ผู้ว่าททท.ลั่นเชือดหมด
ฟ้องทั้งทางแพ่ง-อาญา
แฉฮั้วกัน-ขายห้องเกิน
เช็กอินแต่ไม่ได้เข้าพัก
‘คนละครึ่ง’ก็ส่งกลิ่น!

ฟันโกงโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ผู้ว่า การททท.เผยตรวจสอบพบโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร ที่ร่วมโครงการต้องสงสัยสุมหัวกันทุจริต รวมกว่า 500 แห่ง ยืนยันรู้ชื่อทุกแห่งแล้ว แต่ขอตรวจสอบให้เร็วที่สุด หากพบถูกขึ้นบัญชีดำ พร้อมดำเนินคดีทั้งทางแพ่ง-อาญาขั้นหนักที่สุด ยอมรับพอเกิดเรื่องแบบนี้สะเทือนเปิดใช้สิทธิโครงการเพิ่มเติม 1 ล้านห้องพักในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ ต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า กรณีสิทธิจองจำนวนห้องพักในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน จำนวน 5 ล้านห้อง ระยะแรก หรือเฟส 1 พบว่ามีผู้ใช้สิทธิ์จองไปจนครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ และพบสิทธิจำนวนห้องคงเหลือเป็นศูนย์ ในวันที่ 11 ธ.ค. จากวันที่ 9 ธ.ค. จำนวนห้องพักยังเหลือกว่า 225,922 คืน

ททท. ได้หารือร่วมกับภาคเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศ ไทย (สทท.) สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงกระทรวงการคลัง และธนาคารกรุงไทย วิเคราะห์ข้อมูลการทำธุรกรรมในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีกรณีการกระทำที่เข้าข่ายทุจริตในโครงการนี้ ซึ่งมีทั้งในส่วนของผู้ประกอบการโรงแรม และในส่วนของร้านค้าที่รับชำระผ่านคูปองใช้จ่าย

“มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น ยังไม่สามารถประเมินได้ เพราะยังต้องตรวจสอบจำนวนห้องพักที่มีความผิดปกติต่อไป จึงมองว่าอาจยังไม่สามารถเรียกว่า เป็นความเสียหายได้ในทันที เพราะต้องประเมินว่า มีจำนวนห้องพักในโรงแรมที่เข้าข่ายต้องสงสัยถูกจองทั้งหมดกี่ห้อง และอยู่ในกรณีใดบ้าง โดย ขณะนี้มีชื่อโรงแรมที่เข้าข่ายต้องสงสัยแล้ว ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมขนาดเล็ก จึงต้องตรวจสอบจำนวนห้องพักที่ถูกใช้จริงทั้งหมด ต่อไป” นายยุทธศักดิ์กล่าว

นายยุทธศักดิ์กล่าวสรุปรูปแบบการทำธุรกรรมส่อทุจริต ได้แก่

1.การเข้าเช็กอินในโรงแรมราคาถูก แต่ไม่ได้เข้าพักจริง ซึ่งจะได้ประโยชน์ในการใช้สิทธิคูปองใช้จ่ายวันธรรมดา 900 บาท วันเสาร์-อาทิตย์ 600 บาท

2.โรงแรมขึ้นราคาค่าห้องพัก โดยร่วมมือกับร้านอาหาร หรือร้านค้าที่รับชำระคูปอง ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นการซื้อขายสิทธิการใช้ห้องพัก แต่ไม่ได้เกิดการเดินทางจริง ซึ่งสาเหตุที่ก่อให้สามารถกระทำลักษณะดังกล่าวได้ เป็นเพราะที่ผ่านมามีการปลดล็อกเงื่อนไข ให้สามารถใช้สิทธิเดินทางท่องเที่ยวได้ในภูมิลำเนาของตนเอง โดยเป็นการกระทำในแบบผู้ได้สิทธิร่วมมือกับโรงแรม ส่งเลขบัตรประชาชน 4 หลักสุดท้าย และเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งสามารถใช้รับรหัสโอทีพียืนยัน ถือเป็นการโอนสิทธิได้

3.จองแล้วยังไม่ได้เช็กอิน และยังไม่ชำระเงิน

4.มีการใช้ส่วนต่างของคูปอง เพื่อรับส่วนต่างเต็มจำนวนกรณีร้านค้าเพิ่มราคาอาหารไปมากกว่ามูลค่าอาหาร

5.มีการเข้าพักจริง แต่เข้าพักแบบเป็นกรุ๊ปเหมา โดยตั้งราคาห้องพักในระดับสูง และสามารถรับเงินส่วนต่างที่ตกลงกันไว้ เป็นการร่วมมือกันระหว่างโรงแรมและผู้เข้าพัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรณีที่จองตรงกับโรงแรม

และ 6.โรงแรมที่เปิดขายห้องพักเกินจำนวนจริงที่มี อาทิ มีห้องพักจริง 100 ห้อง แต่เปิดขาย 300 ห้อง ซึ่งจำนวนห้องที่เกินมาจะนำไปขายต่อให้กับโรงแรมอื่น เพื่อรับประโยชน์จากเงินส่วนต่าง

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า การดำเนินงานร่วมกับกระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และธนาคารกรุงไทย ที่ผ่านมาได้รับรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และตรวจสอบอยู่ตลอดเช่นกัน เพราะในการดำเนินงานได้มีการจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อพิจารณาตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม และเรื่องอุทธรณ์สำหรับโครงการออก ซึ่งเป็นการตรวจสอบภายใน ไม่ได้เป็นประเด็นที่เปิดเผยออกมา

แต่หลังจากที่มีการปลดล็อกเงื่อนไขให้เที่ยวภายในภูมิลำเนาได้ พบว่ามียอดจองใช้สิทธิในโครงการเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

อาทิ ในช่วงก่อนขยายเวลาการใช้โครงการรอบแรก ประมาณเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม มีการจองประมาณ 14,000 ห้องต่อวัน และเมื่อเพิ่มห้องพักให้จาก 5 สิทธิเป็น 10 สิทธิ มีการจองประมาณ 20,000 ห้องต่อวัน

และเมื่อขยายเวลาสิ้นสุดโครงการจากเดือนตุลาคม เป็นต้นมา และการปลดล็อกภูมิลำเนา พบจำนวนการใช้สิทธิ 54,000 ห้อง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะต้องมีการตรวจสอบ ว่าเกิดอะไรขึ้น

สำหรับ ธุรกรรมที่ต้องสงสัยมีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นโรงแรม และร้านค้า จากข้อมูลที่มีพบว่า มีโรงแรมที่เข้าข่ายพฤติกรรมต้องสงสัยจำนวนประมาณ 312 ราย มีผู้ใช้สิทธิ์ด้วย 108,962 สิทธิ ในส่วนของร้านค้ามีประมาณ 200 ราย มีผู้ใช้สิทธิ์ด้วย 49,713 สิทธิ

โดยททท.จะตรวจสอบกรณีที่ต้องสงสัยโดยด่วน ซึ่งแบ่งกรณีการตรวจสอบออกเป็น 3 แบบ ได้แก่

1.มีการจอง เข้าพัก และจ่ายเงินแล้ว หากพบว่ามีการทุจริตต่อโครงการ จะดำเนินคดีอย่างหนักทั้งทางแพ่งและอาญา

2.จองแล้วแต่ยังไม่ได้เข้าพักและชำระเงิน จะให้ระงับการจ่ายเงินสำหรับธุรกรรมที่น่าสงสัยไว้ก่อน โดยจะประสานงานกับคลังและกรุงไทย

ยืนยันว่าขณะนี้มีแนวทางการตรวจสอบที่ชัดเจน และมีทิศทางในการดำเนินการกับผู้ทุจริตอย่างหนัก

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า นอกจากนี้ จากเดิมที่จะเปิดให้ใช้สิทธิเพิ่มเติม 1 ล้านห้องพัก ซึ่งกำหนดเดิมในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ โดยจะต้อง หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เพื่อเลื่อนออกไปก่อน จึงจะเห็นว่าบนหน้าเว็บไซต์ เราเที่ยวด้วยกัน.com ได้ขึ้นประกาศว่า เตรียมตัวให้พร้อม เราเที่ยวด้วยกัน เพิ่มอีก 1 ล้าน สิทธิเร็วๆ นี้ โปรดติดตามข่าวสารและประกาศจากโครงการหรือททท.อีกครั้ง เพื่อให้มีการตรวจสอบ และมีการป้องกันการทุจริตเพิ่มเติม

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องการให้เกิดการ กระจายการท่องเที่ยว โดยเชื่อว่าการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี 2563 น่าจะถูกจองที่พักจนครบแล้ว แต่อาจยังไม่เดินทาง สำหรับคนทั่วไป

“ขณะนี้มีโรงแรมเข้าร่วมโครงการกว่า 8,000 ราย มีพฤติกรรมที่เข้าข่ายต้องสงสัย 312 ราย ร้านอาหาร 65,000 ราย ต้องสงสัยเพียง 200 รายเท่านั้น จึงสะท้อนว่าโครงการดังกล่าวพยายามป้องกันให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด ทำให้ในภาพรวมยังสามารถดำเนินโครงการต่อไปได้ ใช้การท่องเที่ยวเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้

แต่ขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังกับผู้ที่จะเข้ามาฉวยโอกาสในการหาประโยชน์ด้วย โดยยืนยันว่าคณะทำงานมีแนวทางในการเข้าไปตรวจสอบ และจะดำเนินการอย่างเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อภาพรวมของโครงการต่อไป ซึ่งคาดว่าภายใน 1 เดือน จะสามารถตรวจสอบพฤติกรรมที่น่าสงสัย ว่าทำผิดจริงหรือไม่ได้ครบถ้วน” นายยุทธศักดิ์กล่าว

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า ลักษณะการเอาผิด ผู้ที่มีการทุจริตจริงนั้น อยู่ในขั้นตอนการหารือตามกฎหมาย อาทิ การฟ้องเพื่อยึดเงินคืน เพราะได้มาแบบไม่สุจริต ส่วนการเอาผิดตามอาญา ยังต้องหารือว่า สามารถเอาผิดในกรณีฉ้อโกงได้หรือไม่ หากสามารถทำได้ จะตรวจสอบและนำเสนอให้กระทรวงการคลังดำเนินการให้ถึงที่สุดต่อไป

นอกจากจะดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว ยังจะตัดสิทธิการเข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการ อื่นๆ ของรัฐทั้งหมดด้วย ในส่วนของผู้ใช้สิทธิต้องพิจารณาอีกครั้ง ว่ามีเจตนาในการทำความผิดจริงหรือไม่ แต่หากถูกหลอกลวงก็จะเป็นอีกกรณี ทำให้ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี แต่ยืนยันว่าการฉ้อโกงจะต้องเอาผิดจริงทั้งโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร และผู้ใช้สิทธิ

กรุงไทยมีข้อมูลทั้งหมด

ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ยืนยันว่าการทุจริตทั้งในโครงการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง ธนาคารกรุงไทยมีข้อมูลทั้งหมด สามารถตรวจสอบได้ ที่ผ่านมาพฤติกรรมการทุจริตก็มีหลายรูปแบบ แต่ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตเป็นกิจกรรมใดๆ ก็ตาม ก็จะเกิด รูปแบบ หรือ แพตเทิร์นในการทุจริตขึ้นมา ซึ่งบางแพตเทิร์น ก็เป็นการทุจริตในช่วงเวลาสั้นๆ บางแพตเทิร์นที่คนทุจริตมั่นใจว่าได้ผล ก็ทำนานหน่อย แต่ตรวจสอบได้หมด

ธนาคารกรุงไทยจะส่งข้อมูลให้กระทรวงการคลัง และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไปดำเนินการ ซึ่งคงบอกไม่ได้ว่า แพตเทิร์นการทุจริต เป็นรูปแบบใดบ้าง เพราะปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เพื่อป้องกันการจับได้

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาการแทนผอ.สำนัก งานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในส่วนของมาตรการคนละครึ่งที่ผ่านมา ได้ตรวจสอบพบการทุจริต ทั้งในฝั่งร้านค้าและผู้ได้สิทธิ์ รวมกว่า 700 กรณี ถือว่าไม่มาก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการ 10 ล้านคน และใช้จ่ายจริงแล้ว 9.5 ล้านคน โดยกระทรวงการคลัง จะประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการเอาผิด เรียกค่าเสียหายคืนกับ ผู้ที่ทุจริตทั้งหมด

นอกจากนี้ ในวันที่ 16 ธ.ค. จะเป็นวันแรกที่เปิดให้ลงทะเบียนมาตรการ “คนละครึ่ง เฟส 2” อีก 5 ล้านคน ผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com ตั้งแต่เวลา 06.00-23.00 น. โดยธนาคารกรุงไทยยืนยันว่า ระบบมีความพร้อม ไม่มีปัญหาระบบล่ม สามารถรองรับปริมาณการลงทะเบียนได้สูงสุด 5 แสนรายการต่อนาที

แต่ในทางปฏิบัติ อาจจะระบบมีหน่วงๆ อยู่บ้าง แต่จะไม่มีปัญหาอะไร สามารถลงทะเบียนได้ครบ จากนั้นให้รอเอสเอ็มเอสยืนยัน เพื่อโหลดแอพพลิเคชันเป๋าตัง และเริ่มใช้สิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.2564 ส่วนผู้ที่ได้รับสิทธิ์ไปแล้วในรอบแรก 10 ล้านคน ก็สามารถกดยืนยันสิทธิ์เพื่อรับเงินเพิ่มอีก 500 บาท ผ่านเป๋าตัง ในวันที่ 16 ธ.ค.2563 เช่นกัน

น.ส.กุลยากล่าวว่า หากมีการลงทะเบียนเต็ม 5 ล้านคนอย่างรวดเร็วในเฟส 2 และจะขยายจำนวนผู้รับสิทธิ์หรือไม่ จะต้องขอรอดูผลการลงทะเบียนก่อน และฝ่ายนโยบายจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจ แต่จากข้อมูลการลงทะเบียนในเฟส 1 ที่ผ่านมา เชื่อว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอีก 5 ล้านคนเป็นตัวเลขที่เหมาะสม

เพราะจากการเปิดลงทะเบียนเก็บตกรอบ 2 ในเฟส 1 อีก 2.5 ล้านคน มีผู้มารอลงทะเบียน 7 ล้านคน และเก็บตกรอบ 3 อีก 7 แสนคน มีผู้มารอลงทะเบียนเพียง 4 ล้านคนเท่านั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากโครงการได้รับความนิยม ก็เชื่อว่าจะมีผู้มารอลงทะเบียนเพิ่มขึ้นได้

วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ยังกล่าวถึงโครงการคนละครึ่งด้วยว่า ทำให้เราสามารถแก้ปัญหาโควิดได้ จ่ายเงินคนละครึ่งอะไรทำนองนี้ ถ้าเราไม่ทำมาก่อนก็คงไม่มี รัฐบาลคิดทำมานานแล้ว วันนี้ต้องมีคนทำให้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพิ่มรายได้ให้คนรุ่นใหม่ มันต้องมีคนทำให้ อยู่ดีๆ รุ่นใหม่จะเริ่มเองทั้งหมดไม่ได้ เพราะเราอยู่ร่วมกันกับคนหลายวัย

ดังนั้นต่างคนก็ต่างเสริมกันเข้ามา ความสงบสุข ความรักความสามัคคีสำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทยในเวลานี้ และตนคาดหวังว่าในปีหน้า ถ้าวัคซีนสำเร็จจริง โดยที่เราไม่เป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ก่อน เราน่าจะเป็นประเทศที่ฟื้นตัวได้เร็วกว่าเพื่อน เพราะเตรียมความพร้อมไว้หลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งต้องยอมรับว่าลดจำนวนหลายประเทศ แต่ตอนนี้รัฐบาลจะสนับสนุนท่องเที่ยวให้ต่างประเทศเข้ามาคงยาก เพราะเปิดอย่างไรเขาก็ไม่เข้ามา เพราะต้องเจอกักตัว 14 วัน ซึ่งจำนวนวันนี้เป็นเรื่องของสาธารณสุขพิจารณาบนความไม่เสี่ยง

รายงานข่าวจากที่ประชุม ครม.แจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ พูดด้วยเสียงเข้มในที่ประชุมครม. ถึงกรณีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พบการทุจริตโครงการเราเที่ยวด้วยกันว่า ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบ เพราะเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง ตรวจสอบแล้วอย่ากลับมาบอกว่าไม่มีทุจริต เพราะตนไม่เชื่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ เวลา 09.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขตปทุมวัน นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จะเข้าไปยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำความผิดในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน