ซัดแก้รธน.สนองตัวเอง
ไพบูลย์โวร่างพปชร.ลิ่ว

ที่ปรึกษาประธาน ‘ชวน’ แจงร่างแก้ไขรธน. มาตรา 256 ของพรรคฝ่ายค้านยังไม่ถูกตีตก เพียงแต่ไม่ได้บรรจุในวาระ 22-24 มิ.ย.นี้ ด้าน ‘ไพบูลย์’ โวลั่น ร่างของพปชร.ผ่านฉลุยแน่ ยันทุกประเด็นไม่สร้างความขัดแย้ง ด้าน ‘วันชัย’ โผล่ซัดยื่นแก้รธน.สนองอำนาจส.ส. หวังแทรกแซงงบ-ล้วงลูกขรก. ส่วนก้าวไกลไม่เห็นด้วย ประธานสภาปัดตกร่างแก้ม.256 อย่าคิดไปเอง ควรใช้มติรัฐสภาชี้ขาด จี้รัฐสภาเร่งผลักดันพ.ร.บ. ประชามติ จ่อชง ครม.ทำประชามติเปิดทางตั้งส.ส.ร.ยกร่างรธน.ฉบับใหม่ เพื่อไทยนัดถกส.ส. ซัด ‘บิ๊กป้อม’ ละทิ้งประชาชน มัวแต่สาละวนแก้ปัญหาตัวเอง นิด้าโพลเผยคะแนนนิยม ‘บิ๊กตู่’ยังนำ แต่ลดลงฮวบ เพื่อไทยแชมป์คนชื่นชอบ

ของขวัญ – น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีโพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก โชว์สเปรย์แอลกอฮอล์แบบพกพากลิ่นโคโคชาเนล เซอร์ไพรส์วันเกิดล่วงหน้า 1 วัน เตรียมส่งมอบความสุขต่อให้แฟนเพจ ใช้ป้องกันเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.

สภายันร่างแก้ม.256 ยังไม่ถูกตีตก

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงประธานรัฐสภา ไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน จะทำให้ร่างตกไปหรือไม่ว่า ตามข้อบังคับ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะตกใน 2 กรณี คือ 1.ไม่ผ่านวาระที่ 1 และ 2.ไม่ผ่านวาระที่ 3 ดังนั้น ร่างของฝ่ายค้านจึงยังไม่ตกไปตามข้อบังคับ เพียงแต่บรรจุไม่ได้ เหตุผลคืออาจขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านจะยังคงอยู่เช่นนี้ หากมีเหตุการณ์หรือเงื่อนไขครบถ้วนก็สามารถหยิบขึ้นมาพิจารณาได้อีก

นพ.สุกิจกล่าวว่า มองว่า การที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา วินิจฉัยเช่นนี้ ฝ่ายค้านได้กำไร เพราะร่างสามารถหยิบขึ้นมาพิจารณาได้ในอนาคต และหากนำร่างแก้ไขฉบับที่ฝ่ายค้านยื่นมานี้เข้าสู่การพิจารณาด้วยเงื่อนไข สถานการณ์ และกระแสต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ตนเชื่อว่าร่างนี้จะไม่ผ่านอย่างแน่นอน

ไพบูลย์มั่นใจร่างพปชร.ผ่านฉลุย

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภา พิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ วันที่ 23-24 มิ.ย.ว่า เท่าที่ฟังข่าว สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ไม่ขัดข้องที่จะแก้ไขรายมาตราใน 5 ประเด็น 13 มาตราของพปชร. โดยเราเสนอจากการรับฟังความคิดเห็นของส.ส.และส.ว. และยึดหลักว่าจะต้องไม่เป็นประเด็นที่สร้างความขัดแย้ง หรือต้องไปทำประชามติ เพราะจะเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากและต้องใช้เวลาด้วย ซึ่งทั้ง 5 ประเด็นที่เราเสนอ ไม่ได้สร้างความขัดแย้งเลย ดังนั้น น่าจะได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมาก เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่จะผ่านหลักการในวาระที่ 1

ชี้แก้รธน.ทั้งฉบับทำได้ยาก

เมื่อถามถึงกรณีไม่มีการบรรจุระเบียบ วาระในญัตติร่างแก้ไขมาตรา 256 ของพรรคเพื่อไทย (พท.) นายไพบูลย์กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของสภา คงพิจารณาแล้วเห็นว่าขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของสภาเคยมีความเห็นเสนอประธานรัฐสภาตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญจะลงมติวาระ 3 ว่าเป็นร่างที่ขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ตอนนี้เมื่อเห็นร่างของพท. ซึ่งเหมือนเดิมหมด จึงบรรจุระเบียบวาระการประชุมไม่ได้ ทั้งนี้ การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับมันยาก มองว่าเป็นไปไม่ได้ ควรจะกลับมาที่รายมาตรา อีกทั้งรายมาตราก็ไม่ได้แก้ได้ครั้งเดียว ครั้งนี้เป็นการแก้ครั้งที่ 1 ถ้าผ่านร่างไปจนประกาศใช้เป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่หนึ่งค่อยเสนอกันใหม่ ดูประเด็นที่ตรงกันและดำเนินการกันต่อไปได้

ตอกกลับก้าวไกลอย่าเลอะเทอะ

นายไพบูลย์กล่าวถึงพรรคฝ่ายค้านติดใจการไม่บรรจุญัตติแก้มาตรา 256 และเพิ่มหมวดใหม่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่สภา ที่ทำหน้าที่วินิจฉัยข้อกฎหมาย ซึ่งทำความเห็นว่าไม่สามารถบรรจุญัตติได้ เพราะขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงต้องเห็นใจนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาด้วย เพราะหากบรรจุญัตติดังกล่าวอาจเข้าข่ายกระทำขัดต่อคำวินิจฉัยศาลได้

นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า ส่วนที่พรรค ก้าวไกลเตรียมเสนอญัตติด่วนให้รัฐสภาพิจารณา เสนอครม. จัดทำประชามติถามประชาชนต่อการเห็นชอบให้มี ส.ส.ร.ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แทนฉบับปี 60 หลังจากรัฐสภาลงมติร่างพ.ร.บ.ประชามติในวาระที่ 3 นั้น ทำได้ แต่เชื่อว่ารัฐสภาจะไม่เห็นด้วย เพราะยังไม่มีกฎหมายใดรองรับ หากจะให้ได้ผลที่สุด ตนคิดว่าควรเสนอเรื่องหลังร่างพ.ร.บ.ประชามติ มีผลบังคับใช้แล้ว และใช้ช่องของมาตรา 9 เสนอให้แต่ละสภาลงมติเห็นชอบ ส่วนร่างพ.ร.บ.ประชามตินั้น เชื่อว่าจะได้รับความเห็นชอบในวาระที่ 3

“พรรคก้าวไกลอย่าเลอะเทอะ ควรอ่านกฎหมายให้ดี กรณีเสนอญัตตินั้น ผมเชื่อว่าจะไปไม่ได้ เพราะในสภา มีนักกฎหมาย ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล และเชื่อว่าจะไม่มีใครเห็นด้วย ดังนั้น อย่าให้รัฐสภาเสียเวลาพิจารณาร่างกฎหมายที่สำคัญ” นายไพบูลย์กล่าว

ย้ำยึดประโยชน์ประชาชน

น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม. ในฐานะโฆษก พปชร. เปิดเผยว่า ในวันที่ 21 มิ.ย. จะมีการประชุมส.ส.พปชร.เพื่อเตรียมพร้อมประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 22-24 มิ.ย. เพื่อพิจารณาญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในวาระแรกขั้นรับหลักการ ยืนยันพปชร. ยึดตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่เสนอไป 5 ประเด็น 13 มาตรา ดังนี้ 1.เพิ่มสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน ในมาตรา 29 มาตรา 41 และมาตรา 45 เช่น สิทธิการให้ประกันตัว สิทธิของชุมชนในการได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสมจากรัฐ 2.แก้ไขระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยกลับไปใช้แบบรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่แบ่งเขตเลือกตั้งเป็น 400 เขต และส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน

3.แก้ไขบทบัญญัติเรื่องการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่อยู่ในมาตรา 144 ห้าม ส.ส.และส.ว.เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเสนอแปรญัตติงบประมาณ 4.แก้ไขมาตรา 185 เพิ่มอำนาจส.ส. ให้นำประชาชนไปติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหารือแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้ แต่ยังคงไว้ในเรื่องไม่ให้ ส.ส.เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และ 5.แก้ไขมาตรา 270 ในบทเฉพาะกาล ที่บัญญัติให้วุฒิสภาเพียงฝ่ายเดียวที่มีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดปฏิรูปประเทศ รวมถึงติดตามการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ ให้แก้เป็นอำนาจของรัฐสภา

น.ส.พัชรินทร์กล่าวว่า พปชร.พร้อมเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไป พร้อมนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของทุกฝ่าย มาร่วมพิจารณาให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับที่เหมาะสมที่สุด ในสถานการณ์นี้

รับข้อหา – นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 นายจตุพร พรหมพันธุ์ และกลุ่มไทยไม่ทนสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย รวม 14 คน เข้ารับทราบข้อกล่าวหา กรณีชุมนุมที่สวนสันติพร ซึ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เมื่อ วันที่ 20 มิ.ย.

ปชป.โว 6 ร่าง-ต่อยอดประเทศ

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ตนได้นัดประชุม ส.ส.พรรคในวันที่ 21 มิ.ย. เวลา 13.30 น. เพื่อเตรียมความพร้อมประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งปชป.เสนอแก้ไข 6 ร่าง คือ 1.แก้ไขให้สิทธิประชาชน สิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค สิทธิการถือครองที่ดินดีกว่าเดิม 2.การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากกว่าปัจจุบัน 3.ให้การป้องกันการทุจริต ทำได้จริง โดยเฉพาะการทุจริตขององค์กรอิสระ 4.ทำให้การแก้รัฐธรรมนูญทำได้ง่ายกว่าที่เป็นอยู่ ถ้ายังใช้หลักเกณฑ์ปัจจุบัน แทบจะแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้เลย 5.สร้างกลไกทำให้การเลือกนายกฯ ยึดโยงกับประชาชนมากยิ่งขึ้น และ 6.แก้ไขระบบเลือกตั้งให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไปได้ จะต่อยอดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ประเทศเดินหน้าไปได้ในที่สุด

วันชัยซัดสส.หวังแค่ผลเลือกตั้ง

นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. กล่าวว่า เท่าที่ดูร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคต่างๆ รวม 13 ร่าง เห็นว่าเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์พรรค และนักการเมือง เรื่องการแย่งชิงอำนาจการเลือกตั้ง และล้วงลูกการพิจารณางบประมาณ และยังแทรกแซงก้าวก่ายข้าราชการประจำ มากกว่าการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน แม้จะมีการเสนอแก้ไขเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่บ้าง แต่ร่างขึ้นมาเพื่อตบตาเท่านั้น ซึ่งประเด็นหลักของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เพื่อเอาชนะกันทางการเมืองในการเลือกตั้งว่าพรรคใดจะได้ส.ส.มากกว่า พร้อมกันนี้ เชื่อว่าระบบเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ และการใช้อำนาจส.ส.คงผ่านฉลุยสนองความต้องการส.ส.ได้อย่างแน่นอน

ฉุนด่าสว.-ชี้ปิดสวิตช์ผ่านยาก

นายวันชัยกล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ นั้น แม้ส่วนตัวจะสนับสนุนเต็มที่ โดยยอมปิดสวิตช์ตัวเอง แต่ดูบรรยากาศขณะนี้ และการดำเนินการของพรรคแกนนำแล้วคงไม่ผ่าน เพราะแต่ละพรรคดูไม่ค่อยจริงจังเรื่องนี้ เสนอมาเหมือนต้องการให้เป็นประชาธิปไตยปิดบังหลอกตัวเองเท่านั้น

“เหมือนยอมสยบกับอำนาจ และหวังจะอยู่กับอำนาจโดยหลอกตัวเอง หลอกประชาชน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ใครจะเป็น นายกฯ หรือรัฐบาลขึ้นอยู่กับส.ส.ทั้งนั้น ไม่เกี่ยวกับส.ว. รัฐบาลขณะนี้จะอยู่หรือไป อยู่ที่พรรคร่วมรัฐบาล อยู่ที่ส.ส. ดังนั้น จะแก้หรือไม่แก้มาตรานี้ ไม่มีความหมายอะไรเลย แต่ต้องแก้จิตวิญญาณคนที่มาจากการเลือกตั้งก่อนดีหรือไม่ เลิกด่าส.ว.เสียที เพราะตอนนี้หลงประเด็นหาเรื่องกันไม่เข้าท่า ประเภทเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น ถ้าส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนรวมกันได้เกินกว่า 250 เสียง จริงๆ ใครจะกล้าขวาง สวนกระแสของประชาชน” นายวันชัยกล่าว

ก้าวไกลค้านแขวนญัตติแก้ม.256

ที่พรรคก้าวไกล นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) แถลงถึงการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 23-24 มิ.ย. จะไม่มีการบรรจุระเบียบวาระในญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของพรรคเพื่อไทยว่า ไม่เห็นด้วย แม้พรรคไม่ได้ร่วมลงชื่อในร่างแก้ไขฉบับนี้ เพราะมีความเห็นต่างในการปิดกันไม่ให้แก้หมวด 1 หมวด 2 แต่เห็นว่ารัฐสภาควรมีอำนาจพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 256 ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนลงประชามติก่อน

นายพิจารณ์กล่าวว่า คำวินิจฉัยดังกล่าว ไม่มีการระบุว่ารัฐสภาไม่สามารถพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มี สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ได้ จึงเห็นว่าการบรรจุหรือไม่บรรจุวาระหรือญัตตินี้เข้าไป ก็เป็นหลักการเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อตอนวาระที่ 3 ในสมัยประชุมที่แล้ว พรรคจึงไม่เห็นด้วย และไม่เหมาะสมที่ประธานรัฐสภาจะด่วนตีความไปเสียเองว่า ร่างดังกล่าวไม่สามารถบรรจุในระเบียบวาระการประชุมได้ หากจะหาข้อยุติในเรื่องนี้ ควรเป็นมติประชุมของรัฐสภา ไม่ใช่ความเห็นของประธานสภาแต่เพียงผู้เดียว

จวกร่างพปชร.เปิดช่องทุจริต

นายพิจารณ์กล่าวอีกว่า ส่วนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 13 ฉบับ ในวันที่ 23 มิ.ย. พรรคได้รับการจัดสรรเวลา 75 นาที ได้เตรียมผู้อภิปราย 4-5 คน แม้เวลาที่ได้มาจะไม่มาก แต่ได้เตรียมเนื้อหาให้ประชาชนเข้าใจถึงจุดยืนของพรรค และอยากให้ประชาชนเห็นว่า สิ่งที่ควรแก้ไขที่เป็นปัญหาในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่กลับไม่ได้รับการแก้ไขจากพปชร. ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกมาตรา 272 นี่คือสิ่งที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนมากที่สุด พูดง่ายๆ ทำไมคน 200 คน ถึงมีอภิสิทธิ์ในการเลือกนายกฯ มากกว่าคน 500 คนที่มาจากการเลือกของประชาชน นี่คือไม่ยุติธรรมที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 60 เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในข้อเสนอของพปชร. สิ่งที่ไม่ควรแก้ แต่กลับแก้ เช่นมาตรา 185 หรือ 144 เป็นการแก้เพื่อเปิดช่องให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแทรกแซงการทำงานของข้าราชการและการจัดสรรงบได้ ถือเป็นการเปิดช่องให้เกิดการทุจริต และการใช้งบเพื่อหาเสียงล่วงหน้าและเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่

หวั่นเตะถ่วงพรบ.ประชามติ

นายพิจารณ์กล่าวว่า พรรคยืนยันว่าสมาชิกรัฐสภาจะต้องร่วมกันผลักดันและเร่งพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ในวันที่ 22 มิ.ย. และเมื่อพิจารณาเสร็จผ่านวาระที่ 3 พรรคจะเสนอญัตติด่วนต่อรัฐสภา ให้พิจารณามีมติให้ครม.จัดทำประชามติถามประชาชนว่าเห็นชอบหรือไม่ที่จะให้มีการตั้งส.ส.ร. เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนฉบับปี 60 ซึ่งในสมัยประชุมที่แล้ว ทั้งฝั่ง ส.ว.และพรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพปชร. อ้างมาตลอดว่าไม่สามารถลงมติเห็นชอบได้เพราะต้องไปถามประชาชนก่อนจะใช้เป็นเหตุผลโหวตคว่ำร่างในวาระที่ 3 ดังนั้น การประชุมที่จะพิจารณาพ.ร.บ.ประชามติ ในครั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามส.ว.และส.ส.ฝ่ายรัฐบาล จะเล่นเกมเตะถ่วงกฎหมายฉบับนี้ไม่ให้ผ่านสภาหรือไม่

พท.ถกปมสภาไม่บรรจุแก้ม.256

ที่พรรคเพื่อไทย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) แถลงกรณีที่ประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 23-24 มิ.ย. จะไม่มีการบรรจุระเบียบวาระในญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของพท.ว่า จะทำให้โอกาสในการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่มีเลย ส่งผลให้เรื่องสำคัญที่เรากังวล คือการแก้ไขมาตรา 272 ปิดสวิตช์ส.ว.ไม่มีทางทำได้ ทั้งนี้ สมัยประชุมหนึ่งเรายื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เพียง 1 ครั้ง แต่เมื่อร่างของพท.ที่ยื่นไปไม่ได้รับการบรรจุเข้าระเบียบวาระ ในวันที่ 21 มิ.ย. พท.จะประชุมกันเพื่อหารือเรื่องดังกล่าว และยืนยันว่าจะขอหารือประธานรัฐสภาถึงแนวทางว่าเป็นอย่างไรต่อไป หากจำกันได้ก่อนโหวตวาระที่ 3 ในการแก้รัฐธรรมนูญครั้งที่ผ่านมา ประธานรัฐสภาบอกว่าไม่สามารถตัดสินได้ว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐ ธรรมนูญเป็อย่างไร แม้แต่ฝ่ายกฎหมายหรือ ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยพิจารณาก็ไม่มีใครสามารถฟันธงได้ก่อนโหวต เราจะทำทุกวิถีทางที่จะแก้รัฐธรรมนูญนี้ให้ได้ทั้งฉบับ ซึ่งแนวทางของพท.ยืนอยู่ในระบอบประชาธิไตย โดยเห็นชอบให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากประชาชน เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด

แฉกสทช.ทิ้งทวนประมูลดาวเทียม

นายยุทธพงศ์กล่าวถึงการประมูลใบอนุญาตดาวเทียมของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่า ปัจจุบันมีดาวเทียมที่ได้รับอนุญาตแล้ว 21 ใบ ดาวเทียมที่ใช้อยู่แล้ว 9 ใบ ดาวเทียมที่ยังไม่มีการใช้งาน 6 ใบ และยังไม่ได้รับสิทธิ์โดยสมบูรณ์อีก 6 ใบ แต่ กสทช.ชุดนี้ ซึ่งเป็นชุดรักษาการ และกำลังสรรหากสทช.ชุดใหม่ ปรากฏว่าก่อนพ้นจากตำแหน่ง กลับเปิดประมูลใบอนุญาตดาวเทียม ซึ่งไม่เหมาะสมเพราะวงโคจรที่เอามาเปิดประมูลยังไม่มีใบอนุญาตจากไอทียู การตั้งราคาประเมินการประมูลก็ไม่สมบูรณ์ด้วยราคาประมูลที่ต่ำมากเกินไป กสทช.จึงไม่ควรเร่งรีบเอาใบอนุญาตมาประมูล

“ยกตัวอย่างใบอนุญาตที่ยังไม่หมดอายุของดาวเทียมไทยคม 4 ถามว่าใครจะไปประมูล เพราะยังไม่หมดอายุ อาจเป็นการเปิดประมูลทิ้งทวนของกสทช.ชุดนี้หรือไม่ เพราะหมดวาระไปตั้งแต่ปี 61 โดยทำหน้าที่รักษาการมาตลอด ดังนั้น การประมูลใบอนุญาตดาวเทียมไม่ควรเร่งรีบ แต่ควรเป็นหน้าที่ของกสทช.ชุดใหม่เข้ามาตัดสินใจ เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาว่ากสทช.ชุดนี้ต้องการประมูลทิ้งทวนหรือไม่ และไม่มีความจำเป็นรีบเร่งต้องทำในช่วงนี้” นายยุทธพงศ์กล่าว

อัด‘บิ๊กป้อม’ละทิ้งประชาชน

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพท. กล่าวกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นายกฯ และหัวหน้าพปชร. ล้างไพ่ปรับโครงสร้างพรรค ดัน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ นั่งเลขาธิการพรรคว่า ยุทธการเสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล ถูกนำมาใช้อีกครั้งหลังกำจัดกลุ่มสี่กุมาร ลามมาถึงขจัดกลุ่มสามมิตรไปให้พ้นทาง กลายเป็นรอยร้าวใหญ่ภายในพปชร. ที่รอวันปะทุอีกหลายรอบ หลังหาทางออกแก้ปัญหาขัดแย้งภายในพปชร. อาจนำไปสู่การปรับครม. เพื่อหาเก้าอี้รัฐมนตรีรองรับเลขาธิการพรรคคนใหม่ เพื่อให้สมฐานะเลขาธิการพรรคแกนนำรัฐบาล แน่นอนว่าจะเกิดแรงกระเพื่อมกับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“แทนที่จะสาละวนแก้ปัญหาภายในพปชร. ควรเอาเวลาไปตรวจสอบว่าผ่านมา 2 ปี นโยบายใดที่ใช้หาเสียงแล้วยังทำไม่ได้หรือไม่ได้ทำ จะแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่เผชิญกับความทุกข์ยากเดือดร้อนในขณะนี้อย่างไร เก่งไม่กลัว กลัวช้า ถ้ามั่นใจว่าจะมีคะแนนนิยมดี ก็รีบยุบสภา อย่ามัวสาละวนแก้แต่ปัญหาตัวเอง แล้วละทิ้งปัญหาของประเทศชาติและประชาชน” นายอนุสรณ์กล่าว

นิด้าโพลชี้‘บิ๊กตู่’เหมาะนั่งนายก

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร ศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจ เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 2/2564” ระหว่างวันที่ 11-16 มิ.ย. จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป รวมทั้งสิ้น 2,515 หน่วยตัวอย่าง โดยบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 37.65 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 2 ร้อยละ 19.32 ระบุเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเป็นคนจริงจังกับการทำงาน ทำงานตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์ สุจริต อันดับ 3 ร้อยละ 13.64 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เพราะอยากให้ผู้หญิงขึ้นมาบริหารประเทศบ้าง

อันดับ 4 ร้อยละ 8.71 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เพราะเป็นคนตรงไปตรงมา อันดับ 5 ร้อยละ 5.45 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เพราะอยากได้คนรุ่นใหม่มาบริหารประเทศ มองการณ์ไกล มีวิสัยทัศน์ที่ดี อันดับ 6 ร้อยละ 3.62 นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า เพราะเป็นคนไฟแรง มีวิสัยทัศน์ที่ดี ซื่อสัตย์ มีความเป็นผู้นำ มีความสามารถทางด้านเศรษฐกิจ อันดับ 7 ร้อยละ 2.35 นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เพราะมีผลงานในการทำงานที่ดี โดดเด่นเป็นคนตรงไปตรงมา

ชี้คะแนนนิยมลดลงอื้อ

อันดับ 8 ร้อยละ 2.15 ระบุว่า ไม่ตอบและไม่สนใจ อันดับ 9 ร้อยละ 2.11 นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ เพราะมีทัศนคติที่ดี มีมุมมองด้านเศรษฐกิจที่ดี น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ดี อันดับ 10 ร้อยละ 1.47 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพราะมีวิสัยทัศน์ที่ดี มีประสบการณ์ในการทำงานมาก และร้อยละ 3.53 ระบุอื่นๆ ได้แก่ นาย สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา

เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 1/64 เดือนมี.ค. 2564 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีสัดส่วนลดลง จากร้อยละ 28.79 เหลือร้อยละ 19.32 ขณะที่ผู้ที่ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ คุณหญิงสุดารัตน์ นายกรณ์ นายมิ่งขวัญ และนายจุรินทร์มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

เพื่อไทยแชมป์คนชื่นชอบ

ส่วนพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า ร้อยละ 32.68 ระบุว่าไม่สนับสนุนพรรคใดเลย ร้อยละ 19.48 ระบุว่าพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 14.51 ระบุพรรค ก้าวไกล ร้อยละ 10.70 ระบุพรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 9.54 ระบุพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 2.90 ระบุพรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 2.47 ระบุพรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 2.43 ระบุพรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 1.71 ระบุพรรคกล้า และร้อยละ 3.58 ระบุอื่นๆ ได้แก่ พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคไทยภักดี พรรคเพื่อชาติ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคประชาชาติ พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคภราดรภาพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน