‘พท.-ก้าวไกล’ยัน
จับมือลุยซักฟอก

เลขาฯปชป. ยืนยันพรรครัฐบาลเหนียวแน่น โต้กระแส ‘คนใน’ข้อมูลให้ฝ่ายค้าน ใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นแค่ข่าวลือ เชื่อไม่มีใครกระตุกขากันเอง โดยเฉพาะปชป. รับรองไม่มีเกลือเป็นหนอน เพื่อไทย-ก้าวไกล แม้ฟาดกันเรื่องโอนงบ 1.6 หมื่นล้านเข้างบกลาง แต่ยังจับมือกันลุยศึกซักฟอก อดีตกกต. ‘สมชัย’ เตือนแก้รธน.ตามโพยพลังประชารัฐ ส.ส.-ส.ว.ที่ลงมติหนุนระวังถูกยื่นถอดถอน ‘ไพบูลย์’ มั่นใจไม่มีเหตุให้โดนฟ้อง ‘บิ๊กป้อม’ ย้ำดีอีเอส-ตำรวจ เร่งปราบเฟกนิวส์

‘บิ๊กป้อม’สั่งเร่งหยุดเฟกนิวส์

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยมี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม (ดีอีเอส) เข้าร่วมประชุม ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

พล.อ.ประวิตรได้กำชับกระทรวงดีอีเอส สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของทุกกระทรวง ให้เร่งรัดขับเคลื่อนการทำงานให้ทันต่อสถานการณ์ และบังคับใช้กฎหมายจริงจัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ป้องกันประชาชนสับสน สามารถหยุดยั้งข่าวปลอมหรือเฟกนิวส์ และมิให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดี พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทุกคน รวมถึงให้มีมาตรการส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้ เข้าใจ อีกทั้งสนับสนุนให้มีส่วนร่วมกับภาครัฐ ร่วมมือต่อต้านเฟกนิวส์ เพื่อให้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพอย่างถูกต้องต่อไป

นอกจากนี้ คณะกรรมการยังได้รับทราบผลการดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประจำกระทรวงและศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมระดับจังหวัด ซึ่งมีความคืบหน้าในภาพรวมอย่างน่าพอใจ และที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีคณะทำงาน เพื่อตรวจสอบข้อมูลข่าวปลอมที่ชัดเจน พร้อมทั้งสามารถยืนยันตัวบุคคลที่เป็นต้นตอของการกระทำผิดและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดและให้รวดเร็วต่อไป

พท.แนะทุ่มช่วยปชช.ดีกว่า

น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนอยู่ในความทุกข์ยากลำบากจากโควิด-19 สิ่งเดียวที่รัฐบาลควรทำคือทุ่มเทเวลา สรรพกำลัง เจ้าหน้าที่และเทคโนโลยีทั้งหมดไปช่วยชีวิตผู้คนโดยด่วน เพราะชีวิตของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด การทุ่มสรรพกำลังไปตามจับ ตามสืบเฟกนิวส์ ทำให้สงสัยว่ารัฐบาลนี้มีปัญหาเรื่องการจัดลำดับความสำคัญเป็นอย่างมาก

กรณีรัฐบาลมุ่งมั่นตามจับเฟกนิวส์มากเป็นพิเศษ ด้วยห่วงว่าประชาชนจะได้รับข่าวสารที่สับสนนั้น ควรดำเนินการกับผู้ที่อยู่ในฝั่งรัฐบาลก่อน คือผู้มีตำแหน่งทางการเมืองบางคน ออกมาระบุการตายข้างถนนเป็นการจัดฉาก ทั้งที่ชีวิตของประชาชนเป็นการสูญเสียจริง อย่าเอาแต่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนจากการคิดไม่รอบคอบ ดีอีเอสต้องออกแบบแอพพลิเคชั่นหรือใช้เทคโนโลยีมาแก้ปัญหาเรื่องนี้ ดีกว่าเอาเวลาไปตามจับเฟกนิวส์ ที่ไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรให้ประชาชนนอกจากเอาใจรัฐบาล

ปชป.ฟันธงพรรครบ.เหนียวแน่น

ที่โรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม เขตบางกอกน้อย กทม. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ถึงความเหนียวแน่นของพรรคร่วมรัฐบาลว่า สถานภาพพรรคร่วมรัฐบาล ณ วันนี้ กำลังแก้โควิด-19 และหารือกันว่า จะไม่พูดการเมือง เพื่อทำให้ประเทศผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ พร้อมจับมือร่วมทุกฝ่าย และไม่สร้างปัญหา ซึ่งคิดว่าพรรคร่วมรัฐบาลคิดตรงกัน จึงอยากฝากทุกพรรคการเมือง นักการเมืองทุกคน ให้มาช่วยกันแก้ไขปัญหา ระดมความคิดเห็นทำให้วิกฤตนี้ผ่านไปก่อน หลังจากนี้จะแสดงออกอย่างไรก็ไปว่ากันอีกที

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในเดือนส.ค.นี้ นายเฉลิมชัยกล่าวว่า เชื่อว่าเนื้อหาของฝ่ายค้านที่ออกมาก็เป็นปกติ ที่ก่อนการอภิปรายจะโหมโรงแบบนี้ ส่วนตัวเชื่อมั่นว่ารัฐมนตรีทุกคนทำงานเต็มที่ และเชื่อว่าสามารถตอบคำถามไขข้อข้องใจได้ทุกประเด็น ส่วนกระแสข่าวว่ามีพรรคร่วมรัฐบาล นำข้อมูลไปให้ฝ่ายค้านใช้อภิปราย เพื่อหวังเปลี่ยนตัวนายกฯ นั้น นายเฉลิมชัยกล่าวว่า เป็นเพียงข่าวลือ ที่สามารถคิดกันได้ แต่ความเป็นจริงไม่คิดว่าจะเป็นอย่างนั้น วันนี้เราเดินหน้าแก้ไขปัญหา เชื่อมั่นว่าคงไม่มีใครกระตุกขากันเองในพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยัน 100 เปอร์เซ็นต์ไม่มีอย่างนั้นแน่นอน

‘ชวน’เกาะติดกมธ.ทะเลาะกัน

ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ว่า จะมีการพิจารณาในวันที่ 18-20 ส.ค. โดยร่างพ.ร.บ.งบ ถือเป็นเรื่องที่สภาให้ความสำคัญ นอกจากนี้ยังมีญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งรอให้ฝ่ายค้านเสนอมา ก็จะรับเรื่องทันที เพราะสมัยประชุมจะมีถึงวันที่ 18 ก.ย.นี้ ส่วนความขัดแย้งของฝ่ายค้านในการพิจารณางบกลางนั้น เป็นเรื่องของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบ แต่ละคนที่มีความเห็นต่าง

ส่วนที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ระบุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ จะมีการสอดแทรกประเด็นการเลือกตั้งในวาระที่ตกไปนั้น นายชวนกล่าวว่า เป็นเรื่องของ กมธ.จะต้องหารือกันให้ตกผลึกแล้วนำเสนอวาระที่ 2 และ 3 โดยรายละเอียดในการแก้ไขนั้น ตนไม่สามารถลงลึกได้เพราะไม่ได้อยู่ในห้องประชุมกมธ. แต่อยากจะบอกว่าติดตามทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในที่ประชุมกมธ.และจากข่าวสารอยู่ตลอด

พท.ซัดก้าวไกลหยุดโจมตี

นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานกมธ.งบประมาณ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลไม่พอใจพรรคเพื่อไทย ที่โหวตให้งบที่ถูกปรับลดลง 1.63 หมื่นล้านบาท เข้างบกลางว่า การที่กมธ.พรรคเพื่อไทยเห็นด้วยกับการนำงบ 1.63 หมื่นล้านบาทไปไว้ในงบกลางนั้น ไม่ใช่การตีเช็คเปล่าให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม

งบที่ตัดลดก้อนนี้ระบุวัตถุประสงค์ชัดเจนให้นำไปแก้ปัญหาเรื่องโควิด-19 ถ้าครม.หรือนายกฯเอาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์จะติดคุก พ้นตำแหน่งทั้งคณะ ถูกเพิกถอนสิทธิการเมืองด้วย ใครจะกล้าเสี่ยง และยืนยันได้ว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการเห็นชอบครั้งนี้ จึงอยากให้พรรคก้าวไกลหยุดนำเรื่องนี้มาโจมตีได้แล้ว

“การเห็นไม่ตรงกันถือเป็นความเห็นหลากหลาย แต่ยังทำหน้าที่ฝ่ายค้านร่วมกันได้ ไม่ได้คิดว่าต้องเป็นศัตรู และมั่นใจว่าไม่กระทบกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล การที่พรรคเพื่อไทยโหวตให้นำงบไปให้งบกลางครั้งนี้ ไม่ใช่การเตรียมจับมือตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในการเลือกตั้งสมัยหน้า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ยังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ เราไม่เอาด้วยแน่ แต่ถ้าวันหน้าพล.อ.ประยุทธ์ไม่อยู่ พรรคพลังประชารัฐอาจมีแนวคิดเหมือนพรรคเพื่อไทยก็ได้ ทำไมต้องเป็นศัตรูกันถาวร” นายอุบลศักดิ์กล่าว

ก.ก.เชื่อไม่กระทบศึกซักฟอก

ด้านนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะอนุกมธ.ครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ในกมธ.งบประมาณ กล่าวว่า เรื่องนี้คิดว่าคงไม่มีปัญหาในการทำงานร่วมกัน เพราะเป็นพรรคการเมืองคนละพรรค ความเห็นต่างจึงมีอยู่แล้ว ที่ผ่านมาก็มีหลายอย่างที่เห็นต่างกัน แต่เรามีเป้าหมายเดียวกัน คือ การไม่ยอมรับ พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้น การเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็น่าจะทำงานร่วมกันกับพรรคเพื่อไทยได้อย่างดี

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มี 2 ฝ่ายเกิดการโต้เถียงกันบนโซเชี่ยลมีเดีย นายพิจารณ์กล่าวว่า เราพยายามไม่ทำให้เกิดภาพความแตกแยกไปมากกว่านี้ ซึ่งได้มีการสอบถามมายังกมธ.งบของพรรคก้าวไกล ว่าเหตุใดจึงตัดสินใจไม่เห็นด้วยกับการโยกเข้างบกลาง และเหตุใดจึงเห็นไม่ตรงกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร เราตอบแทนไม่ได้ หากอยากรู้ต้องไปถามพรรคเพื่อไทย

พรรคก้าวไกลประกาศจุดยืนมาตลอดก่อนลงมติแล้วว่า ควรนำงบไปใช้เรื่องสวัสดิการเพื่อประชาชน เมื่อผลโหวตของพรรคฝ่ายค้านไม่ตรงกัน ก็เป็นเรื่องปกติที่สังคมจะตั้งคำถาม เราไม่ได้ต้องการสร้างความไม่ชอบธรรมหรือความแตกแยก เรารู้ว่าเสียงของพรรคฝ่ายค้านรวมกันยังน้อยกว่าฝ่ายรัฐบาล เราจึงพยายามจะชวนพรรคฝ่ายรัฐบาลมาเห็นด้วยกับฝ่ายเรา

‘นิกร’มั่นใจแก้รธน.ไร้ปัญหา

นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา(ชทพ.) ในฐานะเลขานุการ กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่…) พ.ศ…. แก้ไขมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง รัฐสภา กล่าวว่า ล่าสุดตนในฐานะฝ่ายเลขานุการ ได้รับมอบให้พิจารณาเนื้อหาคำแปรญัตติที่เสนอเข้ามา 50 ญัตติ ซึ่งจะเร่งสรุปและจัดรายละเอียดของเนื้อหา เพื่อเสนอให้ที่ประชุมกมธ.พิจารณาในครั้งถัดไป เบื้องต้นเชื่อว่าจะไม่มีปัญหา แม้จะมีกมธ.เห็นแย้งในการปรับแก้ไขเนื้อหาที่มองว่าไม่สามารถทำเกินกว่า 2 มาตราที่รัฐสภารับหลักการได้

สำหรับกระบวนการพิจาณาของกมธ. จะเริ่มต้นพิจารณาเนื้อหาที่รัฐสภารับหลักการ 2 มาตรา จากนั้นจะพิจารณาในรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เช่น การแก้ไขมาตรา 83 ว่าด้วยสัดส่วนของส.ส. 500 คน ที่ปรับเป็น ส.ส.เขต 400 คนและบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) 100 คน ที่มีเนื้อหาโยงไปในมาตรา 85 ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องแก้ไขในเนื้อหาให้สอดคล้องกัน เพื่อไม่ให้มีปัญหา และใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เป็นต้น ซึ่งสิ่งสำคัญคือการคำนึงถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้มากที่สุด ไม่ใช่คำนึงถึงประโยชน์ว่าพรรคใดพรรคหนึ่งจะได้รับหรือไม่

ส่วนกรณีที่พบว่ามี ส.ว. 4 คนเสนอคำแปรญัตตินั้น ในรายละเอียดสำคัญ คือการเสนอให้ใช้ระบบเลือกตั้งและคำนวณคะแนนแบบเยอรมัน ที่พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. เป็นผู้เสนอ นอกนั้นเป็นการแก้ไขถ้อยคำ และมีคำแปรญัตติที่ขอลดจำนวน ส.ส.เขตจาก 400 คนเป็น 375 คน และแบบบัญชีรายชื่อ เหลือ 75 คน แต่รายละเอียดต้องรอให้ส.ว.ที่เสนอคำแปรญัตติชี้แจงในกมธ. อีกครั้งในการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 10 ส.ค.

‘สมชัย’เตือนถูกยื่นถอดถอน

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผอ.ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิตและอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า กรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชี รายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นหัวหอกแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ประเด็นแก้บัตรเลือกตั้งเป็น 2 ใบ ดูดึงดันเดินหน้าทั้งที่ร่างที่ผ่านในวาระที่ 1 ของพรรคประชาธิปัตย์ มีเพียง 2 มาตราคือมาตรา 83 และ 91 เป็นร่างที่ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากหากจะแก้จริง ต้องแก้ทั้งหมด 8 มาตรา คือ มาตรา 83, 85, 86, 90, 91, 92, 93 และ 94

การอ้างข้อบังคับการประชุมข้อ 124 วรรคท้ายว่า สามารถแปรญัตติล้วงกลับไปแก้ในมาตราที่เกี่ยวข้องหากสอดคล้องกับหลักการที่รับในวาระที่ 1 นั้นกล้ามากและด้านมาก หากมาตราดังกล่าวไม่เคยเป็นวาระที่เคยพิจารณาในวาระที่ 1 มาก่อน คงไม่มีปัญหา แต่ 6 มาตราดังกล่าว รัฐสภาเคยลงมติไม่รับหลักการไปแล้วเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. การแปรญัตติเพื่อฟื้นเอาสิ่งที่ไม่รับหลักการไม่น่าจะเป็นไปได้ และถือว่าขัดรัฐธรรมนูญและวิธีการทางนิติบัญญัติ

“กมธ.ที่มีนายไพบูลย์ เป็นประธาน คงเดินหน้าไม่สนใจและใช้เสียงข้างมากผลักดันให้แก้จนได้ สำหรับกมธ.เสียงข้างน้อย คงต้องบันทึกไว้ในรายงานการประชุมว่าไม่เห็นด้วย เพราะเรื่องนี้มีคนร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแน่นอนว่า กมธ.ทำผิดรัฐธรรมนูญถึงขั้นถอดถอน ส.ส.คนไหนลงมติ ส.ว.คนไหนลงมติ ก็ถอดถอนคนนั้นไม่ยาก พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทยเตรียมยื่นคำร้องได้เลย อย่าให้พวกทำลายกระบวนการนิติบัญญัติอยู่สบายเกิน” นายสมชัยกล่าว

‘ไพบูลย์’สวนกลับรู้ไม่จริง

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชี รายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง รัฐสภา กล่าวว่า ยืนยันว่าการทำหน้าที่ของ กมธ. ยึดรัฐธรรมนูญ มาตรา 157 ว่าด้วยการประชุมร่วมรัฐสภาที่ต้องยึดข้อบังคับการประชุม ประกอบกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 124 วรรคท้าย กำหนดให้กมธ.พิจารณาคำแปรญัตติ ที่สามารถเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ หรือตัดทอน หรือแก้ไขมาตราเดิม ต้องไม่ขัดกับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เว้นแต่การแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการนั้น ซึ่งหลักการของเนื้อหา คือ การปรับจำนวน ส.ส.ให้มี 500 คน แบ่งเป็นส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

“นายสมชัยแสดงความเห็นด้วยความไม่รู้จริง ไม่เคยทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติ และ เป็นเพียงอดีตผู้สมัครส.ส. จึงไม่เข้าใจในกระบวนการที่กมธ.ดำเนินการ อีกทั้งกรณีที่แปลความว่า ห้ามนำข้อความที่รัฐสภาตีตกไปแล้ว กลับมาพิจารณาอีก ข้อเท็จจริงไม่มีข้อบังคับใดกำหนดห้ามไว้ ดังนั้น การเสนอคำแปรญัตติของสมาชิกที่ขอแก้ไข ซึ่งอาจนำเนื้อความที่คล้ายหรือใกล้เคียงกันมา ถือเป็นสิทธิที่ทำได้ตามข้อบังคับข้อที่ 124 กมธ.จะเดินหน้าทำงานตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภากำหนด โดยการประชุมครั้ง ถัดไป จะเข้าสู่การพิจารณารายมาตรา

เมื่อถามว่านายสมชัย ชี้ช่องให้พรรคการ เมืองฟ้องศาลรัฐธรรมนูญว่ากมธ.ทำผิด หลักนิติบัญญัติ นายไพบูลย์กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ กำหนดช่องทางที่ให้สมาชิกรัฐสภายื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เฉพาะกรณีเข้าข่ายมาตรา 256(8) เท่านั้น แต่เรื่องระบบเลือกตั้งไม่เกี่ยว จึงเชื่อว่าไม่มีประเด็นใดที่นำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน