7จังหวัดทำได้สำเร็จใช้คลาวด์เชื่อมข้อมูล

สธ.มั่นใจยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค-บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ อาจทำได้เร็วกว่า 100 วันแรก เผยนำร่องบางพื้นที่ใน 7 จังหวัดของเขตสุขภาพที่ 8 ทำมาแล้ว 2 ปี ทำได้จริง ส่งข้อมูลผู้ป่วยขึ้นคลาวด์ ร.พ.ทุกแห่งสามารถดึงข้อมูลได้ทันที ย้ำต้องเชื่อมฐานข้อมูล มั่นใจหลังเทคโนโลยีมีความพร้อม เคยนำร่องบางส่วนมาแล้ว ยันไม่กังวลคนมุ่งเข้าแต่ร.พ.ขนาดใหญ่ มองต่อไปจะเกิดความสมดุลจากหน่วยบริการใกล้บ้านถูกยกระดับ ‘หมอครอบครัว’ จะโดดเด่นขึ้นจากปฐมภูมิ

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงความพร้อมดำเนินตามนโยบายยกระดับ “30 บาทรักษาทุกโรค” ว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ได้มอบนโยบายการใช้ “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่” ซึ่งเป็น 1 ในนโยบาย Quick Win ที่สามารถดำเนินการได้ในไม่ช้า หรืออาจเร็วกว่า 100 วันแรก โดยอาจนำร่องในบางพื้นที่ก่อน หากยังไม่สามารถดำเนินการได้พร้อมกันในทั่วประเทศ

ทั้งนี้ จะต้องเตรียมความพร้อมระหว่างระบบบริการ กับระบบการสนับสนุนงบประมาณของ สปสช. สิ่งสำคัญคือการบูรณาการระบบฐานข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลการเข้ารับบริการ เมื่อประชาชนเข้าไปใช้บริการที่ใดแล้ว ข้อมูลก็จะถูกบันทึกเข้าสู่ระบบ ทำให้เมื่อประชาชนเข้าใช้บริการครั้งต่อไปในหน่วยบริการอื่น ก็จะสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ ขณะที่ สปสช. ก็จะนำข้อมูลมาประมวลในส่วนที่ต้องสนับสนุนค่าใช้จ่าย เพื่อเร่งดำเนินการให้โรงพยาบาลที่รับรักษาผู้ป่วยนั้นเกิดความมั่นใจ

นพ.จเด็จกล่าวว่า ที่ผ่านมา สปสช. ได้นำร่องการเข้ารับบริการรักษาได้ทุกที่ในระบบปฐมภูมิมาแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งประชาชนสามารถเข้าใช้บริการได้ทั้งใน รพ.สต. ร.พ.ชุมชน หรือร.พ.ขนาดใหญ่ที่มีบริการปฐมภูมิด้วยเช่นกัน โดยจากข้อมูลย้อนหลังพบว่า มีประชาชนเข้ารับบริการนอกเขตจังหวัดประมาณร้อยละ 20 หรือออกไปนอกเขตสุขภาพเลยมีเพียงร้อยละ 4 ดังนั้น ข้อกังวลที่บอกว่าหากเข้ารับบริการที่ไหนก็ได้ แล้วประชาชนจะไปร.พ.ใหญ่กันทุกคน เราค่อนข้างมั่นใจว่าความจริงแล้วไม่เป็น เช่นนั้น เพราะยังมีประเด็นเรื่องของค่าเดินทาง ที่บางครั้งอาจยังสูงกว่าค่ารักษาพยาบาล ดังนั้นจึงเชื่อว่าทุกคนคงไม่ได้อยากไปร.พ.ไกลๆ หากไม่ใช่อาการที่หนักจริงจนต้องการส่งต่อ โดยนัยอีกด้านหนึ่งของนโยบายรักษาทุกที่ ยังเป็นไปเพื่อพัฒนาหน่วยบริการใกล้บ้านให้ดีขึ้นด้วย หากสามารถทำให้ประชาชนมั่นใจในหน่วยบริการใกล้บ้าน เชื่อว่าประชาชนเองก็จะออกไปรับบริการนอกเขตพื้นที่น้อยลง

“ส่วนของฐานข้อมูลที่ต่อไปจะขึ้นไปอยู่ในระบบคลาวด์ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ปัจจุบันก็มีความพร้อมในด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว รวมทั้งองค์ประกอบอื่นๆ เช่น ความปลอดภัยของข้อมูล การละเมิดสิทธิผู้ป่วย ฯลฯ เชื่อว่าประเด็นเหล่านี้สามารถจัดการได้ทั้งหมด รอเพียงความชัดเจนทางนโยบายเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนให้สำเร็จได้ในเร็ววัน ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าการเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีระบบคลาวด์ ยังอาจช่วยให้ค่าใช้จ่ายนั้นถูกลงจากระบบที่ใช้อยู่เดิม และคุ้มค่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับกลับมา” นพ.จเด็จกล่าว

นพ.จเด็จกล่าวว่า สำหรับบทบาทของหมอครอบครัว เชื่อว่าจะมีความโดดเด่นมากขึ้นจากทิศทางของนโยบายที่มุ่งเน้นไปยังบริการปฐมภูมิ ตั้งแต่การส่งเสริม ป้องกัน ไปถึงการรักษาโรคในเบื้องต้น จึงแน่นอนว่าหมอครอบครัวจะมีบทบาทมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง ส่วนแพทย์ใน ร.พ.ก็จะมีภาระงานที่ลดลงจากบริการต่างๆ ทั้งการรับยาใกล้บ้าน ส่งยาทางไปรษณีย์ หรือการเจาะเลือดตรวจแล็บใกล้บ้าน จึงเชื่อว่านโยบายต่างๆ ที่ถูกคิดออกมานั้นมีความรอบคอบในการสร้างสมดุลระหว่างภาระงานของบุคลากรกับบริการที่ประชาชนจะได้รับ การยกระดับ ครั้งนี้ เชื่อว่าประชาชนจะรับรู้ถึงความสะดวกสบายที่ได้รับจากบริการมากขึ้น บางคนที่ไม่เคยได้รับก็อาจเข้าถึงบริการมากขึ้นด้วยเทเลเมดิซีน ซึ่งเรามีบทเรียนนำร่องมาพอสมควรจากโควิด-19 เมื่อเป็นนโยบายแล้วก็จะสามารถขยายเพิ่มขึ้นได้อย่างมี นัยสำคัญ เชื่อว่าหลายนโยบายที่เป็น Quick Win ถ้ามีการประกาศออกมาแล้วจะสามารถขับเคลื่อนได้เร็ว

ด้านนพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 กล่าวถึงระบบการใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารักษาทุกที่ในเขตสุขภาพที่ 8 (R8 Anywhere) ซึ่งประกอบด้วย อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู เลย บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม ว่า R8 Anywhere ดำเนินการมาแล้วราว 2 ปี ประชาชนที่มีสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรคหรือบัตรทอง สามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับการรักษาได้ทุกโรคใน ร.พ.สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 88 แห่ง ใน 7 จังหวัดของเขตสุขภาพที่ 8 ตั้งแต่ รพ.สต. ร.พ.ชุมชน ร.พ.ทั่วไป และ ร.พ.ศูนย์ เนื่องจากร.พ.ทุกแห่งได้นำข้อมูลของผู้ป่วยอัพโหลดไว้ในระบบคลาวด์ (Cloud) ข้อมูลจึงเชื่อมกันทั้งหมด ทำให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เหมือนกันทั้ง 88 แห่ง เมื่อคนไข้ไปรับบริการที่ร.พ.ใด แพทย์ก็สามารถเรียกดูข้อมูลและประวัติการรักษาของคนไข้ในร.พ.อื่นได้ อนาคตก็จะพัฒนาเชื่อมข้อมูลกับสถานพยาบาลสังกัด สธ.ที่อยู่ในกรมอื่นด้วย เช่น ศูนย์มะเร็ง หรือร.พ.จิตเวช เป็นต้น

“บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ที่เป็นนโยบายของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ที่ต้องการขยายทั่วไปนั้น เขตสุขภาพที่ 8 ทำทั้งเขตอยู่แล้ว ถือเป็นต้นแบบที่สามารถนำไปขยาย โดยคนไข้ไปรับการรักษาที่ร.พ.อื่นที่เป็นร.พ.นอกสิทธิ ไม่ต้องมีใบส่งตัว และไม่เรียกเก็บเงินจากคนไข้ เรียกว่าระบบ 2 ม. หรือ 2 ไม่ จากช่วงแรกเริ่มจากมะเร็ง ขยับมาเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน และตอนนี้ใช้กับทุกโรค เพราะบางครั้งคนไข้ไปทำงานอยู่ที่อื่น ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของร.พ.ที่ระบุไว้ตามสิทธิ ซึ่งสิทธิ 30 บาทก็ควรจะเหมือนสิทธิข้าราชการที่ไปรักษาที่ไหนก็ได้ทั่วไทย เพียงแต่สิทธิข้าราชการข้อมูลยังไม่มีการเชื่อมกัน” นพ.ปราโมทย์กล่าว

นพ.ปราโมทย์กล่าวว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการนำระบบไอทีมาใช้ ด้วยการพัฒนาระบบยืนยันตัวตนของคนไข้เหมือนกับธนาคาร เพื่อจะได้นำข้อมูลการรักษาพยาบาลของแต่ละคนที่เข้ารับบริการในร.พ.แต่ละแห่ง ส่งกลับมายังตัวคนไข้ ทำให้รับทราบได้ว่า ตนเองเคยเข้ารับบริการรักษาที่ไหน ได้รับยาอะไร เป็นการคืนข้อมูลกลับให้กับคนไข้ สมมติคนไข้มารักษาที่ ร.พ.หนองคาย แพทย์ก็สามารถดูข้อมูลที่คนไข้เคยรักษาที่ ร.พ.โพนพิสัยได้ ทำให้ไม่ต้องมาใช้เวลาในการตรวจซ้ำซ้อนอีกในบางรายการ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปด้วย คือ การพัฒนาเพิ่มศักยภาพของ ร.พ.ในทุกระดับตั้งแต่ รพ.สต. ถึง ร.พ.ศูนย์ให้มากขึ้นด้วย เพื่อรองรับการให้บริการ

ทั้งนี้ ตั้งแต่ดำเนินการ อาจจะมีปัญหาบ้างในเรื่องระบบเคลมหรือเบิกงบประมาณ เมื่อมีการส่งเบิกกรณีคนไข้รักษาใน ร.พ.นอกสิทธิกับ สปสช.หากส่งไป 100 อาจจะได้ราว 60-70% บางส่วนไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องของระบบข้อมูลที่ส่งเบิกแล้วไม่ได้ทั้งหมด อาจเกิดขึ้นจากการระบุข้อมูลไม่ครบถ้วน ขณะนี้สธ.กำลังพัฒนาระบบที่เรียกว่า Moph Claim NHSO เพื่อให้ ร.พ.ส่งข้อมูลเข้าระบบนี้มาที่ สธ.เพื่อทำการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลให้ก่อนส่งเคลม โดยเงินที่เบิกได้ สปสช.ก็จะส่งไปยังร.พ.โดยตรง

ด้าน ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผอ.สปสช. เขต 8 กล่าวว่า R8 Anywhere เริ่มจากที่ผู้ตรวจมอบหมายให้ร.พ.ทุกแห่งในเขตนำข้อมูลที่รักษาคนไข้อัพโหลดขึ้นสู่ระบบคลาวด์ทั้งหมด และ สปสช.ไปพิจารณาเรื่องการเบิกจ่ายเงินกรณีที่คนไข้ไปรักษาใน ร.พ.นอกสิทธิ ส่งผลให้ไม่ว่าคนไข้ไปรักษาที่ไหน แพทย์ก็จะรู้ประวัติการรักษาทั้งหมดของคนไข้ และดึงข้อมูลจากคลาวด์ได้ ซึ่งระบบคลาวด์นี้หน่วยงานรัฐสามารถใช้ได้ฟรีตามความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีคนดูแลระบบ ขณะเดียวกัน ร.พ.ที่คนไข้ไปรักษาก็สามารถเบิกค่ารักษาได้จาก สปสช. เพราะฉะนั้น โมเดลที่เขต 8 ดำเนินการนี้สามารถขยายใช้งานได้ทั่วประเทศ

ส่วนกรณีที่คนไข้เข้ารับการรักษานอกสิทธิ ร.พ.แบบใช้บัตรประชาชนใบเดียว สปสช.จะเป็นผู้จ่ายเงินตรงให้กับร.พ. ไม่ใช่ร.พ.ต้นสังกัดตามไปจ่าย ซึ่งสปสช.จะจ่ายเงินกรณีนี้ให้ร.พ.เป็นแบบ Per Visit เป็นรายการที่เข้ารับการรักษา ถ้าเป็นผู้ป่วยที่นอนร.พ.จะเป็นแบบ DRG โดยเมื่อร.พ.บันทึกข้อมูลเข้าระบบ สปสช.ก็จะมาดึงข้อมูลส่วนนี้และจ่ายเงินให้กับร.พ. ซึ่งจะมีการจัดสรรงบประมาณแต่ละปีไว้รองรับ เรียกว่า OP Anywhere ราว 300 ล้านบาท บางก้อนจะไว้ที่ส่วนกลางและ บางก้อนจัดสรรไว้ที่เขต ซึ่งเขต 8 จะนำมาราว 70-80 ล้านบาท

“จากที่เขตสุขภาพที่ 8 ดำเนินการมา เจอกรณีที่คนไข้เลือกไปรับบริการเฉพาะที่ ร.พ.ใหญ่อยู่บ้าง แต่น้อยมาก เพราะสธ.มีการ พัฒนาร.พ.ดีจนคนไข้รับรู้ได้ว่า ทำไมต้องไปร.พ.นั้น ในเมื่อร.พ.ใกล้บ้านก็สามารถรักษาได้ คนไข้ไม่ได้อยากไปรอคิวนานที่ ร.พ.ใหญ่หากไม่จำเป็น จะเลือกไปรับการรักษาที่ร.พ.ไม่ใหญ่ที่รอคิวไม่นาน หากมีแพทย์รักษาได้เหมือนกัน” ทพ.กวีกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน