แห่ลง‘หมอพร้อม’อื้อ
ทะลุ 6แสนรายชื่อแล้ว
บิ๊กตู่หัวโต๊ะถกทีมศก.
สั่งเร่งเสนอแผนฟื้นฟู

‘เสี่ยหนู’หารือผู้แทนจำหน่ายวัคซีน โมเดอร์นา จ่อนำเข้าไทย ยันต้องขาย ให้รัฐบาลเท่านั้น สั่งองค์การเภสัชฯ ประสานเอกชน คอนเฟิร์มยอดแล้วให้สั่งวัคซีนเข้ามา ด้านนายกฯ ถกทีมเศรษฐกิจ หามาตรการฟื้นฟู เศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด สั่งทุกหน่วยงาน เร่งทำแผนเสนอครม. 5 พ.ค.นี้ เผยกระทรวงการคลังเตรียมเสนอคนละครึ่งเฟส 3 ให้คนนำเงินเก็บมาใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ เชื่องบ 3.8 แสนล้านบาทดูแลประชาชนได้ ศธ.ยันเปิดเรียน 1 มิ.ย.ดีที่สุด แต่ให้สพฐ.ไปจัดหากิจกรรมไม่ให้เด็กนักเรียนว่าง

วันที่ 3 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าเมื่อช่วงเช้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เชิญคณะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจเข้าพบเพื่อหารือเรื่องมาตรการดูแล เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในรอบล่าสุด ซึ่งที่ประชุมพิจารณาถึงความคืบหน้าของมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ทั้งในส่วนของมาตรการด้านการเงินผ่านการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 และการออกพ.ร.ก. ด้านการเงินต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่ รวมถึงมาตรการด้านภาษี ทั้งการลดภาษีและการขยายกำหนดเวลาต่างๆ อีกทั้งมาตรการด้านการคลังผ่านโครงการเยียวยา และมาตรการ กระตุ้นกำลังซื้อต่างๆ ซึ่งมีทั้งโครงการที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว เช่นโครงการคนละครึ่งระยะที่ 1-2 โครงการเพิ่มกำลังซื้อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการที่ยังดำเนินการ อยู่ เช่น โครงการเราชนะ อย่างไรก็ตาม การระบาดของโรคโควิด-19 ในรอบล่าสุด กระจายไปทั่วประเทศ และมีผลกระทบในวงกว้างกว่ารอบที่ผ่านมา จึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณามาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม เพื่อดูแล และเยียวยาประชาชนอย่างเร่งด่วน และฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเร็ว โดยจะพิจารณามาตรการที่สามารถดำเนินการได้ทันที อาทิ มาตรการด้านการเงิน มาตรการด้านสินเชื่อ มาตรการพักชำระหนี้ รวมถึงมาตรการลดค่าใช้จ่ายของประชาชน มาตรการการรักษาระดับการบริโภค ภายในประเทศและมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

เร่งวัคซีน – นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ร่วมประชุมเจรจากับผู้แทนบริษัทผู้ผลิตวัคซีนต้านโควิด ยี่ห้อ โมเดอร์นา ของสหรัฐ เตรียมเร่งขึ้นทะเบียนกับ อย. เพื่อนำเข้ามาฉีดให้คนไทย เมื่อวันที่ 3 พ.ค.

“นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำในที่ประชุมเรื่องความจำเป็นที่ต้องพิจารณามาตรการที่จะออกมา ใหม่ในรอบนี้ด้วยความรวดเร็วและด้วยความรอบคอบ โดยมาตรการใดที่สามารถดำเนินการได้ทันที นายกรัฐมนตรีขอให้หน่วยงานต้นสังกัดนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในครั้งหน้าที่จะมีการประชุมในวันพุธที่ 5 พ.ค.ได้เลย” นายอนุชากล่าว

นายอนุชากล่าวว่า ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการบริหารจัดการยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการกระจายไปตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศอย่างเพียงพอและทั่วถึง ในส่วนของนโยบายรัฐบาลที่จะให้ไทย เป็นฐานการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ในภูมิภาคนั้น ให้องค์การเภสัชกรรมเร่งดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อเจรจากับผู้ขอ รับสิทธิบัตร เพื่อให้ได้สิทธิผลิตยาชนิดนี้ ในประเทศไทยได้เอง

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ในที่ประชุมทีมเศรษฐกิจ เพื่อหารือแนวทางการฟื้นฟูและประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ขอให้เร่งกำหนดมาตรการแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการ ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ หากส่วนไหนที่หน่วยงานดำเนินการแล้วเสร็จขอให้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันพุธที่ 5 พ.ค.ได้ทันที หรือมีการเสนอหลักการ เข้ามาก่อนได้ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็วและเดินหน้าได้ เพื่อช่วยเหลือ ผู้ได้รับผลกระทบในเดือนพ.ค.-มิ.ย.นี้ ทั้งนี้หากมีมาตรการอะไรที่ชัดเจนในวันพุธนี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็นผู้ชี้แจง

ทั้งนี้กระทรวงการคลังเห็นว่าสถานการณ์ปัจจุบัน ประชาชนยังไม่สามารถออกไปใช้จ่าย ได้ตามปกติ ยังมีการทำงานที่บ้าน ทำให้ไม่ใช่จังหวะเวลาที่เหมาะสมในการออกมาตรการใหม่ ขณะเดียวกันยังมีมาตรการเราชนะ และ ม33 เรารักกัน ซึ่งเหลือวงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพียงพอกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงเดือน พ.ค. โดยทั้ง 2 มาตรการ จะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย.

หากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ต้องการให้ออก มาตรการช่วยเหลือ ก็สามารถพิจารณามาตรการ ของกระทรวงการคลัง ออกมาใช้ได้ทันที ซึ่งเบื้องต้นจะมีมาตรการคนละครึ่งเฟส 3 โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณไม่มาก จากที่ผ่านมา ในมาตรการคนละครึ่งเฟส 1-2 ที่มีผู้ได้สิทธิ์ 15 ล้านคน ใช้งบประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับมาตรการเราชนะ ที่มีผู้ได้สิทธิ์ 32 ล้านคน ใช้งบประมาณกว่า 2.2 แสนล้านบาท ทำให้มั่นใจว่า งบประมาณที่เหลืออยู่กว่า 3.8 แสนล้านบาท จะเพียงพอในการดูแลประชาชนได้ในปีงบประมาณ 2564

“กระทรวงการคลังประเมินว่า เฉพาะมาตรการคนละครึ่งเฟส 3 จะเพียงพอต่อการ กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการบริโภค มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อเนื่องได้ แต่จังหวะเวลาต้องพิจารณาให้เหมาะสมอีกครั้ง รวมถึงผู้ได้รับสิทธิ์ ที่คาดว่าเดิม 15 ล้านคน อาจจะครอบคลุมเพิ่มขึ้น ใกล้เคียงกับมาตรการ เราชนะ ซึ่งในส่วนนี้ก็จะครอบคลุมกลุ่มข้าราชการ ก็จะได้ประโยชน์จากมาตรการ ในรอบนี้พร้อมกัน”

นอกจากนี้ คาดว่าจะมีมาตรการอื่นออกมาเสริม เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ มากที่สุด เช่น มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีกลุ่มผู้มี รายได้ปานกลาง ไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการ ที่ผ่านมา ก็จะมีมาตรการกระตุ้นให้เกิดการ ใช้จ่ายโดยได้สิทธิประโยชน์ตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการกระตุ้นให้ผู้ที่มีรายได้สูง มีเงินออมมาก นำเงินออกมาใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ระหว่างหาข้อสรุป แต่ไม่ใช่มาตรการช้อปช่วยชาติ เป็นมาตรการที่กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังหารือ ร่วมกับผู้แทนบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ผู้นำเข้า วัคซีนโมเดอร์นา ว่า จากการหารือมีความเข้าใจกันอย่างดี สธ.พร้อมสนับสนุนการขึ้นทะเบียน แต่ต้องส่งเอกสารมาให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พิจารณาตามที่กำหนด ทั้งนี้ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้มีการกีดกันวัคซีนใดที่เข้ามาเป็นวัคซีนทางเลือก ซึ่งวัตถุประสงค์ที่เขามาขึ้นทะเบียนเพื่อที่จะขายให้ภาคเอกชน ร.พ.เอกชน มีวัคซีนสำหรับ ผู้ที่จะรับการฉีดวัคซีนนอกระบบ ร.พ.รัฐ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้มีการเจรจาในสัดส่วนของภาครัฐ

นายอนุทินกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือเขาบอกว่าโมเดอร์นาต้องการขายผ่านรัฐบาล หรือหน่วยงาน ที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลเท่านั้น พูดง่ายๆ เขาไม่ขายให้เอกชนโดยตรง ทุกบริษัทพูด เช่นนี้หมด จะต้องขายผ่านรัฐบาล ดังนั้น สธ.เลยให้คำยืนยันกับโมเดอร์นา ว่าเมื่อเอกชน ไม่สามารถซื้อได้ เพราะติดเงื่อนไขจากทางบริษัทผู้ผลิต สธ.ก็พร้อมให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้นำเข้าวัคซีน แต่ภาคเอกชนต้องคอนเฟิร์มยอดการซื้อมาให้ อภ. เพราะ อภ.ไม่สามารถซื้อมาสต๊อกเพื่อรอให้เอกชนมาซื้อต่ออีกทอดหนึ่งได้ ทั้งนี้เอกชนสามารถซื้อวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยได้ตอนนี้มี แอสตราเซเนกา ซิโนแวค จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ส่วนที่รอขึ้นทะเบียนอยู่มีไฟเซอร์ โมเดอร์นา สปุตนิก V ซึ่งถ้าเอกชนติดต่อ ซื้อตรงได้ก็ดี ถ้าซื้อยังไม่ได้ก็ซื้อผ่าน อภ.

เมื่อถามว่าประชาชนมองว่าทำไมไม่ให้สิทธิ ประชาชนเลือกชนิดวัคซีนเอง นายอนุทินกล่าวว่า เราไม่ได้สั่งวัคซีนทุกชนิดเท่ากันหมด อันนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ตอนไม่มีก็ถามว่าทำไมไม่มีวัคซีน พอมีแล้วทำไมถึงไม่มียี่ห้อนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อมีความต้องการที่หลากหลายรัฐก็ต้องเป็นผู้กำหนด

เมื่อถามย้ำว่าขณะนี้มีกลุ่มบุคลากรการแพทย์ เรียกร้องอยากฉีดของแอสตร้า เพราะมั่นใจชนิดนี้มากกว่า นายอนุทินกล่าวว่า ตอนนี้ บุคลากรฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ฉีดซิโนแวค ที่มีการปลุกระดมในโซเชี่ยลมีเดียนั้นก็ทำไป

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวช่วงหนึ่งในรายการ NBT รวมใจสู้ภัยโควิด-19 ถึงการลงทะเบียน “หมอพร้อม” จองคิวรับวัคซีน โควิด-19 ว่า ระบบหลังบ้านหมอพร้อม ร.พ.จะเป็นผู้ลงข้อมูลกลุ่มเป้าหมายฉีดวัคซีน 2 กลุ่มใน 16 ล้านโดสแรก คือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี จึงมีข้อมูลในระบบแล้ว ล่าสุดระบบปรับปรุงเพื่อให้เลือกร.พ.ได้แล้ว ซึ่ง สธ. ต้องการอำนวย ความสะดวกให้ประชาชนได้ฉีดใกล้บ้าน ไม่ต้อง เดินทางไกล อย่างไรก็ตาม ใน กทม. มีความสะดวกมากขึ้น หลาย ร.พ. เปิดบริการฉีดนอกสถานที่ เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือจุดบริการอื่นๆ

เร่งเยียวยา – พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เรียกรัฐมนตรี ทีมเศรษฐกิจหารือด่วนเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 3 พ.ค. โดยจะนำมาตรการทั้งหมดเข้าที่ประชุมครม. วันที่ 5 พ.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลหมอพร้อม ณ เวลา 12.00 น. มีผู้จองคิววัคซีนแล้ว 611,277 ราย โดยผ่านไลน์หมอพร้อม 438,247 รายและแอพพลิเคชั่น อีก 173,030 ราย

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ศธ.เตรียมความพร้อมรับมือเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ที่จะเปิดเรียนในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ จากเดิมที่กำหนดเปิดวันที่ 17 พ.ค. ซึ่งจะทำให้นักเรียนมีเวลาว่าง 11 วันก่อนเปิดภาคเรียน จึงมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ไปคิดหากิจกรรมว่านักเรียน นักศึกษาควรจะทำ กิจกรรมอะไร โดยกิจกรรมที่ทำต้องเหมาะสมกับบริบทพื้นที่ด้วย โดยนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) แจ้งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทุกเขตไปสำรวจความพร้อมของโรงเรียนแต่ละแห่งแล้ว พร้อมให้สำรวจว่าโรงเรียนมีความพร้อมที่จะจัดการเรียนการสอนแบบไหน ตาม 5 รูปแบบที่ สพฐ.ได้วางไว้ คือ 1.ON-AIR 2.ONLINE 3.ON-DEMAND 4.ON-HAND และ 5.ON-SITE เพราะ ศธ.ไม่อยากสั่งการจากส่วนกลางลงไป แต่อยากให้โรงเรียนแต่ละแห่งจัดการเรียนการสอนตามบริบทของตนและนักเรียนมากที่สุด เช่น โรงเรียนที่ไม่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี หรือโรงเรียนที่ไม่พร้อมเรียนออนไลน์ จะให้นักเรียน เรียนตามปกติ หรือเสริมทักษะอาชีพ ทักษะชีวิตให้นักเรียนได้หรือไม่ เป็นต้น

น.ส.ตรีนุชกล่าวต่อว่า ช่วงเริ่ม ศธ.ก็ประเมิน กันว่าควรจะเปิดเรียนวันที่ 1 มิ.ย.ดีหรือไม่ เพราะยังมีโรงเรียนหลายประเภทที่ไม่ได้รับผลกระทบ แต่ศธ.เป็นห่วงว่าผู้ปกครองอาจกังวลเรื่องความปลอดภัยของนักเรียน เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ยังมีผู้ติดเชื้อต่อวันจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีการสอบคัดเลือกเข้า ม.1 และ ม.4 ที่นักเรียนและผู้ปกครองอาจจะต้องเดินทางระหว่างจังหวัดเพื่อเข้าสอบคัดเลือก โดยเฉพาะโรงเรียนแข่งขันสูงกว่า 240 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะต้องเตรียมความพร้อม ในการจัดสอบด้วย เพราะโรงเรียนดังบางแห่งมีนักเรียนเข้าสอบมากกว่า 1,000 คน จำเป็นต้องมีมาตรการจัดสอบตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เช่น จัดมาตรการเว้นระยะห่าง ขอความร่วมมือกับ ผู้ปกครองไม่นั่งรอบุตรหลานในโรงเรียนเพื่อลดการรวมตัว เป็นต้น ซึ่งยอมรับว่าการจัดสอบ เข้า ม.1 และ ม.4 ทำให้ ศธ.จัดระบบยาก จึงเป็นเหตุผลที่เลื่อนเปิดภาคเรียนเพื่อให้ทุกโรงเรียนมีความพร้อมในทุกด้าน

“ส่วนที่นักวิชาการมองว่าไม่ควรเลื่อน เปิดเทอม เพราะอาจจะทำให้การศึกษาถดถอยไป 40-50 เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้เราเผชิญกับสถานการณ์ ที่ไม่ปกติ เรื่องนี้ไม่มีคำว่าใช่ และถูกที่สุด แต่การตัดสินใจครั้งนี้ ศธ.มองว่าเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุด เพราะศธ. ยึดความปลอดภัย ของนักเรียนอันดับแรก” น.ส.ตรีนุชกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน