ถูกซิว112อีกคน
ยธ.แจงย้ายกวิ้น
ไปกักขังที่ปทุม
‘ตู่’ส่งคนแจ้งจับ
โพสต์ขู่ลูกแฝด

ฮือชุมนุมอีกวันนี้ กลุ่มธรรมศาสตร์ฯ นัดแล้ว แต่ยังอุบสถานที่ ยันมีเวทีมีปราศรัย และรักษาความปลอดภัยให้ผู้ร่วมชุมนุม ตร.ตามรวบ‘จัสติน’ข้อหาความผิดมาตรา 112 กรณีป้ายสีพระบรมฉายาลักษณ์ ตร.ยื่นฝากขังทันที ศาลไม่อนุญาตให้ประกัน ต้องนอนคุกอีกคน ยธ.แจงย้ายเพนกวินไปอยู่คุกที่ปทุมฯ เพราะต้องทำตามคำพิพากษาคดีหมิ่นศาล มช.เดือด อจ.-เจ้าหน้าที่คณะวิจิตรศิลป์ไล่เก็บงานแสดงศิลปะของน.ศ.ใส่ถุงดำ จน‘อาจารย์ทัศนัย’ต้องออกมาปกป้องเสรีภาพการแสดงออกของนักศึกษา ไล่บี้จนต้องเดินหนีไป และได้รับเสียงชื่นชมสนั่นโซเชี่ยล สุดท้ายบานปลายฝ่ายน.ศ.ขึ้นโรงพักแจ้งจับรูด ด้านคณบดีโต้ ระบุเป็นงานที่หมิ่นเหม่ต้องการละเมิดกฎหมายจึงต้องให้เก็บแล้วให้มารับคืนภายหลัง

จับ‘จัสติน’ทำลายบรมฉายาลักษณ์

เมื่อเวลา 22.15 น. วันที่ 22 มี.ค. มีรายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่ควบคุมตัว นายชูเกียรติ แสงวงค์ หรือจัสติน อายุ 30 ปี ชาว จ.สมุทร ปราการ แกนนำแนวร่วมกลุ่มคณะราษฎร เข้ามาสอบปากคำที่สน.ห้วยขวาง หลังจากถูกจับกุมข้อหามาตรา 112 ใน อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ โดยมีพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม เดินทางเข้าสอบปากคำ พร้อมพ.ต.อ.ยิ่งยศ สุวรรณโณ ผกก.สน.ห้วยขวาง

ต่อมาเมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 23 มี.ค. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พ.ต.ท.พิษณุ เกิดทอง พนักงานสอบสวนสน.ชนะสงคราม ยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งแรก นายชูเกียรติ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 519/2564 คดีทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ ที่สนามหลวง ซึ่งศาลดำเนินการสอบถามผู้ต้องหาและไต่สวนพยานหลักฐานผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท

คำร้องฝากขังระบุพฤติการณ์ว่า สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564 เวลาประมาณ 18.00 น. นายชูเกียรติ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนประมาณ 600 คน มารวมตัวกันที่บริเวณหน้าพระแม่ธรณีบีบมวยผม ข้างศาลฎีกา ถ.ราชดำเนินใน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงและพูดปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล

ศาลอาญาออกหมายจับตามเสนอ

ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. กลุ่ม ผู้ชุมนุมเริ่มมีการฉีดสีสเปรย์ที่ตู้คอนเทนเนอร์และเริ่มใช้เชือกผูกตู้คอนเทนเนอร์และช่วยกันดึงตู้คอนเทนเนอร์ลงเพื่อเปิดทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงประกาศห้ามการกระทำดังกล่าวของกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นระยะๆ พร้อมกับได้ประกาศแจ้งให้

จากกล้องวงจรปิด ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ ปรากฏภาพขณะที่นายชูเกียรติ แสงวงศ์ ผู้ต้องหาในคดีนี้ ปีนขึ้นไปที่บริเวณพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 10 ซึ่งติดตั้งอยู่ที่บริเวณต้านหน้ารั้วของศาลฎีกา ถนนราชดำเนินใน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยผู้ต้องหานำกระดาษที่เขียนข้อความติดไว้ที่บริเวณพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าว โดยที่กล้องวงจรปิดสามารถบันทึกภาพของผู้ต้องหาที่กระทำผิดไว้ได้ นอกจากนี้ยังฉีดสีสเปรย์และสาดน้ำ ที่พระบรมฉายาลักษณ์จนได้รับความเสีย หายด้วย

เวลาต่อมาพบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วน ได้จุดไฟเผาที่พระบรมฉายาลักษณ์ จนเกิดประกายไฟ แต่มีผู้ชุมนุมบางส่วนสามารถช่วยกันดับไฟไว้ได้ทัน หลังจากก่อเหตุแล้ว นายชูเกียรติ ผู้ต้องหากับพวกได้หลบหนีไป ต่อมาพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยาน หลักฐานขอศาลออกหมายจับ ซึ่งได้ออกหมายจับศาลอาญาที่ 519/2564 ลงวันที่ 22 มี.ค.2564 กระทั่งเวลา 19.40 น. วันที่ 22 มี.ค.2564 ตำรวจสน.ชนะสงคราม สามารถจับกุมตัวตามหมายจับได้ จึงควบคุมตัวไปดำเนินคดีตามกฎหมาย

สนิทสนม – ภาพวงจรปิดชายชุดดำกลุ่มปกป้องสถาบันเดินตัดถนนไปมา ทักทายตำรวจอย่างสนิทสนม ระหว่างชุมนุมที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ เมื่อ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยกลุ่มดังกล่าวทำร้ายคนเห็นต่างด้วย

โดนข้อหา112 -ตร.ค้านประกันตัว

เบื้องต้นพนักงานสอบสวนสน.ชนะ สงคราม จึงแจ้งข้อกล่าวหาว่าฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9 ร่วมกันทำร้ายร่างกาย เจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 112, 138 วรรคแรก, 138 วรรคสอง, 140 วรรคแรก, 215, 216, 295, 296 และ ตามพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 ชั้นสอบสวน ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอด ข้อกล่าวหา

ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนยังระบุว่า ได้สอบสวนและควบคุมตัวผู้ต้องหามาโดยตลอด จะครบกำหนดควบคุมตัว 48 ชั่วโมงแล้ว แต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น จะต้องสอบพยานอีก 11 ปาก, รอผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของเจ้าพนักงานตำรวจและพยานที่ได้รับบาดเจ็บ, รอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือ และประวัติการต้องโทษของ ผู้ต้องหา จึงขออนุญาตศาลฝากขังผู้ต้องหานี้ไว้ในระหว่างการสอบสวน มีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม-วันที่ 3 เมษายน 2564

ทั้งนี้ หากผู้ต้องหายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว พนักงานสอบสวนขอคัดค้านการปล่อยชั่วคราว เนื่องจากผู้ต้องหามีพฤติการณ์ร่วมกันชุมนุมแล้วก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และทำให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหายจำนวนมาก หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราว เกรงว่าจะไปร่วมกันชุมนุมแล้วก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองและทำให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหายในลักษณะเดียวกันอีก ประกอบกับผู้ต้องหาเคยกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้วหลายครั้ง โดยผู้ต้องหาเคยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในท้องที่สน.ลุมพินี ตามคดีอาญาที่ 1092/2563, กระทำความผิด มาตรา 112 ท้องที่ สน.ท่าพระ ซึ่งได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาและ คดีอยู่ระหว่างการสอบสวน, กระทำผิดมาตรา 112 ท้องที่สน.บุปผาราม และยังกระทำผิดมาตรา 116, 225 และความผิดเกี่ยวกับโบราณสถานในท้องที่สน.ชนะสงคราม ซึ่งพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลในคดีหมายเลขดำที่ อ.287/2564, อ.5399/2564 ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปจะเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันอีก

ศาลพิจารณาคำร้องแล้วอนุญาตให้ฝาก ขังได้

ย้ายที่คุมขังเพนกวินคดีหมิ่นศาล

วันเดียวกัน ว่าที่ร้อยตรีธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่า กรณีศาลสั่งกักขังนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน แกนนำกลุ่มราษฎร หลังจากศาลอาญาสั่งกักขังในความผิดฐานละเมิดศาลเป็นเวลา 15 วัน ตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ จะมีการส่งตัวผู้ต้องขังไปกักขังยังสถานกักขัง ที่ใกล้กรุงเทพมหานครมากที่สุด คือสถานกักขังจังหวัดปทุมธานี โดยจะกักขังเป็นเวลา 15 วัน หากครบกำหนดก็จะส่งตัวกลับไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งตามขั้นตอนการส่งตัวจะมีการตรวจร่างกายตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข เบื้องต้นพบว่าร่างกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ส่วนกรณีนายพริษฐ์อ้างว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ขัดขวางไม่ให้มารดาส่งหนังสือเรียนเข้าไปให้ในเรือนจำ เชื่อว่าอาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากปกติทางเรือนจำอนุญาตให้ญาติฝากเงิน, อาหาร และหนังสือ ให้ผู้ต้องขังได้ แต่ต้องผ่านมาตรการดูแลความปลอดภัยตามระเบียบของเรือนจำ

ยื่นประกันตัว-ศาลไม่อนุญาต

เลขาฯ รมว.ยุติธรรมยังกล่าวถึงกรณีกรมราชทัณฑ์ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงประเด็นที่พบจดหมายของแกนนำกลุ่มราษฎรถูกส่งให้บุคคลภายนอก รวมถึงปรากฏข้อความเผยแพร่บนเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวของผู้ต้องขัง โดยยืนยันว่าจดหมายที่ปรากฏดังกล่าวน่าจะเขียนที่ศาล ไม่ได้เขียนออกมาจากเรือนจำแน่นอน เพราะขณะถูกคุมขังจะไม่สามารถใช้เครื่องมือสื่อสารทุกชนิดได้เพราะเป็นข้อห้ามเด็ดขาด แต่ทางเรือนจำยังคงอนุญาตให้เขียนจดหมายส่งถึงญาติได้แต่ต้องส่งผ่านเจ้าหน้าที่ซึ่งก็จะมีช่องทางเข้าออกอยู่แล้ว

ทวิตเตอร์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแจ้งว่า เวลา 09.30 น. ที่ศาลอาญารัชดา ทนายความยื่นประกันตัวนายพริษฐ์ในคดีละเมิดอำนาจศาลจากกรณีแถลงต่อศาลเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 64 โดยวางหลักทรัพย์ 20,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

คดีนี้ศาลมีคำพิพากษาให้กักขังเป็นเวลา 15 วัน ขณะนี้ถูกกักขังอยู่ที่สถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานี

ศาลพิจารณาเเล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องเนื่องจากเห็นว่าจำเลยถูกควบคุมตัวในคดีอื่นอยู่แล้วรวม 2 คดี การปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้ไม่เป็นเหตุให้ได้รับการปล่อยตัวในคดีอื่น อีกทั้งผู้ประกันไม่มีความเกี่ยวข้องกับจำเลยเเต่อย่างใด ยกคำร้อง

ตู่สั่งคนสนิทแจ้งจับข่มขู่ลูกแฝด

วันเดียวกัน นายอภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะทนายความประจำสำนักกฎหมาย อ.อัมพร ณ ตะกั่วทุ่ง และเพื่อน เปิดเผยว่า จากกรณีที่ทวิตเตอร์โพสต์คุกคามน.ส.ธัญญา และน.ส.นิฏฐา จันทร์โอชา สองบุตรสาวของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ล่าสุดพล.อ.ประยุทธ์มอบหมายให้ตนไปแจ้งความเอาผิดทางอาญา มาตรา 85 ที่ระบุว่า ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด และความผิดนั้นมีกำหนดโทษไม่ต่ำกว่าหกเดือน รวมถึงความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วย ที่สน.นางเลิ้ง ในช่วงบ่ายวันที่ 23 มี.ค.

ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.ได้เดินทางมาที่บช.น. ร่วมประชุมกับ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น., พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผบช.น., พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผบช.น. พล.ต.ต.สมประสงค์ เย็นท้วม รองผบช.น. พร้อมคณะทำงาน เพื่อเตรียมความพร้อมการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและการจราจร กรณีกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมืองนัดชุมนุมที่ราชประสงค์ในวันที่ 24 มี.ค. มีรายงานด้วยว่าในที่ประชุมผบ.ตร.ได้สั่งให้บช.น.ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการทำคดีเอาผิดบุคคลที่ทวิตเตอร์ขู่ลูกสาวนายกฯ และตามจับตัวมาดำเนินคดีอย่างเร่งด่วนที่สุด

ด้านพล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า กรณีมีผู้ข่มขู่ลูกสาวนายกฯ ในโลกโซเชี่ยลนั้น ได้สั่งการเร่งรัดให้บช.น.ดำเนินคดีผู้ที่กระทำผิด โดยทำไปตามขั้นตอนของกฎหมาย รวบรวมพยานหลักฐานพิสูจน์ทราบตัวบุคคลก่อนขออำนาจศาลออกหมายจับ จากนั้นติดตามจับกุมมาดำเนินคดี

ม็อบนัดชุมนุมใหญ่อีกวันนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเพจเฟซบุ๊กกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้ประกาศนัดแนะให้รวมตัวไปชุมนุมกันในวันที่ 24 มี.ค. ระบุเป็นม็อบมีเวที มีปราศรัย และรักษาความปลอดภัยแก่ผู้ร่วมชุมนุม โดยยังไม่บอกสถานที่นัดหมายและกำหนดเวลา แต่ให้ติดตามประกาศจากเพจเป็นระยะๆ

ด้านเพจเฟซบุ๊กของนายอานนท์ นำภา ได้โพสต์ข้อความฝากจากเรือนจำ 23 มี.ค. 64 ความว่า

การใช้กระสุนยางถือเป็นสันติวิธีหรือไม่ ถ้าฝ่ายผู้ชุมนุมใช้บ้างบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ที่พูดนั้นกำลังอยากให้สังคมตั้งสติว่านอกจากเราจะเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมใช้สันติวิธีแล้วเราต้องเรียกร้องให้รัฐไม่ใช้ความรุนแรงเช่นกัน เพราะรัฐเป็นคนที่กินภาษีจากประชาชนและได้รับความไว้วางใจให้ถืออาวุธมาดูและประชาชนไม่ใช่มาทำร้ายหรือเข่นฆ่าประชาชน

การใช้กระสุนยางเป็นความรุนแรงที่สังคมต้องออกมาประณามเจ้าหน้าที่รัฐ อย่าให้บ้านเมืองของเราเดินไปถึงจุดที่เราไม่อยากให้ไปถึง ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต้องช่วยกันเตือนสติผู้มีอำนาจ ส่วนผู้ชุมนุมต้องคอยเตือนและดูแลกันและกันอย่าหลงกลการยั่วยุจากรัฐ ยึดมั่นในสันติวิธีให้ถึงที่สุด

เชื่อมั่นและศรัทธา แดน 2 ห้อง 7 เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

ที่โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานคณะกรรมการบริหารภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย กล่าวว่าการชุมนุมที่ล่าสุดเกิดการกระทบกระทั่งระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ชุมนุม ส่วนตัวมองว่าไม่อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้โมเดล 6 ต.ค.2519 เพราะการต่อสู้ของประชาชนเป็นไปอย่างสันติ เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ดังนั้น อย่าใช้กลเกมสร้างสถานการณ์ความรุนแรงปราบปรามประชาชน

น.ศ.แจ้งจับ – น.ศ.คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ ขึ้นสภ.ภูพิงค์ แจ้งจับคณบดี, อาจารย์ และจนท.รวม 5 คน กรณีรื้อเก็บผลงานศิลปะใส่ถุงดำ ขณะที่ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะฯ (ภาพเล็ก) ช่วยปกป้องน.ศ.

อัยการเลื่อนนัดสั่งคดีน้องมายด์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันที่ 25 มี.ค.พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำสั่งในคดีที่พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ นำสำนวนพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้อง น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์พร้อมพวกรวม 13 คน ซึ่งถูกกล่าวหาความผิดมาตรา 112 และมาตรา 116 กรณีชุมนุมอ่านเเถลงการณ์หน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563

นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความเปิดเผยว่าในวันที่ 25 มีนาคม นี้ผู้ต้องหาทุกคนจะไปรายงานตัวตามนัดฟังคำสั่งของพนักงานอัยการ เเต่จากการประสานทราบว่าพนักงานอัยการยังพิจารณาสำนวนไม่เเล้วเสร็จ จึงให้เลื่อนการนัดฟังคำสั่งในวันดังกล่าวออกไปก่อน ส่วนจะนัดอีกครั้งเมื่อไหร่นั้นทางพนักงานอัยการจะเเจ้งให้ทราบในวันนัดฟังคำสั่งครั้งเเรกวันที่ 25 มี.ค.นี้

คุกเผยกวิ้นมีผื่นคัน-อ่อนเพลีย

วันเดียวกัน นายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในฐานะโฆษกกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงถึงการโพสต์ข้อความบนสื่อโซเชี่ยลมีเดียของผู้ต้องขังที่ปรากฏสู่สาธารณะว่าขอเรียนยืนยันตามที่กรมราชทัณฑ์ได้เคยชี้แจงไปแล้วว่า ในเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ ผู้ต้องขังไม่สามารถใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือสื่อสารได้ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ ที่แม้แต่เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์เองก็ไม่สามารถนำเข้าในเขตพื้นที่เรือนจำได้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ต้องขังทั้ง 2 รายจะสามารถโพสต์ข้อความเหล่านั้นได้ด้วยตัวเอง เบื้องต้นทราบว่าเป็นการฝากข้อความผ่านทนายความและผู้ที่ไว้ใจในการโพสต์จากข้างนอกเรือนจำ ทั้งนี้ เจ้าของ เฟซบุ๊กสามารถกำหนดสิทธิ์ผู้ดูแล หรือแอดมินให้ใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องโพสต์ด้วยตัวเอง ซึ่งในกรณีดังกล่าว นายพริษฐ์ได้เคยลงบันทึกข้อความไว้แล้วเมื่อวันที่ 13 ก.พ.ว่าข้อความและถ้อยคำที่ตนเองสื่อสารออกไปเป็นการฝากบุคคลภายนอกโพสต์แทน

นายธวัชชัยยังกล่าวถึงความคืบหน้าอาการล่าสุดของนายพริษฐ์หลังจากอดอาหารเป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์ว่า จากการตรวจร่างกายในช่วงเช้าวันที่ 23 มี.ค พบว่านายพริษฐ์ มีผื่นคันที่หน้าอกและหลัง และมีอาการอ่อนเพลียลงเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตาม สภาพร่างกายทั่วไปยังไม่น่าเป็นห่วง และนายพริษฐ์ยังคงปฏิเสธการรับประทานอาหารและการตรวจวัดระดับน้ำตาลปลายนิ้ว เนื่องจากวิตกกังวล ในเรื่องความปลอดภัย ซึ่งเจ้าหน้าที่พยาบาลได้ให้คำแนะนำการรับประทานอาหารและจัดเตรียมผงเกลือแร่ นม น้ำหวาน และเครื่องดื่มรสช็อกโกแลตให้แก่นายพริษฐ์

นศ.แจ้งจับอจ.-จนท.วิจิตรศิลป์

ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวม 3 คน เข้าพบร.ต.อ.วิชาเยนซ์ วงษ์เทพ พนักงานสอบสวนสภ.ภูพิงค์ราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ เมื่อเวลา 16.35 น. วันที่ 22 มี.ค. แจ้งความกล่าวหา อาจารย์, ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วย รศ.อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ รศ.ปกรณ์ภัทร์ จันทะไข่สร รองคณบดีฝ่ายบริหาร ผศ.ดร.พงศ์ศิริ คิดดี รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษา น.ส.สุลาลักษณ์ ขาวผ่อง เลขานุการคณะวิจิตรศิลป์ และนายไชยันตร์ โอนมา เจ้าหน้าที่หอศิลป์ ข้อหาร่วมกันวิ่งราวทรัพย์, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และใช้อำนาจปกครองโดยไม่ชอบ เนื่องจากกลุ่มคนดังกล่าวเข้ารื้อและเก็บผลงานศิลป์ต่างๆ ซึ่งเป็นทรัพย์ของผู้กล่าวทั้ง 3 คน ไปโดยทุจริตและทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์ดังกล่าวของผู้กล่าวหา

เหตุเกิดหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และตึกสื่อ ศิลปะและการออกแบบสื่อ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 มี.ค. เวลาประมาณ 13.30 น.

ปมเข้ารื้อถอน-ย้ายผลงานศิลป์

สำหรับกรณีดังกล่าว มาจากกรณีผู้บริหารพร้อมเจ้าหน้าที่ของคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ารื้อถอนและขนย้ายผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ ออกจากพื้นที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยกลุ่มนักศึกษาพยายามขัดขวางและขอทราบเหตุผลคำชี้แจง

ต่อมา ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ามาห้ามการขนย้าย พร้อมตั้งคำถามต่างๆ เช่น “เป็นอาจารย์เหมือนกันใช่ไหม รักศิลปะไหม รักเคารพในมนุษย์ไหม ศิลปะไม่เป็นเจ้านายใคร และศิลปะไม่เป็นขี้ข้าใคร ขู่เข็ญนักศึกษากี่ทีแล้ว คุกคามการเรียนการสอนหรือเปล่า” เป็นต้น

กระทั่งสุดท้าย เจ้าหน้าที่วางผลงานที่เก็บใส่ถุงดำแล้วไว้ให้ และกลับออกไป ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมีการไลฟ์สดผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก “ประชาคมมอซอ”

สำหรับการกระทำของนายทัศนัยดังกล่าวได้รับการชื่นชมในโซเชียลอย่างมาก

สภานักศึกษามช.จี้คณบดีแจง

ด้านสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกจดหมายเปิดผนึกสภานักศึกษา มหา วิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่องตั้งข้อซักถามต่อเหตุการณ์รื้อถอนงานศิลปะของนักศึกษา จากกรณีมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เก็บรื้อถอนงานศิลปะของนักศึกษา ณ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พฤติการณ์คือมีการเก็บและรื้อถอนผลงานศิลปะของนักศึกษาลงถุงขยะทำให้ทรัพย์สินเกิดความเสียหาย โดยมิได้แจ้งหรือมีหนังสือคำชี้แจงใดๆ อันอาจเป็นการละเมิดงานศิลปะของนักศึกษาและขัดต่อประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยเรื่องจรรยาของคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ข้อ 9 ที่กำหนดว่า อาจารย์พึงรักษาความสัมพันธ์กับศิษย์อย่างกัลยาณมิตร เป็นที่พึ่งแก่ศิษย์ สนับสนุนให้ศิษย์มีความก้าวหน้าทางวิชาการอยู่เสมอ

ทั้งนี้ สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะองค์กรที่เป็นตัวแทนสะท้อนเสียงของนักศึกษา ขอตั้งข้อซักถามต่อเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นและขอให้คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ออกมาชี้แจงเหตุการณ์ดังกล่าวต่อสาธารณะ พร้อมกันนี้ขอให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและชี้แจงต่อนักศึกษาโดยเร็วที่สุด เนื่องด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวกระทบกับทรัพย์สินของนักศึกษา และเกี่ยวข้องโดยตรงกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษาในพื้นที่มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหน้าที่ของสภานักศึกษาในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สุดท้ายนี้สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะพิจารณาและเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อชี้แจงต่อนักศึกษาโดยเร็วต่อไป

คณบดีแจงหมิ่นเหม่ต่อกฎหมาย

ต่อมา ทางคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยรศ.อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกหนังสือแถลงการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระบุว่า

ตามที่มีกลุ่มบุคคลใช้พื้นที่บริเวณคณะวิจิตรศิลป์ และปรากฏข่าวในสื่อสังคมออนไลน์นั้น คณะวิจิตรศิลป์ขอชี้แจงว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 22 มีนาคม 2564 เวลาประมาณ 14.00 น. ทางคณะวิจิตรศิลป์ ได้เข้าเตรียมพื้นที่บริเวณหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของคณะวิจิตรศิลป์ เพื่อจัดเตรียมแสดงงานนิทรรศการศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาสาขาวิชาต่างๆ ทั้งของคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันการศึกษาอื่น ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2564

จากการเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ ได้พบวัสดุอุปกรณ์บริเวณด้านหลังหอศิลปวัฒนธรรม จากการสอบถามนักศึกษาบริเวณนั้นแจ้งว่า ไม่ทราบว่าเป็นของผู้ใด และไม่มีผู้ใดรับเป็นเจ้าของ คณะวิจิตรศิลป์ จึงได้ตรวจสอบวัสดุอุปกรณ์ดังกล่าว พบว่าวัสดุบางรายการที่หมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมาย (ธงชาติไทยที่ถูกดัดแปลงและมีข้อความไม่เหมาะสม) ดังนั้นเพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อนักศึกษาและคณาจารย์ของคณะวิจิตรศิลป์โดยรวม จึงได้เก็บรวบรวมวัสดุอุปกรณ์ทั้งหมด เพื่อรอมารับคืนต่อไป

‘อจ.ทัศนัย’แจงป้องเสรีภาพ

ด้าน ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ประจำสาขาสื่อศิลปและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรากฏตัวในคลิปวิดีโอ กล่าวว่า ที่ออกมาปกป้องนักศึกษา เพราะว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และไม่มีความชอบธรรมที่จะมากีดกัน หรือบอกว่านักศึกษาทำอะไรไม่ได้ ศิลปะคือเสรีภาพในการแสดงออก ไม่มีสิทธิ์ไปบอกว่าใครทำผิดทำถูก

ผศ.ดร.ทัศนัยยังกล่าวต่อว่า พฤติกรรมแบบนี้เป็นการคุกคามในรั้วมหาวิทยาลัย ทั้งที่ควรจะเป็นพื้นที่เสรีภาพให้นักศึกษา แสดงความคิดเห็นและแสดงออก และสิ่งที่พูดไปเมื่อวานว่า ศิลปะไม่ได้เป็นนายใครหรือ ทำเพื่อรับใช้ใคร เพราะว่าปัจจุบันมีศิลปินหรือนักศิลปะหลายคน ใช้ผลงานศิลปะเป็นบันไดในการก้าวขึ้นไปหายศถาบรรดาศักดิ์ สร้างความชอบธรรมให้ตนเอง เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ชื่อเสียง รางวัล และ เกียรติยศต่างๆ ตรงนี้ทำให้เขาหลงทาง นำมาซึ่งการขาดความเคารพตนเอง เขาต้องการพยายามจะทำให้ศิลปะของเขานั้นสูงส่งกว่าของคนอื่น และอาจไปทำงานรับใช้คนนั้นคนนี้

ยืน 112 นาที – กลุ่มพลเมืองโต้กลับ จัดกิจกรรมวันที่สอง โดย “ยืน หยุด ขัง” นาน 112 นาที ถือป้ายข้อความปล่อยเพื่อนเรา เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง ที่ริมสนามหลวง เมื่อเวลา 17.00 น.วันที่ 23 มี.ค.

จับโป๊ะ-กลุ่มป้องสถาบันกับตร.

โซเชี่ยลมีเดียมีการแชร์คลิปวิดีโอ ที่ได้บันทึกภาพการชุมนุมของกลุ่มปกป้องสถาบัน วันที่ 21 มี.ค.โดยกลุ่มปกป้องสถาบันที่จัดกิจกรรมชุมนุม หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย กลุ่มอาชีวะและภาคีเครือข่ายปกป้องสถาบัน ซึ่งเป็นม็อบกลุ่มเดียวกับที่พุ่งเข้าทำร้ายนักศึกษาบนสกายวอล์กอีกด้วย

สำหรับคลิปวิดีโอดังกล่าวถูกถ่ายโดยผู้คนบนสกายวอล์กลงมายังถนน โดยเป็นภาพของกลุ่มรักสถาบันกำลังเดินข้ามถนน ซึ่ง ไม่ได้ข้ามถนนที่ทางม้าลาย แต่เดินข้ามตัดหน้ารถที่กำลังสัญจรไปมา มีตำรวจนายหนึ่งคอยยืนอำนวยความสะดวกอยู่ และกลุ่มรักสถาบันกลับยกมือขึ้นมาทักทายตำรวจนายดังกล่าวอย่างสนิทสนม ซึ่งท่าทีการปฏิบัติตนของตำรวจในพื้นที่ดังกล่าวต่อกลุ่มรักสถาบันแตกต่างจากการปฏิบัติกับผู้ชุมนุมเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตย

ทั้งนี้ชาวเน็ตจำนวนมาก ยังได้เปรียบเทียบเหตุการณ์เหล่านี้กับม็อบเสื้อขาวในฮ่องกง ซึ่งเป็นม็อบที่สนับสนุนรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งก่อเหตุทำร้ายผู้ชุมนุมฝ่ายประชาธิปไตย โดยมีตำรวจเป็นผู้คอยอำนวยความสะดวก รวมถึงตำรวจยังคอยกีดกันนักข่าวไม่ให้บันทึกเหตุการณ์อันตรายที่เกิดขึ้นกับผู้ชุมนุมฝ่ายประชาธิปไตยอีกด้วย

คลิปดังกล่าว มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก เช่น “มันทำให้ผมนึกถึงฮ่องกง เมื่อตอนที่กลุ่มอั้งยี่เสื้อขาวไล่ตีทำร้ายผู้ชุมนุมในสถานีรถไฟและบนถนน หลังจากนั้นพวกเขาก็พูดคุยกับตำรวจเหมือนเพื่อนกัน ตำรวจเองก็คอยปกป้องพวกเขาไม่ให้นักข่าวถ่ายรูปด้วย”, “ข้ามถนนตัดหน้ารถกันแบบนี้เลยหรอ”, “ใส่สีเหลืองแล้ว power up ทำตัวเลวๆ ตำรวจไม่จับ”, “สนิทเหมือนญาติ”, “เลือกปฏิบัติ”, “อ้าว พวกเดียวกันนี่เอง” เป็นต้น

ศาลยกคำร้อง-จัสตินนอนคุก

ต่อมาภายหลังศาลอนุญาตฝากขังนาย ชูเกียรติ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีส.ส.ใช้ตำแหน่งประกันตัวผู้ต้องหามูลค่า 1,135,600 บาท ศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว มีความร้ายแรงและคดีมีอัตราโทษสูง ตลอดจนผู้ต้องหาเคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในลักษณะความผิดเดียวกันนี้มาแล้ว แต่ผู้ต้องหาก็ยังมา กระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้อีก เชื่อว่าหากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จะไปกระทำการก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองซ้ำอีก ตลอดจนพนักงานสอบสวนคัดค้านประกัน จึงให้ยกคำร้อง

ยืนเฉยๆนาน 112 นาทีวันที่สอง

เมื่อเวลา 17.00 น. ที่หน้าศาลฎีกา กลุ่มพลเมืองโต้กลับ นำโดยนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อนายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือน้องเฌอ ผู้ถูกยิงเสียชีวิต ระหว่างการสลายการชุมนุม คนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 นายบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน รวมทั้งโบว์ น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา ร่วมกันจัดกิจกรรมหน้าศาลฎีกา ชื่อกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” มีการยืนถือป้ายเขียนข้อความต่างๆ เช่น ปล่อยเพื่อนเรา, หยุดลงโทษล่วงหน้า BAIL IS THE BASIC RIGHT, ปล่อยนักโทษการเมือง แผ่นภาพ ผู้ต้องขัง เช่น นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์

สำหรับกิจกรรม ยืน หยุด ขัง จัดขึ้นทุกวัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. 2564 เวลา17.00 น. วันนี้เป็นวันที่สอง โดยการยืนเป็นเวลา 112 นาที เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมคุมขังในความผิดตามมาตรา 112 และกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งเป็นไปด้วยความสงบ และไม่มีการจัดการปราศรัย มีเพียงการยืนเฉยๆ แสดงออกทางสัญลักษณ์เท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน