พิธีกร‘ณวัฒน์’เปิดไทม์ไลน์
1แสนหมอทั่วปท.ลงชื่อจี้ซื้อ
วัคซีน‘ไฟเซอร์-โมเดอร์นา’
อภ.แจงวุ่น-ปมสั่งจองล่าช้า

‘เจ้าบาส-สมรักษ์’ ร้องจ๊ากฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มยังติดโควิด หมอนับแสนลงชื่อจี้ซื้อวัคซีน ‘ไฟเซอร์-โมเดอร์นา’ อภ.แจงกลุ่มร.พ.เอกชนรวมเงินสั่งซื้อช้าเองเผยได้เร็วสุดไตรมาสสุดท้าย ส่วนคร.อ้าง สั่งไฟเซอร์เยอะถึง 20 ล้านโดสต้องรอบคอบ เร่งขยายเตียงรับผู้ป่วยเหลือง-แดงในกทม. เชียงใหม่คุมเข้มลงทะเบียนในแอพฯก่อนเข้าจว. กาฬสินธุ์ยอดพุ่งเหตุคนงานรถไฟฟ้าสายสีส้มแห่กลับจากกทม. โคราชก็วิกฤตคนป่วยจ่อล้นร.พ. ทั่วปท.ติดเชื้อเพิ่ม 5,936 ราย สังเวยอีก 41 ศพ

เชียงใหม่เข้ม – จังหวัดเชียงใหม่ตรวจเข้ม ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด 10 จังหวัด และอำเภอแม่สอด จ.ตาก จะเข้าพื้นที่ ต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตน ผ่านแอพพลิเคชั่นทุกราย หากฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุด 2 หมื่นบาท เมื่อวันที่ 3 ก.ค.

ตายโควิดอีก 41 ราย

เมื่อเวลา 07.50 น. วันที่ 3 ก.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ประจำวัน ระบุว่า เบื้องต้นมีผู้ป่วยใหม่ 6,230 ราย จำแนกเป็นผู้ติดเชื้อใหม่ 5,936 ราย, ติดเชื้อในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 294 ราย หายป่วยกลับบ้าน 3,159 ราย หายป่วยสะสม 190,073 ราย ยอดผู้ป่วยสะสมระลอกเดือนเม.ย. จำนวน 248,288 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 41 ราย

วันเดียวกัน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผย ข้อมูลผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนตัวเลือก ซิโนฟาร์ม วันที่ 25-30 มิ.ย. มีผู้ได้รับวัคซีนซิโนฟาร์มทั้งหมด 67,992 คน ผู้ได้รับวัคซีนจากศูนย์ฉีดวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จำนวน 16,823 คน เกิดอาการไม่พึงประสงค์ระหว่างรอสังเกตอาการภายในเวลา 30 นาที 48 คน คิดเป็นร้อยละ 0.29 ผู้รับวัคซีนมีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน หายใจเร็ว ชา วูบคล้ายเป็นลม ใจสั่น หูอื้อและอาการคัน ผู้ป่วยทั้งหมดหลังรับการรักษาที่จุดปฐมพยาบาล สามารถกลับบ้านได้ ยกเว้น 1 คนที่มีอาการชัก แพทย์ส่งต่อห้องฉุกเฉิน ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ หลังตรวจสแกนสมองไม่พบความผิดปกติในเนื้อสมอง แต่อาการที่เกิดเกี่ยวเนื่องจากโรคประจำตัวเดิมคือโรคลมชักและเบาหวาน

ข้อมูลจากการติดตามประเมินอาการหลังได้รับวัคซีน 1 วัน ผู้ได้รับวัคซีนทั้งหมด 67,992 คน เกิดอาการไม่พึงประสงค์ 9,325 คน (13.71%) มีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หายใจเร็ว ชา วูบคล้ายเป็นลม ใจสั่น หูอื้อ ผื่นคัน บวมแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน ง่วงนอน อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ มีจุดจ้ำเลือดออก ใบหน้าหรือปากเบี้ยว แขนขาหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผิวหนังลอก ชักหมดสติ

ผู้รับวัคซีนซิโนฟาร์มเข้ารับการรักษาอาการ ข้างเคียงที่โรงพยาบาล รวม 61 คน รักษาอาการ ในวันที่รับวัคซีนแล้วกลับบ้านได้ จำนวน 53 คน ต้องอยู่รักษาตัวต่อที่โรงพยาบาล จำนวน 8 คน

ต่อสัญญาร.พ.บุษราคัม

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมของรัฐบาลในการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ทั้งกลุ่มผู้ป่วยโควิด สีแดงและสีเหลืองในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค. ซึ่งมีความห่วงใยต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ว่า ขณะนี้รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุขและทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนดำเนินการจัดเตรียมเตียงไว้สำหรับรองรับผู้ป่วย ติดเชื้อโควิด-19 อย่างเต็มที่

กระทรวงสาธารณสุขได้หารือกับผู้บริหารเมืองทองธานีเพื่อต่อสัญญาใช้สถานที่สำหรับทำร.พ.บุษราคัมต่อไปอีกจนถึงสิ้นเดือนต.ค. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อรับผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงผู้ป่วยจากจังหวัดใกล้เคียง พร้อมขยายเตียงเพิ่มได้อีก 1,500-2,000 เตียง รวมมีเตียงรองรับผู้ป่วยอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง (สีเหลือง) ได้ 3,700-4,000 เตียง บูรณาการความร่วมมือกับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศในการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์เข้ามาช่วยดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยทั้ง สีเหลืองและสีแดงในกรุงเทพฯ

นายอนุชากล่าวว่า นายกฯ ยังได้รับรายงาน ถึงความร่วมมือจากกระทรวงกลาโหม พิจารณา ร่วมกันในแต่ละส่วนของกองทัพ ถึงขีดความสามารถทางการแพทย์ทหารในการร่วมระดมปรับเกลี่ยบุคลากรทางการแพทย์ทหาร เสริมโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เร่งขยายห้องผู้ป่วยไอซียูในโรงพยาบาลทหารต่างๆ ในพื้นที่กทม. และขยายขีดความสามารถ พื้นที่ มทบ.11 สนับสนุนอาคารและสถานที่จัดทำโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม

โดยร่วมกับร.พ.ธนบุรีบำรุงเมืองตั้ง โรงพยาบาลสนามดูแลผู้ป่วยสีแดงและเหลือง 178 เตียง และร่วมกับร.พ.พระมงกุฎเกล้าจัดตั้งโรงพยาบาลสนามดูแลผู้ป่วยสีเขียวเพิ่มเติมอีก 176 เตียง นอกจากนี้ โรงพยาบาล 3 แห่ง ได้แก่ ร.พ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี และร.พ.วชิรพยาบาล เปิดเตียงสีแดงเพิ่มเติมในสัปดาห์หน้า และขอสนับสนุน กำลังบุคลากรทางด้านสาธารณสุขในส่วนของ แพทย์เฉพาะทาง แพทย์จบใหม่ และพยาบาล มาช่วยดูแลผู้ป่วย

เร่งขยายเตียง

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมสถานพยาบาลเพื่อรองรับการรักษาพยาบาล ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ตามอาการต่างๆ และ มีการดูแลอย่างเป็นระบบ โดยสถานะสถานพยาบาล ณ วันที่ 30 มิ.ย. สถานการณ์เตียงของกรุงเทพฯ และปริมณฑลจาก 9 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต กระทรวงกลาโหม กรุงเทพ มหานคร ร.พ.ตำรวจ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลเอกชน มีเตียงทั้งหมดรวมจำนวน 31,505 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 26,069 เตียง และรองรับได้เพิ่มเติมจำนวน 5,436 เตียง ทั้งนี้ จำแนกตามระดับเตียง ได้แก่ เตียงระดับ 3 (สีแดง) จำนวน 1,317 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 1,203 เตียง รองรับได้เพิ่มเติม 114 เตียง เตียงระดับ 2 (สีเหลือง) จำนวน 12,782 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 11,090 เตียง รองรับได้เพิ่มเติม 1,692 เตียง และเตียงระดับ 1 (สีเขียว) จำนวน 17,404 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 13,776 เตียง รองรับได้เพิ่มเติม 3,628 เตียง

นายอนุชากล่าวว่า ส่วนโรงพยาบาลสนาม ได้แก่ (1) การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ปัจจุบันมีทั้งหมด 53 แห่ง พร้อมรับจำนวน 11,104 เตียง ขยายได้เป็น 12,822 เตียง รับผู้ป่วยแล้วจำนวน 3,840 เตียง รองรับได้เพิ่มเติมจำนวน 7,264 เตียง (2) สถานะการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามของกระทรวงกลาโหม สนับสนุนอาคารสถานที่ ให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ จำนวน 31 แห่ง พร้อมใช้งาน จำนวน 4,770 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว จำนวน 1,394 เตียง และรองรับได้เพิ่มเติม 3,376 เตียง (3) สถานะการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามของกทม.ปัจจุบันมีทั้งหมด 10 แห่ง พร้อมรับ จำนวน 2,502 เตียง รับผู้ป่วย แล้ว จำนวน 2,101 เตียง รองรับได้เพิ่มเติม จำนวน 401 เตียง รวมสถานะการจัดตั้ง โรงพยาบาลสนามจาก 3 หน่วยงานดังกล่าว ปัจจุบันมีทั้งหมด 94 แห่ง พร้อมรับ จำนวน 18,376 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว จำนวน 7,335 เตียง และรองรับได้เพิ่มเติม จำนวน 11,041 เตียง

นายอนุชากล่าวว่า สำหรับโรงพยาบาลสนามแบบโรงแรม (Hospitel) รวมทั้งสิ้นจำนวน 77 แห่ง เปิดให้บริการแล้วจำนวน 59 แห่ง พร้อมใช้งาน จำนวน 14,559 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว จำนวน 13,061 เตียง และรองรับได้เพิ่มเติม จำนวน 1,498 เตียง ขณะเดียวกันก็มีการบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วยต่างด้าว ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดย ฮอสพิเทลปัจจุบันมีจำนวน 10 แห่ง พร้อมใช้งาน 2,755 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว จำนวน 2,252 เตียง รองรับได้เพิ่มเติม จำนวน 503 เตียง โรงพยาบาลสนาม จำนวน 9 แห่ง พร้อมใช้งาน 4,542 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 3,589 เตียง และรองรับได้เพิ่มเติม จำนวน 953 เตียง

จี้ 2 หมอแจงปม‘โมเดอร์นา’

ขณะที่ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชี รายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า เวลานี้คนไทยคงจะงงๆ กับข่าววัคซีนสารพัดวัคซีนว่า ตัวไหนคือตัวหลัก ตัวเสริม หรือทางเลือก ซึ่งวัคซีนทางเลือกคนจะสั่งหรือซื้อมาฉีด คือ ร.พ.เอกชน ข่าวที่ออกมาว่า นพ.บุญ วนาสิน อัดรัฐบาลเรื่องวัคซีนโมเดอร์นา เป็นเรื่องที่ นพ.ปิยะสกล และหมอบุญ เองนั่นแหละที่จะต้องมาช่วยบอกความคืบหน้าต่อประชาชน เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 9 เม.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้เชิญตัวแทนร.พ.เอกชน และสมาคมร.พ.เอกชน ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางการจัดหาวัคซีนทางเลือกของร.พ.เอกชน ที่ทำเนียบรัฐบาล

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ได้ลงนามในคำสั่งนายกฯ แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อให้การบริหารจัดการวัคซีนเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และครอบคลุม การให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงแต่งตั้ง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน และมีกรรมการร่วม โดยมี นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นตัวแทนภาคเอกชนร่วมอยู่ด้วย เพื่อหารือถึงแนวทางให้ได้ข้อสรุปภายใน 30 วัน พูดง่ายๆ คือวัคซีนทางเลือก เช่น โมเดอร์นา เป็นงานของคณะกรรมการชุดท่านทั้งสอง ดังนั้น นพ.ปิยะสกล และนพ.บุญ ควรจะออกมาชี้แจงเรื่องวัคซีนทางเลือก โมเดอร์นา เพราะเป็นผู้รู้เรื่องเป็นอย่างดีว่ามีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง ในฐานะเป็นประธานและกรรมการที่นายกฯ แต่งตั้ง ไม่ควรจะออกมาโวยวายเสียเองเช่นนี้

หมอนับแสนจี้นำเข้าวัคซีน

รายงานแจ้งว่า หลังจากภาคีบุคลากรสาธารณสุข และบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ร่วมกันเปิดแคมเปญล่าชื่อ เรียกร้องให้รัฐบาลนำเข้าวัคซีน mRNA อย่างเร่งด่วน เพราะกังวลว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด ในประเทศไทยจะแย่ลง วัคซีนที่มีไม่รองรับสายพันธุ์เดลตา โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ด้านหน้าซึ่งต้องแบกรับความเสี่ยงมากที่สุด และอาจเป็นผู้กระจายเชื้อได้ พร้อมออกแถลงการณ์เรียกร้องการนำเข้า mRNA วัคซีนสำหรับโรคโควิด-19 เป็นกรณีเร่งด่วน เนื่องจากสถานการณ์การติดเชื้อของโรค โควิด-19 ในไทย น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง จำนวนคนติดเชื้อและการเสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ทางบุคลากรทางการแพทย์มีความเป็นห่วงว่าสถานการณ์อาจจะแย่ลงได้เนื่องจากสายพันธุ์เดลตา มักจะมีการแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ

ในมุมมองทางการแพทย์ ในขณะนี้ประเทศไทยมีจำนวนบุคลากรจำกัด วัสดุอุปกรณ์รวมถึงสถานที่ที่จำเป็นในการรองรับผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยวิกฤตมีความจำกัด ทางบุคลากรทางการแพทย์ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเร่งการนำเข้า mRNA วัคซีน ซึ่งในทางการแพทย์ถือว่าเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง จะมีประโยชน์อย่างยิ่ง ในแง่ การป้องกันการเสียชีวิต และป้องกันการแพร่ระบาดได้สูง โดยจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อการควบคุมโรคโควิด-19

กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ขอเรียกร้องให้รัฐบาล รวมถึงองค์การเภสัชกรรม มีการนำเข้า mRNA vaccine (Pfizer และ Moderna) เข้ามาเป็นการเร่งด่วน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน พร้อมเปิดแคมเปญล่าชื่อ เรียกร้องให้รัฐบาลนำเข้าวัคซีน mRNA อย่างเร่งด่วน โดยเมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่า บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน ร่วมกันลงชื่อมากกว่า 1 แสนคนแล้ว หลังจากนี้จะมีการนำไปยื่นให้รัฐบาลนำไปพิจารณาในสัปดาห์หน้า

คร.ชี้ซื้อเยอะต้องรอบคอบ

วันเดียวกัน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวความคืบหน้าในการเซ็นสัญญาซื้อวัคซีนไฟเซอร์ว่า ขณะนี้ลงนามในเอกสารไปแล้ว 2 ฉบับ คือเอกสารสัญญาไม่เผยแพร่ข้อมูลของวัคซีน และเอกสารจองวัคซีน เหลือเพียงการเซ็นสัญญาจัดซื้อ ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจของสำนักงานอัยการสูงสุด รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดเตรียมงบประมาณ

แต่เนื่องจากในสัญญาการซื้อวัคซีน 20 ล้านโดสต้องรอบคอบ เงื่อนไขในสัญญา ก็เหมือนกับบริษัทวัคซีนต่างๆ ที่ตั้งเงื่อนไข อาทิ ต้องมีเงินจอง ต้องจ่ายเงินล่วงหน้า กรณีวัคซีนไม่สามารถส่งมอบได้ตามกำหนดต้องไม่เสียค่าปรับ ซึ่งกรณีของไฟเซอร์ตามกำหนดคือไตรมาส 4 ต้องไม่มีค่าปรับ หากนำมาใช้มีผลข้างเคียงรัฐบาลต้องดูแล และคาดว่าสำนักงานอัยการสูงสุด จะสามารถตรวจสัญญาให้เสร็จได้ภายในวันที่ 5 ก.ค. หลายเรื่องเป็นข้อผูกพันต้องให้รัฐบาลเห็นชอบ กระทรวงสาธารณสุขจึงมีแผนให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันอังคารที่ 6 ก.ค. หากทุกฝ่ายเห็นชอบก็จะลงนามสั่งซื้อได้ หลังจากนั้นจะเจรจาส่งมอบให้เร็วขึ้น แต่หากมีความคืบหน้าเป็นข่าวดีอย่างไรจะรีบสื่อสารให้ทราบ

อย่างไรก็ตาม เดือนก.ค.ถือว่ามีความสำคัญ จะเป็นจุดเปลี่ยนกับการจัดการโควิด จึงขอความร่วมมือร่วมใจกับทุกภาคส่วน ในการปกป้องไม่ให้เกิดการสูญเสียและแพร่เชื้อเกิดขึ้น การดูแลผู้สูงอายุที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงต้องได้รับความสำคัญในการดูแลสูงสุด ลูกหลานต้องช่วยกันดูแล มาตรการเฝ้าระวังในครัวเรือนต้องเข้มงวด ต้องจูงใจให้ ผู้สูงอายุได้รับวัคซีนเร็วในเดือนก.ค.หรือส.ค. หากเรายังหยุดการระบาดทันทีไม่ได้ แต่เริ่มลดการเสียชีวิตได้ด้วยการป้องกันผู้สูงอายุ หวังว่าเดือนนี้หากร่วมมือกันเต็มที่จะยันสถานการณ์ไว้ได้ และน่าจะควบคุมได้

โยนเอกชนรวมเงินซื้อช้า

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวถึงกรณีการนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา ว่า ก่อนการระบาดใหญ่ อภ.มีการติดต่อกับบริษัทโมเดอร์นาของสหรัฐอเมริกาโดยตรงผ่านทางอีเมล์ ตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ. เพื่อสั่งจองวัคซีนเป็นไปได้หรือไม่ที่จะได้กลาง มิ.ย. โดยวันที่ 28 ก.พ. บริษัทตอบกลับมาวัคซีน มีจำกัดและมีความต้องการสูงมาก ไม่สามารถส่งได้ สามารถส่งได้เร็วที่สุดคือไตรมาสแรกของปี 2565

ต่อมาวันที่ 1 เม.ย. อภ.สอบถามโมเดอร์นา ว่า มีบริษัทตัวแทนหรือไม่เนื่องจากมีเอกชน 2 รายอ้างว่าสามารถนำเข้ามาได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว โดยวันที่ 2 เม.ย. บริษัทโมเดอร์นาตอบว่า ติดต่อกับบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด เพียงบริษัทเดียวเท่านั้นในฐานะผู้นำเข้า วันที่ 21 เม.ย. มีการตกลงกันว่าวัคซีน โมเดอร์นาจะเป็นวัคซีนทางเลือก โดยวันที่ 15 พ.ค. บริษัทซิลลิค ประกาศว่า การจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นาต้องจัดซื้อผ่านตัวแทนภาครัฐ เท่านั้น เนื่องจากเป็นข้อกำหนดของบริษัท ผู้ผลิตวัคซีน เพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้ อภ.ได้รับมอบหมายเป็นตัวแทนภาครัฐมาดำเนินการสั่งซื้อให้ภาคเอกชน

“เมื่อถามว่าทำไมถึงช้า เนื่องจากวัคซีน ตัวนี้ไม่ได้จัดสรรงบประมาณจากภาครัฐ เป็นงบของเอกชน จึงต้องรอให้เอกชนรวบรวมยอด โดยเราทำงานประสานกับสมาคม ร.พ.เอกชนมาตลอด โดยร.พ.เอกชนมีกว่า 300 โรง มีความต้องการกว่า 9 ล้านโดส แต่จากการเจรจาต่อรองบริษัทส่งให้ได้ไตรมาส 4 ปี 2564 ประมาณ 4 ล้านโดส และไตรมาส 1 ปี 2565 ประมาณ 1 ล้านโดส ถือว่าเร็วขึ้นจากการติดต่อครั้งแรกที่ต้องได้ ปีหน้า แต่ก็ไม่ได้บอกวันและเดือนชัดเจนว่าเมื่อไร แจ้งเป็นกรอบคร่าวๆ การที่ อภ.ไม่เซ็นสัญญา เพราะต้องรอ ร.พ.เอกชนรวบรวมเงินมาก่อนถึงไปเซ็นสัญญาได้ เพราะถ้าผมไปเซ็น สัญญาโดยไม่มีเงิน เราคงรับผิดชอบไม่ไหว” นพ.วิฑูรย์กล่าว

‘โมเดอร์นา’เร็วสุด 1 ต.ค.

นพ.วิฑูรย์กล่าวว่า อภ.ตกลงร่วมกับ ร.พ.เอกชนว่า ให้รวบรวมตัวเลขและงบมาให้ อภ. ภายใน ก.ค.นี้ ซึ่ง อภ.วางแผนเซ็นสัญญาไว้ต้นเดือน ส.ค. ซึ่งสื่อสารให้ทางเอกชนทราบตลอด ส่วนเอกสารมีการร่างไว้หมดแล้ว โดยได้รับเอกสารจากซิลลิค เมื่อช่วงเช้าวันที่ 2 ก.ค. ดังนั้น อภ.ได้ส่งสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาช่วงบ่ายวันเดียวกัน และบางเรื่องอาจต้องเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ด้วย ถ้าสัญญาเรียบร้อยทางโมเดอร์นาสหรัฐ ยืนยันว่า จะส่งให้ไทยได้ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ แต่อาจจะเป็นวันที่ 1 ต.ค. หรือ 31 ธ.ค. ก็เป็นได้ทั้งนั้น เพราะเขากำหนดกรอบมากว้างๆ นอกจากนี้ อภ.มีการติดตามวัคซีนชนิดอื่นๆ ด้วย เช่น วัคซีนซับยูนิตโปรตีน 2 ราย วัคซีนเชื้อตาย 1 ราย รวมถึง อภ.มีการศึกษาวิจัยวัคซีนเองด้วย ซึ่งผ่านการทดลองในเฟส 1 แล้ว กำลังจะทดสอบเฟส 2 ช่วง ส.ค. นี้

“สำหรับความต้องการวัคซีนโควิด-19 ข้อมูล จากยูนิเซฟพบว่า ปีนี้มีความต้องการ 1.1 หมื่นล้านโดส เป็นยอดจองของโมเดอร์นา 2 พันล้านโดส ส่วนการจัดส่งคาดว่าซัพพลายได้ 9 พันล้านโดส ยังคาดอยู่ 2 พันล้านที่ไม่น่าตอบสนองได้ เราพยายามหารือทุกสัปดาห์ ขอร้องทางบริษัทในการนำเข้าไทยเร็วที่สุด แม้กระทั่งวัคซีนชนิดอื่นๆ ก็ประสานตลอด อย่างที่มีข่าวว่ามีการริบวัคซีนคืนจากประเทศที่ไม่ทำสัญญา ไทยขอซื้อได้หรือไม่ ซึ่งบริษัทก็ตอบเช่นเดิม ขอเรียนว่า ตอนนี้ข้าศึกไม่ได้มาบ้านเรา แต่เราตะลุมบอนกันเอง ตอนนี้เราทำดีที่สุด มีข่าวดีเราจะรีบบอกทันที ขอความเห็นใจ เราก็พยายามจริงๆ ขอให้พูดความจริงกัน” ผอ.อภ. กล่าว

สมรักษ์ฉีด 2 เข็มยังไม่รอด

สมรักษ์ คำสิงห์ อดีตยอดมวยฮีโร่โอลิมปิก เปิดใจผ่านโลกโซเชี่ยลว่า แจ๊กพอต เมื่อเช้าไปตรวจโควิดมา เพื่อจะไปอัดรายการ แต่พอตอนบ่ายวันเดียวกัน แพทย์โทร.มาแจ้งว่า ผมติดโควิด ทั้งๆ ที่ฉีดวัคซีนแล้วสองเข็ม และถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ออกไปไหนด้วย ขนาดอยู่บ้านทั้งวันยังไม่ค่อยไปสุงสิงกับครอบครัว มีเพียงออกไปนอกบ้านไปตลาดก็มีคนมาขอถ่ายรูปด้วยบ้าง เราก็ชอบถ่ายรูปด้วย

“ต้องขอโทษด้วยเมื่อผมไปตามที่ต่างๆ แล้วใครมาใกล้ชิดก็ขอให้ไปตรวจนะครับ ผมต้องขอโทษมา ณ ที่นี้ด้วย ตัวเองจะต้องไป ถูกกักตัวที่ไหนก็ยินดี ไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น เพราะอาการป่วยตอนนี้ก็ไม่มีไข้ใดๆ ทั้งสิ้น แต่ติดเชื้อได้อย่างไรก็ไม่รู้” สมรักษ์กล่าว

พิธีกรณวัฒน์รีบแจงไทม์ไลน์

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้พิธีกรดัง นายณวัฒน์ อิสรไกรศีล ผู้อำนวยการกองประกวด มิสแกรนด์อินเตอร์เนชันแนล และพิธีกรชื่อดัง แจ้งผ่านเฟซบุ๊กว่า ตนเองติดเชื้อโควิด-19 พร้อมแจ้งไทม์ไลน์ ระบุว่า ขออภัยทุกท่านครับที่ผมจะแจ้งให้ทราบว่าผมติดโควิด-19 พร้อมแจ้งไทม์ไลน์ระหว่างวันที่ 21 มิ.ย.-2 ก.ค. พบว่ามีการไปบันทึกรายการโทรทัศน์หลายรายการ อาทิ แฉข่าวเช้า-วันบันเทิง ที่ตึกจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, ตกมันส์บันเทิง ช่อง 9, ตะลอนข่าว-ไทยรัฐ 24 มิ.ย. บันทึกเทปรายการครัวคุณต๋อย-สตูดิโอ กันตนา เหม่งจ๋าย ร่วมรายการโทรทัศน์-คุยแซ่บโชว์ ช่องวัน 25 มิ.ย. ร่วมรายการโทรทัศน์-ข่าวเที่ยงช่องวัน 26 มิ.ย. บันทึกเทปรายการ เพชรรามา ร้านอาหารญี่ปุ่น Uwajima-Impact Lakeside ร้าน Breeze Cafe & Bar-Impact Lakeside บันทึกเทปรายการ บันเทิงไทยรัฐ-ไทยรัฐ ทีวี ทั้งนี้ระหว่าง วันที่ 27-30 มิ.ย. บันทึกเทปรายการโทรทัศน์อีกหลายรายการ

ทราบข่าว โก๊ะตี๋ ติดโควิด-19 ยกเลิกงานช่วงบ่ายถึงค่ำวันที่ 30 มิ.ย. ทั้งหมด กลับบ้านเริ่มกักตัว กระทั่ง 1 ก.ค. รู้สึกร่างกายอ่อนเพลีย ไปพบแพทย์ร.พ.บำรุงราษฎร์ อุณหภูมิปกติ เลยให้วิตามินทางเส้นเลือดแทน เช้าวันที่ 2 ก.ค. มีไข้ ปวดหัว เลยตัดสินใจไปหาหมอ เพื่อขอให้ตรวจโควิด-19 ซ้ำอีกครั้ง ที่ร.พ.กรุงเทพ 17.00 น.ทราบผล ติดเชื้อประสานงานเข้ารักษาเฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น

สระแก้วปิด 510 ร.ร.

นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผวจ.สระแก้ว เปิดเผยว่า จากกลุ่มวิทยาลัยเทคนิควังน้ำเย็นวันนี้เพิ่ม 2 รายสะสมรวม 22 ราย ซึ่งทางวิทยาลัยเทคนิคมีมาตรการปิดโรงเรียนทำความ สะอาดตรวจเชิงรุก 900 ราย พบกลุ่มเสี่ยงสูง 97 ราย โดยการฉีดวัคซีนกลุ่ม 60 ปี และกลุ่มเปราะบางผู้ป่วย 7 โรค จำนวน 59,800 โดส จากยอดการขอเข้ามาผ่านด่านคลองลึกอรัญประเทศอาทิตย์นี้จำนวน 200 คน เฉลี่ย 35 คนต่อวัน คนที่เข้ามาเข้าพักกักตัวต้องเข้า LQ 14 วัน มีอส.เข้าเวรยาม งดการเยี่ยม ตั้งแต่เมษายนมีเข้ามาจำนวน 2,000 คน

“การประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ ที่รับรายงานจากศึกษาธิการจังหวัดสระแก้วรายงานว่า ขณะนี้พบนักเรียนติดเชื้อจำนวน 40 คน โรงเรียนหยุดเรียน 186 แห่งจากทั้งหมด 510 แห่ง ครูได้รับฉีดวัคซีน 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว จึงมีมติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสระแก้วแจ้งให้ทางสถานศึกษาดำเนินการปิดเรียน ในวันจันทร์ที่ 5-18 กรกฎาคม 2564 เปิดเรียนในสถานศึกษาวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 และขอให้สถานศึกษาปรับรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อรองรับตามประกาศนี้” ผวจ.สระแก้วกล่าว

เสี่ยงทั้งคัน – คนขับและผู้โดยสารรวม 10 ชีวิตในรถตู้โดยสารสายระยอง-หมอชิต กลายเป็นผู้เสี่ยงสูง หลังสาวติดโควิดรายหนึ่ง หนีออกจากร.พ.สนามที่จันทบุรี แล้วมาขึ้นรถตู้ คันดังกล่าวเพื่อเข้ากทม. แต่เจ้าหน้าที่สกัดไว้ได้บนถนนมอเตอร์เวย์ ก.ม.15 เมื่อวันที่ 3 ก.ค.

แรงงานจากกทม.ทำติดเชื้อพุ่ง

ศูนย์อำนวยการต้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จ.กาฬสินธุ์ รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อล่าสุดวันนี้ พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 32 ราย ทั้งหมดเป็นกลุ่มประชาชนอาชีพช่างไฟสถานีรถไฟฟ้า สายสีส้ม รับเหมาก่อสร้าง ช่างประปา นักศึกษา ฝึกงาน และกลุ่มแรงงานที่ติดเชื้อเดินทางกลับจากพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล โดยเป็นการพบผู้ติดเชื้อมากสุดตั้งแต่มีการแพร่ระบาดในพื้นที่ ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อของ จ.กาฬสินธุ์ สะสมรวม 269 ราย กำลังรักษาอยู่ 116 ราย รักษาหายแล้ว 149 ราย และมียอดผู้เสียชีวิตสะสม 4 ราย

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากติดต่อกันหลายวัน ทำให้นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ พร้อม นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ นพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผอ.ร.พ.กาฬสินธุ์ และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาฬสินธุ์ ต้องเรียกประชุมด่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อติดตามสถานการณ์วางแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเตรียมเปิด โรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สามารถ รองรับผู้ป่วยได้อีกกว่า 100 เตียง และคาดว่าจะสามารถเปิดใช้งานในวันจันทร์ที่ 5 ก.ค.นี้

โคราชคนป่วยจ่อล้นร.พ.

สถานการณ์ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา เริ่มเข้าสู่ขั้นวิกฤต หลังจากมีผู้ป่วยสะสมพุ่งสูงถึง 1,313 ราย แม้ว่าจะรักษาหายไปแล้ว 977 ราย แต่ยังมีผู้ป่วยรักษาอยู่ในโรงพยาบาลมากถึง 319 ราย จนทำให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่รองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เริ่มมีเตียงไม่เพียงพอ โดยเฉพาะร.พ.มหาราชนครราชสีมา เหลือเตียงว่างอยู่เพียง 9 ราย แต่รับผู้ป่วยมาล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ก.ค. นเดียว 21 ราย ทำให้คาดการณ์ว่าในระยะเวลา 1-2 วันนี้ จะมีเตียงไม่เพียงพอ

นพ.เจษฎ์ บุญยวงศ์วิโรจน์ ผช.ผอ.ร.พ. มหาราชฯ เปิดเผยว่า สิ่งที่จะแจ้งให้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดทราบ คือขณะนี้จำนวนผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้น แต่จำนวนเตียง เราเหลือน้อยลง สถานการณ์ของ ร.พ.มหาราชฯ เริ่มจะคล้ายกับกรุงเทพฯ แล้ว ซึ่งผู้ป่วยอาการปกติ หรือไม่มีอาการ ทั้งจังหวัดยังสามารถช่วยกันได้ แต่ผู้ป่วยอาการหนัก ต้องใส่ท่อช่วยหายใจนั้นยังยากอยู่ นอกจากนี้ยังมีการเดินทางกลับของคนไข้หลายราย เรารับสายโทรศัพท์ เขาบอกว่า อยู่กรุงเทพฯ หาเตียง ไม่ได้ กลับไปตายที่บ้านดีกว่า และเมื่อวาน มีเคสของจังหวัดบึงกาฬ แต่มาหอบเหนื่อย ที่อำเภอโนนสูง สุดท้ายก็ต้องมานอนที่ ร.พ.มหาราชฯ เชื่อว่าจะเจอแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะวันหยุดเสาร์และอาทิตย์

จับไม่กักตัว – สภ.พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่ คุมตัวหนุ่มวัย 32 ปี ไปดำเนินคดี หลังกลับมาจากแคมป์คนงานก่อสร้างในกทม. แล้วไม่ยอมเข้ากักตัวสำหรับผู้ที่มีความ เสี่ยงสูงในสถานที่ ที่จัดไว้ ตามมาตรการป้องกันโควิด-19 เมื่อวันที่ 3 ก.ค.

ปัตตานีปิดตาย 26 หมู่บ้าน

ส่วนที่ จ.ปัตตานี สถานการณ์ล่าสุดพบ ผู้ป่วยรายใหม่สูงถึง 130 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมในขณะนี้เพิ่มเป็น 2,723 ราย และพบผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีก 2 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิดสะสม 14 รายแล้ว ในขณะที่ทางจังหวัดปัตตานีมีคำสั่งประกาศปิดพื้นที่เสี่ยงเพิ่มขึ้นอีก 9 หมู่บ้าน ใน 4 อำเภอ ทำให้มีพื้นที่เสี่ยงที่ต้องปิดหมู่บ้านแล้ว 26 หมู่บ้าน ใน 9 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.แม่ลาน อ.กะพ้อ อ.ไม้แก่น อ.ปะนาเระ อ.โคกโพธิ์ อ.มายอ อ.ทุ่งยางแดง และ อ.ยะหริ่ง มัสยิดถูกปิด 22 มัสยิดแล้ว

ส่วนกรณีที่มีดราม่าในเรื่องที่หมอหลายราย ได้มีการโพสถึงว่า จังหวัดปัตตานีมีเตียงไม่พอ สำหรับคนไข้ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด ต้องไปรักษาตัวต่อที่บ้านนั้น ด้านนพ.รุซตา สาและ ผอ.ร.พ.สนามจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า สำหรับเตียงรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ต้องยอมรับว่า ในบางช่วงมีผู้ป่วย ติดเชื้อเป็นจำนวนมากต่อวัน โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมา มีผู้ป่วยติดเชื้อเกินหลักร้อยทุกวัน บางวันเกิน 200 ราย ทำให้เตียงไม่เพียงพอต่อผู้ป่วยจริงๆ แต่ก็เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เพราะในแต่ละวันก็มีผู้ป่วยที่หายได้เดินทางกลับบ้านเช่นเดียวกัน

ขณะนี้ทางจังหวัดปัตตานีได้มีการเตรียมแผนในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามของ โรงพยาบาลทั้ง 15 แห่งใน 12 อำเภอ โดยแต่ละแห่งจะมีเตียงรองรับผู้ป่วยจำนวน 100 เตียง ซึ่งขณะนี้ได้มีการเปิดเป็นโรงพยาบาลสนามของโรงพยาบาลแล้ว 2 แห่ง คือ ร.พ.ทุ่งยางแดง และร.พ.หนองจิก และจะมีการ ทยอยเปิดเรื่อยๆ จนครบทั้ง 15 โรงพยาบาล แต่ขณะนี้มีพื้นที่เตรียมไว้ทำโรงพยาบาลสนามแล้วทุกแห่ง เพียงแค่รออุปกรณ์ทั้งเตียง เบาะ ผ้าปูที่นอน รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งขณะนี้ได้เร่งดำเนินการอยู่ คาดว่า ไม่เกิน 2 สัปดาห์ จะสามารถเปิดได้ทุกแห่ง ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ก็จะสามารถรองรับผู้ป่วยติดเชื้อของจังหวัดปัตตานีได้ทั้งหมด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน