รัฐบาลเชิญ ‘ม็อบจะนะ’ ถกในทำเนียบ ก่อนยอมถอยโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ทั้ง 2 ฝ่ายบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ยกเลิกมติครม. ทุกฉบับที่เกี่ยวกับโครงการ เลิกประชุมผังเมืองเปลี่ยนเป็นพื้นที่โรงงาน ตั้งอนุกรรมการมี ‘ธรรมนัส’ เป็นประธาน พร้อมด้วยภาคประชาชน นักวิชาการ หน่วยงานรัฐ โดยที่ไม่มี ‘ศอ.บต.’ เข้ามาเกี่ยวข้อง จัดให้ประเมินผล กระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ว่ามีความจำเป็นต้องมีนิคมอุตฯขนาดใหญ่กว่า 2 หมื่นไร่ หรือไม่ ด้านชาวบ้านพอใจ ยอมย้ายออกจากหน้าทำเนียบ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 14 ธ.ค. ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล นายประสาน หวังรัตนปราณี กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนพล.อ.ประวิตรเข้าเจรจากับเครือข่ายจะนะ รักษ์ถิ่น ที่ชุมนุมค้างคืนติดแนวตู้คอนเทนเนอร์บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ตั้งแต่วันที่ 10 ธ.ค. เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา

นายประสานแจ้งกับนายสมบูรณ์ คำแหง แกนนำเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และกลุ่ม ผู้ชุมนุมว่า พล.อ.ประวิตรมอบหมายให้ตั้งคณะทำงานที่มีร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน เป็นรองประธาน ทันทีที่ตั้งคณะทำงานชุดนี้แล้ว จะไปลงพื้นที่ อ.จะนะ เพื่อรับฟังข้อมูล และข้อเสนอต่างๆ ในการหาทางออกร่วมกัน และพร้อมเดินทางไปยังพื้นที่อื่นๆ ด้วย โดยจะนำข้อมูลที่รวบรวมได้ทั้งหมดรายงาน พล.อ.ประวิตร เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป นอกจากนี้จะประสานกรมโยธาธิการ และผังเมืองให้ชะลอการดำเนินการโครงการเอาไว้ก่อน ขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมไว้ใจและสบายใจ เพราะเป็นการแก้ปัญหาร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย

ขณะที่ตัวแทนผู้ชุมนุมขอให้นายประสานนำเอกสารมติครม.ที่จะให้ชะลอโครงการ รวมถึงคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานมาแสดงเป็นหลักฐานยืนยัน ให้กับชาวบ้าน

รอฟังมติ – กลุ่มผู้ชุมนุมจะนะรักษ์ถิ่น รื้อถอนเต็นท์จากหน้าทำเนียบรัฐบาล ไปรอฟังมติครม. ที่ถนนพระราม 5 หลังหารือร่วมกับตัวแทนรัฐบาล ได้ข้อสรุปตั้งกรรมการร่วมศึกษาผลกระทบโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.

ต่อมาเวลา 10.35 น. ร.อ.ธรรมนัส มาร่วมพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยกล่าวว่าได้รับมอบหมายจากพล.อ.ประวิตร ให้มาพูดคุยกับ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เพื่อสอบถามข้อมูลและหาแนวทางการแก้ปัญหา โดยจะตั้งคณะทำงานขึ้นมา และในเบื้องต้นจะไม่มีการประชุมเรื่องผังเมืองในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ เพื่อให้ชะลอโครงการไปก่อน และตนจะลงพื้นที่อ.จะนะ ในวันที่ 16 ธ.ค.นี้

ถัดมาเวลา 10.45 น. พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผบช.น. มาร่วมการเจรจาด้วย และในที่สุดผู้ชุมนุมยอมรับแนวทางการดำเนินการดังกล่าวของฝ่ายรัฐบาล และพร้อมหารือภายในกลุ่มเพื่อย้ายจุดชุมนุมไปอยู่ริมถนนพระราม 5 เพื่อเปิดการจราจรถนนพิษณุโลก จากนั้นนายประสานเชิญแกนนำกลุ่มไป พูดคุยกันต่อที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ถึงการแต่งตั้งคณะทำงานมาดำเนินการในเรื่องนี้

ทยอยเก็บ – เจ้าหน้าที่ทยอยเก็บลวดหนาม แผงเหล็กกั้น และตู้คอนเทนเนอร์ ที่นำมาตั้งขวางถนน ป้องกันไม่ให้ผู้ประท้วงเข้าไปใกล้ทำเนียบรัฐบาล นอกจากนี้ก็เริ่มเคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวาง เหล่านี้ในจุดอื่นๆ ด้วย เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.

ร.อ.ธรรมนัสให้สัมภาษณ์ว่าจะต้องชะลอโครงการไปก่อน จนกว่าจะได้ข้อยุติในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะมีหลายเรื่องที่ต้อง เริ่มทำการศึกษาใหม่ แต่รายละเอียดคงยัง ไม่สามารถพูดในตอนนี้ได้ จะต้องให้หน่วยงานต่างๆ และคณะทำงานพูดคุยกันก่อน

จากนั้นเวลา 14.40 น. ร.อ.ธรรมนัส พร้อมด้วยนายประสาน และตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น นำผลการหารือมาแจ้งให้ผู้ชุมนุมรับทราบบันทึกข้อตกลงในการแก้ปัญหาร่วมกัน โดย ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่าเห็นควรแต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างรัฐบาลและตัวแทนเครือข่าย ทำเป็นบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งพล.อ.ประวิตรจะลงนามในคำสั่งดังกล่าว และจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบถึงบันทึกข้อตกลงที่ มีร่วมกันในวันที่ 15 ธ.ค.นี้

ส่วนนายประสานกล่าวว่าสำหรับรายละเอียดบันทึกข้อตกลงที่ลงนามโดย ร.อ.ธรรมนัส และตัวแทนผู้ชุมนุม สรุปว่า 1.รัฐบาลต้องมีมติยกเลิกมติครม.เกี่ยวกับการดำเนินโครงการที่เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ ทุกฉบับ ส่วนกรมโยธิการและผังเมืองยกเลิกการประชุมคณะกรรมการผังเมืองที่จะเปลี่ยนผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วง และเวทีประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่จะทำ 4 ฉบับในวันที่ 6 ม.ค.2564 ได้สั่งให้ยกเลิกเช่นกัน

กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า 2.จะตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 1 ชุด โดย ร.อ.ธรรมนัส เป็นประธาน ขณะที่โครงสร้างจะมีทั้งตัวแทนภาคประชาชน นักวิชาการ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยไม่มีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เข้ามาเกี่ยวข้อง และต้องจัดให้ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ หรือเอสอีเอ ว่ามีความจำเป็นต้องมีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กว่า 20,000 ไร่ หรือไม่ โดยคำนึงคนในพื้นที่เป็นหลัก ส่วนทุนเป็นปัจจัยรอง และต้องสร้างชุดข้อมูลที่มีคุณภาพ

ด้านแกนนำเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นระบุว่าการเจรจาในวันนี้ ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองยืนยันยกเลิกการประชุมพิจารณาผังเมืองสีม่วง ส่วนฝ่ายตำรวจยืนยันว่าจะไม่ดำเนินคดีกับเครือข่ายที่มารวมตัวกันบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังแจ้งผลการหารือ เครือข่ายจะนะรักษ์พอใจ และยอมเก็บเต็นท์ย้ายสัมภาระจากเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ไปปักหลักบริเวณถนนพระราม 5 ข้างศาลกรมหลวงชุมพรฯ เพื่อรอฟังมติครม.รับทราบผลการเจรจาในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ เพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์

โดน‘ม.112’ – นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน พร้อมทนายความ เข้ารับทราบข้อหาคดีมาตรา 112 ที่สน.บางโพ ในช่วงผู้ชุมนุมบุกประชิดรัฐสภา ซึ่งนายอานนท์ระบุปีหน้าม็อบราษฎรจะยกระดับเข้มขึ้น เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.

วันเดียวกัน ที่สน.บางโพ นายอานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยนายพงศ์สิทธิ์ นาเมืองรักษ์ ทีมงานศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เข้ารับทราบ ข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวน สน.บางโพ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีชุมนุมหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีนายสมชาย อิสระ เป็นผู้กล่าวหา

นายอานนท์กล่าวว่าไม่ได้กังวล หรือหนักใจแต่อย่างใด ขอยืนยันแกนนำและ ผู้เข้าร่วมการชุมนุมยินดีเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย ส่วนการเคลื่อนไหวในปีหน้าจะเป็นปีที่การชุมนุมเข้มข้นขึ้นมากกว่านี้ ทั้งในส่วนเนื้อหาสาระ ทั้งสภาพจิตใจคน ด้านเศรษฐกิจ และการเมือง จะมารวมกันในปีหน้าทั้งหมด ยืนยันว่าข้อเรียกร้องยังคงเป็น 3 ข้อเช่นเดิม การชุมนุมที่ผ่านมาเป็นเพียงการโหมโรงเท่านั้น

“โดยส่วนตัวมองว่านี่คือการต่อสู้ระยะยาว ที่จะเป็นการบ่มเพาะทางความคิดของ คน ผมมองว่าคนรุ่นใหม่ไม่ใช่คนที่จะไป หักด้ามพร้าด้วยเข่าหรือเอาชนะในวันหรือ สองวัน แต่นี่คือการต่อสู้ทางความคิด และเชื่อว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนทางสังคมต่อไป” แกนนำราษฎรกล่าวและว่าเข้ารับทราบ ข้อกล่าวหามาตรา 112 แล้ว 4 หมายเรียก เชื่อว่าจะยังมีหมายเรียกย้อนหลังเข้ามาอีก ในทุกๆ ที่การชุมนุม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน