การจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกลยังเดินหน้า แม้มี “ซีนแยก” ชลน่าน Vs ศิธา หรือวิวาทะช่วงชิงประธานสภา เพื่อไทย Vs ก้าวไกล

ท่ามกลาง “อารมณ์ค้าง” ทั้งผู้บริหารพรรคและ FC ที่ยังทำใจไม่ได้กับการ “แพ้เลือกตั้ง” ก็ต้องชื่นชม “อุ๊งอิ๊ง” ว่าหนักแน่น มั่นคง (เสียยิ่งกว่าทวีตแดนไกล) ยืนยันไม่หวังส้มหล่น จะช่วยก้าวไกลตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ

คนมองแง่ร้ายอาจคิดว่า เพื่อไทยเล่นเล่ห์ ตีสองหน้า แต่มองอย่างมีสติควรเข้าใจว่า ถ้าเพื่อไทยจะฟื้นคะแนนนิยม ก็ไม่มีทางเลือกอื่น ต้องยืนหยัดหนุนก้าวไกลตั้งรัฐบาล ถ้าเป็นฝ่ายค้านก็เป็นด้วยกัน อย่าง จาตุรนต์ ฉายแสง กล่าว

อุ๊งอิ๊ง เศรษฐา น่าจะเข้าใจข้อนี้ดี แต่ ส.ส.และ FC ยังทำใจ ไม่ได้ แบบที่มีคลิปร้องห่มร้องไห้ “เพื่อไทยอะไรก็ผิด” มองว่าแพ้เพราะ IO เพราะถูกใส่ร้าย

ในขณะที่เศรษฐาสนทนากับ “หนุ่มเมืองจันท์” มองว่า เพื่อไทยขายนโยบายปากท้องตามถนัด แต่ 9 ปีที่ผ่านมา คนคับแค้นรัฐบาลมาก จนรู้สึกว่าต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ แบบพลิกฝ่ามือ ซึ่งก้าวไกลนำเสนอสิ่งนี้ได้ ด้วยภาษาที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา

ปรบมือให้เศรษฐา ที่บอกว่าจะต้อง Disrupt เพื่อไทย ปรบมือให้อุ๊งอิ๊ง ที่แสดงออกอย่างถึงใจ “คุณมึงลืม คุณกูไม่ลืมค่ะ”

เพื่อไทยควรจะผลัดรุ่น “คนแก่ๆ ถอยไป” หนุนรุ่นลูกรับไม้ เต็มตัว โดยคนนอกก็ไม่ควรดูแคลนชินวัตรรุ่นสอง ซึ่งไม่ใช่แค่โตมา กับโลกสมัยใหม่ แต่ยังโตมากับความเจ็บปวด อัดอั้น ถูกกระทำ ยาวนาน 17 ปี จนมีธาตุแกร่งอยู่ในตัว

ปัญหาคืออารมณ์ค้างของเพื่อไทยในยามนี้ ถ้าแสดงออกไม่ดี เช่นขู่ว่าไม่ได้เก้าอี้ประธานสภาอาจถอนตัว มีแต่จะทำให้ตัวเอง เสียหาย ไม่ใช่แค่โดนกระแสด่า แต่คนเลือกเพื่อไทยจำนวนไม่น้อยก็จะเสียศรัทธา

การโวยวายว่า “กินรวบ” ไม่แบ่ง ขณะที่ก้าวไกลอธิบายเป็นเหตุเป็นผลว่าทำไมต้องการตำแหน่งประธานสภา จะแก้กฎหมายก้าวหน้า จะทำให้เห็นรัฐสภาโฉมใหม่อย่างไร ฯลฯ ก็ทำให้คนมองว่า เพื่อไทยยังคิดแค่เรื่องศักดิ์ศรี หน้าตา สมบัติผลัดกันชม

ก้าวไกลเปิดประเด็นถกในที่สาธารณะ ให้สังคมมีส่วนร่วม ว่าใครควรได้ประธานสภา คนของเพื่อไทยกลับมองว่า ควรเจรจาภายใน ไม่งั้นถือว่า แทงข้างหลัง ถีบหน้าทุกวัน ทนไม่ไหว แล้วนะ”

อันที่จริง โควตากระทรวงเขาถกกันภายใน และดูเหมือนลงตัวแล้ว โดยไม่เกี่ยวกับประธานสภา ซึ่งเมื่อตกลงไม่ได้ก้าวไกลก็เอาออกมาให้สาธารณชนร่วมพิจารณา เพื่อไทยก็ต้องสู้กลับด้วยเหตุผล ไม่ใช่ฟาดงวงฟาดงา นี่คือวิถี “การเมืองใหม่” ว่ากันซึ่งหน้า ไม่ใช่แทงข้างหลัง

อดิศร เพียงเกษ ยังจะให้ไปโหวตแข่งกัน สมมติภูมิใจไทย พลังประชารัฐ โหวตให้เพื่อไทย ประชาธิปัตย์โหวตให้ก้าวไกล แม้ตั้งรัฐบาลได้ก็นับถอยหลัง พังแหงๆ แล้วคิดว่ากระแสสังคม จะด่าพรรคไหน

มองอีกมุมหนึ่งก็เห็นใจเพื่อไทย เพราะตั้งแต่แรกก็มีกระแส ไม่ไว้วางใจ คิดว่าเพื่อไทยจะ “แทงข้างหลัง” แย่งตั้งรัฐบาล ทั้งที่ในความเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อไทยต้องยืนอยู่บนความชอบธรรม รู้แก่ใจว่าขืนทำ สมัยหน้าคงเป็นพรรคต่ำร้อย ต่ำห้าสิบ

การมโนถึงขั้นพลังประชารัฐจะยุบพรรค ส่ง ส.ส.มาเข้าเพื่อไทย เพื่อช่วงชิงความเป็นพรรคอันดับหนึ่ง แม้อาจเป็นได้ที่ พปชร. จะยุบพรรค เพื่อไทยก็แย่งเอาดื้อๆ ไม่ได้หรอกครับ คิดสิว่ามันน่าอาย แค่ไหน

ความไม่ไว้วางใจเพื่อไทยมาจากหลายส่วน เช่นสื่อ ซึ่งวิเคราะห์การเมืองแบบเกมช่วงชิงอำนาจ ไม่มองว่าการเมืองประชาธิปไตยอยู่ฐานความชอบธรรม คิดว่าเพื่อไทยจะทำอะไรก็ได้ เพื่อให้ทักษิณกลับบ้าน

ยิ่งกว่านั้นยังมี “ติ่งส้ม” ส่วนหนึ่งซึ่งมองว่าเพื่อไทย “สู้ไป กราบไป” แถมมี “สลิ่มกลับใจ” คือพวกพันธมิตรนกหวีดที่เลือกก้าวไกลแต่ยังเกลียดทักษิณ

ความไม่ไว้วางใจยิ่งทำให้ ส.ส.และ FC ที่อกหักน้อยใจอยู่แล้ว “เพื่อไทยทำไรก็ผิด” ยิ่งโกรธและคับข้องใจ ถึงขั้นบางรายบอกให้โหวตก้าวไกลเป็นรัฐบาลแล้วถอยออกมาเสีย ไม่ต้องรับตำแหน่ง ดูซิ มันจะรอดไปได้อย่างไร

ในมุมหนึ่งก็เห็นใจและต้องถนอมน้ำใจ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ต้องบอกว่า เพื่อไทยต้องยอมรับหลักการประชาธิปไตย ยอมรับความพ่ายแพ้ และอดทนอดกลั้นพิสูจน์ตัวเอง ไม่เช่นนั้นไม่ใช่แค่ฝ่ายประชาธิปไตยตั้งรัฐบาลไม่ได้ แต่พรรคเพื่อไทยนั่นแหละจะพัง

เพื่อไทยควรขจัดอารมณ์ค้าง ยอมรับความพ่ายแพ้ สรุปบทเรียนอย่างที่เศรษฐาพูด รวมทั้งยอมรับว่าไม่ได้แพ้เพราะ IO เพราะใช้โซเชี่ยลน้อยกว่า เพราะก้าวไกลใช้เอเยนซี่ ฯลฯ มันไม่ใช่เรื่องเครื่องมือ แต่ “สาร” ที่ก้าวไกลสื่อ มันชัดเจนกว่า (อย่างที่ธนาธร เรียกว่า “ชุดความคิด”)

เพื่อไทยไม่ได้ถูกใส่ร้าย แต่สังคมมองว่า วิถีเพื่อไทยคือชนะเลือกตั้งแล้วเจรจาต่อรอง ประนีประนอม แล้วก็ไม่ยอมปฏิเสธเรื่องจับมือพลังประชารัฐจนโค้งสุดท้าย

ในฝั่งประชาธิปไตยด้วยกัน ควรเข้าใจว่า ไทยรักไทยเพื่อไทยนั้นเป็น “พรรคร่ม” ที่รวบรวบนักการเมืองหลายเฉดมาเอาชนะเลือกตั้งด้วยนโยบาย มีคุณูปการ “ประชาธิปไตยกินได้” เมื่อโดนรัฐประหาร ก็พยายามต่อสู้ในข้อจำกัดของตัวเอง ในบริบทสังคมเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ซึ่งเมื่อสังคมเคลื่อนไป ก็เกิดพรรคใหม่ที่พร้อมทะลุทะลวงกว่า

คนที่เลือกก้าวไกล ไม่ใช่เลือกเพราะเห็นว่าเพื่อไทยแย่ เลวร้าย ไม่สู้ ฯลฯ แต่เพราะต้องการความเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือ

กระนั้น อุตส่าห์อธิบายอย่างนี้ FC เพื่อไทยก็ยังคับแค้นและน้อยใจอยู่ดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน