้ พล.อ.ณรงค์พันธ จัดวางคนในตำแหน่ง 5 เสือ ทบ.

‘บิ๊กบี้’จัดวาง 5 เสือทบ.

สำหรับกองทัพอากาศ พล.อ.อ.แอร์บูล เสนอชื่อ พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ (ตท.21) ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพอากาศ ขึ้นเป็นผบ.ทอ.คนใหม่ ท่ามกลางกระแสข่าวว่า อาจจะพิจารณาชื่อของ พล.อ.อ.สุทธิพันธ์ ต่ายทอง (ตท.21) รองผบ.ทสส. ที่ถูกปรับ ย้ายไปนอก ทอ. กลับมาพิจารณาร่วมด้วย ขณะที่มีชื่อ พล.อ.อ.ธาดา เคี่ยมทองคำ (ตท.21) ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ. ขยับขึ้นเป็น รองผบ.ทอ. พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา เสธ.ทอ. (ตท.23) ขึ้นเป็น ผู้ช่วยผบ.ทอ. และพล.อ.อ.ธนศักดิ์ เมตะนันท์ รองเสธ.ทอ. (ตท.22) ขึ้นเป็น ผช.ผบ.ทอ.

ในส่วนของกองทัพบก พล.อ.ณรงค์พันธ์ คาดว่าจะขยับ พล.อ.อภินันท์ คำเพราะ (ตท.22) หัวหน้าสำนักงานผบ.ทบ. เป็น รอง ผบ.ทบ. พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ (ตท.22) รองเสนาธิการทหารบก เป็น ผู้ช่วย ผบ.ทบ. พล.ท.เจริญชัย หินเธาว์ (ตท.23) แม่ทัพ ภาคที่ 1 เป็นผู้ช่วยผบ.ทบ. และคาดว่าจะขยับ ตท.24 เข้ามานั่งเป็นเสนาธิการทหารบกต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน