เชื่อมต่อข้อมูลขยายให้บริการ‘ชลน่าน’ตั้งเป้าของขวัญปีใหม่

‘ชลน่าน’ ตั้งเป้า ขยายบริการ ‘30บาทรักษาทุกที่’ ในคลินิก-ร้านยา ชี้ต้องปรับโครงสร้างบริการ ระบบข้อมูลเป็นดิจิทัลรองรับ นัดคิวล่วงหน้าได้ ลดแออัด หมอประจำครอบครัวต้องเกิดขึ้น เตรียมนำร่อง เขตสุขภาพที่พร้อม เผยปลัด สธ.เลือกไว้แล้ว ก่อนขยายเต็มประเทศ จับตาอาจเริ่มในเขตสุขภาพที่ 8 หวังประกาศเป็นของขวัญประชาชน

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายการยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าว่า เป็นนโยบายหลัก ยกระดับ 30 บาท ทุกมิติ ที่เกี่ยวข้องกับการให้การดูแลสุขภาพ ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ดูแลรักษาพยาบาล และฟื้นฟูสุขภาพ กำหนดนโยบายเฉพาะ ออกมารองรับเพื่อกำหนดให้ชัดเจน ซึ่งมี 13 เรื่องใหญ่ ก็จะมีความชัดเจนในตัวนโยบายเพื่อนำสู่การปฏิบัติ ในนั้นจะมีสิ่งที่เรา คาดหวังว่าเราจะประกาศให้เป็นของขวัญ กับพี่น้องประชาชนในมิติการดูแลสุขภาพ ที่เราใช้คำว่า Quick Win เป็นชัยชนะอย่าง เร่งด่วนรวดเร็วในมิติการดูแลสุขภาพ 13 เรื่องจะมีทุกกลุ่ม ในแต่ละกลุ่มจะมี Quick Win ของตนเอง

“ในมุมของผมในฐานะที่ดูภาพใหญ่จะเลือกเอา Quick Win ที่ตอบรับนโยบายระดับชาติออกมานำเสนอ ซึ่งน่าสนใจเยอะมาก จะเป็นการยกระดับเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค สิ่งที่จำเป็นในการยกระดับ การเพิ่มศักยภาพคุณภาพของการเข้าถึงการบริการ เมื่อก่อน เรามีตัวเลขร้อยละ 90 กว่า เป็นตัวเลขที่ดี และน่าสนใจมาก พอเรามีหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทอง ประมาณร้อยละ 98 เข้าถึงบริการในทุกสิทธิ โดยสิทธิของหลักประกันสุขภาพ 50 ล้านคนถือเป็นสัดส่วนที่สูงมาก เรามีตัวเลขเข้าถึงตรงนั้น แต่สิ่งที่ยังเป็น ปัญหาคือ ประชาชนเข้าถึงบริการค่อนข้างลำบาก มีความแออัด เข้าถึงยาก จะต้องมาปรับระบบตรงนี้” นพ.ชลน่านกล่าว

นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า การปรับระบบจะต้องสร้างโครงสร้างการบริการขึ้นมา รวมถึงระบบข้อมูล โดยข้อมูลสุขภาพที่เราจะใช้ระบบดิจิทัลเข้ามารองรับ มีศูนย์ข้อมูลกลางสามารถเชื่อมโยงข้อมูลไปทุกสถานบริการ และขยายสถานบริการนอกจากเป็นร.พ.แล้ว สถานบริการอื่นๆ เช่น คลินิก ร้านขายยา หรือคลินิกตรวจเลือด คลินิกชันสูตรต่างๆ ซึ่ง จะต้องรองรับทั้งหมด เพิ่มความสะดวก ความสบาย และสามารถกำหนดเวลานัดหมายได้ ลดความแออัด โดยเฉพาะการดูแลระดับ ปฐมภูมิ จะพยายามสร้างหมอเวชศาสตร์ครอบครัว แต่ละคนจะมีหมอประจำครอบครัว เป็นเรื่องที่เราคาดหวังว่าจะเกิดขึ้น จะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ดีขึ้น

เมื่อถามถึงข้อกำจัดของบุคลากรสาธารณสุขจะรองรับนโยบายต่างๆ ได้ หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ยอมรับว่า เรื่องบุคลากรสาธารณสุขมีปัญหา เพราะเราอยู่ภายใต้เงื่อนไขการบริหารจัดการบุคคล ภายใต้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) งานของเราเป็นงานบริการ ที่ก.พ.จำกัดอัตราของข้าราชการหรือลูกจ้างที่เกี่ยวข้องทำให้เรามีปัญหาการหาคนเข้าสู่ระบบพอสมควร ถึงแม้เราจะทดแทนด้วยการจ้างด้วยเงินนอกงบประมาณ แต่ก็เป็นลักษณะลูกจ้าง ความมั่นคงในวิชาชีพ ความมั่นใจที่จะอยู่ในระบบก็ขาดหายไป ดังนั้น ทุกอย่างต้องปรับและแก้ เรามั่นใจว่าเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องหลัก เรื่องสวัสดิภาพ สวัสดิการ สุขภาพของคนทำงาน คนให้บริการต้องมีสุขภาพดี

เมื่อถามถึงไทม์ไลน์ของแต่ละเรื่องที่จะทำ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ในการนำนโยบายสู่การปฏิบัติจะมีไทม์ไลน์ในรายละเอียดอยู่แล้ว เช่น เรื่องบุคลากร คาดหวังว่าถ้าเราเจรจาสำเร็จกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอนายกรัฐมนตรีแล้วเห็นชอบ และก.พ.ไม่มีปัญหา ข้อตกลงเราภายในปี 2568 น่าจะมีกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข

นพ.ชลน่านกล่าวด้วยว่า สำหรับบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ความพร้อม ขณะนี้เป็นหนึ่งในนโยบายที่เราจะประกาศเป็น Quick Win แต่เป็นการนำร่องในเขตสุขภาพที่พร้อม ซึ่งท่านปลัด สธ.ได้เลือกไว้เรียบร้อยแล้ว รอประกาศ เราจะดูความพร้อมตรงนั้นและการบริการตรงนั้น ดูว่าปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นหลังจากใช้แล้วคืออะไร จากนั้นจะมาปรับแก้ก่อนที่จะขยายเต็ม ประเทศ เป็นบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ทุกสิทธิ์ที่เขามี ในสิทธิประโยชน์ที่เขามี

เมื่อถามย้ำว่าทุกโรคด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า คำว่าโรคอยู่ในสิทธิที่ให้ จะดูอย่างครอบคลุมในสิทธิที่เป็นมาตรฐานขั้นสูงของเขาที่ควรจะได้รับ ส่วนเรื่องสิทธิของแต่ละกองทุนมีกฎหมายแต่ละกองทุนรองรับอยู่ เพราะฉะนั้นการปรึกษาหารือพูดคุยการจะให้บริการที่มีความคาบเกี่ยวที่ลักลั่นกันอยู่ จะมีคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมารองรับ เพื่อไปดูแนวทางการจัดบริการให้สอดคล้อง ไม่ลักลั่น สิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับควรจะเท่าเทียมกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เขตสุขภาพที่ 8 เป็นเขตสุขภาพที่มีการเดินหน้าเรื่องบัตรประชาชน ใบเดียวรักษาทุกที่แล้ว โดยสามารถเลือกเข้ารักษาที่ร.พ.ในสังกัดสำนักงานปลัด สธ. 88 แห่งภายใน 7 จังหวัดของเขตสุขภาพที่ 8 ได้ โดยมีการนำข้อมูลของคนไข้ขึ้นระบบคลาวด์ ทุก ร.พ.สามารถดึงข้อมูลมาใช้ได้ และ สปสช.มีการทำระบบเบิกจ่ายไว้ ซึ่งเป็นที่น่าจับตาว่าหากจะมีการนำร่อง Quick Win เรื่องนี้ในเขตสุขภาพที่พร้อม อาจจะเป็นเขตสุขภาพที่ 8 ก่อนที่จะขยายไปทั่วประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน