ชี้การเมืองเปลี่ยนแรง
สันติเข้าทำเนียบคุยตู่
พปชร.กั๊กไล่พรรคเล็ก
พท.ขีดเส้น7สส.แจง

ส.ว.ส่งสัญญาณแรง โหวตคว่ำแก้รธน.วาระ 3 จับตาการเมืองเปลี่ยนแปลง ‘พีระศักดิ์’ ยันส่วนตัวให้ผ่าน เพื่อไทยยอมรับมีความเสี่ยง ‘สันติ’ ดอดเข้าทำเนียบพบ ‘บิ๊กตู่’ โฆษกรัฐบาลอ้างมาหารือเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่เกี่ยวการเมืองใน พปชร. ยัน นายกฯ ไม่ห่วงควันหลงศึกซักฟอก พปชร. อึกอักขับพรรคเล็กพ้นรัฐบาล หลังลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ เพื่อไทยขีดเส้น 7 ส.ส.แหกมติพรรค ชี้แจงภายใน 10 ก.ย. เผย 3 ส.ส. ‘จาตุรงค์-พรพิมล-ศรัณย์วุฒิ’ ส่อแววถูกไล่ออก วุฒิสภามีมติเห็นชอบ ‘ชาญชัย แสวงศักดิ์’ นั่งประธานศาลปกครองสูงสุด

‘สันติ’ดอดเข้าทำเนียบย่องพบนายกฯ

วันที่ 6 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เวลา 11.00 น. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง และผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มาเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เวลาหารือประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนกลับออกไปโดยไม่ให้สัมภาษณ์

อย่างไรก็ตาม ช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา ที่มีกระแสข่าวแกนนำบางคน ใน พปชร. เคลื่อนไหวคว่ำ พล.อ.ประยุทธ์ ในขณะที่นายสันติเป็นหนึ่งในแกนนำของพรรค พปชร.ที่เคลื่อนไหวปกป้องนายกฯ รวมถึงเป็นหนึ่งในกลุ่มที่นำ ส.ส.เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ที่รัฐสภา

โดยมีกระแสข่าวว่านายสันติได้แยกตัวออกมาจากกลุ่ม 4 ช. หลังมีปัญหากับ ร.อ.ธรรม นัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการ พปชร. ซึ่งเดิมกลุ่ม 4 ช. ประกอบด้วย ร.อ.ธรรมนัส นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน และเหรัญญิก พปชร. นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม และ นายสันติ

ส่วนความเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังเกิดความบาดหมางภายใน พปชร.นั้นต้องจับตาดูการประชุมครม. 7 ก.ย. จะเป็นการประชุมแบบเต็มคณะครั้งแรก หลังประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ประมาณ 5 เดือน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และเป็นการเผชิญหน้ากันครั้งแรกของ ครม.หลังการโหวตในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ตู่ไม่กังวลควันหลง-ปัดถกการเมือง

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายสันติได้นำข้อราชการเกี่ยวกับการแผนงาน กิจการ กิจกรรมเพื่อกระตุ้นการบริโภคและใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มเติม เข้าหารือนายกฯ หลังจาก ศบค.ปรับมาตรการผ่อนคลายการควบคุมโควิด-19 ตั้งแต่ 1 ก.ย. เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีนี้ ยืนยันไม่มีการหารือประเด็นการเมือง เป็นการคาดเดากันไปเอง

เมื่อถามถึงท่าทีนายกฯ หลังผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมถึงความหนักใจ เกี่ยวกับควันหลงจากปัญหาภายในพปชร. นายธนกรกล่าวว่า นายกฯ พร้อมเดินหน้ามุ่งมั่นทำงานเพื่อประชาชนต่อไป ไม่ได้กังวลอะไรใดๆ ทั้งสิ้นเกี่ยวกับกระแสข่าวต่างๆ เมื่อถามถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ ระบุมีคนแอบอ้างเบื้องสูง จะมีการแจ้งความหรือดำเนินการทางกฎหมายหรือไม่ นายธนกรกล่าวว่าเรื่อง อื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับภายในพปชร.ตน ไม่สามารถตอบได้

ส.ว.ชี้สัญญาณแรง-คว่ำแก้รธน.

ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างรัฐ ธรรมนูญวาระ 3 ว่า ตั้งแต่การพิจารณาวาระ 2 มีสัญญาณอยู่แล้ว ถ้าวันนั้นไม่มีการปรับปรุงแก้ไขในบางบทหรือบางมาตรา เชื่อว่าอาจไม่ผ่าน กมธ.จึงปรับปรุงแก้ไขตอนเช้าก่อนเริ่มการประชุม ถือเป็นสัญญาณหนึ่ง อีกประการหนึ่งสังเกตได้ว่า ส.ว.งดออกเสียงจำนวนมาก โดยที่ส่วนหนึ่งไม่ลงคะแนน ส.ว.ส่วนใหญ่วางท่าทีแบบกลางๆ รอตัดสินใจอีกครั้ง 10 ก.ย.นี้

หลังการลงมติวาระ 2 ส.ว.มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันตลอด ว่าการแก้ไขครั้งนี้เป็นเรื่องของพรรคการเมืองและนักการเมืองล้วนๆ ไม่ได้เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง เราเห็นว่าระบบแบบนี้มีข้อบกพร่องและย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 40 ไม่ได้แก้ไขเพื่อเดินหน้าแต่เป็นการแก้ถอยหลัง มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันระหว่าง ส.ว.เป็นจำนวนมาก ทำนองว่าจะรับหรือไม่รับ เชื่อว่าวันที่ 9 ก.ย. จะมีความชัดเจน

เท่าที่ตนติดตามมาตลอดมีสัญญาณบางอย่างที่บ่งชี้ว่าอาจไม่รับร่างครั้งนี้ ต้องรอดูกันต่อไปเพราะแต่ละวันจะมีการเปลี่ยนแปลงได้โดยตลอด วันนี้ พรุ่งนี้ แม้แต่วันที่ 9 ก.ย. หรือวันที่ 10 ก.ย. ก็เปลี่ยนแปลงได้ แต่ยืนยันเห็นสัญญาณไม่ปกติในบรรดากลุ่ม ส.ว.ด้วยกัน จะให้ตอบสังคมว่าผ่านหรือไม่ตนไม่กล้ายืนยัน

เชื่อถึงผ่านวาระ 3 ก็ไม่ทันได้ใช้

เมื่อถามว่าสัญญาณที่บอกว่าจะไม่ผ่านมาจากรัฐบาลเองหรือไม่ เพราะพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและหัวหน้าพปชร. บอกกับลูกพรรคเองว่า ส.ว.จะโหวตคว่ำรัฐธรรมนูญวาระ 3 นายวันชัยกล่าวว่า ไม่ได้มีสัญญาณมาจากฝ่ายการเมืองหรือผู้มีอำนาจ เท่าที่ตนติดตามมาคือสัญญาณชัดๆ จาก ส.ว. มาจากความรู้สึกนึกคิดของพวกเรากันเอง เท่าที่ดูพบว่าจะไม่รับร่างแรงพอสมควร

แม้จะผ่านไปได้แต่รู้สึกว่าจะไม่ได้ใช้ เพราะยังมีขั้นตอนที่นายกฯ ต้องรอ 5 วัน และต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน อีกทั้งมีขั้นตอนการทูลเกล้าฯอีก เชื่อว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 30-60 วัน และการเมืองตอนนี้มีความเปลี่ยนแปลงแรงพอสมควร จึงคิดว่าแม้ผ่านวาระ 3 แต่ไม่ทันใช้ อาจไปติดที่อื่นหรือที่ศาลรัฐธรรมนูญ

เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ ส.ว.แทบไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกัน โดยเฉพาะในชั้นกมธ.เป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ และระยะเวลาที่ผ่านไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่อง จึงเชื่อว่าการแก้ไขเป็นความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง เกิดแรง กระเพื่อมในพปชร. และพรรคภูมิใจไทย ก็ไม่เอาด้วยตั้งแต่ต้น หลายส่วนอาจทำให้เกิดการสะดุดและหยุดชะงัก

พีระศักดิ์ยันให้ผ่าน

นายพีระศักดิ์ พอจิต ส.ว. ให้สัมภาษณ์ว่า ส่วนตัวรับร่างในวาระ 1 และ 2 ฉะนั้นรับร่างวาระ 3 อยู่แล้ว เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับความมั่นคง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์และยุทธศาสตร์ชาติ แต่เป็นเรื่องบัตรเลือกตั้งและเขตเลือกตั้ง ตนเคารพเสียงส.ส.ส่วนใหญ่ว่าอย่างไร ส.ว.ก็น่าจะไปทางนั้น โดยส.ว.ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ หรือไม่ว่าจะเป็นส.ส.เขต 350 คน หรือ 400 คน

เมื่อถามว่าจะมีการพูดคุยกับส.ว.อีกหรือไม่ นายพีระศักดิ์กล่าวว่า อย่างเป็นทางการไม่น่าจะมี แต่หารือกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนจะพอมีบ้าง แต่ตนยึดหลักว่าไม่ได้เกี่ยวกับภาพรวมของประเทศอะไรมากมาย เราต้องเคารพความเห็นของส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เมื่อถามกรณี ส.ว.บางคนมีแนวโน้มว่าอาจไม่รับร่าง นายพีระศักดิ์กล่าวว่า “เรื่องของเขา ก็แล้วแต่ละคน”

ปชป.อ้างแก้ให้เป็นปชต.

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการโหวตร่างแก้ไขรัฐ ธรรมนูญ วาระ 3 ว่า ตนได้นัดประชุม ส.ส. รัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องวันที่ 7 ก.ย.นี้ เวลา 13.30 น. เพื่อเตรียมความพร้อมการพิจารณาเพื่อลงมติวาระสาม ในส่วนปชป.ให้ความเห็นชอบตั้งแต่วาระรับหลักการจนถึงวาระ 2 ไม่ใช่เพราะเป็นร่างที่พรรคเสนอ แต่เป็นเพราะการแก้ไขครั้งนี้จะช่วยทำให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น

ถึงแม้แก้ไขเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ส.ส. มองโดยทั่วไปดูเหมือนว่า ส.ส.แก้เพื่อประโยชน์ตัวเอง แต่เมื่อมองอย่างถี่ถ้วนจะเห็นว่าการแก้ไขครั้งนี้เพื่อประโยชน์ของประชาชน เพราะการเลือกตั้งแบบเดิมใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว เลือกทั้ง ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อไปพร้อมกัน แต่เมื่อแก้แล้วจะใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ เลือก ส.ส.เขต 1 ใบ ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือเลือกพรรคอีก 1 ใบ เท่ากับเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงเจตจำนงในการเลือกตั้งได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีข้อจำกัด เปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเพิ่มมากขึ้น ที่บางฝ่ายวิตกบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบนั้น ควรมองเรื่องหลักการพื้นฐานเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยระยะยาว มากกว่าคิดถึงประโยชน์จากการเลือกตั้งเฉพาะหน้าเท่านั้น

พปชร.บอกขึ้นอยู่กับส.ว.ลงมติ

ที่รัฐสภา นายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้า พปชร. ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ถึงการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ในส่วนส.ว.ต้องดูท่าทีก่อน รัฐบาลยังมั่นใจอยู่หรือไม่ว่า เราก็ผ่านมาและยืดมาหลายครั้ง เราตั้งใจและคิดว่าน่าจะผ่าน แต่ถ้าไม่ผ่านก็อยู่ที่ส.ว.จะกรุณา เมื่อถามว่าทำไมช่วงหลังกระแสส.ว.ดูไม่มั่นใจ นายวิรัชกล่าวว่า เท่าที่อ่านข่าวมาก็เห็นนายวันชัย ออกมาแสดงความคิดเห็นคนเดียว ส่วนส.ว.คนอื่นยังไม่เห็นมีท่าทีอะไร

อึกอักลงดาบพรรคเล็ก

ส่วนกรณีพรรคเล็กโหวตลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ นายวิรัชกล่าวว่า คงต้องหาเวลาและหาโอกาสหารือร่วมกันในส่วนที่อยู่ร่วมรัฐบาลว่าเป็นอย่างไร คิดว่าคงมีเหตุผล ต้องรอสอบถามเขาก่อน ส่วนจะถึงขั้นขับออกจากพรรคร่วมรัฐบาล คงไม่มีการดำเนินการแบบนั้นเพราะยังไม่ได้คุยกันและตนไม่มีอำนาจดำเนินการ ต้องให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นผู้พิจารณา เมื่อถามว่าหากไม่มีการลงโทษหรือลงโทษเบาไปจะเป็นบรรทัดฐานต่อไปหรือไม่ นายวิรัชกล่าวว่า คงต้องดูกันอีกที

เมื่อถามว่าต้องเชิญมาทำความเข้าใจกันหรือไม่ นายวิรัชกล่าวว่า ต้องขอโอกาสคุย แม้กระทั่งพปชร. ซึ่งมาตรวจรายละเอียดแล้วยังมี 1 คน ที่ไม่ได้โหวตไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อถามถึงกรณี น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร.งดลงคะแนนให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข นายวิรัชกล่าวว่า คงต้องถามพล.อ.ประวิตรว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร

พท.ยอมรับมีความเสี่ยง

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ที่มีกระแสข่าวโหวตคว่ำว่า เป็นกระแสข่าว 2 ทาง ทางหนึ่งว่าจะโหวตคว่ำ อีกทางว่าทำได้ ไม่มีอะไรแน่นอน เราจะดูว่าเขาใช้หลักคิดอะไร ตอนนี้มีแค่เหตุผลส่วนตัวว่าบัตร 2 ใบ ดีหรือไม่ดี อย่างไร ส่วนเหตุผลทางการเมืองคือจากเดิมใส่เสื้อไซซ์เอส แต่พอคิดว่าวันหน้าจะใหญ่เลยไปใส่ไซซ์แอล สุดท้ายใส่ไม่ได้ก็ต้องกลับมาใส่ไซซ์เอส หากคิดถึงข้อดีข้อเสียของบัตร 2 ใบ ทางหลักวิชาการ รวมทั้งความต้องการของประชาชนก็น่าจะผ่าน แต่ถ้าไม่ยึดหลักก็เสี่ยง

เมื่อถามกรณีรัฐบาลจะฟ้องร้องฝ่ายค้านหลังการอภิปราย นายสุทินกล่าวว่า ยังไม่รู้ว่าจะมีฟ้องใครบ้าง ขณะที่เราเองก็มีการเตรียมการจะฟ้องร้องในข้อที่ติดใจเช่นกัน ส่วนกรณีรัฐบาลจะฟ้อง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หลังการอภิปรายนั้นเราไม่หนักใจและพร้อมพิสูจน์อยู่แล้ว

เชือดฝ่ามติ – นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย และ น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษก ร่วมแถลงกรณีส.ส.ไม่เข้าร่วมประชุมในวันลงมติและส.ส.ที่ลงมติสวนกับมติพรรค โดยให้ชี้แจงภายในวันที่ 10 ก.ย.และจะส่งข้อสรุปให้คณะกรรมการบริหารดำเนินการต่อไป เมื่อวันที่ 6 ก.ย.

พท.ขีดเส้น 7 ส.ส.แหกมติชี้แจง

เวลา 13.00 น. ที่ทำการ พท. คณะกรรมการวินัยและจริยธรรมพรรค และคณะกรรมการกลั่นกรองการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประกอบด้วย นายชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการวินัยฯ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค นายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรค ในฐานะคณะกรรมการกลั่นกรอง

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค นายวิสุทธิ์ ไชยณรุน ประธาน ส.ส.พรรค นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน ร่วมประชุมเพื่อพิจารณาเอาผิดกรณี 7 ส.ส.โหวตฝ่าฝืนมติพรรค รวมถึงกรณีมี ส.ส.ที่กล่าวหาให้ร้ายพรรคด้วย โดยใช้เวลาหารือนาน 2 ชั่วโมง

นายประเสริฐ แถลงว่า 1.กรณีส.ส.ไม่เข้าร่วมประชุมในวันลงมติ 3 คน และ ส.ส.ที่ลงมติสวนกับมติพรรคนั้น คณะกรรมการให้ ส.ส.ทั้งหมดมาชี้แจงภายในวันที่ 10 ก.ย. 2.หลังจากคณะกรรมการได้ฟังคำชี้แจงแล้วจะสรุปสัปดาห์หน้า เพื่อส่งให้คณะกรรมการบริหารต่อไป และ 3.ระหว่างหาข้อสรุปให้ส.ส.ทั้งหมดงดการเข้าร่วมกิจกรรมของพรรคจนกว่าจะได้ข้อยุติ

ชี้โทษตักเตือนยันขับออก

เมื่อถามว่ามี ส.ส.เข้ามาชี้แจงต่อพรรคบ้างแล้วหรือไม่ นายประเสริฐกล่าวว่า มีอยู่คนเดียวที่แจ้งไม่เข้าร่วมประชุม คือนายวุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส.นครนายก ที่ติดโควิด ส่วนนายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลฯ เข้ามาชี้แจงแล้วว่ากดบัตรแล้วไฟไม่ขึ้น ซึ่งอ้างพยานที่เห็นเหตุการณ์ก็พอฟังได้ แต่ต้องชี้แจงรายละเอียดต่อคณะกรรมการอีกครั้ง อีกคนที่เข้ามายื่นเอกสารคือ นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ แต่ไม่เข้าพบใคร ดังนั้นต้องเรียกเจ้าตัวเข้ามาชี้แจงต่อหน้าคณะกรรมการอีกครั้ง ส่วนวันที่ 7 ก.ย. นายธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษ จะเข้ามาชี้แจง

นายสุทินกล่าวว่า มีผู้ส่งคำชี้แจงเข้ามาบ้างแล้วเมื่อพิจารณาดูกลุ่มก้อนความผิดมีตั้งแต่ขับออก ตัดสิทธิการลงสมัครเลือกตั้งครั้งหน้า และว่ากล่าวตักเตือน ซึ่งสัปดาห์หน้าจะได้ข้อสรุป ส่วนสัปดาห์นี้ขอพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติม แม้ ส.ส.จะแจ้งว่าไม่เข้าประชุมด้วย เหตุใดก็ตาม คณะกรรมการต้องดูข้อมูลเชิงลึกและดูพฤติกรรมย้อนหลังประกอบ

นายวิสุทธิ์กล่าวว่า กรณีที่มี ส.ส.กล่าวหาพรรคให้เกิดความเสียหายพรรคต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง ส่วนที่ป่วยจริง ป่วยปลอมพรรคสามารถพิสูจน์ได้เพราะมีคุณหมออยู่หลายคน

ชูวิทย์ปัดงูเห่า-กดปุ่มไฟไม่ขึ้น

ที่รัฐสภา นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลฯ พท. แถลงกรณีไม่ปรากฏชื่อลงมตินายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯว่า วันนี้ตนมายื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภา เพื่อยืนยันการลงมติ 4 ก.ย. ได้ทำหน้าที่ฝ่ายค้านในการลงมติเห็นด้วยคือไม่ไว้วางใจ ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จนถึงนายเฉลิมชัย ตามมติพท. ขณะที่กดปุ่มเห็นด้วย เข้าใจว่าลงมติเรียบร้อยแล้วแต่ผลลงมติไม่ปรากฏชื่อตน ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าตนเป็นงูเห่า

ยืนยันตนยืนข้างประชาชนในการเป็นผู้แทนราษฎรฝั่งประชาธิปไตยมาโดยตลอด คงเป็นระบบที่ผิดพลาด วิธีการลงคะแนนด้วยการยกมือนับ เป็นวิธีที่ง่าย สะอาดและโกงยากที่สุด หลังยื่นหนังสือที่สภาแล้วจะเดินทางไปพท.เพื่อชี้แจงให้รับทราบว่าตนทำหน้าที่แล้วแต่มีความผิดพลาด

จาตุรงค์อ้างป่วยเข้าร.พ.

ขณะที่ นายจาตุรงค์เดินทางมาที่พรรคเพื่อมอบเอกสารหลักฐานทางการแพทย์ ชี้แจงสาเหตุไม่ร่วมลงมติเมื่อ 4 ก.ย. โดยยื่นเอกสารต่อตัวแทนเลขาฯ พรรค พร้อมแสดงหลักฐานทางการแพทย์ว่าช่วงอภิปรายอยู่ทำหน้าที่จนดึกดื่น อาการไม่สู้ดีนักมาตั้งแต่ 1 ก.ย.ต่อเนื่อง 2 ก.ย.จนเช้า 3 ก.ย.อาการยังไม่ดีขึ้น จึงไปร.พ.วชิรพยาบาล พบความดันสูงถึง 160/88 แพทย์วินิจฉัยว่ามีโรคหัวใจไมตรัลรั่วเล็กน้อย กล้ามเนื้อหัวใจหนา จากความดันโลหิตสูง ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล ความดันสูง หน้าแดง

แพทย์กังวลว่าอาการไม่ค่อยดีหากออกไปอาจน็อกได้ เพราะหัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น จึงไม่ได้ไปร่วมลงมติ ส่วนที่ไม่ได้แจ้งกับทางพรรคก่อน เนื่องจากอาการมันปุ๊บปั๊บมาก ต้องกราบขออภัยพี่น้องประชาชน หัวหน้าพรรค ที่ไม่ได้ไปลงมติ

3 ส.ส.ส่อถูกขับพ้นพรรค

สำหรับ 7 ส.ส. พท.ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนมติพรรค ไม่ลงคะแนนตามแนวทางพรรค ประกอบด้วย 1.นายชัยยันต์ ผลสุวรรณ์ ส.ส.ปทุมธานี 2.นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ 3.นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส.นครนายก

4.นายธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษ 5.นางพรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี 6.นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ 7.นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลฯ

เบื้องต้นคณะกรรมการจริยธรรม และคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พิจารณาแล้วเห็นว่ามีอย่างน้อย 3 ราย มีแนวโน้มอาจถูกขับออกจากพรรค เนื่องจากมีหลักฐานค่อนข้างชัดเจน ได้แก่ 1.นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ ที่มีทีท่าจะย้ายไปอยู่ ภท.

2.นางพรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี ที่ลงคะแนนสวนมติพรรคหลายครั้ง 3.นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ ที่ต่อว่าและให้ร้ายพรรคในการอภิปรายรอบล่าสุด แต่คงต้องรอฟังคำชี้แจงจากส.ส.ที่ถูกกล่าวหาทุกรายก่อน

‘ชาญชัย’ปธ.ศาลปกครองสูงสุด

ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภาเห็นชอบให้ นายชาญชัย แสวงศักดิ์ รองประธานศาลปกครองสูงสุด ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดซึ่งขั้นตอนต่อไปนายกฯ จะนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป

ทั้งนี้ ตามมาตรา 15/1 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 กรณีดังกล่าว สืบเนื่องมาจากเมื่อ 17 ก.พ.64 คณะกรรมการตุลาการศาลปกครองมีมติคัดเลือกนายชาญชัย ให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด ตั้งแต่ 27 ก.ย.64 เป็นต้นไป เนื่องจากนายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุดคนปัจจุบันจะครบวาระ 26 ก.ย.นี้

ผลงานคดีที่สำคัญของนายชาญชัย เป็นตุลาการเจ้าของสำนวนในคดีหมายเลขแดงที่ อ.349/2549 ระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ร้อง กับบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ผู้คัดค้าน และคดีหมายเลขแดง ที่ อ.33/2557 ระหว่าง นายถวิล เปลี่ยนศรี ผู้ฟ้องคดี กับนายกฯ ผู้ถูกฟ้องคดี

ชงครม.ไม่ทัน 7ก.ย.-ตั้งเลขาฯสมช.

พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสมช. สัมภาษณ์กรณีการเสนอชื่อเลขาฯสมช. คนใหม่ให้ครม. พิจารณาเห็นชอบ จะเข้าทันภายใน 7 ก.ย.หรือไม่ว่า ยัง ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการด้านเอกสาร ระหว่างสมช.และกลาโหม ยังมีขั้นตอนเพราะเป็นนายทหารผู้ใหญ่ จึงต้องมีขั้นตอนเรื่องการโปรดเกล้าฯ ซึ่งมากกว่าทั่วไป ต้องใช้เวลาสักระยะ

ปชป.ทาบคนนอกชิงผู้ว่าฯกทม.

สำหรับการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งส.ก. และผู้ว่าฯ กทม ในส่วนปชป. แกนนำได้พูดคุยและเจรจากับบุคคลภายนอก 2-3 คน มาระยะหนึ่งแล้ว ล้วนเป็นระดับผู้บริหารองค์กร ที่สังคมยอมรับในวงกว้าง หนึ่งในนั้นมีชื่อ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่แกนนำพรรคสนใจค่อนข้างมาก ขณะเดียวกัน นายสุชัชวีร์ ก็สนิทสนมกับสมาชิกพรรคบางส่วนด้วย

ส่วนอีก 2 คน เป็นผู้บริหารในภาคธุรกิจ ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับปชป.มานาน แต่คณะผู้บริหารพรรคยังไม่ตัดสินใจจะเลือกใครลงสมัคร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน