ให้อยู่แต่ในบ้าน-ส่งข้าวน้ำแจก
ล็อกเพิ่ม‘อยุธยา-ชลฯ-แปดริ้ว’
แดงเข้ม13จว.เคอร์ฟิวถึง2สค.
อนุทินชงจำกัดส่งออกแอสตร้า
เซ็นซื้อวันนี้ไฟเซอร์20ล้านโดส

อธิบดีควบคุมโรคชี้ใน 2 เดือน ติดเชื้อยังสูงต่อเนื่อง เล็งใช้มาตรการแบบ ‘อู่ฮั่น’ ล็อกเมือง งดเดินทาง ส่งข้าวส่งน้ำตามบ้าน ขณะที่ติดเชื้อสะสมทะลุ 4 แสนรายแล้ว เสียชีวิตอีก 101 ป่วยรายใหม่พุ่งไม่หยุดเกินกว่าหมื่นคนต่อวัน พบคลัสเตอร์ใหม่หลายจังหวัด ประกาศยกระดับชลบุรี ฉะเชิงเทรา อยุธยา เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม รวม 13 จังหวัด ‘อนุทิน’ ชงศบค. จำกัดแอสตร้าฯ ส่งวัคซีนไปต่างประเทศ สธ.ยันใช้สูตรสลับซิโนแวค-แอสตร้าฯ เป็นสูตรหลัก เผย 19 ก.ค.นี้ เซ็นซื้อ ‘ไฟเซอร์’ 20 ล้านโดส จากนั้นจะขอซื้ออีก 50 ล้านโดส แต่ก็ไม่รู้วัคซีนจะมาเมื่อไหร่

ปันน้ำใจ – นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เยี่ยมให้กำลังใจเจ้าของร้านอาหารที่ทำ ข้าวกล่องส่งแคมป์คนงานที่ถูกสั่งปิดตามมาตรการสกัดโควิด ที่ร้านข้าวป๊าจ๋า ของนายสำเนียง ฤทธิ์ศักดิ์ ซ.ลาดพร้าว 80 แยก 21 เขตวังทองหลาง กทม. เมื่อ 18 ก.ค.

เกินหมื่นต่อเนื่อง-ตายอีก 101

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานว่าประเทศไทยขยับอันดับขึ้น 54 ของโลก มีผู้ติดเชื้อใหม่ 11,397 ราย สะสม 403,386 ราย รักษาหายเพิ่ม 5,726 ราย สะสม 283,910 ราย เสียชีวิต 101 ราย สะสม 3,341 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 116,135 ราย แบ่งเป็นในร.พ. 67,835 ราย ร.พ.สนาม 48,300 ราย จำนวนนี้มีอาการหนัก 3,464 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 846 ราย

สำหัรบผู้เสียชีวิต 101 ราย มาจาก กทม. 60 ราย สมุทรปราการ 15 ราย นครปฐม และปัตตานี จังหวัดละ 5 ราย นครนายก 4 ราย สงขลา 2 ราย นราธิวาส ชลบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครสวรรค์ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา และหนองคาย จังหวัดละ 1 ราย เป็นชาย 52 ราย หญิง 49 ราย อายุ 30-97 ปี อายุกลาง 68 ปี ระยะเวลานอนรักษานานสุด 33 วัน เฉลี่ย 10 วัน สำหรับโรคประจำตัวยังเหมือนเดิม คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคหัวใจ ปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อจากคนในครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า อาศัยหรือเดินทางไปพื้นที่ระบาด

คลัสเตอร์ใหม่ผุดหลายจว.

ส่วน 10 จังหวัดที่ติดเชื้อสูงสุดวันนี้ ได้แก่ 1.กทม. 2,166 ราย สะสม 112,794 ราย 2.ปทุมธานี 684 ราย สะสม 14,789 ราย 3.สมุทรสาคร 677 ราย สะสม 16,997 ราย 4.ชลบุรี 660 ราย สะสม 15,373 ราย 5.สมุทรปราการ 604 ราย สะสม 27,220 ราย 6.พระนครศรีอยุธยา 392 ราย สะสม 4,470 ราย 7.สระบุรี 345 ราย สะสม 3,554 ราย 8.นนทบุรี 336 ราย สะสม 16,989 ราย 9.ลพบุรี 297 ราย สะสม 2,132 ราย และ 10.ฉะเชิงเทรา 242 ราย สะสม 5,268 ราย

ขณะที่คลัสเตอร์ใหม่รายวัน ได้แก่ 1.สมุทรสาคร โรงงานชิ้นส่วนจักรยานยนต์ อ.กระทุ่มแบน 27 ราย 2.ชลบุรี 2 คลัสเตอร์ คือ บริษัทเครื่องดื่ม อ.เมือง 19 ราย และโรงงานจักรเย็บผ้า อ.ศรีราชา 13 ราย 3.สมุทรปราการ แคมป์ก่อสร้าง 2 แห่ง อ.บางพลี 101 ราย 4.นนทบุรี แคมป์ก่อสร้าง อ.เมือง 42 ราย 5.ฉะเชิงเทรา 2 คลัสเตอร์ คือ บริษัทพลาสติกสำเร็จรูป อ.บางปะกง 26 ราย และโรงงานเสื้อผ้า อ.บางคล้า 55 ราย 6.จันทบุรี สนามบอล อ.เมือง 12 ราย

โคราชนิวไฮ-ปิดเขาแผงม้า

ขณะเดียวกันภายหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ประกาศปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวหลายพื้นที่ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวส่องกระทิงเขา แผงม้า อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ล่าสุดนายอรรณพ บัวนวล หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า ออกหนังสือประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยวและการพักแรมในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า

ส่วน จ.อุดรธานี พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 81 คน เป็นผู้ติดเชื้อภายในจังหวัด 4 คน และผู้ติดเชื้อที่เดินทางเข้าจังหวัด 77 คน ขณะเดียวกัน คณะกรรมการโรคติดต่อ จ.อุดรธานี ประชุมและมีมติให้ฉีดวัคซีนสลับตามนโยบายรัฐบาล โดยจะเริ่มในวันจันทร์ที่ 19 ก.ค. ใน 3 แนวทางคือ 1.ผู้ฉีดใหม่ เข็มที่ 1 ฉีดซิโนแวค เข็มที่ 2 ให้ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ 2.ผู้ฉีดเข็มที่ 1 ซิโนแวคแล้ว เข็มที่ 2 ให้ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ และ 3.ผู้ที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 1 จะฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 ห่างกัน 4 สัปดาห์

ชลบุรีพุ่งไม่หยุด-ระยองยังอื้อ

ด้าน จ.ชลบุรี พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 660 ราย เป็นสถิติใหม่ติดต่อกัน 9 วัน ยอดป่วยสะสม 15,375 ราย กำลังรักษาตัวอยู่อีก 6,308 ราย หายป่วย 8,989 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย ยอดสะสมผู้เสียชีวิตเป็น 78 ราย ยังพบผู้ติดเชื้อกระจายอยู่ 9 อำเภอ โดยเฉพาะ อ.ศรีราชามีผู้ติดเชื้อมากที่สุด 217 ราย รองลงมา อ.บางละมุง 167 ราย ติดเชื้อส่วนมากมาจากในสถานประกอบการ 14 แห่ง ตลาด 5 แห่ง แคมป์คนงานก่อสร้าง 10 แห่ง และชุมชน 4 แห่ง พบติดเชื้อภายในครอบครัว 149 ราย และจากสถานที่ทำงาน 114 ราย

ที่ จ.ระยอง พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 228 ราย โดยพบใน อ.ปลวกแดง 90 ราย, อ.เมืองระยอง 46 ราย, อ.บ้านฉาง 26 ราย, อ.บ้านค่าย 19 ราย, อ.นิคมพัฒนา 10 ราย, อ.แกลง 3 ราย และต่างจังหวัดเข้ามารักษาตัว 34 ราย ผู้ที่ไปในพื้นที่ หรือสถานที่เสี่ยงตามที่แจ้งให้ไปรับการตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน และจุดตรวจคัดกรองตลาดเนินอุไร สวนศรีเมือง อ.เมืองระยอง

เยี่ยมด่าน – พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. มอบหมายพล.ต.อ.สุรพล อยู่นุช ที่ปรึกษาพิเศษตร. เป็นตัวแทนตรวจเยี่ยมตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และอส. ปฏิบัติหน้าที่จุดตรวจพื้นที่ จ.นครปฐม นนทบุรี และปทุมธานี ในช่วงล็อกดาวน์ เมื่อวันที่ 18 ก.ค.

กรุงเก่าอีก 253-ปราจีนฯตาย 2

ส่วน จ.พระนครศรีอยุธยา พบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 253 ราย กระจายในหลายอำเภอ อ.บางปะอิน 101 ราย อ.วังน้อย 80 ราย, อ.พระนครศรีอยุธยา 23 ราย อ.บางซ้าย 16 ราย อ.มหาราช 13 ราย อ.เสนา 6 ราย อ.ผักไห่ 4 ราย อ.ท่าเรือ 4 ราย อ.อุทัย 3 ราย และ อ.นครหลวง 3 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย ชายไทยอายุ 65 ปี มีโรคความดันโลหิตสูง ความจำเสื่อม ติดเชื้อจากคนในครอบครัว และชายไทยอายุ 89 ปี มีโรคความดันโลหิตสูง เป็นผู้ป่วยติดเตียงติดเชื้อจากคนในครอบครัว

ขณะที่ จ.ปราจีนบุรี พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 71 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย นอกจากนี้ยังพบคลัสเตอร์ใหม่ เป็นแรงงานต่างชาติพักที่หอพักในพื้นที่หมู่ 1 ต.ลาดตะเคียน และตลาดสดเทศบาลตำบลกบินทร์ อ.กบินทร์บุรี หลังจากแม่ขายผักติดเชื้อมาจากตลาดไท จ.ปทุมธานี ทำให้เชื้อแพร่กระจายไปยังแม่ค้าคนอื่นอีกหลายคน หลังทำความสะอาดฉีดยาฆ่าเชื้อ และปิดตลาดไปแล้ว 3 วัน พบแม่ค้าติดเพิ่มอีก จึงปิดต่ออีก 7 วัน และในวันที่ 19 ก.ค. เจ้าหน้าที่จะตรวจเชิงรุกแม่ค้าในตลาดทั้งหมด

เชียงใหม่ก็อื้อ-ปิดถนนคนเดิน

ที่ จ.เชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 66 ราย ขณะเดียวกัน นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ ประกาศงดถนนคนเดินเชียงใหม่ ที่จัดขึ้นเป็นประจำในวันอาทิตย์ เนื่องจากสถานการณ์ โควิดแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหญ่อย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทางคณะกรรมการถนนคนเดินจึงมีมติงดจัดกิจกรรมถนนคนเดินวันอาทิตย์เป็นการชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงและการป้องกันการะบาดในพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.เป็นต้นไป

จ.พิจิตร นายรังสรรค์ ตันเจริญ ผวจ.พิจิตร ลงพื้นที่ศูนย์ประชุมวิทยาลัยเทคนิคพิจิตร ติดตามการจัดสร้างโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 อ.เมืองพิจิตร รองรับผู้ป่วยได้ 150-200 เตียง หลังจากโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 1 ซึ่งอยู่ภายในอุทยานบัวบึงสีไฟ อ.เมืองพิจิตร รองรับผู้ติดเชื้อได้เพียง 140 เตียง และไม่สามารถขยายเพิ่มเติมได้ เนื่องจากมีกลุ่มผู้ใช้แรงงานในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มกลับมารักษาตัวในภูมิลำเนา จ.พิจิตร กันเป็นจำนวนมาก ล่าสุดพบผู้ป่วยใหม่อีก 32 ราย

ปัตตานีเพิ่ม 331-เข้มเข้าพื้นที่

ด้าน จ.ปัตตานี พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 331 ราย เสียชีวิตอีก 2 ราย โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงเป็นกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์ต่างๆ ทั้งจากโรงงานอุตสาหกรรม คลัสเตอร์มัรกัสยะลา ขณะเดียวกัน ทางจังหวัดสั่งปิดพื้นที่เสี่ยงขยายเพิ่มขึ้นจากเดิม 9 อำเภอ เป็น 10 อำเภอ 18 ตำบล 25 หมู่บ้าน มัสยิด 26 แห่งงดการละหมาด โดยพื้นที่ที่ถูกปิดมากที่สุดคือ อ.เมือง ปิดทั้งสิ้น 5 ตำบล 8 หมู่บ้าน ส่วนในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ใช้วิธีติดธงแดงบริเวณที่มีผู้ติดเชื้อ หรือผู้ที่เสี่ยงสัมผัสสูงอาศัยอยู่

นายราชิต สุดพุ่ม ผวจ.ปัตตานี ออกมาตรการเข้มสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในกทม. และปริมณฑล ให้รายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจก่อนเข้า จ.ปัตตานี และต้องตรวจคัดกรองหาเชื้อที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทุกราย พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ทางเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคติดต่อออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร แก่ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่ออย่างเคร่งครัด

ยะลา 190-เด็กติดในปอเนาะ

ส่วน จ.ยะลา พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 190 ราย เสียชีวิต 1 ราย ในพื้นที่ อ.เมืองยะลา โดยเฉพาะผลการตรวจเชื้อโควิดในสถาบันศึกษาปอเนาะ ต.บาโงยซิแน อ.ยะหา พบติดเชื้อมากถึง 121 คน จากทั้งหมด 160 คน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน จึงให้กักตัวอยู่ในสถาบันปอเนาะ เพื่อรักษาตามกระบวนการแล้ว

ขณะเดียวกัน จ.สงขลา นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผวจ.สงขลา เปิดเผยว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 179 ราย เสียชีวิต 2 คน เจ้าหน้าที่ยังทำงานแบบเข้มข้น เพื่อหาผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบรักษาให้หมด หากปล่อยไปจะเกิดปัญหากับชุมชนไม่มีสิ้นสุด คู่ขนานกับการฉีดวัคซีนป้องกัน โดยในเดือนก.ค.ได้รับการจัดสรรวัคซีนเพิ่ม 250,000 โดส สำหรับฉีดให้กับบุคลากรทางการศึกษา บุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มเปราะบาง ล่าสุดจากการตรวจคัดกรองเชิงรุกที่ชุมชนหัวเขา อ.สิงหนคร พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม กำลังหารือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด อาจต้องปิดหมู่บ้านหากสถานการณ์วิกฤต

ลุยภูเก็ต – พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา (สบ9) พร้อมคณะ เดินทางไปประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ บริเวณหาดบานานา บีช เกาะเฮ จ.ภูเก็ต เมื่อ 18 ก.ค.

ยกระดับคุมโควิดเป็น 13 จว.

วันเดียวกัน ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาตรการและข้อปฏิบัติต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด มีสาระสำคัญ คือปรับปรุงเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวดขึ้นใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จ.นครปฐม จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี จ.สมุทรปราการ จ.สมุทรสาคร จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี จ.ยะลา และจ.สงขลา

การลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทาง ให้ประชาชนในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เลี่ยง จำกัด หรืองดเว้นภารกิจที่ต้องเดินทางออกนอกเคหสถาน หรือที่พำนักโดยไม่จำเป็น สำหรับการเดินทางในบางกรณีที่จำเป็น เช่น การเดินทางเพื่อจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อาหาร ยาหรือเวชภัณฑ์ การเดินทางเพื่อพบแพทย์ เพื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข การรักษาพยาบาล การรับวัคซีนป้องกันโรค หรือมีความจำเป็นเพื่อปฏิบัติงาน หรือการประกอบอาชีพที่ไม่สามารถปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ สามารถกระทำได้ แต่ต้องพึงใช้ความระมัดระวังในการป้องกันตนเองตามคำแนะนำของพนักงานเจ้าหน้าที่ และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

ตุนไข่ – ชาวบ้านแห่ซื้อไข่ไก่ตามตลาดสดต่างๆ จนเกือบเกลี้ยงแผง เพื่อเก็บไว้กินในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ สกัดโควิด-19 แพร่ระบาดหนัก ในภาพเป็นบรรยากาศที่ตลาดสด ก.ม.2 รามอินทรา เมื่อวันที่ 18 ก.ค.

เคอร์ฟิว 3 ทุ่มถึงตี 4-อีก 14วัน

กำหนดพื้นที่ห้ามออกนอกเคหสถานเพิ่มเติม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ห้ามบุคคลใดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วันนับแต่วันที่ข้อกำหนดฉบับนี้ใช้บังคับ ผู้ใดฝ่าฝืนย่อมมีความผิดและต้องระวางโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

การกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคม และการตรวจคัดกรองการเดินทางเฉพาะเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยการสนับสนุนจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงกระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัดในเส้นทางคมนาคมเข้าออกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยเน้นการปฏิบัติเพื่อการคัดกรอง ชะลอหรือสกัดกั้นการเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและ เข้มงวด เพื่อเดินทางไปยังพื้นที่อื่น เป็นระยะเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 14 วัน

เข้มรถโดยสาร-จุคนได้ 50%

การขนส่งสาธารณะ ให้กระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร จังหวัด หรือหน่วยงานที่ รับผิดชอบกำกับดูแลการให้บริการขนส่งผู้โดยสารสาธารณะทุกประเภทในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และการขนส่งสาธารณะทุกประเภทระหว่างจังหวัดทั่วราชอาณาจักรให้เป็นไปตามแนวทางที่ศปก.ศบค.กำหนด โดยจำกัดจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการไม่เกินร้อยละ 50 ของความจุผู้โดยสาร สำหรับยานพาหนะแต่ละประเภท รวมทั้งจัดให้มีการเว้นระยะห่างและการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วนเฉพาะในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อ กรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ เพื่อมีคำสั่งปิดสถานที่ หรือกิจการที่มีความเสี่ยงเพื่อประโยชน์ในการควบคุม และป้องกันการแพร่ของโรคติดเชื้อโควิด โดยให้ดำเนินการต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 14 วัน

ปิดเงียบ – สภาพบรรยากาศตลาดไท ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ตลาดค้าส่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ หลังถูกสั่งปิดชั่วคราว เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด เมื่อวันที่ 18 ก.ค.

วางกฎคุมห้าง-ร้านสะดวกซื้อ

สำหรับการให้บริการดังต่อไปนี้ ให้เปิดดำเนินการได้เฉพาะภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบและมาตรการป้องกันโรคที่กำหนดที่เข้มงวดยิ่งขึ้นจากที่ได้เคยกำหนดไว้แล้ว 1.การจำหน่ายอาหาร หรือเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มให้เปิดได้จนถึงเวลา 20.00 น. ห้ามบริโภคในร้าน ให้นำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น 2.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่น ที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดได้เฉพาะแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต แผนกยาและเวชภัณฑ์ พื้นที่ซึ่งจัดให้เป็นการให้บริการฉีดวัคซีน หรือบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขอื่นๆ ของภาครัฐ โดยให้เปิดได้จนถึงเวลา 20.00 น.

3.โรงแรมให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติ โดยให้งดกิจกรรมจัดการประชุม การสัมมนา หรือการจัดเลี้ยง 4.ร้านสะดวกซื้อ และตลาดสด ให้เปิดได้จนถึงเวลา 20.00 น. โดยจำกัดเวลา สำหรับร้านสะดวกซื้อซึ่งตามปกติเปิดให้บริการในช่วงเวลากลางคืน ให้ปิดให้บริการในเวลา 20.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น

เที่ยวสมุย – นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอีกชุดเดินทางมาท่องเที่ยวเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ในโครงการ “สมุย พลัส โมเดล” โดยมีนักท่องเที่ยวบางส่วนจากโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ที่พ้นกักตัว 14 วัน เดินทางมาท่องเที่ยวสมุยด้วย

ห้ามกิจกรรมรวมกลุ่มเกิน 5 คน

5.โรงเรียน สถาบันการศึกษาหรือฝึกอบรม และสถานศึกษาต่างๆ ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้ สำหรับการดำเนินการของโรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิกแพทย์รักษาโรค ร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป โรงงาน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ไปรษณีย์และพัสดุภัณฑ์ ร้านจำหน่ายอาหารสัตว์ ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านจำหน่ายเครื่องมือช่าง และอุปกรณ์ก่อสร้าง ร้านจำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดอันจำเป็น สถานที่จำหน่ายแก๊สหุงต้ม เชื้อเพลิง ปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส รวมทั้งบริการส่งสินค้าและอาหารตามสั่ง ยังคงเปิดดำเนินการได้ตามความจำเป็น

นอกจากนี้ยังห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 5 คน โดยให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จัดการอบรมสัมมนา หรือการประชุมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ทั้งนี้ตั้งแต่ วันที่ 20 ก.ค.จนถึง 2 ส.ค. 2564

ซิโนฟาร์มมาอีกล้านโดส

รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ ร่วมกับฝ่ายบริการคลังสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ ได้รับความไว้วางใจจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้ปฏิบัติภารกิจขนส่งวัคซีนซิโนฟาร์ม จำนวน 1 ล้านโดส จากประเทศจีนมายังประเทศไทย จำนวน 2 เที่ยวบิน โดยมาถึงที่อาคารขนถ่ายสินค้า การบินไทย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันที่ 18 ก.ค.นี้

บริษัทให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศอย่างครบวงจร โดยจัดเตรียมเครื่องบินลำตัวกว้าง สำหรับขนส่งวัคซีนป้องกันโควิด รวมถึงอุปกรณ์บริการภาคพื้นเพื่อสนับสนุนเที่ยวบินขนส่งวัคซีน และพื้นที่คลังสินค้าปรับ โดยบุคลากรยังมีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการขนส่งและดูแลผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าประเภทที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิ และได้รับการรับรองมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก

‘อนุทิน’จำกัดส่งออกแอสตร้าฯ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า สั่งการ นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เร่งจัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายนอกราชอาณาจักร เป็นการชั่วคราว เสนอให้ศบค.พิจารณาตัดสินใจ เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมของประเทศไทย

รมว.สาธารณสุขกล่าวว่า อีกทั้งสั่งการให้ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการองค์การอาหารและยา (อย.) เชิญผู้แทนของบริษัทวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนวัคซีนในประเทศไทยทุกรายเข้าพบในสัปดาห์หน้า เพื่อหารือถึงแนวทางที่ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะวัคซีน mRNA ที่ประชาชนต้องการ ซึ่งขณะนี้ผู้แทนของโมเดอร์นาตอบรับที่จะร่วมหารือกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขแล้ว รวมทั้งได้ยื่นข้อเสนอไปที่บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย เพื่อสั่งซื้อวัคซีนเพิ่มขึ้นอีก 50 ล้านโดส คาดว่าจะประชุมเพื่อหาแนวทางความร่วมมือกันเร็วๆ นี้

ยังหวังได้เดือนละ 10 ล้านโดส

แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีน และให้ ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กับอธิบดีกรมควบคุมโรค ไปเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนให้ได้จำนวนวัคซีนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ระบาดของโรคในประเทศก่อน ซึ่งประเด็นนี้ นายอนุทินเคยแจ้งเป็นหนังสืออย่างเป็นทางการไปถึงแอสตร้าเซนเนก้า แล้วว่าประเทศไทยต้องการวัคซีนเดือนละ10ล้านโดส

แหล่งข่าวระบุด้วยว่า นายอนุทินแจ้งให้ ผอ.สถาบันวัคซีนฯ ว่าเมื่อได้ผลการเจรจาอย่างไร ให้นำมารายงานในที่ประชุมกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เพื่อพิจารณาประกอบการจัดทำประกาศฯ ซึ่งคณะกรรมการฯ พร้อมจะประชุมทันทีที่ได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์กับประชาชน แต่เนื่องจากเรื่องนี้มีความเกี่ยวพันกับประเทศในอาเซียน ที่รอการจัดสรรวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยด้วย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเสนอศบค.พิจารณาอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้พิจารณาได้ครอบคลุมทุก มิติ เชื่อว่า ศบค.จะยึดถือประโยชน์ของประเทศไทยเป็นหลัก

สัญญาไม่ระบุส่งเดือนเท่าไหร่

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวชี้แจงเรื่องสัญญาซื้อ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าว่า ไทยจองมากที่สุดในภูมิภาค 61 ล้านโดส คิดเป็น 1 ใน 3 ของวัคซีนที่จองในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นบริษัทยืนยันว่าจะส่งให้ได้อย่างน้อย 1 ใน 3 จากวัคซีนที่ผลิตได้ และจะพยายามส่งให้ครบถ้วนตามสัญญา ตอนทำสัญญา 3 ฝ่ายวันที่ 27 พ.ค.2563 ยังไม่ได้วัคซีนแม้แต่ขวดเดียว เป็นการจองล่วงหน้า จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่าแต่ละเดือนจะผลิตได้จำนวนมากน้อยแค่ไหน ส่งมอบเท่าไหร่ โดยจะเจรจาแจ้งเป็นรายเดือนว่าต้องการเท่าไหร่

นพ.โอภาสกล่าวว่า โดยวันที่ 24 เม.ย. กรมควบคุมโรคมีหนังสือแจ้งแอสตร้าฯ ว่าขอวัคซีนเดือนมิ.ย. 6 ล้านโดส เดือนก.ค.-พ.ย. เดือนละ 10 ล้านโดส และเดือน ธ.ค. 5 ล้านโดส ก็จะครบ 61 ล้านโดส แต่การส่งมอบขึ้นกับกำลังการผลิต จึงอาจไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ตามที่ขอ ส่วนการส่งออกไปต่างประเทศเท่าไหร่ ก็ไม่ได้แจ้งเราในสัดส่วนตอนทำสัญญา แต่ในสัญญาระบุว่าหากต้องส่งออกไปต่างประเทศ ขอให้ไทยสนับสนุน ไม่ขัดขวางการส่งออกโดยไม่สมควร

เร่งเจรจาหยุดขยายส่งพค. 65

อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นที่ระบุการขอให้ส่งเดือนละ 3 ล้านโดส เป็นการอ้างอิงการประชุมไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2563 ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยมีการสอบถามว่า ความสามารถในการฉีดวัคซีนของไทยมีเท่าไร ข้อมูลตอนนั้นคือ 3 ล้านโดส แต่กรมควบคุมโรคไม่เคยบอกเป็นทางการว่าเราจะสามารถฉีดได้ 3 ล้านโดส และมีการประมาณการแจ้งเป็นทางการกับแอสตร้าฯ ว่า เราฉีดได้ถึงเดือนละ 10 ล้านโดสหากมีวัคซีนเพียงพอ ดังนั้น ข้อมูลที่ว่าแอสตร้าฯ จะส่งให้เราได้เท่าไร มี 2 ส่วนคือ ความต้องการของประเทศไทย และกำลังการผลิต ซึ่งต้องเชื่อมต่อกันถึงเป็นการส่งวัคซีนจริง ซึ่งขณะนี้ก็มีการส่งมาให้เราเรื่อยๆ บางสัปดาห์ก็ส่งให้ 2 ครั้ง

นพ.โอภาสกล่าวว่า ส่วนขยายส่งวัคซีนถึงเดือนพ.ค.2565 นั้น ขณะนี้แอสตร้าฯ มีความพยายามผลิตให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น จากการคำนวณเองแอสตร้าฯ ไม่ได้แจ้งอยู่ที่ 15 ล้านโดสต่อเดือน หากคิด 1 ใน 3 ก็น่าจะได้ 5 ล้านโดส แต่การผลิตวัคซีนขึ้นกับหลายปัจจัย ยากที่จะรับปากเราได้ครบถ้วน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เรายืนยันความต้องการ 61 ล้านโดส อยากให้ได้ในเดือนธ.ค.2564 แต่ต้องเจรจาเป็นรายเดือน แอสตร้าฯ ไม่เคยระบุส่งให้ถึงเดือนพ.ค.65 ต้องเจรจาต่อไป

ปรับแผนฉีดวัคซีนแต่ละเดือน

ผู้สื่อข่าวถามถึงแผนกระจายวัคซีนโควิดใน กทม.และต่างจังหวัด นพ.โอภาสกล่าวว่า ภาพรวมแผนการฉีดตามศักยภาพประมาณไว้ที่ 10 ล้านโดสต่อเดือน ขณะนี้มีวัคซีน 2 ชนิดคือ ซิโนแวค และแอสตร้าฯ ส่งให้จังหวัดต่างๆ กำหนดให้กลุ่มเป้าหมายขณะนี้ จะเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา โดยช่วงแรกเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพราะเสี่ยงติดเชื้อจากคนไข้ ซึ่งฉีดแล้วค่อนข้างครบถ้วน กลุ่มต่อมาคือผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยผู้เสียชีวิตกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เป็น 2 กลุ่มนี้ การฉีดจะกระจาย 2 กลุ่มนี้มากที่สุด นอกจากนี้ จะฉีดให้กับพื้นที่ระบาดคือ กทม. ปริมณฑล และถัดไปเป็นการป้องกันควบคุมโรคและต่างจังหวัด แผนแต่ละเดือนจะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ระบาด

ต่อข้อถามว่าหากแอสตร้าฯ ไม่เพียงพอ จะมีแผนสำรองอย่างไร เพราะมีเรื่องการสลับวัคซีน นพ.โอภาสกล่าวว่า แผนสำรองจะหาวัคซีนจากแหล่งอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติมตามสถานการณ์ ส่วนต้องเอาซิโนแวคเข้ามาอีกหรือไม่เป็นไปตามกรอบ ครม.เห็นชอบและอนุมัติงบประมาณ แต่สถานการณ์วัคซีนเปลี่ยนแปลงตลอด ทั้งนี้ วัคซีนทุกชนิดที่องค์การอนามัยโลกและอย.รับรอง มีประสิทธิภาพ ทั้งลดการติดเชื้อ ลดรุนแรง และลดเสียชีวิตได้ทั้งหมด มากน้อยขึ้นกับงานวิจัย แต่ไม่มีวัคซีนใดสมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ลดติดเชื้อ ลดป่วยหนัก และลดเสียชีวิต 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็พยายามหาวัคซีนจากหลายๆ แหล่งและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ยันใช้สูตรไขว้ซิโนแวค-แอสตร้า

นพ.โอภาสกล่าวถึงการสลับชนิดวัคซีนว่า จากการศึกษาของไทยพบว่าหากใช้เข็มแรกเป็นซิโนแวค และเข็มสองเป็นแอสตร้าฯ จะทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นใกล้เคียงแอสตร้าฯ 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันขึ้นสูงกว่าการติดเชื้อธรรมชาติ และข้อดีอีกอย่าง คือจากเดิมแอสตร้าฯ 2 เข็มต้องใช้เวลา 12 สัปดาห์ และต้องรออีก 2 สัปดาห์ถึงสร้างภูมิเต็มที่ ดังนั้น ต้องใช้เวลาเกือบ 4 เดือนกว่าผู้ที่รับวัคซีนจะได้มีภูมิเต็มที่ แต่หากสลับเป็นซิโนแวคเข็มแรก และแอสตร้าฯ เข็ม 2 ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ และใช้เวลา 2 สัปดาห์ภูมิจะขึ้น แปลว่าจะใช้เวลาเพียง 5-6 สัปดาห์ภูมิคุ้มกันจะใกล้เคียงกับแอสตร้าฯ 2 เข็ม ดังนั้น ระยะต่อไปเราจะพยายามให้ใช้สูตรนี้เป็นวัคซีนหลักในการฉีดให้คนประเทศไทย ยกเว้นบางกรณี และจากการคำนวณในแต่ละเดือนจะใช้ซิโนแวค 4-5 ล้านโดส และแอส ตร้าฯ ประมาณ 5-6 ล้านโดส ซึ่งก็จะสอดคล้องกับที่เราหาได้

“ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯ มีประโยชน์หลายด้าน ภูมิใกล้เคียงแอสตร้าฯ 2 เข็ม ส่วนแอสตร้าฯ 2 เข็มใช้ในกลุ่มสูงอายุในพื้นที่ระบาดสูงตามทฤษฎีเดิม พอฉีด 1 เข็มหลังจากนั้น 2 สัปดาห์ภูมิเพิ่มขึ้นลดเสียชีวิตได้ จะใช้ในพื้นที่ระบาด กทม.ในสัปดาห์ผ่านมากรมควบคุมโรคส่งวัคซีนใน กทม.แล้ว 1 ล้านโดส ระบุชัดเจนว่า 5 แสนโดสฉีดผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กทม.กำลังดำเนินการให้จองฉีดเร่งฉีดวันจันทร์เป็นต้นไป” อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว

จ่อคุมเข้มแบบเมืองอู่ฮั่น-จีน

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมหารือแนวทางการสื่อสารภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่สำนักงานใหญ่กสทช. ที่มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสมช. ในฐานะผอ.ศปก.ศบค. เป็นประธาน โดยช่วงหนึ่ง นพ.โอภาส อธิบดีกรมควบคุมโรค ที่ร่วมประชุมด้วยตอบคำถามยอมรับว่า คาดในอีก 2 สัปดาห์ ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ลดลง จึงต้องเพิ่มมาตรการที่เข้มขึ้นเพื่อควบคุมการระบาด แต่หากแนวโน้มตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสูงต่อเนื่อง ใน 2 เดือน ก็มีแนวโน้มจะใช้มาตรการคล้ายเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน คือล็อกดาวน์เมือง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ประชาชนอยู่บ้าน งดการเดินทาง หรือถึงขั้นต้องส่งข้าว ส่งน้ำตามบ้าน

นพ.โอภาสกล่าวชี้แจงวัคซีนไฟเซอร์ว่า วันที่ 19 ก.ค.จะเซ็นซื้อ 20 ล้านโดสไม่ใช่ 40 ล้านโดสที่เป็นข่าวลือ หลังเซ็นจะขอไฟเซอร์ซื้อเพิ่มอีก 50 ล้าน ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะได้หรือไม่ และจะมาเมื่อไร อีกทั้งจะขอซื้อจากโนวาแวกซ์ สำหรับไฟเซอร์ที่สหรัฐบริจาค 1.5 ล้านโดส จะมาถึงไทยในวันที่ 29 ก.ค.นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน