พรบ.ประชามติ
ผ่านฉลุยวาระ3
รอขึ้นทูลเกล้าฯ

พ.ร.บ.ประชามติฉลุยวาระสาม รัฐสภาโหวตท่วมท้น รอประกาศเป็นกฎหมาย ฝ่ายค้านติงความผิดฐานเผยแพร่ข้อมูลเท็จหวั่นใช้ปิดปากประชาชน กมธ.แก้จนฯ วุฒิสภา ขู่คว่ำร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับ พปชร. ซัดรื้อมาตรา 144, 185 เปิดช่องส.ส.-ส.ว.แทรกแซงจัดทำงบฯ ‘ไพบูลย์’ โร่เคลียร์ ขอผ่านวาระแรก รับปากแก้ชั้นกรรมาธิการ ฝ่ายค้านเล็งหยิบปมแขวนมาตรา 256 เข้า หารือที่ประชุมรัฐสภา ก้าวไกลรุกอีก ดันร่างฉบับประชาชน ภูมิใจไทยสกัด 4 ร่างฝ่ายค้าน กั๊กโหวตหนุนร่างพปชร. กลาโหมยัน ทบ.ต้องซื้อแอร์บัส แทนเครื่องเก่าเตรียมปลดระวางปี 66

วิษณุแจงขั้นตอนประชามติ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณีพรรคก้าวไกลระบุหลังจากร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว จะเสนอญัตติด่วนต่อรัฐสภาให้ครม.ทำประชามติถามความเห็นประชาชนต่อการตั้งส.ส.ร. ทำได้เลยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตามขั้นตอนหลังเมื่อผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว รัฐสภาจะส่งให้รัฐบาลนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยก่อนจะประกาศใช้ ดังนั้น อยู่ๆ จะนำร่างกฎหมายฉบับนี้มาใช้ทั้งที่ยังไม่ได้เป็นกฎหมายเลยอาจเกิดการถกเถียงกัน สามารถเตรียมการเอาไว้ได้แต่ถ้าจะทำถึงขั้นนำกฎหมายนั้นมาใช้เลย คงไม่ได้

รายงานข่าวจากทำเนียบเผยว่า ในที่ ประชุมครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม พูดถึงที่รัฐสภาจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ร่าง วันที่ 23-24 มิ.ย. ว่าไม่มีปัญหา หากการแก้ไขเป็นไปด้วยเหตุและผล จึงขอความร่วมมือพรรคร่วมรัฐบาลในการพิจารณา ขณะที่รัฐมนตรีคนอื่นๆ ไม่ได้แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้

ภท.ไม่ให้ผ่านร่างแก้รธน.ฝ่ายค้าน

นายภราดร ปริศนานันทกุล โฆษกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงแนวทางลงมติต่อ 13 ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะพิจารณาและลงมติวันที่ 23-24 มิ.ย.นี้ว่า แนวทางภท.เท่าที่พูดคุยกันเบื้องต้น เราเห็นด้วยกับการแก้ไขที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ส่วนประเด็นอื่นๆ พรรคจะหารือร่วมกันอีกครั้ง ส่วนตัวไม่เห็นด้วยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองหรือพรรคการเมือง โดยเฉพาะเรื่องบัตรเลือกตั้ง ส่วนพรรคจะลงมติเห็นด้วยกับร่างแก้ไข 8 ฉบับที่ลงชื่อสนับสนุนไว้หรือไม่นั้นต้องหารือร่วมกันอีกครั้งก่อนลงมติ

รายงานข่าวแจ้งว่า แนวทางการลงมติของภท.เบื้องต้นจะยกมือสนับสนุน 8 ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลที่ส.ส.พรรคลงชื่อไว้ สำหรับร่างของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยังต้องรอฟังการชี้แจงและหารือกันก่อน ส่วนร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน 4 ร่างนั้น ภท.ไม่เอาด้วย

ปชป.ชูบัตรเลือกตั้ง 2 ใบแบบเก่า

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เผยว่า พรรคมีมติส่งผู้อภิปรายร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 7 คน คือ 1.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค 2.นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ 3.นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ 4.นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย 5.นายชัยชนะ เดชเดโช 6.นายอันวาร์ สาและ และ 7.ตนเอง เพื่ออภิปรายให้ประชาชนเห็นถึงความจำเป็นในการแก้ไขทั้ง 6 ร่างที่พรรคเสนอ ส่วนแนวทางลงมติ ปชป.เห็นชอบกับทั้ง 13 ร่าง แต่ขึ้นกับข้อสรุปจากการฟังการอภิปรายและการชี้แจงแนวทางของประธานวิปปชป.อีกครั้ง

การอภิปรายจะเน้นเรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ส.ส.เขต 400 คน บัญชีรายชื่อ 100 คน การคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคที่มีคะแนนน้อยกว่า 1% ของเสียงรวมทั้งประเทศจะไม่ได้รับการจัดสรร ป้องกันพรรคปัดเศษ, มาตรา 272 ที่ให้ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ, การเพิ่มสิทธิการประกันตัวผู้ต้องหา, มาตรา 256 ที่กำหนดแก้รัฐธรรมนูญโดยใช้เสียง 3 ใน 5 ของสมาชิกรัฐสภา รวมถึงให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องที่มีข้อสงสัยไปให้ศาลฎีกา แทนการใช้ดุลพินิจของประธานรัฐสภา

ฝ่ายค้านเล็งเพิ่มวันถกแก้รธน.

ที่รัฐสภา นายสุทิน คลังแสง ส.ส.เพื่อไทย (พท.) ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีเวลาเพียง 2 วัน พรรคร่วมฝ่ายค้านคงใช้ผู้อภิปรายไม่เกิน 30 คน พท. 13 คน หากไม่จบภายใน 2 วัน จะหารือกับประธานรัฐสภาขยายเวลาเพิ่มไปถึงวันที่ 25 มิ.ย.

การลงมติของพท.จะเห็นชอบทั้ง 4 ร่าง ไม่นับรวมร่างแก้ไขมาตรา 256 ที่ไม่ถูกบรรจุในวาระ ส่วนร่างอื่นๆ ไม่ว่าของ พปชร. หรือพรรคร่วมรัฐบาล พท.มีมติว่าจะรอฟังการอภิปรายแต่ละร่างก่อนถึงจะมีมติ เนื่องจากร่างของพปชร.และพรรคร่วมรัฐบาลมีส่วนที่ตรงกันกับร่างของพท. ส่วนที่ตรงกันก็ไม่มีปัญหา ส่วนที่ไม่ตรงจะดูและฟังว่าจะปรับปรุงแก้ไขในชั้นกมธ. วาระที่ 2 ได้หรือไม่ หากปรับปรุงแก้ไขได้ก็จะรับหลักการ แต่หากเรื่องใดไม่สามารถปรับปรุงได้และขัดกับเราชัดเจนก็คงจะเห็นชอบไม่ได้

จ่อหารือสภา-แขวนแก้ม.256

นายสุทินกล่าวว่า ส่วนร่างแก้ไขมาตรา 256 มองแง่ดีว่ายังไม่ถูกตีตก วันที่ 23 มิ.ย.ก่อนพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะหารือกับประธานรัฐสภาในที่ประชุมว่า หากพ.ร.บ.ประชามติผ่านแล้วจะใช้วิธีใดดันเรื่องนี้เข้าให้สภามีมติส่งครม. เมื่อถามว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าต้องทำประชามติก่อน แต่พท.ยื่นร่างแก้ไขมาตรา 256 นายสุทินกล่าวว่า เราเสนอเข้ามาเจตนาเพื่อเป็นต้นเรื่อง ต้นทางที่จะนำไปสู่การทำประชามติ หากไม่เสนอเข้ามาเลยก็ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรถึงจะมีการทำประชามติ ส่วนที่พรรคก้าวไกลจะให้สภายื่นเรื่องให้ครม.จัดทำประชามตินั้น แบบนี้ก็ได้เพราะเป็นแนวทางตรงกันอยู่แล้วว่าเราต้องให้สภายื่นเรื่องให้ครม. แต่ต้องรอพ.ร.บ. ประชามติผ่าน

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองเลขาฯ พท. กล่าวว่า พรรควางตัวบุคคลในการอภิปรายไว้ โดยใช้เวลาค่อนข้างมากเพื่ออภิปรายเนื้อหาสาระสำคัญ ตนได้รับมอบหมายในการอภิปรายเพื่อชี้ให้เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เช่น เลือกตั้งแบบแบ่งเขตต้องเป็นบัตร 2 ใบ เปลี่ยนจาก 350 เขต เป็นแบบแบ่งเขต 400 กับบัญชีรายชื่อ 100 มีเหตุจำเป็นอย่างไร โดยยึดหลักความต้องการประชาชนเป็นสำคัญ

ก้าวไกลดันร่างประชาชน

นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า คิดว่าร่างที่เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะผ่านการพิจารณาวาระที่ 1 แน่นอน เห็นแล้วว่าการแก้ไขครั้งนี้ทำเพื่อให้แน่ใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้กลับมาเป็นนายกฯ หากเกิดอุบัติเหตุยุบสภาเร็วๆ นี้ ได้พบเห็นคือความเร่งรีบแก้ไข วันนี้ที่มีการลงมติร่างพ.ร.บ.ประชามติ และพ.ร.บ.ยาเสพติดถึง 3 ร่าง แต่กลับบรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญวันที่ 23 มิ.ย. เป็นการจัดลำดับความสำคัญที่ดูแปลกๆ

นอกจากนี้ ร่างแก้ไขมาตรา 256 ของพท.ไม่ถูกบรรจุระเบียบวาระ หากต้องรอทำประชามติเหตุใดไม่รอพิจารณาร่วมกับร่าง อื่นๆ พร้อมร่างแก้ไขจากภาคประชาชน ซึ่งขณะนี้รวบรวมรายชื่อเกือบครบ 50,000 ชื่อแล้ว เพื่อให้ทุกร่างเข้าสู่สภาจะเหมาะสมและประหยัดงบกว่าหรือไม่ ไม่ใช่แค่ร่างของพท.ที่จะหารือที่ประชุมรัฐสภา 23 มิ.ย. แต่รวมถึงการล่ารายชื่อของภาคประชาชนด้วย จะตั้งคำถามไปที่ประธานในวันที่ 23 มิ.ย.ด้วย การแก้รัฐธรรมนูญหากไม่สามารถปิดสวิตช์ส.ว.ได้ก็ไร้ประโยชน์ พรรคยืนยันมาตรา 272 ต้องได้รับการยกเลิก จึงเป็นเหตุที่พรรคไม่ยื่นร่างหรือเซ็นร่วมกับร่างใดๆ และต้องการชี้ให้เห็นว่าการจะไม่ให้พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯได้ ต้องยกเลิกมาตรา 272

ส.ว.ขู่ค่ำร่างพปชร.

เวลา 11.00 น นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ส.ว. ในฐานะประธานกมธ.แก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ พร้อมกมธ. แถลงว่า วันนี้ กมธ.มีประชุมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับ มีมติไม่เห็นด้วยกับการเสนอให้แก้ไขมาตรา 144 และมาตรา 185 เนื่องจาก 2 มาตราห้ามไม่ให้ส.ส. ส.ว.ก้าวก่ายหรือแทรกแซงการจัดทำงบ หรือเห็นชอบจัดทำโครงการของหน่วยงานรัฐ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 บัญญัติไว้ แม้การเสนอแก้ไขครั้งนี้ไม่ได้ทำลายหลักการแต่ตัดทอนบทลงโทษ ส.ส. ส.ว. ครม. ข้าราชการประจำ รวมถึงตัดข้อห้าม ส.ส. และส.ว. เข้ามามีส่วนใช้จ่ายหรืออนุมัติงบ และเข้าแทรกแซงการทำงานของข้าราชการประจำ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ การลงมติของกมธ.จะมีมาตรการแซงก์ชั่นออกมา อาจงดออกเสียง ลงมติไม่เห็นด้วย หรืออยู่ในห้องประชุมแต่ไม่กดปุ่มลงคะแนนใดๆ

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กมธ. กล่าวว่า เป็นความลำบากใจของกมธ. และส.ว.หลายคน เพราะ 2 มาตรารวมอยู่ใน 5 ประเด็นใหญ่ในญัตติพปชร. การแถลงแบบนี้คงพิจารณากันได้ว่าการลงมติจะเป็นอย่างไร แต่การตัดสินใจก็เป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิก ซึ่งต้องดูการเสนอญัตติของผู้เสนอญัตติก่อน

ส่วนประเด็นอื่นๆ ของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยเฉพาะมาตรา 272 ตัดอำนาจส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ นั้น เป็นเรื่องของส.ว.แต่ละคนที่จะมีมุมมองทั้งเหมือนและแตกต่างกัน

ไพบูลย์รีบเคลียร์ใจส.ว.

นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพปชร. กล่าวว่า ตนเคลียร์ใจกับกลุ่มส.ว.ที่คัดค้านและไม่เห็นด้วยกับการแก้มาตรา 144 ว่าด้วยการให้สิทธิส.ส. ส.ว. และกมธ.แปรญัตติงบประมาณ และมาตรา 185 ว่าด้วยให้สิทธิส.ส. แทรกแซงข้าราชการแล้ว เพราะเห็นว่าขัดต่อหลักการตรวจสอบ โดยเนื้อหาทั้ง 2 มาตราตนจะเสนอให้ กมธ.แก้ไขกลับไปใช้หลักการเดิมของรัฐธรรมนูญ 60 แต่จะปรับแก้ถ้อยคำและรายละเอียดเพียงเล็กน้อย คือมาตรา 144 จะคงหลักการห้ามส.ส. ส.ว. และกมธ.แปรญัตติงบเพื่อประโยชน์ตนเอง แต่จะกำหนดให้สิทธิแค่การเสนอแนะความเห็นเท่านั้น ขณะที่มาตรา 185 คงไว้ตามเนื้อหาเดิม แต่จะเพิ่มบทยกเว้นว่าเป็นไปเพื่อช่วยเหลือประชาชน ตนพร้อมจะแก้ไขเนื้อหาในชั้น กมธ.และจะชี้แจงต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 23 มิ.ย. ด้วย

“การเตรียมแก้ไขเรื่องดังกล่าวเชื่อว่าจะทำให้ส.ว. ร่วมลงมติเห็นด้วยกับร่างของ พปชร.ในวาระแรก และในชั้นกมธ. เชื่อว่าส.ส.จะปรับแก้ไข แต่หากไม่ปรับแก้ ส.ว.ยังมีสิทธิออกเสียงไม่เห็นด้วยในวารที่ 3 ได้” นายไพบูลย์กล่าว

รัฐสภาถกพ.ร.บ.ประชามติ

เวลา 10.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. และร่างพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่…)

หลังจากที่ประชุมให้ความเห็นชอบพิธีสารแก้ไขข้อตกลงร่วมว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรด้านการท่องเที่ยว อาเซียน ตามที่ครม.เสนอ ด้วยคะแนน 600 ต่อ 0 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 4 ในวลา 11.45 น. ได้เข้าสู่วาระพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติ เริ่มพิจารณาจากการลงมติ มาตรา 53 และ 54 เรื่องการคัดค้านการออกเสียงประชามติ ที่ค้างมาจากการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยที่แล้ว ซึ่งที่ประชุมลงมติให้ความเห็นชอบ

ต่อมาพิจารณามาตรา 55 เรื่องบทกำหนดโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ ตามพ.ร.บ.นี้ที่ใช้อำนาจมิชอบในการออกเสียงประชามติ มีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยมีส.ส.หลายคน อาทิ นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.พท. พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.ก้าวไกล อภิปรายทักท้วงว่า เป็นการมุ่งลงโทษเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่เป็นฝ่ายปฏิบัติ แต่ไม่มีบทลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง ที่ปฏิบัติหน้าที่มิชอบให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นกลาง จึงควรขยายขอบเขตบทลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐให้ครอบคลุมถึงส.ส. ส.ว. และผู้บริหารท้องถิ่นด้วย สุดท้ายที่ประชุมลงมติเห็นชอบมาตรา 55 ด้วยคะแนน 374 ต่อ 124 งดออกเสียง 3 ไม่ลงคะแนน 10

มติผ่านฉลุยวาระ 3

ขณะที่มาตรา 60 เรื่องการกระทำใดที่เป็นความผิดในการออกเสียงประชามตินั้น นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.ก้าวไกล อภิปรายขอให้ตัดข้อความ “เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จะออกเสียงประชามติอันเป็นเท็จ” ตามที่กมธ.เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ เนื่องจากเขียนไว้กว้างเกินไป เกรงว่าจะเป็นการใช้กฎหมายปิดปากประชาชน ทำให้การรณรงค์ประชามติอาจถูกปิดกั้น มีการให้ข้อมูลประชาชนแค่ฝ่ายเดียว จึงไม่จำเป็นต้องเพิ่มข้อความดังกล่าวขึ้นมา เพราะสามารถใช้การเอาผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ได้อยู่แล้ว ทั้งนี้ ที่ประชุมลงมติเห็นชอบมาตรา 60 ด้วยคะแนน 479 ต่อ 35 งดออกเสียง 3 ไม่ลงคะแนน 6

ทั้งนี้ การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น ส.ส.และส.ว.อภิปรายมาตราต่างๆ อย่างกว้างขวาง ไม่มีการตีรวนใดๆ ทำให้การพิจารณาเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว

กระทั่งเวลา 15.00 น. สมาชิกอภิปรายกันครบทั้ง 67 มาตรา ที่ประชุมจึงลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ประชามติ ในวาระที่ 3 ด้วยคะแนน 611 ต่อ 4 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 1 รอการบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยใช้เวลาอภิปรายทั้งหมด 3 ชั่วโมง 15 นาที

กมธ.แฉพณ.ตั้งงบซื้อรถหรู 44 ล.

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กมธ.วิสามัญพิจารณางบประมาณ 65 ทวีตคลิประหว่างซักถามผู้แทนจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ถึงการตั้งงบซื้อรถใหม่ประจำสำนักงานในต่างประเทศ อาทิ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา กัมพูชา ลาว ฮังการี อิตาลี เมียนมา เป็นต้น จำนวน 19 คัน วงเงิน 44 ล้านบาท โดยระบุ เก็บตกกมธ.งบ65 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศตั้งงบซื้อรถใหม่ 19 คัน วงเงิน 44 ล้านบาท ราคากลางรถที่นิวยอร์ก 2.4 ล้านบาท (ซื้อ Porsche ที่อเมริกาได้เลย) หน่วยงานลดงบกันถ้วนหน้า ยังจะซื้อรถหรูกันอีกหรือ

พร้อมเผยแพร่เอกสารของบฯในส่วนการตั้งงบครุภัณฑ์ยานพาหนะและขนส่ง 7 รายการ อาทิ รถยนต์ประจำตำแหน่ง ประจำสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก นิวยอร์ก สหรัฐ 1 คัน ราคา 2,418,000 บาท เป็นต้น

เลื่อนกม.ยาเสพติด-เร่งถกแก้รธน.

ต่อมาเวลา 16.00 น. ที่ประชุมพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ประกอบด้วย ร่างพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ…. ซึ่งที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบ ส่วนร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่ประชุมพิจารณาถึงมาตรา 82/3 ที่กมธ.เพิ่มขึ้นใหม่ โดยที่ประชุมเห็นด้วยกับกมธ.เพิ่มขึ้นใหม่ จากทั้งหมด 182 มาตรา และที่ประชุมได้ยุติการอภิปราย

โดยนายชวน แจ้งต่อที่ประชุม มาตราที่เหลือ และร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่…)พ.ศ…. ขอเลื่อนการพิจารณาออกไปในโอกาสต่อไป สำหรับการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 23 มิ.ย.จะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ร่าง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน