ศาลให้ประกัน-เงื่อนไข
‘ผู้ว่าฯเพชรบุรี’ยื่นช่วย!
‘พีมูฟ’ปักหลักทำเนียบ
จี้หยุดคุกคาม-ยุติปัญหา

ผู้ว่าฯ เพชรบุรีมอบหมายให้นายอำเภอยื่นประกัน 22 ชาวบ้านบางกลอย ศาลนัดพิจารณาวันหยุดก่อนปล่อยตัวชั่วคราวไม่ต้องใช้หลักประกัน มีเงื่อนไขห้ามกลับเข้าพื้นที่บ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน พร้อมตั้งผู้ใหญ่บ้านห้วยแม่เพรียงคอยกำกับดูแลไม่ให้ฝ่าฝืนคำสั่งศาล กลุ่ม ‘พีมูฟ’ ที่ปักหลักหน้าทำเนียบอ่านแถลงการณ์ ชี้รัฐบาลไร้น้ำยาแก้ไขปัญหา ทำงานมาเกือบ 2 ปี ภายใต้คณะกรรมการที่รัฐบาลแต่งตั้ง มี 1 คณะกรรมการ 9 อนุกรรมการ 35 คณะทำงาน ประชุมทั้งหมดกว่า 50 ครั้ง ทั้งยังละเมิดสิทธิมนุษยชน คุกคาม และจับกุมชาวบ้าน

เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ความคืบหน้ากรณีจับกุมชาวบ้านบางกลอย 22 คน และส่งเข้าเรือนจำเพชรบุรี นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่าตามที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาซึ่งกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ด้วยศาลยุติธรรมมีนโยบายให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีวันหยุด ในวันนี้ (7 มี.ค.) ศาลจังหวัดเพชรบุรี ดำเนินการสอบถามความประสงค์ขอปล่อยชั่วคราวของผู้ต้องหาทั้ง 22 ราย จากนั้นศาลจึงจัดทำคำร้องขอปล่อยชั่วคราวส่งไปให้ผู้ต้องหาทั้งหมดลงลายมือชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ แล้วส่งผ่านสถานที่คุมขังกลับมายังศาลจังหวัดเพชรบุรี

โดยศาลจังหวัดเพชรบุรีพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน มีเงื่อนไขว่า “ห้ามผู้ต้องหากลับเข้าไปในพื้นที่ที่ถูกจับ และพื้นที่อุทยานที่ไม่ได้รับอนุญาต” เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมในระหว่างการพิจารณาคดี และแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เป็นผู้กำกับดูแลเพื่อให้ผู้ต้องหาทั้ง 22 คนปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดโดยเคร่งครัด

โฆษกศาลยุติธรรมกล่าวว่า การใช้วิธีการตั้งผู้กำกับดูแลดังกล่าวแทนการเรียกหลักประกัน เป็นมาตรการใหม่ที่ศาลยุติธรรมนำมาใช้เพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลย เข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักประกันใดๆ ขณะเดียวกันเป็นการลดความเสี่ยงที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยอาจหลบหนีหรือไปก่อความเสียหายในระหว่างที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าการเรียกให้วางหลักประกันเช่นที่ผ่านมา

รายงานข่าวแจ้งว่าสำหรับผู้ยื่นขอประกันตัวคราวนี้เป็นผู้ว่าฯเพชรบุรี ที่มอบหมายให้นายอำเภอเป็นผู้ดำเนินการ

เวลา 17.40 น. วันเดียวกัน ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยจำนวน 22 คน เป็นชาย 15 คน หญิง 7 คน ที่ถูกทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานแจ้งความดำเนินคดีได้รับการปล่อยจากเรือนจำ โดยนายหน่อแอะ มีมิ ลูกชายปู่คออี้นั่งรถเข็น มีหลานชายที่ถูกดำเนินคดีด้วยเข็นออกมา และมีนายนิรันดร์ พงษ์เทพ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านบางกลอย พร้อมญาติพี่น้องชาวกะเหรี่ยงที่ตกเป็นผู้ต้องหาราว 30 คน พร้อมทนายความมารอรับที่หน้าเรือนจำ บรรยากาศเป็นไปด้วยความดีใจทั้งญาติและผู้ถูกดำเนินคดี

นายหน่อแอะ มีมิ กล่าวว่า พอใจในระดับหนึ่งหลังได้รับการปล่อยตัว ยังยืนยันว่าที่ดินที่อยู่ในป่าบางกลอยบนเป็นที่ดินตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายของบรรพบุรุษ ขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยให้ได้กลับเข้าไปอยู่ในที่ดินดั้งเดิม ยืนยันว่าไม่ได้บุกรุกใหม่ แต่สถานที่ที่ไปอยู่นั้นเป็นสถานที่ดั้งเดิม หลังจากที่ออกจากเรือนจำแล้วเบื้องต้นก็ยังไม่รู้จะดำเนินชีวิตอย่างไรต่อ

นางจุไรรัตน์ ปลาดุก อายุ 26 ปี หนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกปล่อยตัวเผยว่า รู้สึกดีใจที่เพราะระหว่างที่อยู่ในเรือนจำคิดถึงลูกมาก เนื่องจากลูกมีอายุแค่ 9 เดือน ยังต้องดื่มน้ำนมแม่อยู่ หลังออกจากเรือนจำจะรีบกลับบ้านหาลูกทันที และยังมีความคิดที่จะกลับไปที่บ้านบางกลอยบน หรือบ้านใจแผ่นดิน เนื่องจากไม่มีที่ดินทำกินในพื้นที่ด้านล่าง หลังจากที่ถูกย้ายลงมาด้านล่างตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีที่ดินให้ทำกินเลย จึงอยากกลับไปทำกินในที่ดินของบรรพบุรุษเช่นเดิม

น.ส.วราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า เงื่อนไขหลังถูกปล่อยตัวนั้นทราบว่าห้ามกลับขึ้นไปในป่าบางกลอยบนที่มีข้อพิพาทอยู่ในขณะนี้ ถ้าฝ่าฝืนกลับขึ้นไปจะถูกปรับครั้งละ 50,000 บาท และอาจจะถูกถอนประกัน นอกจากนั้นยังจะมีเรื่องที่ต้องไปรายงานตัวกับผู้นำชุมชนทุก 12 วัน ส่วนพี่น้องชาวกะเหรี่ยงที่ถูกออกหมายจับอีก 8 คนนั้นจะประสานให้เข้ามามอบตัวกับพนักงานสอบสวนเพื่อที่จะดำเนินการต่อสู้คดีไปพร้อมกันทั้ง 30 ราย

ด้านนายแบละ ต้นน้ำเพชร อายุ 36 ปี หนึ่งในชาวบ้าน 30 คน ที่ถูกออกหมายจับ เปิดเผยว่าหลังจากเจ้าหน้าที่รัฐสนธิกำลังกันขึ้นไปจับกุมชาวบ้านกว่า 80 คน และดำเนินคดีคนที่โดนหมายศาล 30 คน พบว่าตนเป็น 1 ในนั้นที่มีชื่ออยู่ด้วย ทั้งที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่ได้เดินขึ้นไปกับชาวบ้านคนอื่น จู่ๆมีญาติมาบอกว่ามีชื่อถูกหมายจับ รู้สึกตกใจเพราะไม่เคยขึ้นไปแผ้วถาง หรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการอพยพกลับขึ้นไปอยู่ในครั้งนี้ ไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรเลยไม่เข้าใจว่าทำไมถึงถูกหมายจับ ที่ผ่านมาไม่เคยมีเจ้าหน้าที่มาถ่ายรูป หรือมีใครมาถ่ายรูปเลย แต่กลับมีชื่ออยู่ในหมายศาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับนายแบละ ได้รับการชักชวนจากอุทยานให้อพยพลงมาจากถิ่นฐานดั้งเดิมในหมู่บ้านบางกลอยบนตั้งแต่ปี 2539 แต่เขามาช้าเลยไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินจึงต้องอาศัยอยู่กับญาติโดยปลูกบ้านอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ครอบครัวแบละมีด้วยกัน 3 คนคือพ่อแม่และลูก ปกตินายแบละจะลงไปรับจ้างเป็นคนงานก่อสร้างอยู่แถวตัวอำเภอแก่งกระจาน ขณะเดียวกันญาติที่อาศัยอยู่ด้วยอายุเยอะแล้ว จึงแบ่งที่ดินที่ได้รับการจัดสรรให้ทำไร่อยู่ในเนื้อที่ 4 ไร่ ปลูกพืช เช่น มะนาว พริก มะเขือและกล้วย สามารถอยู่รอด จึงไม่ได้อพยพไปพร้อมกับญาติๆ ที่หนีความอดอยากไปอยู่ที่บ้านบางกลอยบน

วันเดียวกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาล กลุ่มพีมูฟ หรือขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และภาคีเซฟบางกลอย อ่านแถลงการณ์ เรื่องกรณีบางกลอย กับความไร้น้ำยาในการแก้ไขปัญหาโดยรัฐบาล ระบุว่าสืบเนื่องจากกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ นำโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่กระทำต่อชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หลังชาวบ้านบางกลอยล่าง 36 ครัวเรือน ประมาณ 70 คน อพยพกลับแผ่นดินเกิด ณ บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา หลังจากนั้นปรากฏภาพการพยายามข่มขู่ คุกคามชาวบ้านอย่างหนัก ทั้งความพยายามที่จะผลักดันชาวบ้านกลับลงมาอีกครั้งผ่าน “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร”

ล่าสุดคือการปฏิบัติการอันป่าเถื่อนเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่ปฏิบัติการสนธิกำลังกันเข้าจับกุมชาวบ้านตามหมายจับ 30 ราย ใน ข้อหา “บุกรุก ก่นสร้าง แผ้วถาง ยึดถือครอบครอง กระทำการใดๆ ให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิมแก่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต” ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 19 (1) ซึ่งจับกุมได้ 22 ราย ทั้งหมดถูกฝากขังที่เรือนจำชั่วคราวเขากลิ้ง จังหวัดเพชรบุรี ทันที นอกจากนั้นยังนำชาวบ้านกลับลงมาจากบางกลอยบน-ใจแผ่นดินทั้งหมด รวม 87 ราย

การปฏิบัติทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้สถาน การณ์ที่มีบันทึกข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหากรณีบางกลอย-ใจแผ่นดิน ลงนามโดยฝ่ายการเมืองและข้าราชการกระทรวงทรัพยากรฯ รวมทั้งผู้แทนจากขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ภาคี #SAVEบางกลอย และผู้แทนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย รวมทั้งแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย จ.เพชรบุรี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ และการตระบัดสัตย์ของรัฐบาลที่ไม่อาจทำให้ประชาชนสามารถเชื่อมั่นในนโยบายในการแก้ไขปัญหาใดได้อีก

นอกจากนั้นนับตั้งแต่ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) เจรจาแก้ปัญหากับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 เป็นเวลากว่า 19 เดือนแห่งความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหา ภายใต้คณะกรรมการที่รัฐบาลแต่งตั้ง ซึ่งมีถึง 1 คณะกรรมการ 9 อนุกรรมการ 35 คณะทำงาน ประชุมทั้งหมดมากกว่า 50 ครั้ง กลับพบว่าสถานการณ์ในหลายพื้นที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นยิ่งกว่ารัฐบาลไหน หลายชุมชนต้องเผชิญกับการถูกคุกคาม จับกุม ดำเนินคดี ไม่ต่ำกว่า 1,000 ครอบครัว นี่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงานบ้านเมืองให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในฐานะ “มนุษย์”

อีกทั้งประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมติดตามความคืบหน้ามาอย่างต่อเนื่องนั้น พบว่ามีความพยายามจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งสมาชิกวุฒิสภาในการคว่ำกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยการโยนให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนนับแสนรายชื่อ ซึ่ง ขปส. เองก็ได้รวบรวมรายชื่อจำนวนมากเพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กลับถูกตีตกโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล

จนถึงวันนี้หมดเวลาในการประวิงเวลาและหลอกลวงประชาชน พวกเราขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และภาคี #SAVEบางกลอย ขอประกาศว่า พวกเราจะไม่ทนต่อการบริหารงานของรัฐบาลที่ไม่เห็นหัวประชาชนอีกต่อไป และจะปักหลักชุมนุม ณ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร จนกว่าจะมีหลักประกันว่าคนจนจะต้องไม่ถูกรังแก รัฐบาลจะแก้ทุกปัญหา ออกจากระบบประชาธิปไตยจอมปลอม

สามัคคีประชาชน สร้างสังคมที่เป็นธรรม ประชาชนคือผู้กำหนดอนาคตตนเอง ขบวน การประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรรม (ขปส.หรือพีมูฟ) และภาคีเซฟบางกลอย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการสอบถามคาดว่าทางกลุ่มจะปักหลักชุมนุมอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล นานประมาณ 1 สัปดาห์

รายงานข่าวระบุว่าการประชุมคณะอนุกรรมการประสานงานเร่งรัดติดตามการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ และขับเคลื่อนนโยบาย 9 ด้าน ที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 มี.ค. เวลา 14.00 น. ห้องประชุมไชยยงค์ ชูชาติ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตร ในฐานะประธานอนุกรรมการ เป็นประธานการประชุม มีวาระติดตามผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรม การชุดต่างๆ อาทิ แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและสินเชื่อ แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสถานะและสิทธิของบุคคล แก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคมรวมทั้งกรณีเร่งด่วน ที่ขปส.เสนอให้การรถไฟแห่งประเทศไทยพิจารณาแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้แก่ชุมชนที่เช่าที่ดินรฟท. ได้ทั่วประเทศจากเดิม 61 ชุมชน

แก้ไขปัญหาติดตามขับเคลื่อนนโยบายรัฐสวัสดิการและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง แก้ไขปัญหาคดีความ กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมรวมทั้งกรณีเร่งด่วน ที่ขปส.เสนอ ให้ยกเลิกคดีที่ไม่เป็นธรรมทั้งปวงหรือนิรโทษกรรม และจัดให้มีกลไกในการแก้ไขปัญหาโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม

แก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง รวมทั้งกรณีเร่งด่วนที่ขปส. เสนอให้รัฐบาลเร่งผลักดันพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ตามแผนปฏิรูปประเทศ ในขณะที่ดำเนินการขอให้รัฐบาลสนับสนุนขับเคลื่อนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยให้คณะกรรมการอำนวยการติดตามและขับเคลื่อนมติคณะรัฐมนตรีทั้ง 2 เรื่องให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ฯลฯ

รวมทั้งขอความเห็นคณะอนุกรรมการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องคุ้มครองพื้นที่ซึ่งอยู่ในกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาลเพื่อไม่ให้ถูกคุกคามจนกว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติ และ ในระหว่างดำเนินการแก้ไขปัญหาขอให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและการพัฒนาของรัฐได้, ออกพระราชกฤษฎีกานิรโทษกรรมคดีความที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ ที่ดิน จากกระบวนการดำเนินการตามนโยบายของรัฐโดยไม่มีการตรวจสอบด้านคดีผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนพื้นป่า คดีความที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวน การแก้ไขปัญหาที่รัฐดำเนินการเป็นไปอย่างล่าช้าจนเกิดคดีความ รวมทั้งยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่เกิดจากกรณีดังกล่าว

ปล่อยตัว – 22 ชาวบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน รวมถึงนายนอแอ๊ะ มีมิ ลูกชายปู่คออี้ ผู้นำจิตวิญญาณกะเหรี่ยงแก่งกระจาน (ภาพเล็ก) ได้รับการปล่อยตัว หลังศาลให้ประกันที่เรือนจำเพชรบุรี เมื่อวันที่ 7 มี.ค.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน