มงคลกิตติ์ห้าว
จี้‘บิ๊กตู่’ลาออก

‘บิ๊กป้อม’ โบ้ยสื่อตัดต่อคำพูด ‘อนุทิน’ให้ยุบสภาหลังแก้รธน. รัฐสภาขยับวันประชุมร่วมถกญัตติแก้ รธน.ของฝ่ายค้านเป็น 1 ก.ย. กมธ.ศึกษาฯ เล็งส่งผลสรุปให้สภาปลายเดือนนี้ ชงรื้อระบบเลือกตั้ง ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ริบอำนาจส.ว.โหวตเลือกนายกฯ วิปรัฐบาลวางโครงสร้างส.ส.ร. 200 คน มีนักเรียนนักศึกษาด้วย 15 คน ‘เต้-มงคลกิตติ์’จี้‘บิ๊กตู่’ ลาออกถ้าคุมม็อบไม่ได้ใน 1 เดือน ‘สิระ’ ไล่ไปดูเงาหัวตัวเอง ทำเอา ‘เต้’ ของขึ้นขู่เจอที่ไหนจะเอาให้ฟันร่วงหมดปาก

‘บิ๊กป้อม’ฉุนถูกถามจุดยืนภท.

เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงท่าทีของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เสนอให้ยุบสภาหลังแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยตอบด้วยน้ำเสียงมีอารมณ์ว่า “อู้ย ไปตัดต่อๆ คำพูดของหัวหน้าพรรคเขา เฮ้อ”

ที่รัฐสภา นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง โฆษกพรรคภูมิใจไทย แถลงว่า ยืนยันจุดยืนพรรคภูมิใจไทยพร้อมให้แก้รัฐธรรมนูญ ขณะนี้กำลังร่างรัฐธรรมนูญในฉบับของพรรค คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภา ได้ในสัปดาห์หน้า โดยไม่รอรายงานการแก้ไขของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร เพราะได้รับสัญญาณจากประธานรัฐสภาแล้วว่า ในวันที่ 28 ส.ค.จะบรรจุวาระร่างแก้ไขของฝ่ายค้าน เข้าที่ประชุมรัฐสภา หากรอรายงานของกมธ. อาจบรรจุวาระไม่ทันในสมัยประชุมนี้ และทำให้การชุมนุมของกลุ่มนักเรียนนักศึกษารุนแรงมากขึ้น

ภท.ยันหนุนยุบสภาหลังแก้รธน.

นายภราดรกล่าวว่า ขณะนี้พรรคภูมิใจไทย มีส.ส. 61 เสียง ต้องการอีก 40 เสียง จึงจะเพียงพอเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะไปหาแนวร่วม ใครเห็นด้วยเราก็ยินดี และหลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขที่ร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ผ่านความเห็นชอบแล้ว ก็ไม่ขัดข้องให้ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน

ส่วนสาระสำคัญร่างแก้ไขของพรรคภูมิใจไทยคล้ายพรรคร่วมฝ่ายค้านคือ แก้มาตรา 256 ให้ตั้งส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ไม่แตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 ส่วนการแก้ไขอำนาจหน้าที่ ส.ว.นั้น ให้เป็นหน้าที่ของส.ส.ร.ไปรับฟังความเห็นประชาชนทั่วประเทศ พรรคภูมิใจไทยไม่ขอชี้นำ

ขยับวันประชุมร่วมรัฐสภา

ที่รัฐสภา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า จากการตรวจสอบความถูกต้องหลังจากฝ่ายค้านยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่มีการขีดฆ่าชื่อ ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ร่วมเสนอญัตติออกนั้น เราได้ขอคำยืนยันจากทั้งส.ส.ที่ขอถอนชื่อ และผู้นำฝ่ายค้านแล้ว ซึ่งผู้นำฝ่ายค้านได้ทำหนังสือลงวันที่ 19 ส.ค. ระบุว่าการยื่นญัตติในวันที่ 17 ส.ค. มีผู้ลงชื่อ 152 คน แต่ขีดฆ่าออกไป 21 คน ทำให้เหลือผู้เสนอญัตติจริงๆ 132 คน ซึ่งเพียงพอต่อการเสนอญัตติ ทำให้กระบวนการยื่นญัตติ ดังกล่าวสมบูรณ์

ส่วนวันเวลาที่จะประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาญัตติดังกล่าว เบื้องต้นกำหนดวันที่ 28 ส.ค. แต่เมื่อมาพูดคุยกันแล้ว เห็นว่าไม่สามารถประชุมในวันดังกล่าวได้ จึงตกลงกันว่าจะประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 1 ก.ย.นี้ หากอภิปรายไม่จบ จะอภิปรายต่อในวันใดนั้นจะแจ้งอีกครั้ง เพราะขณะนี้บอกล่วงหน้าไม่ได้ เนื่องจากวันเวลาของสภามีอยู่จำกัดมาก

รัฐบาลวางโครงสร้างส.ส.ร.

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า สำหรับประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล มีความเห็นค่อนข้างชัดเจนที่จะแก้ไขมาตรา 265 และตั้งส.ส.ร.

โดยโครงสร้างส.ส.ร. ในส่วนของรัฐบาล วางกรอบไว้ว่าจะมีจำนวนสมาชิก 200 คน ประกอบด้วย สัดส่วนของนักเรียน นักศึกษาร่วมอยู่ด้วย 15 คน หน่วยงานภาครัฐ 5 คน และมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง จนครบ 200 คน ซึ่งจะต้องประชุมกันอีกในวันที่ 24 ส.ค. เพื่อหารือลงลึกในรายละเอียดให้เกิดความชัดเจนเรื่องที่มาและอาจเพิ่มเติ่มสัดส่วนของพรรคเมือง 5-10 คน ให้รวมอยู่ใน 200 คนด้วย

ชทพ.เชื่อช่วยลดแรงกดดัน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญและคิดว่าแนวทางการใช้ส.ส.ร.จะช่วยลดแรงกดดันทางการเมืองได้ ซึ่งส.ส.ร.ต้องมีอิสระ ประกอบด้วยคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า มีตัวแทนจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเรียกร้องในขณะนี้เข้าร่วมด้วย แต่ต้องมีเงื่อนไขว่าในหมวด 1 และหมวด 2 ไม่มีการแตะต้องเพราะเป็นสิ่งที่คนไทยเคารพนับถือ ส่วนการแก้ไขมาตราอื่นๆ โดยเฉพาะที่มาส.ว.นั้น ต้องมาหารือกันว่าสังคมอยากได้แบบไหน ระหว่างส.ว.เลือกตั้งกับส.ว.แต่งตั้ง จึงเป็นหน้าที่ของส.ส.ร.ตัดสินว่าที่มาของส.ว.จะเป็นอย่างไร

เมื่อถามว่าบางพรรคเห็นด้วยที่จะให้มีการยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่ตามข้อเสนอของภาคประชาชน นายวราวุธกล่าวว่า ต้องดูว่าเมื่อถึงวันที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาใช้ สภาชุดนี้มีเวลาเหลืออีกเท่าไร รวมถึงความพร้อมในการเตรียมการตามรัฐธรรมนูญนั้น มีเวลาเพียงพอหรือไม่ จึงตอบในขณะนี้ไม่ได้

‘เต้’จี้บิ๊กตู่ออก-ถ้าคุมม็อบไม่ได้

นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ใช้วิจารณญาณตัดสินใจลาออก หากไม่สามารถควบคุมการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ได้ภายใน 1 เดือน เพราะเชื่อว่าวันที่ 19 ก.ย.ที่นัดชุมนุมใหญ่ จะไม่ได้มีเพียงนักเรียน นักศึกษาเท่านั้น แต่คนตกงานและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจะมาร่วมด้วยจำนวนมาก และกังวลว่าจะมาล้อมสภา ในวันลงมติร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2564 เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสีย พล.อ.ประยุทธ์ ควรตัดสินใจลาออก และให้สภาดำเนินการเลือกนายกฯใหม่ตามบัญชี นายกฯของพรรคการเมือง ซึ่งยังมีคนที่เหมาะสมหลายคน

ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น นายกฯต้องปฏิเสธไม่กลับมา เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ ถ้าคิดว่ายังเอาอยู่ สถานการณ์ต้องดีขึ้นภายใน 1 เดือนนับจากวันนี้ ก่อนถึงวันที่ 19 ก.ย. เราจะรู้เองว่านักเรียน นักศึกษา มีความเข้าใจมากขึ้นและม็อบไม่มาล้อมสภา ซึ่งขึ้นอยู่กับว่านายกฯมีความสามารถแก้ไขปัญหาแต่ละด้านได้มากน้อยแค่ไหน หาก 1 เดือนทำไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องพิจารณา ขอให้ทำใจว่างๆ อย่ายึดติด

‘สิระ’ซัดกลับให้ชะโงกดูเงา

ด้านนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ แถลงว่า ตนเป็น 1 ใน ส.ส.ของพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ วันนี้รู้สึกงงกับสิ่งที่นายมงคลกิตติ์ออกมาพูด พฤติกรรมที่ผ่านมาของนายมงคลกิตติ์ ตั้งแต่เป็นส.ส. มีแต่วีรกรรมสร้างเรื่อง เช่น การพกสารก่อระเบิดเข้าสภา ออกมาแสดงตัวอยากเป็นรัฐมนตรี ตนขอแนะนำให้นายมงคลกิตติ์ ไปตักนํ้าใส่กะโหลกชะโงกดูเงา หันกลับไปมองตัวเองบ้าง

“นายมงคลกิตติ์ ต้องการผลประโยชน์อะไรหรือไม่ ที่เรียกร้องเช่นนี้ หรือเพราะเงินหมด เนื่องจากบริจาคเงินเดือนส.ส.ให้ในสถานการณ์โควิดแล้ว หากเงินหมดจริง ก็ติดต่อมาบอกผมได้ ผมจะช่วยดูแลให้ ผมไม่เข้าใจพฤติกรรมของนายมงคลกิตติ์ แต่อยากแนะว่า ไปถามตัวเองก่อนว่าสมควรลาออกจากส.ส.มากกว่าให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากนายกฯหรือไม่” นายสิระกล่าว

‘มงคลกิตติ์’ของขึ้น-ดักชกปาก

หลังจากนายสิระแถลงข่าว นายมงคลกิตติ์ ได้โทร.หานายสิระทันที แต่นายสิระไม่รับ จึงส่งข้อความไปหาว่า “ถ้าแน่จริงมาเจอกัน” จนนายสิระตัดสินใจปิดเครื่อง แต่นายมงคลกิตติ์ ยังไม่หยุดตามหาในสภา พร้อมระบุว่า จะไปดักต่อยนายสิระที่ทางออกอาคารรัฐสภา ผู้สื่อข่าวส่วนหนึ่งจึงไปดักรอ แต่ก็ไม่เหตุเกิดขึ้น เพราะนายสิระได้ออกจากรัฐสภาไปแล้ว

กระทั่ง เวลา 17.00 น. นายมงคลกิตติ์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า “ไอ้สิระ กูเจอมึงที่ไหน กูจะเอาให้ฟันร่วงหมดปาก รู้จักกูน้อยไป” โดยมี ส.ส.พรรคเล็ก เข้ามากดไลก์ด้วย อาทิ นายพีรวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทรักธรรม เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวได้โทร.ไปสอบถามนายสิระ ได้คำตอบว่า “วันที่ 21 ส.ค. เวลา 10.00 น. ตนจะไปแจ้งความที่ สน.ทุ่งสองห้อง ในข้อหาข่มขู่ ให้สังคมไปตัดสินเอาเองว่า คนที่จะมาเป็นส.ส.มีวุฒิภาวะแบบนี้ได้อย่างไร”

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 18.45 น. นายมงคลกิตติ์ได้ลบโพสต์ดังกล่าวออกไปจาก เฟซบุ๊กส่วนตัวแล้ว

ดับวิกฤต – พรรคเพื่อไทยยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐ ธรรมนูญ มาตรา 152 ต่อประธานสภาผู้แทนฯ เพื่อซักถามและเสนอแนะรัฐบาล เรื่องวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตการเมืองที่กำลังลุกลาม เมื่อวันที่ 20 ส.ค.

พท.ยื่นซักฟอกโดยไม่ลงมติ

เมื่อเวลา 15.00 น. ที่รัฐสภา ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) นำโดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาคร ทรรพ ส.ส.กทม. เลขาธิการพรรค นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 โดยไม่ลงมติต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา

นายชวนกล่าวว่า หลังจากรับญัตติแล้ว จะให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ ตอนนี้มีเรื่องเตรียมรับอยู่หลายเรื่อง โดยในวันที่ 1 ก.ย.เป็นการประชุมร่วมรัฐสภา เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนญัตตินี้กำลังพิจารณาหาวันอยู่ คาดว่าน่าจะเป็นช่วงก่อนหรือหลังการประชุมร่วมรัฐสภา ต้องรอหารือกับรัฐบาลก่อน นอกจากนี้ตั้งใจว่า 18 ก.ย. เป็นการประชุมพิเศษ เพื่อสะสางญัตติที่ค้างตั้งแต่เดือนก.ค.62

ซักถามวิกฤตศก.-การเมือง

น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยื่นญัตตินี้ เพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะรัฐบาลใน 2 เรื่อง คือ 1.วิกฤตเศรษฐกิจ 2.วิกฤตการเมือง เนื่องจากสถานการณ์ประเทศขณะนี้ เกิดผลกระทบจากแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรง เศรษฐกิจที่แย่อยู่แล้วแย่ลงไปอีกในทุกด้าน ฐานะการคลังของรัฐเปราะบาง มีการกู้เงินสูงมาก ทำให้หนี้สาธารณะสูงถึง 58% เกือบชนกรอบเพดานการคลัง รวมทั้งเรื่องที่ประชาชนเห็นถึงความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลในการเข้าสู่อำนาจ เป็นเหตุของการชุมนุม

ด้านนายสุทินกล่าวถึงการยื่นญัตติครั้งนี้ มีเพียงพรรคเพื่อไทยลงชื่อเท่านั้น นายสุทินกล่าวว่า เราเห็นสัญญาณหลายตัว จึงคิดกันเร็วและมีมติพรรคออกมาเลย ไม่สามารถรอกันได้ แต่ได้แจ้งพรรคร่วมฝ่ายค้านทราบแล้วเพื่อเป็นความคล่องตัว เมื่อเสียงของพรรคเพื่อไทยครบอยู่แล้ว จึงยื่นไปก่อน จากวันนี้จนถึงวันปิดประชุมสมัยสภา 19 ก.ย. เมื่อลองนับดูแล้ว มีวันประชุมได้ประมาณ 10 วัน แบ่งให้การอภิปรายงบประมาณ 3 วัน รัฐธรรมนูญ 2 วัน ยังเหลืออีก 5 วัน เราขอเวลาเพียง 2 วันก็พอ ทุกอย่างก็ลงล็อกหมด

กมธ.ชงรื้อเลือกตั้ง-ริบดาบส.ว.

นายสุทิน ในฐานะโฆษกกมธ.วิสามัญศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 ยังกล่าวว่า ขณะนี้การพิจารณาเนื้อหาการแก้รัฐธรรมนูญของ กมธ.ถือว่าจบแล้ว โดยวันที่ 21 ส.ค.จะประชุม กมธ.เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารต่างๆ คาดว่าจะส่งให้ที่ประชุมสภา พิจารณาได้ในปลายเดือน ส.ค.

นอกจากเสนอแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การยกร่างทั้งฉบับแล้ว ยังเสนอปัญหาในรัฐธรรมนูญ อีกมากมาก อาทิ กระบวนการกระจายอำนาจ องค์กรอิสระ โดยเฉพาะปัญหาที่เห็นตรงกันคือ ระบบการเลือกตั้งที่มีการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ควรกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบเหมือนเดิม เรื่องการแก้ไขวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเรื่องที่มา ส.ว.ที่ควรยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น และไม่ให้มีอำนาจการโหวตเลือกนายกฯ

เย้ยอดีตกำลังไล่ล่านายกฯ

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปฏิเสธตอบคำถามสื่อต่างประเทศรู้สึกอย่างไรที่มีเด็กๆ เรียกว่านายกฯ เผด็จการว่า ชุดความคิดของพล.อ.ประยุทธ์ ยังคงเป็นแบบโอลด์นอร์มัล ไม่เคยเปลี่ยน การที่เรียกว่าเป็นนายกฯ เผด็จการ ตรงกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงมาตลอด 6 ปี พล.อ.ประยุทธ์ต้องส่งสัญญาณให้หยุดคุกคามนักเรียน นิสิต นักศึกษาประชาชน ผู้เห็นต่างกับรัฐบาล และรับฟังข้อเรียกร้อง ความคิดเห็นของกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างจริงจัง เคารพในสิทธิเสรีภาพของผู้ชุมนุม

“พล.อ.ประยุทธ์และพวกพ้อง อาจเคยเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการเป่านกหวีดชัตดาวน์ประเทศ แต่วันนี้พฤติกรรมตามทฤษฎีสมคบคิด กลายเป็นอดีตที่ไล่ล่าพล.อ.ประยุทธ์และพวกพ้องอย่างหนัก ในอดีตไปเป่านกหวีดไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง วันนี้กลับต้องมาเจอเสียงนกหวีดเป่าไล่เสียเอง กรรมมาไวยิ่งกว่ากรรมออนไลน์ ยุทธวิธีแจ้งข้อหาหนัก ไล่จับกุมแกนนำทีละคน ไม่ช่วยให้พลังมวลชนลดลง ตรงกันข้าม ยิ่งทำให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลายมากยิ่งขึ้น” นายอนุสรณ์กล่าว

‘ปิยบุตร’ยก3เหตุแตะหมวด1-2

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ไม่ควรกำหนดเงื่อนไขห้ามแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ 1.เหตุผลทางกฎหมาย ข้อจำกัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำหนดไว้ในมาตรา 255 ใจความสำคัญมีเพียงว่า ห้ามแก้ไข

รัฐธรรมนูญจนกระทบต่อรูปของรัฐ (ความเป็นรัฐเดี่ยว และความเป็นราชอาณาจักร) และห้ามแก้ไขจนกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญจึงมิได้ห้ามมิให้แก้ไข หมวด 1 และหมวด 2 เห็นได้จากมาตรา 256 (8) เปิดทางไว้ว่าหากจะแก้ไขในหมวดดังกล่าว ต้องจัดให้ออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ หากใครก็ตามกังวลว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง นั่นเป็นความกังวลที่เกินจริง

2.เหตุผลทางประวัติศาสตร์ ในอดีตเคยแก้ไขมาแล้ว เช่น การเปลี่ยนคำว่า “อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย” มาเป็น “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” ในรัฐธรรมนูญ 2540 และการเพิ่มบทบัญญัติมาตรา 7 “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใดให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้น

3.เหตุผลทางปฏิบัติ ในกรณีที่จำเป็นต้องแก้ไขขึ้นมาจริงๆ แล้วแก้ไขไม่ได้เพราะติดล็อกข้อห้ามดังกล่าว อาจนำมาสู่วิกฤตทางรัฐธรรมนูญได้ การไม่กำหนดข้อห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2 ไม่ได้หมายความว่าต้องการแก้ไข จะแก้ไขหรือไม่อยู่ที่ส.ส.ร.

‘ศรีสุวรรณ’ยื่นกกต.ฟันก้าวไกล

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบและเสนอศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสั่งยุบพรรคก้าวไกล กรณีส.ส.พรรคก้าวไกล ระบุพรรคก้าวไกลเตรียมเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 1 และหมวด 2 ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ส่อในทางขัดหรือแย้งต่อพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92(2)

คิดว่าประชาชนส่วนใหญ่รับไม่ได้ ถ้าจะแก้ไขแล้วไปแตะต้องสถาบัน ยิ่งระบุว่าจะนำข้อเสนอ 10 ข้อ ของเวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน ในวันที่ 10 ส.ค. มาเป็นส่วนของเนื้อหายื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื้อหานั้นยิ่งจาบจ้วงสถาบัน จึงเห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวเข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ ซึ่งไม่อยากให้ลุกลามบานปลาย จึงต้องตัดไฟเสียแต่ต้นลม เสนอ กกต.ให้พิจารณาและส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน