7-14วันหยุดเชื้อพันธุ์ดุ
ตายนิวไฮ51-ป่วย3,174
‘ไฟเซอร์’เลื่อนส่งสิ้นปี
ปากน้ำใช้แผน‘ขนมครก’

หมอจุฬาฯ-ศิริราชแนะล็อกดาวน์กทม. และปริมณฑล 7-14 วัน หวั่นคุมโควิดไม่อยู่ หลังพบติดเชื้อพุ่งวันละหลายพันคน ขณะที่สธ.งัดแผน ‘ขนมครก’สกัดเชื้อระบาดหนักที่สมุทรปราการ เร่งแก้ปัญหาเตียงไม่พอศบค.เผยติดเชื้อโควิดรายวันทำสถิติใหม่ 51 ราย ป่วยอีก 3,174 อาการหนัก 1,526 ต้องใส่ท่อหายใจอีก 433 ‘อนุทิน’ เผยวัคซีนไฟเซอร์เลื่อนส่งถึงไตรมาส 4 จากแผนเดิมจะมาถึงไตรมาส 3 ขณะที่ซิโนแวคมาเพิ่มอีก 2 ล้านโดส ‘มหาชัย’ ติดเชื้อเพิ่ม 51 ชลบุรีก็ยังหนักเจอป่วยเพิ่ม 142 โคราชปิดแล้ว 79 โรงเรียนทั่วจังหวัด ‘บิ๊กตู่’ ถกหาทางช่วยเหลือ เอสเอ็มอีสู้วิกฤตโควิด

ตายนิวไฮ 51-ป่วยเพิ่ม 3,174

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,174 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 3,112 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,392 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 720 ราย จากเรือนจำและที่ต้องขัง 36 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 26 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 228,539 ราย หายป่วยเพิ่ม 1,941 ราย ยอดหายป่วยสะสม 189,777 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 37,018 ราย อาการหนัก 1,526 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 433 ราย

เสียชีวิตเพิ่ม 51 ราย เป็นชาย 26 ราย หญิง 25 ราย อยู่ในกทม. 34 ราย ปทุมธานี สมุทรปราการ จังหวัดละ 3 ราย ชลบุรี นครปฐม จังหวัดละ 2 ราย นนทบุรี ราชบุรี ยะลา ปราจีนบุรี สงขลา สระแก้ว และสระบุรี จังหวัดละ 1 ราย อายุต่ำสุด 29 ปี สูงสุด 91 ปี อายุกลางเฉลี่ย 69 ปี นอนรักษาตัวนานสุด 53 วัน เฉลี่ย 11.5 วัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 1,744 ราย โรคประจำตัวยังเป็นกลุ่มเดิม แต่พบไม่มีโรคประจำตัว 5 ราย เป็นข้อสังเกตที่ทางที่ประชุมอยากเตือนประชาชนว่า การเสียชีวิตมีภาพเกิดขึ้นหลากหลาย

สำหรับผู้เสียชีวิตเพิ่ม 51 นับเป็นสถิติสูงสุดในวันเดียว

ขณะที่การฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-22 มิ.ย. ฉีดไปแล้ว 8,148,335 โดส แบ่งเป็นเข็มแรกสะสม 5,844,521 คน คิดเป็น 8.11% เข็มที่สอง 2,303,814 คน คิดเป็น 3.20% ส่วนสถานการณ์โลกมีผู้ป่วยสะสม 179,924,986 ราย เสียชีวิตสะสม 3,897,835 ราย

คลัสเตอร์ค่ายทหารติดเชื้อ 73

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากที่สุด กทม. 956 ราย สมุทรปราการ 501 ราย สมุทรสาคร 240 ราย สงขลา 185 ราย ชลบุรี 142 ราย ปัตตานี 120 ราย ปทุมธานี 93 ราย ราชบุรี 91 ราย นราธิวาส 89 ราย และนครปฐม 79 ราย

ทั้งนี้กทม.มีคลัสเตอร์ที่เฝ้าระวังทั้งหมด 96 แห่ง และมีคลัสเตอร์ใหม่ 2 แห่งคือ โรงงานเย็บผ้า ซอยประดู่ 1 เขตบางคอแหลม ติดเชื้อ 5 ราย โรงงานทำจิวเวลรี่ เขตคลองสาน ติดเชื้อ 5 ราย ส่วนในจังหวัดอื่นๆ มีคลัสเตอร์ใหม่คือโรงงานน้ำแข็ง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ติดเชื้อ 17 ราย บริษัทก่อสร้าง อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ติดเชื้อ 167 ราย โรงงานผลิตยางรถยนต์ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ติดเชื้อ 5 ราย และโรงงานอาหารทะเลแปรรูป อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ติดเชื้อ 6 ราย บริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ จ.ปทุมธานี ติดเชื้อ 22 ราย และค่ายทหาร อ.เมือง จ.ราชบุรี ติดเชื้อ 73 ราย

ฉีดน.ศ. – บรรยากาศฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้นักศึกษาที่ลงทะเบียนไว้ จัดสรรวัคซีนโดยกรมควบคุมโรค ดำเนินการฉีดโดยแพทย์และพยาบาลร.พ.นวมินทร์ 9 ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.

ห่วงกลุ่มใส่ท่อหายใจพุ่งพรวด

“ที่ประชุมศปก.ศบค.ห่วงใยเรื่องของผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งกราฟพุ่งสูงขึ้น แต่เดิมจะอยู่เฉพาะในกทม.และปริมณฑล ซึ่งขณะนี้ในต่างจังหวัดก็เพิ่มขึ้นเหมือนกัน สอดคล้องกับการระบาดระลอกปลายปีที่ผ่านมา เมื่อ วันที่ 15 ธ.ค. ที่สมุทรสาคร แล้วมาบวกกับกทม. อ่างทอง ระยอง และชลบุรี จะเห็นว่าความสูงของกราฟไม่เท่ากับการระบาดในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ขณะนั้นเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ แต่เราจะเห็นกราฟผู้ที่เดินเข้ามารักษาในโรงพยาบาลช่วงหลังสงกรานต์จะเยอะกว่าการค้นหาเชิงรุกในชุมชน แต่พอมาดูในเดือนมิ.ย.ที่เพิ่มขึ้นมา กราฟตอนนี้มีความน่าหวงใยว่า ผู้ที่เดินเข้ามารักษาในโรงพยาบาลยังพุ่งขึ้นตลอด ขณะที่การค้นหาเชิงรุกแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน สิ่งที่เราส่อแววของการออกข่าวมาว่าผู้ที่รักษาพยาบาลบอกว่าล้นแล้ว และภาพของคนที่รอเตียงไม่สามารถเข้าไปได้ ที่ประชุมจึงวิเคราะห์ว่าทำอย่างไรให้ผู้ป่วยระดับสีเขียวลดลงหรือกระจายจากโรงพยาบาลไปที่อื่นๆ ซึ่งโรงพยาบาลสนามเราก็ทำเต็มที่และต้องเปิดพื้นที่ดูแลสีแดงให้มากขึ้น ที่ประชุมจึงพูดถึงโมเดลหลายที่โดยเฉพาะภาคเอกชนให้เข้ามาช่วยกัน เดี๋ยวคงจะได้เห็นการจัดการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น”

ปัดล็อกดาวน์กรุงเทพฯ 7 วัน

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้มีข้อเสนอจากทางแพทย์ต้องการให้ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ อย่างน้อย 7 วัน เพื่อลดการเคลื่อนย้ายซึ่งอาจจะช่วยแก้ปัญหาได้ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ทางที่ประชุมได้รับทราบข้อเสนอดังกล่าว ด้วยความยินดีในหลายเรื่องที่ต้องนำมาพูดคุยและครุ่นคิด ถกแถลงกันในที่ประชุม เราได้รับทราบแล้วว่าการล็อกดาวน์เป็นเรื่องที่ได้ผลดี อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติในปัจจุบันนี้เราก็ดำเนินการอยู่ แต่เป็นลักษณะเฉพาะจุดเฉพาะที่ไป เกิดเหตุตรงไหนก็จัดการตรงนั้น เช่นแคมป์คนงาน โรงงาน หลายแห่งหลายที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อย่างไรก็ตามแต่ละมาตรการนั้นก็จะมีทั้งเชิงบวกและเชิงลบที่จะต้องนำมาไตร่ตรองกัน การปิดพื้นที่โรงงานก็อาจทำให้เกิดการกระจายของคนที่ไม่มีงานทำก็จะเดินทางไปต่างจังหวัดก็จะเพิ่มปัญหาไปอีก ดังนั้นต้องพิจารณาไตร่ตรองกันอย่างดี การปิดกรุงเทพมหานครอย่างที่ทราบกันว่าคนกรุงเทพมหานครจริงไม่ได้มีมาก แต่จะเป็นแรงงานที่มาจากต่างจังหวัด ถ้าปิดกรุงเทพมหานครอาจจะเป็นการเคลื่อนย้ายกลับไปต่างจังหวัดทำให้เกิดการติดเชื้อในต่างจังหวัดด้วยก็ได้ ดังนั้นจึงต้องผสมผสาน ที่สำคัญขณะนี้ข้อสรุปคือจะทำลักษณะบับเบิลแอนด์ซีล

สธ.อัพเกรดรพ.สนามกทม.

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีอาจารย์แพทย์เป็นห่วงการระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่กทม.วิกฤตว่า สธ.ช่วยทุกพื้นที่ แม้ไม่มีอำนาจบริหารจัดการระบบสาธารณสุขในกทม. แต่ก็ช่วยเหลือกัน ช่วยเราช่วยเขา อย่างร.พ.บุษราคัมก็ช่วยรับผู้ป่วยต่างชาติอาการ สีเหลือง ปลัดสธ.กำลังประชุมเพื่อให้ร.พ.หลักเปิดเตียงไอซียูให้มากที่สุด อาจต้องยกระดับเพิ่มศักยภาพร.พ.สนามให้ดูแลผู้ป่วยอาการ สีเหลืองแบบร.พ.บุษราคัมให้มากขึ้น เพราะทางร.พ.บุษราคัมจะหมดสัญญากับทาง อิมแพ็คฯ ต้องคืนพื้นที่ในสิ้นเดือนส.ค.นี้ จึงต้องเปิดร.พ.สนามสีเหลืองเพิ่มขึ้น

รอผลศึกษาฉีด 3 เข็ม

นายอนุทินกล่าวถึงกรณีนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรข่าวคนดังโพสต์ถึงองค์การเภสัชกรรม (อภ.) นำเข้าวัคซีนตัวเลือกของโมเดอร์นาล่าช้าว่า วัคซีนโมเดอร์นาเป็นวัคซีนทางเลือกที่เอกชนสามารถเจรจาเอง ถ้าเอาเข้ามาได้ ซึ่งเราขึ้นทะเบียนหมดแล้ว ถ้าเจอเงื่อนไขขายให้รัฐเท่านั้น อภ.ก็ยอมมาเป็นตัวกลาง ส่วนที่โพสต์ลงว่าล่าช้าชี้แจงว่าไม่ได้ช้า โดยอภ.จะมีการแถลงชี้แจง การที่อภ.เป็นตัวกลางเราไปเร่งอะไรไม่ได้ ร.พ.เอกชนต้องสั่งเข้ามา มีความต้องการวัคซีนจำนวนเท่าไร แต่โมเดอร์นาพูดตลอดว่า ส่งได้ไตรมาส 4 แล้วคนมาบอกว่ารัฐบาลต้องทำทุกอย่างให้เขาส่งมาก่อน จะทำได้ไหม เพราะทุกคนเขามีกำหนดการส่งอยู่แล้ว ที่ส่งได้เลยก็มีซิโนแวค รัฐบาลก็จัดการทันที พอเอาซิโนแวคมาก่อนก็ว่าแบบนี้ก็พายเรือในอ่าง อะไรมาได้ก็มา เรื่องเงินไม่เกี่ยง

นายอนุทินกล่าวว่า ตามหลักการวัคซีนทางเลือก คนเจรจาต้องเป็นเอกชน ไม่ใช่อภ. แต่ถ้าให้อภ.ช่วยต่อราคา ก็ยินดีอยู่แล้ว เอกชนต้องเปิดออร์เดอร์มาที่อภ. เพราะอภ.ไม่มีหน้าที่สต๊อกวัคซีนมาแล้วมาไล่ขาย ต้องมีคอนเฟิร์มออร์เดอร์เอกชนมา จ่ายเงินมา อภ.ก็ไปเปิดนำเข้ามาเป็นสะพานให้เพราะเป็นวัคซีนทางเลือก ตรงนี้ไม่เกี่ยวกับรัฐ ส่วนที่เกี่ยวกับรัฐ สธ.จะไปเร่งเจรจาอย่างไฟเซอร์ แอสตร้าเซนเนก้า ตนฟังรายงานตลอด เป้าหมายคือต้องมีวัคซีนฉีดให้คนทุกคน

รมว.สาธารณสุขกล่าวถึงกรณีการปรับแผนกลยุทธ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของการแพทย์ ต้องให้อาจารย์แพทย์และกรรมการวิชาการด้านวัคซีนพิจารณา ผลออกมาอย่างไรก็พร้อมปฏิบัติตาม เท่าที่ทราบคือมีการทดลองกันอยู่ ทั้งการฉีด 3 เข็ม การฉีดสลับยี่ห้อ ถ้าผลออกมาคณะวิชาการมีการตัดสินใจอย่างไรเราก็เชื่อเขาอยู่แล้ว

‘ไฟเซอร์’เลื่อนส่งไทยไตรมาส 4

เมื่อถามถึงวัคซีนไฟเซอร์ที่สั่ง 20 ล้านโดส นายอนุทินกล่าวว่า เป็นยอดที่ไฟเซอร์แจ้งว่าจะจัดสรรให้ไทยได้ในปีนี้ ตอนแรกบอกไตรมาส 3 แต่พอตกลงกันไปแล้วก็บอกว่าไตรมาส 4 วัคซีนเป็นที่ต้องการของคนทั่วโลก ถามว่าเราทำอะไรได้ เราไม่ได้เป็นเจ้าของโรงงาน แต่ละโรงงานก็มีข้อผูกมัดสัญญากับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แต่ประเทศไทยก็ไม่ขาดวัคซีน มีวัคซีนส่งทุกสัปดาห์และจัดสรรออกไป ประสิทธิภาพการฉีดสูงมาก

เมื่อถามต่อว่าต้องฉีดทำเวลากับการเปิดประเทศ 120 วัน หรือรองรับสายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์อินเดียหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า สายพันธุ์เดลตายังไม่มีวัคซีนไหนประกาศว่าครอบคลุม แต่สำคัญคือยังครอบคลุม ลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิต ก็ต้องเร่งฉีด แต่ไม่ได้เร่งฉีดเพราะสายพันธุ์เดลตา แต่ถึงเวลาวัคซีนมาส่งแล้ว เราบอกว่าตั้งแต่มิ.ย.ต้นไปเราฉีดให้ประชาชนมากที่สุด วันนี้ทะลุ 8 ล้านโดสไปแล้ว สิ้นเดือนนี้อย่างไรก็เกิน 10 ล้านโดสตามที่พูดไว้ทุกอย่าง

ใช้แผน‘ขนมครก’คุมโควิดปากน้ำ

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ.ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนพร้อมด้วยนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรคประชุมหารือร่วมกับนายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าฯ สมุทรปราการ นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจ.สมุทรปราการ ผอ.โรงพยาบาลในจังหวัดสมุทรปราการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางการควบคุมโรคโควิดในจ.สมุทรปราการ เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากวันละ 100 กว่ารายเพิ่มเป็น 300-500 กว่าราย ภาพรวมมีการติดเชื้อทุกอำเภอ มีคลัสเตอร์เกิดขึ้นจำนวนมาก 41 คลัสเตอร์ ทั้งการติดเชื้อในโรงงาน นิคมอุตสาหกรรม ตลาด ชุมชน คอนโดมิเนียม และแคมป์คนงานก่อสร้าง เนื่องจากการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์เล็กๆ ในการควบคุมการระบาดของโรค จึงเสนอให้ใช้ยุทธศาสตร์ “ขนมครก” โดยสุ่มตรวจพื้นที่ต่างๆ ในชุมชนที่มีการติดเชื้อ เมื่อพบผู้ติดเชื้อนำเข้าสู่การรักษาและใช้วัคซีนฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่นั้น โดยกำหนดจำนวนให้เหมาะสมเพื่อควบคุมโรคในพื้นที่ การดำเนินการเช่นนี้ประสบความสำเร็จมาแล้วในพื้นที่เขตบางแคและคลองเตย กทม. เมื่อดำเนินการควบคุมโรคแบบขนมครกเป็นจุดเล็กๆ ในทุกพื้นที่ และกระจายมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะควบคุมโรคเป็นพื้นที่ใหญ่ได้ โดยจะนำร่องในพื้นที่จ.สมุทรปราการ ซึ่งขอความร่วมมือผู้ว่าฯ เป็นผู้นำควบคุมโรค

สำหรับการควบคุมโรคในโรงงาน นิคมอุตสาหกรรมใช้มาตรการบับเบิลแอนด์ซีลในโรงงานขนาดใหญ่ที่มีการติดเชื้อแล้ว ทำให้ไม่เสียแรงงาน และยังควบคุมโรคไม่ให้แพร่เชื้อสู่ชุมชนได้

คอสเพลย์ – แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ประจำจุดฉีดวัคซีนห้างจังซีลอน ป่าตอง จ.ภูเก็ต แต่งชุดคอสเพลย์ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด สร้างความประทับใจก่อนเปิดเกาะรับนักท่องเที่ยวตามโครงการแซนด์บ็อกซ์

สธ.รับเตียงผู้ป่วยในกทม.วิกฤต

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงปัญหาเตียงไอซียูผู้ป่วยโควิด-19 พื้นที่ กทม. หรือระดับสีแดง เหลือ 20 เตียง ว่า กทม.เป็นคนบริหารจัดการภาพรวม แต่ตอนนี้เตียงไอซียูหรือสีแดงในภาครัฐเหลือ 20 เตียง จาก 400 กว่าเตียง เหมือนกับว่าร.พ.แต่ละแห่งไม่มีเตียงไอซียูว่างเลย จึงมีผลต่อการส่งต่อ ผู้ป่วยหนักไม่ค่อยได้ ตอนนี้ในภาคของการรักษาโรคหนักมาก หนักมากกว่า 10 วันแล้ว ก่อนหน้านี้เราเคยบอกว่าหากมีผู้ป่วยมากวันละ 500-600 คน เตียงไอซียูก็จะตึงไปด้วย แต่สถานการณ์ปัจจุบันพบว่าเกือบจะ 2 เดือนแล้วที่กทม.มีผู้ป่วยมากกว่าวันละ 1 พันรายขึ้นไป อย่างร.พ.ราชวิถีก่อนหน้านี้ขยายเตียงไอซียูที่โรงจอดรถ 10 เตียง ก็รับผู้ป่วยไป 12 ราย ร.พ.นพรัตนราชธานี เพิ่งขยายไอซียูเสร็จเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา 9 เตียงก็เต็มแล้ว ร.พ.รามาธิบดี ร.พ.ศิริราช ร.พ.จุฬาลงกรณ์ ขยายเป็นโคฮอตไอซียูแทบจะเต็มไปเรียบร้อย ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมาเราพยายามขยายศักยภาพ และรับได้เพิ่มขึ้นพอสมควร แต่ 10 วันหลังมานี้ตึงมาก

“การที่มีผู้ป่วยอาการหนักมากขึ้น ตรงไปตรงมาคือเกิดจากสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ที่ยังครองการระบาดอยู่ และตอนนี้มีเดลตา (อินเดีย) ที่กำลังเข้ามาชิงพื้นที่ ทั้ง 2 สายพันธุ์แพร่เชื้อได้เร็ว ถ้ามองว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงอาการเป็นสีเหลือง สีแดงเท่าเดิม แต่ผู้ป่วยมีมากขึ้นในแต่ละวัน ตัวคูณเยอะขึ้น ส่งผลให้มีการจัดเตียงสีเหลือง สีแดงเยอะขึ้นด้วย แต่เนื่องจากทั้งสายพันธุ์อัลฟาและเดลตา ทำให้อาการเยอะขึ้นด้วย ดังนั้น โอกาสที่ผู้ป่วยจะมีอาการเปลี่ยนไปเป็นสีเหลือง สีแดงก็เยอะขึ้น ในแง่ของความรุนแรงและจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหากับเตียงผู้ป่วยที่จะรองรับ” นพ.สมศักดิ์กล่าว

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ตอนนี้เตียงไอซียูขยายยากแล้ว เพราะทุกร.พ.ทั้งรัฐ โรงเรียนแพทย์ มีการขยายศักยภาพไปมาก รวมถึงนำแพทย์ฝึกหัด เรสซิเดนต์ของสาขาต่างๆ เข้ามาช่วยกันทำงาน แม้กระทั่งร.พ.มงกุฎวัฒนะ ที่มีการตั้งไอซียูสนามก็รับผู้ป่วยไปเต็มแล้ว ดังนั้น แต่ละแห่งค่อนข้างขยายไอซียูเพิ่มยาก ตอนนี้ต้องพยายามเอาคนที่ป่วยเข้าร.พ.ให้เร็ว ซึ่งเตียงสำหรับผู้ป่วยสีเขียวของภาครัฐก็ค่อนข้างตึง ใช้วิธีหมุนวันต่อวัน คนไข้หายกลับบ้านไปก็รับผู้ป่วยรายใหม่เข้ามา ฮอสปิเทลที่ตั้งขึ้นก็รับจนเต็มเกือบหมด แทบจะวันต่อวันที่ต้องหมุนกันเอา แต่ยังมีร.พ.เอกชนที่ตรวจสอบล่าสุดยังมีฮอสปิเทลว่างอยู่กว่า 2 พันเตียง

“หากเจอผู้ป่วยแล้วต้องนำเข้าร.พ.เร็วเพื่อดูอาการ หากเริ่มมีอาการก็ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ถ้ายังไม่มีอาการก็ให้ยาฟ้าทะลายโจร หวังว่าจะลดการเปลี่ยนแปลงอาการจากเขียวเป็นเหลือง จากเหลืองเป็นแดงได้ เพราะฉะนั้น คนที่ป่วยแบบที่มีใบแล็บถูกต้องก็รีบไปฮอสปิเทล อีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยเราได้คือแคมป์คนงาน ที่เจ้าของให้บริษัทแล็บไปตรวจ โดยใช้แล็บที่ไม่ได้มาตรฐาน ตอนนี้ถ้าเป็นประชาชนทั่วไปที่สงสัยแล้วไปรับการตรวจไม่มีปัญหา แต่มีปัญหาคือเจ้าของโรงงาน เจ้าของแคมป์คนงานไปหาบริษัทแล็บเอกชนมาเอง เรื่องนี้ได้แจ้งไปยังกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ทราบเรื่องแล้ว”

ปิดโรงเรียนแล้ว 79 แห่ง

ด้านนพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า มีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 20 ราย โดยอยู่ในพื้นที่อ.ชุมพวง 1 ราย, อ.โชคชัย 2 ราย, อ.ด่านขุนทด 2 ราย, อ.ปักธงชัย 1 ราย, อ.เมือง 1 ราย, อ.วังน้ำเขียว 4 ราย และ อ.เสิงสาง 9 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 1,072 ราย รักษาหายแล้ว 932 ราย ยังรักษาอยู่ 126 ราย และเสียชีวิต 14 ราย

“จากสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งอยู่ในช่วงเปิดเทอมของโรงเรียนต่างๆ พบว่ามีผู้ปกครองของนักเรียนในโรงเรียนหลายแห่ง ติดเชื้อโควิด จนทำให้ผู้บริหารโรงเรียนต่างๆ ต้องประกาศปิดเรียนชั่วคราวจำนวนมาก ขณะนี้มีผู้บริหารโรงเรียนในพื้นที่จ.นครราชสีมา จำนวน 79 แห่ง ประสานมายังสำนักงานสาธารณสุขอำเภอขอปิดโรงเรียนชั่วคราวเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดในพื้นที่ โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่อ.เสิงสาง อ.โนนสูง และอ.เมือง ซึ่งมีครูและผู้ปกครองนักเรียนติดเชื้อ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอในพื้นที่จึงประสานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปทำความสะอาดภายในโรงเรียน และติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด”

อยุธยาป่วยเพิ่ม 50

ส่วนจ.พระนครศรีอยุธยา พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 50 ราย ที่อ.พระนครศรีอยุธยา 10 ราย อ.บางปะหัน 4 ราย อ.มหาราช 1 ราย อ.อุทัย 3 ราย อ.ลาดบัวหลวง 7 ราย อ.นครหลวง 2 ราย อ.บางปะอิน 5 ราย อ.ท่าเรือ 6 ราย อ.ผักไห่ 1 ราย อ.บางไทร 3 ราย อ.วังน้อย 8 ราย อ.เสนา 4 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 1,750 ราย รักษาตัวหายแล้ว 908 ราย ยังรักษาตัวอยู่อยู่ 763 ราย

สำหรับคนงานในแคมป์คนงานก่อสร้าง ม.7 ต.คลองสวนพลู อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ติดเชื้อโควิด 180 ราย ขณะนี้รักษาหายแล้วครบ 14 วัน และตรวจซ้ำไม่พบเชื้อ ถือว่าหายแล้วพ้นระยะการแพร่เชื้อ สามารถกลับไปทำงานและดำรงชีวิตได้ตามปกติ เตรียมจัดทำความสะอาดพื้นที่แคมป์คนงาน ให้ทางบริษัทรับเหมาจัดเตรียมสำรองที่พักสำหรับคนงานที่หายแล้ว

ชลบุรีติดเชื้อเพิ่ม 142

สาธารณสุขจังหวัดชลบุรีรายงานว่า พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 142 ราย มียอดสะสม 6,770 ราย กำลังรักษาตัวอยู่อีก 1,694 ราย หายป่วย 5,039 ราย ยอดสะสมผู้เสียชีวิต 37 ราย

ตรวจเชิงรุกกลุ่มพ่อค้า แม่ค้า และแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในตลาดใหม่ชลบุรีซึ่งเป็นตลาดขายส่งผัก ผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออก ตั้งอยู่ต.บ้านโขด อ.เมือง จ.ชลบุรี พบผู้ติดเชื้ออีก 27 ราย เฉพาะตลาดใหม่ชลบุรีพบติดเชื้อแล้ว 336 ราย

นอกจากนั้นยังพบที่คลัสเตอร์ตลาดสัตหีบอีก 7 ราย แคมป์แรงงานต่างด้าว บริษัท สแตนดาร์ด เพอร์ฟอร์แม้นซ์ จำกัด ต.เขาคันทรง อ.ศรีราชา เพิ่ม 4 ราย แคมป์แรงงานต่างด้าว บริษัท JWS อ.ศรีราชา 4 ราย พบซับคอนแท็กต์ บริษัท สแตนดาร์ด เพอร์ ฟอร์แม้นซ์ จำกัด อีก 14 ราย พบผู้ป่วยยืนยันจากกาญจนบุรีอีก 1 ราย สัมผัสผู้ป่วยในครอบครัว 18 ราย จากที่ทำงาน 22 ราย อยู่ระหว่างการสอบสวนโรคอีก 22 ราย

‘มหาชัย’ติดโควิด51

วันเดียวกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 51 ราย เป็นชาย 26 คนและหญิง 25 คน เป็นชาวไทย 50 คน และเมียนมา 1 คน

‘ปากน้ำ‘ติดเชื้อใหม่ 501

สำนักงานสาธารณสุขจ.สมุทรปราการ รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 501 ราย อยู่ในพื้นที่ 476 ราย มาจากการตรวจเชิงรุก 168 รายและตรวจในร.พ. 308 ราย และนอกพื้นที่ 25 ราย

‘เบตง’ปิดเพิ่มอีกหมู่บ้าน

ด้านนายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง จ.ยะลา กล่าวภายหลังการประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องว่า มีรายงานว่าชาวตำบลธารน้ำทิพย์ติดเชื้อโควิด 4 ราย ซึ่งเป็นคลัสเตอร์จากมัรกัสยะลา ที่ประชุมกำหนดปิดหมู่ที่ 2 บ้านบาแตตูแง ต.ธารน้ำทิพย์ อ.เบตง 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย.เป็นต้นไป

สงขลาติดเชื้ออีก 185

นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าฯ สงขลาเปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 185 ราย มาจากกลุ่มสัมผัสผู้ติดเชื้อในโรงงาน กลุ่มติดเชื้อในโรงงาน กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน กลุ่มสัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่ รอการสอบสวนโรค และกลุ่มสัมผัสผู้ติดเชื้อศูนย์มัรกัสและกลุ่มผู้สัมผัสติดเชื้อในครอบครัวและชุมชน รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสม 3,943 ราย เสียชีวิต 15 ราย ต้องเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่ม เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อจากโรงงานและกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน

‘ส.ส.ตรัง’ยื่นขอวัคซีนเพิ่ม

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนิพันธ์ ศิริธร ส.ส.ตรัง และนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ เข้าพบนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้พิจารณาจัดสรรวัคซีนให้สอดคล้องการสถานการณ์ระบาดในพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อในโรงงานถุงมือขนาดใหญ่ จำนวนมาก

หมอจุฬาฯ-ศิริราชแนะล็อกกทม.

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ยอดการติดเชื้อโควิดใน กทม.มีอัตราการติดเชื้อจำนวนมาก เกินหลัก 1 พันราย อัตราการเสียชีวิตสูง สัดส่วนผู้ป่วยเด็กและผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น สะท้อนว่ามีการติดเชื้อในชุมชนจำนวนมาก ทำให้การใช้เตียงในร.พ.หลักติดขัด จำนวนเตียงระดับ 2 และ 3 ที่ขยายศักยภาพมาหลายรอบ เหลือไม่ถึง 5% ตัวเลขผู้ป่วยอาการรุนแรง ผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิต กลับมาเพิ่มขึ้นใหม่และอาจทำนิวไฮ ดังนั้น ยืนยันขอเรียกร้องให้มีการล็อกดาวน์กทม.และปริมณฑล เป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน เพราะมีพื้นที่ติดกัน และมีจำนวนผู้ป่วยจำนวนมากเช่นเดียวกัน

“ส่วนที่เพิ่งจะประกาศผ่อนคลายมาตรการ ต้องกลับมาคุมเข้ม หากทำอย่างน้อย 7 วันแล้วยังไม่ได้ผลหรือไม่ดีขึ้น อาจจะพิจารณาต่ออีก 7 วัน หากเริ่มล็อกดาวน์ตั้งแต่วันนี้ ไม่ดีขึ้น หรือหากไม่เริ่มทำอะไร เราจะเห็นผู้ป่วยใน กทม.พุ่งขึ้นเป็นหลักหลายพันรายต่อวัน ตัวเลขที่เราเห็นว่าระบบสาธารณสุขรับดูแลได้แบบสบายๆ ไม่หนักเกินไปคือทั่วประเทศประมาณ 1,500 รายต่อวัน แต่ตอนนี้เกินมามากแล้ว การล็อกดาวน์ถ้าทำวันนี้จะเห็นผลอย่างน้อยคือ 7 วันข้างหน้า เพราะฉะนั้นถ้าเริ่มวันนี้ นอกจากการสวดมนต์แล้ว ก็ต้องมีการขยาย หรือเพิ่มมาตรการคุมเข้ม แต่ถ้าไม่ทำวันนี้ก็จะช้าไปเรื่อย นอกจากจะทำให้เห็นอัตราการติดเชื้อมากขึ้น โคม่าและเสียชีวิตมากขึ้น ที่กลัวคือปัจจุบันยังมีคนป่วยโรคอื่นๆ อยู่ก็จะได้รับผลกระทบมากขึ้น หลังจากถูกแย่งทรัพยากรเตียง และบุคลากรการแพทย์ เลื่อนการรักษาไปก่อนหน้านี้ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นคนไข้โรคอื่นๆ แย่ลงไปด้วยไม่เฉพาะคนไข้โควิด”

ด้านรศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านทางเฟซบุ๊ก เสนอ 4 ข้อ ให้ศบค.เป็นหน่วยงานหลักพิจารณาวางแผน และจัดหาวัคซีนเอง ไม่ต้องผ่านกระบวนการของกระทรวงหรือหน่วยงานอื่นในระบบปกติ ต้องปรับแผนการจัดซื้อจัดหาวัคซีนใหม่ ให้นายกฯยกหูโทรศัพท์ไปเจรจากับบริษัทวัคซีนด้วยตัวเอง เพื่อให้ได้วัคซีนมาในปริมาณมากพอ และรวดเร็ว เร่งจัดหาวัคซีน mRNA เพื่อฉีดเป็นเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิสำหรับคนที่ได้วัคซีนเข็มแรก หรือได้รับวัคซีนครบสองเข็มไปแล้ว ขณะที่คนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ก็ควรได้รับวัคซีนนี้เช่นกันทั้งสองเข็ม และด้วยสถานการณ์ระบาดที่รุนแรงกระจายไปทั่ว และไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น จึงควรพิจารณาอัพเกรดมาตรการเพื่อตัดวงจรการระบาดให้ได้ จะโดยการพิจารณาล็อกดาวน์พื้นที่ อำเภอ จังหวัด หรือภาคที่มีการระบาดหนัก เป็นระยะเวลาสั้น 2 สัปดาห์ จะทำให้เกิดประโยชน์ในการควบคุมโรค และต่อลมหายใจของระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพ มหานครและปริมณฑล

ซิโนแวคถึงไทยอีก 2 ล้านโดส

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก Chinese Embassy Bangkok สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย โพสต์รายงานถึงการจัดส่งวัคซีนซิโนแวคล็อตใหม่ให้กับประเทศไทยระบุว่า “เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.วัคซีนซิโนแวคชุดใหม่ 2 ล้านโดสส่งถึงกรุงเทพฯ แล้ว ปัจจุบัน จีนได้จัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ประเทศไทยแล้ว 12 ชุด รวม 10.5 ล้านโดส วัคซีนจีนจะช่วยชาวไทยต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยสู้ๆ”

เปิดเกาะ – ชาวสมุยและแรงงานบนเกาะเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด เข็มที่สองอย่างคึกคัก เพื่อเตรียมเปิดเกาะรับนักท่องเที่ยว ที่เต็นท์จุดคัดกรองนอกอาคาร ร.พ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.

‘บิ๊กตู่’ถกช่วยเอสเอ็มอี

เมื่อเวลา 14.30 น. ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมมาตรการเศรษฐกิจและแนวทางช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี โดยมีตัวแทนภาครัฐ อาทิ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายวีระ พงษ์มาลัย ผอ.สำนักส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ขณะที่ภาคเอกชนประกอบด้วยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมถึงนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทยและนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เข้าร่วม

ภายหลังการประชุม นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย เปิดเผยว่า มีการเสนอเรื่องของซอฟต์โลนซึ่งเสนอปรับ 4 ประเด็นประกอบด้วย 1.การปรับใช้นิยามของคำว่าเอสเอ็มอีซึ่งขอให้ใช้ตามนิยามของสสว.เพื่อให้เป็นมาตรฐานในการคุยกับสถาบันการเงินรวมถึงการสื่อสารกับภาครัฐ 2.การแบ่งวงเงิน 25,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นจำนวนเงินที่เยอะมากจึงอยากให้แบ่งวงเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย รายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ 3.การตั้งเป้าจำนวนผู้ประกอบการที่จะเข้าถึงแต่ละวงเงิน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งที่เข้าไม่ถึงวงเงินและแหล่งทุน และ4.เสนอหลักเกณฑ์การผ่อนปรนการช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลนให้กับผู้ประกอบการนิติบุคคลที่เสียภาษี พงด. 50 และผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ต้องเสียภาษี ตาม พงด. 90 โดยจะต้องนำผู้ประกอบการเหล่านี้เข้าไปช่วยเหลือในลำดับแรกๆ ส่วนมาตรการพักต้นทั้งดอก จะต้องไปช่วยผู้ประกอบการที่ไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อที่อย่างน้อยจะไม่ได้ก่อหนี้ใหม่ ส่วนหนี้เดิมก็จะได้รับการพักต้นพักดอกโดยไม่คิดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6-12 เดือน นายกฯให้ความสำคัญกับทุกแนวทางที่ภาคเศรษฐกิจเสนอขึ้นไป การพูดคุยกันในวันนี้เราควรจะนำเรื่องของกองทุนเข้ามาปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเพื่อให้เข้าถึงแหล่งทุนและทำมาหากินต่อได้ตามปกติ”

พร้อมหนุน 120 วันเปิดปท.

นายสนั่นกล่าวว่า หอการค้าฯ พร้อมที่จะสนับสนุนนายกฯ และรัฐบาลเปิดประเทศไทย 120 วัน ซึ่งตรงกับวันที่ 14 ต.ค. เพื่อสร้างความมั่นใจให้ชาวต่างชาติว่าไทยมีความพร้อมแล้ว สรุปแล้วการท่องเที่ยวจะต้องเปิด เพื่อให้นักธุรกิจนักลงทุนเดินทางเข้ามาในประเทศไทยด้วย และคนไทยก็จะได้เดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปหาออร์เดอร์สินค้าต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ ขณะเดียวกันตนพูดคุยกับหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศว่าเราจะต้องมีความพร้อม โดยเฉพาะโรงแรม ร้านอาหาร พนักงาน จะต้องเตรียมตัว ให้พร้อมรองรับการเปิดประเทศ ซึ่งก่อนจะไปถึงจุดนั้นหอการค้าไทยจะต้องเป็นคนไปพูดคุยกับทางสถาบันการเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีความลำบาก ให้มีโอกาสได้ฟื้นคืนได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีแพทย์เสนอให้ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ 7 วัน นายสนั่นกล่าวว่า เราต้องมาตั้งคำถามกันก่อนว่าทำไมเราถึงต้องเปิดประเทศ อีกทั้งโควิด-19 ก็ต้องอยู่กับเราตลอดไป เราจึงต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อให้อยู่กับโควิด-19 และปรับตัวให้เปิดประเทศได้ หากเรามัวแต่กลัวอย่างเดียว ขณะที่คนอื่นเขาเปิดไปแล้วเราก็จะเสียโอกาส

ทั้งนี้หอการค้าฯ มีข้อเสนอเพิ่มเติมถึงนายกฯ ประกอบด้วย 1.ขอให้ปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีผ่านผู้ประกอบการค้าปลีก โดยธนาคารจะเป็นผู้พิจารณาความเสี่ยงผ่านผู้ประกอบการค้าปลีก ผ่านระบบข้อมูลออนไลน์ในการตรวจสอบ 2.เสนอให้ภาครัฐผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อให้สถาบันทางการเงินใช้กฎเกณฑ์พื้นฐานในการให้สินเชื่อ โดยพิจารณาในหลายส่วน ไม่ใช่จากเครดิตบูโรเพียงอย่างเดียว 3.พิจารณาปลดล็อกให้ลูกหนี้ที่ติดเครดิตบูโรหรือเอ็นพีแอลให้เข้าแหล่งเงินทุน 4.เสนอให้ลดค่าธรรมเนียมค่าประกันบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อลดต้นทุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้มากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน