“ขาดทุนของฉันคือกำไรของแผ่นดิน” พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เกี่ยวกับการแสดงโขนเพื่อการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม

นับเป็นเวลาเกือบ 2 ทศวรรษ โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จัดการแสดงเพื่อให้ประชาชนชาวไทยชื่นชมความงดงามในศิลปะดั้งเดิมของไทยหลากหลายแขนง

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ กรรมการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ รองประธานกรรมการ อำนวยการโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ พร้อมด้วย นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นางนิภา โสภาสัมฤทธิ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ นายประเมษฐ์ บุณยะชัย (ศิลปินแห่งชาติ) และ รศ.ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ (ศิลปินแห่งชาติ) ผู้กำกับการแสดง ร่วมแถลงข่าว การจัดแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริม ศิลปาชีพฯ เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “กุมภกรรณทดน้ำ” ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศ ไทย ภายในงานมีการแสดงตัวอย่างบางช่วงบางตอนของเรื่องให้ชมความงดงามอ่อนช้อย

การจัดแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอน กุมภกรรณทดน้ำ ในปี 2566 นี้ เพื่อร่วมฉลองโอกาสมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 71 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 91 พรรษา จัดแสดงระหว่างวันที่ 5 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2566 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย








Advertisement

โดยยึดแนวบทละครเรื่องรามเกียรติ์ บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จับตอนตั้งแต่หลังจากกุมภกรรณทำศึกโมกขศักดิ์กับพระลักษมณ์แต่ไม่สำเร็จ ยังไม่สามารถสังหารพระลักษมณ์ได้ จึงคิดหาวิธีทำกลศึก นิมิตกายลงไปใต้น้ำทำพิธี ทดน้ำ นอนขวางแม่น้ำไว้เพื่อ ขัดขวางกองทัพพระราม ผลการต่อสู้และจุดจบของเรื่องจะเป็นอย่างไรติดตามรับชมได้ในการแสดง

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์บอกเล่าที่มาการจัดแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ว่าสังคมไทยในสมัยนั้นการแสดงโขนมีคนดูน้อย เพราะดูแล้วหลับ ดูแล้วง่วง ทั้งสองพระองค์จึงมีแนวพระดำริร่วมกันจัดตั้งทีมศึกษาเรื่องโขนโดยละเอียด ทรงเน้นเรื่องการแต่งหน้าเป็นสำคัญ ไม่ให้แต่งหน้าเหมือนกันหมด ตัวพระต้องแตกต่างจากตัวนาง และทรงเห็นว่ามูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ มีช่างอยู่มากมาย งานช่างเหล่านี้เป็นศิลปะของประเทศไทย งานช่างทุกอย่างรวมอยู่ในงานโขน รับสั่งให้ลองทำดู เมื่อได้ศึกษาเรื่องโขนแล้ว โขนลงโรงครั้งแรกจึงเกิดขึ้นเมื่อปี 2550 และจัดต่อเนื่องมาทุกปี ปีนี้เป็นปีที่ 16 แล้ว

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์กล่าวต่อว่า เมื่อระยะเวลาผ่านไปมีการปรับปรุงพัฒนามาทุกปี การคัดเลือกผู้แสดงโขนยากมาก ทำให้เห็นว่าเด็กไทยเราเก่งจริงๆ การคัดเลือกรอบล่าสุดมีผู้สมัครเข้ามา 900 กว่าคน ต้องคัดเลือกเพียง 25 คน เพื่อแสดงเป็นตัวเอก และได้รับทุนการศึกษาเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ก่อนคัดเลือกผู้ร่วมแสดงอีก 200 คน

“การแสดงเมื่อปีที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จมาทอดพระเนตรการแสดง ตอน สะกดทัพ เมื่อการแสดงจบลงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า สนุกมาก ดีมาก เป็นที่ปลาบปลื้มมากแก่พวกเราผู้แสดงและผู้จัดงาน นอกจากนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯ มาทอดพระเนตรการแสดง จะกราบบังคมทูลถามว่าเป็นอย่างไร เพราะพระองค์ท่านคือผู้รอบรู้ จะพระราชทานคำแนะนำให้แก้ไขมาตลอด แต่รอบล่าสุดทรงบอกว่าไม่มีข้อแก้ไข สนุกมาก ทรงพอพระทัย” ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์กล่าวและว่า หวังว่าวันหนึ่งข้างหน้า การแสดงโขนจะโด่งดังไปทั่วโลกเหมือนที่คนต่างชาติเดินทางไปดูโอเปร่า ผู้จัดทุ่มเทกำลังใจกำลังกายเพื่อให้งานแสดงออกมาดี แต่ถ้าปราศจากคนดู การแสดงจะไม่มีอะไรตื่นเต้น จึงอยากให้ทุกคนมาชมกัน

นอกจากการแสดงที่วิจิตรงดงามโดยนักแสดงเยาวชนรุ่นใหม่ผู้ผ่านการคัดเลือกและฝึกซ้อมจากครูผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์จนฝีมือการร่ายรำงดงามถูกต้องตามจารีตแล้ว ผู้ชมจะได้รับฟังการบรรเลงดนตรีและขับร้องเพลงไทยอันไพเราะ รับชมความวิจิตรของเครื่องแต่งกายอันประณีต ฉากการแสดงที่ยิ่งใหญ่ตระการตา ฉากกุมภกรรณทดน้ำเพื่อไม่ให้ไหลไปสู่พลับพลา ฉากหนุมานแปลงกายเป็นเหยี่ยวใหญ่ ฉากหนุมานดำลงสู่ใต้น้ำ และอีกมากมาย

บัตรราคา 2,000 1,800 1,000 800 บาท และ 600 บาท (รอบนักเรียน ราคา 180 บาท) เปิดจำหน่ายแล้ววันนี้ที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ทุกสาขา โทร. 0-2262-3456

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน