“พระราชมงคลวชิรโสภิต” หรือ “หลวงปู่ขันธ์ สิริวัณโณ” พระเถระแปดริ้ว ได้รับการยกย่องว่าเคร่งครัดพระธรรมวินัย ใส่ใจกัมมัฏฐาน เชี่ยวชาญวิทยาคมเป็นที่เลื่องลือ

ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมงคลโสภิต อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา และที่ปรึกษา เจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา

เกิดในสกุล คงสาคร เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ก.ค.2466 ที่บ้านหมู่ที่ 1 ต.คลองประเวศ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนา

หลังจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 6 จากโรงเรียนวัดมงคลโสภิต อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ก็ช่วยงานครอบครัว

อายุ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 เม.ย. 2486 ที่วัดโพธาราม อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา มีพระครูวิจารณ์ธรรมานุวัตร วัดโพธาราม จ.ฉะเชิงเทรา เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูบู่ วัดประเวศวัฒนาราม อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์แม้น วัดโพธาราม ต.บางพระ อ.เมืองฉะเชิงเทรา เป็น พระอนุสาวนาจารย์

อยู่จำพรรษา ศึกษาพระปริยัติธรรมรับและใช้อุปัฏฐากพระอุปัชฌาย์ พร้อมทั้งศึกษาวิทยาคมด้วย

สำเร็จนักธรรมชั้นตรี-โท-เอก จากสำนักเรียนวัดมงคลโสภิต








Advertisement

ต่อมา กราบลาพระอุปัชฌาย์ ออกท่องธุดงค์แสวงวิเวกปฏิบัติธรรมไปในที่ต่างๆ ตัดสินใจออกสะพายย่ามแบกกลดเดินทางออกจากวัด ตามแบบพระธรรมยุต มุ่งศึกษาแนวทางปฏิบัติตามแบบอย่างบูรพาจารย์สายพระป่า พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

ฝากตัวเรียนด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานกับศิษย์สาย พระอาจารย์มั่นรูปสำคัญหลายรูป เช่น หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง, หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม

นอกจากนี้ ยังธุดงค์ไปศึกษาวิปัสสนากับท่านพุทธทาส ณ สวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี อีกด้วย

ในช่วงถือธุดงควัตรนั้น ย้อนอดีตให้ศิษย์ฟัง ว่า “ถือธุดงค์นั้นเป็นไปอย่างอุกฤษฏ์ ได้บุกป่าฝ่าดงไปมาเกือบทั่วประเทศ มีครั้งหนึ่ง เข้าไปเจริญภาวนาในถ้ำ พอออกจากถ้ำจะไปบิณฑบาต พบเสือแม่ลูกอ่อนที่ปากถ้ำ ต่างจ้องตากันอยู่ จิตตอนนั้นไม่คิดกลัว มีแต่การกำหนดรู้เท่านั้น ไม่นานเสือแม่ลูกอ่อนก็กระโดดหายไป ในป่าลึก”

มีสติปัญญาดีเลิศ มีความจำได้แม่นยำมาก สามารถท่องสวดปาติโมกข์ โดยลำพังรูปเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ ครั้งหนึ่งอยู่อบรมพระกัมมัฏฐานกับศิษย์สายหลวงปู่มั่น

ครั้นพอถึงวาระสวดปาติโมกข์ ปรากฏว่า พระภิกษุในอุโบสถนั้น ไม่มีรูปใดสวดได้ จนต้องขึ้นสวดปาติโมกข์ ในท่ามกลางพระสงฆ์ศิษย์สายพระอาจารย์มั่น โดยมีหลวงปู่จันทร์ วัดศรีเทพ จ.นครพนม เจ้าคณะจังหวัดนครพนม ฝ่ายธรรมยุต ซึ่งเป็นศิษย์อาวุโสของหลวงปู่มั่น เป็นประธานสงฆ์

ต่อมา เดินทางกลับวัดมงคลโสภิต ช่วยเหลืองานศาสนกิจภายในวัด

งานด้านการศึกษา พ.ศ.2488 เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมวัดมงคลโสภิต พ.ศ.2494 เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง

พ.ศ.2511 เป็นเจ้าสำนักเรียนพระปริยัติธรรมวัดมงคลโสภิต

งานเผยแผ่ พ.ศ.2513 เป็นพระธรรมทูตสายที่ 7 พ.ศ.2535 เป็นประธานกรรมการ หน่วย อ.ป.ต. ประจำตำบลเทพราช

ด้วยความเป็นพระปฏิบัติดี เคร่งครัดพระธรรมวินัย ท่านได้รับความไว้วางใจจากคณะสงฆ์ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมงคลโสภิต ในปี พ.ศ.2511

ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2535 เป็นเจ้าคณะตำบลเทพราช พ.ศ.2536 เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2546 เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบลเทพราช

พ.ศ.2566 เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2520 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นตรี ในราชทินนามที่พระครูโสภิตมงคลการ พ.ศ.2528 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2544 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบลชั้นโท ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2552 เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบลชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามเดิม

ล่าสุด วันที่ 6 พ.ค.2565 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชมงคลวชิรโสภิต

ทำหน้าที่อย่างมุ่งมั่นสานต่องานการศึกษาสงฆ์อย่างมิรู้เหน็ดเหนื่อย เพื่อพระพุทธศาสนาให้ดำรงคงอยู่สืบไป

ด้วยสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง มรณภาพอย่างสงบ ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ เมื่อเวลา 23.16 น. วันที่ 19 ส.ค.2566

สิริอายุ 100 ปี พรรษา 80

กำหนดสวดทุกวัน เวลา 19.30 น. เป็นเวลา 100 วัน ที่ศาลาการเปรียญวัดมงคลโสภิต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน