ไทยฟื้นตัวช้ารั้งท้าย-เวิลด์แบงก์ห่วงน้ำมันแพง

ไทยพาณิชย์ปรับลดจีดีพีปี 66 เหลือ 2.6% ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นรั้งท้ายโลก คาดปีหน้าขยายตัว 3% ยังเปราะบาง ด้านเวิลด์แบงก์คาดราคาอาหารจะแพงระบุดิจิทัลวอลเล็ตจะช่วยจีดีพีเพิ่ม 1%

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ได้ปรับลดประมาณการจีดีพี ปี 2566 จาก 3% เหลือ 2.6% จากความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2567 และการท่องเที่ยว ไม่เป็นไปตามที่คาด ส่วนในปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจ จะขยายตัว 3% ฟื้นตัวช้าจากบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐที่ชะลอ ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามา 36.2 ล้านคน

“แม้เศรษฐกิจจะฟื้นต่อเนื่อง แต่ยังเปราะบาง คาดว่าโตเฉลี่ย 3.03% ในระยะ 20 ปี นับจากปี 2567 เพราะรายได้ประชากรต่ำ หนี้ครัวเรือนสูง และมีปัญหาเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ อย่างจีน สภาพอากาศ ภูมิรัฐศาสตร์ และปัจจัยจากนโยบายรัฐบาล”

น.ส.ฐิติมา ชูเชิด ผอ.ฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดการเงิน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าจากปัญหาด้านโครงสร้าง ซึ่งเศรษฐกิจไทยใช้เวลาถึง 4 ปี ฟื้นตัวจากโควิด-19 ถือเป็นประเทศ อันดับท้ายๆ ของโลก เพิ่งเริ่มฟื้นตัวปลายปี 2566 โดยในปี 2567 เศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทายจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงเหลือ 2.5% จากผลการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

ด้านนายฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 3.2% จากการ ฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ส่งออกและการบริโภคภาคเอกชน เงินเฟ้อทั่วไปชะลอตัวเหลือ 1.1% จากราคาพลังงานที่ลดลง แต่ราคาอาหารจะเพิ่มขึ้น

ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หากมีการดำเนินการจะช่วยกระตุ้นจีดีพี ระหว่างปี 2567-2568 ให้ปรับเพิ่มขึ้น 0.5-1% แต่จะทำให้การขาดดุลการคลังปรับเพิ่มเป็น 4-5% ของจีดีพี ขณะที่หนี้สาธารณะจะปรับเพิ่มเป็น 65-66% ของจีดีพี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน