กังวลนักเสพหน้าใหม่ ย้ำครอบครัวต้องดูแล เปิดโพล‘20จว.อีสาน’ เน้นปรุงอาหาร-ไม่สูบ

แพทย์เตือนใช้กัญชาตั้งแต่เด็กเสี่ยงในการเกิดโรคจิตเภท ใครป่วยอยู่ยิ่งต้องระวัง ผู้ที่กินดื่มจะมีอาการพิษมาก แม้ระบบทางเดินอาหารดูดซึมสารทีเอชซีได้ไม่ดี แต่พอเข้าสู่ตับจะเปลี่ยนสารที่ไม่ออกฤทธิ์เป็นสารออกฤทธิ์ มข.เปิดผลสำรวจความคิดเห็นชาวอีสาน 20 จว. เกินครึ่งพร้อมปลูกกัญชา-ลองรับประทาน มีแค่ 1 ใน 3 จะลองเสพ แต่เกินร้อยละ 90 ห่วงบุตรหลานเยาวชนเข้าถึงจนเสียสุขภาพ-การเรียน บุรีรัมย์จับสึกแล้ว 4 เณรพ่นควันโชว์ติ๊กต็อก

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 21 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มอบหมายให้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามแทนถึงกรณีที่ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. กัญชา กัญชง (ฉบับที่…) พ.ศ. … เคาะกฎหมายลูก คุมกัญชาเสรีให้ปลูกได้บ้านละไม่เกิน 10 ต้น และกรณีถ้าปลูกเพื่อ การพาณิชย์เป็นธุรกิจขนาดเล็กไม่เกิน 5 ไร่ และต้องให้ผลตอบแทนกับรัฐมากขึ้น ว่า พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงว่า ขณะนี้ร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวอยู่ในชั้นกรรมาธิการ เชื่อว่าทางกรรมาธิการจะได้ช่วยกันพิจารณาอย่าง ถี่ถ้วนรอบคอบ ทางรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศที่สอดคล้อง กับร่าง พ.ร.บ.ที่กำลังพิจารณาแล้ว

วันเดียวกัน รศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เผยผลสำรวจความคิดเห็นชาวอีสาน เรื่อง “คนอีสานกับการปลูกกัญชาเสรี” สำรวจระหว่างวันที่ 17-19 มิ.ย.ที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,105 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด

เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างว่า “ครัวเรือนของท่านจะปลูกต้นกัญชาหรือไม่” พบว่า ร้อยละ 53.1 จะปลูก และร้อยละ 46.9 จะไม่ปลูก โดยกลุ่มที่จะปลูกแยกเป็นดังนี้ ร้อยละ 25.6 จะปลูก 1-5 ต้น ร้อยละ 14.7 จะปลูก 6-10 ต้น และ ร้อยละ 12.8 จะปลูกมากกว่า 10 ต้น แต่ไม่เกินที่กฎหมายกำหนด

“ท่านจะกินอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือไม่” ร้อยละ 73.2 จะมีการกินหรือ ลองกิน และร้อยละ 26.8 จะไม่กิน โดยกลุ่มที่จะกินหรือลองกินแยกเป็นดังนี้ ร้อยละ 33.2 อาจจะลองแค่ลองกินไม่กี่ครั้ง ร้อยละ 33.8 จะกินตามโอกาสต่างๆ และมีเพียงร้อยละ 6.2 ที่จะกินบ่อยหรือกินเป็นประจำ

“ท่านจะเสพกัญชาหรือไม่” ร้อยละ 66.9 จะไม่เสพ และร้อยละ 33.1 จะเสพหรือ ลองเสพ โดยกลุ่มที่จะเสพหรือลองเสพแยกเป็นดังนี้ ร้อยละ 19.0 อาจจะลองแค่ลองเสพไม่กี่ครั้ง ร้อยละ 10.6 จะเสพตามโอกาสต่างๆ และมีเพียงร้อยละ 3.5 ที่จะเสพบ่อยหรือเสพเป็นประจำ

“หลังจากนี้ประมาณ 1 ปี เมื่อประชาชนปลูกกัญชาเยอะขึ้น ราคากัญชา จะเป็นอย่างไร” อันดับหนึ่ง ร้อยละ 48.1 เห็นว่า ไม่ถูกไม่แพงปลูกแล้วยังพอมีกำไร รองลงมาร้อยละ 35.2 เห็นว่า พอๆ กับผักสวนครัวปลูกแล้วไม่ค่อยมีกำไร และมีเพียงร้อยละ 16.6 เห็นว่า ยังแพงมากปลูกแล้วได้กำไรสูง

“การอนุญาตให้ประชาชนปลูกกัญชาได้ จะช่วยให้ประเทศลดปัญหาความยากจนได้หรือไม่” พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ 66.7 เห็นว่า ไม่ช่วยลดปัญหาความยากจนหรืออาจเพิ่มปัญหา ขณะที่ร้อยละ 33.3 เห็นว่าจะช่วยลดปัญหาความยากจน

เมื่อสอบถามต่อว่า “ท่านกังวลว่าบุตรหลานของท่านหรือเยาวชนจะบริโภคหรือเสพกัญชาจนเสียสุขภาพหรือการเรียน หรือไม่อย่างไร” พบว่า เมื่อเรียงจากระดับความกังวล เป็นดังนี้ ร้อยละ 23.7 ตอบว่า กังวลมากที่สุด ร้อยละ 24.9 ตอบว่า กังวลมาก ร้อยละ 33.5 ตอบว่า กังวลปานกลาง ร้อยละ 12.4 ตอบว่า กังวลน้อย และมีเพียงร้อยละ 5.5 ที่กังวลน้อยที่สุดหรือไม่กังวลเลย

“การอนุญาตให้ประชาชนปลูกกัญชาได้ จะทำให้ปัญหายาเสพติดพวกยาบ้า ยาอี ยาไอซ์ ยาเค ในปัจจุบัน เพิ่มขึ้นหรือลดลง” พบว่า โดยภาพรวมเห็นว่าปัญหายาเสพติดจะเท่าๆ เดิม ค่อนไปทางลดลง โดยมีรายละเอียดดังนี้ อันดับหนึ่งร้อยละ 45.8 เห็นว่า ปัญหาจะเท่าๆ เดิม รองลงมา ร้อยละ 24.5 เห็นว่า ปัญหาจะลดลง ตามมาด้วย ร้อยละ 17.4 เห็นว่า ปัญหาจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.3 เห็นว่า ปัญหาจะลดลงมาก และร้อยละ 6.0 เห็นว่า ปัญหาจะเพิ่มขึ้นมาก

“การอนุญาตให้ประชาชนปลูกกัญชาได้ มีข้อดีและข้อเสียอย่างไรต่อประเทศไทย” พบว่า อันดับหนึ่งร้อยละ 53.0 เห็นว่า มีข้อดีพอๆ กับข้อเสีย รองลงมา ร้อยละ 27.2 เห็นว่า ข้อดีมากกว่าข้อเสีย และร้อยละ 19.8 เห็นว่า ข้อเสียมากกว่าข้อดี

“กฎหมายควรกำหนดให้สถานที่ราชการ โรงพยาบาล วัด โรงเรียนและสถานศึกษา เป็นเขตห้ามขาย/บริโภคกัญชาและอาหารผสมกัญชา” พบว่า อันดับหนึ่งร้อยละ 83.3 เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 12.5 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 4.2 ระบุอื่นๆ หรือไม่แน่ใจ

“กฎหมายควรกำหนดให้แต่ละครัวเรือนปลูกกัญชาเพื่อใช้ในครัวเรือนได้ไม่เกินกี่ต้น” พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.4 ยังมองว่ารัฐควรจำกัดจำนวนการปลูก โดยแยกเป็น ร้อยละ 26.3 ให้ปลูกไม่เกิน 6 ต้น ร้อยละ 23.2 ให้ปลูกไม่เกิน 10 ต้น และร้อยละ 12.9 ให้ปลูกไม่เกิน 20 ต้น อย่างไรก็ตามมีถึงร้อยละ 34.9 ที่สนับสนุนให้ปลูกได้เสรีไม่จำกัด และมีร้อยละ 2.8 ที่ระบุอื่นๆ หรือไม่แน่ใจ

ด้านนายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น นำเจ้าหน้าที่กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมออกสุ่มตรวจคุณภาพอาหารโรงเรียน ที่ประกอบอาหารขึ้นสำหรับการรับประทานเป็นมื้อกลางวันให้กับเด็กๆ ที่โรงเรียนเทศบาลสวนสนุก เขตเทศบาลนครขอนแก่น ตามมาตรการควบคุมและป้องกันการนำกัญชาและกัญชง มาใช้เป็นส่วนผสมอาหารและขนม ภายในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัดเทศบาลนครขอนแก่น โดยเด็ดขาด

นายธีระศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัดเทศบาล 11 แห่ง ร่วมกันให้เป็นโรงเรียนปลอดกัญชา-กัญชง โดยอาหาร เครื่องดื่มทั้งหมดจะต้องปลอดกัญชาในรั้วโรงเรียนอย่างเด็ดขาด ดังนั้นวันนี้คณะทำงานร่วมทุกฝ่ายจึงได้ลงพื้นที่ออกตรวจ ซึ่งการใช้สารตรวจแบบเดิมยังตรวจไม่ได้ เพราะว่าสารที่ใช้เฉพาะในการตรวจปริมาณและส่วนผสมกัญชาทางกรมวิทยาศาสตร์กำลังพัฒนา แต่ยังไม่ทราบว่าจะเสร็จเมื่อไหร่

สำหรับกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์ได้ เผยแพร่คลิปสามเณรประมาณ 3-4 รูป จับกลุ่มมั่วสุมเสพกัญชา โดยในคลิปจะเห็นเป็นบ้องกัญชามีเณรนั่งพ่นควันอย่างชัดเจน เมื่อชาวเน็ตที่เห็นต่างวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักถึงความเหมาะสม จากการตรวจสอบพบว่าเป็นสามเณรวัดดังแห่งหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์

ล่าสุดเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพระพุทธศาสนา ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีดังกล่าวทันที จากการตรวจสอบพบว่า คลิปที่ถูกเผยแพร่ในโซเชี่ยลเกิดเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่เกิดเหตุเป็นบริเวณหน้ากุฏิหลังศาลาใหญ่ภายในวัดแห่งหนึ่งในต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ โดยกลุ่มที่ปรากฏในคลิปเป็นสามเณรที่บวชใหม่ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นโครงการของหน่วยงานรัฐร่วมกับทางวัด ในการปรับพฤติกรรมของเยาวชนที่หลงผิดมีประวัติ ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ในขณะที่เกิดเหตุ เจ้าอาวาสวัดดังกล่าวปฏิบัติศาสนกิจอยู่ที่ ต่างประเทศ

หลังคลิปดังกล่าวเผยแพร่ออกไปเป็นวงกว้าง ผู้ช่วยเจ้าอาวาสซึ่งปฏิบัติหน้าที่พระวินยาธิการสอบสวนข้อเท็จจริงตามแนวทางพระธรรมวินัยในเบื้องต้น สามเณรทั้ง 4 รูปรับสารภาพว่าได้กระทำผิดจริง และให้สามเณรทั้ง 4 รูป ทำการลาสิกขาแล้ว จากนั้น เจ้าหน้าที่รับผิดชอบโครงการรับตัวไปบำบัดและคุมประพฤติตามขั้นตอนต่อไป ส่วนสามเณรที่เหลืออีก 8 รูป กำชับพระพี่เลี้ยงดูแลอย่างใกล้ชิด จนกว่าจะครบกำหนด โครงการฯ ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก

ด้านนางภัทรานิษฐ์ จริยาโสวรรณ นักวิชาการศาสนาชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า หลังจากทราบเรื่องทางสื่อเร่งติดตามค้นหา จนมาทราบว่าบวชในโครงการร่วมกันระหว่างศาลกับคณะสงฆ์ จึงให้พระพี่เลี้ยงมาประชุมสรุปมีเณรจำนวน 4 รูปตามคลิป ทั้งหมดสารภาพจึงสึกเช้าวันนี้ แล้วจะดำเนินการไปตามขั้นตอน จริงแล้วทางคณะสงฆ์วางแผนอย่างดี เณรทั้ง 12 รูป มีพระพี่เลี้ยงถึง 8 รูป เพื่อป้องกันความผิดพลาด แต่วันนั้นภายในวัดมีงานถึง 4 งาน พระพี่เลี้ยงต้องไปช่วยเหลืองานวัดเป็นช่วงเวลาเพียงข้ามคืนเณรมากระทำดังกล่าว ส่วนสาเหตุคาดว่าเป็นความ คึกคะนองตามวัย ประกอบกับเด็กรับรู้ข่าวสารจากสื่อสารว่ากัญชาไม่ผิดกฎหมาย จึงกระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ที่ฟาร์มปลูกกัญชา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี สุรนารี (มทส.) อ.เมือง จ.นครราชสีมา เปิดจำหน่ายต้นกล้ากัญชา “พันธุ์ฝอยทอง ภูผายล” เป็นวันแรก มีประชาชนให้ความสนใจเดินทางมาเลือกซื้อกันอย่างคึกคัก เฉพาะช่วงครึ่งวันแรก มีผู้ให้ความสนใจซื้อต้นกัญชาไปแล้วกว่า 1,000 ต้น

ดร.สุรชาติ สิบพลกรัง นักวิจัยการปลูกฟาร์มกัญชา มทส. เผยว่า กัญชา “พันธุ์ฝอยทอง ภูผายล” มีถิ่นกำเนิดจาก จ.สกลนคร ผ่านการศึกษาทดสอบคัดแยกสายพันธุ์กว่า 2 ปี กระทั่งได้สายพันธุ์ที่มีคุณลักษณะดี โตเร็ว ลำต้นแข็งแรง ออกดอกง่ายเหมาะสมกับสภาพอากาศของประเทศไทย ให้ผลผลิตสูง 1 ต้นสดรวมกว่า 2.38 กิโลกรัม ตั้งแต่ ราก ลำต้น ใบ และช่อดอก ภายใต้วิธีการปลูกแบบปลอดภัย และการดูแลบำรุงรักษาด้วยระบบการปลูกที่มีคุณภาพ ลำต้นแข็งแรงสมบูรณ์สามารถสูงได้เต็มที่ถึง 4 เมตร ให้ช่อดอกแน่นภายในระยะเวลา 4 เดือนครึ่ง พร้อมให้สารสำคัญออกฤทธิ์สูงระดับมาตรฐานที่ใช้ได้ทางการแพทย์และสาธาณสุข ค่าวิเคราะห์สารทีเอชซี (THC) เฉลี่ย 8-12 เปอร์เซ็นต์

พันธุ์กัญชา – ชาวบ้านซื้อต้นกล้ากัญชาพันธุ์ ‘ฝอยทอง ภูผายล’ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(มทส.) เปิดขายวันแรกอย่างคึกคัก ที่ฟาร์มปลูกกัญชา มทส. จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.

ทั้งนี้ต้นกล้ากัญชา “พันธุ์ฝอยทองภูผายล” ที่นำมาจำหน่ายให้กับประชาชนเป็นต้นกล้าที่มีอายุประมาณ 3 สัปดาห์ ความสูงเฉลี่ย 20-30 เซนติเมตร ลำต้นแข็งแรง วัสดุปลูกมีการผสมไตรโครเดอร์มา หมดปัญหารากเน่าและเชื้อราก่อโรค ลำต้นสมบูรณ์แข็งแรงทุกต้น จำหน่ายราคาต้นละ 100 บาท มทส.เพิ่งประชาสัมพันธ์ไปเพียงแค่วันเดียว และเปิดจำหน่ายวันนี้เป็นวันแรก ปรากฏว่ามีผู้ให้ความสนใจเข้ามาซื้อกันอย่างคึกคักตลอดทั้งวัน

วันเดียวกัน นายชานนท์ หันสวาสดิ์ หัวหน้ากลุ่มอำนวยการความยุติธรรมและนิติการ สำนักงานยุติธรรมจังหวัดเชียงใหม่ เผยจำนวนผู้ต้องขังและผู้ต้องกักขังคดีเกี่ยวกับกัญชา ในเรือนจำกลางเชียงใหม่ เรือนจำอำเภอฝาง และทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ณ วันที่ 15 มิ.ย. พบว่ามีจำนวน 53 คน ส่วนใหญ่เป็นความผิดประเภทครอบครอง และภายหลังที่มีการประกาศปลดล็อกกัญชา เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ส่งผลให้มีผู้ต้องขังจำนวน ดังกล่าวได้รับประโยชน์จากการปลดล็อก ได้รับการปล่อยตัว 18 ราย ส่วนอีก 35 ราย ได้รับประโยชน์พ้นโทษจากคดีกัญชา แต่ยังจำคุกในฐานความผิดอื่น

ส่วนกรณีรายงานวารสารต่างประเทศ ระบุว่า ชายไทยอายุ 23 ปี ใช้กัญชามา 2 ปี หยุดใช้มา 3 เดือน แล้วกลับมาใช้ใหม่ ด้วยการสูบ 2 ชั่วโมง อวัยวะเพศแข็งตัว รู้สึกปวดและรู้สึกว่าอวัยวะเพศบิดเบี้ยว ตัดสินใจหยิบกรรไกรขึ้นมาตัดหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ แต่ไม่หาย จึงตัดซ้ำๆ จนอวัยวะเพศขาดหลุดเหลือแต่ตอ แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นอาการของจิตเภทจากการเสพกัญชา

พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) แสดงความเห็นถึงกรณี ดังกล่าวว่า การใช้สารเสพติดต่อเนื่องมาระยะหนึ่งอาจต้องใช้เวลานานกว่าเกิดอาการบางอย่าง เช่น ใช้มากกว่า 3 ปี ถึงจะเกิดภาวะทางจิต แต่บางหากหยุดใช้ไปแล้วกลับมาใช้ใหม่อาจเกิดภาวะความไวต่อสารมากขึ้น เพราะสารเสพติดยังมีผลต่อสมองอยู่ส่งผลให้เกิดอาการทางจิตเร็วขึ้น โดยเฉพาะสารหลอนประสาทที่เมื่อหยุดใช้แล้วแต่ยังมีอาการหลอนที่เกิดจากปัจจัยอื่นได้ เช่น ความเครียด อาจได้ยินเสียงแว่ว ฉะนั้นเมื่อหยุดใช้สารเสพติดแล้ว ต้องหยุดให้นาน หรือเลิกใช้ไปเลย เพื่อให้สมองฟื้นฟูขึ้นมาได้ดีกว่าคนที่กลับมาใช้อีก

เมื่อถามถึงการใช้กัญชากับโรคจิตเภท พญ.รัศมนกล่าวว่า โรคจิตเภทเป็นโรคจิตชนิดหนึ่งยังไม่มีสาเหตุเกิดที่แน่ชัด แต่ส่วนใหญ่มีปัจจัยเรื่องพันธุกรรม อาการของโรค คือ มีความเชื่อหลงผิด หูแว่ว ภาพหลอน มีความคิดที่ไม่ได้อยู่ในโลกความเป็นจริง ขณะที่การใช้กัญชาสามารถทำให้เกิดโรคจิตได้อยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกันมีข้อมูลพบว่า ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคจิตเภทอยู่แล้วและมีการใช้กัญชาตั้งแต่อายุน้อยจะเพิ่มปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคจิตเภทได้มากขึ้น แม้ไม่ใช่สาเหตุโดยตรง แต่ก็เกิดขึ้นได้

ส่วนการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของสารทีเอชซี ส่งผลเสียต่อร่างกายหรือเพิ่มปัจจัยเสี่ยงอาการทางจิตอย่างไร พญ.รัศมนกล่าวว่า หากร่างกายได้รับสารดังกล่าวไม่ว่าจะด้วยวิธีใด สารจะถูกส่งไปที่สมอง ยิ่งได้รับตั้งแต่อายุยังน้อยเข้าร่างกายในปริมาณสูง หรือใช้เวลานานจะมีความเสี่ยงต่ออาการทางจิตได้เช่นกัน ความจริงระบบทางเดินอาหารดูดซึมสารทีเอชซี ได้ไม่ดี แต่หากเข้าสู่ตับจะเปลี่ยนสารที่ไม่ออกฤทธิ์ให้เป็นสารออกฤทธิ์มีผลมากกว่าการสูบกัญชาหรือใช้ในด้านอื่นๆ จะเห็นว่าผู้ที่กินดื่มจะมีอาการพิษมากกว่าคนใช้สูบ ส่วนการขับออกจากร่างกายใช้เวลานาน 2 สัปดาห์ คนที่ใช้ต่อเนื่องอาจต้องเวลาเป็นเดือนกว่าจะขับออกจากร่างกาย

เมื่อถามถึงความกังวลเรื่องการใช้กัญชา ในเด็กที่อายุน้อยลงเป็นนักเสพหน้าใหม่ พญ.รัศมนกล่าวว่า ช่วงหลังการปลดล็อกกัญชาในไทยก็มีผลสำรวจพบการใช้กัญชาในกลุ่มเด็กมากขึ้น เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ว่าหากมีการเข้าถึงสารเสพติด สารมึนเมา หรือสารออกฤทธิ์ที่ง่ายขึ้น ทำให้มีปัญหาเรื่องการอยากลองในเด็กได้มากขึ้น ฉะนั้น ต้องมีข้อควรระวัง จำกัดอายุ ไม่จำหน่ายให้เด็ก

“รวมถึงครอบครัวจะต้องทำความเข้าใจกับเด็กๆ คุยกันสบายๆ ว่าการปลดล็อกกัญชาเพื่อการแพทย์ ดังนั้นผู้ที่ไม่ได้ป่วยไม่ควร ใช้กัญชา ไม่ควรนำมาใช้สันทนาการเพราะส่งผลทางจิตได้ ขณะที่นโยบายและ การควบคุมต้องรัดกุมมากขึ้น ป้องกันเด็ก ไม่ให้เข้าถึงสิ่งมึนเมาได้ง่าย โดยตอนนี้ พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ. … อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ หากมีมาตรการควบคุมที่เข้มข้นขึ้น จะช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนได้มากขึ้นในการเข้าถึงกัญชา” พญ.รัศมนกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน