ให้หลังการเปิดตัว 10 นโยบาย ภายใต้สโลแกน “คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน” ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย

สร้างความฮือฮาและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากรัฐบาลไปพร้อมกัน โดยเฉพาะการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 600 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 2.5 หมื่นบาท

นโยบายของเพื่อไทยจะทำได้หรือไม่ มีความเห็นจากนักวิชาการ

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

นโยบายของพรรคเพื่อไทยทั้ง 10 ข้อ ก็เหมือนสินค้าทางการเมือง ซึ่งก่อนถึงมี.ค.2566 ทุกพรรคควรทำ ประชาชนจะชอบหรือไม่ชอบ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ขึ้นอยู่กับผู้บริโภค

นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ที่จริงถ้าเป็นเขตพื้นที่เมืองก็ให้ค่าแรงเท่านี้นานแล้ว ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้บางธุรกิจ บางอุตสาหกรรมเป็นไปแล้ว แม้กระทั่งแรงงานไร้ฝีมือในเขตกทม. เชื่อว่าค่าจ้างเหมาทำความสะอาด 1 วัน ก็มีค่าจ้าง 500-600 บาท

เชื่อว่าสิ่งที่เพื่อไทยพูดสามารถเป็นจริงได้และเป็นไปแล้ว คนที่บอกเป็นไปไม่ได้คงต้องคิดกันอีกรอบ เพราะค่าแรง 600 บาท เป็นเรื่องปกติไปแล้ว และต้องคิดอีกด้านด้วยว่า ค่าครองชีพทุกวันนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ แถมยังไม่มีมาตรการที่เหมาะสมในการควบคุม อาหารกึ่งสำเร็จรูปยังขึ้นราคาจะไม่ให้ค่าแรงขึ้นราคาได้อย่างไร

ก็อยากฟังว่าทางพรรคเพื่อไทยจะนำทรัพยากรตรงไหนมาขับเคลื่อนให้ภาคเอกชนรับได้กับค่าแรง 600 บาท ตรงนี้น่าสนใจมากกว่า เพราะทุกพรรคต้องทำสิ่งที่ประชาชนมองว่าเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้มากที่สุด

เรื่องค่าแรงควรคิดเรื่องอื่นประกอบด้วย สมมติถ้าเพื่อไทยสามารถลดต้นทุนพลังงานให้ภาคอุตสาหกรรมได้ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากๆ นายจ้างก็ไม่มีเหตุผลที่จะกดค่าแรงไว้ ทุกวันนี้ที่ภาคอุตสาหกรรมบ่นกันมาก คือ 1.ต้นทุนค่าเชื้อเพลิง 2.การขาดแคลนแรงงาน ไทยไม่มีแรงงานไร้ทักษะ เราขาดแรงงานกลุ่มนี้มากๆ

ปัจจุบันแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทยทุกวันวันละ 30,000 คน เริ่มเข้ามาตั้งแต่ พ.ค.2565 จนถึงวันนี้ มีแรงงานถูกกฎหมายเข้ามา 2-3 แสนคน เกิดอะไรขึ้นกับแรงงานไทยที่ไม่ทำงาน 1.งานหนักเกินไป และ 2.ไม่คุ้มกับต้นทุนชีวิต

ภาคอุตสาหกรรมลืมไปว่าการนำแรงงานต่างชาติเข้ามา เป็นภาระของสังคมไทยที่ต้องดูแลร่วมกัน ปัญหาที่เราพูดกันไม่จบคืออยากใช้แรงงานถูก แต่เมื่อนำเข้ามามากๆ ก็มีต้นทุนสังคมที่ต้องแบกรับเหมือนกัน ฉะนั้นเรื่องค่าแรง 600 บาท ต้องมองให้รอบด้าน

ถ้าพรรคใดมีนโยบายเรื่องการบูรณาการ ในส่วนที่เพิ่มค่าแรง 600 บาท จะนำเงินมาจากที่ไหน ก็ตอบได้ว่านำมาจากการลดต้นทุนเชื้อเพลิง หรือมาจากการปรับราคาพืชผลทางการเกษตรให้ดีขึ้น

หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล มองว่าทั้ง 10 ข้อนโยบาย สามารถทำได้ เพราะสิ่งหนึ่งที่มองข้ามพรรคเพื่อไทยไม่ได้คือการมีประสบการณ์ การบริหารราชการแผ่นดินมายาวนาน มากที่สุดพรรคหนึ่งในการเมืองไทย ดังนั้นโอกาสที่จะสำเร็จได้ก็มี

แต่ก็ต้องดูองค์ประกอบอื่นด้วยว่าฝ่ายที่ไม่เป็นรัฐบาลจะกลายเป็นฝ่ายแค้นหรือไม่ เพราะจะทำให้การบริหารราชการเกิดการสะดุด โดยเฉพาะประเทศไทยหลายปีมานี้มีความแค้นสะสม คดีความเหล่านั้นก็เป็นอุปสรรคของทุกพรรค ยกเว้นฝ่ายรัฐบาลในปัจจุบัน

จึงห่วงความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งสะสมมานานมากกว่าจะเป็นอุปสรรคในการดำเนินนโยบาย เพราะในความเป็นจริง ถามใครไม่ว่าจะสีไหน เชียร์ใคร จะไม่เอาหรือค่าแรงที่สูงกว่า ทุกคนต้องการหมด

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

นักวิชาการเศรษฐศาสตร์การเมือง

ที่บอกจะให้จีดีพีโตตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปเฉลี่ย 5% ยาก มากๆ แม้กระทั่งจีนก็อยู่ในฐานะลำบาก 5% ถ้าทำได้ไทยจะสามารถหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง แม้จะมีตัวช่วยอยู่บ้างคือเรื่องอีอีซี แต่ให้ได้ 5% โดยเฉลี่ยระหว่างปี 2566-2570 ยากพอสมควร

นโยบายเกษตรนำเทคโนโลยี มีโอกาสทำได้โดยเน้นเรื่องเทคโนโลยีมาใช้ทางการเกษตร เช่นเดียวกับนโยบายนวัตกรรมสร้างโครงข่าย โดยเฉพาะการสร้างโครงข่ายด้านการเก็บเงินออนไลน์คิดว่าทำได้

ด้านสาธารณสุข การพัฒนา 30 บาทรักษาทุกโรค ถ้าตั้งใจทำจริงก็ทำได้ เพราะที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยทำเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรคแล้วมีคนไปดูถูกเขาก็ทำได้

ส่วนการศึกษา ไม่ง่ายนัก ที่บอกจะกระจายอำนาจเหมือนต่างประเทศ ถ้ามีเจตจำนงทางการเมืองแน่วแน่ ถ้าทำได้ส่วนตัวสนับสนุน เชื่อว่าจะทำได้ระดับหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด แต่เป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การกระจายอำนาจได้ เพราะการกระจายอำนาจเป็นเรื่องใหญ่มาก

การปราบปรามยาเสพติดก็ไม่ใช่ของง่ายนัก คงเข้มข้นมากขึ้นและต้องใช้เจตจำนงทางการเมือง ซึ่งในสภาพแบบนี้ยากมากพอสมควร เพราะเป็นเรื่องที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย

การพัฒนาโครงการพื้นฐาน แก้น้ำท่วม-น้ำแล้งทั้งระบบทั้งระบบคืออะไรและอาจแก้ได้แต่จะบรรลุเป้าหมายไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้งยากมากๆ เพราะไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศ โดยเฉพาะ กทม.มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม ต้องลงทุนมหาศาลจึงไม่แน่ใจว่าจะทำได้

นโยบายคมนาคมและขนส่งมวลชนคิดว่าทำได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ก็ไม่ค่อยแน่ใจ อาจทำได้ในระดับหนึ่ง ส่วนการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาทต่อปีอาจทำได้ เพราะหลังโควิดกระตุ้นดีๆ ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวได้เลย

ส่วนการทำราคาพลังงานให้ถูกลง ทั้งน้ำมัน แก๊ส ไม่น่าแปลกว่าจะทำได้ในปีหน้าเพราะราคาน้ำมันอยู่ช่วงขาลง แทบไม่ต้องทำอะไรเพราะเป็นไปตามกลไกลตลาด ส่วนการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันคงทำได้ระดับหนึ่ง

ที่คิดว่าทำยากมากคือเรื่องค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาท ตอนนี้วันละ 300 บาท และไม่เท่ากันในแต่ละจังหวัด ถ้าเพิ่มเท่าตัวเท่ากับ 100% และปกติเวลาเพิ่มค่าแรงจะคำนึงถึงเงินเฟ้อ ซึ่งปีนี้อาจสูง 6% แต่เงินเฟ้อพื้นฐานสำคัญเพียง 2% แล้วถ้าเพิ่มค่าแรง 100% จะเกิดอะไรขึ้น

เวลาขึ้นค่าแรงหมายความว่าต้นทุนของผู้ผลิตจะขึ้นมาเยอะมาก ความสามารถในการแข่งขันจะมีปัญหาตามมา เงินเฟ้อจะสูงขึ้น สินค้าขึ้นราคา แต่จำนวนคนซื้อน้อยลง ที่สำคัญเวลาขึ้นค่าแรงต้องดูเรื่องเงินเฟ้อและขีดความสามารถของแรงงาน ถ้าพัฒนาจากภาคเกษตรมาเป็นอุตสาหกรรมง่าย แต่อุตสาหกรรมมาเป็นโลจิสติกส์ยากมาก และจะทำให้ขีดความสามารถแย่ลงในการแข่งขันกับเพื่อนบ้านที่ค่าแรงถูกกว่าไทย

ส่วนเงินเดือนปริญญาตรี 2.5 หมื่น จากปัจจุบันได้ 1.5 หมื่น หากขึ้นไป 2.5 หมื่น เท่ากับขึ้น 70-80% ภาคธุรกิจจะอยู่ได้ต้องขึ้นราคา สินค้าก็จะขายน้อยลง รวมทั้งต้องแข่งเรื่องส่งออก จะทำให้มีปัญหาขาดดุล อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำลง

ทุกวันนี้ขยายตัว 3% ถือว่าต่ำแล้ว ต่ำสุดในอาเซียน ถ้าขึ้นค่าแรงขนาดนั้นไม่ต้องพูดถึง ต่อให้มีเจตจำนงทางการเมืองแล้วจะกล้าทำหรือไม่ แรงงานก็อยากได้ แต่นักธุรกิจจะมีปัญหาเป็นแรงกดดันที่สูงมาก

นโยบายเหล่านี้เพื่อไทยมองโลกแง่ดีจนเกินไป อาจมีความจริงใจแต่ในทางปฏิบัติ ในแง่เศรษฐกิจ ในด้านเศรษฐศาสตร์ไปได้ลำบากมาก และในแง่การเมืองก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ง่าย

และนโยบายที่ออกมาหาเสียงมากเกินไป ไม่ใช่แค่พรรคเพื่อไทยหลายพรรคก็มองเรื่องหาเสียง แต่ไม่มีความเป็นไปได้ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ เพราะขณะนี้ไทยมีเงินที่จะพัฒนาเศรษฐกิจจากงบ 20% ถือว่าน้อยมาก เป็นงบประจำ 16% และเพิ่มขึ้นทุกปี จึงเห็นว่านโยบายทั้ง 10 ข้อของเพื่อไทยไม่สัมพันธ์กับรายจ่าย-รายรับที่ยังไม่ได้พูดถึง

ธเนศวร์ เจริญเมือง

คณะรัฐศาสตร์ฯ ม.เชียงใหม่

หลักของการวางนโยบายมีหลักการใหญ่ คือ เป็นเรื่องปกติของพรรคการเมืองที่จะเสนอนโยบายหาเสียงซึ่งเป็นหลักการทั่วไป กรณีของพรรคเพื่อไทยที่เคยถูกย่ำยีทางการเมืองมาก่อน การนำเสนอนโยบายจึงมีความหมายสำคัญ

อย่างน้อยคือทำอย่างไรที่จะทำให้ได้รับเลือกตั้ง ทำอย่างไรให้ได้คะแนนเป็นเสียงข้างมาก ให้ได้กลับมาบริหาร

หลังจากที่พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบาย 10 ข้อ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างมาก โดยเฉพาะนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ซึ่งส่วนตัวคิดว่าต้องแยกเป็น 2 ประเด็น

คือ 1.ในอดีตเคยมีพรรคการเมืองบางพรรคเสนอจะขึ้นค่าแรงรายวันจำนวนหนึ่ง แต่สุดท้ายทำไม่สำเร็จ และ 2.เมื่อพรรคเพื่อไทยเสนอเรื่องเดียวกันขึ้นมา ซึ่งเชื่อว่า พรรคเพื่อไทยมีหลักวิชาการมากพอ มีการศึกษาข้อมูลอัตราค่าแรงของประเทศอื่นๆ

แสดงให้เห็นว่า พรรคเพื่อไทยรู้แล้วว่าประเทศอื่นเดินหน้าไปถึงไหน ขณะที่ประเทศไทยอยู่ตรงไหน จึงประกาศนโยบายค่าแรง 600 บาท โดยพิจารณาจากภาพเศรษฐกิจองค์รวมด้วยว่าดีขึ้นหรือไม่ เมื่อมีการพูดคุยระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะตั้งเป้าไว้ว่าเศรษฐกิจไทยมีขีดความสามารถมากพอที่จะทำได้

อีกทั้งข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยมีความน่าสนใจ ที่บอกว่าถ้าเป็นรัฐบาลจะทำให้ได้ภายใน 4 ปีนี้ โดยเมื่อถึงปี 2570 จะทำค่าแรงเป็น 600 บาทต่อวันให้ได้ ซึ่งหากดูจากความสามารถของพรรคเพื่อไทยที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจองค์รวมของประเทศให้ดีขึ้น เพื่อยกระดับรายได้ของนายทุนจะได้มีเงินมาจ่ายค่าแรงได้ ประกอบกับระยะเวลา 4 ปี จึงเป็นเรื่องที่น่าจะเป็นไปได้ตามเป้าที่เขาวางไว้

การที่พรรคพลังประชารัฐวิพากษ์วิจารณ์นโยบายค่าแรงในทันที หลังพรรคเพื่อไทยประกาศ ถือเป็นวิธีการของคนที่ไม่มีความเป็นมืออาชีพ ถ้าเป็นมืออาชีพ เมื่อได้ฟังการนำเสนอนโยบายของพรรคอื่นๆ หากจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ควรมีเวลาในการคิดถึงความเป็นไปได้หรือไม่ได้

หรือจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนกันก่อนจะวิจารณ์ทันที หรือให้นักวิชาการออกมาพูดจะดีกว่า เพื่อจะได้รู้ว่านโยบายต่างๆ นั้น ทำได้หรือไม่ได้ด้วยเหตุผลอะไร

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ทันทีโดยไม่มีข้อมูลข้อเท็จจริงมารองรับ ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ถ้าให้ยุติธรรมกับข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย ต้องมีการจัดเสวนาพูดคุยกันในลักษณะของการถกหรือแย้งกันด้วยข้อมูล

สำหรับนโยบายอื่นๆ ที่พรรคเพื่อไทยนำเสนอนั้น พรรคเพื่อไทยเคยมีประสบการณ์เป็นรัฐบาลมาก่อน ทีมงานของพรรคเพื่อไทยเคยทำงานมาแล้ว และคนที่เป็นทีมเศรษฐกิจเก่าล้วนมีประสบการณ์ทำงาน เมื่อออกมาพูดถึงนโยบายต่อจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไร

เหมือนทำของเดิมที่เคยทำไว้เป็นการต่อยอดพัฒนาสิ่งที่เคยทำให้ดีขึ้น เช่น นโยบายขจัดยาเสพติดก็เคยทำแล้ว หรือ นโยบาย 30 บาท เป็นต้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะพัฒนานโยบายต่างๆ ให้ก้าวต่อไป และเมื่อพิจารณาจากเป้าหมายก็ไม่ได้สูงเกินไป แต่เป็นการทำทุกอย่างให้ดีขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน