ไกล่เกลี่ย233ราย-97ล.เข้าเวทีเชียร์-มวยไทยสมศักดิ์ฮึ่มกมธ.ตำรวจบุกชั้น14ระวังโดนฟ้อง

‘เศรษฐา’ เข้าสนามมวยชมศึก ONE ลุมพินี ดันซอฟต์พาวเวอร์มวยไทย ก่อนขึ้นเหนือจ.น่าน ติดตามแก้หนี้ มหาดไทยเผยทั่วประเทศไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้ว 233 ราย กว่า 97 ล้านบาท ‘ทวี’ ดอดพบนายกฯ รายงานปม ‘ทักษิณ’รักษาตัวในร.พ.ตำรวจครบ 120 วัน ‘สมศักดิ์’ ขู่กมธ.ตำรวจบุกชั้น 14 ระวังถูกฟ้อง กุนซือภูมิธรรมซัดเลิกเล่นเกม ต่อรองร่วมรัฐบาล-ชิงอำนาจนายกฯ ‘พิพัฒน์’ มั่นใจขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบสองได้ก่อนสงกรานต์ 67 ยึดรายอาชีพ-สภาพเศรษฐกิจในพื้นที่

‘นิด’ชมมวยไทย-ดันซอฟต์พาวเวอร์

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. เวลา 13.10 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เข้าปฏิบัติหน้าที่ หลังลาราชการพักผ่อนตั้งแต่เวลา 13.00 น. วันที่ 19 ธ.ค. ถึงวันที่ 22 ธ.ค. เวลา 12.00 น. ทันทีที่มาถึงได้หันมายิ้มและโบกมือทักทายสื่อมวลชนอย่างอารมณ์ดี

โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกฯ นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง นายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.ต่างประเทศ มารอพบ โดยนายจักรพงษ์ระบุว่า ไม่ได้มาประชุมอะไรเพียงแต่ไม่ได้เจอท่านมาหลายวัน

รายงานข่าวแจ้งว่าการเข้าปฏิบัติภารกิจของนายเศรษฐาบ่ายวันเดียวกันนี้ ไม่ได้เรียกประชุมกับหน่วยงานใด แต่เข้ามาดูและเซ็นเอกสารต่างๆ และเวลา 20.30 น. ไปกล่าวปาฐกถาพิเศษ Soft Power ของมวยไทย และร่วมชมการแข่งขันศึก “ONE ลุมพินี 46” ที่ศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก (มวยไทยลุมพินี) ถ.รามอินทรา เขตบางเขน กรุงเทพฯ

สำหรับศึก “ONE ลุมพินี 46” เป็นการแข่งขันศิลปะการต่อสู้เรตติ้งอันดับหนึ่งของประเทศ ถ่ายทอดสดสู่สายตาแฟนกีฬาการต่อสู้กว่า 190 ประเทศทั่วโลก วันนี้จัดเต็มโปรแกรมสุดมันชิงแชมป์เข็มขัดโลกถึง 3 เส้น ยกทัพนักมวยฝีมือแกร่งบู๊เต็มขั้นทั้งสิ้น 11 คู่

ขนรมต.ลุยน่าน-ติดตามแก้หนี้








Advertisement

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐาลงพื้นที่ตรวจราชการจ.น่าน ในวันเสาร์ที่ 23 ธ.ค. เพื่อติดตามการเจรจาแก้หนี้นอกระบบในพื้นที่จ.น่าน โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รมต.ประจำสำนักนายกฯ นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ร่วมคณะ

เวลา 14.00 น. ที่ศาลากลางจังหวัดน่าน นายเศรษฐาจะติดตามประเด็นการเจรจา แก้หนี้นอกระบบในพื้นที่จ.น่าน โดยประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานราชการ ที่เกี่ยวข้อง และร่วมรับฟังการเจรจาแก้ปัญหาหนี้ระหว่างประชาชน (ลูกหนี้) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว จะเดินทางกลับถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ในเวลาประมาณ 16.15 น.

“การลงพื้นที่จ.น่านของนายกฯ เพื่อติดตามการเจรจาแก้หนี้นอกระบบครั้งนี้ เป็นการยืนยันว่า นายกฯและรัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาหนี้นอกระบบที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ และให้ความสำคัญกับประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ โดยการเร่งแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ คืนศักดิ์ศรี คืนความหวังและสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนคนไทย ให้มีความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนถึงระดับมหภาค รวมทั้งยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนทำให้ไม่กลับไปมีหนี้ล้นพ้นตัวอีก” นายชัยกล่าว

ทั่วปท.ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 233 ราย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นวันที่ 22 นับตั้งแต่เปิดลงทะเบียน โดยจากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง เมื่อเวลา 15.30 น.วันที่ 22 ธ.ค. มีมูลหนี้รวม 6,697.642 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 106,863 ราย โดยเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 93,208 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 13,655 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 77,525 ราย

สำหรับข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบทั่วประเทศ พบว่ามีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 1,445 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 233 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 144.119 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 46.561 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 97.557 ล้านบาท ซึ่งมีจังหวัดที่สามารถนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุด คือ จ.นครสวรรค์ โดยมีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 179 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 8 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 15.218 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 7.65 แสนบาท ทำให้มูลหนี้ของพี่น้องประชาชนในจังหวัด ลดลงมากถึง 14.453 ล้านบาท

กระทรวงมหาดไทยยังคงเปิดรับลงทะเบียนพี่น้องประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ ทั้งทางออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th หรือวอล์กอินได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทั่วประเทศ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนในพื้นที่

‘โรม’กัดไม่ปล่อย‘ตั๋วผู้กำกับ’

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล(ก.ก.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน พูดในที่ประชุมร่วมกับสส.พรรคเพื่อไทย (พท.) เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ถึงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบและในระบบซึ่งจะประชุมร่วมกันระหว่างนายอำเภอกับนายตํารวจ ระดับผู้กำกับการ ก่อนจะกล่าวว่า “ผู้กำกับใหม่ ซึ่งผมมั่นใจว่าคงมีผู้ผิดหวัง มากกว่าผู้สมหวังในห้องนี้ ที่ขอตำแหน่งไป เพราะรู้สึกว่าเยอะเหลือเกิน แต่ก็มีไม่น้อยที่ได้สมหวัง” ว่า ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูล ยอมรับว่ารอบนี้ทำงานยากขึ้น เพราะตนอภิปรายเรื่องตั๋วมาหลายครั้ง บางครั้งคนที่กระทำความผิดมีการปรับตัวจนทำให้การตรวจสอบยากขึ้น แต่จากหลักฐานที่ นายกฯ พูด มั่นใจว่าดิ้นไม่หลุด เรื่องนี้ผิดกฎหมายแน่นอน

ส่วนจะดำเนินการเมื่อไหร่นั้นยังไม่สรุป แต่ไม่ช้าแน่นอน เพราะเราให้เวลากับนายกฯ ด้วยการตั้งกระทู้ถามในสภาจนถึงที่สุดแล้ว แต่เมื่อนายกฯ ไม่มาชี้แจงหรือให้เหตุผลอะไร ต้องพิจารณาในส่วนกฎหมาย ผู้สื่อข่าวถามว่า จะนําไปใช้ในการอภิปรายไม่ใว้วางใจหรือไม่ นายรังสิมันต์กล่าวว่า ขอให้รอดู เพราะฝ่ายที่ต้องอภิปรายต้องเตรียมข้อมูลไว้ก่อน คงไม่สามารถระบุได้ว่าจะอภิปรายเรื่องอะไรบ้าง การอภิปรายไม่ใช่หยิบเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ต้องมองภาพรวม และดูว่ามีพยานหลักฐานในเรื่องอื่นมากน้อยแค่ไหน

เมื่อถามว่า เรื่องดังกล่าวจะส่งผลให้ นายเศรษฐา หลุดจากนายกฯ หรือไม่ นายรังสิมันต์กล่าวว่า อยู่ที่การโหวตในสภา แต่การใช้เรื่องนี้เพื่อให้สภาลงมติถอดถอนนายเศรษฐา ออกจากตําแหน่งนายกฯ เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างน้อยคือการฟ้องประชาชนให้เห็นว่าประเทศนี้เกิดอะไรขึ้น ทําให้ประชาชนได้รู้ว่าคนที่มาเป็นผู้นำรัฐบาลเป็นอย่างไร สุดท้ายแล้ว ถ้านายกฯ ไม่สามารถตอบข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านหรือชี้แจงต่อประชาชนได้ ก็ไม่ใช่แค่การพ้นจากตำแหน่ง แต่คือการประหารชีวิตทางการเมือง

‘ทวี’ดอดพบนายกฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เวลา 15.30 น. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เข้าพบนายเศรษฐา หลังเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยเป็นการพบกันแบบเงียบๆ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง คาดว่ามารายงานกรณีนายทักษิณ ชินวัตร ครบกำหนดการพักรักษาพยาบาลนอกเรือนจำ เนื่องจากอาการป่วย ครบ 120 วัน ในวันที่ 22 ธ.ค. ที่มีรายงานข่าวว่า ทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้เตรียมนำเอกสารความเห็นจากแพทย์ผู้รักษาอาการป่วยของนายทักษิณมาประกอบการพิจารณาเพื่อเสนอไปยังกรมราชทัณฑ์ เพื่อขอขยายเวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจเกิน 120 วัน เนื่องจากยังมีอาการป่วย ถือเป็นไปตามขั้นตอนและระเบียบ ซึ่งทั้งหมดจะต้องรายงานให้รัฐมนตรีทราบ แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ออกมาจากกรมราชทัณฑ์

นอกจากนี้ คาดว่ามารายงานเรื่อง ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ที่เป็นระเบียบกรมราชทัณฑ์ฉบับใหม่ ซึ่งให้อำนาจกรมราชทัณฑ์ในการกำหนดสถานที่คุมขังอื่นๆ นอกเหนือจากเรือนจำได้

‘สมศักดิ์’โวพัฒนากม.สู่สากล

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมศักดิ์ เทพ สุทิน รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง 2566 ที่มีสาระสำคัญ เกี่ยวกับสถานที่คุมขังอื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ ถูกโยงว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้นายทักษิณ ชินวัตร ว่า กรณีดังกล่าวเป็นพัฒนาการ เมื่อมีกฎหมายออกมาก็ต้องดำเนินการไปตามแนวทางของกฎหมาย ต้องคิดใช้ประโยชน์จากกฎหมายเพื่อสังคมและประเทศชาติ นั่นคือการเมืองที่ดี

ผู้สื่อข่าวถามว่ารายชื่อนักโทษที่เข้าหลักเกณฑ์ระเบียบดังกล่าว จะออกมาก่อนปีใหม่หรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ดูจากแนวทางดำเนินการ ถ้ามีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารออกไป จะกระทบกับคนที่ทำงาน เพราะคิดว่าทำให้เกิดปัญหามาก จึงไม่ทำดีกว่า และอาจทำให้ผู้ที่จะได้เข้าหลักเกณฑ์เสียโอกาสไปด้วย

พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ออกมาตั้งแต่ปี 2560 ในมาตรา 43 ระบุว่าเมื่อครบเวลา 5 ปี จะต้องสังคายนากฎหมายว่ามีอะไร ที่สมดุลหรือไม่สมดุล และต้องมีการปรับแก้ไข แต่ตอนนี้เกิน 5 ปีไปแล้ว ถ้าไม่คิดพัฒนา ก็นอนอยู่เฉยๆ คอยเซ็นหนังสือไปวันๆ ดังนั้นเราต้องแก้กฎระเบียบข้อบังคับที่จะพัฒนาสู่สากลใน ทุกด้าน จะทำให้มีช่องทางหาเงินเข้าประเทศได้ ตนอยู่การเมืองมานานกว่า 40 ปี สามารถพูดได้เพราะเห็นชัด

ขู่กมธ.บุกเยี่ยม‘ทักษิณ’

ต่อข้อถามว่าหากเป็นอย่างนี้ นายทักษิณจะอยู่นอกเรือนจำไปจนกว่าจะได้รับพระราชทานอภัยโทษใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ไม่ใช่อย่างนั้น และอย่าไปถามออกนอกกรอบ เรื่องจะอยู่นอกหรือในเรือนจำ เป็นการตรวจสอบของแพทย์ และเป็นเอกสิทธิ์ส่วนตัวของผู้ต้องขังด้วย หากเขาไม่ต้องการให้ใครมาเยี่ยม บุคคลนั้นก็มาเยี่ยมไม่ได้ เรื่องนี้ใช้กับผู้ต้องขังทุกคนที่อยู่ในเรือนจำ และต้องขึ้นบัญชี ผู้ที่จะเข้าไปเยี่ยมได้ ไม่ใช่อยากจะเข้าไปเยี่ยมหรือเข้าไปตรวจสอบก็ได้ การที่บอกว่าใจไม่กว้าง ปกปิดไม่ให้เข้าเยี่ยม ขอย้ำว่ามีกฎกติกาในการเยี่ยม

เมื่อถามว่าคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎรที่ทีนายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) เป็นประธาน จะขอเข้าไปเยี่ยมนายทักษิณที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจในวันที่ 12 ม.ค.2567 นายสมศักดิ์กล่าวว่า ถ้าเขาไม่อนุญาต ก็ทำ ไม่ได้ เพราะเป็นเอกสิทธิ์ของผู้ป่วย และจะไปถามว่าเป็นโรคอะไร ก็ไม่เปิดเผย แต่ถ้าเปิดเผย ก็ถูกฟ้อง ระเบียบเป็นอย่างนี้กับทุกคนไม่ใช่รายใดรายหนึ่ง

พท.ซัดหยุดต่อรอง-ชิงอำนาจ

ด้านนายพายัพ ปั้นเกตุ ที่ปรึกษา รองนายกฯ (นายภูมิธรรม เวชยชัย) พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันนี้มีฝ่ายการเมืองออกมาใช้เรื่องสถานที่คุมขังนายทักษิณ ที่กำลังรักษาอาการป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ มาเล่นเกมการเมืองมากเกินไป พยายามโจมตีเพื่อหวังผลทางการเมือง ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพรรคร่วมรัฐบาล บางคนถึงกับฝันไปว่าจะเปลี่ยนขั้วอำนาจการจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ ขอบอกเลยว่าเป็นเรื่องฝันกลางวัน เพราะอย่างไรวันนี้รัฐบาลเศรษฐา มีความมั่นคงแข็งแรงเป็นปึกแผ่น ยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องปรับใครเข้าหรือปรับใครออก มีแต่มุ่งทำงานแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชาติและปากท้องประชาชนทุกวัน และ ทุกวันนี้ทำไปมากแล้ว หากไม่มีใครคอยขัดแข้งขัดขา ผลงานรัฐบาลจะเกิดขึ้นมากกว่านี้

“ฝ่ายการเมืองออกมาเรียกร้องตรวจสอบกันทุกวันนี้อย่างต่อเนื่อง มองได้ว่ามิได้กระทำโดยสุจริตใจ แต่หวังผลทางการเมืองมากจนเกินไป บางคนพรรคของตัวเองมาร่วมรัฐบาลแล้วก็ยังไม่พอใจ อยากจะเป็นนายกฯ เสียเองอีก บางพรรคก็เล่นเกมหวังร่วมรัฐบาลทั้งที่รัฐบาลผสม ตอนนี้เพิ่งทำงานได้แค่สามเดือน จึงขอให้หยุดฝันกลางวัน หยุดต่อรองทางการเมือง หยุดเอาโรงพยาบาลตำรวจ กรมราชทัณฑ์และคนป่วยมาเล่นการเมืองกันเสียที เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ให้คนไทยทั้งชาติ” นายพายัพกล่าว

‘วันชัย’แนะราชทัณฑ์-ยธ.เดินให้สุด

นายวันชัย สอนศิริ สว.โพสต์ข้อความเรื่อง “การขังนอกเรือนจำ ช่วยคุณทักษิณจริงหรือ” ว่า นับแต่วันที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โหวตให้นายเศรษฐา เป็นนายกฯ และนายทักษิณเดินทางกลับประเทศไทยมาวันนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างน่าจะจบลงไปได้ อีกทั้งคนส่วนใหญ่น่าจะเข้าใจเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี เหลือแค่นายทักษิณต้องติดคุกอีกไม่เกิน 1 ปี พรรคเพื่อไทยและนายทักษิณคือคนคนเดียวกัน แยกกันไม่ออก ส่วนตัวผมพูดมานานแล้ว จบได้ควรจบ เลิกได้ควรเลิก ใครจะได้จะเสียอะไรไปบ้าง แต่บ้านเมืองเดินไปได้ด้วยดีแค่นี้ก็คุ้มแล้ว จะอะไรกันนักหนา ถ้าจะว่าไปแล้วเคยมีผู้ใหญ่คนร่ำคนรวยที่ติดคุกแล้วป่วย ออกมาอยู่ที่โรงพยาบาลตั้งหลายคน แต่ไม่มีใครเอามาพูดกัน

เรื่องระเบียบของกรมราชทัณฑ์ที่ให้เอาผู้ต้องขังไปขังที่อื่นนอกเรือนจำ เขาประกาศเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2566 ตนอ่านดูแล้วเป็นระเบียบที่ออกตาม พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 เป็นไปตามแนวมาตรฐานสากล เป็นการพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขังแต่ละประเภทให้เหมาะสม ทั้งลดความแออัดในเรือนจำและแก้ปัญหาอื่นๆ อีกมาก ซึ่งควรจะทำมานานแล้ว ทั่วโลกเขาก็ทำกัน กฎหมายก็เปิดช่องให้ทำ ผู้ต้องขังคนไหนที่เข้าหลักเกณฑ์ก็ควรจะได้สิทธิ์นี้

“อธิบดีกรมราชทัณฑ์และรมว.ยุติธรรม เมื่อออกระเบียบมาแล้วควรจะเดินต่อไปให้สุด เพื่อประโยชน์ของผู้ต้องขังก็รีบทำซะ อย่าชักเข้าชักออก อิหลักอิเหลื่ออยู่อย่างนี้ เมื่อมีหน้าที่รับผิดชอบแล้วต้องทำไปให้เรียบร้อย ถ้ากลัวๆ กล้าๆ ก็อย่ามาเป็นดีกว่า เข้าไปอยู่ในเรือนจำเถอะ กรณีของคุณทักษิณไม่ควรที่จะเป็นประเด็นและเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาของเรือนจำ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต้องกล้าพูดกล้าชี้แจง ตรงไปตรงมา อย่าหนีปัญหา กล้าเผชิญความจริง เพราะสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องทำอยู่ ทุกวันนี้มีแต่ทำให้คนในสังคมสงสัย”

‘นิกร’จ่อชงแนวทางประชามติ

เมื่อเวลา 15.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางในการทําประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ให้สัมภาษณ์ว่า จากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทําประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ…. ของนิสิต นักศึกษากลุ่มอาชีพและภาคส่วนต่างๆ ประชาชน 4 ภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ รวมทั้งสส.และสว. เพื่อจัดทํารายงานผลการดําเนินการของคณะอนุกรรมการเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทําประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 พิจารณาในวันที่ 25 ธ.ค.นี้

ที่ประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 1.คณะอนุกรรมการมีข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการ ใน 3 ประเด็น ได้แก่ จํานวนครั้ง ในการทําประชามติ เนื่องจากเสียงส่วนมากของทุกกลุ่มเห็นด้วยกับการจัดให้มีการทําประชามติก่อนเริ่มดําเนินการในกระบวนการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเห็นด้วยให้มีการทําประชามติ เมื่อจัดทําร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว จึงมีความเห็นและข้อเสนอแนะให้รัฐบาล จัดให้มีการออกเสียงประชามติ 3 ครั้ง

ส่วนประเด็นคําถามประชามติ เห็นว่าควรเป็นคําถามที่ง่าย ชัดเจน ตรงไปตรงมา ครอบคลุมสาระสําคัญที่จะสร้างแนวร่วมเพื่อความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ โดยถามเพียงคําถามเดียว “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภา และแบ่งเป็น 2 คําถาม คือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวดหนึ่งและหมวดสอง”และ“ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะให้สภาร่างรัฐธรรมนูญเป็น ผู้จัดทําร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่

100 ส.ส.ร.ร่างรธน.ฉบับใหม่

ขณะที่ประเด็นจํานวนและที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แม้ว่ากลุ่มนิสิต นักศึกษา ประชาชน และสส. เสียงส่วนมากเห็นด้วยกับการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่เสียงส่วนมากอีกส่วนหนึ่งก็เห็นด้วยที่ส.ส.ร.จะมีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในสัดส่วนและวิธีการได้มา ตามที่กรรมาธิการกําหนด ประกอบกับสว.เสียงส่วนมาก เห็นด้วยกับส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในสัดส่วนและวิธีการได้มาตามที่กรรมาธิการกําหนด จึงมีความเห็นและข้อเสนอแนะให้มีส.ส.ร.ทําหน้าที่จัดทําร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประกอบด้วยสมาชิก 100 คน

โดยมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน จังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน รัฐสภาเลือกจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ 23 คน ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน 5 คน ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์หรือสังคมศาสตร์หรือเศรษฐศาสตร์ 4 คน ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดินหรือการร่างรัฐธรรมนูญ ตามหลักเกณฑ์ที่ประธานรัฐสภากําหนด 4 คน รัฐสภาเลือกจากบุคคล ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ หรือทํางาน หรือเคยทํางานในองค์กรด้านเด็กและเยาวชน ด้านสตรี ด้านผู้สูงอายุ ด้านผู้พิการหรือทุพพลภาพ และด้านผู้มีความหลากหลายทางเพศ ด้านละ 2 คน รวม 10 คน โดยรัฐสภาต้องเป็นผู้มีมติโดยรัฐสภา

นอกจากนั้นคณะอนุกรรมการมีข้อสังเกตว่า ประชาชนมีความเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่แตกต่างหลากหลาย จึงจะรวบรวมความเห็นของประชาชน เป็นภาคผนวกเพื่อจัดส่งให้องค์กรที่มีหน้าที่จัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่าข้อสรุปของคณะอนุกรรมการจะเสนอให้ครม.เห็นชอบใช่หรือไม่ นายนิกรกล่าวว่า ครม.จะเป็น ผู้สรุป โดยการประชุมวันที่ 25 ธ.ค.นี้ คณะอนุกรรมการจะเสนอที่ประชุมชุดใหญ่พิจารณาแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติ เพื่อลด ค่าใช้จ่ายในการทำประชามติในแต่ละครั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน