รมต.ท็อปสั่งจับเรือทัวร์ดำน้ำ กลางทะเลเกาะล้าน พัทยา หลังนักท่องเที่ยวโพสต์- แชร์ภาพหยิบเคลื่อนย้ายปะการังกันสนุก สนาน ผอ.ทรัพยากรทะเลชายฝั่งที่ 2 นำเจ้าหน้าที่บุกรวบคนดูแลเรือ-นักท่องเที่ยวกว่า 20 คน ได้คาหาดตายาย ห่างฝั่ง 200 เมตร ดำเนินคดีหลายความผิด โทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ปรับ 1 ล้าน ส่วนผู้แชร์ โพสต์ สั่งฟันผิดพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เผยมี 23 บริษัทในพัทยาทำธุรกิจนี้ พบย้ายปะการังมาตั้ง 70 กอง กว่า 4 ไร่ ให้ชม หน้าหาดตายาย และเกาะสาก

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 19 มี.ค. นายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผอ.สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ ปัญหาการประกอบการเรือการพาเดินชม ท่องเที่ยวใต้ทะเล หรือ ซีวอล์กเกอร์ บริเวณอ่าวหน้าชุมชนบ้านเกาะล้าน หมู่ 7 ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี หลังได้รับคำสั่งจาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่มีความห่วงใย ผลกระทบจากการประกอบกิจกรรมนี้ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรในแนวปะการังมาก โดยเฉพาะกรณีที่มีนักท่องเที่ยวโพสต์ภาพผ่านสื่อโซเชี่ยล เคลื่อนย้ายปะการัง ดอกไม้ทะเล และให้อาหารสัตว์น้ำ ซึ่งถือเป็นความผิดตามกฎหมาย

จากการตรวจสอบพบเรือท่องเที่ยวขนาด 2 ชั้น ชื่อ ธ.ป๊อปอาย กำลังพานักท่องเที่ยวจำนวนกว่า 20 คน สวมใส่อุปกรณ์ครอบศีรษะ (สน็อกเกิ้ล) พาเดินชมแนวปะการังใต้ทะเล บริเวณหน้าหาดตายาย ชุมชนบ้านเกาะล้าน ห่างจากฝั่ง 200 เมตร จึงแสดงตัวเข้าจับกุม พร้อมนำตัวผู้ต้องหาซึ่งแสดงตนเป็นผู้ดูแล และผู้นำพา ส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองพัทยา ดำเนินคดีตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครอง สัตว์ป่า พ.ศ.2526, พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 และประกาศ ทส. ตามความผิดคือ 1.กระทำการในพื้นที่แนวปะการัง เป็นความผิดตามมาตรา 4 ประกอบมาตรา 12 ตามบทลงโทษในมาตรา 89 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 2.การประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามมาตรา 3 ประกอบมาตรา 17 ตามบทลงโทษตามมาตรา 27 โดยมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่ในส่วนของนักท่องเที่ยวที่มีการแชร์ภาพลงในสื่อโซเชี่ยลนั้น ทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งความลงบันทึกไว้เป็นหลักฐานเพื่อดำเนินคดีตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ซึ่งการเคลื่อนย้ายหมายถึงการ “ล่า” หรือทำอันตรายด้วยประการอื่นใด แก่สัตว์ป่าที่ไม่มีเจ้าของและอยู่อย่างอิสระ เป็นความผิดตามมาตรา 12 ประกอบมาตรา 89 หรือมาตรา 29 ที่กระทำต่อสัตว์ป่าคุ้มครอง มีโทษทั้งจำและปรับ

นายภุชงค์กล่าวว่า กิจกรรมการเดินท่องเที่ยว ใต้ทะเล หรือ ซีวอล์กเกอร์ มีมานานแล้ว แต่ยังไม่มีการกำหนดโซนพื้นที่และได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของทส. และพื้นที่ท่องเที่ยวต่างๆ เรื่องของการกำหนดโซนนิ่งการท่องเที่ยวใต้ทะเลเพื่อลดความเสียหายต่อแนวปะการัง ตามธรรมชาติ รวมถึงกรอบการปฏิบัติ กติกาคำสั่งห้าม อุปกรณ์การดำน้ำ ผู้ชำนาญการ ที่จะต้องมีประจำเรือ และมาตรฐานด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ซึ่งจะมีการประชุมหาข้อสรุปในวันที่ 9 เม.ย.นี้ที่เมืองพัทยา

นายภุชงค์กล่าวต่อว่า เมืองพัทยาถือเป็นพื้นที่ หนึ่งที่มีการประกอบกิจการเรือ ซีวอล์กเกอร์ เป็นจำนวนมาก หรือกว่า 23 รายที่นำนัก ท่องเที่ยวเดินชมแนวปะการังใต้ทะเล ขณะที่ชุมชนบ้านเกาะล้านนั้นจากการสำรวจพบว่ามีแนวปะการังในระดับสมบูรณ์ปานกลาง ในพื้นที่กว่า 700 ไร่ ตลอดรอบแนวเกาะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปะการังโขด ปะการังกิ่ง และดอกไม้ทะเล แต่ที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้แอบเคลื่อนย้ายแนวปะการังมาจัดเรียงไว้เป็นกองเพื่อให้นักท่องเที่ยวชมมากกว่า 70 กอง มีพื้นที่กองละประมาณ 70 ตารางเมตร รวมกว่า 4 ไร่ อาทิ หน้าหาดตายาย หาดทองหลวง หรือเกาะสาก ซึ่งนายวราวุธ รมว.ทส. ให้ความ สำคัญและห่วงใยมาก จากนี้จะเร่งพิจารณาและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังต่อไป

ทำร้ายทะเล – ภาพกลุ่มทัวร์เดินใต้ทะเล ‘ซีวอล์กเกอร์’ ที่กำลังนิยมในพื้นที่จ.ชลบุรี ถูกจนท.ทส.ไล่จับดำเนินคดี เนื่องจากทำลายทรัพยากรธรรมชาติใต้น้ำ โดยลูกทัวร์ที่ร่วมกิจกรรมและโพสต์ภาพมีความผิดด้วย

 








Advertisement

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน