ยื่นสสจ.ปทุมฯสอบสาเหตุ
ซิโนแวคมาถึงอีกล้านโดส
ททท.ขอ3.5ล.โดสฟื้นเที่ยว
มิย.เปิดลงคนละครึ่งเฟส3

หนุ่มร้องสสจ.ปทุมธานี ให้ผ่าศพพ่อวัย 51 ปีพิสูจน์หลังฉีดวัคซีนโควิด 2 วันแล้วเสียชีวิต สงสัยไม่เป็นโรคหัวใจ แต่ผลชันสูตรระบุกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ด้าน ‘บิ๊กตู่’ ถก ‘ซีอีโอ’ ไมโครซอฟท์ผ่านออนไลน์ที่สนง.ใหญ่สิงคโปร์ ยันรัฐบาลตั้งเป้าฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส ให้ประชาชน 50 ล้านคนสิ้นปี มั่นใจคุมโควิดได้ ก.ค.นี้ เปิดเกาะภูเก็ต นำร่องท่องเที่ยว ศบค.มท.สั่ง 77 จังหวัด จัดแผนฉีดวัคซีนทั่วถึง สภาอุตฯ-หอการค้า พอใจมาตรการเยียวยาตามมติครม.5 พ.ค. แต่ช่วยได้แค่ระยะสั้น ย้ำเร่งฉีดวัคซีนจึงกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวได้ มิ.ย.เปิดให้ลงทะเบียนคนละครึ่งเฟส 3

‘ตู่’ถก‘ซีอีโอ’ไมโครซอฟท์

เมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 6 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวปาฐกถาผ่านระบบ วีดิทัศน์ในพิธีเปิดประชุม Microsoft APAC Public Sector Summit ซึ่งจัดในรูปแบบออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ Empowering Nations for a Digital Society จัดขึ้นวันที่ 6-7 พ.ค. ที่สำนักงานใหญ่ไมโครซอฟท์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประเทศสิงคโปร์ เพื่อหารือเกี่ยวกับบทบาทดิจิตอลและฐานข้อมูลในการช่วยฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ โดยมีผู้บริหารระดับสูงของบริษัทไมโครซอฟท์ และผู้แทนจากภาครัฐและรัฐวิสาหกิจกว่า 20 คน ร่วมอภิปราย

ยันก.ค.ดีเดย์ภูเก็ตโมเดล

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า แม้ไทยจะมีศักยภาพรับมือและปรับตัวท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยตัวเลขผู้ป่วยที่ควบคุมไว้ได้ในระดับหนึ่ง และประชาชนยังใช้ชีวิตได้ค่อนข้างปกติ แต่จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลได้ทำทุกอย่างเพื่อให้ผ่านวิกฤตระลอกนี้ไปด้วยกัน มีมาตรการฟื้นฟูสถานการณ์โควิด-19 โดยใช้ช่องทางดิจิตอลมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการแก้ไขการแพร่ระบาดในด้านต่างๆ รวมทั้งแจกจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาได้ผลเป็นอย่างดี มีการเข้าถึงอย่างรวดเร็ว โปร่งใสทั่วทั้งประเทศ ประชาชนไทยพึงพอใจ และรัฐบาลตั้งเป้าจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ประชาชน 50 ล้านคนในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ ภาครัฐจะฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยแก้ปัญหาภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือ ภาคการท่องเที่ยว โดยประเทศไทยจะเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกอีกครั้ง โดยมีภูเก็ตเป็นจุดหมายนำร่องแห่งแรก เริ่มต้นในเดือนก.ค.นี้

สั่งทุกจว.จัดแผนฉีดวัคซีน

ด้านศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) เปิดเผยว่า นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสาน กับผู้ว่าฯ และผู้ว่าฯ กทม. ได้สั่งการไปยังผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อ จังหวัด หารือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคส่วนต่างๆ จัดทำแผนการจัดสรรวัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย โดยให้พร้อมเริ่มฉีดได้ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.นี้

ซิโนแวคมาอีกล้านโดส

ก่อนหน้านี้ เวลา 05.35 น. วันเดียวกัน ที่เขตปลอดอากรและคลังสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ นพ.วิทูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม (อภ.) รับมอบวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค จำนวน 1 ล้านโดส จากประเทศจีน ที่ขนส่งโดยสายการบิน แอร์ไชน่า แอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ CA603 เส้นทางปักกิ่ง-กรุงเทพมหานคร หลังจาก ก่อนหน้านี้นำเข้ามาแล้ว 2 ล้าน 5 แสนโดส รวมยอดการนำเข้าวัคซีนซิโนแวคจากประเทศจีน จำนวนทั้งสิ้น 3.5 ล้านโดส โดยวัคซีนทั้งหมดนี้จะขนส่งไปจัดเก็บยังคลังสำรองวัคซีนโควิด-19 ซึ่งมีการควบคุมอุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศา ที่ศูนย์กระจายสินค้าของ บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด

จากนั้น วันที่ 14 พ.ค.นี้ จะเข้ามาอีกจำนวน 5 แสนโดส โดยการบริจาคของประเทศจีน และสิ้นเดือนพ.ค.จะเข้ามาอีก 2 ล้านโดส จากการจัดซื้อโดยอภ.เอง

สภาอุตฯพอใจมาตรการเยียวยา

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงมาตรการเยียวยาผลกระทบเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้ ตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) 5 พ.ค.2564 ว่า ส่วนตัวรู้สึกพอใจ เพราะมองว่ารัฐบาลตัดสินใจ ออกมาตรการได้เร็ว แต่ก็ยังมีผลต่อการ กระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ระยะสั้น เนื่องจากประเมินว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิดระลอกนี้จะยืดเยื้อยาวนานกว่ามาตรการเยียวที่รัฐบาลออกมามีผลบังคับใช้เพียงแค่ 2 เดือน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจหนักมาก โดยประเมินว่าอย่างเร็วสถานการณ์จะคลี่คลายช่วงปลายปีหรือไตรมาส 4 ของปีนี้ ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลสามารถบริหารจัดการการนำเข้าและกระจายการฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้รวดเร็วทั่วถึงและครบโดส 70-80% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศโดยเร็วที่สุด ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

ย้ำเร่งฉีดวัคซีนถึงฟื้นเชื่อมั่น

“หัวใจสำคัญคือการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงและครบโดสให้เร็วที่สุด เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา ประชาชนจะกล้าออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ภาคเอกชนโดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้องก็กลับมาดำเนินกิจการต่อไปได้ เป็นการแก้ปัญหาระยะยาวมากกว่า” นายสุพันธุ์กล่าว

หอการค้าถก‘บิ๊กป๊อก’

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า วันนี้ได้นำคณะกรรมการเข้าพบ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เพื่อหารือแนวทางการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ตามนโยบาย Connect the dots ทั้งนี้ ภารกิจเร่งด่วนของหอการค้าไทยภายใน 99 วันแรก คือการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อเร่งสร้างความเชื่อมั่น และแก้ปัญหาของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ขณะเดียวกันก็วางรากฐานไปสู่การฟื้นตัวอย่างยั่งยืน โดยหนึ่งในภารกิจเร่งด่วนดังกล่าว คือ การเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชน เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ ซึ่งความคืบหน้าของทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีนได้รวบรวมสถานที่ฉีดวัคซีนทั่วประเทศ จากภาคเอกชนจำนวน 372 แห่ง แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 82 แห่ง ต่างจังหวัด 290 แห่ง รวมทั้งสนับสนุน ระบบคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ ไอที พรินเตอร์ เครื่องอ่านบัตร อาสาสมัคร พร้อมอาหารและน้ำดื่ม

ขอตั้งกกร.นั่งกก.คุมโรคจว.

“ขอให้พิจารณาแต่งตั้งให้ภาคเอกชน หรือ กกร.แต่ละจังหวัด ร่วมเป็นที่ปรึกษาหรือกรรมการในคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อในระดับจังหวัด เพื่อร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาครัฐ ในการสนับสนุนด้านสาธารณสุข การกำหนดมาตรการ ควบคู่กับการฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจของพื้นที่” นายสนั่นกล่าว

ชะลอทราเวลบับเบิล

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การทำทราเวลบับเบิล (การเดินทางข้ามประเทศโดยไม่ต้องกักตัว) 4 ประเทศ คือ สิงคโปร์ เวียดนาม ลาว มาเลเซีย และ 1 เขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ ฮ่องกง ต้องชะลอออกไปก่อน นื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิดระลอกเดือนเม.ย.ยังค่อนข้างรุนแรงและเป็นวงกว้าง

ส่วนการเปิดรับนักท่องเที่ยวจะเกิดขึ้นได้ วัคซีนน่าจะเป็นทางออก หากทั่วประเทศมี ผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 200 คน แต่ภูเก็ตไม่เป็นศูนย์ ต้องหารือกับ ศบค.อีกก่อนพิจารณาเปิดรับนักท่องเที่ยว ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) ในวันที่ 7 พ.ค.นี้ ททท.จะเสนอขอวัคซีนให้บุคลากรด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถ ฉีดได้ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย 70% ของประชากร

อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด-19 ทำให้กระทรวงต้องนำเรื่องการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยว โดยเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย คนละ 300 บาทสะสมไว้ใช้พัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จะเรียกว่า ค่าเหยียบแผ่นดิน หรือ ค่าประกันก็ได้ เพื่อสำรองไว้ สำหรับรับมือกับวิกฤต ที่ไม่คาดคิด ตั้งเป้าเริ่มดำเนินการปี 2565 และหากดำเนินการได้ปี 2565 จะมีเงินเข้ากองทุนประมาณ 6,200 ล้านบาท กองทุนนี้ได้ผ่านการพิจารณาของท.ท.ช.แล้ว

สำรวจยอดปิดกิจการ-เยียวยา

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.อยู่ระหว่างสำรวจผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร ทัวร์ และ ร้านขายของที่ระลึก ว่าขณะนี้มีสถานภาพทางการเงิน มีการรักษาการจ้างงานไว้ได้หรือไม่ การบริหารจัดการธุรกิจเป็นอย่างไร หลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยการสำรวจครั้งนี้จะสำรวจทั้งที่อยู่ในระบบ และที่อยู่นอกระบบ

“ปลายเดือนพ.ค.น่าจะได้ความชัดเจนว่า ธุรกิจที่เหลือรอดจากการระบาดของโควิด มีจำนวนเท่าไหร่ ปิดกิจการ ลดคน หรือเลิกจ้างไปเท่าไหร่ ในจำนวนที่เหลือรอดต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างไร ส่วนนอกระบบที่ผ่านมาเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือของ ภาครัฐ จะต้องช่วยเหลืออย่างไร หากมีความชัดเจนของข้อมูลอีกประมาณ 1 เดือน ททท.จะร่วมหารือกับกระทรวงการคลัง และเอกชน เพื่อหามาตรการที่จะช่วยให้ธุรกิจท่องเที่ยวให้รอดจากวิกฤตโควิด” นายยุทธศักดิ์กล่าว

ขอ 3.5 ล้านโดสฉีดให้ททท.

นายยุทธศักดิ์กล่าวต่อว่า ในการประชุม ท.ท.ช.ในวันที่ 7 พ.ค. ททท.จะเสนอขอวัคซีน 3.5 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กับบุคลากรด้านการท่องเที่ยว เพื่อรองรับการ เปิดรับนักท่องเที่ยวผ่านภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ในเดือนก.ค. และต.ค. ในจังหวัดนำร่อง อื่นๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย

ลดภาษี 2 ปีบริจาคช่วยวัคซีน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มติครม. 5 พ.ค. เห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนทั้งบุคคล และบริษัท ห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล ได้มีส่วนร่วมสนับสนุน การวิจัย การพัฒนา การผลิตและการกระจายวัคซีนโควิด-19 โดยบริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) กรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2564 ถึง31 ธ.ค.2566

คลังมุ่งเป้าฟื้นศก.ครึ่งปีหลัง

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจ การคลัง (สศค.) กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ วันที่ 7 พ.ค. ซึ่งมีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เป็นประธาน จะมีการพิจารณารายละเอียดของมาตรการระลอกใหม่เพิ่มเติม ในส่วนของมาตรการเราชนะ และมาตรการ ม.33 เรารักกัน ซึ่งจะเพิ่มวงเงินสิทธิ์ให้ประชาชนที่ได้รับสิทธิ์อีกสัปดาห์ ละ 1 พันบาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ รวมคนละ 2,000 บาท โดยใช้งบประมาณ 8.55 หมื่นล้านบาท หลังจากนั้นจะเร่งเสนอให้ที่ประชุมครม. พิจารณาภายในสัปดาห์หน้า เพื่อให้เม็ดเงิน ใหม่เข้าสู่มาตรการได้ไม่เกินเดือนพ.ค.2564

น.ส.กุลยากล่าวต่อว่า ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หรือตั้งแต่ ก.ค.-ธ.ค. รัฐบาลยังเตรียมที่จะออก มาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ ปี2564 เพื่อฟื้นฟู ดูแลประชาชน ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม และเพื่อเป็นการดูแลฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยเมื่อสถานการณ์ การระบาดคลี่คลายในระยะต่อไป รวมถึงเพื่อเป็นการรักษาระดับและทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเน้นในการให้ความช่วยเหลือครอบคลุมกว่า 51 ล้านคน จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 4 แสนล้านบาท โดยมาตรการประกอบด้วย

โครงการเยียวยาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการเยียวยยากลุ่มผู้ต้องการความ ช่วยเหลือเป็นพิเศษ ครอบคลุม 16.15 ล้านคน โดยจะให้วงเงินสิทธิ์ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ/ บัตรประจำตัวประชาชนไปใช้ ณ ร้านธงฟ้า ร้านค้า และผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 จำนวน 200 บาทต่อคน ต่อเดือน คิดเป็น 1.2 พันบาทต่อคนตลอดระยะเวลาโครงการ 6 เดือน (ก.ค.-ธ.ค.2564) และโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ครอบคลุม 31 ล้านคน แบ่งเป็น ประชาชนที่อยู่ในโครงการอยู่แล้ว 15 ล้านคน และเปิดให้ลงทะเบียนใหม่อีก 16 ล้านคน เงื่อนไขโครงการเหมือนเดิม โดยโครงการจะเริ่มตั้งแต่ ก.ค.-ธ.ค. 2564

มิ.ย.ลงคนละครึ่งเฟส 3

น.ส.กุลยากล่าวว่า คาดว่า จะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนมาตรการคนละครึ่ง เฟส 3 ให้ครอบคลุม 31 ล้านคน ได้ภายในเดือนมิ.ย.นี้

ส่วนมาตรการ ยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งรัฐจะสนับสนุนอี-เวาเชอร์ ค่าซื้อ สินค้า ค่าอาหาร เครื่องดื่ม และบริการกับ ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ไม่เกิน 5 พันบาทต่อคนต่อวัน สะสมสูงสุดไม่เกิน 7 พันบาทต่อคน โดยการใช้จ่ายจะได้รับ อี-เวาเชอร์ ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย. 2564 และใช้จ่ายได้ในเดือน ส.ค.-ธ.ค. 2564 ผ่านจี-วอลเล็ต โดยมาตรการนี้ครอบคลุม 4 ล้านคน

วัคซีน – กทม.ตั้งจุดฉีดวัคซีนโควิดให้ชาวชุมชนคลองเตย ที่โรงเรียนวัดคลองเตย ขณะที่นายสถาพร ม่วงวัง (รูปเล็ก) ยื่นหนังสือถึงสสจ.ปทุมธานี ขอให้ผ่าพิสูจน์ศพพ่อ หลังฉีดวัคซีน 2 วันแล้วเสียชีวิต เมื่อวันที่ 6 พ.ค.

หนุ่มฉีดวัคซีนโควิด 2 วันดับ

ส่วนกรณี นายสมชาย ม่วงวัง อายุ 51 ปี พนักงานขับรถส่งฟิล์มเอกซเรย์ ของบริษัทแห่งหนึ่งในจ.ปทุมธานี เสียชีวิต หลังจากบริษัทเห็นว่านายสมชายต้องสัมผัสกับกลุ่ม ผู้เสี่ยงสูง จึงให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด เมื่อวันที่ 29 เม.ย. กระทั่งผ่านไป 2 วัน นายสมชาย บ่นกับนายสมศักดิ์ ม่วงวัง อายุ 76 ปี บิดาว่ามีอาการเจ็บแน่นบริเวณหน้าอก และออกไปตกปลาที่แม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวกอีก จึงแวะไปหาเพื่อนให้ช่วยพาส่งร.พ. เพื่อนได้ประสานรถกู้ชีพนำตัวส่ง ก่อนเสียชีวิตลง โดยมีผลชันสูตรระบุว่ากล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

ลูกร้องผ่าศพพ่อพิสูจน์

วันเดียวกัน นายสถาพร ม่วงวัง อายุ 27 ปี เดินทางมาที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ปทุมธานี เพื่อยื่นหนังสือถึง นพ.สุรินทร์ สืบซึ่ง นพ.สสจ.ปทุมธานี เพื่อให้ผ่าพิสูจน์ศพนายสมชาย บิดาที่เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

นายสถาพรเปิดเผยว่า อยากทราบสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัด และยังสงสัยว่าพ่อไม่มีประวัติเกี่ยวกับโรคหัวใจ เพราะถ้าพ่อเป็นโรค หัวใจก็ไม่สามารถพายเรือไปตกกุ้งได้ เมื่อไปตรวจสุขภาพมาก็ไม่ได้เป็นอะไร ซึ่งพ่อไปฉีดวัคซีนวันที่ 29 เม.ย. ซึ่งเป็นเข็มแรกและเสียชีวิตลง

ด้านนพ.สุรินทร์กล่าวว่า การพิจารณาเคสนี้ เป็นอำนาจของเขตประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 4 สระบุรี ส่วนสสจ.ปทุมธานียังไม่มีอำนาจ แต่จะรับเรื่องไว้ และทำเรื่องส่งไปให้พิจารณา ซึ่งก็ต้องพิสูจน์ให้ถูกต้องและเข้าสู่กระบวนการสอบสวนโรคต่อไป

นพ.อภิชน จีนเสวก รักษาการนายแพทย์เชี่ยวชาญเวชกรรมป้องกัน กล่าวว่า เคสนี้ต้องผ่าชันสูตรพลิกศพกันอีกครั้ง ซึ่งทางเราจะขอความอนุเคราะห์ทางคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ที่จะนำไปผ่าชันสูตรว่าสาเหตุการเสียชีวิต เกิดจากอะไรกันแน่ และจะประสานการเคลื่อน ย้ายศพผู้เสียชีวิตไปอีกครั้งหนึ่ง

รอผลสอบกราฟหัวใจ

นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า รายนี้คณะกรรมการพิจารณาเหตุการณ์ ไม่พึงประสงค์จากวัคซีนกำลังสอบสวน เมื่อมีผู้เสียชีวิตก็ต้องพิจารณาและดูข้อมูลอย่างละเอียด โดยรายนี้มีรายงานว่าเกิดจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เท่าที่อ่านข้อมูลเบื้องต้นถือว่ามีอาการเข้าได้กับโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายชัดเจน เนื่องจากมีอาการเจ็บหน้าอก แต่หลักฐานข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนที่สุดว่าเป็นโรคนี้หรือไม่ คือกราฟการเต้นของหัวใจ คาดว่าใช้เวลาไม่นาน จะได้ข้อสรุปออกมาเร็วๆ นี้ หากมีหลักฐานชัดเจนก็สามารถ ฟันธงได้ สำหรับโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมักพบในคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และเบาหวาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน