กระบวนการตรวจสอบรัฐบาลผ่านกลไกสภาผู้แทนราษฎร มีความสมบูรณ์เข้มข้นมากขึ้น ภายหลังนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

นับเป็นผู้นำฝ่ายค้านคนที่ 10 นับตั้งแต่สภาเริ่มมีตำแหน่งนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2518 คนแรกคือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น

รัฐธรรมนูญปัจจุบัน มาตรา 106 บัญญัติว่า ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด

และสมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

รัฐธรรมนูญกำหนดบทบาทผู้นำฝ่ายค้าน ให้มี หน้าที่ตรวจสอบควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล มีอำนาจขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภา เป็นการประชุมลับ เพื่อหารือร่วมกับรัฐบาล กรณีมีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยหรือเศรษฐกิจของประเทศ

ผู้นำฝ่ายค้านเป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่วมเพื่อวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติใดเป็นกฎหมายปฏิรูป ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 16 การปฏิรูปประเทศหรือไม่ ในกรณีที่ ครม.และสมาชิกรัฐสภา เห็นไม่ตรงกัน

เป็นหนึ่งในคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

รวมถึงบทบาทสำคัญในการยื่นเปิดอภิปรายรัฐบาลที่ทำได้ 2 ลักษณะ คือ การเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ ตามมาตรา 151 และการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152

น ายชัยธวัช ยังได้กล่าวว่า ฝ่ายค้าน ฝ่ายบริหาร รวมถึงสส.รัฐบาล สามารถร่วมมือกันผลักดันสิ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ โดยไม่จำเป็นต้องตรงข้ามกันตลอด

การควบคุมตรวจสอบที่ฝ่ายค้านให้ความสำคัญตอนนี้คือ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2567 ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุมสภา วาระแรกได้ช่วงต้นเดือนม.ค.2567

สำหรับการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล จะยึดข้อมูลข้อเท็จจริงเป็นหลัก ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะต้องอภิปรายให้ได้ การตรวจสอบถ่วงดุลไม่จำเป็นต้องคัดค้านทุกเรื่อง บางเรื่องเป็นประโยชน์ของประชาชนที่ถูกต้องก็สามารถร่วมมือกันได้

รัฐบาลจะดี ต้องมีฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารอย่างตรงไปตรงมา ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง และไม่เล่นเกมการเมืองมาก จนเกินไป

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน