พท.เตือนปฏิวัติ-คนลุกฮือต้าน

‘บิ๊กป้อม’ยืนยันไม่มีใครทำแน่

‘สมชัย’ชี้กลลวงประชามติไล่ตู่

‘บิ๊กตู่’ ปลื้มเสียงเชียร์สู้ๆ ‘บิ๊กป้อม’ ยืนยันไม่มีปฏิวัติ ประธานวิปฝ่ายค้านเตือน2 ข้อ ถ้าทำรัฐประหารไม่มีทางสำเร็จเพราะประชาชนไม่เหมือนเดิม ห่วงประเทศตกต่ำถึงขีดสุด ‘ชวน’ โต้ตั้งกรรมการสมานฉันท์แค่ซื้อเวลา สถาบันพระปกเกล้าเตรียมส่งโมเดล 2 พ.ย. ‘วิษณุ’ มั่นใจเป็นทางออก เพื่อไทยซัดไม่ต่างกรรมการปรองดองยุคคสช. อดีตกกต.‘สมชัย’แฉรัฐบาลสับขาหลอกปมทำประชามติไล่นายกฯ กกต.แจงพรรค-คณะ-กลุ่มการเมืองส่งผู้สมัคร อบจ.ได้ ศาลรับฟ้อง‘ธนาธร-ปิยบุตร-ช่อ-พิธา-ไพรัฏฐโชติก์’คดีแฟลชม็อบสกายวอล์ก นัดตรวจพยานหลักฐาน 22 ธ.ค.

‘บิ๊กตู่’ขอบคุณคนเชียร์สู้ๆ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 29 ต.ค. ที่วัดระฆังโฆสิตาราม ถนนอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานในพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทานสำนักนายกรัฐมนตรี ประจำปี 2563 โดยมีนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม ซึ่งยอดกฐินรวมทั้งสิ้น 7,266,277.52 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เดิมหลังเสร็จสิ้นพิธี พล.อ.ประยุทธ์จะกราบสักการะหลวงปู่โตที่ลานหลวงปู่โต แต่เนื่องจากฝนตกจึงยกเลิก และเดินไปยังหอไตรปิฎก เพื่อสักการะพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 1 และใช้มือเคาะระฆัง จากนั้นเดินทักทายและถ่ายภาพร่วมกับประชาชนที่มาร่วมพิธี ขณะที่ประชาชนบางส่วน ตะโกนให้กำลังใจว่า “นายกฯ สู้ๆ อย่ายอมแพ้” ซึ่งนายกฯ ได้ไหว้ขอบคุณพร้อมกล่าวว่า “ขอให้มีสติ ขอบคุณทุกคน” ก่อนจะเดินกลับไปยังทำเนียบรัฐบาล

กำชับตำรวจดูแลทุกกลุ่ม








Advertisement

เวลา 14.50 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์หลังเป็นประธานการประชุมก.ตร. ว่า การประชุมวันนี้ได้เน้นย้ำเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคน ที่มีหน้าที่ในการดูแลความเป็นธรรมให้กับคนทุกกลุ่มทุกฝ่ายเพราะเราไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับใคร ส่วนหน้าที่ของรัฐเป็นหน้าที่ของ นายกฯ หน้าที่ของรัฐบาลและหน้าที่ของฝ่ายบริหารทุกคนที่ต้องเตรียมในการทำให้ประเทศชาติปลอดภัย ประชาชนปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งต้องทำให้บ้านเมืองเดินหน้าไปข้างหน้าให้ได้

สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดความปลอดภัยได้ คือต้องระมัดระวังเรื่องการกระทำใดๆ ต้องไม่ไปส่อเจตนาที่ให้เห็นว่าทำผิดกฎหมาย โดยจะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ต้องการจะดำเนินคดี และดำเนินการอะไรอยู่แล้วแต่ถ้าบานปลายไปเรื่อยๆ ก็จะลำบาก มันเดือดร้อน เศรษฐกิจก็ยังมีปัญหาอยู่ บ้านเมืองต้องเดินหน้าไปก่อนในช่วงนี้ก็ขอร้องก็แล้วกัน ขณะที่ในโซเชี่ยลมีเดีย ตนพูดได้เพียงอย่างเดียวว่าถ้าไม่อ่าน ไม่ฟังเลยมันก็แล้วแต่คน แต่จะเชื่อทุกอย่างตามที่เห็นตามที่อ่านต้องแยกแยะ ใช้สติปัญญาว่าเป็นไปได้หรือเปล่าที่เขียนกันมา บางทีก็รู้เท่าไม่ถึงการณ์แล้วก็เชื่อกันไปแล้วก็เกิดปัญหาความขัดแย้ง

“ผมไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใคร เจ้าหน้าที่ก็ไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใคร เพราะทุกคนคือคนไทยที่อยู่อาศัยในแผ่นดินไทย อยู่ภายใต้กฎหมายตัวเดียวกันทั้งหมด จึงอย่ากล่าวอ้างว่ารังแกเพราะกฎหมายรังแกไม่ได้ ทุกคนก็ต้องระวังตัวเองกันอยู่แล้วในการบังคับใช้กฎหมาย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

‘บิ๊กป้อม’ยันไม่มีปฏิวัติ

ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า การมาดีอีเอสครั้งนี้ ไม่ได้มอบหมายอะไรเป็นพิเศษ เป็นเพียงการตรวจการปฏิบัติงานกระทรวงตาม วงรอบ ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้ผู้ชุมนุมใช้ช่องทางดิจิทัลเป็นสื่อหลักในการรวมพล ได้กำชับอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เขาติดตามอยู่แล้ว ส่วนที่หลายกระแสระบุว่าภาครัฐยังเข้าถึงโซเชี่ยลไม่เท่ากับกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น พล.อ.ประวิตรย้อนถามว่า “คุณรู้ได้อย่างไร ผมเข้าถึง เข้าถึงมากกว่า”

ส่วนกรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีต แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เสนอทางออกประเทศให้มีการปฏิวัติ เปิดทางรัฐบาลแห่งชาติพล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ยืนยันว่าไม่มีการปฏิวัติ ต่อข้อถามว่าเหมาะสมหรือไม่ที่มีข้อเสนอ ดังกล่าวในสถานการณ์เช่นนี้ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่รู้ ไม่ทราบ

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า ไม่ขอวิจารณ์ หรือ วิเคราะห์ใดๆ การเสนอเป็นความคิดส่วนบุคคล และจริงๆ ไม่รู้จะใช้ทฤษฎีไหนมาตอบ ดังนั้นอย่าถามเรื่องแบบนี้เพราะตอบไม่ได้ และตนก็ไม่มีหน้าที่อธิบายในเรื่องดังกล่าว

‘สุทิน’เตือนผู้มีอำนาจอย่าคิดทำ

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงกระแสข่าวปฏิวัติรัฐประหาร หลังสถานการณ์ขัดแย้งเริ่มบานปลายว่า ยังไม่ได้ยินเรื่องนี้ แต่เมื่อดูจากองค์ประกอบทั้งหมดแล้ว หากผู้มีอำนาจจะใช้การปฏิวัติเป็นเครื่องมือ โดยอ้างเรื่องความไม่สงบ ความขัดแย้งแตกแยกรุนแรงในบ้านเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้ ก็อ้างได้ แต่ทางออกของประเทศยังมีอีกหลายทาง ยังไม่ถึงทางตันที่จะต้องปฏิวัติ

ขอฝากคนที่คิดจะยึดอำนาจว่ามี 2 เรื่องใหญ่ที่ต้องคิดให้ดี คือ 1.ประชาชนจะไม่เหมือนเดิม เชื่อว่าการปฏิวัติจะไม่ประสบความสำเร็จ การต่อสู้น่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และ 2.หากปฏิวัติแล้วประเทศจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ในช่วงที่ประเทศมีภาวะเศรษฐกิจที่เติบโต ฐานะการเงินการคลังดี พอเกิดการปฏิวัติแล้วยังทำให้ประเทศตกต่ำอับจนเลย และหากมาปฏิวัติในช่วงที่ประเทศตกต่ำอับจนขนาดนี้ ถามว่าใครจะเข้ามาบริหารประเทศได้ ถึงตอนนั้นประชาชนคงลำบากสุดจะบรรยาย ฝากทุกคนตั้งสติให้ดี

ส่วนผู้นำประเทศที่คิดว่าการลาออกแล้วจะแพ้ประชาชนนั้น ขอให้เลิกคิด การลาออกจากนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็นการสยบยอมต่ออำนาจประชาชนที่งดงามที่สุด แต่หากใช้การปฏิวัติ ท่านจะถูกประณามจากทั่วโลก เป็นทรราชที่ไม่มีวันจะแก้ตัวได้อีก

‘วิษณุ’ขำ-ไม่รู้แปลว่าอะไร

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอให้ปฏิวัติของนายสนธิ โดยหัวเราะแล้วกล่าวว่า “ผมไม่กล้ามองเรื่องนี้ และผมไม่ทราบเรื่อง ไม่ทราบว่ามีข้อเสนออย่างไร ถ้าเขาพูดให้ไปถามเขา อย่ามาถามผม และผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าข้อเสนอทั้งหมดแปลว่าอะไร ผมก็ไม่เห็น ข้อเสนอที่สื่อนำมาถาม และก็เพิ่งทราบจากคำถามนี้แหละ และไม่เคยได้ยินข้อเสนอนั้น” ผู้สื่อข่าวถามว่าสถานการณ์ปัจจุบันเขม็งเกลียวถึงขั้นต้องทำปฏิวัติแล้วหรือไม่ นายวิษณุส่ายศีรษะแล้วกล่าวว่า ไม่ทราบ ตอบไม่ถูก

ต่อข้อถามว่ารัฐบาลจะปล่อยให้มีการชุมนุมไปอย่างนี้เรื่อยๆ หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีใครปล่อย และไม่มีใครห้าม ไม่รู้จะทำอย่างไร ทุกคนบอกว่าเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 วรรคหนึ่ง รัฐบาลก็บอกว่าจริง แต่เสรีภาพนี้มีข้อจำกัดอยู่ในวรรคสอง เหมือนที่อภิปรายในสภาว่า มาตราดังกล่าวเขียนเหมือนปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่เขาบอกไว้แล้วว่าบุคคลมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และให้พูดได้ในสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมาย เพิ่งจะเห็นได้ว่าประเทศอื่นเวลาเขาชุมนุมเรียกร้องค่าแรง เป็นเสรีภาพที่ใครไปจับไม่ได้ แต่เขาไม่เคยด่านายจ้าง และเขาจะพูดของเขาว่าอยากได้อะไร

เชื่อกก.สมานฉันท์คือทางออก

นายวิษณุกล่าวถึงข้อเสนอในที่ประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญให้ตั้งกรรมการสมานฉันท์ หาทางออกร่วมกันผ่านกลไกรัฐสภาว่า ไม่ทราบ เป็นเรื่องของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะกำหนดรายละเอียด เรื่องเหล่านี้จะต้องมาจากข้อเสนอแนะของส.ส. และส.ว. และเห็นพ้องกันทุกฝ่าย ยืนยันว่าไม่ใช่การโยนให้ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ดำเนินการ แต่เป็นอำนาจของประธานรัฐสภาที่จะดำเนินการ เพราะถ้าคนอื่นไปตั้งก็ไม่มีอำนาจ และจะไม่มีคนเอาด้วย แต่ประธานรัฐสภาดำเนินการได้ เนื่องจากเคยทำมาแล้วสมัยนายชัย ชิดชอบ เป็นประธานรัฐสภา และตั้งนายดิเรก ถึงฝั่ง อดีตส.ว.นนทบุรี เป็นประธานมาแล้ว

ส่วนแนวทางนี้จะเป็นทางออกหรือไม่นั้น นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีวิธีอื่น จะไปตั้งเป็นกรรมาธิการ ข้อบังคับก็ไม่ได้เปิดช่องไว้ แต่ถ้าใช้อำนาจประธานรัฐสภา ตามข้อ 5(6) ของข้อบังคับการประชุมรัฐสภาก็จะไปได้ ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เข้าร่วม การตั้งคณะกรรมการดังกล่าวควรยุติหรือเดินหน้าต่อไป นายวิษณุกล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าคณะกรรมการจะหาข้อยุติได้หรือไม่ แต่จะหาทางออกให้ปฏิบัติ เช่น สมัยนายชัย ได้ทางออกแต่ไม่สำเร็จ ส่วนตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาลจะต้องเป็นรัฐมนตรีเลยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่ได้คิด เพราะยังไม่รู้องค์ประกอบของกรรมการคืออะไร แต่หากรู้ จะได้พิจารณากันต่อไป

รัฐบาลไม่ชี้นำการทำงาน

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีระบุในที่ประชุมรัฐสภาว่า นายกฯ ปรึกษารองนายกฯ เกี่ยวกับการทำประชามติว่าควรอยู่ต่อหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า คำถามดังกล่าวอาจเป็นคำถามพ่วงก็ได้ ที่ใช้คำว่าพ่วง เพราะหากทำพร้อมกับการเลือกตั้งนายก อบจ. เราก็เรียกคำถามพ่วง แต่ถ้าไปตั้งเอกเทศก็ไม่ใช่คำถามพ่วง แต่ยอมรับว่าคำถามตั้งยากที่จะถามในเรื่องตัวบุคคล เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 116 ห้ามไว้

ดังนั้น อาจให้คณะกรรมการสมานฉันท์เป็นคนคิดคำถาม แต่กระบวนการดังกล่าวจะทำได้ ต้องรอให้กฎหมายประชามติผ่านรัฐสภาก่อน แต่มีผู้เสนอในสภาว่า หากทำแบบเร่งด่วนก็ออกเป็นพ.ร.ก.ประชามติได้ แบบใช้ครั้งเดียวเลิก ส่วนรัฐบาลจะเห็นด้วยหรือไม่ ตนไม่ขอตอบ เพราะเป็นแนวคิดของสภา ซึ่งนายกฯ เพียงแต่รับฟัง แต่ไม่ได้มีความเห็น

เมื่อถามว่าหากจะถามเรื่องตัวบุคคล ต้องตั้งคำถามแบบแยบคายจะตั้งอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า บอกไม่ถูก เพราะถ้าบอกทุกอย่างไป จะถูกกล่าวหาว่ารัฐบาลเป็นคนชงเรื่อง ควรให้เป็นเรื่องของกรรมการสมานฉันท์ เป็นคนคิดให้ทะลุปรุโปร่ง

‘ชวน’รอสถาบันพระปกเกล้า

ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ตนได้ประสานไปยังเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าแล้ว เพื่อให้ไปศึกษาและกำหนดโครงสร้างของคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยทางสถาบันต้องไปคุยกับผู้ที่เสนอตั้งกรรมการว่า มีวัตถุประสงค์อย่างไรจะได้รู้แนวทางว่า กรรมการมีหน้าที่อะไรบ้าง ส่วนตัวประธานค่อยว่ากันทีหลัง ขอให้ได้รูปแบบก่อน แต่เรามีคนที่มีความรู้และมีประสบการณ์อยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการมองว่าการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อซื้อเวลา นายชวนย้อนถามว่า ใครซื้อ ใครเป็นคนขาย เรื่องนี้ไม่ขอวิจารณ์ แต่ทุกคนต้องทำหน้าที่ภายใต้ความรับผิดชอบของตัวเอง เมื่อถามว่าหากฝ่ายค้านและนักศึกษาไม่เข้ามาร่วมด้วย จะสำเร็จหรือไม่ นายชวนกล่าวว่า อยากให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด อยากให้มองภาพรวมว่าทุกคนที่มีบทบาท มีความรู้ความสามารถและมีประโยชน์ ก็ควรเข้ามาร่วมด้วย

‘วุฒิสาร’คาดเสนอ 2 พ.ย.

นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยว่า เมื่อได้รับมอบหมายจากประธานรัฐสภาให้พิจารณาโครงสร้างคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ หลังจากนี้จะพิจารณาทำโครงสร้างเสนอกลับไปให้นายชวนพิจารณาอีกครั้ง คาดว่าน่าจะเสนอได้ภายในวันที่ 2 พ.ย. ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าโครงสร้างจะเป็นอย่างไร ต้องรอเสนอให้กับประธานรัฐสภาพิจารณาก่อน

ด้านนายสติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า วันที่ 30 ต.ค. นายวุฒิสาร นัดหารือภายใน เพื่อพิจารณาประเด็นตามที่นายชวน มอบให้คิดรูปแบบคณะกรรมการสมานฉันท์

แย้มรูปแบบ-แนวทาง

นายสติธรกล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยว่าการตั้งกรรมการสมานฉันท์ รูปแบบไม่ควรซ้ำชุดต่างๆ ที่ผ่านมา ที่มีหน้าที่ศึกษาเสนอแนะแนวทางออกไปยังรัฐบาล แต่ไม่เคยมีฝ่ายใดนำไปปฏิบัติ ดังนั้น แนวทางที่ทำได้คือ การทำหน้าที่คนกลาง สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คู่ขัดแย้งหลักคือ รัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุมพูดคุยเพื่อตกลงหาทางออกร่วมกัน รูปแบบคล้ายกับการพูดคุยสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ และเชิญแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พูดคุย แต่รอบนั้นไม่ได้ข้อเสนอ เพราะเกิดการเผชิญหน้ากัน

“ยอมรับว่าหนักใจ เพราะประเด็นที่ต้องหาทางออก ไปไกลกว่าการขัดแย้งหรือปัญหาการเมือง มีเรื่องปฏิรูปสถาบัน สิ่งที่เป็นไปได้คือ กรรมการที่เกิดขึ้น ต้องร่วมกันออกแบบและคิดว่าจะนำปัญหาใดมาพูดคุยกันก่อน ส่วนเรื่องละเอียดอ่อนนั้นจะพิจารณาภายหลัง หากรัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุม ยอมรับกลไก ดังกล่าว เชื่อว่าจะทำให้การเกิดขึ้นของคณะกรรมการสำเร็จ และมองว่าควรใช้กลไกรัฐสภาดำเนินการ เพื่อใช้กติกาของรัฐสภา เช่น การประชุมลับ และรัฐสภาถือเป็นพื้นที่ตัวแทนของทุกฝ่าย” นายสติธรกล่าว

พท.เชื่อไม่ต่างกก.ปรองดอง

นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย รองประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ เป็นเพียงการซื้อเวลา หากประมวลข้อเสนอแนะจากพรรคฝ่ายค้านที่เสนอในการอภิปรายในสภา เชื่อว่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ที่ผ่านมาช่วง คสช.เรืองอำนาจ มอบให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เรียกทุกกลุ่มการเมือง พรรคการเมือง และประชาชนในหลายพื้นที่ มาให้ข้อมูล เพื่อจัดทำรายงานสร้างความสามัคคีปรองดอง ก่อนจะสรุปความคิดเห็นร่างสัญญาประชาคมนำเสนอต่อประชาชน อยากทราบว่ารายงานฉบับนั้นอยู่ที่ไหน เพราะครั้งนั้นใช้งบมหาศาล การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ครั้งนี้ ไม่น่าจะต่างกัน เพราะไม่มีหลักเกณฑ์ จะเชิญกลุ่มไหนมาก็ไม่ชัด แล้วจะใช้อะไรเป็นแนวทางแก้ไขความขัดแย้ง

การประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ 2 วันที่ผ่านมา มีเพียงเรื่องเดียวที่รัฐบาลรับปากคือ การแก้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่ชัดเจนว่าจะเริ่มเมื่อไร ใช้เวลานานแค่ไหน เพราะหากทำตามข้อเสนอของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ คาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ประชาชนคงไม่ยอม สิ่งจะคลี่คลายปัญหาได้ดีที่สุดคือ ความจริงใจและมีระยะเวลาที่แน่นอน รัฐบาลต้องมี เป้าหมายชัดเจน อย่าหลักลอยเพราะไม่เกิดประโยชน์กับฝ่ายใดเลย

ก้าวไกลจี้ปลดล็อก‘บิ๊กตู่’ออก

ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในส่วนของพรรคก้าวไกลจะเข้าร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์หรือไม่ ต้องขอดูรายละเอียดกรรมการ สัดส่วน จุดประสงค์ เนื้อหาเป็นอย่างไร ต้องพูดคุยกันเยอะ ทำด้วยความระมัดระวัง ต้องดูองค์ประกอบ แก้ปัญหาให้บ้านเมืองจริงหรือไม่ หรือเพิ่มความขัดแย้ง ประวิงเวลาอย่างที่เคยมีมา ถ้ายื้อเวลาหรือยื้ออำนาจ เราก็ไม่ต้องการให้คณะกรรมการนี้เป็นเครื่องมือ ต้องพิจารณาอย่างประณีตถี่ถ้วน

นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ต้องมีเงื่อนไขคือ ไม่ใช่ตั้งเพื่อยืดอายุพล.อ.ประยุทธ์ เรายังยืนยันว่าการจะคลี่คลายปัญหาขัดแย้งในตอนนี้ อันดับแรก ต้องปลดล็อกพล.อ.ประยุทธ์ออกจากนายกฯ ก่อน เพราะเป็นส่วนสำคัญของปัญหาประเทศตอนนี้ เมื่อปลดล็อกแล้วควรเลือกนายกฯ คนใหม่โดยไม่จำเป็นต้องใช้เสียงส.ว. จากนั้นเร่งแก้รัฐธรรมนูญ

“ประโยชน์ของคณะกรรมการสมานฉันท์ สำคัญมากๆ คือกระบวนการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คุยกันในหัวข้อที่มีความเห็นขัดแย้งกันตอนนี้ ถึงจะมีประโยชน์ ต้องปิดให้มีพื้นที่คุยกัน ไม่ว่าวงปิด เวทีสาธารณะ หรือใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยอื่นๆ ยืนยันว่าการใช้พื้นที่สภามาแก้ไขในส่วนนี้ถือว่ายังมีประโยชน์” นายชัยธวัชกล่าว

‘สมชัย’ซัดนายกฯหลอกลวง

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุถึงกรณีมีการเสนอทำประชามติว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ บอกว่าจะใช้ประชามติเป็นทางออกเพื่อบ้านเมือง ทั้งถามชาวบ้านว่าจะให้พล.อ.ประยุทธ์ อยู่หรือไป พร้อมทั้งลงประชามติเพื่อยืนยันความชอบในการแก้ไขวิธีการแก้รัฐธรรมนูญตามข้อกำหนดในมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญให้รวดเร็วทันการณ์ โดยอยากให้ลงประชามติในวันที่ 20 ธ.ค. วันเดียวกับวันเลือกตั้ง อบจ. แถมยังโอ่ว่า ร่างพ.ร.บ.ประชามตินั้น อยู่ที่ ครม.แล้ว จะรีบผลักดันเสนอเข้าสภาต้นเดือนพ.ย. ให้ผ่านทีเดียว 3 วาระรวด เพื่อให้ทันวันเลือกตั้ง อบจ.

“ไอ้ร่างที่เสนอโดย กกต.ที่อยู่ในครม. ไม่ทันกำหนดหรอก เพราะลอกหลักการมาจาก พ.ร.ป.ประชามติ 2552 ที่เขียนไว้ว่าจะทำประชามติเรื่องอะไร ต้องมีเวลาไม่น้อยกว่า 90 วันแต่ไม่เกิน 120 วัน ดังนั้น กว่าจะเข้าสภา ผ่านสภาถึงจะเป็นต้นเดือนพ.ย. วันทำประชามติก็เดือนก.พ. หรือ มี.ค.2564 อย่างเร็วสุด หากอยากได้เดือนธ.ค.2563 ต้องออกเป็นพ.ร.ก.ฉบับใหม่ โดยครม. มิใช่รอออกเป็นพ.ร.บ.ที่ร่างไว้เสร็จแล้วตามที่เขาหลอกลวง” นายสมชัยระบุ

ถกร่างแก้รธน.ส่อรวมญัตติ

ส่วนความคืบหน้าการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน รวมทั้งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนหรือไอลอว์ ที่รอบรรจุระเบียบวาระเข้าพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภานั้น

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ว่า ได้มอบให้ นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภา ประสานพรรคต่างๆ เพื่อสอบถามถึงการบรรจุระเบียบวาระ 6 ญัตติ ในวาระรับหลักการ เท่าที่ทราบ บางพรรคบอกว่าสมควรรอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนหรือไอลอว์ บางพรรคบอกว่าขอหารือในพรรคก่อน แต่ยังไม่มีพรรคใดปฏิเสธว่าไม่ควรรอร่างไอลอว์

ขณะนี้ยังมีเวลาประสานงานอยู่ เพราะกว่าจะเปิดประชุมสภาจริงๆ คือ 4 พ.ย. แต่ถ้าจะรอพิจารณาพร้อมกับร่างของไอลอว์ ต้องรอหลังวันที่ 12 พ.ย. คาดว่าน่าจะมีการชัดเจนในช่วงวันที่ 13-17 พ.ย.

กกต.แจงพรรคส่งชิงอบจ.ได้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และสมาชิกสภาอบจ. ที่จะเลือกตั้งวันที่ 20 ธ.ค.ว่า ครม.ได้สอบถามไปยังกกต. เกี่ยวกับข้อกฎหมาย และข้อแนะนำสำหรับส.ส. นักการเมือง พรรคการเมือง ข้าราชการการเมือง เพื่อป้องกันการสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฏหมายเลือกตั้งท้องถิ่นว่าทำอะไรได้บ้าง ขอให้รอคำตอบจากกกต. ที่จะประชุม วันที่ 2 พ.ย. และน่าจะเป็นบรรทัดฐานในการเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทและระดับต่างๆ ด้วย

ที่สำนักงานกกต. นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการกกต. ชี้แจงถึงกรณีข้อสงสัยเรื่องพรรคการเมืองส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งท้องถิ่นได้หรือไม่ และมีโทษหรือไม่ว่า เรื่องดังกล่าว น่าจะมาจากมาตรา 34 ของพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ซึ่งได้กำหนดไว้ว่า ห้ามข้าราชการการเมือง หรือ ส.ส. ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดย มิชอบ กลั่นแกล้งผู้สมัครหรือกระทำการใดๆ อันเป็นคุณเป็นโทษแก่ผู้สมัคร

การส่งผู้สมัครไม่ได้ห้าม ก็ส่งได้ แต่การหาเสียงต้องอยู่ภายใต้มาตรา 34 ซึ่งเรื่องนี้พรรคการเมืองสอบถามมา กกต.จะได้ตอบและเป็นแนวปฏิบัติเป็นการทั่วไป ทั้งผู้สมัคร ข้าราชการการเมือง ส.ส. รวมทั้งผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัด เพื่อให้ปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน

‘คณะ-กลุ่ม’ก็ส่งผู้สมัครได้

นายแสวงกล่าวว่า ส่วนกรณีเป็นคณะหรือเป็นกลุ่มสามารถส่งผู้สมัครได้หรือไม่นั้น กฎหมายไม่ได้ห้าม แต่เวลาหาเสียงต้องเป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้าม ส่วนการที่คณะหรือพรรคการเมืองมีความเกี่ยวโยงกันจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าทำเพื่อพรรคหรือไม่นั้น ก็ต้องดูข้อเท็จจริงเป็นรายกรณีไป

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากพรรคการเมืองทำผิดมาตรา 34 จะมีโทษอย่างไร นายแสวงกล่าวว่า มาตรา 34 ไม่เกี่ยวกับพรรคการเมือง เป็นเฉพาะตำแหน่ง เป็นตัวบุคคล หากคนที่มีตำแหน่งอยู่ในพรรคการเมืองก็จะผิดเฉพาะตัวบุคคล ซึ่งจริงๆ แล้วมาตรา 34 ไม่มีโทษ ไม่มีบทกำหนดโทษ แต่ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือ กกต. สามารถสั่งระงับยับยั้งได้ ซึ่งนำมาเป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรมได้ แต่โทษทางอาญาไม่ได้กำหนดไว้ ส่วนกรณีพรรคการเมืองที่บางคนเป็นรัฐมนตรี หรือเป็นข้าราชการการเมือง ควรจะแยกแยะบทบาทอย่างไร หรือกรณีคนในพรรคการเมืองที่มีตำแหน่งรัฐมนตรีไปสนับสนุนหรือไปช่วยหาเสียงจะมีผลต่อตัวรัฐมนตรีหรือตัวผู้สมัครนั้น วันที่ 2 พ.ย. สำนักงาน กกต. จะเสนอให้ กกต.พิจารณา ขอให้รอความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง

ต้องเช็กคุณสมบัติให้เป๊ะ

ด้านพ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการร่วมงานบุญตามประเพณีของผู้ที่เตรียมลงสมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นจะสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหนว่า สำหรับคุณสมบัติผู้จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ระเบียบการหาเสียง ไม่แตกต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส. ดังนั้นขอให้ระมัดระวังเนื่องจากช่วงเวลานี้ เป็นช่วงเวลาเดียวที่ไม่ให้มีการเอาจารีตประเพณีมาเป็นเครื่องมือใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง

ในวันที่ 2 พ.ย. ซึ่งจะมีการเปิดรับสมัครนายกและสมาชิก อบจ.นั้น สิ่งที่เป็นกังวลที่สุดคือเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากมีอัตราโทษที่ค่อนข้างสูง ซึ่งผู้สมัครต้องรับทราบว่าตัวเองมีคุณสมบัติที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือผู้สมัครไม่รู้ตัวเองว่าถูกไล่ออกหรือปลดออกจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งในเรื่องคุณสมบัติ กกต.จะต้องมีการตรวจสอบ อย่างละเอียด โดยคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติ หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีผู้ที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามแล้วลงสมัครรับเลือกตั้ง กกต.จะดำเนินคดีอาญา ไม่สามารถละเว้นได้

นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กกต. กล่าวว่า คาดว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้จะมีปัญหาเรื่องการขาดคุณสมบัติมากมาย ซึ่งเป็นปัญหาที่ กกต.วิตกกังวล เพราะศาลอาจตัดสิทธิรับสมัครถึง 20 ปี และยังมีโทษปรับเป็นเงินจำนวนมาก

พปชร.ยังยืนยันมติเดิม

นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนัก นายกฯ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคพลังประชารัฐไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งนายกสมาชิกอบจ.ว่า เนื่องจากยังไม่ชัดเจนในเรื่องส.ส.หรือฝ่ายการเมือง หรือข้าราชการการเมืองห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งโดยปกติเวลานอกราชการก็ไม่สามารถไปช่วยเรื่องเลือกตั้งท้องถิ่นได้ พรรคจึงมีมติดังกล่าว โดยจะไม่ยุ่งกับการเมืองท้องถิ่น ไม่อยากทำให้เกิดข้อผิดพลาดด้านกฎหมาย ตรงนี้ถือเป็นประเด็นหลัก ไม่มีเรื่องข้อขัดแย้งอย่างอื่น

ผู้สื่อข่าวถามว่า หาก กกต.ชี้ว่าการเมืองสามารถยุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ จะทบทวนหรือไม่ นายอนุชา กล่าวว่า ค่อยคุยกันอีกที แต่ตอนนี้เรามีมติไปก่อน เพื่อหยุดกระแส และสิ่งที่จะพูดกันเกินเลยต่อไป เมื่อถามว่าจะหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลด้วยหรือไม่ เพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกัน และไม่แข่งกันเอง นายอนุชากล่าวว่า เรื่องนี้ทุกพรรคต้องคิดต้องอ่าน แต่พรรคร่วมรัฐบาลยังไม่ได้พูดคุยกัน และยังไม่จำเป็นต้องพูดคุยกัน เพราะเป็นเรื่องท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นบริหารจัดการกันเองจะเป็นเรื่องดี ซึ่งบางครั้งควรปล่อยพื้นที่ว่างให้กับท้องถิ่นได้บริหารจัดการกันเองใน สิ่งที่เขาต้องการ

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยจะหารือกันอีกครั้งว่าจะส่งในนามพรรคหรือไม่ อย่างไร ยืนยันว่าจะสรุปได้ก่อนวันที่ 2 พ.ย. ส่วนพื้นที่ที่มีการเปิดตัวไปแล้วนั้น พรรคได้กำชับผู้สมัครให้ปฏิบัติตามกฎหมายของ กกต.อย่างเคร่งครัด

อัยการสั่งฟ้องคดีแฟลชม็อบ

ที่สำนักงานอัยการศาลแขวงปทุมวัน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ช่อ-น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นายไพรัฏฐโชติก์ จันทรขจร อดีตผู้สมัคร ส.ส.นครปฐม พรรคอนาคตใหม่ เข้ารับฟังคำสั่งศาลแขวงปทุมวัน คดีร่วมกันชุมนุมที่บริเวณสกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2562

ภายหลังพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) ยื่นฟ้องต่อศาลแขวงปทุมวันแล้ว โดยศาลพิจารณาแล้ว มีความเห็นรับฟ้องตามพนักงานอัยการที่ยื่นฟ้อง ทั้งหมด 6 ข้อหา ประกอบด้วย 1.ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง 2.ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานีรถไฟ 3.ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ 4.ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงาน เจ้าหน้าที่ 5.ชุมนุมใกล้เขตพระราชฐานในรัศมี 150 เมตร และ 6.เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกชุมนุมแต่ไม่เลิก ซึ่งอัยการได้สั่งฟ้องทั้ง 5 คน

‘ธนาธร-พวก’พร้อมสู้คดี

นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความเปิดเผยว่า อัยการได้สั่งฟ้อง นายธนาธร นายปิยบุตร น.ส.พรรณิการ์ นายพิธา และนายไพรัฏฐโชติก์ ร่วมกับอีก 3 คนที่เคยฟ้องไปแล้วในเหตุการณ์การชุมนุมที่สกายวอล์ก เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2562 โดยทั้ง 5 คนให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และพร้อมสู้คดีทุกคน ซึ่งศาลได้นัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานวันที่ 22 ธ.ค. เวลา 10.00 น. และศาลได้อนุญาตปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องมีหลักประกัน ทางเรารับปากว่าจะมาพบศาลตามนัด ผู้สื่อข่าวถามว่าหากศาลตัดสินว่ามีความผิดตามฟ้องจริง จะมีโทษอย่างไร นายกฤษฎางค์กล่าวว่า คดีการชุมนุมทางสาธารณะ มีโทษสูงสุดคือ จำคุก 6 เดือน นอกนั้นเป็นโทษปรับ

นายพิธากล่าวว่า แม้ตนจะเป็นคนเดียวที่มีสถานภาพส.ส. ก็ไม่กังวลใจใดๆ และศาลปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไขแต่จะมีการเปิดประชุมสภาในเร็วๆ นี้ ต้องแล้วแต่มติของสภา ตนพร้อมจะสู้คดีอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่มีการหลบหนีแน่นอน

จวกอีกเสียส.ส.ปมหุ้นสื่อ

นายพิธากล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธินายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ พ้นจากส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากกรณีหุ้นสื่อว่า พรรคสูญเสียส.ส.น้ำดี ที่สู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมหลากหลายทางเพศ วัฒนธรรมประชาธิปไตย ฝ่ายค้านสูญเสีย 1 เสียง ตนในฐานะหัวหน้าพรรค ยืนยันเจตนาในการทำพรรคที่ดี ไม่ทำให้หวั่นไหว นาย ธัญญ์วารินฝากคนที่เหลือช่วยผลักดันประเด็นที่จุดประกายให้กับสังคมไว้เป็นประวัติศาสตร์ที่เป็น ส.ส.ข้ามเพศคนแรกของสภา ตนจะรับประกันคุณภาพของการอภิปราย การทำงานในพื้นที่ต่อไป

ด้านนายธนาธรกล่าวว่า สิ่งที่เกิดกับนายธัญญ์วาริน ตน และน้องนิสิตนักศึกษา นักเรียน ประชาชน ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม คือนิติสงคราม ใช้กฎหมายให้พวกเราหวาดกลัว ต่อสู้กับความอยุติธรรมในสังคม พวกเรากำลังใจดี การที่รัฐบาลคิดว่าถ้าเด็ดหัวแกนนำได้ เอาแกนนำเข้าคุกได้เรื่องจะจบ อันนี้คิดผิด เพราะตั้งโจทย์ผิด ซึ่งพวกเขาที่อยู่ข้างนอก เคลื่อนไหวด้วยเจตนารมณ์อันเป็นเสรี ไม่มีพวกตน เขาก็จะสู้ต่อ เรียกร้องใน สิ่งที่ถูกต้องต่อไป

นายปิยบุตรกล่าวว่า ความจริงเรื่องหุ้นสื่อ เป็นเพราะต้องการเล่นงานนายธนาธร คนเดียวใช่หรือไม่ เลยเกิดปัญหา ซึ่งตอนนายธนาธร ศาลรัฐธรรมนูญบอกบริษัทปิด แต่ไม่ได้ ปิดถาวรอาจกลับมาเปิดใหม่ก็ได้ แต่ของ น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ปิดเหมือนกัน แต่ยกคำร้อง

ฟ้องศาล – อัยการนำตัวนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และนายไพรัฏฐโชติก์ จันทรขจร สมาชิกพรรคก้าวไกล ส่งฟ้องศาลแขวงปทุมวัน กทม. คดีชุมนุมแฟลชม็อบสกายวอล์ก โดยศาลประทับรับฟ้อง และนัดพร้อมคดีวันที่ 22 ธ.ค.

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน