ยันคนลง‘หมอพร้อม’ ได้แอสตร้าฯแน่นอน เกณฑ์วัคซีนทางเลือก อยากใช้-ต้องจ่ายเอง! ตู่สั่งตุนเพิ่ม150ล.โดส

สธ.แจงวุ่นฉีดซิโนแวคคนอายุ เกิน 60 ปี แค่แก้ขัด ช่วงที่แอสตร้าเซนเนก้ายังไม่มา เน้นคนไม่มีโรคประจำตัว แต่คนจองหมอพร้อม และ 7 โรคเรื้อรังได้ฉีดแอสตร้าฯ แน่ องค์การเภสัชฯ-สมาคม ร.พ.เอกชนเคาะแล้ว วัคซีนทางเลือก อยากฉีดจ่ายเงินเอง รวมทั้งค่าประกันความเสี่ยงด้วย ด้านโฆษกรัฐบาลยันสปสช.พร้อมจ่าย ใครแพ้วัคซีนถึงตายจ่าย 4 แสน

กทม.เร่งฉีดวัคซีน เพิ่มจุดฉีดนอกร.พ. 25 แห่ง นายกฯสั่งปรับแผนฉีดวัคซีน ปูพรมฉีดเข็ม 1 ก่อน ตั้งเป้าเกินครึ่งประเทศก.ค.นี้ เตรียมสต๊อกวัคซีนเพิ่มเป็น 150 ล้านโดส สั่งทุกหน่วยงานเร่งเจรจาจัดซื้อ

นายกฯปรับแผนวัคซีน

วันที่ 8 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม โพสต์ในเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ระบุดำเนินการ 3 แนวทางเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ประกอบด้วย 1.เพิ่มจำนวนวัคซีน จากเดิม ตั้งเป้า 100 ล้านโดส เป็น 150 ล้านโดส หรือมากกว่านั้นแม้บางส่วนจะส่งมอบได้ในปีหน้า เพื่อให้มีวัคซีนเพียงพอสำหรับคนไทยทุกคน ตามที่มีประชากร 60 ล้านคน และวัคซีนสำรอง

2.สั่งทุกหน่วยงานทำงานเชิงรุกมากขึ้น เพื่อให้เจรจาสั่งซื้อวัคซีนคืบหน้าได้เร็วกว่านี้ โดยตอนนี้เจรจากับผู้ผลิต 7 ราย และกำลังเจรจาเพิ่มเติม หาวัคซีนใหม่ๆ จากผู้ผลิตรายใหม่ แต่ทั้งโลกยังแย่งกันซื้อวัคซีนให้ประเทศตัวเอง ทำให้การจัดหาวัคซีนเป็นเรื่องลำบาก 3.ปรับแนวทางการฉีด เร่งเครื่องการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชาชนจำนวนมากที่สุด เพื่อลดโอกาสในการรับเชื้อ ลดความรุนแรงของอาการ และลดโอกาสในการเสียชีวิตไปได้อย่างมาก

โดยจะปูพรมฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับประชาชนจำนวนมากที่สุด ซึ่งจะทำให้ในช่วงประมาณปลายเดือนก.ค. ประเทศไทยจะมีประชากรผู้ใหญ่ จำนวนครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ ที่จะได้รับวัคซีนเข็มแรกและได้รับการปกป้องจากอันตรายของโควิด-19 แล้ว

อย่างไรก็ตาม โพสต์ของพล.อ.ประยุทธ์ เกี่ยวกับ 3 แนวทางจัดการวัคซีน ถูกปิดการแสดงความเห็น ไม่ให้บุคคลทั่วไปแสดงความคิดเห็นได้ ทำให้ประชาชนผู้ใช้เฟซบุ๊กบางส่วนต่างแชร์โพสต์ พร้อมแสดงความเห็นหลากหลาย โดยส่วนใหญ่ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดไม่เปิดรับฟังความเห็นประชาชน บางส่วนแสดงความเห็นดุเดือด ทั้งนี้พบว่าเพจดังกล่าวปิดกั้นการแสดงความเห็นตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา

แจงวุ่น-ซิโนแวคสูงวัย

นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19 กล่าวว่า การอนุญาตให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคในคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อให้กลุ่มดังกล่าวเข้าถึงวัคซีนในช่วงที่ยังไม่มีวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งจะเป็นวัคซีนหลักของไทยตั้งแต่ มิ.ย.เป็นต้นไป แต่ใน ช่วง พ.ค.มีแต่วัคซีนของซิโนแวค ซึ่งขณะนี้มีการระบาดมาก โดยเฉพาะในเขตชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ กทม. ก็ต้องเร่งฉีดในกลุ่มบุคคลเสี่ยง ซึ่งผู้สูงอายุก็เป็นกลุ่มเสี่ยง การจะรอแอสตร้าฯ ใน มิ.ย.คงไม่สามารถรอได้

ประกอบกับทางการจีนมีข้อมูลศึกษาวิจัยว่า ฉีดในคนอายุ 60 ปีขึ้นไปได้ด้วย จึงต้องคลายล็อกตรงนี้ เพื่อนำไปฉีดในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปได้ จะช่วยลดการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ยังฉีดรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่เกษียณอายุไปแล้ว แต่ยังต้องทำงานช่วยตรงนี้ นับเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สามารถฉีดซิโนแวคได้เช่นกัน

นพ.โสภณกล่าวว่า ส่วนผู้ที่จองวัคซีนในระบบหมอพร้อมในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปและกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคจะได้รับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า เพราะจะมีวัคซีนนี้ถึง 16 ล้านโดสใน มิ.ย. และ ก.ค.64 ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลัก ยกเว้นในช่วงที่ไม่มีวัคซีนชนิดนี้ และมีแต่วัคซีนของซิโนแวค หรือ แพทย์ที่ดูแลใช้ดุลพินิจว่าผู้สูงอายุคนนี้สมควรได้รับวัคซีนซิโนแวค

“เดือน พ.ค. ที่ยังไม่มีวัคซีนของแอสตร้าฯ ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ ก.พ.จนถึงปัจจุบันมีวัคซีน ซิโนแวคลงพื้นที่ทั่วประเทศไปแล้ว 2.5 ล้านโดส และ พ.ค. นี้จะมาอีก 3.5 ล้านโดส แบ่งเป็นต้นเดือน พ.ค. 1 ล้านโดส กลางเดือนอีก 5 แสนโดส และปลายเดือนนี้อีก 2 ล้านโดส รวมเป็น 3.5 ล้านโดส

ส่วน มิ.ย. จะเป็นวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ที่จะส่งมอบตามแผนการบริหารจัดการวัคซีน ดังนั้น กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและกลุ่ม 7 โรคเรื้อรังที่จองการฉีดวัคซีนผ่านระบบ “หมอพร้อม” หรือทางร.พ.จะเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า” นพ.โสภณกล่าว

ฉีดวัคซีนดับ-จ่าย4แสน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ศบค.ให้แนวทางชัดเจนแก่ทุกส่วนราชการ ให้ดูแลผู้ป่วย โควิด-19 ทุกกรณีทั้งตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด คัดกรองก่อนผ่าตัด ตรวจเชิงรุกตามดุลพินิจของแพทย์ หากผลตรวจไม่พบเชื้อสามารถตรวจซ้ำได้ฟรีหลังกักตัวครบ 14 วัน แต่หากผลตรวจมีการพบเชื้อ จะได้รับการดูแลเข้ารับการรักษาฟรีในโรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลทางเลือก (Hospitel) หรือ โรงพยาบาลสนาม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เนื่องจากรัฐบาลจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนประชาชน

ยืนยันว่ารัฐบาลดูแลทุกคนทุกสิทธิ์ นายอนุชากล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบที่อาจเกิดการฉีดวัคซีนตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 คุ้มครองตั้งแต่วัคซีนเข็มแรกที่ฉีดให้คนไทยเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) มีมติเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2564

หากประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีอาการไม่พึงประสงค์ กรณีตาย ทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท กรณีเสียอวัยวะ พิการ จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท และหากบาดเจ็บ เจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท โดยสปสช.จะจ่ายภายใน 5 วัน หลังจากที่คณะกรรมการได้รับเรื่องแล้ว

วัคซีนทางเลือกต้องจ่ายเอง

วันเดียวกัน องค์การเภสัชกรรม และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน แถลงข่าวผ่านระบบ Microsoft Teams เรื่อง องค์การเภสัชกรรมพร้อมจัดหาวัคซีนให้กับร.พ. เอกชน โดยนพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายก สมาคมร.พ.เอกชน กล่าวว่า ขณะนี้ให้เอกชนสำรวจภายในของตนเอง เพราะทุกคนมีฐานลูกค้าอยู่แล้ว ส่วนวัคซีนที่ต้องจ่ายเงินเอง จะไม่เน้นกำไร จะคิดค่าบริการจากต้นทุนวัคซีน ค่าบริการ ค่าสังเกตอาการหลังการฉีด และค่าประกัน ซึ่งตัวแปรสำคัญคือต้นทุนวัคซีนที่จะนำเข้ามาแต่ละตัวจะไม่เท่ากัน

โดยขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะเป็นตัวไหน จึงยังไม่สามารถระบุราคาแพ็กเกจได้ แต่ในส่วนของค่าประกันเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนนั้นได้มีการหารือกับ คปภ.แล้วเบื้องต้น โดยได้ออกแบบให้มีผลตั้งแต่เข็มที่ 1 และครอบคลุม 90 วัน ซึ่งราคาทำประกันจะอยู่ในกรอบ 50-100 บาท โดยจะไม่ให้เกิน 100 บาท

“การบริการวัคซีนทางเลือกในส่วนของร.พ.เอกชนที่เป็นสมาชิกสมาคมร.พ.เอกชนที่มีเกือบ 400 แห่งทั่วประเทศจะเป็นแพ็กเกจที่มีราคาเดียวกันทั่วประเทศ เพราะการให้บริการตรงนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงวัคซีนมากขึ้น เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่โดยเร็ว ไม่ได้หวังกำไร แต่ยังไม่สามารถระบุราคาแพ็กเกจได้ เพราะยังไม่ทราบราคาต้นทุนวัคซีนดังที่กล่าว” นพ.เฉลิมกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีมีผลข้างเคียงจากวัคซีนโควิดจะดำเนินการอย่างไร นพ.เฉลิมกล่าวว่า ต้องขึ้นกับคณะแพทย์ของทาง ร.พ.ว่า เกิดจากผลแทรกซ้อนของวัคซีนหรือไม่ เช่น หากเป็นอาการปานกลางครอบคลุม 1 แสนบาท แต่กรณีเสียชีวิตจะครอบคลุม 1 ล้านบาท ประเด็นอยู่ที่ว่า ต้องมีคณะกรรมการแพทย์ของแต่ละ ร.พ.เป็นผู้ลงความคิดเห็น

กทม.ฉีดครู-พนง.ออฟฟิศ

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า การกระจายวัคซีนโควิด-19 ใน กทม.และปริมณฑล ตอนนี้มีวัคซีนเข้ามามากขึ้น โดยวันที่ 6 พ.ค.มีวัคซีนเข้ามา 1 ล้านโดส วันที่ 14 พ.ค.มาอีก 5 แสนโดส วันที่ 22 พ.ค.มาอีก 1 ล้านโดส กลมๆ คือ 2.5 ล้านโดส สัปดาห์หน้าจะระดมฉีด ครึ่งหนึ่งอยู่ในกทม.และปริมณฑล

โดยรองผู้ว่าฯ กทม.เสนอว่าสัดส่วนของ กทม.จะขอเสนอให้ฉีดวัคซีนในผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะ บุคลากรครู พนักงานเก็บขยะ กทม. การท่าอากาศยานดอนเมือง รวมทั้งลูกเรือ กัปตัน ฟรอนต์ไลน์ พนักงานออฟฟิศทั้งหลาย การท่าเรือ พนักงานการไฟฟ้า ประปา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกรมควบคุมโรคมีเป้าหมายจัดสรรวัคซีนโดยเร็วกับบุคคลที่ทำงานสาธารณะ ครู พนักงานขนส่งสาธารณะ เรือ รถ เครื่องบิน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม

จึงมีการพูดคุยเตรียมความพร้อมการฉีดวัคซีน ซึ่งก่อนหน้านี้กระจายทุกจังหวัดแล้ว ตอนนี้วัคซีนมาถึงก็เตรียมสถานที่ฉีดให้ได้ตามแผน มีการกำหนดการฉีดต้องการความปลอดภัยสูงสุด สถานที่ฉีดจึงเป็น ร.พ. มีแพทย์ ห้องฉุกเฉิน กรณีจำเป็นต้องการช่วยเหลือ ตอนนี้ฉีดเป็นล้านเมื่อมั่นใจปลอดภัย จึงพิจารณาให้ฉีดได้ กทม.จัด 115 แห่ง ที่สามารถจัดเป็นสถานที่ฉีดได้ เอกชน 14 แห่ง กระจายไปที่มหาวิทยาลัย อยากให้ติดตามรายละเอียดในส่วนของ กทมและปริมณฑลที่จะระดมฉีดระยะใกล้นี้ ส่วนที่ฉีดที่ไม่ใช่ ร.พ.จะมีการจัด ร.พ.พี่เลี้ยง ยังเน้นย้ำให้มีความปลอดภัยกับประชาชน

ร่วมเอกชนเพิ่มจุดฉีดวัคซีน

ที่ศาลาว่าการกทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.เป็นประธานการประชุมหารือการดำเนินการหน่วยความร่วมมือบริการวัคซีนโควิด-19 กรุงเทพมหานคร-สภาหอการค้าไทย นอกโรงพยาบาล โดยมี พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯ กทม. นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหา นคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย ดร.กฤษณะ วจีไกรลาศ กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย ผู้บริหารสภาหอการค้าไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า กทม.ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจัดสถานที่นอกสถานพยาบาลเพื่อให้บริการฉีดวัคซีน โควิด-19 เดิมพร้อมให้บริการ 14 แห่ง ได้แก่ SCG บางซื่อ เซ็นทรัลสาขาลาดพร้าว เดอะมอลล์บางกะปิ โรบินสันลาดกระบัง โลตัสมีนบุรี สามย่านมิตรทาวน์ True Digital Park ธัญญาพาร์ค เอเชียทีค เซ็นทรัลปิ่นเกล้า ไอคอนสยาม PTT Station พระราม 2 เดอะมอลล์ บางแค และบิ๊กซีบางบอน

สภาหอการค้าไทยได้เสนอสถานที่ฉีดวัคซีนเพิ่มเติมอีก 11 แห่ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการเตรียมพร้อมอุปกรณ์ และสำนักอนามัย กทม. จะลงพื้นที่ตรวจความพร้อมเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด รวมสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ 25 แห่ง ศักยภาพการให้บริการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 1,000-3,000 คน/วัน รวม 25 แห่ง สามารถให้บริการได้ 38,000-50,000 คน/วัน เบื้องต้นทุกแห่งจะเปิดให้บริการต่อเนื่อง 7 เดือน ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย เขตคลองเตย

นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหา นคร กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจสถานที่เตรียมขยายจุดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรค โควิด-19 ว่า สำนักอนามัย ร่วมกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่ดำเนินการตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก เพื่อหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยการสว็อบ โดยนำรถพระราชทานเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยเข้าเก็บตัวอย่างกลุ่มเสี่ยงในชุมชนอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรค โควิด-19 เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในชุมชนพื้นที่เขตคลองเตย ได้ตั้งจุดให้บริการฉีดวัคซีน 2 จุด บริเวณโรงเรียนวัดคลองเตย และลานหน้าศูนย์สรรพสินค้าโลตัส สาขาพระราม 4

โดยเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 4-7 พ.ค.64 มีผู้รับบัตรคิว 7,675 ราย รับบริการฉีดวัคซีน รวมทั้งสิ้น 7,093 ราย ไม่ได้การฉีดเนื่องจากไม่เข้าเกณฑ์ 582 ราย นอกจากนี้เพื่อให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แก่กลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ชุมชนเขตคลองเตยครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้ 50,000 คน จึงขยายจุดบริการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม บริเวณพื้นที่ด้านข้างโกดัง การท่าเรือแห่งประเทศไทย

โดยจัดเตรียมสถานที่ให้พร้อมสำหรับให้บริการประชาชน กำหนดทางเข้า-ออก จุดพักคอย จัดทีมแพทย์ พยาบาล และ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ พรินเตอร์ ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง และการแจกบัตรคิว กำหนดช่วงเวลาเข้ารับบริการตามหมายเลขบัตรคิว เพื่ออำนวยความสะดวก ลดความแออัดในการเข้ารับบริการ โดยจุดบริการฉีดวัคซีน จุดที่ 3 บริเวณพื้นที่ด้านข้างโกดัง การท่าเรือแห่งประเทศไทย จะสามารถเปิดให้บริการได้ในวันที่ 10 พ.ค.นี้

เอกชนขอรัฐบาลเยียวยา

ขณะที่สมาคมภัตตาคารไทย นำโดย นาง ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ออกจดหมายเปิดผนึกถึงพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผอ.ศบค.เพื่อนำเสนอมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารให้สอดคล้องกับสถานการณ์แพร่ระบาดในปัจจุบัน ที่ผ่านมาภาคธุรกิจร้านอาหารปฏิบัติตามคำสั่งศบค.วันที่ 29 เม.ย.2564 ห้ามนั่งกินในร้าน 14 วัน เพื่อตัดวงจรแพร่ระบาด แต่ภาคธุรกิจร้านอาหารไม่มีสายป่านยาวเกินกว่านี้ จึงขอความชัดเจนการเปิดให้นั่งในร้านซึ่งเป็นรายได้หลัก และจะมีการเยียวยาอย่างไร

โดยภาคผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ตระหนักเป็นอย่างดีในความสำคัญของปัญหาวิกฤตการระบาดโควิด-19 นี้ และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมหยุดยั้งการแพร่ระบาดโดยเร็ว แต่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดและมาตรการควบคุมต่างๆ ในระยะเวลา 1 ปีเศษทั้งระลอก 1-2-3 ก่อให้เกิดความเสียหายต่อกิจการและครอบครัวอย่างแสนสาหัส จึงหวังนายกรัฐมนตรี จะให้ความช่วยเหลือ ตามที่ได้เสนอมาตรการช่วยเหลือ

เพื่อให้นายกฯพิจารณา 2 ส่วนหลัก ดังนี้ ส่วนที่ 1 ความช่วยเหลือด้านต้นทุน ค่าใช้จ่าย โดยออกคำสั่งหรือข้อกำหนดให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้ในการขอลดค่าเช่ากับผู้ให้เช่า มีมาตรการโครงการช่วยเหลือค่าเช่าคนละครึ่ง

นอกจากนั้นประสานห้างสรรพสินค้าลดค่าเช่าอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ และให้เจ้าของอาคารผู้เช่าสามารถนำส่วนลดไปขอลดหย่อนภาษีได้ เพื่อเป็นการจูงใจ มาตรการช่วยเหลือด้านภาษี เงินทุน ให้งดการจัดเก็บภาษีรอบระยะเวลาบัญชี 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา

สำหรับธุรกิจร้านอาหาร และยืดระยะเวลาในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มออกไป 6 เดือน และลดค่าน้ำ ค่าไฟ 30 เปอร์เซ็นต์ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ตั้งแต่รอบบิลเดือนเม.ย.เป็นเวลา 6 เดือน พร้อมจัดแหล่งเงินกู้ และให้เจ้าของธุรกิจร้านอาหารเข้าถึงแหล่งเงินกู้ เพิ่มสภาพคล่องเพื่อประคับประคองธุรกิจฯ

ส่วนที่ 2 ความช่วยเหลือด้านการขาย รายได้ ออกมาตรการจูงใจการใช้จ่ายภาคประชาชน เช่น โครงการคนละครึ่งฯ ม33 เรารักกัน และอนุญาตให้ภัตตาคาร ร้านอาหาร ที่เป็นนิติบุคคล สามารถเข้าร่วมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจทุกโครงการของรัฐบาลได้ เช่น โครงการคนละครึ่ง, ไทยชนะ, ม33 มีมาตรการควบคุมค่าส่วนแบ่งการขาย หรือ GP จากแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ที่ปัจจุบันที่อัตราสูง จนเกิดภาระไม่คุ้มทุนของฝั่งร้านอาหาร ให้อยู่ในอัตราเหมาะสมอย่างน้อยในช่วงเวลานี้ และหรือมีมาตรการช่วยแบ่งเบาค่า GP ดังกล่าว

ขอให้ใช้งบประมาณภาครัฐ หน่วยงานปกครองท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ ในการจัดหาอาหาร เครื่องดื่ม ให้กับหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ เช่น โรงพยาบาลสนาม สั่งอาหารเพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ อาหารกล่องแจกแก่ประชาชนผู้ประสบภาวะวิกฤตโควิด ตกงาน ขาดรายได้ หรือให้ความร่วมมือหยุดอยู่บ้าน และให้กกร. ที่มีสมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ลงขันจ้างร้านอาหารในท้องถิ่นทำอาหารกล่อง เพื่อให้มีเม็ดเงินหมุนในระบบ รักษาสภาพการจ้างงานพนักงานในร้านอาหาร

อีกทั้งยังมีความสามารถมาอุดหนุนซัพพลายเออร์และช่วยพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสด มีผลถึงเกษตรกร ในการสั่งซื้อวัตถุดิบมาประกอบปรุง ก่อให้เกิดกระแสเงินสดหมุนเวียนให้กับร้านอาหารเป็นการเฉพาะหน้าได้ โดยให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขคอยควบคุมกระบวนการผลิตอาหารตามมาตรการป้องกัน

ยังข้องใจ – ครอบครัวทำพิธีฌาปนกิจนายสมชาย ม่วงวัง เสียชีวิตหลังจากฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ยี่ห้อซิโนแวค ท่ามกลางความเศร้าสลดที่วัดบางพัง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยลูกชายยังไม่เชื่อสาเหตุโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตามที่โรงพยาบาลชี้แจง เมื่อวันที่ 8 พ.ค.

ญาติยังข้องใจ-รอผลชันสูตร

ที่วัดบางพัง ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี สถานที่ตั้งศพของนายสมชาย ม่วงวัง อายุ 51 ปี พนักงานบริษัทเอกซเรย์แห่งหนึ่ง ที่เสียชีวิตลงหลังเข้ารับการฉีดวัคซีนต้านไวรัสยี่ห้อซิโนแวค เพียง 2 วัน ทำให้ทางครอบครัวผู้เสียชีวิตติดใจและสงสัยสาเหตุการเสียชีวิตของนายสมชาย มีพิธีฌาปนกิจในเวลา 16.00 น.

โดยนายสถาพร ม่วงวัง บุตรชายของนายสมชาย กล่าวว่า หลังจากเมื่อวันที่ 6 พ.ค. ร.พ.รามาธิบดี นำร่างของพ่อตนไปผ่าชันสูตรเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงแล้ว ผลแจ้งว่าพ่อของตนมีอาการของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ แต่ผลตรวจยังไม่เป็นทางการ ซึ่งจะต้องรออีก 3 วัน จึงจะทราบผลตรวจอย่างละเอียดที่แท้จริง นายสถาพรกล่าวว่า เมื่อทางโรงพยาบาลโทร.มาบอกว่าพ่อตนเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ตนกับครอบครัวก็อดสงสัยกันต่อไม่ได้ว่า ถ้าพ่อเป็นโรคหัวใจตีบจริง แต่ทำไมพ่อไม่เคยมีอาการเจ็บป่วยหรือแน่นหน้าอกปรากฏให้คนในครอบครัวเห็นมาก่อนเลย

และหากจะยืนยันว่าพ่อของตนเสียชีวิตจากเส้นเลือดหัวใจตีบ ตนก็อยากจะถามว่า เกิดจากผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนซิโนแวคใช่ไหม เพราะมี ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าวัคซีนอาจมีผลต่อสภาวะลิ่มเลือด เลือดตกตะกอนและมีผลต่อร่างกาย ซึ่งหากตรวจสอบก่อนว่าเป็น ก็อาจจะไม่ฉีด ซึ่งเชื่อว่าพ่อจะมีอายุอยู่นานกว่านี้แน่

“เมื่อเห็นว่าจะปรับใช้วัคซีนซิโนแวคกับ ผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ทั้งที่ก่อนนี้ก็บอกว่าไม่เหมาะ ทำไมวัคซีนมันถึงกลับไปกลับมาได้ขนาดนี้ อยากให้รัฐบาลสนใจเรื่องวัคซีนให้มากกว่านี้ วัคซีนไหนไม่มีคุณภาพ วัคซีนไหนฉีดแล้วมีผลกระทบมากก็ไม่ควรนำมาฉีดให้ประชาชน”

และทางรัฐบาลควรจะเยียวยาเร่งด่วนให้กับครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนทันที ไม่ใช่ปล่อยให้ครอบครัวเขาสงสัยและต้องออกมาเรียกขอความเป็นธรรมด้วยตนเอง และไม่ควรปิดบังความจริงทั้งหมดเกี่ยวกับผลข้างเคียงของการฉีควัคซีน ซึ่งถึงตอนนี้ตนก็ยังเชื่อว่าพ่อของตนเสียชีวิตเพราะผลข้างเคียงจากวัคซีนซิโนแวค

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน