ยันทำตามมาตรการเข้ม
จนไม่มีเหตุติดเชื้อป่วย
คลังออกโรงชี้แจงแล้ว
ย้ำไม่เยียวยาคนละ4พัน

กระทรวงคลังโต้แจกเงิน 4 พัน ไม่เป็นความจริง ตัวแทนสมาคมผู้ประกอบการบุกยื่น หนังสือทำเนียบ วอนรัฐบาลผ่อนผันให้ร้านนวด-ร้านสปาเปิดบริการต่อได้ ยันที่ผ่านมาทำตามมาตรการด้านสาธารณสุขเคร่งครัด จนไม่มีผู้ติดเชื้อเลยเผยทั่วประเทศมี 15,000 ร้าน ปิดถาวรไปแล้ว 11,280 ร้าน เพราะไม่มีทุนไปต่อ เหลือเพียง 4,000 กว่าร้านเท่านั้น ส่วนส.อ.ท.จี้ภาครัฐเร่งงบประมาณช่วยเหลือ 2 แสนล้านบาท กำหนดวิธีการให้ชัดเจนปฏิบัติได้เร็วและให้ส่งผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ รวมถึงต่ออายุโครงการคนละครึ่งและเพิ่มงบประมาณการใช้จ่ายต่อบุคคลเป็น 5,000 บาท มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผล กระทบ ด้านกกร.ผวาโควิดรอบใหม่ หั่นเป้าศก.ปี 64 เหลือ 1.5-3.5% บี้รัฐบาลจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ล้างบางบ่อนต้นตอแพร่เชื้อ

เมื่อวันที่ 6 ม.ค. นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่าที่ประชุมมีมติปรับลดคาดการณ์อัตราการเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวได้ในกรอบ 1.5-3.5% หากควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน ลดลงจากเดิมที่คาดจะว่าขยายตัวได้ 2-4% เช่นเดียวกับประมาณการการส่งออกในปี 2564 ที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 3-5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 0.8-1% ทั้งนี้ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มว่าจะช้ากว่าที่คาดไว้เดิม รวมถึงปัจจัยเสี่ยงและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ และการใช้งบประมาณเพิ่มเติมอีก 2 แสนล้านบาทในการพยุงเศรษฐกิจ

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหยุดชะงัก การท่องเที่ยวในประเทศซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตลอดครึ่งหลังของปี 2563 ไม่สามารถเดินต่อได้ชั่วคราว หลังจากมีมาตรการเข้มงวดจำกัดการเดินทางในหลายจังหวัดที่มีประชากรมากหรือเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวในประเทศ คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 เดือน และยังส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน” นายกลินท์กล่าว

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่ากิจกรรมการผลิตในภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบทางอ้อมจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ เนื่องจากประเทศสำคัญๆ ในห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างจีนและไต้หวันยังควบคุมการระบาดได้ดี ขณะที่ภาคการส่งออกในช่วงต้นปี 2564 อยู่ภายใต้ข้อจำกัดจากปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการส่งออก รวมถึงค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่า

ทั้งนี้ ภาครัฐควรเร่งหามาตรการควบคุมโรคระบาด โดยการบังคับใช้มาตรการต่างๆ ที่ประกาศออกมาอย่างเคร่งครัด และเร่งรัดเรื่องวัคซีนให้สามารถได้มาตามกำหนดเวลาและมีปริมาณที่เพียงพอรวมถึงกำหนดวิธีการและหลักเกณฑ์ในการกระจาย การขนส่ง และฉีดวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดลำดับ ผู้ที่ได้รับวัคซีนก่อนหลังอย่างเหมาะสม

“รัฐควรจะโฟกัสแม่นยำ ตรงจุด ถึงต้นตอการแพร่กระจาย ขอให้ควบคุมดูแลที่อยู่ของคนงานต่างด้าวให้เหมาะสม เพื่อระงับการแพร่ระบาด รวมทั้งเร่งจับผู้กระทำผิดทั้งบ่อนการพนัน และการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างผิดกฎหมาย สร้างความเชื่อมั่นให้สินค้าของประเทศว่าปัญหาการแพร่ระบาดส่วนใหญ่มาจากคนสู่คน ไม่ใช่จากอาหารหรือสินค้าสู่คนเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบด้วย” นายสุพันธุ์กล่าว

นายสุพันธุ์ ยังระบุด้วยว่า นอกจากนี้ ขอให้ภาครัฐเร่งดำเนินการเรื่องงบประมาณช่วยเหลือ 2 แสนล้านบาท โดยให้กำหนดวิธีการให้ชัดเจนปฏิบัติได้เร็วและให้ส่งผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีความเห็นว่าจะสามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ ซึ่งอาจเป็นการต่ออายุโครงการคนละครึ่งและเพิ่มงบประมาณการใช้จ่ายต่อบุคคลเป็น 5,000 บาท มาตรลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เช่น ลดค่าไฟ 5% รวมถึงการใช้เครื่องมือทางการเงินอย่างการซื้อสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดีมาพักชั่วคราว (Asset Warehou sing) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน เร่งรัดการใช้และการเจรจาการค้าทวิภาคี รวมถึงการให้สัตยาบันลงนามข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ในการประชุมรัฐสภา เพื่อให้ข้อตกลงที่ลงนามไปเมื่อเดือน พ.ย.2563 มีผลบังคับใช้กลางปีนี้ เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแรงส่งเพิ่มในช่วงครึ่งปีหลัง

ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนสมาคมจารวีเพื่ออนุรักษ์นวดแผนไทย นำโดย นายพิทักษ์ โยทา เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะผอ.ศบค. ผ่านสำนักงานเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยเรียกร้องให้ผ่อนผันให้ร้านนวด ร้านสปา เปิดบริการได้หลังกรุงเทพมหานคร มีคำสั่งให้ปิดสถานที่ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยยืนยันว่าที่ผ่านมาร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านสปา ได้ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เว้นระยะห่าง จำกัดผู้ใช้บริการบริการและไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด จึงไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะที่ผ่านมาเป็นกลุ่มแรกที่ถูกสั่งปิด และให้เปิดเป็นกลุ่มสุดท้าย

นายพิทักษ์กล่าวว่า ปัจจุบันร้านนวด ร้านสปา ทั่ว กทม. มีจำนวน 1,700 ร้าน ส่วนทั่วประเทศมี 15,000 ร้าน ปิดถาวรไปแล้ว 11,280 ร้าน เพราะไม่มีทุนไปต่อ เหลือเพียง 4,000 กว่าร้าน ก็ทำตามมาตรฐานทุกอย่าง ดังนั้นอยากให้รัฐบาลผ่อนผันให้เปิดบริการ เพื่อให้พนักงานมีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว แต่หากไม่ผ่อนผัน ก็เรียกร้องให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยา หรือออกคำสั่งยกเว้นค่าเช่าตึก จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เพราะที่ผ่านมาการช่วยเหลือจากรัฐบาล ทั้งเรื่องเงินกู้ซอฟต์โลน หรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้เลย

วันเดียวกัน น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงาน เศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ตามที่ได้ปรากฏข่าวเผยแพร่ทางสื่อเกี่ยวกับผล กระทบจากคำสั่งปิดสถานที่เสี่ยงต่างๆ แต่กลับไม่มีมาตรการเยียวยาจากรัฐบาลที่ชัดเจนเพื่อลดผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการชั่วคราว กระทรวงการคลังขอชี้แจงว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุด จำนวน 28 จังหวัด นั้นเป็นการบริหารจัดการเพื่อควบคุมการระบาดและเตรียมความพร้อมในการป้องกันการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยได้มีการยกระดับมาตรการในการควบคุมการระบาดของโรค เช่น การจำกัดเวลาเปิด-ปิดสถานประกอบการ การปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด และการขอความร่วมมือให้หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เป็นต้น โดยเป็นแนวทางในการดูแลสาธารณสุขที่เพียงพอและทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้

น.ส.กุลยากล่าวต่อว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจและด้านสาธารณสุขไปพร้อมๆ กัน และขอให้มั่นใจว่าประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง มีนโยบายทางการเงินและนโยบายทางการคลังที่พร้อมจะดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการระบาดอย่างใกล้ชิด และอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผล กระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ ภาครัฐมีแหล่งเงินทั้งในส่วนของเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นและรายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 จำนวนกว่า 1.39 แสนล้านบาท

“เงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผล กระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ในส่วนที่เหลือ จำนวน 4.7 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2563) และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 2.9 แสนล้านบาท ที่จะดูแลและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ต่อไป” โฆษกกระทรวงการคลังระบุ

นอกจากนี้ ตามที่มีข่าวปรากฏในภายหลังว่า กระทรวงการคลังจะมีมาตรการเยียวยาแจกเงินจำนวน 4,000 บาทนั้น โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวว่าขอเรียนว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด จึงขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่งหรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ทั้งนี้ สามารถติดตามสืบค้นข้อมูลข่าวสารและความคืบหน้าที่ถูกต้องเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของกระทรวงการคลังได้จากแถลงข่าวกระทรวงการคลัง ในเว็บไซต์ www.mof.go.th หรือในเฟซบุ๊ก “สถานีข่าวกระทรวงการคลัง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน