สั่งคุกส่งวงจรปิดพิสูจน์
ปมจนท.เรือนจำคุกคาม
เตรียมไต่สวน‘ไผ่-ไมค์’
‘กวิ้น’อดข้าว-อ่อนแรง

‘ทนายอานนท์’ วิงวอนศาลโปรดคุ้มครองช่วยชีวิต เบิกความไต่สวนเหตุเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะนำตัวไปตรวจโควิดกลางดึก ส่อพฤติกรรมคุกคามหวั่นเกรงได้รับอันตราย เจ้าตัวระบุมีคำเตือนจะมีบุคคลหนึ่งส่งคนมาจัดการตนเองและแกนนำคนอื่นๆ ในคุก ศาลสั่งให้เรือนจำส่งภาพกล้องวงจรปิดช่วงเกิดเหตุมาพิสูจน์ พร้อมนัดไต่สวน ‘ไผ่-ไมค์’ วันที่ 22 มี.ค. ขณะที่ ‘แม่ไผ่-แม่เพนกวิน’ จี้สอบข้อเท็จจริงด่วน ด้านยธ.ตั้งกรรมการสอบ คาดไม่เกิน 7 วันทราบผล ส่วน ‘กวิ้น’ ร่างกายเริ่มอ่อนเพลีย อดข้าวได้ 3 วันแล้ว เรียกร้องสิทธิ์ประกันตัว

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากกรณีกลุ่มแคร์จัดรายการผ่านแอพพลิเคชั่นคลับเฮาส์พูดคุยกับโทนี่ วู้ดซัม หรือนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในหัวข้อศิลปะการเจรจาระหว่างประเทศ โดยในตอนหนึ่งมีผู้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการจับกุมแกนนำนักศึกษาและราษฎร รวมทั้งกรณีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะนำตัวแกนนำไปตรวจโควิดในยามวิกาล และการใช้ความรุนแรงที่เกินสัดส่วนความจำเป็นต่อผู้ชุมนุมทางการเมือง สิ่งเหล่านี้เป็นการละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรงหรือไม่ และส่งผลอย่างไรต่อความเชื่อมั่นที่ต่างชาติมองไทย

นายทักษิณกล่าวตอบว่า การนำตัวผู้ต้องหาออกไปตรวจโควิดตอนกลางคืนเป็นเรื่องที่ผิดปกติ แม้แต่เวลามีผู้ต้องขังป่วยสาหัสก็ต้องรอ 8 โมงเช้า ฉะนั้น กรณีนี้ผิดปกติอย่างชัดเจน ส่วนสิทธิประกันตัวในสากลใช้สิ่งที่เรียกว่าระบบปฏิปักษ์ ที่ฝ่ายโจทก์และจำเลยต้องมาต่อสู้กันต่อหน้าศาลเพื่อให้ศาลตัดสินว่าใครผิดใครถูก โดยจะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ถูกกล่าวหา เป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้กระทำความผิด แต่วันนี้หลังจากที่มีอำนาจเผด็จการ เราหมุนตัวเองกลับไปสู่ระบบกล่าวหา ระบบปักปม โดยสันนิษฐานว่าผิดไว้ก่อน จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าคุณไม่ผิด สิ่งนี้ไม่ได้เป็นที่ยอมรับในสากล และแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยไม่มีหลักการที่เป็นสากล ซึ่งจะส่งผลต่อเวทีการเมืองและการลงทุนระหว่างประเทศด้วย

ที่รัฐสภา น.ส.ทิพอัปสร แก้วมณี ตัวแทนภาคประชาชน พร้อมครอบครัวแกนนำและแนวร่วมราษฎรที่ถูกคุมขังทั้ง 11 คน ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะนำตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองออกนอกแดนคุมขังในยามวิกาล โดยมีนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกกมธ.การกฎหมายฯ รับหนังสือ

น.ส.ทิพอัปสรกล่าวว่า ขอให้กรมราชทัณฑ์เปิดภาพจากกล้องวงจรปิดในห้องขังระหว่างเกิดเหตุ ขอให้กมธ.ไต่สวนข้อเท็จจริง เรียกตัวเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ในชุดสีน้ำเงินไม่ระบุชื่อและสังกัดมาซักถามข้อเท็จจริงให้สิ้นสงสัย และขอให้กมธ.จัดทำรายงานข้อเสนอแนะทบทวนแนวทางปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างเหมาะสม เป็นธรรม ในกรณีการเปลี่ยนย้ายแดนคุมขังโดยไม่มีเหตุอันควร สิทธิในการต่อสู้คดีของผู้ต้องขังที่ควรจะได้อยู่ร่วมในแดนเดียวกันกับผู้ต้องขังในสำนวนคดีเดียวกัน เพื่อให้สามารถปรึกษาข้อต่อสู้ทางคดีได้อย่างเป็นธรรม

ส่วนนายรังสิมันต์กล่าวว่า จากการพูดคุยกันกับกมธ.บางส่วน โดยกมธ.จะลงพื้นที่ในเรือนจำและนำข้อเรียกร้องไปหารือกับเรือนจำ ว่ามีมาตรฐานอย่างไร ตนเคยมีประสบการณ์อยู่เรือนจำ พอจะทราบมาตรการการควบคุมต่างๆ ยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ถูกต้อง ไม่ใช่มาตรฐานที่ทำในเรือนจำ และขอยืนยันว่า ทั้ง 11 คนมีสิทธิ์ที่จะได้รับการประกันตัว ออกมาต่อสู้คดีข้างนอก

ตรวจกล้องคุก – ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตอารีย์รัตน์ เลขานุการรมว.ยุติธรรม ตรวจกล้องวงจรปิดภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร พร้อมสั่งติดตั้งกล้องเพิ่มในมุมอับ หลังจากนายอานนท์ นำภา เขียนจดหมายระบุมีเจ้าหน้าที่จะพาไปตรวจโควิดยามวิกาล เมื่อวันที่ 17 มี.ค.

ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตอารีย์รัตน์ เลขานุการรมว.ยุติธรรม ไปตรวจเรือนจำ และเปิดเผยว่ากล้องวงจรปิดครอบคลุม 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังมีบางส่วนที่เป็นมุมอับ จึงสั่งให้ติดตั้งเพิ่ม ส่วนแกนนำ ผู้ชุมนุมนั้น ทุกคนดูปกติ ร่างกายแข็งแรงดี ส่วนนายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ชิวารักษ์ ทราบว่าเริ่มอดอาหาร แต่ดื่มนม น้ำหวาน และเกลือแร่แทน ได้เข้าไปพูดคุยแล้วถือว่าร่างกายยังแข็งแรงดี พูดคุยได้ตามปกติ โดยกำชับให้ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ดูแล และเตรียมความพร้อมของแพทย์หากมีอาการเจ็บป่วย

ที่กระทรวงยุติธรรม นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ แม่นายพริษฐ์ พร้อมด้วย น.ส.คอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน นางพริ้ม บุญภัทรรักษา แม่นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ยื่นหนังสือขอให้ตรวจสอบ ข้อเท็จจริงในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ โดยมีนายวัลลภ นาคบัว รองปลัดและโฆษกกระทรวงยุติธรรม เป็นตัวแทนรับหนังสือ

นางพริ้มกล่าวว่า การที่เจ้าหน้าที่เรือนจำเข้าไปในเวลาวิกาลไม่ควรเกิดขึ้น และต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยต้องไม่ให้คนภายในเรือนจำมาร่วมด้วย เพราะถ้ามีคนในเรือนจำมาร่วมด้วย เราไม่ไว้วางใจที่เจ้าหน้าที่เข้าไปยามวิกาล เป็นการกดดันทางจิตวิทยา และลูกๆ ของเราต้องมีสิทธิ์ในการต่อสู้ให้ถึง ที่สุด วันนี้พวกเขาเป็นแค่ผู้ถูกกล่าวหา ยังไม่มีความผิดจนศาลจะตัดสินถึงที่สุด

ขณะที่นางสุรีรัตน์กล่าวว่าตั้งแต่ลูกชายถูกจับ ยังไม่เคยได้รับการอนุญาตให้เข้าเยี่ยมเลย มีผู้รู้หลายท่านบอกว่าจริงๆ แล้วมีสิทธิ์เข้าเยี่ยม การเยี่ยมผ่านห้องเยี่ยม คุยกันผ่านสายโทรศัพท์คงไม่ทำให้ติดโควิด

ด้านนายวัลลภกล่าวว่าได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการประมวลจริยธรรม เพื่อสอบสวนถึงเรื่องนี้ ส่วนการเร่งด่วนในการตรวจโควิดยามวิกาลหรือไม่ เรื่องนี้จะเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง ต้องสอบสวนผู้ปฏิบัติ และหากต้องสืบสวนเชิงลึก จะให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ามาร่วมตรวจสอบด้วย และเราไม่ได้ให้ผู้ที่ร่วมปฏิบัติงานและมีส่วนเกี่ยวข้องมาร่วมเป็นกรรมการสอบสวน ขอให้สบายใจได้

นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม แถลงว่ากระทรวงยุติธรรมไม่ได้นิ่งนอนใจ แม้ว่ากรมราชทัณฑ์จะชี้แจงไปแล้ว โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อประมวลข้อเท็จจริง เมื่อผลการสอบสวนออกมาเป็นอย่างไร เราจะเร่งชี้แจงให้ทราบ กระบวนการสอบสวนไม่น่าจะเกิน 7 วันน่าจะได้ข้อสรุปความเป็นจริง

ที่ศาลอาญา ศาลไต่สวนกรณีนายอานนท์ นำภา เขียนจดหมายคำร้องเล่าเหตุการณ์เกรงจะได้รับอันตรายถูกทำร้ายในเรือนจำ โดย เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เบิกตัวนายอานนท์จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาศาล และศาลเรียก ผบก.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาไต่สวนด้วย โดยนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความกล่าวว่าการที่นายอานนท์เขียนคำร้องอ้างถึงอันตรายยื่นต่อศาล เป็นการเขียนในฐานะจำเลยของศาล จึงขอให้ศาลช่วย

นายกฤษฎางค์กล่าวต่อว่า แต่โดยความ คิดเห็นส่วนตัวมองว่าถ้าทำไม่ถูกต้องตามระเบียบ ศาลก็จะมีคำสั่งประการใดประการหนึ่งให้ดูแลจำเลยให้ดีขึ้น แต่ถ้าศาลเห็นว่าเรือนจำทำถูกต้องแล้ว คำร้องของนายอานนท์ฟังไม่ขึ้นก็ตกไป ส่วนนายพริษฐ์ขณะนี้ อดอาหารเป็นวันที่สามแล้ว สภาพร่างกาย ค่อนข้างอ่อนเพลียไม่มีแรง

ต่อมานายกฤษฎางค์เปิดเผยหลังศาลไต่สวนในช่วงเช้าว่า นายอานนท์ขอให้ทนายความไปขอเทปกล้องวงจรปิดในเรือนจำแดน 2 ทั้งหมด และห้องขังขณะเกิดเหตุ ตอนนี้กรมราชทัณฑ์ยังไม่ส่งให้ เราขอให้ศาลเรียกภาพกล้องวงจรปิด เพราะกังวลว่าอาจจะถูกทำลาย ลบทิ้ง หรือทำให้เสื่อมค่าไป นายอานนท์ยืนยันต่อศาลขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งหมดซึ่งเป็นนักโทษการเมืองเกรงจะได้รับอันตรายถึงชีวิต จึงพยายามไปยืนหน้ากล้องวงจรปิดขณะเกิดเหตุ ดังนั้นภาพในกล้องวงจรปิดเห็นแน่นอน

ทนายจำเลยกล่าวต่อว่า นายอานนท์เบิกความต่อศาลว่ามีคำเตือนมาก่อนแล้วว่ามีบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งนายอานนท์เอ่ยเป็นชื่อเล่นในห้องพิจารณา ว่าเขาจะส่งคนมาจัดการนายอานนท์และคนอื่นๆ ที่เรือนจำ นายอานนท์ยังยกตัวอย่างผู้ต้องหาคดีการเมืองหลายคนที่เสียชีวิต ขอให้ศาลได้โปรดคุ้มครองเพราะมีตัวอย่างมาแล้ว นอกจากนี้ในวันจันทร์ที่ 22 มี.ค. ศาล นัดไต่สวนนายจตุภัทร์ หรือไผ่ บุญภัทรรักษา และนายภาณุพงศ์ หรือไมค์ จาดนอก เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย เพราะอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย

ผู้สื่อข่าวถามถึงความคาดหวังในมาตรการคุ้มครองความปลอดภัย นายกฤษฎางค์กล่าวว่าจำเลยคงทำอะไรไม่ได้ นายอานนท์แถลงขอให้ศาลช่วยชีวิต เนื่องจากเป็นผู้ถูกคุมขังตามหมายศาล ศาลก็พูดชัดเจนดูแลเหมือนกันทุกคน เห็นความจำเป็นก็ไต่สวนเพื่อปกป้องดูแล ศาลกังวลถึงความปลอดภัยของผู้ต้องขัง หรือจำเลย

ต่อข้อถามว่ากรณี้เคยมีตัวอย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่ว่าจะคุ้มครองดูแลอย่างไร นายกฤษฎางค์กล่าวว่านึกไม่ออก ท่านจะมีมาตรการดำเนินการหลังจากฟังแล้ว ไม่เคยมีตัวอย่าง ส่วนใหญ่มักจะตายก่อนที่ศาลจะทราบ

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีเรือนจำอ้างเป็นการตรวจโควิด แล้วนายอานนท์เบิกความอย่างไร นายกฤษฎางค์กล่าวว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าเวลา 21.30 น. ไม่มีการพูดว่าจะตรวจโควิด แต่จะแยกไมค์กับไผ่ไปขังไว้ที่อื่น ต่อมาเวลา 23.30 น. เจ้าหน้าที่บอกจะมาตรวจโควิด นายอานนท์บอกจริงๆ ไม่เคยมีการตรวจโควิดเลย เพราะนายอานนท์เข้าออกศาลหลายครั้ง เนื่องจากเป็นทนายและจำเลยในคดีอื่น จะถูกกักในแดนกักโรค ตรวจอุณหภูมิ กักครบ 14 วัน ตรวจโควิดแล้วแยกไปแดนอื่น ไม่เคยมีการตรวจกลางคืน และหลังเวลา 18.00 น. ต้องใส่กุญแจนอนแล้ว

ต่อข้อถามว่าต้องการให้จัดคนมาดูแลเป็นพิเศษหรือไม่ ทนายจำเลยกล่าวว่าไม่มี เราไม่เรียกร้อง ขอให้เป็นมาตรการปกติ อยู่สงบสุขเท่ากับคนอื่น อย่าหาคนมาทำร้าย เป็นหน้าที่ตามพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ อยู่แล้ว มีหน้าที่คุ้มครองดูแล ซึ่งทุกคนกังวลเรื่องถูกทำร้าย ส่วนนายพริษฐ์ก็อ่อนแรงจากการอดอาหาร

ต่อมาช่วงเย็น นายกฤษฎางค์ ทนายความเปิดเผยหลังเสร็จสิ้นไต่สวนนายอานนท์ว่า รักษาการผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ผู้รับผิดชอบกรณีนี้มาไต่สวน ข้อเท็จจริงในคดียัง ไม่จบ มีผู้เกี่ยวข้องอีกหลายราย ศาลนัดไต่สวนต่อวันที่ 22 มี.ค. เวลา 09.00 น. เพื่อไต่สวนรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์, นายจตุภัทร์ หรือไผ่ และนายภาณุพงศ์ หรือไมค์ พร้อมเรียกให้ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ส่งภาพจากกล้องวงจรปิด ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 15 มี.ค. ถึงเวลา 04.00 น. วันที่ 16 มี.ค. ช่วงเวลาเกิดเหตุ ทางผบ.เรือนจำรับปากจะนำมาส่งศาล

ผู้สื่อข่าวถามถึงการเบิกความของรักษาการผู้บัญชาการเรือนจำ นายกฤษฎางค์กล่าวว่า ผบ.เรือนจำ เบิกความโดยสรุปไปตรวจกลางดึกจริงตามที่นายอานนท์แถลง แต่เป็นการไปตรวจโควิด เนื่องจากไผ่ ไมค์ และนายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ มาจากเรือนจำพิเศษธนบุรี อยู่ในเขตความเสี่ยงสูงติดกับ จ.สมุทรสาคร

ส่วนที่หน้าศาลอาญา นายชินวัตร หรือไบรท์ จันทร์กระจ่าง แกนนำเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี นำมวลชนจัดกิจกรรมส่องไฟฉายเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร 8 คน พร้อมอ่านข้อความที่นายพริษฐ์แถลงต่อศาล ประกาศอดข้าวเรียกร้องสิทธิ์ประกันตัว ก่อนสลายตัวและนัดจัดกิจกรรมอีกในวันที่ 19 มี.ค.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน