เรียกวัวเป็นแมวแก้เคล็ดอุดรป่วยตายแล้ว360ตัว – ชาวบ้านยังผวาใช้สีสเปรย์พ่นตัววัว-ควายว่าเป็น‘แมว’ หวังแก้เคล็ดตามความเชื่อ หลังโรค‘ลัมปีสกิน’ยังลามไม่หยุด อบจ.อุดรธานีทุ่มงบซื้อวัคซีนป้องกันแจกเกษตรกร หลังเชื้อแพร่กระจายแล้ว 20 อำเภอ ติดเชื้อ 3-4 ร้อยตัวต่อวัน ล้มตายไปแล้ว 360 ตัว โคราชก็ยังหนักพบส่วนใหญ่เป็นวัวเนื้อเพราะเลี้ยงปล่อย

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. นายพศวีร์ สมใจ ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา เผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคลัมปีสกินลุกลามกว่า 5 อำเภอ พบสัตว์มีอาการกว่า 10,000 ตัว และแพร่กระจายไปในหลายอำเภอข้างเคียง เช่น อ.พิมาย ประทาย และอำเภออื่นๆ เป็นวงกว้าง พบการตายจากโรคลัมปีสกิน เป็นลูกสัตว์ตัวเล็ก ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมาสั่งการลงไปยังปศุสัตว์ทุกอำเภอ ให้ความรู้ในการป้องกันต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์โคเนื้อและโคนมส่วนใหญ่พบในโคเนื้อที่เกษตรกรปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติ ส่วนโคนมเกษตรกรดูแลดีพบเป็นส่วนน้อย แต่ต้องป้องกันไว้เพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาด เหมือนเช่นโรคระบาดในม้าเช่นที่ผ่านมาในพื้นที่ปากช่อง

ด้านนายสมหมาย ลำดวน อายุ 56 ปี บ้านเลขที่ 204 บ้านสอยดาว ต.จันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า เลี้ยงวัวนมประมาณ 200 ตัว และวัวเนื้อจำนวนหนึ่ง ทราบข่าวว่ามีโรคเกิดขึ้นเกี่ยวกับโคกระบือ วัวนม ไม่สบายใจเพราะเลี้ยงวัวนม รีดส่งน้ำนมส่งขายสหกรณ์เป็นอาชีพหลัก ปกติดูแลอย่างดี แต่เมื่อมีข่าวแล้วต้องดูแลดีเป็นพิเศษ ต้องพ่นสารไล่แมลง สุมไฟไล่ เช็ดตัววันละ 2 ครั้ง เพราะวัวมีจำนวนมาก และในพื้นที่มีเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์จำนวนมากกว่าหลายหมื่นตัวและพื้นที่อื่น

วันเดียวกัน สำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี (อบจ.อุดรธานี) นายวิเชียร ขาวขำ นายกอบจ.อุดรธานี มอบยาเวชภัณฑ์สำหรับป้องกันและควบคุมโรคลัมปีสกินให้กับนายพนธ์สมิทธ์ กลางนภา ปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี โดยมีนายฤทธิเดช โคตรสาร ประชาสัมพันธ์จังหวัดอุดรธานี ที่ปรึกษานายกอบจ.อุดรธานี ปศุสัตว์อำเภอ หัวหน้าส่วนการงานร่วมพิธี

นายวิเชียรกล่าวว่า อบจ.อุดรธานีอนุมัติงบจัดซื้อยาเวชภัณฑ์ป้องกันและควบคุมโรคลัมปีสกิน ประกอบด้วย ยาแก้ปวดลดไข้ ฟลูนิชิล ชนิดฉีด ขนาดบรรจุ 100 ม.ล. จำนวน 380 ขวด ยาปฏิชีวนะเพนิซิลลิน และสเตร็ปโตมัยซีน ชนิดฉีด ขนาดบรรจุ 100 ม.ล. จำนวน 340 ขวด และยากำจัดพยาธิภายนอก ฟลูเมทริน 6 เปอร์เซ็นต์ ขนาดบรรจุ 100 ม.ล. จำนวน 790 ขวด วงเงิน 500,000 บาท ตามที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดขอรับการสนับสนุน

ปัจจุบันพบมีการแพร่ระบาดใน 20 อำเภอของจังหวัด สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี และอบจ.อุดรธานี รับรู้รับทราบปัญหาของพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคลัมปีสกิน ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่พบในโค กระบือ พบระบาดครั้งแรกปลายเดือนมี.ค. ที่ อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด สำหรับ จ.อุดรธานี พอรับทราบว่ามีการแพร่ระบาดก็หารือกันว่าจะช่วยอย่างไร โดยทราบว่าทางกรมปศุสัตว์จะนำเข้าวัคซีนประมาณ 60,000 โดส

ขณะที่การแพร่ระบาดในจังหวัดก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ วันละ 300-400 ตัว จะรอยาจากส่วนกลางคงไม่ทัน เบื้องต้น อบจ.อุดรธานีร่วมกับปศุสัตว์จังหวัด จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลและป้องกันโรคให้กับเกษตรกร ในครั้งนี้ทาง อบจ.ก็ได้สนับสนุนยาเวชภัณฑ์ เนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการให้ทันต่อสถานการณ์ จำนวนยาครั้งนี้คาดว่าจะไม่เพียงพอ ก็จะมีการหารือว่าจะจัดหายาอะไรมาเพิ่มเติมอีกต่อไป

นายพนธ์สมิทธ์ กลางนภา ปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า ภัยพิบัติครั้งนี้มาอย่างรวดเร็วมาก ถ้า อบจ.ไม่ให้การช่วยเหลือครั้งนี้ เกษตรกรคงแย่ ปัจจุบันตัวเลขสัตว์ป่วยทั้งจังหวัดประมาณเกือบ 8 พันตัว ตาย 360 ตัว บางส่วนรักษาหาย แนวโน้มโรคสัตว์โตจะไม่ตาย แต่ว่าต้องรักษาอย่างทันท่วงที เราจะนำยาทั้งหมดแจกจ่ายให้ทางปศุสัตว์อำเภอไปบริการให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ฟรี ไม่เก็บค่าใช้จ่าย ฟรีนะครับถ้าเก็บเงินก็แจ้งจะเอาเรื่องให้ถึงที่สุด เพราะยานี้เป็นงบประมาณของทางราชการ ซื้อมาเพื่อนำไปรักษาไปช่วยเหลือเกษตรกรที่ตกทุกข์ได้ยากของการระบาดโรคลัมปีสกินอยู่ในขณะนี้

รายงานข่าวแจ้งว่า การระบาดของโรคลัมปีสกินใน จ.อุดรธานี กำลังระบาดหนักคร่าชีวิตวัวของเกษตรกรที่ จ.อุดรฯ ไปแล้ว 360 ตัว ชาวบ้านเครียดอย่างหนัก จนทนไม่ไหวใช้สเปรย์สีฉีดใส่วัว คำว่า “แมว” เพื่อแก้เคล็ดและเชื่อว่าเป็นการหลอกล่อเชื้อร้ายไม่ให้ระบาด

นางพวงทอง กองสุวรรณ เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวใน ต.นาพู่ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า เคยเป็นมนุษย์เงินเดือนที่กรุงเทพฯ มานานกว่า 22 ปี แต่ถูกเลิกจ้าง จึงกลับมาเริ่มต้นงานเกษตรอยู่ที่บ้าน ด้วยการลงทุนเลี้ยงวัวอยู่ที่บ้านเกิด เป็นการเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด และใช้เงินสะสมที่มีอยู่ลงทุนซื้อวัวมาเลี้ยง ตั้งชื่อเป็นมงคลว่า เงินเก็บ เงินก้อน เงินหมื่น เงินแสน เป็นต้น แต่มาพบกับการระบาดของลัมปีสกิน จนท้อแท้หมดกำลังใจ รักษาทุกทางทั้งยาแผนปัจจุบัน และด้วยพืชสมุนไพรพื้นบ้าน ส่วนการพ่นสีใส่วัวว่าแมวนั้นเป็นการทำแก้เครียด เพราะไม่มีทางออก และอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบช่วยเกษตรกรด้วย

ด้าน น.ส.สกุณา สาระนันท์ ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชน พบว่าปัญหาการระบาดของโรคลัมปีสกินในโค กระบือ ยังคงสร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรอย่างมาก ส่งผลให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ แม้จะได้รับการชดเชย แต่ก็ไม่เพียงพอกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญน้อยมาก ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ก็ตัดสินใจไม่ได้ เพราะต้องรอนโยบายที่ชัดเจนจากส่วนกลาง การช่วยเหลือเกษตรกรจึงไม่คืบหน้า หาก ส.ส.จะไปเร่งให้หน่วยงานแก้ปัญหา ก็จะถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงการทำงานของข้าราชการประจำ ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้ทำ อาจจะถูกร้องถอดถอน จึงได้แต่ร่วมกันกับชาวบ้านในการดูแลกันไป

“ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองท้องถิ่นร่วมมือกับปศุสัตว์จังหวัด เร่งการฉีดวัคซีนให้กับโค กระบือ เพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาดในสัตว์ที่ยังไม่เป็น ซึ่งเป็นมาตรการเบื้องต้นเท่านั้น ขณะเดียวกันหากโค กระบือที่ติดเชื้อไปแล้วก็รักษาตามอาการ ดังนั้นทุกวันจะมีเกษตรกรหลายพื้นที่ ยืนดูโคกระบือของตัวเองไม่ต่ำกว่า 300-400 ตัวที่ล้มตายลง ปัญหาที่เกิดขึ้นรัฐบาลยังหลงทิศหลงทาง หมดปัญญาแก้ปัญหา ดีแต่จ่ายเงินชดเชย เกษตรกรไม่ได้ดีใจที่ได้เงินชดเชย แต่ในความเป็นจริงเกษตรกรอยากได้ยารักษาโรคและความมั่นคงในชีวิตมากกว่า” ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน