แพ้เลือกตั้ง-อ้างโกง
ปชต.ทั่วโลกประณาม
ม็อบในไทยฮือ-ปะทะ

กองทัพพม่าล้มประชา ธิปไตยอีก รัฐประหารยึดอำนาจ บุกจับ ‘ซูจี’ ประธานาธิบดี สมาชิกพรรครัฐบาล มุขมนตรีรัฐต่างๆ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปี ตั้งพรรคพวกตนเองปกครองแทน หลังเลือกตั้งแพ้ถล่มทลาย อ้างถูกโกง ขณะที่ซูจีปลุกชาวพม่าลุกฮือต่อต้าน ด้านประชาคมโลกออกโรงประณาม โดยทั้ง ‘ยูเอ็น-อียู’ จี้กองทัพเคารพกฎหมาย ความต้องการ ของประชาชน ยึดมั่นประชาธิปไตย พรรคก้าวไกลขอให้รัฐบาลชาติอาเซียนร่วมกัน คว่ำบาตร ส่วนหน้าสถานทูตพม่าในไทย ม็อบฮือชุมนุม ตร.นำกำลังเข้าสลาย ปะทะกันชุลมุน

เมียนมารัฐประหาร-บุกจับ‘ซูจี’

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. สำนักข่าวบีบีซีรายงานเหตุการณ์รัฐประหารที่เมียนมา เพื่อนบ้านของไทย ช็อกประชาคมโลก เนื่องจากกองทัพเพิ่งแถลงว่าจะไม่ฉีกรัฐธรรมนูญและจะปกป้องรัฐธรรมนูญ และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่สุดท้ายกองทัพอาศัยช่องรัฐธรรมนูญฉบับที่เขียนขึ้นเองนี้เปิดทางให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งแต่งตั้งผู้นำกองทัพคุมประเทศอีกครั้ง ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่รัฐสภาจะเปิดประชุมสมาชิกชุดใหม่ที่ได้จากการเลือกตั้ง

ข่าวรัฐประหารยืนยันออกสู่โลกจากนาย มโย ยุนต์ โฆษกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) พรรครัฐบาลพลเรือนที่ถูกโค่นอำนาจว่า นางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และรมว.การต่างประเทศ และนายวิน มินต์ ประธานาธิบดี ถูกกองทัพจับกุมเมื่อช่วงเช้าตรู่วันที่ 1 ก.พ. ตามเวลาท้องถิ่น ก่อนการประชุมรัฐสภาชุดใหม่จะเปิดฉากที่กรุงเนปิดอว์

กองทัพอ้างโกงเลือกตั้ง

“เราได้รับทราบว่าพวกเขาถูกกองทัพจับตัวไป ด้วยสถานการณ์ที่เราเห็นในตอนนี้ ทำให้เราตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่ากองทัพกำลังก่อรัฐประหาร ผมอยากบอกกับผู้คนของเราว่าอย่าตอบโต้ด้วยความผลีผลาม และผมต้องการให้พวกเขาปฏิบัติตามกฎหมาย” นายมโย ยุนต์ กล่าว และว่าคาดว่าตนเองจะถูกจับกุมในไม่ช้าเช่นกัน

ต่อมาสถานีโทรทัศน์เมียวดีของกองทัพเมียนมาระบุว่า กองทัพประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี พร้อมแต่งตั้งพล.อ.มินต์ ส่วย อดีตรองประธานาธิบดี และรักษาการประธานาธิบดีเมื่อครั้งที่นายติน จ่อ อดีตผู้นำพม่า ลาออกในปี 2561 ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นรักษาการประธานาธิบดี โดยอำนาจบริหารและตุลาการจะถูกส่งต่อให้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ไหล่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยกองทัพเมียนมาอ้างว่าตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของรัฐ เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ขานรับคำเรียกร้องให้ตรวจสอบผลการเลือกตั้งวันที่ 8 พ.ย.2563 ที่มีความผิดปกติ ส่อเค้าทุจริต

แค้นแพ้เลือกตั้งราบคาบ

สำหรับผลการเลือกตั้งที่ทำให้กองทัพ ไม่พอใจมาก สืบเนื่องจากพรรคเอ็นแอลดีชนะศึกเลือกตั้งถล่มทลาย และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยที่ 2 มีวาระอีก 5 ปี เมื่อครอง ที่นั่งในสภารวมกัน 396 ที่นั่งจากทั้งหมด 476 ที่นั่ง แบ่งเป็นสภาผู้แทนราษฎร 258 ที่นั่ง และสภาชนชาติ หรือสภาสูง 138 ที่นั่ง ส่งผลให้พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (ยูเอสดีพี) พันธมิตรกองทัพพม่า มีเสียงในสภารวมกันเพียง 41 ที่นั่ง ส่วนกองทัพมีเสียง 166 ที่นั่ง

กองทัพเมียนมาออกแถลงการณ์ผ่าน บัญชีเฟซบุ๊กทางการว่า จะจัดการเลือกตั้งใหม่หลังครบ 1 ปี พร้อมข้อความว่า “เราจะดำเนินการตามระบอบประชาธิปไตยแท้จริงที่มีหลากหลายพรรค มีความสมดุล และความยุติธรรมอย่างสมบูรณ์ อำนาจจะถูกส่งผ่านหลังมีการเลือกตั้งทั่วไปที่เสรี ยุติธรรม และครบกำหนดประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน”

ตกค้าง – ชาวไทยและชาวพม่าที่จะเดินทางข้ามฝั่งไปรับส่งสินค้า ที่ จ.ท่าขี้เหล็ก รวมถึงบรรทุกขนส่ง ตกค้างเป็นจำนวนมาก หลังทหารพม่าทำรัฐประหารและบุกเข้าปิดด่านพรมแดนเมื่อช่วงเช้า แต่ก็เปิดปกติในช่วงบ่าย เมื่อวันที่ 1 ก.พ.

ตัดสัญญาณเน็ต-โทรศัพท์

ขณะเดียวกัน บีบีซีรายงานว่าการติดต่อสื่อสารในเมียนมาถูกตัดสัญญาณโทรศัพท์ และสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่กรุงเนปิดอว์ และเมืองอื่นๆ รวมถึงนครย่างกุ้ง นายโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารบน ท้องถนนในกรุงเนปิดอว์และนครย่างกุ้ง ระบบโทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ตถูกตัดขาด ในพื้นที่เมืองหลวง

อีกทั้งมีรายงานว่าทหารนำกำลังบุกบ้านพักของมุขมนตรีในหลายรัฐ รวมถึงรัฐกะยิ่น หรือกะเหรี่ยง ทั้งยังจับกุมมุขมนตรี และสมาชิกครอบครัวไปด้วย ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีระบุว่ามีรถบรรทุกของกองทัพพม่าอย่างน้อย 5 คัน จอดอยู่ในเขตศาลาว่าการนครย่างกุ้ง และห้ามเจ้าหน้าที่เข้าไปด้านใน ถือเป็นสัญญาณที่ชี้ชัดว่ากองทัพกำลังเดินหน้าก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน

‘ซูจี’ปลุกชาวเมียนมาฮือต่อต้าน

ด้านพรรคเอ็นแอลดีโพสต์ข้อความในนามของนางซู จี ผ่านเพจเฟซบุ๊ก โดยระบุว่าเขียนก่อนเกิดการยึดอำนาจ นางซู จี เรียกร้องให้ประชาชนอย่ายอมรับรัฐประหารของกองทัพ “การกระทำของกองทัพทำเพื่อให้ประเทศ กลับมาอยู่ภายใต้เผด็จการ ดิฉันร้องขอให้ประชาชนอย่ายอมรับ และตอบสนองด้วย การประท้วงการรัฐประหารของกองทัพ อย่างสุดใจ”

แถลงการณ์นี้ไม่ได้ระบุชื่อของนางซู จี แต่มีลายเซ็นปรากฏอยู่บนเอกสาร พร้อมลายมือเขียนของนายวิน เถ่ง ประธานพรรคเอ็นแอลดี มีเนื้อหาว่า “ด้วยชีวิตของผมผมขอสาบานว่าคำขอนี้เป็นการร้องขอจากออง ซาน ซู จี”

‘สหรัฐ-ยูเอ็น’แถลงประณาม

สำหรับความเคลื่อนไหวของนานาประเทศต่อเหตุการณ์กองทัพเมียนมายึดอำนาจนั้น เริ่มจากสหรัฐอเมริกา โดยนางเจน ซากี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ แถลงว่ารัฐบาลสหรัฐคัดค้านความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะเปลี่ยนผลการเลือกตั้งเมื่อไม่นานมานี้ หรือจัดขวางการเปลี่ยนผ่านตามระบอบประชาธิปไตย และจะดำเนินการกับ ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบหากการเคลื่อนไหวนี้ไม่มีการย้อนกลับ

ส่วนองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) หลังจากเพิ่งแถลงปรามกองทัพเมียนมาอย่าเลือกเส้นทางรัฐประหาร แต่สุดท้ายห้ามไม่อยู่ โดยนายสเตฟาน ดูจาร์ริก โฆษกนายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการยูเอ็น แถลงประณามการจับกุมนางซู จี ประธานาธิบดีวิน มินต์ และแกนนำฝ่ายรัฐบาลพลเรือนของเมียนมา พร้อมแสดงความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ในประเทศ ภายหลังการประกาศถ่ายโอนอำนาจบริหาร และตุลาการไปยังกองทัพ

จี้ยึด‘ปชต.’-เจรจาอย่างสันติ

“สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นการทำลายความพยายามในการปฏิรูประบอบประชาธิปไตยของเมียนมาอย่างร้ายแรง การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2563 เป็นการมอบอำนาจ อย่างชัดเจนแก่พรรคเอ็นแอลดี และสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนต้องการให้ประเทศ ชาติเดินหน้าไปในเส้นทางการปฏิรูปประชาธิปไตย

นายกูเตร์เรสขอเรียกร้องให้ผู้บัญชาการกองทัพเคารพในความต้องการของประชาชนชาวเมียนมา และยึดมั่นตามบรรทัดฐาน ของประชาธิปไตย แก้ปัญหาความเห็นต่างผ่านการเจรจาอย่างสันติ ผู้นำทุกฝ่ายต้องดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ในการปฏิรูปประชาธิปไตยของเมียนมา ร่วมการหารืออย่างจริงจัง หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง เคารพในสิทธิมนุษยชน และพื้นฐานของเสรีภาพ นายกูเตร์เรสขอยืนยันอย่างแข็งขันว่าสหประชาชาติจะไม่หยุดยั้งการสนับสนุนประชาชนชาวเมียนมาในการแสวงหาประชาธิปไตย สันติภาพ สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม” แถลงการณ์ยูเอ็นระบุ

‘อียู-ญี่ปุ่น’จี้ปล่อยตัวซูจี

นายชาร์ลส์ ไมเคิล ประธานสภายุโรป โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ว่าขอประณามรัฐประหารในเมียนมา เรียกร้องให้กองทัพปล่อยตัวบุคคลที่ถูกคุมขังอย่างผิดกฎหมาย ทุกฝ่ายควรเคารพผลการเลือกตั้ง และจำเป็นต้องฟื้นฟูกระบวนการประชาธิปไตย

ส่วนกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นออกแถลงต่อต้านความเคลื่อนไหวของกองทัพ เมียนมา และเรียกร้องการปล่อยตัวนางซู จี รวมทั้งแกนนำทางการเมืองที่ถูกจับกุม กองทัพเมียนมาต้องฟื้นฟูระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว และรัฐบาลญี่ปุ่นขอแสดงจุดยืนสนับสนุนกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยในเมียนมาอย่างแข็งขัน

ตร.สลาย – เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเข้าสลายการชุมนุมที่หน้าสถานทูตเมียนมา ถ.สาทร โดยผลักดันชาวพม่าและนักกิจกรรมประชาธิปไตยชาวไทย ที่ร่วมกันประท้วงต่อต้านกองทัพพม่าทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 ก.พ.

หลายปฏิกิริยาชาติอาเซียน

สำหรับชาติอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์แถลงแสดงความกังวล และจะติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นทั้งประเทศเพื่อนบ้าน และสมาชิกอาเซียน หวังว่าสถานการณ์จะกลับสู่ปกติโดยเร็ว

เช่นเดียวกับกระทรวงต่างประเทศมาเลเซีย แถลงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในเมียนมาแก้ปัญหาขัดแย้งอย่างสันติ พร้อมย้ำว่ามาเลเซียสนับสนุนการเจรจา เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะระหว่างทางการและชาวเมียนมา

กระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซียร้องขอให้ทุกฝ่ายในเมียนมายึดถือหลักประชาธิปไตย และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ขณะที่ โฆษกประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต ผู้นำฟิลิปปินส์ กล่าวว่าฟิลิปปินส์ให้ความ สำคัญกับความปลอดภัยของประชาชนในเมียนมา ส่วนความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องภายในประเทศ และฟิลิปปินส์จะไม่เข้าไปแทรกแซง ด้านนายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชา แถลงการณ์ว่าเป็นเรื่องภายในของ เมียนมา

ส่วนไทย สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำนครย่างกุ้ง แจ้งว่าสถานเอกอัครราชทูตฯ จะติดตามข่าวสารต่างๆ เพื่อดูแลชุมชนไทยในเมียนมา จึงขอให้ชุมชนไทยคอยรับฟังข่าวสารจากสถานเอกอัครราชทูตฯอย่างใกล้ชิด หากมีประเด็นปัญหาใด ติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ที่ (+951) 222784 และ (+951) 226728 หรือหมายเลขฉุกเฉิน (มือถือ) (+959) 797002801

‘บิ๊กป้อม’ชี้เป็นเรื่องของเขา

วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการชุมนุมหน้าสถานทูตเมียนมา เพื่อประท้วงกองทัพเมียนมารัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนว่าเป็นเรื่องของเขา เป็นเรื่องของม็อบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การแสดงชุมนุมดังกล่าว ส่งสัญญาณไม่เอารัฐประหาร และโยงเหตุการณ์มายังประเทศไทย พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าโยงยังไง ของเรามีเหตุการณ์อะไร มีเหตุการณ์ หรือไม่ มีสถานการณ์อะไรที่เกี่ยวกับการเมืองหรือไม่ ก็ไม่เกี่ยวอะไรเลย เมื่อถามถึงจุดยืนรัฐบาลไทยต่อรัฐประหารในเมียนมา รองนายกฯ กล่าวว่า เดี๋ยวต้องดูก่อน

ต่อข้อถามว่าการประท้วงที่สถานทูตเมียน มาจะกระทบความสัมพันธ์กับไทยหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าไม่ เป็นเรื่องของสถานทูต และเมื่อถามว่าเกิดความกังวลอาจจะมีนักการเมืองเมียนมาหลบหนีเข้ามาไทย พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าเขามาหรือยัง ยังไม่ได้มาเลย มีไหม คุณรู้ไหมและยังไม่มีการพูดคุย หรือกำชับอะไรเจ้าหน้าที่

‘ก้าวไกล’ให้ร่วมกันประณาม

พรรคก้าวไกลออกแถลงการณ์ประณามการรัฐประหารของกองทัพเมียนมา โดยระบุว่าขอเรียกร้องต่อพรรคการเมือง และรัฐบาลในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงประชาคมระหว่างประเทศ และประชาชนผู้รักประชาธิปไตย ดังนี้ 1.เรียกร้องให้ช่วยกันกดดันกองทัพ เมียนมาปล่อยตัวนางซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ, ประธานาธิบดีวิน มินต์, และผู้ที่ถูกกองทัพควบคุมตัวทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข

2.เรียกร้องให้ช่วยกันกดดันกองทัพ เมียนมาไม่ให้ใช้กำลังปราบปรามประชาชนเมียนมาที่ออกมาต่อต้านรัฐประหาร และต้องยุติการปิดกั้นการสื่อสารทุกชนิด ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน 3.เรียกร้องให้พรรคการเมืองและรัฐบาลต่างๆ มีมาตรการคว่ำบาตรคณะรัฐประหารเมียนมา ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ

พรรคก้าวไกลยืนยันว่าการรัฐประหารโดยกองทัพ ไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาทางการเมือง หรือวิธีการแก้ไขข้อบกพร่องในระบอบประชาธิปไตย กองทัพไม่มีสิทธิเหนือเสียงของประชาชนในการอ้างเหตุผลใดๆ เพื่อยึดอำนาจการปกครอง การรัฐประหารมีแต่จะทำให้ประเทศถอยหลังไม่แค่การเมือง แต่รวมถึงเศรษฐกิจ ดังที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ ขอเรียกร้องให้เพื่อนพรรคการเมืองในภูมิภาคที่เคารพในอำนาจสูงสุด และสิทธิเสรีภาพของประชาชน ร่วมกันประณามคณะรัฐประหารในเมียนมา เพื่อให้กลับไปใช้กระบวนการของระบบรัฐสภาแก้ปัญหาทางการเมือง และฟื้นฟูประชาธิปไตยกลับมาโดยเร็วที่สุด

รอคิวติดขัด – บรรยากาศที่ด่านพรมแดนถาวรแม่สอดแห่งที่ 2 สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 อ.แม่สอด จ.ตาก ยังคงมีรถบรรทุกรอคิวข้ามไปรับส่งสินค้าที่ประเทศเมียนมา จนการจราจรติดขัด หลังกองทัพทำรัฐประหาร เมื่อช่วงเช้าวันที่ 1 ก.พ.

ฮือประท้วงหน้าสถานทูต

ส่วนสถานการณ์ที่หน้าสถานทูตเมียนมา ประจำประเทศไทยถนนสาทรเหนือ เขตบางรัก กทม. มีกลุ่มชาวเมียนมาในประเทศไทยเดินทางมาที่หน้าสถานทูต รวมกันชุมนุมประท้วงการรัฐประหารยึดอำนาจในเมียนมา โดย ชาวเมียนมาส่วนใหญ่สวมชุดสีแดง บางส่วน ชู 3 นิ้ว สวมหมวก และหน้ากากอนามัยที่มีสัญลักษณ์พรรคเอ็นแอลดี) พร้อมถือรูป นาง ออง ซาน ซู จี

ต่อมาน.ส.ปนัสยา หรือรุ้ง สิทธิจิร วัฒนกุล พร้อมด้วย นายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ชิวารักษ์ แกนนำนักศึกษา นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีตส.ส. และแพทย์อาสา เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย

จากนั้นเวลา 15.45 น. นายปิยรัฐ จงเทพ ในนามกลุ่มมวลชนอาสา อ่านแถลงการณ์ประณามการรัฐประหารในเมียนมา ในฐานะพลเมืองชาติสมาชิกอาเซียน เราไม่อาจจะนิ่งเฉยได้ต่อการกระทำดังกล่าว ประเทศไทยจะต้องไม่รับรองการทำรัฐประหาร และไม่รับรองรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร

ตร.สลายชุมนุม-เจ็บระนาว

ต่อมาเวลา 17.00 น. สถานการณ์หน้าสถานทูตเริ่มตึงเครียด เมื่อตำรวจชุดควบคุมฝูงชนนำกำลังเข้ามาเพื่อขอคืนพื้นที่จาก กลุ่มผู้ชุมนุมชาวเมียนมาและกลุ่มวีโว่ หลังประกาศให้ยุติการชุมนุมภายใน 30 นาที เนื่องจากฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ. ควบคุมโรค ระหว่างเจ้าหน้าที่เคลื่อนเข้ามาเกิดเสียงดังคล้ายระเบิด 3-4 ครั้ง มีผู้ขว้างปาก้อนอิฐ ท่อนไม้ รั้วเหล็ก และกรวยจราจร ใส่ตำรวจ จนเกิดการปะทะและชุลมุนกัน พักใหญ่ ก่อนแตกตื่นแยกย้ายกันไปคนละทิศคนละทาง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม พร้อมควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุม 3-4 คน ฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกขว้างปาสิ่งของรวมทั้งหมด 10 นาย นำส่งรักษาที่ร.พ.ตำรวจ

ประท้วง – ชาวเมียนมาในประเทศไทย ร่วมกับนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยชาวไทย บุกประท้วงที่หน้าสถานทูตพม่า ในกรุงเทพฯ กรณีกองทัพพม่าทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน และควบคุมตัวนางออง ซาน ซู จี เมื่อวันที่ 1 ก.พ.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน