เคสจุฬาฯบาน พบติดเชื้อเพิ่ม 2 ยอดป่วยพุ่ง 16 รายแล้ว เร่งสอบสวนโรค ศบค.เผยไทยติดโควิดอีก 201 มหาชัยเจอมากสุด 129 คน ผู้ว่าฯปทุมธานีสั่งปิด 2 ตลาดใหญ่ ‘ตลาดสุชาติ-ตลาดพรพัฒน์’เป็นเวลา 5 วันหนีโควิด หลังพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน ส่วนตลาดสด 22 แห่งในมหาชัยจัดบิ๊กคลีนนิ่ง 3 วันเตรียมพร้อมเปิดขาย 15 ก.พ.นี้ ด้านสธ.เปิดแผน 10 จว.เสี่ยงสูงได้ฉีดวัคซีนโควิดก่อนระยะแรก 2 ล้านโดส ช่วงก.พ.-เม.ย. เน้นบุคลากรทางการแพทย์ จนท.ควบคุมโรค ส่วนระยะ 2 ฉีดให้เสร็จสิ้นปี 64 ตั้งเป้าเดือนละ 10 ล้านโดส

 

ไทยติดโควิดเพิ่มอีก 201 คน

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 11 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า ผู้มีติดเชื้อรายใหม่ 201 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อภายในประเทศ 185 ราย มาจากต่างประเทศ 16 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม หายป่วยเพิ่ม 885 ราย ทำให้ยอดป่วยสะสมรวม 24,104 ราย หายป่วยสะสม 19,799 ราย ยังรักษาอยู่ 4,225 ราย เสียชีวิตสะสม 80 ราย ส่วนระลอกใหม่มีผู้ติดเชื้อสะสม 19,867 ราย หายป่วยสะสม 15,859 ราย เสียชีวิตสะสม 20 ราย ยังรักษาอยู่ 3,988 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 107,849,724 ราย เสียชีวิตสะสม 2,364,864 ราย

ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ของไทยวันนี้มาจาก 1.สมุทรสาคร 129 ราย มาจากระบบบริการ 56 ราย และค้นหาเชิงรุก 73 ราย ยอดสะสม 15,316 ราย 2.กทม. 17 ราย จากระบบบริการ 16 ราย ค้นหาเชิงรุก 1 ราย ยอดสะสม 896 ราย และ 3.จังหวัดอื่นๆ 39 ราย มาจากระบบบริการ 24 ราย ค้นหาเชิงรุก 15 ราย ยอดสะสม 2,839 ราย

พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า สำหรับรายละเอียดผู้ติดเชื้อรายใหม่ พบว่า 1.มาจากระบบเฝ้าระวังและการสอบสวนโรค 96 ราย ได้แก่กทม. 16 ราย สมุทรสาคร 56 ราย ตาก 23 ราย และนนทบุรี 1 ราย 2.คัดกรองเชิงรุกในชุมชน 89 ราย ได้แก่ กทม. 1 ราย ตาก 14 ราย ระยอง 1 ราย และสมุทรสาคร 73 ราย และ3.มาจากต่างประเทศ 16 ราย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 7 ราย สวีเดน 3 ราย ปากีสถาน ซูดาน ญี่ปุ่น รัสเซีย ตุรกี และสหราชอาณาจักร ประเทศละ 1 ราย

โดยจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อช่วง 7-11 ก.พ. ทั้งสิ้น 10 จังหวัด ส่วนจังหวัดที่ไม่พบรายงานผู้ป่วยมาก่อนมี 14 จังหวัด ไม่พบผู้ป่วยรายงานมากกว่า 28 วัน มี 29 จังหวัด ไม่พบ 15-28 วัน มี 16 จังหวัด ไม่พบช่วง 7-14 วัน มี 6 จังหวัด ส่วนที่ยังพบผู้ป่วยในรอบ 6 วันที่ผ่านมามี 12 จังหวัด

เร่งสอบโรคเคสจุฬาฯ

“การติดเชื้อของกทม.จำนวน 14 ราย มาจากเจ้าหน้าที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่จะสอบสวนเพิ่มเติม ตลอดจนติดตามการติดเชื้อในพื้นที่ใกล้เคียงและรอบๆ เพราะยังมีร้านอาหาร ตลาด ชุมชน และมีมาตรการกักกันผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ทำความสะอาดพื้นที่ สอบสวนปัจจัยแพร่ระบาด อย่างก่อนหน้านี้การติดเชื้อมักมาจากภายในสำนักงาน พบกันทุกวันรับประทานอาหารร่วมกัน จากการตรวจสอบสิ่งแวดล้อม การสแกนหน้าของบุคลากรก็ถือ เป็นความเสี่ยงที่ต้องทบทวนกัน และการอาศัยในพื้นที่หอพัก คอนโดฯที่ใกล้ชิดกัน” พญ.อภิสมัยกล่าว

พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า ขณะนี้มีการตรวจหาเชิงรุกในพื้นที่กทม.ไปแล้ว 59,845 ราย โดยมี 2 เขตที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อคือสัมพันธวงศ์ และสะพานสูง และใน 1-2 วันนี้มีเขตที่พบ ผู้ติดเชื้อ 6 เขต คือภาษีเจริญ บางแค บางบอน คลองเตย สาทร และล่าสุดปทุมวันซึ่งต้องเฝ้าระวังเข้มข้น เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ในเมือง มีคนเข้าออกจำนวนมาก ใครไปในพื้นที่มีประชาชนพลุกพล่านขอให้ระมัดระวังตัวเอง

ตรวจภูมิคุ้มกัน 9 ร.พ.มหาชัย

พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า ขณะที่สถานการณ์ในพื้นที่จ.สมุทรสาครตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค.63 ที่มีการรายงานผู้ติดเชื้อครั้งแรก มาตรการต่างๆ ได้ออกมา โดยพื้นที่เป้าหมายการค้นหาเชิงรุกในจ.สมุทรสาครมีทั้งหมด 1,880 แห่ง ซึ่งตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค.63 – 8 ก.พ.มีการค้นหาเชิงรุกไปแล้ว 1,048 แห่ง โดยเป็นการตรวจเชิงรุกโรงงานขนาดใหญ่ที่มีพนักงานเกิน 500 ราย 97 แห่ง โรงงานขนาดกลาง 200-500 ราย 223 แห่ง และโรงงานขนาดเล็ก 50-200 ราย 953 แห่ง และคัดกรองตลาดสด 15 แห่ง ชุมชน 592 แห่ง ทำให้คัดแยกพื้นที่พบผู้ติดเชื้อ 0% น้อยกว่า 10% และมากกว่า 10% ช่วงที่ผ่านมาระดมกำลังคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มโรงงานที่ติดเชื้อมากกว่า 10% ตะลุย คัดกรองใน 9 โรงงาน

“สำหรับโรงงานขนาดใหญ่ที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 10% จำนวน 9แห่งที่ใช้มาตรการ บับเบิลแอนด์ซีลนั้น เราดูแลคนงานทั้งสิ้น 42,424 ราย หวังว่าคนที่อยู่ในโรงงานแล้วไม่มีอาการ สามารถทำงานได้ จะมีภูมิคุ้มกัน โดยมีการคิดมาตรการว่า ในวันที่ 15 ก.พ.จะเริ่มตรวจภูมิคุ้มกันส่วนตัวซึ่งจะเร่งตรวจช่วง 5 วันแรก ให้ได้วันละ 8,000 รายเป็นต้นไป ที่ประชุมศบค.ยังคุยกันว่า ถ้าตรวจแล้วพบภูมิคุ้มกันธรรมชาติแล้ว จะมีมาตรการทบทวนว่าควรจะได้กลับบ้านไปใช้ชีวิตตามปกติหรือไม่ เป็นการพูดคุยหามาตรการผ่อนคลายกับจ.สมุทรสาคร เพื่อให้ทำมาหากิน ใช้ชีวิตตามปกติ แต่ต้องติดตามรายงานวันต่อวัน นี่คือแผนมาตรการที่จะเกิดขึ้นสัปดาห์หน้า แต่หลังมาตรการออกไปจะเป็นไปตามคาดการณ์หรือไม่ ให้ทุกคนกลับบ้านเปิดตลาด ร้านค้า ชุมชนหรือไม่ต้องติดตามสัปดาห์หน้า” พญ.อภิสมัยกล่าว

จุฬาฯติดเชื้อเพิ่ม 2-ยอดพุ่ง 16

วันเดียวกัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกประกาศมาตรการของคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโควิด-19 หลังพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ฉบับที่ 6/2564 ระบุว่า คณะกรรมการโควิด-19 จุฬาฯ มีมาตรการระดมตรวจคัดกรองโรคเชิงรุกกับผู้สัมผัสใกล้ชิดกับบุคลากรกลุ่มดังกล่าว พบว่า มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มเติมอีก 2 คน รวมเป็น 16 คน จึงดำเนินการสอบสวนโรคอย่างเร่งด่วน และดำเนินการส่งผู้ป่วยคนดังกล่าวเข้ารักษาตัวตามมาตรการที่กำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว

อนึ่ง ขณะนี้กรรมการโควิด-19 จุฬาฯ ยืนยันว่ายังควบคุมสถานการณ์ได้ และหากมีความคืบหน้าเพิ่มเติมคณะกรรมการโควิด-19 จุฬาฯ จะแจ้งให้ทราบเป็นระยะต่อไป ผ่านทาง https://www.chula.ac.th/covid-19/

ด้านนพ.วิชาญ ปาวัน ผอ.สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีการติดเชื้อโควิด-19 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า การติดเชื้อที่เกิดขึ้นในกลุ่มนี้ ได้รับรายงานว่าเป็นกลุ่มพนักงานรักษาความปลอดภัยและมีบุคคลที่ใกล้ชิดที่พักอาศัยอยู่ในจุฬานิวาส จากการสอบสวนโรคพบว่าพฤติกรรมการติดเชื้อในกลุ่มพนักงานรักษาความปลอดภัยนี้ มาจากการรับประทานรวมกันเป็นกลุ่ม พบผู้ติดเชื้อในเวลาไล่เลี่ยกัน 8 คน ส่วนอีก 6 คนเป็นกลุ่มคนใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อโควิดครั้งนี้ไม่ได้กระจายและแพร่ไปในกลุ่มบุคลากรอื่น นิสิต หรืออาจารย์ ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อกลุ่มวัยแรงงานอายุ 40 ปี ขึ้นไป และมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 60 คน

‘มหาชัย’พบติดเชื้อเพิ่ม 129

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร รายงานว่า มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 129 ราย โดยพบผู้ติดเชื้อจากการตรวจค้นหาเชิงรุก 73 ราย เป็นคนไทย 11 ราย และคนต่างด้าว 62 ราย พบจากการตรวจหาเชื้อในโรงพยาบาลอีก 56 ราย เป็นคนไทย 30 ราย และคนต่างด้าว 26 ราย ผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด 15,476 ราย เป็นคนไทย 2,535 ราย และคนต่างด้าว 12,941 ราย

ส่วนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เป็นคนไทยที่อยู่ระหว่างการรักษา 371 ราย ต่างด้าว 384 ราย และอยู่ระหว่างการสังเกตอาการอีก 3,334 ราย เป็นคนต่างด้าวทั้งหมด ผู้ที่รักษาหายจากโรงพยาบาลกับผู้ที่เฝ้าสังเกตอาการจนครบกำหนดแล้วไม่พบเชื้อสามารถกลับบ้านได้รวม 11,381 ราย มีผู้เสียชีวิตรวม 6 ราย เป็นคนไทย 5 ราย และต่างด้าว 1 ราย

‘แม่สอด’ติดเชื้อรายใหม่อีก 22

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอแม่สอด จ.ตาก พร้อมทีมงานตรวจโควิดเชิงรุกจากหลายอำเภอชายแดนจ.ตากร่วมกันลงพื้นที่ปูพรมตรวจสารคัดกรองกลุ่มพนักงาน ทั้งคนไทยและแรงงานเมียนมาที่พักอาศัยและทำงานอยู่ในพื้นที่คลังสินค้ารถจักรยานมือสองใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เขตแนวชายแดนอำเภอแม่สอด ซึ่งคลังสินค้าแห่งนี้สร้างติดกับแนวชายแดนไทย-เมียนมา โดยผลการตรวจ คัดกรองครั้งแรกภายในคลังสินค้าแห่งนี้จำนวน 100 คน พบติดเชื้อ 8 ราย และเมื่อสองวันที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ปิดล้อมพื้นที่แล้วตรวจคัดกรองเป็นครั้งที่ 2 จำนวน 318 คน ผลตรวจพบผู้ติดเชื้อ 22 ราย ทำให้คลังสินค้ามือสองชายแดนแม่สอดแห่งนี้มีผู้ติดเชื้อโควิดจุดเดียวรวมแล้ว 30 ราย

หลังการพบผู้ติดเชื้อโควิดภายในพื้นที่คลังสินค้าที่จำหน่ายรถจักรยานมือสองเพิ่มขึ้นและยังกักตัวกลุ่มเสี่ยงรอดูอาการอีกหลายคนนั้น ล่าสุดนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าฯตากมีคำสั่งด่วนสั่งปิดพื้นที่ทั้งหมดภายในคลังสินค้าที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด ซึ่งเป็นศูนย์จำหน่ายสินค้ามือสองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเป็นเวลา 7 วัน พร้อมส่งเจ้าหน้าที่เฝ้าควบคุมพื้นที่ดังกล่าวตลอด 24 ชั่วโมง

22ตลาดสดมหาชัยจัดบิ๊กคลีนนิ่ง

วันเดียวกัน เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมชั้น 2 สำนักงานเทศบาลนครสมุทรสาคร นายชิงชัย บุญประคอง ปลัดเทศบาลนครสมุทรสาคร ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีนครสมุทรสาคร แถลงขอความร่วมมือหยุดประกอบการตลาดชั่วคราว และล้างทำความสะอาดตลาดในเขตเทศบาลนครสมุทรสาครทั้ง 22 แห่ง ระหว่างวันที่ 12-14 ก.พ.2564 โดยมีผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้าในตลาดเทศบาลนครสมุทรสาครเข้าร่วม

นายชิงชัยกล่าวว่า การตรวจคัดกรองเชิงรุกในตลาดทั้งหมดในเขตเทศบาลนครสมุทรสาคร ตั้งแต่วันที่ 3-6 ก.พ.2564 มีผู้ขายและลูกจ้างในตลาดสดทั้ง 22 แห่งของเทศบาลนครสมุทรสาคร เข้ารับการตรวจจำนวน 3,772 ราย พบเชื้อ 21 ราย เป็นคนไทย 15 ราย ต่างด้าว 6 ราย พร้อมขอความร่วมมือผู้ประกอบการในตลาดสดในเขตเทศบาลทั้ง 22 แห่งหยุดดำเนินการซื้อขายระหว่างวันที่ 12-14 ก.พ.นี้ เพื่อรณรงค์ล้างทำความสะอาดตลาดทั้ง 22 ตลาดให้ครบจบใน 3 วัน โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อฉีดพ่นล้างทั้งตลาด บิ๊กคลีนนิ่ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่มาจับจ่ายใช้สอยในตลาดว่าทุกตลาดที่อยู่ในเขตเทศบาลนครสมุทรสาครจะต้องปลอดภัย ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี ผู้ค้าขายทุกคนพร้อมเดินหน้าแก้ปัญหาโควิด-19 ไปด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีอีกหลายมาตรการเป็นสิ่งที่ผู้ค้าขายคิดทำเอง เช่นการติดป้ายหน้าร้านว่าผ่านการตรวจโควิด-19 แล้ว การจัดระเบียบคนเข็นของให้มีชุดเสื้อผ้าที่ถูกสุขลักษณะ เป็นต้น

“หลังจากทำความสะอาดตลาดครบทุกตลาดภายใน 3 วันแล้ว ในวันที่ 15 ก.พ.ที่ตลาดจะเปิดให้กลับมาค้าขายกันตามปกตินั้น จะมีระเบียบให้ทุกตลาดปฏิบัติตามคือ ด้านพ่อค้าแม่ค้าจะต้องมีการลงทะเบียนกับทางเทศบาล มีป้ายชื่อกำกับ ต้องผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และมีผลยืนยันไม่พบเชื้อ ตลอดจนต้องสวมหน้ากากอนามัย/ถุงมือและอุปกรณ์ ป้องกัน, ด้านคนงานก็ต้องลงทะเบียน มีป้ายชื่อกำกับ ต้องผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และมีผลยืนยันไม่พบเชื้อ ต้องสวมหน้ากากอนามัย/ถุงมือและอุปกรณ์ป้องกัน รวมถึงรองเท้าบู๊ต ส่วนผู้ซื้อจะต้องผ่านการคัดกรองก่อนเข้าตลาด ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะจับจ่ายซื้อของในตลาด และต้องเว้นระยะห่างอีกด้วย”

ปทุมฯสั่งปิด 2 ตลาดใหญ่ 5 วัน

วันเดียวกัน นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าฯปทุมธานี ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปทุมธานี ออกคำสั่งปิดสถานที่ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากพบผู้ป่วยยืนยันรายใหม่เป็นแบบกลุ่มก้อน ดังนี้ ตลาดสุชาติ รวมถึงอาคารพาณิชย์โดยรอบ ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ตลาดพรพัฒน์ รวมถึงอาคารพาณิชย์โดยรอบ ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี เป็นเวลา 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 12-16 ก.พ.2564 และห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวที่เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่ดังกล่าวออกจากที่พัก และให้กักตนเอง 14 วัน

พร้อมให้ศปก.อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ร่วมกันดำเนินการทำความสะอาดฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในสถานที่เสี่ยงดังกล่าว เมื่อครบกำหนด 3 วันหากได้ดำเนินการเป็นไปตามหลักเกณฑ์การสอบสวนโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดแล้ว และมีความพร้อมในการเปิดดำเนินการสามารถยื่นแผนการจัดการและมาตรการควบคุมโรคต่อศปก.อำเภอเพื่อขอเปิดดำเนินการต่อไปได้

ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

เปิดแผนฉีดวัคซีน 2 ล้านโดส

วันเดียวกัน นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19 กล่าวถึงการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ว่า กลุ่มเป้าหมายการให้วัคซีนโควิด-19 ในไทย แบ่งเป็น 2 ระยะ คือระยะที่ 1 เมื่อมีวัคซีนปริมาณจำกัด วัตถุประสงค์เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโรค และรักษาระบบสุขภาพของประเทศ กลุ่มเป้าหมายคือ 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน 2.บุคคลที่มีโรคประจำตัวตามที่กำหนดไว้แล้ว 3.ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และ 4.เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย

ระยะที่ 2 เมื่อมีวัคซีนมากขึ้นและเพียงพอ วัตถุประสงค์เพื่อรักษาเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของประเทศ และเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากรและฟื้นฟูให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ กลุ่มเป้าหมาย คือ1.กลุ่มเป้าหมายในระยะที่ 1 2.กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นที่นอกเหนือจากด่านหน้า 3.ผู้ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น พนักงานโรงแรม สถานบันเทิง มัคคุเทศก์ 4.ผู้เดินทางระหว่างประเทศ เช่น นักบิน/ลูกเรือ นักธุรกิจระหว่างประเทศ 5.ประชาชนทั่วไป 6.นักการทูต เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ และ 7.แรงงานในภาคอุตสาหกรรม

ประเดิมฉีด 10 จว.เสี่ยงสูง

ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า พื้นที่เป้าหมายการ ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในระยะเร่งด่วน ช่วงเดือนก.พ.-เม.ย.2564 จำนวน 2 ล้านโดสแรก จะกระจายใน 10 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ สมุทรสาคร กทม. นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม และสมุทรปราการ, พื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้แก่ระยอง, ชลบุรี, จันทบุรี และตราด และพื้นที่ที่มีการพบการติดเชื้อต่อเนื่อง คือ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยจะให้บริการในสถานพยาบาลที่มีแพทย์และห้องฉุกเฉินทั้งรัฐและเอกชน แต่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น โดย 1 คนจะฉีด 2 เข็ม ดังนี้

1.สมุทรสาคร 8.2 แสนโดส จำนวน 4.1 แสนคน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 8,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 6,000 คน ผู้ที่มีโรคประจำตัว 36,000 คน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 1.5 แสนคน และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 2.1 แสนคน

2.กทม. 8 แสนโดส จำนวน 4 แสนคน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 32,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 8,000 คน ผู้ที่มีโรคประจำตัว 1 แสนคน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 1 แสนคน และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 1.6 แสนคน

3.นนทบุรี 26,000 โดส จำนวน 13,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 9,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน 4.ปทุมธานี 26,000 โดส จำนวน 13,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 9,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน 5.สมุทรปราการ 28,000 โดส จำนวน 14,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 9,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 5,000 คน 6.ระยอง 18,000 โดส จำนวน 9,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 5,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน

7.ชลบุรี 28,000 โดส จำนวน 14,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 10,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 8.จันทบุรี 16,000 โดส จำนวน 8,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 6,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 2,000 คน 9.ตราด 12,000 โดส จำนวน 6,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 5,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 1,000 คน และ 10.ตาก 1.6 แสนโดส จำนวน 80,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 8,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 2,000 คน ผู้ที่มีโรคประจำตัว 10,000 คน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 10,000 คน และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 50,000 คน รวม 1,934,000 โดส จำนวน 967,000 คน ส่วนอีก 66,000 โดสสำหรับ 33,000 คนนั้นจะสำรองไว้เผื่อมีพื้นที่อื่นระบาดเกิดขึ้น โดยจะให้กับพื้นที่ที่อยู่โดยรอบพื้นที่ระบาดเพื่อเป็นการสกัดวงการแพร่เชื้อ

สำหรับระยะที่ 2 จำนวน 61 ล้านโดส จะกระจายในช่วงเดือนมิ.ย.และให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 มีอัตราการฉีดในร.พ.ที่แพทย์และห้องฉุกเฉินทั่วประเทศ 1,000 แห่ง แห่งละ 500 โดสต่อวัน จำนวน 20 วันต่อเดือน เฉลี่ย 10 ล้านโดสต่อเดือน แต่หากในอนาคตเมื่อวัคซีนมีความปลอดภัยมากขึ้นอาจพิจารณาขยายการให้บริการในโรงพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ขนาดใหญ่บางแห่งที่มีอุปกรณ์ฟื้นคืนชีพ

พบไม่ติดเชื้อก็อยากฉีด 70%

นพ.โสภณกล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรคได้สำรวจทัศนคติความเห็นของประชาชน เมื่อวันที่ 26 ม.ค. – 8 ก.พ. 2564 จำนวน 2,879 ตัวอย่าง พบว่า เมื่อถามถึงกลุ่มที่ควรได้รับวัคซีน ตอบว่า บุคลากรทางการแพทย์ 70% ผู้สูงอายุ 40% ทุกคน 35% ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 33% และเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ 22 % แต่ทางวิชาการกลุ่มเด็กและหญิงตั้งครรภ์ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย เพราะวัคซีนเป็นการใช้ภาวะฉุกเฉิน ไม่ได้มีการทดลองใน 2 กลุ่มนี้

นอกจากนี้หากไม่มีการติดเชื้อ การป่วยและเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ยังต้องการฉีดวัคซีนมากน้อยแค่ไหน พบว่า ยังต้องการมาก ปานกลางและน้อย รวมประมาณ 70% ไม่ต้องการฉีด 18% และไม่แน่ใจ 12%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน