ส่ง100ผู้ต้องกัก
เข้า‘รพ.สนาม’

‘บิ๊กป้อม’ ย่องเงียบฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแล้ว ชนิดแอสตราเซเนกา ที่ร.พ.บำรุง ราษฎร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทุกอย่างปลอดภัยดี ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนเข็มสองจะฉีดใน 3 เดือนข้างหน้า ขณะที่ไทยติดเชื้อเพิ่ม 69 ราย หนองบัวลำภูไข่แตกอีกจังหวัด พบติดเชื้อ 1 รายเดินทางมาจากกรุงเทพฯ ส่วนคลัสเตอร์โรงงานทำขนมย่านบางขุนเทียนพบติดเชื้ออีก 17 ด้าน สตม.ย้ายผู้ต้องกัก 100 คนเข้าไปอยู่ร.พ.สนามแล้ว เพื่อสังเกตอาการ 14 วัน ‘บิ๊กปั๊ด’ ยันร.พ.สนามได้มาตรฐาน สธ.เผยไทยฉีดวัคซีนโควิดแล้วเกิน 1 แสน ส่วนคนที่ฉีดครบ 2 เข็มมีเกือบ 6 พัน เตรียมกระจายวัคซีนล็อตใหม่ 8 แสนโดส ลงไปใน 3 พื้นที่รวม 22 จว. 5.9 แสนโดส ส่วนที่เหลือ 2.1 แสนโดสให้จังหวัดอื่นที่อาจระบาดใหม่ รวมทั้งนักกีฬาที่ต้องไปแข่งขันต่างประเทศ

ติดเชื้ออีก 69-หนองบัวลำภูไข่แตก

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 24 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 69 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 61 ราย แบ่งเป็น 1.มาจากระบบเฝ้าระวัง 44 ราย ได้แก่กทม. 30 ราย สมุทรสาคร 6 ราย ตาก 2 ราย นครปฐม 1 ราย นนทบุรี 1 ราย ปทุมธานี 2 ราย สมุทรปราการ 1 ราย และหนองบัวลำภู 1 ราย ถือเป็นจังหวัดไข่แตก โดยเป็นผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงคือ กรุงเทพฯ 2.มาจากค้นหาเชิงรุกในชุมชน 17 ราย ได้แก่ กทม. 13 ราย ปทุมธานี 1 ราย และสมุทรสาคร 3 ราย และ 3. มาจากต่างประเทศ 8 ราย ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 3 ราย บรูไน สวีเดน บาห์เรน ญี่ปุ่น และพม่า ประเทศละ 1 ราย

ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 28,346 ราย หายป่วยสะสม 26,873 ราย อยู่ระหว่างรักษา 1,381 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 92 ราย ส่วนการระบาดระลอกใหม่ป่วยสะสม 24,109 ราย เสียชีวิตสะสม 32 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 124,790,051 ราย เสียชีวิตสะสม 2,745,386 ราย

“แนวโน้มสถานการณ์ระบาด จำนวน ผู้ติดเชื้อยังขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา ส่วนการ คัดกรองเชิงรุกก็ยังพบผู้ติดเชื้อตลอดเวลา แผนที่ประเทศไทยระหว่างวันที่ 21-24 มี.ค. พบผู้ติดเชื้อใน 12 จังหวัด สะสม 66 จังหวัด ทั้งนี้จังหวัดที่ยังไม่เคยพบผู้ติดเชื้อมี 11 จังหวัด จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 28 วัน มี 40 จังหวัด จังหวัดที่ยังพบผู้ติดเชื้อใน 1-2 วันที่ผ่านมามี 9 จังหวัด” พญ.อภิสมัยกล่าว

‘มหาชัย’เจอแค่ 9-เปิดเดินรถได้

พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า สำหรับตัวเลข ผู้ติดเชื้อในจ.สมุทรสาครวันนี้มีเพียง 9 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 6 ราย ค้นหาเชิงรุก 3 คน โดยในที่ประชุมศบค. ชุดเล็ก ทางจ.สมุทรสาครรายงานว่า วันนี้จะเป็นวันแรกที่เปิดให้มีการเดินรถโดยสาร เนื่องจากผู้ติดเชื้อเหลือเพียงตัวเลขหลักเดียว โดยจะทำความสะอาดสถานีขนส่ง ตรวจวัดอุณหภูมิ ก่อนหน้านี้จ.สมุทรสาครจะไม่เปิดให้มีการเดินข้ามพื้นที่เข้าไปพัก แต่ตอนนี้สามารถเข้าพักได้แล้ว การกระจายผู้ติดเชื้อ เหลือในจ.สมุทรสาคร วงเล็กลง กระจุกอยู่ตรงส่วนกลางในอ.เมือง เฉพาะบางตำบล และพบผู้ติดเชื้อ 1-2% ระบบสาธารณสุขสามารถควบคุมป้องกันได้

พญ.อภิสมัยกล่าวด้วยว่า กรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นกลุ่มก้อนในโรงงานทำขนม เขตบางขุนเทียน กทม. ข้อมูลเมื่อวันที่ 23 มี.ค. พบผู้ติดเชื้อแล้ว 17 ราย เป็นชาย 3 ราย หญิง 14 ราย ชาวไทย 3 ราย พม่า 14 ราย กรมควบคุมโรคลงไปสอบสวนโรคและกักกันผู้ติดเชื้อจนถึงวันที่ 2 เม.ย. ตามมาตรฐานการป้องกันโรค

ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นผู้ที่เข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวตามมาตรการของกระทรวงแรงงาน หลังจากพบผู้ติดเชื้อรายแรก ทีมสอบสวนโรคจึงลงพื้นที่ไปคัดกรองผู้ติดเชื้อเชิงรุกในที่ทำงานและที่พัก จึงพบผู้ติดเชื้อในโรงงาน สิ่งที่น่าสนใจที่ต้องเรียนรู้ พบว่าลักษณะโรงงานขนม ส่วนแรกเป็นหน้าร้าน ซึ่งมีคนเข้าออกตลอดเวลา ส่วนที่ 2 เป็นโรงงานที่แบ่งเป็นแผนก ดำเนินมาตรการป้องกันโรคตามมาตรฐานแต่ไม่ครบถ้วน คือ ทำบ้าง แต่อาจมีการหละหลวม และส่วนที่ 3 บ้านพักคนงานที่อาศัยรวมกันในอาคารพาณิชย์แห่งนี้กว่า 70 ราย และมีการแบ่งเป็นห้องเช่า โดยไม่มีมาตรการป้องกันโรค ดังนั้น หากมีผู้ติดเชื้อก็สามารถแพร่ไปหาคนอื่นได้ง่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเน้นย้ำเสมอและขอให้ผู้ประกอบการทบทวนสถานประกอบการของตัวเอง ขณะนี้ กทม.เข้าไปดำเนินการทำความสะอาดในโรงงานดังกล่าวแล้ว และยืนยันว่าสามารถรับประทานขนมได้

เคสตลาดบางแคติดเชื้อเพิ่ม 61

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรุงเทพมหานคร สรุปผลเบื้องต้นจากการเร่งตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อ โควิด-19 เชิงรุกในตลาดวันเดอร์ ตลาดคลองขวาง และชุมชนใกล้เคียง ในพื้นที่เขตบางแค ตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. รวม 27,760 ราย พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 61 ราย รวมพบผู้ติดเชื้อสะสม 480 ราย ไม่ติดเชื้อ 22,512 ราย และรอผลตรวจ รวม 4,768 ราย แยกเป็นตลาดวันเดอร์ ตลาดคลองขวาง และตลาดใกล้เคียง ติดเชื้อ 369 ราย ชุมชนใกล้เคียง 48 ราย และหน่วยบริการตรวจ ณ ชุมชนนิมมานรดี 23 ราย และหน่วยบริการที่สวนสาธารณะข้างเดอะมอลล์บางแค 30 ราย และโลตัสบางแค 10 ราย

ฉีดวัคซีนทะลุ1แสนแล้ว

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 23 มี.ค. ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว 102,050 โดส แบ่งเป็นผู้รับวัคซีนเข็มแรก 96,188 ราย และรับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 5,862 ราย

“ผู้ที่รับวัคซีนเข็มแรกแล้วขอให้ไปรับวัคซีนเข็มที่ 2 ตามนัด เพราะจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ดี”

กระจายวัคซีน 8 แสนโดส 22 จว.

นพ.โสภณกล่าวต่อว่า ส่วนวัคซีนโควิด-19 จำนวน 8 แสนโดสอยู่ระหว่างการตรวจรับรองรุ่นการผลิต โดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะส่งมอบให้แก่กรมควบคุมโรค สธ. เพื่อกระจายวัคซีนต่อไป โดยศบค.ได้เห็นชอบแผนการจัดสรรและการกระจายวัคซีน 8 แสนโดสใน 3 พื้นที่ จำนวน 22 จังหวัด รวม 5.9 แสนโดส ได้แก่ 1.พื้นที่ควบคุมการระบาด 6 จังหวัด จำนวน 3 แสนโดส ได้แก่ สมุทรสาคร 1 แสนโดส, กรุงเทพมหานคร 5 หมื่นโดส, อ.แม่สอด จ.ตาก 7.5 หมื่นโดส, ปทุมธานี สมุทรปราการ และนนทบุรี จังหวัดละ 2.5 หมื่นโดส

2.พื้นที่ท่องเที่ยว 8 จังหวัด 2.4 แสนโดส ได้แก่ ชลบุรี ระยอง เชียงใหม่ จังหวัดละ 2 หมื่นโดส, ขอนแก่น กระบี่ และพังงา จังหวัดละ 1 หมื่นโดส, อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี 5 หมื่นโดส และภูเก็ต 1 แสนโดส เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในจุดเสี่ยง เช่น สนามบินนานาชาติ ท่าเรือ ที่มีชาวต่างชาติเข้าออก และภาคบริการต่างๆ ที่อาจมีความเสี่ยงหากมีการเตรียมรับนักเดินทางจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป และ 3.พื้นที่ชายแดน 8 จังหวัด 5 หมื่นโดส ได้แก่ สงขลาและสระแก้ว จังหวัดละ 1 หมื่นโดส, เชียงราย มุกดาหาร นราธิวาส ระนอง หนองคาย และจันทบุรี จังหวัดละ 5 พันโดส เนื่องจากอยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีการติดเชื้อโควิด-19

ทั้งนี้ จังหวัดที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนเป็นครั้งแรกขอให้เน้นการฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่มีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อ รวมทั้งประชาชนกลุ่มเสี่ยงเป็นลำดับแรก ส่วนวัคซีนที่เหลืออีก 2.1 แสนโดส จะให้กับบุคลากรสาธารณสุข อสม. และเจ้าหน้าที่กลุ่มอื่นๆ ที่จำเป็นในจังหวัดอื่นนอกเหนือจาก 22 จังหวัด เพราะมีโอกาสพบผู้ติดเชื้อเช่นกัน หรือเป็นจังหวัดรับส่งต่อ ผู้ป่วยมาจากจังหวัดที่มีการระบาด หรือรักษาผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่น อย่างสัปดาห์ที่ผ่านมา ศรีสะเกษ และมุกดาหาร มีผู้เดินทางมาจากจังหวัดที่พบการระบาดกลับภูมิลำเนา แพทย์ พยาบาลที่ดูแลรักษาก็มีโอกาสเสี่ยงได้ จึงได้รับการจัดสรรวัคซีนด้วย รวมถึงผู้ที่มีความจำเป็นในการเดินทางระหว่างประเทศ เช่น นักการทูตที่ประจำการในต่างประเทศ นักกีฬาทีมชาติไทยที่จะไปแข่งในต่างประเทศ หรือกลุ่มอื่นๆ ที่มีภารกิจเดินทางระหว่างประเทศและปลายทางกำหนดให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกจากนี้ ยังเตรียมไว้สำหรับการควบคุมการระบาดในจังหวัดอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจาก 22 จังหวัด จะได้มีวัคซีนใช้ในการควบคุมจำกัดการแพร่ระบาด

ร.พ.สนาม – ตำรวจตม.และจนท.สาธารณสุขขนย้ายผู้ต้องกักต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายที่ติดเชื้อโควิด รวม 100 คน ส่งมาสังเกตอาการที่ร.พ.สนามชั่วคราวสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ใกล้สโมสรตำรวจ กทม. เมื่อวันที่ 24 มี.ค.

ย้ายผู้ต้องกักติดเชื้อเข้ารพ.สนาม

เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ร.พ.สนามชั่วคราวสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยพล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) และผู้บริหารสธ. ตรวจความเรียบร้อยร.พ.สนาม และการขนย้าย ผู้ต้องกักต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 100 คน รวม 2 คันรถบัสจากสถานกักตัวเข้าสู่ร.พ.สนาม

นายอนุทินกล่าวว่า หลังพบการติดเชื้อ โควิดจำนวนมากในสถานกักกันคนลักลอบเข้าเมือง จึงคัดแยกผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการจากสถานกักตัว มาเฝ้าสังเกตอาการที่ร.พ.สนาม ซึ่งตามปกติหากไม่มีอาการใช้เวลาประมาณ 10 วันก็หายดี แต่ทางร.พ.ตำรวจที่ดูแล ร.พ.สนามจึงให้อยู่ถึง 14 วัน ถือเป็นการเข้มขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจ หากมีอาการก็จะส่งรักษาในร.พ.เครือข่าย คือร.พ.ภูมิพล นอกจากนี้ยังมีร.พ.สังกัด กทม. สังกัดกรมการแพทย์ เช่น ร.พ.ราชวิถี ร.พ.นพรัตนราชธานี และร.พ.เลิดสิน ช่วยดูแลด้วย สำหรับสถานกักตัวทั้งบางเขนและสวนพลูก็มีการแยกผู้กักตัวที่ติดเชื้อและสังเกตอาการเช่นกัน เปรียบเสมือน ร.พ.สนามอีกที่หนึ่ง

นายอนุทินกล่าวต่อว่า ผู้ติดเชื้อกว่า 300 คนนี้ เมื่อครบ 14 วันก็จะกลับมายังสถานกักตัวเพื่อรอผลักดันกลับประเทศไป

“ยืนยันว่าร.พ.สนามมีความปลอดภัย เราดูทั้งพื้นที่ การระบายอากาศ และความปลอดภัย สถานที่แห่งนี้ถือว่ามิดชิด ห่างจากเขตชุมชนมากกว่า 100 เมตร ผู้ติดเชื้ออยู่ ภายใต้การควบคุมตลอดเวลา เพราะเป็น ผู้ต้องกักด้วย ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ ถ้าไม่เข้าไปขลุกเป็นชั่วโมงก็ไม่ติด จึงไม่มีทางกระจายไปเขตชุมชน และมีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอดเวลาเช่นกัน” นายอนุทินกล่าว

ยันคุมเข้ม-ไม่มีเชื้อกระจาย

ด้านพล.ต.ท.สมพงษ์กล่าวว่า จากการตรวจผู้ต้องกักทั้งหมด 1,615 คน แบ่งเป็นบางเขน 490 คน และสวนพลู 1,125 คน พบการติดเชื้อ 393 ราย วันนี้ทีมร.พ.ตำรวจและ สธ.ได้อำนวยความสะดวกขนย้ายผู้ติดเชื้อ 100 คนย้ายมายังร.พ.สนาม ซึ่งย้ำว่าร.พ.สนามไม่ได้อยู่ตรงสโมสรตำรวจ แต่ใช้ทางเข้าเดียวกัน โดยร.พ.สนามจัดตามหลักสาธารณสุข อาคารเป็นโรงยิม มีทางเข้าออกทางเดียว ผู้ปฏิบัติงานใส่ชุด PPE มีระบบตรวจสอบคัดกรอง มีการล้อมรั้วลวดหนามกั้นไม่ให้คนเข้าออก และมีการกั้นพื้นที่อีกชั้นหนึ่ง โดยจัดเวร 2 ผลัด ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่จะอยู่เวร 15 วัน และกักตัวอีก 15 วันก่อนกลับไปบ้านได้ จึงขอสร้างความมั่นใจ ถ้าจะติดชาวบ้านก็ต้องติดตำรวจก่อน โอกาสเชื้อกระจายไม่มี นอกจากนี้ ทางกทม.ยังส่งเจ้าหน้าที่กรุงเทพธนาคมที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดเก็บขยะติดเชื้อมาเก็บขยะติดเชื้อด้วย

เมื่อถามถึงแนวทางการป้องกันการติดเชื้อขึ้นอีกในสถานกักกัน พล.ต.ท.สมพงษ์ กล่าวว่า ห้องกักสำหรับกักคนต่างด้าวที่ทำผิด พ้นโทษ หรือรอผลักดันกลับ ซึ่งเราระดมกวาดล้างคนหลบหนีเข้าเมือง เพื่อป้องกันการเอาเชื้อเข้ามาติด ปริมาณของผู้ต้องกักจึงมีมาก จึงวางแผนให้ผู้ต้องกักแรกรับมาที่บางเขน แต่ตอนมาเราไม่รู้ว่าใครติดบ้าง สถานที่เราจำกัด เพราะฉะนั้นจึงมีโอกาสติด พอเริ่มติด จึงมีการแบ่งชั้นและรายงานตามระบบ จึงมีแนวคิดตั้งร.พ.สนามเหมือนที่ตม.สะเดาที่เคยเกิดการติดเชื้อ

แนะชะลอรับผู้ต้องกักชุดใหม่

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า ผู้ต้องกักที่เข้ามาใหม่ มีการวางมาตรการต้องคัดกรองตรวจเชื้อก่อน แต่ช่วงนี้ขอให้ชะลอการนำมารวมกับคนกลุ่มนี้ ส่วนร.พ.สนาม ที่นี่ การกักแยกโรคถือว่าดีกว่าในโรงงาน ไม่น่ามีปัญหาอะไร คาดว่า 4-6 สัปดาห์ก็เสร็จสิ้น ยืนยันว่าไม่มีการหลบหนีออกไปได้ ไม่ได้เป็นคลัสเตอร์อย่างที่เข้าใจไม่ถูกต้อง เป็นการติดเชื้อในสถานที่กักเท่านั้น

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า เพราะเป็นสัญชาติที่ถูกจับกุมในไทยมากที่สุด ส่วนใหญ่วัยหนุ่มสาว แข็งแรงไม่มีอาการ สำหรับการสอบสวนควบคุมโรค จากการประเมินสถานการณ์พบว่ามีการแพร่เชื้อในบางส่วน เช่นบางห้องที่มีผู้ติดเชื้อรายแรกอยู่เดิม ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม ส่วนผู้ติดเชื้อ 393 ราย มีการตรวจปริมาณเชื้อและภูมิคุ้มกัน เพื่อแบ่งว่าใครเป็นผู้ติดเชื้อรายเก่าหรือรายใหม่ โดยรายเก่าเชื้อน้อยและอาจมีภูมิคุ้มกันแล้ว ส่วนรายใหม่เชื้อจะมีปริมาณมาก จึงคัดแยก 100 คนมายังร.พ.สนามเพื่อมาดูแลไม่ให้มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต เราสามารถดูแลใกล้ชิดทุกวัน ทั้งวัดไข้ค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด หากลดลงแสดงถึงปอดอักเสบ เมื่อใครผิดปกติก็จะรู้ทันทีและส่งรักษาร.พ.

‘บิ๊กปั๊ด’ยันรพ.สนามได้มาตรฐาน

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.กล่าวถึงกรณีโรงพยาบาลสนาม ที่ตั้งอยู่บริเวณ โรงยิมสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีการนำผู้ต้องกักไปรักษาตัวว่า เตรียมส่งทีมโฆษกทำความเข้าใจกับประชาชนและชาวบ้านในพื้นที่เรื่องการตั้งโรงพยาบาลสนาม ที่รองรับผู้ต้องกักที่ติดเชื้อโควิด-19 ว่าเราปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขและกรมควบคุมโรค รวมทั้งทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองยังมีประสบการณ์ที่ผ่านมาจนนำมาประยุกต์ใช้

“ขณะเดียวกันสั่งให้ตำรวจชายแดนในทุกพื้นที่ของประเทศเตรียมหาสถานที่เพื่อรองรับกรณีหากมีผู้ป่วยต้องเข้ารับการกักตัว อีกทั้งโรงพยาบาลสนามดังกล่าวเป็นพื้นที่คนละส่วนกับสนามกีฬาและสโมสรพื้นที่จัดเลี้ยง”

‘บิ๊กป้อม’ดอดฉีดวัคซีนโควิดแล้ว

แหล่งข่าวใกล้ชิดพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตรได้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา

ด้านพล.อ.ประวิตรให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อ วันที่ 21 มี.ค. ตนเดินทางไปฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา จากแพทย์ประจำตัวที่โรงพยาบาล บำรุงราษฎร์แล้ว และหลังจากฉีดวัคซีนอาการทุกอย่างปลอดภัยดี ไม่มีปัญหาอะไร ไม่ได้ปิดข่าวเลย ไปฉีดมาแล้วเมื่อวันอาทิตย์ ไม่เห็นจะเป็นอะไร หมอที่ดูแลอาการฉีดให้ เพราะเป็นทั้งเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ

เมื่อถามว่ากำหนดฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เมื่อไร พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เข็มที่ 2 จะฉีดอีกครั้งในอีก 3 เดือนข้างหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 มี.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม นำคณะรัฐมนตรีฉีดวัคซีนก่อนการประชุมครม. แต่พล.อ.ประวิตรไม่ได้ร่วม ฉีดวัคซีนด้วย โดยคาดว่ามาจากอายุมากและมีโรคประจำตัวหลายโรค เพราะปัจจุบันพล.อ.ประวิตรมีอายุ 75 ปีแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน