ระดมทีมแพทย์4สาขา
วันเดียวเซ่นโควิด 57
กรุงเทพเชื้อลาม32จว.
‘ปากน้ำ’ติด435-ตาย 9
มหาชัยเร่งเปิดรพ.สนาม

สธ.รับโควิดสุดวิกฤต เอาไม่อยู่แล้ว เตียงไอซียูก็ไม่พอ ระดมอายุรแพทย์ 4 สาขา 144 คนดูแลผู้ป่วยหนัก‘หมอมานพ พิทักษ์ภากร’ จากศิริราชเตือนอีก 2-3 อาทิตย์หนักสุด เนื่องจากพันธุ์อินเดียระบาดกระจายทั่วปท. ศบค.เผยติดเชื้อรายวันอีก 5,533 ตายนิวไฮ 57 ราย เผยเชื้อกทม.กระจายแล้ว 32 จังหวัด ผู้ว่าฯมหาชัยสั่งเร่งเปิดร.พ.สนามรองรับยอดป่วยพุ่ง ส่วนสมุทร ปราการติดเชื้อกระฉูด 435 ตายวันเดียว 9 ราย สลดแม่-ลูกสาวเสียชีวิตจากโควิดห่างกันแค่ 2 วันหลังรอเตียงไม่ไหว จีนส่งวัคซีนให้ไทยอีก 1 ล้านโดส

ตายนิวไฮ 57-ติดเชื้อพุ่ง 5,533

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 1 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,533 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 5,477 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 3,788 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 1,689 ราย จากเรือนจำและที่ต้องขัง 44 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 12 ราย มาจากมัลดีฟส์ 1 ราย พม่า 2 ราย มาจากช่องทางธรรมชาติ และกัมพูชา 9 ราย เข้ามาช่องทางธรรมชาติ 7 ราย บางคนมีอาการติดเชื้อตั้งแต่วันแรกที่เข้ามา หากตรวจจับไม่ได้ก็จะกระจายไปยังบุคคลใกล้ชิด ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 264,834 ราย หายป่วยเพิ่ม 3,223 ราย หายป่วยสะสม 210,702 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 52,052 ราย อาการหนัก 1,971 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 566 ราย

เสียชีวิตเพิ่มเติม 57 ราย ถือเป็นนิวไฮ เป็นชาย 30 ราย หญิง 27 ราย มาจากกทม. 34 ราย สมุทรปราการ 9 ราย ปทุมธานี 3 ราย นครปฐม นครนายก จังหวัดละ 2 ราย เชียงราย ชัยภูมิ สงขลา นครศรีธรรมราช นราธิวาส สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี จังหวัดละ 1 ราย เป็นชาย 30 ราย และหญิง 27 ราย อายุต่ำสุด 30 ปี สูงสุด 94 ปี โรคประจำตัวยังคล้ายเดิมคือความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 2,080 ราย

ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 182,975,530 ราย เสียชีวิตสะสม 3,962,781 ราย

สระแก้ว-นครปฐมคลัสเตอร์ใหม่

พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า สำหรับ 10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1.กทม. 1,960 ราย สะสม 74,779 ราย 2.สมุทรปราการ 435 ราย สะสม 17,437 ราย 3.ปทุมธานี 321 ราย สะสม 8,213 ราย 4.สมุทรสาคร 298 ราย สะสม 8,261 ราย 5.สงขลา 272 ราย สะสม 4,717 ราย 6.ชลบุรี 261 ราย สะสม 8,685 ราย 7.นครปฐม 231 ราย สะสม 4,512 ราย 8.นนทบุรี 224 ราย สะสม 11,488 ราย 9.ปัตตานี 180 ราย สะสม 2,370 ราย และ 10.ยะลา 136 ราย สะสม 1,975 ราย ถือว่าติดเชื้อเกิน 100 รายทั้งหมด

สำหรับคลัสเตอร์ใหม่ ได้แก่ 1.นครปฐม โรงงานไก่ อ.ดอนตูม พบติดเชื้อ 104 ราย 2.สระแก้ว วิทยาลัยเทคนิค อ.วังน้ำเย็น ติดเชื้อ 11 ราย ก่อนหน้านี้มีนักเรียนจบการศึกษาและรายงานติดเชื้อหลายจังหวัด อยู่ในช่วงเดินทางไปฝึกงานโรงงานต่างๆ ต้องเน้นย้ำมาตรการโรงงาน การมีนักศึกษาฝึกงาน รับบุคคลเข้าทำงาน เน้นมาตรการองค์กรเข้มงวด

เชื้อกทม.ลามแล้ว 32 จังหวัด

ผู้ช่วยโฆษกศบค.กล่าวด้วยว่า วันนี้มีการติดเชื้อ 71 จังหวัด โดยติดเชื้อมากกว่า 20 ราย 26 จังหวัด ติดเชื้อ 11-19 ราย 11 จังหวัด ติดเชื้อ 1-10 ราย 30 จังหวัด และไม่มีการติดเชื้อ 4 จังหวัด การข้ามพื้นที่ใน 1 สัปดาห์นี้ จังหวัดที่พบรายงานติดเชื้อเพิ่มขึ้น เป็นคนเดินทางจาก กทม.และปริมณฑล ทำให้เกิดยอดติดเชื้อในจังหวัดปลายทางถึง 32 จังหวัด กระจายทั้งเหนือ 6 จังหวัด อีสาน 12 จังหวัด กลาง 9 จังหวัด และใต้ 1 จังหวัด อาทิ เชียงราย เชียงใหม่ อ่างทอง สุพรรณบุรี ศรีสะเกษ ยโสธร ภูเก็ต แต่ละจังหวัดต้องออกประกาศเข้มงวด โดยให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังเข้มงวดสูงสุด เพราะอาจมีประชานทำงานพื้นที่เสี่ยง กทม. ปริมณฑล มีการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับบ้าน ไม่ใช่ว่ากลับไม่ได้ แต่ต้องกักกันตัวเอง

“ยิ่งกลับไปแล้วมีผู้สูงอายุ เด็กเล็ก เป็นความรับผิดชอบส่วนตัว เพราะอาจเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้ทำตัวเสมือนเป็นผู้ติดเชื้อแล้ว ไม่เดินทางไปสังสรรค์ อย่างชลบุรีไปพะเยาแล้วไปกินเลี้ยง ตั้งวงเล่นพนัน การสัมผัสผู้ติดเชื้ออาจยังไม่มีอาการ เพราะระยะฟักตัว 2-14 วัน บางคนผ่านไป 4-5 วันถึงเริ่มมีอาการ คนมาจากพื้นที่เสี่ยงให้กักตัวเอง ไม่เดินทาง ไม่สัมผัสใกล้ชิด ไม่ไปพื้นที่ชุมชน อะไรที่เป็นกิจกรรมมีความจำเป็นต้องระมัดระวัง มาตรการส่วนตัว สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ขอให้จังหวัดมีการติดตามผู้เดินทาง ย้ำ ร.พ.ปลายทางกรณีมีผู้คนมารับบริการ ร.พ.ขอให้ตรวจโควิดในทุกรายที่มีอาการปอดอักเสบ ไข้ไอ เสมหะ เป็นต้น”

ยอดฉีดวัคซีนมิ.ย.พลาดเป้า

พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า การฉีดวัคซีน โควิด-19 ข้อมูลวันที่ 30 มิ.ย. ฉีดวัคซีน 254,992 โดส ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-30 มิ.ย. รวม 9,927,698 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 7,110,854 ราย และเข็มสอง 2,816,844 ราย โดยกทม.ฉีดวัคซีนมากที่สุด ฉีดเข็มแรก 2,411,559 ราย คิดเป็น 31.32% สมุทรสาคร ฉีดเข็มแรก 178,809 ราย คิดเป็น 18.76% นนทบุรี เข็มแรก 289,822 ราย คิดเป็น 15.65% ที่ประชุม ศบค.หารือถึงพื้นที่ระบาด โดยเฉพาะนครปฐม มีประชากร 1.12 ล้านราย ฉีดวัคซีน 6.4 หมื่นรายในเข็มแรก จะพิจารณาจัดสรรวัคซีนพื้นที่นครปฐมเพิ่มขึ้น กรมควบคุมโรครับเรื่องจากจังหวัดที่เสนอเข้ามาแล้ว

“เน้นย้ำว่ามิ.ย.ที่ผ่านมานโยบายการกระจายวัคซีน ศบค.เน้นย้ำฉีดในกลุ่มเสี่ยงสูง คืออายุเกิน 60 ปี และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง โดยวันที่ 30 มิ.ย. พบว่าผู้สูงอายุที่อายุเกิน 60 ปี นับรวม 12 ล้านคนทั่วประเทศ ฉีดวัคซีน 1.33 ล้านคน คิดเป็น 10.7% ยังต้องทำให้มากขึ้นในก.ค. ส่วน 7 โรคหลัก 5.35 ล้านคน ฉีดแล้ว 6.8 แสนคน คิดเป็น 12.7% ก.ค.นี้เรามีปริมาณวัคซีนมากขึ้นขอให้ทุกสถานที่ฉีดเร่งระดมฉีดใน 2 กลุ่มนี้ โดยวัคซีนรอบที่จะฉีด 5-11 ก.ค.มาถึงแล้ว มาตามแผนที่กำหนดไว้ ก.ค.นี้จะมาทั้งสิ้นประมาณ 10 ล้านโดส มีการรายงานเป็นระยะ” พญ.อภิสมัยกล่าว

ส่ง 144 อายุรแพทย์ดูแลป่วยหนัก

วันเดียวกัน นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และนพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดสธ. ประชุมชี้แจงแนวทางการปฏิบัติงานของอายุรแพทย์และแพทย์เวชบำบัดวิกฤตสนับสนุนภารกิจ ร.พ.สนาม โดยมีอายุรแพทย์ 4 สาขาจบใหม่ ได้แก่อายุรแพทย์ทั่วไป อายุรแพทย์โรคปอด อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ และแพทย์เวชบำบัดวิกฤตเข้าร่วม 144 คน

นพ.สุระกล่าวว่า ขณะนี้ไม่ใช่ภาวะปกติ สถานการณ์วันนี้มีผู้ติดเชื้อโควิดครึ่งหมื่น เสียชีวิตครึ่งร้อย สถานการณ์เตียงไอซียูไม่พอ ไม่สามารถรับคนไข้สีแดงไปนอนได้ ต้องขยายเตียงไอซียู ซึ่งจะเปิดเพิ่มที่ร.พ.ธรรมศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี ร.พ.วชิรพยาบาล และ ร.พ.พลังแผ่นดินของ ร.พ.มงกุฎวัฒนะ และต้องการบุคลากรแพทย์ พยาบาล มาปฏิบัติงานดูแล ผู้ป่วยในกทม.และปริมณฑล สธ.จึงจัดแพทย์และพยาบาลไอซียูมาสนับสนุน โดยในส่วนของแพทย์ สธ.หารือกับแพทยสภาและโรงเรียนแพทย์ที่ฝึกแพทย์ 4 สาขาดังกล่าวที่เป็นสายหลักในการทำงานห้องไอซียูได้ จึงเชิญแพทย์เชี่ยวชาญทั้ง 4 สาขาที่เพิ่งจบมาอบรมในวันนี้ 144 คน เพื่อชี้แจงว่าต้องส่งไปทำงานในจุดที่มีการระบาดของคนไข้มากขึ้น ซึ่งแพทย์เหล่านี้ไม่ใช่แพทย์เพิ่งจบใหม่ แต่จบมาหลายปี แล้วมาเรียนต่อ 3-5 ปีตามหลักสูตร เพื่อดูแลคนไข้ที่ซับซ้อนมากกว่าปกติ เมื่อจบแล้วก็เป็นแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และผ่านการดูแลคนไข้โควิดกันมาแล้ว

นพ.สุระกล่าวต่อว่า แพทย์ที่อยู่ในสังกัดของเขตสุขภาพที่ 4, 5, 6 และ 12 จะกลับไปพื้นที่ตนเอง เนื่องจาก 4 เขตดังกล่าวมีการติดเชื้อจำนวนมาก ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 4 คือ นนทบุรี ปทุมธานี เขตสุขภาพที่ 5 นครปฐม สมุทรสาคร เขตสุขภาพที่ 6 ชลบุรี สมุทรปราการ เขตสุขภาพที่ 12 คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา ส่วนแพทย์ที่มาจากเขตสุขภาพอื่นที่เหลือ 69 คนจะส่งตัวไปปฏิบัติงานยังห้องไอซียู 4 แห่งที่จะเปิดเพิ่มขึ้น และถ้าเหลือจากนี้จะส่งไปช่วยร.พ.บุษราคัมเพิ่มเติม ทั้งนี้จะให้ปฏิบัติภารกิจประมาณ 1 เดือนคือก.ค.ก่อน และประเมินสถานการณ์ว่าจะต้องอยู่ช่วยปฏิบัติหน้าที่ต่อหรือไม่ ถ้าดีขึ้นก็ส่งกลับไปปฏิบัติหน้าที่ฐานที่เดิมต่อไป

“วันนี้วันสำคัญที่สุดวันหนึ่ง เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การทำงาน สธ.ต้องขอแรงความร่วมมือแพทย์ทั้ง 4 สาขาช่วยปฏิบัติภารกิจเร่งด่วน ถือเป็นการรวมพลอัศวินเสื้อกาวน์มือดีของกระทรวงมาช่วยปฏิบัติงาน ซึ่งวันนี้ในการประชุมก็ได้มีการให้ข้อมูลข้อเท็จจริง เพราะเราไม่อยากบังคับให้ทำงาน อยากให้ทำด้วยความสมัครใจ และเห็นปัญหาร่วมกับเราว่าตอนนี้อยู่ในภาวะวิกฤต ถ้าเราไม่ช่วยเหลือคนไข้การระบาดก็จะกลับไปต่างจังหวัด ถ้าเราคุมกทม.ไม่ได้” นพ.สุระกล่าว

วิกฤตสุดๆ – นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมชี้แจงแนวทางการปฏิบัติงานแพทย์จบใหม่ที่ต้องออกไปรักษาผู้ป่วยโควิดในร.พ.สนามพื้นที่สีแดง โดยยอมรับว่าสถานการณ์อยู่ในขั้นวิกฤตสุดๆ แล้ว ที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 1 ก.ค.

สธ.ยอมรับเอาไม่อยู่แล้ว

ด้านนพ.ธงชัยกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือและสะอื้นเล็กน้อยตอนหนึ่งว่า ต้องขอโทษและขอบคุณแพทย์ที่มาช่วยกันวันนี้ ต้องเรียนว่ากทม.และปริมณฑลสีแดงวิกฤตจริงๆ มีผู้เสียชีวิตที่บ้าน ซึ่งประเทศไทยคงไม่อยากเหมือนยุโรปเมื่อปีที่แล้วที่ไม่มีการขยายเตียง ให้ผู้ป่วยไปนอนที่บ้าน แต่วันนี้ประเทศไทยไม่ใช่อย่างนั้น ขอให้ทำงานยึดตามพระบิดา ฝากดูแลคนไข้ให้ดีที่สุด

“ขอขอบคุณทุกคนที่ให้ความร่วมมือ หลายคนคิดว่าทำไมต้องเป็นตัวเอง แต่ต้องขอความร่วมมือจริงๆ ซึ่งทางคณบดีแพทย์ต่างๆ เห็นว่าคุ้นเคยกับการเรียนที่กทม. และเป็นมือดีที่สุด ซึ่งปีนี้ยอมรับว่าเป็นสายพันธุ์ที่เราคุมยาก กระจายไปทั่วหมด วันนี้เอาไม่อยู่จริงๆ เลยต้องเกณฑ์พวกเรา ต้องขอบคุณจริงๆ และพร้อมขอโทษด้วย” นพ.ธงชัยกล่าว

นพ.ธงชัยกล่าวว่า ก่อนหน้าเราระดมอาสาสมัครไปร.พ.บุษราคัมดูแลผู้ป่วยสีเหลืองขนาด 2 พันเตียง จะขยาย 1.5 พันเตียง เป็น 3.5 พันเตียง ถือเป็นประวัติศาสตร์ของพวกเรา ชั่วชีวิตนี้เราไม่เคยผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ตอนนี้กำลังผ่านสงครามโรคที่ทั่วโลกกำลังสู้อยู่ ใครก็หลุดพ้นไม่ได้ ทุกคนกำลังต่อสู้กันหมด น้องๆ เป็นกำลังสำคัญ ทั้งต่างจังหวัดและกทม.ก็คือคนไทย เชื้อชาติไหนก็อยู่ในแผ่นดินไทยเช่นกัน ไม่ดูแลก็ไม่รอดเช่นกัน ทุกคนในแผ่นดินไทยต้องรอดหมด ทิ้งใครไว้ข้างหลังไม่ได้ ถือเป็นครั้งแรกที่ระดมทำกันอย่างนี้ ถ้าไม่ทำคงเจอคนนอนตายที่บ้าน และไม่มีที่ไป ประเทศไทยไม่ควรเป็นเช่นนั้น ที่จะต้องเลือกว่าใครจะอยู่ใครจะไป ไม่อยากเห็นภาพนั้น

‘หมอมานพ’ชี้ 2-3 อาทิตย์ป่วยพุ่ง

ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล วิเคราะห์สถานการณ์โควิดใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าว่า อยากให้ทุกคนลองมองภาพในอนาคตข้างหน้าแบบไม่ต้องไกลถึง 120 วัน เอาแค่ 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าก็ได้ว่าเราอาจต้องเจออะไร ที่เลือก 2 สัปดาห์ เพราะว่ามาตรการใดๆ ก็ตามที่เราหวังสกัดการระบาด กว่าจะเห็นว่าได้ผลหรือไม่ก็คงใช้เวลาขนาดนั้น ระหว่างนี้เราก็คงต้องอยู่กับความจริงไปก่อน

เสียงจากภาคการแพทย์ที่ดังขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดจากสถานการณ์การระบาดที่หนักหน่วงขึ้นมาก ดูจากข้อมูลที่ศบค.ประกาศรายวันเราอาจสนใจ แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้เสียชีวิตกันวันต่อวัน แต่ถ้าดูแนวโน้มแบบนี้เราจะมองภาพได้ชัดขึ้น แค่สัปดาห์เดียว กทม.มีผู้ป่วยใหม่รายวันเพิ่มขึ้นถึง 77% และในเวลาสัปดาห์เดียว ทั้งประเทศมีผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้น 320 คน (+21%) และผู้ป่วยไอซียู เพิ่มขึ้น 94 คน (+22%) และถ้ามองย้อนกลับไปไกลอีกหน่อย ในเวลาแค่ 2 เดือน เรามี ผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้น 4.4 เท่า และผู้ป่วยในไอซียูเพิ่มขึ้น 4.7 เท่า ขณะที่การระบาดเกิดขึ้นในชุมชนเป็นวงกว้างและแทรกซึมไปทั่ว

อนุมานได้จากข้อมูลการตรวจหาเชื้อโควิดทั้งประเทศ เทียบสัปดาห์ต่อสัปดาห์ จะพบว่าอัตราการตรวจพบเชื้อสูงขึ้นชัดเจนในทุกเขตสุขภาพ โดยเฉพาะเขต 13 (กทม.), 4 (ภาคกลาง), 5 (ภาคตะวันตก), 6 (ภาคตะวันออก) และ 12 (ภาคใต้) โดยเขตกทม.มีการพบเชื้อสูงขึ้นมาก จาก 8.7% ไปเป็น 10.2% โดยจำนวนการตรวจเพิ่มขึ้นน้อยมาก ราว 4% บ่งชี้ว่าความสามารถในการตรวจน่าจะชนเพดานแล้ว ไม่สามารถตรวจได้เพิ่มกว่านี้ และการพบว่าการติดเชื้อขึ้นเร็วกว่าจำนวนที่ตรวจได้ บอกโดยนัยอยู่แล้วว่าเรากำลัง undertest อยู่ หมายความว่าจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่รายงานทุกวันนี้ยังต่ำกว่าความเป็นจริงพอสมควร

“การแพร่ของสายพันธุ์เดลตาที่ทำให้เกิดการระบาดระลอก 4 ในเขตกทม.และปริมณฑล เกิดขึ้นเร็วกว่าคาด ถ้าอิงบทเรียนของอังกฤษ และสหรัฐ สัดส่วนของสายพันธุ์เดลตาน่าจะเพิ่มเป็น 60-70% ภายใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า และถ้าเทียบข้อมูลของอังกฤษ จะเห็นว่าช่วงระยะแบบนี้จำนวนผู้ป่วยใหม่จะเร่งตัวสูงขึ้น อย่าแปลกใจว่าเราอาจเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอีก และจำนวนผู้ป่วยหนัก หนักมาก (ไอซียู) และผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ภายใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้านี้ หวังว่าจะคาดผิดครับ”

คลัสเตอร์ศูนย์เด็กขอนแก่นติด 42

ด้านนพ.สมชายโชติ ปิยวัชรเวลา นายแพทย์สสจ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า พบเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กศรีสุข ต.สีชมพู อ.สีชมพู จ.ขอนแก่นติดเชื้อ 34 คน และครูในศูนย์เด็กฯ 8 คน รวมติดเชื้อ 42 คน ส่วนอีก 5 คนรอผลตรวจซ้ำ คลัสเตอร์นี้เกิดจากเด็ก 2 ขวบที่อยู่ในครอบครัวผู้ป่วยยืนยันในพื้นที่ซึ่งเป็นยาย ครอบครัวนี้สัมผัสแม่ของเด็กที่เดินทางมาจากจ.ชลบุรี แล้วเข้ามาอยู่ สัมผัสกับครอบครัวในอ.สีชมพู 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นกลับไปทำงานที่จ.ชลบุรี ต่อมายายของเด็กมีอาการไข้ ไอ มีเสมหะ แพทย์เข้าตรวจ พบติดเชื้อโควิด-19 จากนั้นส่งไปร.พ.ชุมแพ 1 วัน มีอาการทางปอด แพทย์จึงส่งต่อร.พ.ศรีนครินทร์ พร้อมตรวจครอบครัวของยาย ทั้งหมด 3 คน พบ 2 คนติดเชื้อคือตาและหลาน 2 ขวบ โดยเด็ก 2 ขวบไปอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กศรีสุข แพทย์ต้องเข้าสอบสวนโรคภายในศูนย์ฯ พบมีผู้สัมผัสเกี่ยวข้อง 117 คน

“อาการของเด็ก 2 ขวบ พบว่ามีอาการปอดบวม จึงส่งตัวมารักษาต่อที่ร.พ.ศรี นครินทร์แล้ว เบื้องต้นเปิดพื้นที่ทำโรงพยาบาลสนามเพื่อดูแลเด็กและครู ในอ.สีชมพู และอ.ชุมแพ ซึ่งเป็นแม่ข่ายดูแล แต่เนื่องจากมีเด็กป่วยมากถึง 34 คน และไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อีกทั้งหากอาการของเด็กเกิดรุนแรงและเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันง่ายกว่าผู้ใหญ่ อาจส่งต่อไม่ทัน จึงประสานไปรับเด็กและครูมารักษาต่อที่ร.พ.ศรีนครินทร์และร.พ.ขอนแก่น โดยเปิดตึกบริการเด็กร.พ.ศรีนครินทร์รักษาเด็ก 10 คน ครู 2 คน ส่วนที่เหลือ ครูอีก 6 คน และเด็ก 24 คนรับไปดูแลที่ตึกร.พ.ขอนแก่น ซึ่งจะดูแลอย่างน้อย 14 วัน เบื้องต้นจากการสอบสวนโรคพบว่า เชื้อโควิด-19 ในอ.สีชมพู เป็นสายพันธุ์ที่ไม่เคยตรวจพบมาก่อน”

นพ.สมชายกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีบุคลากรทางการแพทย์ที่ใกล้ชิดในการทำ สว็อบตรวจเชื้อเพิ่มด้วย โดยให้กักตัว พร้อมเก็บสารคัดหลั่ง ซึ่งช่วงบ่ายวันนี้จะสามารถทราบผลว่าบุคลากร ติดเชื้อเพิ่มหรือไม่ พร้อมกับส่งทีมสอบสวนโรคทีมใหม่ลงพื้นที่เพื่อคัดกรองอีก 300 คน เพราะเด็กจากศูนย์เด็กเล็กกระจายอยู่ทุกหมู่บ้านในตำบล เพื่อสอบหาไทม์ไลน์ จากคนที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อก่อนหน้านี้

รอผลตรวจเชื้ออีก 300

เว็บไซต์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่วันนี้ พบว่ามีผู้ติดเชื้อ 70 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 765 คน อยู่ระหว่างการรักษา 197 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุ 2-3 ขวบที่อยู่ในศูนย์เด็กเล็ก อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น และครูผู้สอน

นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจ.ขอนแก่น กล่าวว่า หลังจาก เจ้าหน้าที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ มีการลงพื้นที่สอบสวนเชิงรุกตั้งแต่เมื่อวาน โดยเฉพาะที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กศรีสุข ในความรับผิดชอบของ อบต.ศรีสุข อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น ที่ตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อรวม 42 คน และมีกลุ่มเสี่ยงสูงที่อยู่ระหว่างการตรวจหาเชื้อและรอผลอีก 300 คน

“ผู้ติดเชื้อทั้งหมดเข้ารับการรักษาตัวภายในห้องความดันลบของร.พ.ขอนแก่น และร.พ.ศรีนครินทร์ทั้งหมดแล้ว มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คอยดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเคสแรกที่พบมีอาการทางปอดร่วมด้วย และเบื้องต้นอยู่ระหว่างการตรวจสอบหาสายพันธุ์ของเชื้อที่เกิดขึ้น จากการตรวจสอบเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นสายพันธุ์อังกฤษ เนื่องจากคุณยายของเด็ก 2 ขวบที่นำเชื้อเข้ามาอาศัยอยู่กับหลานนานร่วม 1 สัปดาห์ จึงแสดงอาการและมีอาการของปอดร่วม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องรอการยืนยันผลตรวจสอบหาสายพันธุ์ของเชื้ออีกครั้ง”

ปากน้ำติดเชื้อพุ่ง 435-ดับ 9

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ รายงานว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ 435 ราย อยู่ในพื้นที่ 394 ราย แบ่งเป็นอ.เมือง 193 ราย อ.บางบ่อ 6 ราย อ.บางพลี 112 ราย อ.พระประแดง 40 ราย อ.พระสมุทรเจดีย์ 5 ราย และ อ.บางเสาธง 38 ราย ส่วนอีก 41 ราย รับมารักษาจ.สมุทรปราการ ผู้ป่วยยืนยันสะสม 17,437 ราย

วันนี้มีผู้เสียชีวิตอีก 9 ราย ประกอบด้วยหญิง อายุ 81 ปี โรคประจำตัว เบาหวาน ความดัน ไขมัน, ชาย อายุ 82 ปี โรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคไตเรื้อรังระยะ 3 หัวใจเต้นผิดจังหวะ, หญิง อายุ 54 ปี โรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง, ชาย อายุ 45 ปี โรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง, หญิง อายุ 81 ปี โรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง, หญิง อายุ 49 ปี, ชาย อายุ 63 ปี โรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง ไทรอยด์, หญิง อายุ 67 ปี โรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และชาย 89 ปี โรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง หอบหืด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 169 ราย

‘มหาชัย’เร่งเปิดร.พ.สนาม

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 298 ราย จากค้นหาเชิงรุก 104 ราย เป็นคนไทย 89 ราย ต่างชาติ 15 ราย และพบผู้ติดเชื้อที่เข้ามารับการตรวจในโรงพยาบาลอีก 194 ราย เป็นคนในจังหวัด 142 ราย คนไทย 90 ราย ต่างชาติ 52 ราย กับคนนอกจังหวัดอีก 52 ราย เป็นคนไทย 33 ราย ต่างชาติ 19 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตทั้งในเขตและนอกเขตจังหวัดสมุทรสาคร รวม 43 ราย ยอดผู้ติดเชื้อรวม 25,533 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 2,599 ราย

นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าฯ สมุทร สาคร กล่าวว่า หลังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โรงพยาบาลทุกแห่งทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงโรงพยาบาลสนาม 3 แห่งไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ติดเชื้อรายวัน จึงจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่ม เบื้องต้นสั่งให้เปิดใหม่ภายในสัปดาห์นี้ 3 แห่ง คือโรงพยาบาลสนามวัดโกรกกราก (ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 11), โรงพยาบาลสนามวัดช่องลม (ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 12) และ โรงพยาบาลสนามเทศบาลนครอ้อมน้อย (ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 13) โดยทั้ง 3 แห่งจะเปิดรับผู้ติดเชื้อตั้งแต่วันศุกร์ที่ 2 ก.ค.เป็นต้นไป ส่วนที่เหลืออีกแห่ง คือศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 14 สหกรณ์การเกษตรบ้านแพ้วนั้น คาดว่าสัปดาห์หน้าคงจะเปิดรับผู้ติดเชื้อได้เช่นเดียวกัน

แม่-ลูกตายโควิดห่างกัน 2 วัน

นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ความตายเพราะนอนรอเตียง คือสิ่งที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบว่า ปัญหาเตียงไม่มี หมอไม่พอ ยังเป็นเรื่องด่วนที่รัฐต้องรีบแก้ไข อย่าปล่อยให้เกิดสภาพ “เคยชินกับความตายเพราะรอเตียง” เนื่องจากขณะนี้คนตายคาบ้านมีมากขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุดได้รับแจ้งขอความช่วยเหลือจากคนในชุมชนย่านห้วยขวาง กทม. ไม่ต่ำกว่า 20 คน ขอให้ช่วยหาเตียงให้ ส่วนใหญ่ติดโควิด-19 กันแบบยกครัว เศร้าที่สุด เพิ่งเกิดขึ้นที่ชุมชนร่วมใจพิบูล 2 เขตห้วยขวาง หลังจากคุณแม่ตุ้มทองติดโควิดจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ต่อมาลูกสาว คือคุณประไพ ติดโควิดนอนรอเตียงจนเสียชีวิตคาบ้านเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ถัดจากคุณแม่ตุ้มทองไปแค่สองวันเท่านั้น

เรื่องนี้สะท้อนหลายอย่าง “กรณีแรกคุณประไพ มีอาการป่วย ปวดเมื่อย เจ็บคอ ท้องเสีย เพราะตัวเองมีความเสี่ยงสูงน่าจะติดเชื้อจากคุณแม่ที่ติดโควิดอยู่ก่อน แต่เมื่อไปตรวจที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งย่านคลองตันที่ตนมีสิทธิรักษา (บัตรทอง) เจ้าหน้าที่อ้างว่าน้ำยาตรวจ โควิดไม่มี และบอกว่าอาการแบบนี้ไม่ใช่โควิดแล้วให้กลับบ้านโดยไม่ได้ตรวจหรือทำอะไรเลย

ต่อมาเมื่อกลับถึงบ้านอีกสองวันอาการเริ่มทรุดหนัก จึงไปที่โรงพยาบาลเพื่อขอตรวจหาเชื้อโควิดอีกครั้ง แต่ก็ได้รับคำตอบเช่นเดิม คือน้ำยาตรวจโควิดไม่มี ตรวจให้ไม่ได้ แต่ได้ฉีดยาให้ 1 เข็ม ให้น้ำเกลือ แล้วไล่ให้กลับบ้าน ทั้งที่ผู้ป่วยอยู่ในอาการทรุดหนัก เดินแทบไม่ได้ และรู้อยู่แล้วว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงเพราะคุณแม่เพิ่งเสียชีวิตเพราะติดโควิด แต่ไม่ยอมตรวจหาเชื้อให้ อ้างว่าน้ำยาหมดถึงสองครั้ง

“จึงมีคำถามว่านี่คือวิธีปฏิบัติต่อผู้ป่วยตามหลักการแพทย์ที่ถูกต้องแล้วหรือ เพราะการปล่อยผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงกลับบ้าน ไม่เพียงผู้ป่วยอันตราย คนรอบข้างและสังคมก็ไม่ปลอดภัยด้วย เพราะเขาเหล่านั้นจะกลายเป็น ผู้แพร่เชื้อไปแบบไม่ตั้งใจ กรณีนี้จึงถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของ โรงพยาบาลอย่างไม่น่าให้อภัย เพราะหลังกลับจากโรงพยาบาลคุณประไพ อาการยิ่งแย่ลง จนลูกๆ ต้องนำตัวไปตรวจอีกครั้งที่หน่วยบริการตรวจคัดกรองเชิงรุก ผลปรากฏว่าคุณประไพติดเชื้อโควิด ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นมานานแล้วเพราะออกอาการในระยะสุดท้ายครบทุกอย่าง แถมมีโรคประจำตัวเบาหวานอยู่ด้วย หลายฝ่ายจึงช่วยกันประสานหาเตียง เพื่อให้ถึงมือหมอ แต่ก็หาเตียงให้ไม่ได้ ไม่มีโรงพยาบาลไหนมารับ นอนรอเตียงจนเสียชีวิตคาบ้าน”

นายเชาว์ระบุต่อว่า เป็นประเด็นที่หนักหนาสาหัสมากขณะนี้ หากรัฐบาลยังแก้ปัญหาเตียงเต็มไม่ได้ จนมีผู้ป่วยตายคาบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ ถามว่าท่านจะปล่อยไว้แบบนี้หรือ ท่านมองเห็นความตายของคนเหล่านี้บ้างหรือไม่ ตนคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกำลังบอกเราว่า รัฐบาลกำลังหมดสภาพ ขณะที่ประชาชนกำลังหมดความอดทน รีบแก้ปัญหาเถอะ อย่าปล่อยให้เกิดเหตุแบบนี้รายวัน ไม่เช่นนั้น ตนจะเป็นตัวแทนญาติผู้ที่ได้รับผลกระทบฟ้องรัฐบาลฐานละเมิดไม่ได้รับการบริการสาธารณสุขที่ดีจากรัฐตามกฎหมาย

ส่วนกรณีของคุณประไพ ตนคิดว่าเป็นความชุ่ยของโรงพยาบาลที่ขาดความรับผิดชอบ ทำงานแบบลวกๆ ปฏิเสธการตรวจหาเชื้อแบบไม่มีเหตุผล แล้วปล่อยคนป่วยกลับบ้านจนเชื้อลุกลามนอนตายคาบ้าน ถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ตนจะดำเนินคดีกับโรงพยาบาลนี้ให้เป็นคดีตัวอย่าง และสถิติผู้ป่วยโควิดสูงขึ้นทุกวัน ถ้ายังอยู่อย่างนี้ ในไม่ช้าเราคงจะเห็นคนติดเชื้อวันละเป็นหมื่นคน ตายวันละเป็นร้อยคน ทำอะไรต้องรีบทำเถอะอย่าชินกับความตายของประชาชนเลย

ห่วงนอนรอตายที่บ้านอีกอื้อ

ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมร่วมกับกรมการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ และ กทม. เรื่องการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยโควิดว่า ขณะนี้พบว่าผู้ป่วยโควิดสีแดง 10 รายที่รอเตียง จะหาเตียงได้แค่ 2 ราย ส่วนอีก 8 รายต้องรอเตียงเกิน 1 วัน ส่วนผู้ป่วยอาการสีเหลืองในระบบมีประมาณ 500 ราย ต้องรอเตียงเกิน 2 วัน 200 กว่าราย ส่วนผู้ป่วยสีเขียวโทร.ขอรับเตียง 1,641 คน มี 783 คน ต้องรอนานเกิน 3 วัน วันนี้ ผู้ป่วยที่เข้ามาในระบบ มีทั้งการตรวจเชิงรุกและเข้ามาในร.พ. ซึ่งกรณีมาร.พ. แสดงว่าต้องมีอาการถึงเดินเข้ามา ดังนั้นคิดว่าจะต้องมีผู้ป่วยอีกจำนวนหนึ่งที่ยังอยู่ที่บ้าน ซึ่งที่ประชุมวันนี้มีความกังวลถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในรอบ 7 วันนี้ อาจจะมีผู้ป่วยรอเตียงเสียชีวิตที่บ้านอีก

“ผมต้องขอโทษคนไข้และครอบครัวผู้ต้องสูญเสีย ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ทำอะไร ทุกคนทำเต็มที่ เดินหน้าเต็มตัว เขย่งทำ หมอและทีมที่ดูแลผู้ป่วยก็ขยายตัวในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ผมพูดนี้เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ที่ตรงกัน รัฐบาลพยายามแก้ไขสถานการณ์แล้ว แต่เรื่องนี้ไม่ได้ตอบแค่เรื่องเตียง เรื่องเงินแต่ตอบด้วยวิชาชีพ ผมยังย้ำว่าการดูแลผู้ป่วยต้องให้แพทย์นำการเมือง ถ้าเอาการเมืองนำแพทย์ สถานการณ์จะไม่ดีขึ้น”

ผู้สื่อข่าวถามว่าวันนี้มีประชาชนส่วนหนึ่งที่ไม่เชื่อใจ และต่อต้านมาตรการของรัฐ เช่น เกิดกระแสนั่งกินอาหารในร้านหรือการออกมารวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ จะต้องทำความเข้าใจอย่างไร นายสาธิตกล่าวว่า ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนอย่าต่อต้าน เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือเราต้องเดินกลับไปสู่สถานการณ์ปกติให้ได้ให้เร็วที่สุด

‘ชัยวุฒิ’ไม่ติดโควิด-แต่กัก 14 วัน

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า เนื่องจากเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ตนเดินทางไป จ.ภูเก็ต โดยสายการบิน Vietjet เที่ยวบิน VZ314 จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อดูความพร้อมโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และวันที่ 30 มิ.ย. ตนและคณะเดินทางมาภูเก็ตอีกครั้ง เพื่อรอร่วมคณะนายกฯ เปิดงานภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ในวันที่ 1 ก.ค. แต่ปรากฏว่าหลังจากถึงจ.ภูเก็ตได้รับแจ้งจากสายการบินว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เนื่องจากในเที่ยวบิน VZ314 ที่โดยสารเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 นั่งอยู่ด้านหลัง 2 ที่นั่ง ตนและคณะทำงาน 5 คนเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่ร.พ.วชิระภูเก็ต ผลตรวจเป็นลบ ไม่พบเชื้อทุกคน แต่ยังต้องกักตัว 14 วัน ทำให้ไม่สามารถไปร่วมงานภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์กับนายกฯในวันนี้

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็น 1 ใน ผู้โดยสารสายการบินดังกล่าว กล่าวว่า ตนไม่ได้รับแจ้งจากสายการบินและสาธารณสุขจังหวัดว่าอยู่ในลิสต์รายชื่อกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเข้ารับการตรวจและกักตัว เพราะนั่งอยู่ห่างจาก ผู้ติดเชื้อ 3 แถว และอยู่คนละฝั่งกัน แต่เพื่อความอุ่นใจของตนและผู้ใกล้ชิดทุกคน จึงเข้าตรวจหาเชื้อโควิด-19 เมื่อคืนวันที่ 30 มิ.ย. ผลเป็นลบ ไม่พบเชื้อ

จีนส่งวัคซีนให้ไทยอีก 1 ล.โดส

วันเดียวกัน เฟซบุ๊ก Chinese Embassy Bangkok สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย โพสต์ภาพวัคซีนที่ส่งมาจากประเทศจีนถึงประเทศไทยแล้วอีก 1 ล้านโดส

โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ค. วัคซีนป้องกันโควิด-19 ชุดใหม่ของจีนจำนวน 1 ล้านโดสส่งถึงกรุงเทพฯ แล้ว จีนจัดหาวัคซีนป้องกัน โควิด-19 ให้แก่ประเทศไทยแล้ว 13 ชุด รวม 11.5 ล้านโดส

โดยเช้าวันนี้ ปักกิ่งจัดงานยิ่งใหญ่ที่เฉลิมฉลองการครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประเทศจีนจะสนับสนุนประเทศไทยในการต่อสู้กับโรคระบาดต่อไปภายใต้การนำที่แข็งแกร่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และจะส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-ไทยให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

ลามไม่หยุด – คณะกรรมการ โรคติดต่อนครราชสีมา ปิดแคมป์ที่พักคนงานก่อสร้างสำนักงานกฟภ. อ.เสิงสาง เร่งตรวจคัดกรองคนงานทั้งหมด หลังพบวิศวกรคุมงานและภรรยาติดเชื้อโควิด เมื่อวันที่ 1 ก.ค.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน