เตรียมส่งมอบเริ่มใช้
หมอจี้เร่งสร้างมั่นใจ
ให้ชาวบ้านฉีดวัคซีน

เผยวัคซีนแอสตร้าฯของสยามไปโอไซแอนซ์ ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานจากยุโรป-อเมริกาแล้ว พร้อมส่งมอบให้รัฐบาลเร็วๆ นี้ ขณะที่ ‘หมอยง’เผยผลศึกษาฉีดซิโนแวค-แอสตร้าฯ กระตุ้นสร้างภูมิต้านทานได้ดี ขนส่งออกประกาศบังคับรถโดยสารทุกชนิด เว้นที่นั่ง ห้ามบรรทุกเกิน 70% ทั้งต้องลงทะเบียน ‘SAVE THAI’ ประเมินความเสี่ยงก่อนเดินทาง นายกฯสั่งดูแลกลุ่มเปราะบาง ‘เด็ก-ผู้สูงอายุ-คนพิการ’ ตรวจความพร้อม 3 จุดฉีดวัคซีนภาคเอกชนในย่านธุรกิจกทม. ผอ.ร.พ. จะนะระบุคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่กล้าฉีดวัคซีน เพราะไม่มั่นใจว่าจะปลอดภัย แนะรัฐบาลเร่งสร้างความมั่นใจ

ฉีดวัคซีน – เจ้าหน้าที่เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ชาวบ้านในชุมชนย่านคลองเตย เพื่อลดการแพร่ระบาดในวงกว้างให้เร็วที่สุด โดยมีประชาชนเข้าคิวรับบริการแน่น ที่ห้างโลตัส สาขาพระราม 4 เมื่อวันที่ 9 พ.ค.

จัดที่พักพิงกลุ่มเปราะบาง

เมื่อวันที่ 9 พ.ค. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด19 ดูแลประชาชนทุกคนอย่างดีที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ แม้ไม่ได้เป็นผู้ป่วยโควิด-19 แต่อาจได้รับผลกระทบ เพราะเป็นผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิง เมื่อผู้ดูแลหรือคนในครอบครัวติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มเปราะบางจึงอยู่ในสถานะขาดที่พึ่ง ภาครัฐจึงต้องวางแผนเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาของคนกลุ่มนี้ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดสายด่วน 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางทั่วประเทศเป็นการเฉพาะ

ในกรณีที่ได้รับความเดือดร้อนไม่มีผู้ดูแลเนื่องจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนที่รักษาหายแล้วและกลับมาอยู่ในครอบครัว แต่มีความเครียดวิตกกังวล กรณีถูกทิ้งไว้ลำพัง และกรณีผู้ป่วยติดเชื้อ โควิด- 19 เป็นผู้ส่งเสียเลี้ยงดู ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีการแพร่ระบาดของโรคอย่างมาก ได้เตรียมสถานที่พักพิงสำหรับกลุ่มเปราะบาง เด็กหญิงใช้สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี ส่วนเด็กชาย มีสถานแรกรับเด็กชายปากเกร็ด สถาบันประชาบดี ปทุมธานี กรณีผู้สูงอายุใช้ที่พักคนเดินทางดินแดง บ้านสร้างโอกาส ศูนย์ฝึกอบรมผู้สูงอายุ บางละมุง กรณีคนพิการ ใช้ศูนย์พัฒนาและฝึกอาชีพคนพิการ พระประแดง

น.ส.รัชดากล่าวว่า การดูแลกลุ่มเปราะบางที่ติดเชื้อโควิด -19 ได้ประสานกทม.และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ส่งต่อเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาล เช่น ผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และผู้ป่วยพิการที่ต้องรับการดูแลเป็นพิเศษ ร่วมมือกับร.พ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จัดพื้นที่รองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ จัดรถรับผู้ป่วยส่งไปรับการรักษา รวมทั้งเตรียมอาสาสมัครพัฒนาสังคม จัดลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนทั่วประเทศ ไว้คอยช่วยเหลือ ยืนยันว่ารัฐบาลห่วงใยกลุ่มคนเปราะบางต้องเผชิญภายใต้สถานการณ์ โควิด19 โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาครัฐ เครือข่ายภาคประชาชน ภาคเอกชน ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนร่วมกัน

นายกฯเดินสายตรวจจุดฉีดวัคซีน

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่าในวันที่ 11 พ.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์มีกำหนดการตรวจเยี่ยมและติดตามการทดลองระบบการฉีดวัคซีน ที่จุดฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว ก่อนจะเปิดให้บริการประชาชนในวันที่ 12 พ.ค. นี้ โดยจะให้บริการ 1,000 คนต่อวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. มีกลุ่มเป้าหมายคือเจ้าหน้าที่ด่านหน้า กลุ่มอาชีพเสี่ยง เช่น พนักงานจัดเก็บขยะของ 50 เขต ครู โดยสำนักอนามัยจะบริหารจัดการจำนวนผู้เข้ารับบริการในแต่ละวัน

จากนั้นในวันที่ 13 พ.ค. นายกฯมีกำหนดการตรวจเยี่ยมจุดฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่สามย่านมิตรทาวน์ และจามจุรีสแควร์ และในวันที่ 14 พ.ค. นายกฯมีกำหนดการตรวจเยี่ยมจุดฉีดวัคซีนที่ห้างเดอะมอลล์ บางกะปิ

สำหรับจุดฉีดวัคซีนดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร หอการค้า ไทย ร.พ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการ เตรียมสถานที่ฉีดวัคซีนของภาคเอกชน หรือ “หน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 กรุงเทพมหานคร-หอการค้าไทย” เพื่อให้สามารถให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชน โดยเพิ่มสถานที่จากเดิม 14 จุด เป็น 25 จุด เพื่อให้ได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงโดยเร็วที่สุด มีโมเดล (Model) ต้นแบบ คือ เซ็นทรัลลาดพร้าว สามย่านมิตรทาวน์ และเดอะมอลล์ บางกะปิ ซึ่งห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว ร่วมมือกับร.พ. รามาธิบดี สามย่านมิตรทาวน์ร่วมมือกับร.พ.จุฬาลงกรณ์ และเดอะมอลล์ บางกะปิ ร่วมมือกับร.พ.นพรัตนราชธานี

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด- 19 (ศบค.) กล่าวว่า สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด -19 ฉีดสะสม 1,743,720 โดส เข็มแรก 1,273,666 ราย และเข็มสอง 470,054 ราย โดยฉีดเข็มแรกแล้วส่วนใหญ่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 6.3 แสนกว่าคน เจ้าหน้าที่อื่นๆ 1.8 แสนกว่าคน อายุ 60 ปีขึ้นไป 4.3 หมื่นคน โรคประจำตัว 7.5 หมื่นคน และประชาชนพื้นที่เสี่ยง 3.43 แสนคน ฉีดไปล้านกว่าคนยังไม่เกิดผลข้างเคียงรุนแรงแต่อย่างใด เพื่อสร้างความมั่นใจประชาชนที่ตั้งคำถาม ที่รอ สูงอายุฉีดดีไหม ตอนนี้ฉีด 4.3 หมื่นราย โรคประจำตัว 7.5 หมื่นรายก็ไม่ได้เป็นประเด็นอะไร

เตือนเช็กข้อมูลก่อนบินไปตปท.

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเดินทางเข้าประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) ที่ผ่อนคลายมาตรการเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวว่า ประเทศสมาชิกอียูแต่ละประเทศ มีอำนาจประกาศกฎระเบียบเกี่ยวกับการเข้าเมืองและมาตรการด้านสาธารณสุขของตนเอง โดยมี 13 ประเทศสมาชิกที่สามารถเดินทางจากประเทศไทย โดยไม่มีเงื่อนไข ได้แก่ โปรตุเกส สเปน อิตาลี เยอรมนี โครเอเชีย โปแลนด์ เอสโตเนีย สวีเดน ฟินแลนด์ บัลแกเรีย กรีซ เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ และอีก 14 ประเทศที่มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดตามที่ประเทศปลายทางกำหนด ได้แก่ ฝรั่งเศส เช็ก ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ลัตเวีย สโลวีเนีย สโลวาเกีย ฮังการี ลิทัวเนีย โรมาเนีย ออสเตรีย ลักเซมเบิร์ก และไซปรัส

ผู้ที่จะเดินทางต้องตรวจสอบมาตรการสาธารณสุขของประเทศปลายทางและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ อียูยังไม่ได้กำหนดให้ต้องฉีดวัคซีนหรือไม่ หรือฉีดวัคซีนประเภทใดมาเป็นเงื่อนไขการเดินทางเข้าเขต โดยอยู่ระหว่างพิจารณาวิธีการรับรองการฉีดวัคซีน (Vaccination Certificate – VC) ของประเทศนอกอียู หากพิจารณาแล้วเสร็จ ประเทศสมาชิกจะนำไปกำหนดมาตรการและเงื่อนไขในการเดินทางเข้าต่อไป ดังนั้นขอให้ผู้ที่ประสงค์เดินทางไปต่างประเทศติดตามข้อกำหนดของแต่ละประเทศสมาชิกจากเว็บไซต์ของสหภาพยุโรป (https://reopen.europa.eu)

รัฐอะแลสกาให้นักท่องเที่ยวฉีดได้

นายอนุชากล่าวว่า ส่วนกระแสข่าวการเดินทางไปท่องเที่ยวและฉีดวัคซีนป้องกันโรค โควิด-19 ที่สหรัฐอเมริกา ทางกระทรวงการต่างประเทศ ได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยในสหรัฐตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับชาวต่างชาติในมลรัฐต่างๆ พบว่า เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะเรียกดูข้อมูลหลักฐานถิ่นที่อยู่ หลักฐานการทำงานหรือการศึกษาในรัฐ รวมถึงจะพิจารณาหลักฐานการเข้าเกณฑ์ที่ได้รับอนุญาต และอาจปฏิเสธการให้บริการหากไม่สามารถแสดงหลักฐานตามที่ร้องขอได้ ซึ่งแต่ละมลรัฐมีนโยบายการฉีดและแจกจ่ายวัคซีนที่แตกต่างกัน โดยภาพรวมจะฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีถิ่นพำนัก ทำงาน หรือศึกษาในมลรัฐนั้น แต่บางมลรัฐได้จัดสรรวัคซีนให้กับผู้ไม่มีถิ่นพำนักและไม่ได้ทำงานหรือศึกษาในมลรัฐนั้น โดยไม่ได้ระบุชัดเจนว่าอนุญาตให้นักท่องเที่ยว ยกเว้นมลรัฐอะแลสกาที่มีนโยบายชัดเจนว่าตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป จะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาฉีดวัคซีนได้

ชี้ความเสี่ยงแพ้วัคซีนในสหรัฐ

กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในสหรัฐอนุมัติใช้งานแบบฉุกเฉินเท่านั้น หากรับวัคซีนแล้วมีอาการข้างเคียงหรือการแพ้รุนแรง บริษัทผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใดๆ และหากไม่มีประกันสุขภาพที่ครอบคลุม อาจต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่มีราคาสูงอีกด้วย จึงขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวในสหรัฐเพื่อฉีดวัคซีน โปรดศึกษาข้อมูลจากหน่วยงานทางการของสหรัฐ อาทิ เว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทย รวมถึงนโยบายการจัดสรรวัคซีนของมลรัฐต่าง ๆ ข้อมูลการตรวจคนเข้าเมือง มาตรการด้านสาธารณสุข และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในแต่ละพื้นที่ มาตรการที่ต้องปฏิบัติเมื่อเดินทางกลับมาถึงประเทศไทย

นอกจากนั้น ผู้ที่มีความประสงค์เดินทางไปต่างประเทศต้องตรวจสอบกฎระเบียบเกี่ยวกับการเข้าเมืองและมาตรการทางด้านสาธารณสุขของประเทศปลายทางให้ชัดเจนก่อน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายประเทศ มีระดับของความรุนแรงแตกต่างกันไป จึงควรปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขของประเทศนั้นอย่างเคร่งครัด ทั้งการตรวจหาเชื้อตามระยะเวลาที่กำหนดก่อนเดินทาง เอกสารรับรองผลตรวจเชื้อ เอกสารรับรองการฉีดวัคซีน การกักตัว ในที่พักอาศัย การรักษาระยะห่าง และการสวมหน้ากากอนามัย เป็นต้น

ยันวัคซีนสร้างภูมิต้านทาน

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่ความรู้เรื่องวัคซีนโควิด ความว่า โควิด วัคซีน การศึกษาภูมิต้านทานที่เกิดจากการฉีดวัคซีนในประเทศไทย เมื่อฉีดวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มแล้วเป็นระยะเวลา 1 เดือน กับการตรวจภูมิต้านทานหลังฉีดวัคซีน AstraZeneca 1 เข็มเป็นเวลา 1 เดือน เปรียบเทียบกับการตรวจภูมิต้านทานในผู้ที่หายจากการติดเชื้อโรคโควิด 19 ในช่วงระยะเวลา 4 ถึง 8 สัปดาห์หลังจากที่มีการติดเชื้อ

จะเห็นว่าระดับภูมิต้านทานของวัคซีน Sinovac เมื่อฉีดครบแล้ว 2 ครั้ง มีค่าระดับภูมิต้านทานเฉลี่ย 85.9 unit/ml ส่วนภูมิต้านทานหลังฉีด AstraZeneca เพียงเข็มเดียวมีค่าเฉลี่ย 47.5 เมื่อเทียบกับภูมิต้านทานหลังติดเชื้อ 60.9 unit/ml และยังแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนส่วนใหญ่จะตรวจพบภูมิต้านทานได้ 98-99% ในขณะที่ผู้ติดเชื้อ ตรวจพบภูมิต้านทานได้ร้อยละ 92.4

จากข้อมูลนี้ไม่ได้บอกประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ได้มากน้อยแค่ไหน แต่ที่รู้แน่ว่าถึงแม้ว่าจะเป็นโรคแล้ว ระดับภูมิต้านทานก็ยังแตกต่างกันมากและบางคนก็ตรวจไม่พบ แสดงให้เห็นว่าโรคนี้มีโอกาสเป็นแล้วเป็นอีกได้ ทำนองเดียวกันการฉีดวัคซีนในปัจจุบัน ยังไม่ทราบว่าจะต้องใช้ระดับภูมิต้านทานเท่าใด จึงจะสามารถป้องกันการติดเชื้อ แต่ที่รู้แน่ๆ คือว่าถ้ามีภูมิต้านทาน จะสามารถลดความรุนแรงของโรคได้

การศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนโดยทั่วไป จะศึกษาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ให้วัคซีนกับกลุ่มที่ให้วัคซีนหลอกหรือไม่ได้ให้วัคซีน แล้วติดตามไปดูว่ากลุ่มไหนจะเกิดโรค covid-19 มากน้อยแค่ไหนแล้วจึงนำมาเปรียบเทียบเป็นประสิทธิภาพที่ออกมาเป็นรูปเปอร์เซ็นต์

ระดับภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นนี้แสดงให้เห็นว่าวัคซีนทั้งสองชนิดที่ฉีดในประเทศไทย กระตุ้นให้สร้างภูมิต้านทานได้ดีในประชากรไทย ทั้งวัคซีน Sinovac และ AstraZeneca ระดับภูมิต้านทานจะอยู่ไปได้นานแค่ไหน ขณะนี้กำลังติดตามระยะยาว โดยเฉพาะถ้าภูมิต้านทานลดลงมาก อาจจะต้องกระตุ้นด้วยวัคซีนให้ภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นได้สูงอยู่ตลอดเวลา เพราะโรคโควิด 19 มีระยะฟักตัวสั้น จึงต้องอาศัยภูมิต้านทานที่สูงอยู่ตลอดรายการป้องกันการติดเชื้อ

ชี้คนไทยไม่กล้าฉีดวัคซีน

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการ ร.พ.จะนะ จ.สงขลา แสดงความคิดเห็นประเด็นการฉีดวัคซีนโควิด-19 ความว่า “คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่กล้าฉีดวัคซีน เรื่องนี้เรื่องใหญ่นะครับ

ตัวเลขจำนวนผู้สมัครใจลงทะเบียนฉีดวัคซีนผ่าน “หมอพร้อม” ของอ.จะนะ มีจำนวนน้อยมาก เชื่อว่าทุกอำเภอมีลักษณะคล้ายกัน มาดูตัวเลขของอ.จะนะกัน”

“ร.พ.จะนะ เปิดรับฉีดวัคซีนวันละ 360 ราย ปรากฏว่าตั้งแต่เปิดระบบมา มีผู้ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมเพียง 232 ราย ซึ่งน้อยมากๆ วันที่ 30 เม.ย. ลงทะเบียน 1 ราย,วันที่ 1 พ.ค. 67 ราย,วันที่ 2 พ.ค. 36 ราย ,วันที่ 3 พ.ค. 25 ราย,วันที่ 4 พ.ค. 23 ราย,วันที่ 5 พ.ค. 29 ราย,วันที่ 6 พ.ค. 45 ราย,วันที่ 7 พ.ค. 6 ราย รวมยอดจองจากหมอพร้อม 232 ราย”

สั่งรถโดยสารทุกชนิดเว้นที่นั่ง

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งพบผู้ป่วยติดเชื้อและผู้สัมผัสใกล้ชิดทำให้เป็นวงกว้าง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในระบบคมนาคมขนส่ง ขบ.จึงได้ออกประกาศ เรื่อง มาตรการปฏิบัติเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับ ผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ รถยนต์สาธารณะ รถจักรยานยนต์สาธารณะ สถานีขนส่งผู้โดยสาร พนักงานขับรถ ผู้บริการ และผู้โดยสาร เพื่อความปลอดภัยของผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ ผู้โดยสารที่ต้องการใช้บริการการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท โดยยึดมาตรการทางด้านสาธารณสุข D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด และเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังขั้นสูงสุด ได้กำหนดการจัดที่นั่งของรถโดยสารประจำทางและรถโดยสารไม่ประจำทาง ให้นั่ง 1 ที่นั่ง เว้น 1 ที่นั่ง หรือให้นั่ง 2 ที่นั่งสำหรับผู้โดยสารที่มาด้วยกันนั่งติดกันได้ ซึ่งต้องมีจำนวนผู้โดยสารไม่เกินร้อยละ 70 ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด หรือให้เหมาะสมตามประเภทของพาหนะ

ลงทะเบียน “SAVE THAI”

นายจิรุตม์กล่าวว่า ผู้ประกอบการขนส่งต้องประชาสัมพันธ์และแนะนำพนักงานขับรถ ผู้บริการ และผู้โดยสาร ลงทะเบียนเข้าใช้แพลตฟอร์ม “SAVE THAI” เพื่อใช้ประเมินความเสี่ยงของตนเอง และแสดงต่อเจ้าหน้าที่ก่อนการเดินทาง พร้อมควบคุม กำกับ ดูแล ผู้โดยสารให้ลงทะเบียนเช็กอิน-เช็กเอาต์ “ไทยชนะ” หรือ “หมอชนะ” หรือกรอกแบบฟอร์มที่ขบ.กำหนด และในระหว่างการเดินทางต้องมีการระบายอากาศภายในรถโดยสารปรับอากาศ รถตู้โดยสารปรับอากาศ โดยให้พนักงานขับรถพิจารณาจอดพักรถ และเปิดประตูหน้าต่างเพื่อระบายอากาศภายในรถขณะเดินทางทุก 2 ชั่วโมง และทำความสะอาดภายในตัวรถและพื้นผิวสัมผัสภายในรถด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ

ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวยังได้กำหนดมาตรการปฏิบัติสำหรับการให้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะ ซึ่งมีข้อจำกัดจากลักษณะการโดยสาร ผู้ให้บริการจึงต้องมีมาตรการป้องกันตนเองและผู้โดยสาร โดยให้ทำความสะอาดแฮนด์รถจักรยานยนต์และเบาะนั่งด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ รวมทั้งทำความสะอาดหมวกกันน็อกสำหรับผู้โดยสารทั้งด้านในและด้านนอก หรืออาจมีบริการหมวกคลุมผมแบบใช้แล้วทิ้ง และงดการพูดคุยขณะให้บริการ สำหรับผู้โดยสารที่ใช้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะเป็นประจำ ควรมีหมวกกันน็อกเป็นของตัวเอง ซึ่งจะมีความปลอดภัยมากที่สุด รวมถึงยังต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดการเดินทางไม่ว่าจะเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะประเภทใดก็ตาม

ผู้ว่าฯโคราชรับโทร.จองคิว

ด้านนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวภายหลังเยี่ยมศูนย์คอลเซ็นเตอร์ (Call Center) จองคิวฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของร.พ.มหาราชนครราช สีมาว่า กลุ่มเป้าหมายผู้มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป และกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว 7 โรคเรื้อรัง ในพื้นที่ จ.นครราชสีมานั้น มีประมาณ 800,000 ราย จากการประชุมศบค.จังหวัดเมื่อววันที่ 8 พ.ค. มีผู้ลงทะเบียนแล้วเพียง 2 หมื่นกว่ารายเท่านั้น ดังนั้นจากนี้ไปจนถึงวันที่ 6 มิ.ย. มีเวลาไม่ถึง 1 เดือน จึงต้องระดมกำลังเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์รับโทรศัพท์จากประชาชน ช่วยลงทะเบียนอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนได้รับการจองฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงกัน วันนี้จึงได้เดินทางมานั่งรับโทรศัพท์เอง และสอบถามจากเจ้าหน้าที่ด้วยว่าชาวบ้านมีปัญหาอะไรถึงยังลังเลที่จะลงทะเบียนจองฉีดวัคซีน

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวย การร.พ.มหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า ศูนย์คอลเซ็นเตอร์ฯ เปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. โดยมี 20 คู่สาย จากการเปิดศูนย์ จนถึงขณะนี้ มีผู้โทรศัพท์มาสอบถามและลงทะเบียนไปแล้ว 2,443 ราย แบ่งเป็นชาย 1,063 ราย และหญิง 1,380 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ที่มีโรคประจำตัว 929 ราย

ฉีดซิโนแวคแพ้รุนแรง 7 ราย

วันเดียวกันเพจ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โพสต์แถลงการณ์ของคณะกรรมการนักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะพยาบาลศาสตร์ มธ. เรียกร้องให้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่มีคุณภาพ หลังมีนักศึกษาได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนซิโนแวค ความว่า “เรื่อง อาการข้างเคียงไม่พึงประสงค์จากการได้รับวัคซีน COVID-19 SINOVAC จากการที่นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ได้รับวัคซีน COVID-19 SINOVAC จาก ร.พ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ในวันที่ 23 เม.ย.- 5 พ.ค. รวม 88 ราย แล้วก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ แบ่งเป็น มีอาการรุนแรง 7 ราย และมีอาการเล็กน้อย 2 ราย

คณะกรรมการนักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะพยาบาลศาสตร์ มธ. จึงใคร่ขอให้คณะพยาบาลศาสตร์ มธ. พิจารณาเรื่องของความปลอดภัยต่อการได้รับวัคซีนของนักศึกษา และขอความกรุณาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยจัดสรรวัคซีนชนิดที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการแจกจ่ายให้กับประชาชนและบุคลากรทางแพทย์ เพื่อความปลอดภัยและป้องกันโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการได้รับวัคซีน

ผอ.ร.พ.แจงอาจเปลี่ยนวัคซีน

ต่อมานพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการ ร.พ.ธรรมศาสตร์ฯ กล่าวว่า ร.พ.ธรรมศาสตร์ฯ มีคณะกรรมการดูแลภาวะผลข้างเคียงจากการรับวัคซีนอยู่แล้ว มีการดูข้อมูลกันอยู่ เข้าใจว่าอยู่ในฐานใหญ่ ภาพรวมไม่ได้มีอาการ หรือผลข้างเคียงที่เจอปกติ อย่างไรก็ตามข้อมูลตรงนี้เข้าใจว่า เป็นการรวบรวมข้อมูลของนักศึกษาเองบางส่วน ซึ่งในระบบการเฝ้าระวังอาการข้างเคียงนั้นจะมีการเฝ้าระวังอยู่ 3 ฐาน คือ ผ่านระบบ “หมอพร้อม” ที่มีการติดตามอาการในวันที่ 1 วันที่ 7 วันที่ 28 หลังฉีดวัคซีน ฐานต่อมาเป็นฐานของร.พ.ที่ตรวจสอบติดตามในส่วนของร.พ. จะมีข้อมูลที่รวบรวมไว้มากสุด แม่นยำที่สุด

“อีกฐานหนึ่ง ทางนักศึกษาอาจจะมีการรวมตัวกันบางคณะ หรือบางกลุ่มเพื่อรวบรวมข้อมูล แล้วทำกรุ๊ปปิ้งออกมา เมื่อเรานำข้อมูลจากทั้ง 3 ฐาน มารวมกันสามารถวิเคราะห์ข้อมูลในภาพใหญ่ได้ กรณีที่เกิดขึ้นหลักๆ คงต้องดูว่าตอนนี้เรื่องของอันตรายร้ายแรง ซึ่งยังไม่มี แต่จะเข้าไปดูเรื่องของประวัติ เรื่องความต้องการเพิ่มของใน 7 ราย ประเด็นที่ 2 คือการพิจารณาเรื่องการฉีดวัคซีนเข็ม 2 ว่าจะให้เป็นชนิดเดิม หรือหากคิดว่าเป็นผลข้างเคียงรุนแรงก็อาจจะมีการเปลี่ยนชนิดวัคซีนในเข็มที่ 2 ให้คณะกรรมการของร.พ.จะมีการพิจารณาอีกที โดยอาจจะทำซีทีสแกน หรือ เอ็มอาร์ไอ (MRI) สมอง เพิ่มเติม รวมถึงเปลี่ยนชนิดวัคซีน เพราะตอนนี้ที่ได้รับจากรัฐบาลมานั้น มีทั้งซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้าที่จะได้มาในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ด้วย” นพ.พฤหัสกล่าว

รับรองแอสตร้าฯ ไทยแล้ว

นายเจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เห็นความ คืบหน้าของการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ แอสตร้าเซนเนก้าในประเทศไทย เริ่มต้นจากโรงงานสยามไบโอไซเอนซ์ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้เป็นสถานที่ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า จากนั้นในสัปดาห์ต่อมา วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ได้ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพตามเกณฑ์ข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์ อาทิ องค์ประกอบทางเคมีและความปลอดภัย โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ.

“ในวันนี้ ผมมีอีกหนึ่งเรื่องที่น่ายินดีมาแจ้งให้ทุกท่านทราบว่า ตัวอย่างวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบคุณภาพจากห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ของแอสตร้าเซนเนก้าทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเรียบร้อยแล้ว แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของเราที่จะส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชุดแรกให้แก่รัฐบาลไทยเร็วๆ นี้” นายเจมส์กล่าว

เร่งทยอยส่งมอบให้รัฐบาลไทย

นายเจมส์กล่าวว่า เป้าหมายของแอสตร้าเซนเนก้าคือการส่งมอบวัคซีนที่มีมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยให้กับรัฐบาลไทยโดยเร็วที่สุด โดยกำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิดเพื่อทยอยส่งมอบวัคซีนให้แก่ประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึงในช่วงเวลาที่กำลังเผชิญวิกฤตการแพร่ระบาดนี้ โดยไม่หวังผลกำไร

ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ แอสตร้าเซนเนก้าได้รับอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงองค์การอนามัยโลก

ผลการทดลองทางคลินิกในผู้เข้าร่วมการทดลอง 60,000 คนและข้อมูลการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าในประชากรหลายสิบล้านคนทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า ผู้รับวัคซีนสามารถทนต่อผลข้างเคียงของวัคซีนได้ดีและวัคซีนยังช่วยป้องกันอาการเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19 ในทุกระดับความรุนแรง

เปิดจองวัคซีนกลุ่มเด็กพิเศษ

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มพบการติดเชื้อโควิดในกลุ่มที่มีปัญหาความบกพร่องทางสติปัญญา กลุ่มออทิสติก สมาธิสั้น และ แอลดี กรมสุขภาพจิตจึงได้หารือกับกรมควบคุมโรคเพื่อขอรับการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ประมาณ 10,000 โดส เพื่อฉีดให้กับกลุ่มผู้มีปัญหาความบกพร่องทางสติปัญญา อายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต https://forms.gle/MJp1AeTqHapzwzsV7 ถึงวันที่ 20 พ.ค. เวลา 18.00 น. เปิดรับจำนวนไม่จำกัด ดำเนินการฉีดตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. เป็นต้นไปที่สถาบันราชานุกูล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 06-5772-9871

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน