เกาหลียกย่อง ‘อานนท์’ มอบรางวัล ‘กวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน’เจ้าตัวชวดพิธีรับมอบ เหตุถูกคุมตัว-รักษาโควิด ศาลให้ประกัน 2 จำเลยคดีทุบรถ สน.ประชาชื่น เชื่อไม่หนี ไม่ยุ่งเหยิงหลักฐาน ขณะทนายเตรียมยื่นประกัน 3 แกนราษฎร พร้อมยกคำแนะนำปธ.ศาลฎีกา เรื่องขยาย เข้าถึงสิทธิประกันป้องโควิดเข้าคุก จากกรณีคณะกรรมการคัดสรรรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ประกาศให้นายอานนท์ นำภา ทนายความและนักสิทธิมนุษยชนชาวไทย ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน (Gwang Ju Prize for Human Rights) ประจำปี 2564 จากมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) นั้น

รับรางวัล – ภาพบรรยากาศการมอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้นายอานนท์ นำภา จัดโดยมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึกของเกาหลีใต้ ผ่านระบบออนไลน์ เนื่องจากทนายอานนท์อยู่ระหว่างถูกคุมขังในคดีม.112 เมื่อวันที่ 18 พ.ค.

ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 พ.ค. มูลนิธิ 18 พฤษภา รำลึก (May 18 Memorial Foundation) จัดพิธีมอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำ ปี 2021 ให้กับนายอานนท์ นำภา โดยเชิญให้นายอานนท์ร่วมผ่านทางออนไลน์ แต่นายอานนท์ยังรักษาอาการจากเชื้อโควิด-19 ที่ติดจากเรือนจำ ขณะนี้ยังอยู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และยังอยู่ในการควบคุมตัว เนื่องจากศาลไม่ให้ประกันตัว จึงไม่สามารถร่วมพิธีได้ โดยพิธีมอบรางวัลจะจัดขึ้นเวลา 14.00 น. (ตามเวลาของเกาหลีใต้) หรือเวลาประมาณ 12.00 น. ตามเวลาของไทย สำหรับรางวัลดังกล่าวนั้น ด้วยเห็นว่า นับแต่ปี พ.ศ. 2551 นายอานนท์เริ่มต้นทำงานด้านกฎหมาย ทำหน้าที่ที่ปรึกษาคดีด้านสิทธิมนุษยชนและกับนักกิจกรรมด้านประชา ธิปไตย หลังจากรัฐประหารปี 2557 เขาได้ต่อสู้เพื่อประชาชนที่ถูกฟ้องร้อง จากประมวลกฎหมายอาญาม.112 ที่ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก และทำโทษนักสิทธิมนุษยชน และผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง และช่วยเหลือคนที่ถูกดำเนินคดีโดยศาลทหาร ในปี 2557 นายอานนท์ มีส่วนร่วมในการก่อตั้ง กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ที่ติดอาวุธให้กับประชาชนในการต่อสู้กับความไม่เป็นประชา ธิปไตย ระบบอำนาจนิยม และช่วยผลักดันให้เกิดความตื่นรู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชน และเป็นหนึ่งในผู้นำที่ผลักดันการต่อสู้ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งปี 2561 ทั้งยังผลักดันให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ มีความตื่นตัวทางสิทธิมนุษยชน การต่อต้านความรุนแรง ที่เกิดขึ้นจากกฎอัยการศึก และกองทัพ การปราศรัยของเขายังมีพลังในการก่อร่างประชาธิปไตยในประเทศไทย และทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตย และ เยาวชนไทย เคลื่อนไหวทางการเมือง นายอานนท์ยังถูกจับจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายครั้ง และถูกตั้งข้อหาความผิดทางอาญา ทั้งยังเผชิญกับความเสี่ยงกับการถูกกักขัง หากไม่หยุดการเคลื่อนไหว แต่ก็ยังคงต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนต่อไป สำหรับรางวัลดังกล่าวเริ่มมอบรางวัลให้กับนักสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา โดยมีคนไทยที่เคยได้รับรางวัลมาแล้ว 2 คน ได้แก่ นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อปี 2549 และ ‘ไผ่ ดาวดิน’ นายจตุภัทร์ บุญภัทร์รักษา เมื่อปี 2560 ในระดับโลก ยังมีบุคคลสำคัญหลายคนที่ได้รับรางวัลนี้ อาทิ นางออง ซาน ซู จี วันเดียวกัน ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดไต่สวนผู้ร้องยื่นขอประกันนาย ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือ แฟรงค์ อายุ 20 ปี หนึ่งในสมาชิกการ์ดวีโว่ เเละนายธวัช สุขประเสริฐ 2 จำเลยในคดีทุบรถ สน. ประชาชื่น และพยายามชิงตัวนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ที่อยู่ในรถผู้ต้องขังระหว่างถูกนำตัวไปสน.ประชาชื่น โดยถูกอายัดตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อนำไปดำเนินคดีอื่น เพิ่มเติม เหตุเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563 โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้ง 2 จะไม่เป็นอุปสรรคแก่การดำเนินคดีของศาลฟังได้ว่าพฤติการณ์แห่งคดีได้เปลี่ยนแปลงไป จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1-2 ในระหว่างพิจารณา ตีราคาหลักประกันคนละ 25,000 บาท โดยมีเงื่อนไขห้ามจำเลยทั้งสองเข้าร่วมกิจกรรมใดที่อาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากศาล และให้มาศาลตามกำหนดนัดโดยเคร่งครัด ให้นาย มัยตรี สีสินธ์ ประธานชุมชนอินอุดมพัฒนา เป็นผู้กำกับดูแลจำเลยที่ 1 ให้นายนิสิต ตรีพงษ์ ผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 เป็นผู้กำกับดูแลจำเลยที่ 2 นอกจากนี้ ศาลยังมีคำสั่งเนื่องจากมีการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 ภายในเรือนจำ จึงมีคำสั่งให้ผู้ขอปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 นำตัวจำเลยไปตรวจสอบภาวะการติดเชื้อในทันที และรายงานให้ศาลทราบภายใน 3 วัน และผู้ขอปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2 นำตัวจำเลยที่ 2 ซึ่งปรากฏว่ารับการรักษาอยู่ที่โรงพยา บาลราชทัณฑ์ ส่งต่อไปโรงพยาบาลที่มีความสามารถในการรักษาพยาบาลจำเลยที่ 2 โดยทันทีแล้วรายงานให้ศาลทราบ ด้านนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการยื่นประกันเเกนนำเเนวร่วมคณะราษฎรว่า จากที่ได้อ่านข่าวที่โฆษกศาลยุติธรรมเเถลงว่าสำนักงานศาลยุติธรรมโดยเลขาธิการออกหนังสือเวียนศาลทั่วประเทศ เน้นย้ำลดคุมขัง ตามนโยบายเเละคำเเนะนำของปธ.ศาลฎีกาในการขยายเข้าถึงสิทธิประกันจากปัญหาการเเพร่ระบาดโควิดในเรือนจำ ดูเเล้วมีความเกี่ยวพันกับทุกคดี ซึ่งทางศูนย์ทนายความเตรียมที่จะยื่นไต่สวนประกัน 3 เเกนนำภายในอาทิตย์นี้อยู่เเล้ว ก็จะนำเรื่องการระบาดของไวรัสในเรือนจำมาเป็นผลในการเปลี่ยนเเปลงคำสั่งไม่ให้ประกันได้ ประกาศหรือหนังสือเวียนดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล เพราะผู้ที่ถูกกล่าวหานั้นคดียังไม่ถึงสิ้นสุด สามารถที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวตรงนี้ถือเป็นหลัก การมีหนังสือย้ำถึงหลักนี้ย่อมถูกต้อง เเละเมื่อบังเอิญมีภยันตรายจากไวรัสในเรือนจำซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ย่อมเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เเต่ในกรณีที่เป็นคดีอุกฉกรรจ์โหดร้ายฆ่าคนตายก็สามารถขังได้ ตรงนี้เป็นข้อยกเว้น นายกฤษฎางค์กล่าวต่อว่า เมื่อสำนักงานศาลมีหนังสือเวียนย้ำถึงเเนวทางเน้นการปล่อยชั่วคราว เราจะยื่นขอไต่สวนประกันด้วยเหตุผลเดิม เเต่อาจจะเพิ่มรายละเอียดหนังสือตรงนี้เเละข้อเเนะนำประธานศาลฎีกาเพื่อให้ศาลอาญาได้ดูถึงเเนวทางของประธานศาลฎีกาที่มีอำนาจตามกฎหมายให้คำเเนะนำได้ มีเเนวทางที่จะไม่ขัดเเย้งกับคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่ให้ประกันก่อนหน้านี้ เเละจะให้สั่งประกันได้ “การที่มีหนังสือเเบบนี้ก็พอจะคาดการณ์ไปในทางที่ดี ผมคิดว่าศาลน่าจะอะลุ้มอล่วย เเละโดยหลักเเล้ว เเกนนำก็ออกมาเยอะเเล้วเเละก็ไม่มีเหตุวุ่นวายอะไร จึงไม่น่ามีอะไรกังวลเเละให้คนที่เหลือประกันมา ตอนนี้หากยื่นขอไต่สวนเเล้ว ศาลอนุญาตเเกนนำก็มีความพร้อมไต่สวนทุกคน” นายกฤษฎางค์กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 17.30 น. ที่บริเวณริมถนนราชดำเนินใน ด้านหน้าศาลฎีกา สนามหลวง กลุ่มพลเมืองโต้กลับ จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ‘ยืนหยุดขัง’ 1 ชั่วโมง 12 นาที เป็นวันที่ 56 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง โดยมีผู้มาร่วมกิจกรรมคับคั่ง วันเดียวกัน นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. เฟซบุ๊กไลฟ์พีซทอล์ก ทบทวนบทเรียนการต่อสู้ในเหตุการณ์พฤษภา 35 ว่า เมื่อประชาชนทุกฝ่ายสามัคคีกันจึงโค่นล้มเผด็จการเมื่อ 29 ปีได้สำเร็จ ดังนั้นการต่อสู้ในปัจจุบันจึงยึดโมเดลพฤษภามาขับไล่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ หากประชาชนไม่สามัคคีก็ไม่มีวันชนะ เผด็จการคณะนี้มีความแยบยลยิ่งกว่าเผด็จการพฤษภา 35 หลายขุม ทหารยุคนั้นมีความเป็นนักเลง ส่วนยุคนี้เต็มไปด้วยเล่ห์เพทุบาย ปล่อยให้เกิดทุจริตคอร์รัปชั่นแล้วมายกการปราบทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ ในช่วง 7 ปีมีการทุจริตมโหฬารที่สุด แต่ไม่มีใครจัดการได้ เพราะเต็มไปด้วยอภิสิทธิ์ชน องค์กรปราบการทุจริตยังตั้งโดยคณะรัฐประหารทั้งทางตรงและอ้อม ดังนั้น ใครทุจริตและเกิดในยุคใคร คำตอบคือ พล.อ. ประยุทธ์ซึ่งไม่ได้ปราบปรามเลยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ถ้าพล.อ.ประยุทธ์เป็นคนมีศักยภาพแล้ว ปัญหาทุกสิ่งทุกอย่างจะไม่เกิด นายจตุพรกล่าวอีกว่า ในวันนี้ครบรอบ 29 ปีพฤษภา 35 และวันที่ 19 พ.ค.ครบ 11 พฤษภา 53 และจากนั้นวันที่ 22 พ.ค.จะครบ 7 ปีรัฐประหาร ดังนั้น เดือนพฤษภาจึงเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์มากมาย ตนจึงหวังว่าบทเรียนพฤษภา 35 จะทรงคุณค่าระหว่างฝ่ายประชา ธิปไตยและเผด็จการ ถ้าประชาชนไม่สามัคคีไม่มีวันชนะเผด็จการ ตนในฐานะคนเดือนพฤษภา 35 ต้องการพฤษภาโมเดลเพื่อสร้างความถูกต้องให้เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินนี้ ขอส่งเสียงถึงประชาชนทุกฝ่าย ไม่จำเป็นต้อง ชอบตน พักความเกลียดตนไว้สักครู่ จัดการรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์เสร็จค่อยมาเกลียดตนต่อ มิฉะนั้น บ้านเมืองนี้จะไม่เหลืออะไรเลย เรา จะสูญเสียทุกอย่าง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน