‘ภูทับเบิก’ อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิต ที่นี่ใช่จะมีวิวทิวทัศน์สวยงามเท่านั้น ยังเป็นแหล่งปลูกพืชผักผลไม้เมืองหนาวนานาชนิด ใครไปเยือนมักซื้อติดไม้ติดมือกลับมา หลายวันก่อน คุณธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมด้วย คุณธานินทร์ ผะเอม ผู้ทรงคุณวุฒิวช. ลงพื้นที่ติดตามผลสำเร็จโครงการวิจัย เรื่อง “การเพิ่มศักยภาพการผลิตและยกระดับ รายได้ชุมชนด้วยนวัตกรรมเครื่องสีเปลือกแมคคาเดเมีย” ที่ได้รับการสนับสนุนจากวช.โครงการนี้มี ร.ศ.ดร.ธานี ศรีวงศ์ชัย คณะเกษตร แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เป็นหัวหน้าโครงการ โดยลงไปดูแปลงปลูแมคคาเดเมียที่ภูทับเบิก ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัยเพชรบูรณ์

ในการลงสำรวจแปลงครั้งนี้ คุณวริยา ด่อนศรี นักวิจัยสถานีวิจัยเพชรบูรณ์ เป็นผู้ให้ข้อมูล เธอเล่าว่า ในส่วนของแปลงที่ภูทับเบิก มีพื้นที่ 100 ไร่ ความสูงประมาณ 1,250-1,300 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีพืชที่พัฒนามาหลายชนิด อาทิ ท้อ พลับ บ๊วย แมคคาเดเมีย และกาแฟ ที่เด่นๆ คือแมคคาเดเมียกับกาแฟที่ปลูกในพื้นที่สูง ทำให้เกษตรกรโดยรอบต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต จากแต่ก่อนที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น กะหล่ำปลี ข้าวโพด ข้าวไร่ ซึ่งราคาค่อนข้างแปรปรวน ทางสถานีฯและหน่วยงานศูนย์พัฒนาราษฎรพื้นที่สูง กรมวิชาการ พยายามส่งเสริมผลักดัน เพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการให้เกษตรกรปลูกไม้ผล ไม่ว่าจะเป็นแมคคาเดเมีย กาแฟ และพลับ มีหน่วยงานเครือข่ายที่สามารถขอต้นพันธุ์ให้เกษตรกรนำไปปลูกได้ มีองค์ความรู้ในการปลูก จนกระทั่งการแปรรูปและการสร้างแบรนด์ และการรวมกลุ่ม

สำหรับแมคคาเดเมีย เพิ่งส่งเสริมเมื่อ 2 ปีกว่ามานี้ แต่ในส่วนของสถานีฯ ปลูกมาก่อนแล้ว โดยกรมวิชาการการเกษตรสนับสนุนพันธุ์ และนำมาปลูกทดสอบ เป็นพันธุ์เชียงใหม่ทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ประกอบด้วย เชียงใหม่ 344 เชียงใหม่ 508 เชียงใหม่ 660 และเชียงใหม่ 741 ผ่านการคัดเลือกสายพันธุ์จากกรมวิชาการการเกษตร ที่ผ่านมาให้ผลผลิตดี รสชาติดี เกษตรกรเริ่มกระจายการปลูกตามจังหวัดต่างๆ 10 กว่าปีก่อน เช่น จ.ชัยภูมิ และจ.เลย มีพื้นที่การปลูกใหม่ค่อนข้างเยอะ เก็บผลผลิตได้แล้ว ที่ผ่านมาเกษตรกรมักมีปัญหาเรื่องตลาดเรื่องขาย เรื่องแปรรูป ขณะที่ทางสถานีฯ เป็นหน่วยงานถ่ายทอดองค์ความรู้และการใช้เครื่องมือนวัตกรรม เช่น การสีเปลือก การอบ และการใช้เครื่องกะเทาะกะลา

คุณวริยาบอกว่า มก.ได้พัฒนาเครื่องมือจากการสนับสนุนของวช. ทั้งเครื่องสีเปลือกและเครื่องกะเทาะกะลา ช่วยให้เกษตรกรรายย่อยรวมกลุ่มกัน และใช้เครื่องดังกล่าว เป็นการประหยัดแรงงานและเวลา ทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้น โดยไม่ต้องส่งผลผลิตดิบเข้าโรงงาน หรือโรงรับซื้อที่มีกฎเกณฑ์รับซื้อ ซึ่งหากเกษตรกรสามารถทำได้ด้วยตัวเอง โดยมีศูนย์มีกลุ่มของตัวเอง จะสามารถสร้างแบรนด์ของตัวเองได้

ทั้งนี้เครื่องสีเปลือก ราคา 60,000 บาท สามารถประหยัดแรงงานของคนและทำงานได้เร็วกว่า 5-6 เท่า ใน 1 ชั่วโมง สามารถสีเปลือกออกได้ 80 กิโลกรัม (ก.ก.) ส่วนเครื่องกะเทาะมีราคาเครื่องละ 80,000 บาท ทำงานได้ 3,000 เมล็ดต่อชั่วโมง ช่วยลดระยะเวลาการผลิตให้เร็วขึ้น ประหยัดแรงงาน ทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้นและมีคุณภาพ ราคาของเครื่องที่ใช้ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ในการผลิตด้วย ถ้าเปลี่ยนวัสดุจาก สแตนเลสเป็นเหล็กราคาถูกลงอยู่ที่ 30,000 กว่าบาท

แปลงแมคคาเดเมียของสถานี แตกต่างจากที่อื่นตรงสภาพอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี ทำให้ช่อดอกแทงตลอด มีลูกและเก็บเกี่ยวได้และต้องสำรวจดูแปลงตลอด ช่วงที่ผลผลิต มากที่สุด คือ เดือนก.ค. ส่วนช่วงพ.ย.-ธ.ค. มีผลผลิตประปรายบ้าง ผลผลิตของที่นี่จึงมีแทบตลอด แต่ปริมาณแตกต่างกัน และยังรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรด้วย

เธอว่าตอนนี้ภูทับเบิกมีเกษตรกรสนใจปลูกแมคคาเดเมียประมาณ 10 ราย โดยร่วมกับศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง ซึ่งศูนย์ฯ ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้ยืนต้น เพื่อเพิ่มความยั่งยืนและความมั่นคงให้แก่เกษตรกร

ช่วงระยะเวลา 5 ปีแรก เกษตรกรยังเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้ เพราะต้นยังไม่สมบูรณ์ ตั้งแต่ปีที่ 5-6 ขึ้นไปเริ่มให้ผลผลิตเยอะขึ้น จำนวนผลผลิตสูงสุดค่าเฉลี่ย 25-30 ก.ก. /ต้น/ปี เป็นผลดิบ ถือว่าดี

ข้อดีของแมคคาเดเมียในระยะเวลา 1-5 ปีแรกที่ยังเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้ ปลูกพืชอื่นๆ แซมได้ ทั้งกาแฟหรือพืชผักอื่นๆ หลังปีที่ 5 เป็นต้นไป เน้นแมคคาเดเมียอย่างเดียว ซึ่งเป็นต้นทรงพุ่มค่อนข้างทึบ ทำให้วัชพืชไม่ค่อยมี แต่มีศัตรูพืชที่มีฟันมาแทะ เช่น หนู กระรอก จะมากินช่วงเดือนส.ค.-ต.ค. ช่วงติดผลและผลอ่อน เป็นปัญหาที่แก้ยากเพราะปลูกอยู่บนเขา แต่ถ้าเป็นเกษตรกรที่สามารถจัดการพื้นที่ได้อาจใช้วิธีวางกับดัก

คุณวริยาบอกว่า แนวโน้มมีเกษตรกรสนใจปลูกเพิ่มขึ้น เพราะเป็นไม้ผลที่ไม่ต้องดูแลอะไรมาก เก็บเกี่ยวผลผลิตปีละ 1 ครั้ง ช่วงดูแลจริงๆ คือช่วงหน้าฝน ซึ่งต้องใส่ปุ๋ยทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีบ้าง ที่สถานีใช้ปุ๋ย 15-15-15 สูตรเสมอ

ทั้งนี้สถานีวิจัยเพชรบูรณ์ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกและดูแลรักษาต้นแมคคาเดเมียที่ปลอดภัย และในทุกกระบวนการผลิต ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกตลอดจนถึงผลิตเป็นสินค้าออกจำหน่าย พร้อมเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าเยี่ยมชมการแปรรูปแมคคาเดเมีย สนใจติดต่อได้ที่ โทร.08-8633-5071

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน