‘พท.’หวั่นผุดรีสอร์ตทำโรงงาน

‘บิ๊กตู่’ ยันประกาศส.ป.ก.ฉบับใหม่ที่ ‘ธรรมนัส’ ลงนาม ไม่เอื้อประโยชน์นายทุน ยึดประโยชน์สูงสุดของเกษตรกร จะไม่ปล่อยให้ทุจริต หรือฉวยโอกาส ขณะที่ธรรมนัสชี้แจงวุ่น ระบุที่ผ่านมาการอนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อกิจการสนับสนุน หรือเกี่ยวเนื่องของส.ป.ก.จังหวัดต่างๆ ล่าช้า ตีความไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ขาดความชัดเจน เกษตรกรสูญเสียโอกาส จึงต้องออกประกาศเพื่อให้เข้าถึงเท่าเทียมทุกพื้นที่ ด้าน ‘เพื่อไทย’ หวั่นเปิดทางตั้งโรงงาน ทำรีสอร์ต ขัดเจตนารมณ์การใช้ประโยชน์ที่ดินส.ป.ก.

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ลงนามในประกาศคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) อาจเปิดช่องเอื้อประโยชน์นายทุนว่า เรื่องการจัดสรรที่ดินเพื่อให้ประชาชนมีที่ดินทำกินนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมาได้สั่งการให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เร่งออกเอกสารสิทธิให้เกษตรกร และเรียกคืนที่ดินจากนายทุน เพื่อนำมาจัดสรรให้เกษตรกร และเกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า นายกฯ ยังกล่าวด้วยว่าจะไม่ปล่อยให้ทุจริต หรือฉวยโอกาสอย่างแน่นอน และจะติดตามทั้งเรื่องประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการให้สิทธิใช้ที่ดินอย่างต่อเนื่อง

รองโฆษกรัฐบาลกล่าวต่อว่าขอให้ ประชาชน เข้าใจว่าสาระทั้งหมดของประกาศฉบับใหม่ ยังคงยึดหลักประโยชน์สูงสุดของเกษตรกร โดยต้องดูแลทั้งระบบ ให้ครบต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อให้เกษตรกรหลุดจากความยากจน ส่วนเนื้อหาที่ขยายให้ครอบคลุมกิจการ ที่เป็นการสนับสนุนและกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นไปตามข้อเรียกร้องของเกษตรกร ที่อยากให้อุตสาหกรรมแปรรูปอยู่ใกล้แหล่งผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า อีกทั้งสอดคล้องกับสภาพพื้นที่จริงที่บางส่วนไม่สามารถนำมาทำการเกษตรได้ บางที่ก็เป็นแหล่งชุมชน ไปแล้ว

น.ส.รัชดากล่าวอีกว่า นอกจากข้อสั่งการนายกฯ ที่ให้กระบวนการทุกอย่างเป็นไปอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ ในประกาศส.ป.ก. ยังกำหนดไว้ชัดเจนว่าการพิจารณาอนุญาตให้ใช้ที่ดิน ผู้มีอำนาจคือคณะกรรมการที่ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานราชการส่วนภูมิภาค ผู้แทนภาคเอกชน และเกษตรกร โครงการที่เสนอขออนุมัติต้องแสดงให้เห็น ถึงประโยชน์ที่เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และส.ป.ก.จะได้รับ รวมถึงต้องผ่านการทำประชาคมหมู่บ้าน หรืออบต.เสียก่อน ส่วนเรื่องการครอบครองที่ดินโดยผิดกฎหมายที่เป็นคดีความแล้ว ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ไม่เกี่ยวกับประกาศฉบับนี้

ส่วน ร.อ.ธรรมนัส ให้สัมภาษณ์ชี้แจงว่าได้ปฏิบัติราชการแทนนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ในฐานะประธานคปก. ในการลงนามประกาศคปก. เรื่องรายการกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุน หรือเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามที่รมว.เกษตรฯ ประกาศกำหนด เพื่ออนุญาตให้ใช้ที่ดิน ส.ป.ก. เพื่อกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุน หรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้มีความชัดเจน โดยลงนามประกาศเมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา และมีผลบังคับใช้ทันที

ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่าที่ผ่านมาการพิจารณาอนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อกิจการสนับสนุน หรือเกี่ยวเนื่องของ ส.ป.ก.จังหวัดต่างๆ มีความล่าช้า และตีความไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้ขาดความชัดเจนของแนวทางการพิจารณารายการกิจการตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่สูญเสียโอกาสในการได้รับประโยชน์จากการประกอบกิจการด้านการตลาด การสาธิต การสร้างรายได้ การสร้างงาน การบริการขั้นพื้นฐาน ที่พึงเข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียมกันในทุกพื้นที่

“การพิจารณาอนุญาตให้ใช้ที่ดิน เพื่อกิจการสนับสนุน หรือเกี่ยวเนื่อง ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบคปก. และประกาศคปก. ไม่ใช่ฐานทางกฎหมายที่จะนำไปสู่การเปิดช่องหรือเอื้อให้ มีการใช้ที่ดิน ส.ป.ก. ไปเพื่อกิจการอื่นที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายปฏิรูปที่ดินประกาศฉบับนี้ผ่านการกลั่นกรองจากนักกฎหมายของส.ป.ก. ผู้แทนจากสภาพัฒน์ อดีตเลขาฯ ส.ป.ก.หลายคน มีประเด็นสำคัญคือประโยชน์สูงสุดของเกษตรกร ผู้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินส.ป.ก.ที่เราควรดูแลพวกเขา มิฉะนั้นก็ไม่สามารถหลุดจากกับดักแห่งความยากจนได้ อีกทั้งการตลาดมีความสำคัญ ดังนั้นกิจการอื่นที่สนับสนุนอาชีพเกษตรกร จึงมีความสำคัญไม่น้อยกว่าการผลิต และประกาศฉบับนี้ เพราะเกษตรกรเรียกร้องต้องการให้มีตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานแปรรูปผลผลิตภาคการเกษตร ดังนั้นกิจการที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร คำว่าโรงงานแปรรูป หรือโรงงานที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของเกษตรกร จึงมีกฎหมายรองรับ” รมช.เกษตรฯ กล่าว

ขณะที่นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่าตามที่ คปก.เสนอให้ปรับปรุงระเบียบปฏิบัติ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการใช้ดุลพินิจที่เกินขอบเขตของกฎหมาย ที่เป็นปัญหาสะสมกันมายาวนาน เพื่อไม่ให้มีการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ หากตีความตามกฎหมายฉบับเก่า ที่กำหนดเกณฑ์การปฏิบัติไว้กว้างมาก แบบครอบจักรวาล ผู้ปฏิบัติงานภายใต้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (คปจ.) ต้องใช้ดุลพินิจ ทำให้แต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดตีความแตกต่างกันไป ไม่เหมือนกัน เมื่อกฎหมายให้ใช้ดุลพินิจ จึงเกิดการตีความกฎหมาย และผลการใช้ดุลพินิจของ คปจ.ที่แตกต่างกันไป 72 จังหวัดที่มีที่ส.ป.ก. ตีความการใช้ประโยชน์บนที่ดิน ส.ป.ก.ออกไปแตกต่างกัน 72 อย่าง เรียกได้ว่า 72 จังหวัด 72 มาตรฐาน

นายวิณะโรจน์กล่าวว่า ดังนั้น ส.ป.ก. จึงพิจารณาแล้ว เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกร จึงต้องสร้างกรอบการปฏิบัติงานขึ้นมาให้ชัดเจน เพราะสังคมมีการขยาย บ้านเมืองเติบโต สิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้นในสังคมของเกษตรกรที่มีที่ดินส.ป.ก.

ทั้งนี้ ประกาศคปก. วันที่ 28 ต.ค.2563 จึงเป็นการกำหนดกรอบกิจการที่พิจารณาอนุญาตให้ใช้ที่ดินภายใต้กรอบของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ คือ ประกาศกระทรวงเกษตรฯ เพื่อเป็นแนวทางการใช้ดุลพินิจให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานเท่านั้น การพิจารณาอนุญาตให้ใช้ที่ดิน เพื่อกิจการสนับสนุน หรือเกี่ยวเนื่อง ยังคงต้อง อยู่ภายใต้ระเบียบคปก. ยืนยันประกาศล่าสุดจึงไม่ใช่กฎหมายที่จะเปิดช่อง หรือ เอื้ออำนวยการให้มีการใช้ที่ดินส.ป.ก. ไป เพื่อกิจการอื่นที่เอื้อต่อนายทุน

เลขาฯ ส.ป.ก. กล่าวต่อว่าส่วนที่สังคม มีคำถามว่าประกาศดังกล่าวกำหนดกิจการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย เช่น ที่อยู่อาศัย ที่พัก หอพักนั้น ขณะนี้บ้านเมืองเจริญ ชุมชนขยาย เมื่อปี 2536 มีชุมชนอยู่ 5,000 แห่ง แต่ขณะนี้มีมากกว่า 10,000 แห่ง ต้องเข้าไปดูการเติบโตของชุมชนว่า การมีบ้าน รีสอร์ต หรือหอพัก เข้าเกณฑ์กิจการต่อเนื่องกับความเป็นอยู่ของเกษตรกรหรือไม่ สมมติว่ามีการทำสวนยางพารา จำเป็นต้องมีบ้านพัก หอพัก เพื่อให้เกษตรกร คนกรีดยางอยู่ ถือว่าหอพักนั้นเป็นกิจการเกี่ยวเนื่องกับเกษตร ส่วน หอพัก นักศึกษา ต้องเข้าไปดูว่าหอพักนั้นทำเพื่อให้ลูกหลานเกษตรกรอยู่หรือไม่ ทั้งหมดในรายละเอียดนี้ต้องนำกลับไปหารือใน คปก.อีกครั้ง เพื่อความชัดเจนในการปฏิบัติ

“กรอบปฏิบัติยังต้องใช้ดุลพินิจของคปก. แต่ต้องว่ากันตามกฎหมาย เข้าเกณฑ์ ตามวัตถุประสงค์ของการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ก็สามารถทำได้ เช่น การทำโฮมสเตย์ เล็กๆ ที่ปลูกผักในพื้นที่ ทำเกษตรเพื่อป้อนโฮมสเตย์นั้นๆ ก็สามารถทำได้ เพราะเข้าเกณฑ์ทำกิจการเกี่ยวเนื่องการเกษตร” เลขาฯ ส.ป.ก.กล่าว

ด้านน.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าจากประกาศคปก. ทำให้สังคมเกิดคำถามว่าการให้ที่ดินส.ป.ก.ตั้งโรงงาน หรือเช่าพื้นที่ทำรีสอร์ตได้ ขัดกับเจตนารมณ์ในการใช้ประโยชน์จากที่ดินส.ป.ก. ซึ่งต้องจัดสรรที่ดินเกษตรกรรมให้คนจน คนไร้ที่ดินทำกินหรือไม่ ส่วนการให้เช่าที่ดินไม่มีการกำหนดคุณสมบัติ หรือหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกว่าจะให้สิทธิ์นายทุน หรือคนกลุ่มไหนเข้าไปใช้ประโยชน์ในแต่ละพื้นที่ จึงขอถามรัฐบาลว่าใครคือคนที่ได้ประโยชน์จากประกาศฉบับนี้

โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ ร.อ.ธรรมนัสเพิ่งถูกสังคมตั้งคำถามกรณีคนสนิทถูกแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมือง ทั้งที่ผู้นำรัฐบาลพยายามใส่ร้ายป้ายสีนักการเมืองเรื่องสภาผัวเมีย แต่พฤติการณ์ของรัฐบาลนี้ ดูเหมือนว่าไม่แคร์สายตาประชาชน ตั้งแต่กระบวนการสรรหา ส.ว. มาจนถึงข้าราชการการเมืองหลายตำแหน่ง รัฐบาลไม่สำนึกอะไรควรไม่ควร เป็นเรื่องที่รัฐบาล และคนในรัฐบาลนี้ไม่เคยมีสำนึกเลย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน