พิษโควิด6เดือน
หนี้พุ่ง3.3แสนล.

‘การบินไทย’อ่วมผลประกอบการ6 เดือนแรกของปี 63 ขาดทุนยับ 2.8 หมื่นล้าน สาเหตุหลักจากพิษโควิดระบาด จนต้องหยุดบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนยอดหนี้สินพุ่ง 3.3 แสนล้าน ด้านตลาด หลักทรัพย์สั่งแขวนหุ้น ‘นกแอร์’ ห้ามซื้อขายชั่วคราว เหตุไม่สรุปงบการเงินไตรมาสแรก พบขาดทุนกว่า 4 พันล้าน ขณะที่ไทยพบ ติดเชื้อเพิ่ม 17 คน มาจากต่างประเทศ ทั้งหมด จากอินเดีย 15 คน ที่เหลือจาก สหรัฐ และออสเตรเลีย ต้องกักตัว 14 วัน ขณะที่ 50 คนไทยบินจากอินเดียกลับถึงไทยวันอาทิตย์นี้

ติดเชื้ออีก 17 กลับจากตปท.

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูล COVID-19 ว่า ผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 17 ราย ซึ่งเดินทางมาจากต่างประเทศและเข้ารับการกักตัว มีรายละเอียด ดังนี้ 1.สหรัฐอเมริกา 1 ราย เป็นชายไทยอายุ 54 ปี อาชีพช่างซ่อมแอร์ เดินทางถึงไทยวันที่ 31 ก.ค. เข้าพักในสถานที่กักกันตัวที่รัฐจัดให้ หรือ สเตต ควอรันทีน จ.ชลบุรี ตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 วันที่ 12 ส.ค. ผลพบเชื้อ แต่ไม่มีอาการ โดยเที่ยวบินเดียวกันนี้พบผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 3 ราย

2.อินเดีย 15 ราย แบ่งเป็นหญิง 6 ราย และชาย 9 ราย อายุระหว่าง 12-72 ปี เดินทางถึงไทยวันที่ 8 ส.ค. เข้าพักสเตต ควอรันทีน จ.ชลบุรี ตรวจหาเชื้อวันที่ 12 ส.ค. ผลพบเชื้อ แต่ไม่มีอาการ โดยเที่ยวบินเดียวกันนี้พบผู้ป่วย ยืนยันก่อนหน้า 2 ราย

3.ออสเตรเลีย 1 ราย เป็นนักศึกษาชายไทยอายุ 25 ปี เดินทางถึงไทยวันที่ 10 ส.ค. เข้าพัก สเตต ควอรันทีน จ.ชลบุรี ตรวจหาเชื้อวันที่ 12 ส.ค. ผลพบเชื้อ แต่ไม่มีอาการ

ทั่วโลกติดเชื้อพุ่ง 21 ล้าน

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อรวม 21,081,638 ราย เป็นผู้ป่วย รายใหม่ 274,655 ราย โดยอินเดียมีผู้ป่วย รายใหม่สูงสุดในรอบวันจำนวน 64,142 ราย ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยโควิด-19 ในอินเดียรวมเป็น 2,459,613 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 16 ส.ค.จะมี เที่ยวบินจากอินเดียเดินทางมายังประเทศไทย แต่ยังไม่ได้ระบุจำนวนคนที่จะเดินทางกลับมา โดยวันดังกล่าวจะมี 5 เที่ยวบินที่เข้าไทย ได้แก่ อินเดีย เยอรมนี (มิวนิก) สหรัฐ (ผ่านฮ่องกง), สหรัฐ (ผ่านไทเป) และฝรั่งเศส

ส.ค.คนไทยจ่อกลับอีก 1.4 หมื่น

วันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข นายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แถลงข่าวเรื่องการดูแลคนไทยในต่างประเทศว่า คนไทยในต่างประเทศมีประมาณ 1.6 ล้านคน ซึ่งกต.ดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งการเยี่ยมเยียน แจกถุงยังชีพและเวชภัณฑ์ที่ขาดแคลน ดูแลคนไทยที่ติดเชื้อ การพูดคุยผ่านระบบออนไลน์ โดยประสานกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ สำหรับการนำคนไทยกลับประเทศ ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. – ปัจจุบัน มีมาจาก 90 ประเทศ รวม 69,764 คน มาทางอากาศ 45,941 คน ทางบก 22,854 คน และทางน้ำ 969 คน ส่วนเดือนส.ค. ต้องการกลับมา 14,080 คน อยู่ระหว่างทยอยเดินทางกลับ

นายเชิดเกียรติกล่าวต่อว่า คนที่จะเดินทางกลับต้องประสานสถานทูตในประเทศนั้นๆ ซึ่งโควตาได้เพิ่มจาก 200 คน เป็น 600 คนต่อวัน โดยคำนึงจากศักยภาพสถานกักกัน ในการรองรับ

“การเข้ามาของต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. กระทรวงการต่างประเทศออกเอกสารรับรองการเดินทางเข้าประเทศ 5,700 กว่าราย จำแนกเป็น 11 กลุ่มตามคำสั่ง ศบค. การเดินทาง ทุกกลุ่มต้องปฏิบัติตามมาตรการคัดกรอง ป้องกัน ควบคุมโรคตามกำหนด เมื่อมาถึงทั้งคนไทยและต่างชาติ ต้องผ่านการคัดกรอง เข้าพื้นที่กักกันที่ราชการกำหนด” นายเชิดเกียรติ กล่าวและว่า ส่วนกรณีคู่สมรส บุตร ของผู้มีสัญชาติไทย หากเดินทางเข้ามาต้องมีทะเบียนสมรส แต่หากไม่มี ก็ต้องมีหลักฐานเทียบเท่า มีเอกสารยืนยันความสัมพันธ์กับผู้มีสัญชาติไทยซึ่งจะพิจารณาเป็นรายกรณี

50 คนไทยในอินเดียกลับวันนี้

ด้านนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การดูแลตนเองในต่างประเทศที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ขอให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เป็นไปได้อย่าออกจากบ้าน หากจำเป็นจริงๆ ต้องป้องกันตนเองอย่างมาก คือเว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากตลอดเวลา พกเจล ล้างมือ เพราะไม่มั่นใจว่าไปจับอะไรมาบ้าง ซึ่งเชื้อสามารถอยู่บนพื้นผิวได้นาน กลับบ้านต้องรีบอาบน้ำ หรือปฏิบัติตามคำแนะนำของประเทศนั้นๆ เช่นอาจให้มีการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นหรือเช็กอินต่างๆ

นพ.สมศักดิ์กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีที่ประชาชนกังวลว่าคนที่พ้นการกักตัว 14 วันแล้วยังมีอาการ หรือติดเชื้อซ้ำได้หรือไม่นั้น ขอยืนยันว่าการกักตัวจะอยู่ในระยะ 14 วัน หากไม่มีเชื้อสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ถ้าระหว่างกักตัวแล้วตรวจเจอเชื้อก็ต้องรักษาจนหาย และเริ่มนับระยะปลอดภัย กันใหม่ แต่ยืนยันว่าแม้ตรวจไม่เจอเชื้อแล้วแต่ยังมีอาการไข้ ไอ ก็จะไม่อนุญาตให้ออกจาก สถานที่แยกกัก และขอชี้แจงด้วย จากข้อมูลหลักฐานจนถึงปัจจุบันยังไม่รายงานว่ามีผู้ป่วยหายแล้วจะเกิดการติดเชื้อซ้ำแต่อย่างใด

เมื่อถามว่าอินเดียที่มีการระบาดสูงในตอนนี้ มีคนไทยขอเดินทางกลับมาน้อยเพียงใด เนื่องจากพบว่าไม่กี่วันที่ผ่านมา พบคนไทยกลับจากอินเดีย ติดเชื้อ และวันนี้ติดเชื้ออีก 15 คน นายเชิดเกียรติกล่าวว่า อินเดียมีคนเดินทางกลับมาน้อยลง ช่วงแรกที่มีการเดินทางกลับเข้ามา ก็จะเป็นพระสงฆ์ที่ไปแสวงบุญ ส่วนตอนนี้มักเป็นนักศึกษา โดยวันที่ 16 ส.ค.จะมีเดินทางกลับเข้ามาอีกประมาณ 50 คน ซึ่งไม่ได้เต็มจำนวนไฟลต์ 200 คนเหมือนช่วงแรกๆ ส่วนขณะนี้คนไทยที่ขอกลับ ส่วนใหญ่จะเป็นสหรัฐอเมริกา และประเทศทางแถบยุโรป ที่แจ้งความประสงค์เข้ามามาก

เมื่อถามถึงกรณีแรงงานไทยในอุซเบกิสถาน ที่ร้องขอกลับไทยได้กลับมาทั้งหมดหรือไม่ นายเชิดเกียรติกล่าวว่า วันที่ 13 ส.ค.มีเดินทางกลับมา 102 คน โดยเป็นแรงงานไทย 94 คน ที่เหลือเป็นคนไทยแต่ไม่ได้เป็นแรงงาน ซึ่งก็เดินทางมาทั้งหมดที่ร้องขอ ส่วนแรงงานไทยคนอื่นที่ยังอยู่ ไม่ได้แสดงความจำนงในการเดินทางกลับ

เปิดเวทีมวย – บรรดานักมวยและคนดูเข้าคัดกรองโรคเบื้องต้น ตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ก่อนเข้าชมมวยที่เปิดให้เข้าชมวันแรก ที่โรงเรียนมวยไทย เวทีมวยนานาชาติรังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 14 ส.ค

เวทีมวยรังสิตจัดชกให้คนดู

วันเดียวกัน เวลา 18.30 น. ที่โรงเรียนมวยไทย เวทีมวยนานาชาติ รังสิต ถนนพหลโยธิน ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี นายอำนวย เกษบำรุง ผอ.โรงเรียนมวยไทย เวทีมวยนานาชาติ รังสิต จัดการแข่งขันชกมวยขึ้นครั้งแรก หลังจากต้องหยุดไปนานหลายเดือนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศบริเวณหน้าสนามมวย มีแฟนมวยและเซียนมวยเดินทางเข้ามาชมการแข่งขันชกมวยในวันนี้ โดยมี เจ้าหน้าที่ของสนามคัดกรองและแจกหน้ากากให้กับผู้ที่เข้าไปชม ซึ่งเวทีมวยรังสิตจะจัดชกทุกวันศุกร์ ซึ่งวันนี้ทั้งหมด 9 คู่

นายอำนวย กล่าวว่า วันนี้ถือว่าเป็นวันแรกที่เปิดให้สนามมวยเปิด หลังจากหยุดเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 โดยหยุดยาวนานกว่า 7 เดือน ผู้ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับวงการมวยลำบาก นักมวยไม่ได้ชกก็ไม่มีเงิน หัวหน้าค่ายมวยต้องเลี้ยงเดือนละหลายหมื่น บางคนหลายแสนบาท หรือแม้แต่เป็นล้าน ต้องเลี้ยงดูแล หากจัดการแข่งขันมวยแบบระบบปิด ไม่มีคนดูเลยก็ไม่มีรายได้ วันนี้เป็นวันแรกที่เปิดให้คนเข้าดู คาดว่าจะเริ่มดีขึ้น ต้องขอบคุณ อปท. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ขออนุญาตให้เปิดต่อไป ระบบการจัดการแข่งขันที่มีขั้นตอนอยู่ มวยไทยสร้างชาติ สร้างประเทศไทย หากไม่มี มวยไทย ชาวต่างชาติไม่รู้จักประเทศไทย ตั้งแต่เดือนพ.ย. 2562 มีการระบาดของโควิด-19 ชาวต่างชาติก็หายไปเลย ทุกภาคส่วนขาดรายได้ ค่าใช้จ่ายต่อเดือน ต้องจ้างลูกน้องล้านกว่าบาท ขอให้ภาครัฐเห็นใจ

‘บินไทย’ขาดทุน 2.8 หมื่นล้าน

วันเดียวกัน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI แจ้งผลประกอบการช่วง 6 เดือนแรกของปี 63 (ม.ค.-มิ.ย.) ไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยบริษัทมีผลการดำเนินงานขาดทุน 28,016 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.3 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปี 62 ที่มีผลขาดทุน 6,438 ล้านบาท

โดยช่วงไตรมาสที่ 1 (ม.ค.-มี.ค.63) บริษัท ขาดทุน 22,676 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 10.39 บาท เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62 มีกำไร 445 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.20 บาท

ส่วนไตรมาสที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย. 63) บริษัทขาดทุน 5,339 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 2.45 บาท เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62 ขาดทุน 6,883 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 3.15 บาท

ทั้งนี้การระบาดของโควิด-19 เป็นสาเหตุสำคัญทำให้ประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากบริษัทต้องหยุดการทำการบิน พบว่าช่วงไตรมาสที่ 1 อัตราการบรรทุกผู้โดยสารลดลงเหลือ 70% ส่วนไตรมาสที่ 2 อัตราบรรทุก ผู้โดยสารลดลงเหลือ 10.3% ส่งผลกระทบต่อรายได้ภาพรวม

โดย ณ วันที่ 30 มิ.ย. 63 บริษัท การบินไทย และบริษัทย่อยมีทรัพย์สินรวม 314,044 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 332,199 ล้านบาท โดยมีหนี้สินเพิ่มขึ้นจากทั้งปี 62 ซึ่งอยู่ที่ 243,042 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 89,157 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 36% และส่วนของผู้ถือหุ้น-18,155 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม บินไทยได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟู กิจการต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 63 ปัจจุบันบริษัทอยู่ภายใต้สภาวะบังคับชั่วคราว โดยศาลล้มละลายกลางนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 17 ส.ค. 63 นี้

ตลท.แขวนหุ้น‘นกแอร์’

วันเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท.ได้ขึ้นเครื่องหมาย SP และ NP ห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราวของ NOK หรือ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กรณีผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุป ต่องบการเงินสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2563 โดยมี กำหนดปลดเครื่องหมายวันที่ 17 ส.ค. 63

ขณะที่ วันเดียวกันนี้ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยแจ้งผลการดำเนินงานช่วง ไตรมาสที่ 1 ปี 63(ม.ค.-มี.ค.) ไปยังตลท. โดยมีผลประกอบการขาดทุน 2,963 ล้านบาท เปลี่ยนแปลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีผลขาดทุนจำนวน 391.29 ล้านบาท แบ่งเป็นผลขาดทุนของบริษัทใหญ่ จำนวน 2,330.05 ล้านบาท และผลขาดทุนจากส่วนที่เป็นของส่วนได้เสีย ที่ไม่มีอำนาจควบคุม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเดินทางทางอากาศของสายการบิน อีกทั้งการจำกัดการเดินทางทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสาร ลดลง ทำให้สายการบินนกแอร์ทยอยยกเลิกเที่ยวบินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเส้นทางที่จีนทั้งหมดเป็นการชั่วคราว เวียดนาม พม่า และญี่ปุ่น โดยอัตราการใช้เครื่องบินต่อลำเฉลี่ยลดลงจาก 9.71 ชั่วโมง/วัน เป็น 8.35 ชั่วโมง/วัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือลดลงร้อยละ 14.01 ส่งผลให้รายได้ของบริษัทฯ ลดลงค่อนข้างมาก ขณะที่บริษัทยังคงต้องแบกรับภาระต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินงาน โดยเฉพาะต้นทุนคงที่ที่ค่อนข้างสูงในอัตราเท่าเดิม

“ไตรมาสที่ 1 บริษัทมีรายได้รวม 2,614.21 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 24.64 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีค่าใช้จ่ายรวม 6,986.28 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีค่าใช้จ่ายรวม 3,750 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการรับรู้ผลขาดทุนที่มาจากการเลิกกิจการของบริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เป็นยอดเงิน 2,402.10 ล้านบาท และรับรู้ผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยน จากการนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 16 เรื่องสัญญาเช่ามาใช้เป็นยอดเงิน 1,054 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิรวม 4,372 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ซึ่งมีผลขาดทุนจำนวน 281.27 ล้านบาท”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน