ลำปางพบป่วยฝีดาษลิง รายแรก สสจ.แถลงเข้ามาตรวจรักษาที่แผนกอายุรกรรม ร.พ.ลำปาง เช้า 17 ต.ค. มีอาการตุ่มนูนที่หน้า แก้ม คาง และมือ พอกดแล้วเจ็บ เก็บตัวอย่างแผลส่งตรวจที่ศูนย์วิทย์แพทย์ เชียงใหม่ ต่อมา 18 ต.ค.ได้รับแจ้งผลกลับมาพบติดเชื้อฝีดาษลิง ส่งผู้ป่วยรักษาในห้องแยกโรคป้องกันแพร่เชื้อ ตามแนวทางสธ. สั่งร.พ.ชุมชนทุกแห่งตรวจเข้มอุปกรณ์แพทย์ทั้งถุงมือ หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ล้างมือป้องกันเชื้อ ขอชาวลำปางไม่ตื่นตระหนก ยันป้องกันควบคุมโรคได้ ย้ำยังจำเป็นต้องสวมแมสก์ ล้างมือบ่อยๆ หากใครพบมีอาการแบบคนไข้รายนี้ให้รีบมาพบแพทย์

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. นพ.ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า จ.ลำปาง พบผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษวานร จำนวน 1 ราย จากการตรวจผู้ป่วย รายหนึ่งที่เข้ารับการตรวจรักษาที่แผนก อายุรกรรมทั่วไป โรงพยาบาลลำปาง เมื่อเช้าวันที่ 17 ต.ค.2566 โดยพบอาการมีตุ่มนูนขึ้นที่บริเวณใบหน้า ขมับซ้าย แก้มขวา คาง และมือทั้งสองข้าง เมื่อกดไปที่ตุ่มแล้วจะ รู้สึกเจ็บ จึงสั่งการให้งานระบาดวิทยาดำเนินการสอบสวนโรค และเก็บตัวอย่างจากแผล ผู้ป่วยส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ 1 เชียงใหม่ และได้รับรายงานยืนยันเมื่อ วันที่ 18 ต.ค. ว่าผู้ป่วยคนดังกล่าวติดเชื้อ ฝีดาษวานร

นพ.ประเสริฐกล่าวว่า เบื้องต้นทาง โรงพยาบาลได้รับผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็น ผู้ป่วยในห้องแยกโรคและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ ร.พ.ชุมชนทุกแห่ง ตรวจสอบความพร้อมใช้ของถุงมือ, หน้ากากอนามัยทางการแพทย์, หน้ากากอนามัยชนิด N95 และชนิดโกร ป้องกันเชื้อโรค, แอลกอฮอล์ล้างมือ รวมทั้งความพร้อมของห้องแยก โดยไม่จำเป็นต้องใช้ห้องความดันลบ

นพ.ประเสริฐกล่าวต่อว่า โรคฝีดาษวานร เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดดีเอ็นเอ ชื่อ monkey pox ซึ่งเกิดการติดเชื้อในสัตว์มาก่อน และติดเชื้อจากสัตว์สู่คนได้ อาการของโรคจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ที่สำคัญคือมีต่อมน้ำเหลืองโต แรกเริ่มมีผื่นแบน จากนั้นค่อยนูนเป็นตุ่มน้ำใส หรือเป็นตุ่มหนอง มักเกิดผื่นที่หน้า แขนขา ฝ่ามือ และฝ่าเท้า มากกว่าที่ตัว พบได้ในเยื่อบุต่างๆ เช่น ในช่องปาก เยื่อบุตา อวัยวะเพศ และทวารหนัก เป็นโรคที่ติดต่อได้โดยตรงจากการสัมผัส ทั้งจากสัตว์สู่คน ได้แก่ สัตว์จำพวกหนู กระรอก และลิง และจากคนสู่คนที่ใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ โดยการสัมผัสที่ยื่นโดยตรง สัมผัสเลือด หรือสารคัดหลั่งต่างๆ จากร่างกาย เช่น น้ำมูก น้ำลาย การไอจาม หรือจากสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ และการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ ส่วนใหญ่มักพบในกลุ่มชายรักชาย

ส่วนการป้องกันโรคฝีดาษวานร นพ.ประเสริฐกล่าวว่า ต้องงดเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า ไม่สัมผัสกับผู้มีผื่นตุ่มหนอง ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น และล้างมือบ่อยๆ

“โรคฝีดาษวานรไม่ได้ร้ายแรง และไม่ติดต่อกันได้ง่าย ขอให้ชาวลำปางอย่าได้ตื่นตระหนก ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง ได้ดำเนินการเฝ้าระวังและควบคุมโรคนี้แล้ว และขอความร่วมมือชาวลำปางสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ปฏิบัติตามคำแนะนำการป้องกันโรค หากมีอาการดังกล่าวข้างต้นให้รีบไปพบแพทย์” นพ.ประเสริฐกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน