ย่างกุ้ง-เนปยีดอว์ฮือต้าน
มัณฑะเลย์ใช้อัยการศึก

พม่าประกาศกฎอัยการศึก คุม ‘มัณฑะเลย์’ กองทัพสั่งห้ามชุมนุมประท้วง หลังหลายเมืองโดนฮือต้าน แต่ละที่มีคนหลายพัน ทั้ง‘ย่างกุ้ง-เนปยีดอว์’ส่งรถน้ำฉีดสลายม็อบ 3 นิ้ว

วันที่ 8 ก.พ. เอเอฟพีรายงานสถานการณ์การประท้วงในประเทศพม่าหรือเมียนมาว่า ประชาชนจำนวนมากยังรวมตัวชุมนุมขับไล่กองทัพภายใต้การนำของพล.อ.มิน อ่อง ไหล่ผู้บัญชาการกองทัพสูงสุดของเมียนมา หลังก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ถือเป็นประท้วงใหญ่ทั่วประเทศต่อเนื่องเป็นวันที่สาม หลังกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางซู จี รวมถึงกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่พร้อมใจเดินขบวนต่อต้านกองทัพเมียนมาตั้งแต่วันเสาร์ที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันประชาชนหลากหลายอาชีพ ทั้งคนงานโรงงานสิ่งทอ ข้าราชการพลเรือน และเจ้าหน้าที่รถไฟ นัดรวมตัวหยุดงานเพื่อกดดันให้กองทัพเมียนมาคืนอำนาจกลับสู่ประชาชน

สำหรับการประท้วงในกรุงเนปยีดอว์ มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้น้ำแรงดันสูงฉีดสลายการชุมนุมของผู้ประท้วงหลายพันคนที่เดินไปตามถนนหนทางในเมืองหลวง และมีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 2 คน

สลายม็อบ – เจ้าหน้าที่ตำรวจเมียนมาฉีดน้ำแรงดันสูงสลายม็อบในกรุงเนปยีดอว์ ระหว่างรวมตัวชุมนุมขับไล่กองทัพที่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เบื้องต้นมีผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง เมื่อวันที่ 8 ก.พ.

นายจอว์ จอว์ ชาวบ้านในกรุงเนปยีดอว์ ที่ออกมารวมกลุ่มเดินประท้วงกองทัพ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวของเอเอฟพี ว่า “ตำรวจฉีดน้ำเพื่อเคลียร์ถนน” นับเป็นครั้งแรกในรอบ 3 วันที่เจ้าหน้าที่ตอบโต้กลุ่มผู้ชุมนุมด้วยการฉีดน้ำแรงดันสูง

ที่นครย่างกุ้ง ผู้ประท้วงจำนวนมากกระจายตัวเดินขบวนชูสามนิ้วในถนนสายหลักหลายสายของเมือง ท่ามกลางเสียงตะโกนดังสนั่นว่า “ล้มเผด็จการทหาร” อีกส่วนตะโกนว่า “ปล่อยดอว์ออง ซาน ซู จี และประชาชนที่ถูกจับ” นอกจากนี้ยังมี ป้ายข้อความเรียกร้องต่างๆ อาทิ “ช่วย เมียนมา” และ “เราต้องการประชาธิปไตย” ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงที่นั่งบนหลังรถกระบะพากันร้องเพลงเกี่ยวกับการปฏิวัติและประชาธิปไตย

น.ส.ฮิ่น ตา ซิน คนงานโรงงานสิ่งทอ ผู้ร่วมการประท้วง ให้สัมภาษณ์ว่า “นี่เป็น วันทำงานแต่เราจะไม่ไปทำงานถึงแม้จะถูกหักเงินเดือนก็ตาม” ส่วนนายชิต มิน คนงานก่อสร้างในนครย่างกุ้ง กล่าวว่าความเชื่อมั่นที่มีต่อนางซู จี นั้นมีมากกว่าความกังวลในสถานการณ์การเงินของตนเอง “ผมตกงาน มาเป็นสัปดาห์แล้วเพราะกองทัพก่อรัฐประหาร และผมก็วิตกการเอาชีวิตรอด” ส่วนที่เมือง มัณฑะเลย์ ผู้ประท้วงหลายคนถือรูปภาพของนางซู จี พร้อมกับโบกธงสัญลักษณ์ของพรรคเอ็นแอลดี








Advertisement

ขณะที่สถานีโทรทัศน์เอ็มอาร์ทีวีระบุว่ากองทัพเมียนมาออกแถลงการณ์เตือนห้ามการประท้วง “จะมีการดำเนินการตามกฎหมายผ่านกระบวนการที่มีประสิทธิผลต่อความผิดฐานรบกวน ยับยั้ง และทำลายความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของสาธารณะ และหลักนิติ ธรรม”

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานสถานการณ์ในเมียนมาล่าสุดว่า เมื่อช่วงค่ำวันที่ 8 ก.พ. ทางการเมียนมาประกาศกฎอัยการศึกที่มีผลครอบคลุมในพื้นที่ 7 เขตปกครองท้องถิ่น ในเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของ เมียนมา ภายใต้มาตรการนี้มีการประกาศห้ามการชุมนุมประท้วงหรือการรวมตัวกันเกินกว่า 5 คนขึ้นไป และการบังคับใช้เคอร์ฟิวที่ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 20.00-04.00 น. ซึ่งเป็นประกาศจากกระทรวงบริหารงานทั่วไปของเมียนมา

ในแถลงการณ์ระบุด้วยว่า คำสั่งนี้มีผลบังคับใช้จนกว่าจะมีการประกาศแจ้งต่อไป

“บางคนมีพฤติกรรมน่ากังวลที่สามารถเป็นภัยต่อความปลอดภัยของสาธารณชนและการบังคับใช้กฎหมาย อย่างเช่นพฤติกรรมที่สามารถส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพ ความปลอดภัยของประชาชน การบังคับใช้กฎหมาย และการดำรงอยู่อย่างสงบของหมู่บ้านต่างๆ และอาจทำให้เกิดการจลาจลขึ้นได้ นี่คือเหตุผลของการออกคำสั่งห้ามการชุมนุม การพูดในที่สาธารณะ การประท้วงโดยใช้ยานพาหนะและการชุมนุม” แถลงการณ์ระบุ

ต่อมา พล.อ.มิน อ่อง ไหล่ แถลงออกโทรทัศน์ของทางการ ว่าทหารเคารพและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งอย่างอิสระและเป็นธรรมเป็นสิ่งสำคัญในระบบประชาธิปไตย ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายและความต้องการพื้นฐานของระบอบประชาธิป ไตย ไม่มีองค์กรไหนอยู่เหนือผลประโยชน์ของชาติ และได้จัดตั้งรัฐบาลด้วยรัฐมนตรีที่มีความเหมาะสมแล้ว

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้การระบาดของโควิด-19 เป็นข้อแก้ตัว และไม่อนุญาตการหาเสียงอย่างเป็นธรรม เจ้าหน้าที่การเลือกตั้งล้มเหลวในการทำหน้าที่ด้วยข้อแก้ตัวมากมาย จึงต้องมีการปฏิรูปคณะกรรมการการเลือกตั้ง และเตรียมการป้องกันโควิด-19 ล่วงหน้า ก่อนจัดการเลือกตั้ง และจะส่งมอบอำนาจแก่ผู้ชนะการเลือกตั้ง

ขณะเดียวกัน จะพูดคุยกับทุกประเทศ เชิญชวนต่างประเทศและท้องถิ่นมาลงทุนใน เมียนมา จะดำเนินการอนุมัติโครงการธุรกิจที่รอดำเนินการจากรัฐบาลก่อนหน้า ขณะที่นโยบายต่างประเทศจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนการส่งกลับชาวบังกลาเทศจะดำเนินการต่อไปตามข้อตกลงทวิภาคี

ผบ.ทหารสูงสุดเมียนมากล่าวด้วยว่า จะให้ความสำคัญกับสันติภาพทั่วประเทศในข้อตกลงหยุดยิง จะสร้างโอกาสในการทำงาน และเปิดโรงงานอีกครั้ง และขอให้ประชาชนควรให้ความสำคัญกับความจริงที่ถูกต้อง ไม่ใช่ความรู้สึก

จี้ปล่อยซูจี – ชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ยังคงเดินทางไปประท้วงที่หน้าสถานทูตเมียนมา ประจำประเทศไทย เรียกร้องให้คณะรัฐประหารปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี และคืนประชาธิปไตยให้ประชาชนชาวพม่า เมื่อค่ำวันที่ 8 ก.พ.

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดการชุมนุมเรียกร้องครั้งใหญ่ใน จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา เพื่อคัดค้านการรัฐประหารของกองทัพเมียนมา โดยกลุ่มผู้ชุมนุมหลายพันคนที่เดินเท้าและขี่รถจักรยานยนต์ ถือป้ายตะโกนเรียกร้องไปตามถนนในตัวเมือง ท่าขี้เหล็กจากบริเวณบ้านสันทรายไต ตรงกันข้ามสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 และมุ่งหน้าผ่านตัวเมืองและตลาดไปยังสะพานแห่งที่ 1 ที่อยู่ตรงกันข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวแตกต่างจากช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาที่มีเพียงการรวมตัวกันในช่วงเวลากลางคืนและจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เช่น ปล่อยโคมไฟ ตีเคาะหม้อหรือกระทะ ฯลฯ โดยการชุมนุมเกิดขึ้นท่ามกลางฝนที่ตกลงมาอย่างหนักแต่ประชาชนชาว เมียนมาจำนวนมากต่างก็พากันเดินลงสู่ ท้องถนนยาวประมาณ 1 กิโลเมตร

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าการชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบโดยถือป้ายที่มีภาพของนางออง ซาน และข้อความเรียกร้องให้สนับสนุนการใช้อารยะขัดขืน คัดค้านการยึดอำนาจของกองทัพ ฯลฯ กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งสวมเสื้อกันฝนและกางร่มต่างพากันเดินขบวนพร้อมส่งเสียงตะโกนเป็นระยะๆ พร้อมทั้งชูสามนิ้วเพื่อแสดงสัญลักษณ์ ตลอดกิจกรรมมีสื่อท้องถิ่นของ จ.ท่าขี้เหล็ก ได้ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กและมีประชาชนโดยเฉพาะตามท้องตลาดชูสามนิ้วเพื่อแสดงการสนับสนุน รวมทั้งมีการนำน้ำดื่มและอาหารออกมาแจกจ่ายให้กับผู้ชุมนุมตลอดรายทางอีกด้วย ก่อนที่จะมีการสลายตัวอย่างสงบและนัดชุมนุมหรือทำกิจกรรมกันในช่วงต่างๆ อย่างต่อเนื่องต่อไป ขณะที่ เจ้าหน้าที่รัฐของเมียนมายังไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ในเรื่องดังกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน