ครม.ช่วยรอบ2
อนุมติ4.2พันล.
ซื้อเพิ่มซิโนแวค

ครม.อนุมัติ 4.2 พันล้านบาทซื้อเพิ่มซิโนแวคอีก 12 ล้านโดส ขยายวงเงินช่วยนายจ้าง-ลูกจ้าง ม.33 ใน 29 จังหวัดเพิ่ม1.79 หมื่นล้าน อนุมัติอีก 1.6 หมื่นล้านเยียวยา 13 จังหวัดต่อ 1 เดือน สธ.คาดร่างพ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับใหม่ทันใช้สิ้นก.ย. หลังไม่ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แย้มให้อำนาจ คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ ยกระดับควบคุมโรคติดต่อฉุกเฉินได้ทันที มีนายกฯ สั่งการ สั่งเคอร์ฟิว ปิดกิจการได้ ‘เอทีเค’ 3 ล้านชุดล็อตแรกจากจีนถึงไทยแล้ว 15 ก.ย. ดีเดย์กระจายให้ทั่วประเทศ ศบค.แถลงติดเชื้ออีก 13,821 หมื่นราย ตาย 241 ราย แต่อาการโคม่าใส่เครื่องช่วยหายใจลด 985 ราย ติดเชื้อเกิน 100 รายเหลือ 29 จังหวัด น้อยกว่า 20 รายเพิ่มขึ้นเป็น 16 จังหวัด เครือมติชนมอบ PETE เปลปกป้อง ให้ร.พ.สนามธรรมศาสตร์ คุ้มกัน ด่านหน้าสู้โควิด

โควิดรายวัน 13,821-ตาย 241

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์โควิด-19 ประจำวัน ว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 13,821 ราย สะสม 1,308,343 ราย หายป่วย 16,737 ราย สูงกว่าติดเชื้อใหม่ หายสะสม 1,149,595 ราย เสียชีวิต 241 ราย สะสม 13,283 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 145,465 ราย อยู่ในร.พ. 42,371 ราย ร.พ.สนามและอื่นๆ 103,094 ราย มีอาการหนัก 4,487 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 985 ราย

ภาพรวมผู้ติดเชื้อวันนี้มาจาก กทม.และปริมณฑลสูงสุด 6,388 ราย ส่วน 67 จังหวัดรวมกัน 6,156 ราย 4 จังหวัดภาคใต้ 753 ราย เรือนจำ 518 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศมี 6 ราย ได้แก่ แทนซาเนีย 1 ราย เมียนมา 3 ราย มาจากช่องทางธรรมชาติทั้งหมด และมาเลเซีย 2 ราย เข้ามาช่องทางธรรมชาติ 1 ราย

ผู้เสียชีวิต 241 ราย มาจาก 40 จังหวัด ได้แก่ กทม. 85 ราย (เป็นรายงานหลังเสียชีวิตเกิน 7 วัน 17 ราย), ชลบุรี 24 ราย, สมุทรสาคร 20 ราย, สมุทรปราการ 11 ราย, สุพรรณบุรี 9 ราย, ปทุมธานี นราธิวาส จังหวัดละ 8 ราย, นครปฐม นนทบุรี ฉะเชิงเทรา จังหวัดละ 6 ราย, บุรีรัมย์ ตาก จังหวัดละ 4 ราย, เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ระนอง เพชรบุรี กาญจนบุรี จังหวัดละ 3 ราย, ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด ชุมพร นครศรีธรรมราช ภูเก็ต ยะลา อ่างทอง สระแก้ว สระบุรี ระยอง ลพบุรี ตราด จังหวัดละ 2 ราย และ สุรินทร์ อุบลราชธานี พิษณุโลก กำแพงเพชร อุทัยธานี ปัตตานี ปราจีนบุรี จันทบุรี สิงห์บุรี ประจวบคีรีขันธ์ และราชบุรี จังหวัดละ 1 ราย

ผู้เสียชีวิตเป็นชาย 133 ราย หญิง 108 ราย อายุ 22-100 ปี ค่ากลางอายุ 68 ปี โดยเป็น ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 169 ราย คิดเป็น 70% อายุต่ำกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 39 ราย คิดเป็น 16% รวม 2 กลุ่มนี้สูง 86% อายุน้อยกว่า 60 ปีไม่มีโรคเรื้อรัง 31 ราย คิดเป็น 13% หญิงตั้งครรภ์ 2 ราย จ.บุรีรัมย์ มาจากสมุทรสาครและจันทบุรี 0.8%

ภาพรวมติดเชื้อเกิน 100 รายมี 29 จังหวัด โดย 10 จังหวัดที่ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1.กทม. 3,997 ราย สะสม 305,380 ราย 2.สมุทรปราการ 1,140 ราย สะสม 88,224 ราย 3.ชลบุรี 718 ราย สะสม 68,321 ราย 4.สมุทรสาคร 694 ราย สะสม 79,785 ราย 5.ราชบุรี 439 ราย สะสม 20,557 ราย 6.ระยอง 357 ราย สะสม 20,798 ราย 7.พระนครศรีอยุธยา 311 ราย สะสม 22,537 ราย 8.นนทบุรี 249 ราย สะสม 46,249 ราย 9.ภูเก็ต 232 ราย สะสม 5,595 ราย และ 10.ปัตตานี 215 ราย สะสม 16,365 ราย

ฉีดวัคซีนแล้ว 36.6 ล้านโดส

สำหรับ 19 จังหวัดที่เหลือ ได้แก่ เพชรบูรณ์ 215 ราย, สระบุรี 201 ราย, นครปฐม 200 ราย, สงขลา 200 ราย, นราธิวาส 194 ราย, นครราชสีมา 186 ราย, กาญจนบุรี 182 ราย, ฉะเชิงเทรา 174 ราย, ชุมพร 173 ราย, สุรินทร์ 167 ราย, ยะลา 144 ราย, สุราษฎร์ธานี 141 ราย, ปราจีนบุรี 139 ราย, ลพบุรี 134 ราย, นครศรีธรรมราช 127 ราย, กระบี่ 121 ราย, จันทบุรี 110 ราย, ปทุมธานี 108 ราย และขอนแก่น 105 ราย

ขณะที่ติดเชื้อต่ำกว่า 20 ราย มี 16 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม 19 ราย, อำนาจเจริญ 19 ราย, น่าน 16 ราย, หนองบัวลำภู 14 ราย, สิงห์บุรี 13 ราย, มุกดาหาร 13 ราย, ชัยภูมิ 12 ราย, นครพนม 12 ราย, บึงกาฬ 11 ราย, เลย 10 ราย, พะเยา 9 ราย, แม่ฮ่องสอน 9 ราย, หนองคาย 8 ราย, อุทัยธานี 7 ราย, แพร่ 3 ราย และลำปาง 2 ราย

ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 วันที่ 6 ก.ย. ฉีดได้ 722,377 โดส สะสม 36,635,271 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 25,554,456 ราย คิดเป็น 50% ครบ 2 เข็ม 10,475,325 ราย และเข็มสาม 605,490 ราย

‘เอทีเค’ล็อตแรกถึงไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการจัดหาชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิต (เอทีเค) เพื่อแจกให้ประชาชนตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตัวเอง ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จัดซื้อ ยี่ห้อเล่อปู๋ (LEPU) 8.5 ล้านชุด ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นั้น

ล่าสุดชุดตรวจเอทีเค ล็อตแรก จำนวน 3 ล้านชุดกำลังลำเลียงโดยเครื่องบินเช่าเหมาลำ ออกจากปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน แล้ว โดยจะถึงประเทศไทยในวันนี้ เพื่อเตรียมแจกจ่ายให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ช่วงวันที่ 15 ก.ย.

แนะวิธีฉีดวัคซีนเด็ก 12-18 ปี

ด้านราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศ ไทย ได้ออกคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป (ฉบับที่ 2) ดังนี้ ฉีดวัคชีนที่ได้รับการรับรองให้ใช้ในเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป โดยองค์การอาหารและยา (อย.) เท่านั้น

ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 7 ก.ย.2564 มีเพียงชนิดเดียวคือ วัคซีนชนิด mRNA ของ ไฟเซอร์-ไบโอเทค, ฉีดวัคซีนในเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 16 ปีจนถึงน้อยกว่า 18 ปีทุกราย หากไม่มีข้อห้ามในการฉีด ทั้งเด็กที่ปกติแข็งแรงดีและที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคโควิดรุนแรง เพราะเป็นกลุ่มอายุที่กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และมีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มากเพียงพอ

สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปจนถึงน้อยกว่า 16 ปี แนะนำให้ฉีดวัคซีนในกรณีเป็นผู้ป่วยเด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรัง ซึ่งจะทำให้เกิดโรคโควิด-19 รุนแรง ดังต่อไปนี้

1.บุคคลที่มีโรคอ้วน (ดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือมีน้ำหนัก 70 กิโลกรัมขึ้นไปในเด็กอายุ 12-13 ปี น้ำหนัก 80 กิโลกรัมขึ้นไปในเด็กอายุ 13-15 ปี น้ำหนัก 90 กิโลกรัมขึ้นไปในเด็กอายุ 15-18 ปี หรือเด็กอ้วนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น)

2.โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งโรคหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง 3.โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง 4.โรคไตวายเรื้อรัง 5.โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ 6.โรคเบาหวาน 7.กลุ่มโรคพันธุกรรมรวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า

แนะนำให้งดออกกำลังกายอย่างหนักหรือการทำกิจกรรมอย่างหนักเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ภายหลังจากการฉีดวัคซีน เนื่องจากมีรายงานการเกิดผลข้างเคียงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ภายหลังการฉีดวัคซีนชนิด mRNA แม้พบในอัตราที่ต่ำมาก

อนุมัติ 4.2 พันล.ซื้อซิโนแวคอีก

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติงบประมาณ 4,254 ล้านบาท จัดซื้อวัคซีน ซิโนแวค 12 ล้านโดส เพื่อรองรับการฉีดวัคซีนสูตรผสม ระหว่างซิโนแวคกับแอสตร้าเซนเนก้า เพิ่มเติม ที่ได้รับการยืนยันว่าปลอดภัยและสร้างภูมิคุ้มกันได้ระดับดีมาก

นายธนกรกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม สั่งการในที่ประชุม 2 เรื่องหลัก โดยเร่งกระทรวงศึกษาธิการจ่ายเงินเยียวยาผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด รายละ 2,000 บาท โดยเร็วที่สุด ซึ่งโอนไปแล้วกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ และสั่งการให้กระทรวงการคลัง ทบทวนเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง โดยให้เสนอมาตรการอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐมากขึ้น รวมทั้งเร่งสำรวจว่ามีกลุ่มใดที่ตกหล่นบ้าง

นายธนกรกล่าวต่อว่า ครม.อนุมัติให้สำนัก งานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ใน 9 กิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด เพื่อให้ครอบคลุมผู้ประกอบการและแรงงานในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ดังนี้

เยียวยาม.33 เพิ่ม 1.79 หมื่นล.

1.ขยายกรอบวงเงินจาก 17,050 ล้านบาท เป็น 17,912 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 862 ล้านบาท จากการปรับปรุงจำนวนนายจ้างและ ผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่ 29 จังหวัด โดยมีนายจ้างจำนวน 226,394 ราย เพิ่มขึ้น 18,900 ราย และผู้ประกันตน ม.33 จำนวน 3,877,936 ราย เพิ่มขึ้น 400,375 ราย ซึ่งเป็นผลจากการขยายเวลาให้นายจ้างในพื้นที่ 3 จังหวัดและ 16 จังหวัด สามารถขึ้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่ได้ภายในวันที่ 24 ส.ค. ทั้งนี้ ยังขยายระยะเวลาในการเบิกจ่ายและดำเนินโครงการฯ ถึงวันที่ 31 ธ.ค.นี้

2.อนุมัติเงิน 16,103 ล้านบาท ช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตน ม.33 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด เพิ่มเติม 1 เดือน (สิงหาคม) แบ่งเป็น 1.ช่วยเหลือนายจ้างจำนวน 194,660 ราย โดยจ่ายให้ 3,000 บาท ต่อจำนวนลูกจ้างไม่เกิน 200 คน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 7,257 ล้านบาท 2.ช่วยเหลือผู้ประกันตนตาม ม.33 สัญชาติไทย จำนวน 3,538,530 คน โดยจะจ่ายให้ 2,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นจำนวนเงิน 8,846.3 ล้านบาท โดยจะเริ่มโอนเงินเยียวยาภายในเดือนก.ย.นี้

นายธนกรกล่าวว่า ครม.ยังอนุมัติวงเงินเพิ่มเติมจำนวน 16,965 ล้านบาท จากเดิมที่อนุมัติไปแล้ว เมื่อวันที่ 10 ส.ค. จำนวน 17,050.4 ล้านบาท ทำให้โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 ใน 9 กิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ที่ประกอบด้วยการให้ความช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตน ม.33 ในพื้นที่ 13 จังหวัดในระยะเวลา 2 เดือน (ก.ค.-ส.ค.) และในพื้นที่ 16 จังหวัด ระยะเวลา 1 เดือน (ส.ค.) มีกรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 34,015 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมครม.ห่วงใยกลุ่มผู้ขับแท็กซี่และกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม จัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อช่วยเหลือเยียวยากลุ่มผู้ขับแท็กซี่ และกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 เนื่องจากมีคุณสมบัติอายุเกินที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดไว้ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างครอบคลุมด้วย

‘บิ๊กตู่’ยังคุมแก้โควิด

นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขร่างพ.ร.บ.โรคติดต่อ ว่า ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.โรคติดต่อถูกส่งไปที่กฤษฎีกาแล้ว และยังไม่ได้แก้ไขกลับเข้าครม. เบื้องต้นรายละเอียดของกฎหมายจะมีการออกแบบกฎหมายที่จะถูกใช้แบบกระชับมากขึ้น ใช้ในกรณีโรคติดต่อร้ายแรงหรือฉุกเฉินไม่กระทบสิทธิประชาชน เพราะปัจจุบันที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถาน การณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น อาจมีบางคนที่ไม่สบายใจ

เมื่อถามว่า จุดอ่อนของพ.ร.บ.โรคติดต่อที่ใช้อยู่ คือ การประสานหน่วยงานอื่นๆ ฉบับใหม่จะปิดจุดอ่อนอย่างไร นายสาธิตกล่าวว่า จะมีการแก้ไขให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีอำนาจมากขึ้นในการกำกับนโยบาย แต่ พ.ร.บ.โรคติดต่อ จะมีอำนาจมากขึ้นในการกำกับนโยบายให้ฝ่ายพื้นที่ได้ปฏิบัติ ก่อนหน้านี้อาจจะมีปัญหาว่าจังหวัดนั้นทำอย่างนั้น จังหวัดนี้ทำอย่างนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวก็จะใช้อำนาจของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ในระดับนโยบายไปทำเรื่องควบคุมโรคที่ตรงกัน ปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนจะเข้าครม. เมื่อไรยังไม่ทราบ ต้องรอกฤษฎีกา

แหล่งข่าวจากสธ. ระบุว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไขจะให้อำนาจคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เหมือนกับอำนาจหน้าที่ของศบค.ในปัจจุบัน โดยยามปกติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติที่มีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน แต่เมื่อไรที่ประเทศ ไทยมีการระบาดของโรคระบาดและนายกรัฐมนตรีมีการประกาศให้โรคนั้นเป็นโรคติดต่ออันตราย หรือโรคติดต่อฉุกเฉิน

คณะกรรมการโรคติดต่อฯจะถูกยกระดับทันทีแบบอัตโนมัติ มีอำนาจในการสั่งควบคุมป้องกันโรค สั่งเคอร์ฟิว สั่งปิดกิจการต่างๆ ได้ โดยไม่ต้องอาศัยการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และไม่ต้องตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมการที่คล้ายกับศบค.ขึ้นมาใหม่ แต่ตั้งคณะทำงานต่างๆ เพิ่มเติมได้ มีนายกฯ เป็นผู้สั่งการ

คาดว่าร่างพ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับใหม่นี้น่าจะออกแล้วเสร็จ และบังคับใช้ภายในก.ย.นี้ เพราะว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีการประกาศล่าสุดจะมีอายุการใช้งานถึงสิ้น ก.ย.นี้ และทางรัฐบาลไม่อยากจะประกาศต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก

เที่ยวสมุยยังคึกคัก

ด้านศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี รายงานตัวเลขยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวเกาะสมุย โดยล่าสุด นักท่องเที่ยวต่างชาติจากโครงการ “สมุย พลัส โมเดล” เดินทางด้วยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส จากสนามบินสุวรรณภูมิลงเกาะสมุย 2 เที่ยวบิน 17 คน นักท่องเที่ยวสะสมจำนวน 621 คน และจากสนามบินภูเก็ตลงเกาะสมุย จำนวน 45 คน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวจากโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” จำนวน 16 คน นักท่องเที่ยวสะสมจำนวน 388 คน และภูเก็ตเอ็กซ์เท็นชั่น (7+7) จำนวน 29 คน นักท่องเที่ยวสะสมจำนวน 49 คน

ขณะที่สสจ.สุราษฎร์ธานี รายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิดใหม่ มีจำนวน 126 คน จำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเกาะสมุย 2 คน (ร่วมบ้าน 1 คน และร่วมกิจกรรม 1 คน)

พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผอ.รักษาความมั่นคงภายในภาค 4 สั่งการให้เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ภาค 4 พื้นที่เกาะสมุย นำกำลังออกตรวจตราและดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ บนเกาะสมุย

ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว โดยบรรยากาศที่หาดเฉวง ต.บ่อผุด แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเกาะสมุย มีการนำธงผ้ามาประดับสร้างสีสันให้สวยงาม และมีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติออกมาพักผ่อนบนชายหาด ถ่ายรูป เดินตามหาดทราย เล่นน้ำทะเล และซื้ออาหารไปนั่งรับประทานกันคึกคัก

รมต.ยันลุยแซนด์บ็อกซ์ต่อ

ส่วนสสจ.ภูเก็ตรายงานว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 232 ราย รายละเอียดผู้ติดเชื้ออยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่ไม่ได้มาจากต่างประเทศ หรือภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ส่วนผู้เสียชีวิตมี 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 77 ปี กลุ่ม 608 ประวัติได้รับวัคซีนแล้ว 2 เข็ม กักตัวที่ศูนย์ดูแล โควิด-19 ชุมชน

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิพัฒน์ รัชกิจประ การ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ให้สัมภาษณ์กรณีพบผู้ติดเชื้อโควิดที่ จ.ภูเก็ต จำนวน 900 รายว่า เป็นคนที่อยู่ในแคมป์ เป็นชุมชนที่มีการปิดล้อม ไม่ได้ออกมาอยู่ข้างนอก

เมื่อถามว่าผู้ติดเชื้อจำนวน 900 ราย ถือว่าเยอะมากและจะส่งผลต่อนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาหรือไม่ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า น่าจะแยกออกจากกันได้ และเรายังคงเดินหน้าภูเก็ตแซนด์ บ็อกซ์ ต่อไป และจะขยายไปในพื้นที่อื่นๆ ตามไทม์ไลน์ที่นายกฯบอกไว้

9 ไกด์ฆ่าตัว-เครียดตกงาน 2 ปี

ด้านสสจ.สงขลา เปิดเผยว่า พบผู้ป่วยใหม่ 200 ราย ยอดสะสม 21,995 ราย เสียชีวิต 125 ราย พบในกลุ่มสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน 140 ราย กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน 23 ราย กลุ่มรอการสอบสวน 21 ราย กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในร้านค้าและบริษัท 11 ราย

นายวิทยา ลิ่ม อดีตนายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพ จ.สงขลา กลุ่มมัคคุเทศก์อาชีพ อ.หาด ใหญ่ จ.สงขลา แจกข้าวสารถุงละ 5 กิโลกรัม 160 ถุง ที่ได้รับการบริจาคจากนักท่องเที่ยวสายบุญในรัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย ผ่านทางศาลเจ้าจี้กงคลองปอม ให้กับบรรดามัคคุเทศก์หรือไกด์ อ.หาดใหญ่ ที่ต้องตกงานมาเกือบ 2 ปี จากสถานการณ์โควิด โดยนายวิทยากล่าวว่า ไกด์ในอ.หาดใหญ่ มีประมาณ 600 คน ขณะนี้ตกงานทั้งหมดมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี ต้องอาศัยข้าวสารอาหารแจก แต่ละวันบางคนต้องติดตามทางโซเชี่ยลว่าจุดไหนมีการแจกสิ่งของบริจาคบ้างเพื่อไปรับมากิน

“มีไกด์ใน อ.หาดใหญ่ ที่ตกงานและเครียดถึงขั้นคิดสั้นฆ่าตัวตายแล้ว 9 คน หลังจากที่เดินทางกลับไปอยู่ตามภูมิลำเนาของตัวเองเช่นที่ ภูเก็ต อ.เบตง จ.ยะลา และที่กรุงเทพฯ มี 1 คน ที่กระโดดตึกฆ่าตัวตายที่ภูเก็ต ไม่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อ แต่จะรู้กันในกลุ่มไกด์ด้วยกัน บางคนกลับกรุงเทพฯและป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ต้องไปเป็นหัวขโมยและถูกจับกุม

ซึ่งเป็นเรื่องน่าหดหู่มาก จึงต้องการให้ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ลงมาช่วยเหลือกลุ่มไกด์ไม่เฉพาะที่หาดใหญ่ จังหวัดท่องเที่ยวทั่วประเทศ เพราะตกงานเหมือนกันหมด โดยเฉพาะเรื่องเงินเยียวยา และเรื่องการฉีดวัคซีนเพราะส่วนใหญ่ยังไม่ได้ฉีด แต่ก็ไกด์เป็นหนึ่งคนด่านหน้าเช่นกัน” นายวิทยากล่าว

งานศพเสิงสางลามแล้ว 23

ที่ สสจ.นครราชสีมา รายงานว่า พบผู้ป่วยใหม่ 175 ราย ในจังหวัด 120 ราย และอีก 55 รายมาจากนอกจังหวัด แม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะมีแนวโน้มลดลง แต่ยังมีหลายคลัสเตอร์ ที่ต้องจับตาเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ อ.สูงเนิน คลัสเตอร์ครอบครัว หมู่ 1 ต.มะเกลือใหม่, อ.จักราช คลัสเตอร์ ครอบครัว หมู่ 4 ต.จักราช, อ.โชคชัย คลัสเตอร์ บริษัท คาร์กิลมิทส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ต.กระโทก กับคลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่แห่งหนึ่งใน ต.ท่าเยี่ยม, อ.ปักธงชัย คลัสเตอร์โรงงานแปรรูปสุกร ส่วนที่ อ.ปาก ช่อง จะมีคลัสเตอร์พนักงานตัดไม้ การไฟฟ้า, คลัสเตอร์ฟาร์มเห็ด ต.พญาเย็น กับคลัสเตอร์โรงน้ำแข็งดำรงไทย อ.ปากช่อง

ที่อ.เสิงสาง มีคลัสเตอร์บ้านงานศพ หมู่ 4 ต.โนนสมบูรณ์ ที่เชื้อโควิด-19 แพร่ระบาดในกลุ่มผู้ที่มาร่วมงานศพ โดยผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นญาติเจ้าภาพที่มาร่วมงาน ในคลัสเตอร์นี้ 23 รายแล้ว ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอเสิงสางยังคงเฝ้าจับตา และค้นหาเชิงรุกนำกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดมาตรวจหาเชื้อ สกัดการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็ว

คลัสเตอร์ใหม่ – เจ้าหน้าที่ตรวจเชิงรุกนักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 27 อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ซึ่งเป็นโรงเรียนแบบกินนอน หลังพบครูและนักเรียนทยอยติดเชื้อมากถึง 353 คน กลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ต้องสั่งปิดโรงเรียนชั่วคราว เมื่อวันที่ 7 ก.ย.

ครู-นร.หนองคายป่วย 353

ที่ จ.หนองคาย มีรายงานว่า พบผู้ป่วยคลัสเตอร์ใหม่และใหญ่ เป็นครูและนักเรียน โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 27 ต.จุมพล อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย จากนักเรียน 2 รายติดเชื้อโควิด และมีแนวโน้มติดเชื้ออีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นโรงเรียนประจำแบบกินนอน มีนักเรียนอยู่รวมกันมากกว่าพันคน

จากนั้นทีมสอบสวนโรคจาก สสจ.หนองคาย และใกล้เคียง ทั้ง อ.โพนพิสัย, อ.ท่าบ่อ และ จ.อุดรธานี ได้เข้าทำการสอบสวนโรคและควบคุมโรค ในวันที่ 2-7 ก.ย. พบมีผู้ติดเชื้อรวม 353 ราย เข้ารับการรักษาที่ร.พ.โพนพิสัย 69 ราย และร.พ.สนาม จ.หนองคาย 284 ราย โดยจะเก็บตัวอย่างสว็อบ ตรวจอาร์ที-พีซีอาร์ จากกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงด้วย

ซึ่งจากการสอบสวนโรคคาดว่าสาเหตุมาจากมีเชื้อปนเปื้อนมากับสิ่งของที่ผู้ปกครองฝากเข้ามาให้นักเรียนและจากการที่มีนักเรียนจำนวนหนึ่งหลบหนีออกนอกโรงเรียนเข้าไปในพื้นที่ชุมชนที่มีผู้ติดเชื้อ

นายประเสริฐ ลือชาธนานนท์ ผวจ.หนองคาย ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ เบื้องต้นได้สั่งการให้ปิดโรงเรียนเป็นการชั่วคราวไว้ก่อน และบิ๊กคลีนนิ่งทั่วโรงเรียน กำชับให้ดูแลนักเรียนทุกคนให้ดีที่สุด ให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังโรคขั้นสูงสุด

15 ต.ค.ตราดดีเดย์เปิดเที่ยว

ด้านนายขจิตเวช แก้วน้อย นายอำเภอคลองใหญ่ จ.ตราด กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ของอำเภอคลองใหญ่ที่เกิดจากคลัสเตอร์โรงงานปลาโอนั้น ปัจจุบันมียอดสะสมจำนวน 685 ราย แต่ในเดือนก.ย. การแพร่ระบาดเริ่มลดลงเหลือวันละ 20 กว่าราย ซึ่งทางอำเภอคลองใหญ่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัดได้แล้ว

น.ส.วิยะดา ซวง รองประธานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจ.ตราด (สอท.ตราด) และผู้ประกอบการท่องเที่ยวในอำเภอคลองใหญ่ กล่าวว่า จากการที่อ.คลองใหญ่สามารถควบคุมโรค โควิดได้แล้ว ดังนั้นนโยบายของสภาอุตสาห กรรมท่องเที่ยวจ.ตราด ที่ผลักดันโครงการ Kohchang Together เพื่อเปิดท่องเที่ยวของจังหวัดในเฟสแรก ในวันที่ 15 ต.ค. ในพื้นที่เกาะช้างและหมู่เกาะ

ส่วนเฟส 2 จะเปิดในพื้นที่ชายฝั่งทั้งหมดและในวันที่ 1 ม.ค.2565 จะเปิดแบบรูปแบบ bubble and seal route กับจ.เกาะกง ประเทศกัมพูชา วันนี้ จ.เกาะกง จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงมาก เนื่องจากรัฐบาลได้เข้ามาฉีดวัคซีนแล้วกว่า 90% ซึ่งไม่น่าส่งผล กระทบต่อการท่องเที่ยวระหว่าง 2 จังหวัด ซึ่งเป้าหมายของสอท.ตราดที่จะเปิดการท่องเที่ยวระหว่าง 2 จังหวัด แต่จะเป็นผลดีที่จะทำให้จ.ตราดมีรายได้จากการท่องเที่ยวด้วย

ชลบุรีป่วยอีก718-ตาย7

สสจ.ชลบุรี รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 718 ราย รวมยอดสะสม 68,323 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 7 ราย ยอดสะสมผู้เสียชีวิตเป็น 441 ราย ยังพบผู้ติดเชื้อกระจายอยู่ 10 อำเภอ ซึ่งพบผู้ติดเชื้อที่มากที่สุดที่อำเภอ เมืองชลบุรี 265 ราย ศรีราชา 122 ราย บางละมุง 104 ราย บ้านบึง 50 ราย พานทอง 45 ราย สัตหีบ 41 ราย พนัสนิคม 51 ราย บ่อทอง 8 ราย เกาะจันทร์ 1 ราย หนองใหญ่ 2 ราย

สำหรับการติดเชื้อในวันนี้ส่วนมากก็ยังมาจากในสถานประกอบการ 61 แห่ง ตลาด 5 แห่ง แคมป์คนงานก่อสร้าง 10 แห่ง และชุมชน 4 แห่ง ที่พบการติดเชื้อวันนี้ก็มาจากเชื้อภายในครอบครัว 270 ราย จากสถานที่ทำงาน 136 ราย บุคคลใกล้ชิด 29 ราย

นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผวจ.ชลบุรี กล่าวว่า ทางจังหวัดเร่งฉีดวัคซีนให้กับบุคคลในกลุ่มเสี่ยง 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ 60 ขึ้นไป ผู้ป่วย 7 โรค และหญิงมีครรภ์ ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ให้ได้ตามเป้าหมาย 70% โดยทีมงานสาธารณสุขได้ลงพื้นที่ฉีดถึงบ้าน คาดว่าสิ้นเดือนก.ย. คงฉีดได้ครบ 70% เพื่อเปิดเมือง ในวันที่ 1 ต.ค.นี้

นพ.พีระ อารีรัตน์ นพ.สสจ.พระนครศรี อยุธยา กล่าวว่า พบผู้ติดเชื้อ 394 ราย เสียชีวิต 5 ราย ในส่วนของการฉีดวัคซีน ฉีดไปแล้ว 512,846 โดส

ด้านนายนิพนธ์ สุวรรณนาวา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์หอการค้าและสภาอุตสาหกรรม จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ได้ติดตามความคืบหน้าในโครงการหัวหิน รีชาร์จ ซึ่งตั้งเป้าหมายเปิดเมือง 1 ต.ค.2564 ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัว

ทั้งนี้อยากให้ ผู้เกี่ยวข้องศึกษาบทเรียนภูเก็ตแซนบ็อกซ์เปิดเพียงไม่นานก็ต้องปิดเมือง แม้พื้นที่เป็นเกาะสามารถควบคุมการเดินทางได้ดี แต่ปรากฏว่าพบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และเมื่อย้อนกลับมาดูสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ พบว่า อ.หัวหิน ติดเชื้อโควิดมากที่สุดในจังหวัดและยังพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง หัวหินยังไม่พร้อม 100% ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน ผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหารส่วนใหญ่

ซึ่งจำเป็นต้องปรับตัวให้มีมาตรฐาน ต้องใช้งบลงทุนเพื่อรับนักท่องเที่ยว ภาครัฐยังไม่พร้อมในการใช้กฎหมายควบคุม ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีทุนสูงจะมีอานิสงส์โดยตรง จากการเปิดเมืองดังกล่าว อีกทั้งจ.ประจวบฯ มีชายแดนติดกับประเทศเมียนมา ยาวกว่า 200 กิโลเมตร เสี่ยงต่อการเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ จากแรงงานหลบหนีเข้าเมือง เพื่อไปทำงานในโรงงานสับปะรดหรือแคมป์คนงานก่อสร้าง

มหาชัยย้ำคุมเข้มถึงปีใหม่

ที่สสจ.สมุทรสาคร รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่จำนวน 695 ราย และผู้เสียชีวิต 15 ราย โดยนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผวจ.สมุทรสาคร กล่าวย้ำว่า แม้สถานการณ์การระบาดโควิด มีแนวโน้มดีขึ้น แต่จากการคาดการณ์ของนักวิชาการหลายคนที่บ่งชี้ว่าจะมีการกลับมาแพร่ระบาดอย่างหนักอีกครั้งในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้านี้

จึงขอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาครยังคงต้องร่วมกันรักษาและคงสภาพศูนย์ดูแลผู้ติดเชื้อทุกแห่งให้อยู่ต่อไป ทั้งร.พ.สนาม หรือศูนย์ห่วงใยคนสาคร, ร.พ.สนามสีเหลือง, ศูนย์พักคอยคนสาคร และศูนย์กักกันผู้ติดเชื้อในสถานประกอบการ โดยจะต้องให้อยู่ต่อไปถึงในช่วงปีใหม่ 2565 เพื่อพร้อมรับกับการแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้น

นอกจากนี้นายวีระศักดิ์ยังโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยว่า “เราต้องการความสำเร็จที่ยั่งยืน หากดูจากตัวเลขแม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะลดลง เหมือนการ “พลิกฟื้นสมุทรสาคร” จะประสบความสำเร็จ แต่เรารู้ดีว่า ความสำเร็จทั้งหมดมาจากความขาด แคลนทั้งสิ้น เราไม่มีเงิน ไม่มีคน ไม่มีวัคซีน ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ ไม่มีสถานที่ ไม่ได้รับการสนับสนุน ฯลฯ เพราะปัญหามันใหญ่มากเกิน แต่ใจเรายังไม่ยอมแพ้ ใจเรายังไม่ยอมขาดแคลน เราจะไม่ยอมใช้ความขาดแคลนเป็นข้ออ้างโดยเด็ดขาด

21ก.ย.ฉีดเด็กกลุ่มเสี่ยง

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ได้เตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกให้กับนักเรียนกลุ่มเสี่ยงสังกัดกทม. โดยประชาสัมพันธ์แจ้งโรงเรียนในสังกัด ทั้ง 437 โรงเรียน เพื่อให้เด็กนักเรียนที่มีอายุตั้งแต่ 12-18 ปี (กลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรัง) เข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ กับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย.

โดยให้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ผ่านคิวอาร์โค้ด ตั้งแต่วันที่ 6-8 ก.ย. ซึ่งนักเรียนที่จะได้รับการฉีดวัคซีนต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ โดยมีเอกสารที่ระบุการเจ็บป่วย เช่นใบรับรองแพทย์ หรือใบนัดตรวจสถานพยาบาล หรือใบรับรองความพิการ หรือใบรับรองหรือเอกสารใดๆ ที่ระบุว่ามีการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังตามเกณฑ์ที่กำหนด

นอกจากนี้ สำนักอนามัยได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนการให้บริการฉีดวัคซีนให้กับนักเรียนที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี ทุกสังกัดในพื้นที่กทม. โดยจะประชุมหารือแนวทางร่วมกันในวันที่ 9 ก.ย.

ซึ่งคาดว่าจะมีการวางแผนร่วมกันตั้งแต่การสำรวจกลุ่มเป้าหมายนักเรียนและผู้ปกครองถึงความประสงค์ให้เข้ารับวัคซีนโควิด การจัดหน่วยสาธารณสุขเพื่อให้บริการฉีดวัคซีน การติดตามอาการภายหลังได้รับวัคซีน และการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติและการเตรียมตัวเข้าฉีดวัคซีน เนื่องจากการฉีดวัคซีนโควิดให้กับนักเรียนต้องดำเนินการควบคู่กับมาตรการป้องกัน และเฝ้าระวังโรคในสถานศึกษาด้วย

เปลปกป้อง – น.ส.ปานบัว บุนปาน เอ็มดีมติชน มอบ PETE เปลปกป้องแก่ร.พ.สนามธรรมศาสตร์ โดยมี รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผอ.ร.พ.ธรรมศาสตร์ฯ ผศ.นพ.ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์ ผอ.ร.พ.สนามธรรมศาสตร์ รับมอบ ที่อาคารม.ร.ว.สุวพรรณ สนิทวงศ์ ร.พ.ธรรมศาสตร์ฯ เมื่อวันที่ 7 ก.ย.

มติชนมอบเปลปกป้องรพ.

วันเดียวกัน ที่อาคาร ม.ร.ว.สุวพรรณ สนิทวงศ์ ร.พ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ผู้บริหารบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นำโดย น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ นายสุรพล พิทยาสกุล ที่ปรึกษากรรมการ ผู้จัดการ และนายวรศักดิ์ ประยูรศุข บรรณาธิการอำนวยการ หนังสือพิมพ์มติชน ร่วมด้วยนายจุลเทพ ขจรไชยกูล ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมมอบ “PETE เปลปกป้อง” เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ จำนวน 2 ตัว แก่ร.พ.สนามธรรมศาสตร์ โดยมี ผศ.นพ.ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์ ผอ.ร.พ.สนามธรรมศาสตร์ และ รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผอ.ร.พ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ร่วมรับมอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า PETE เปลปกป้อง ที่พัฒนาโดย MTEC เป็นส่วนสำคัญของมหกรรมสุขภาพออนไลน์ครั้งสำคัญแห่งปี “Healthcare 2021 วัคซีนประเทศไทย” #เราจะฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน ที่เครือมติชนและพันธมิตรชั้นนำจัดขึ้น เมื่อวันที่ 18-22 ส.ค.ที่ผ่านมา

ในงานดังกล่าว เครือมติชนและบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ได้สนับสนุนการมอบ PETE เปลปกป้อง จำนวน 10 ตัว รวมมูลค่า 2.5 ล้านบาท แก่ร.พ. 5 แห่ง แห่งละ 2 ตัว ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ร.พ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมอบแล้วเมื่อวันที่ 24 ส.ค. ต่อด้วย ร.พ.สนามธรรมศาสตร์ในวันนี้ จากนั้นจะมอบแก่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ต่อไป

น.ส.ปานบัวกล่าวระหว่างจัดงาน “Healthcare 2021 วัคซีนประเทศไทย” ว่า เปลความดันลบเป็นหนึ่งในอุปกรณ์จำเป็นของบุคลากรทางการแพทย์ เพราะช่วยลดความเสี่ยงในการขนย้ายผู้ป่วย ช่วยให้ด่านหน้าทำงานอย่างสบายใจ ลดความตึงเครียดระหว่างปฏิบัติงาน เครือมติชนและ BEM เห็นตรงกันว่าในวิกฤตโควิด ต้องช่วยเหลือคนไทยให้มากที่สุดด้วยนวัตกรรมของคนไทย จึงสนับสนุน PETE เปลปกป้อง ที่นอกจากช่วยด่านหน้าแล้ว ยังทำให้การวินิจฉัยโรคเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะสะดวกในการเคลื่อนย้ายเข้าเครื่องเอกซเรย์โดยไม่ต้องเปลี่ยนเปล

ผศ.นพ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ร.พ.สนามธรรม ศาสตร์ สามารถรองรับผู้ป่วยโควิดระดับสีเหลืองได้เต็มที่ 400 เตียง ขณะนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น มีผู้ป่วยกลับบ้านมากกว่าผู้ป่วย รับใหม่ วันนี้มีผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ราว 200 คน นับเป็นครึ่งหนึ่งของจำนวนที่รองรับได้ อย่างไรก็ตาม ร.พ.ยังมีความต้องการอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น โดยเฉพาะเปลความดันลบ เพื่อใช้สำหรับผู้ป่วยโควิดและ ผู้ป่วยโรคอื่นๆ

ด้าน รศ.นพ.พฤหัสกล่าวว่า ขอบคุณเครือมติชนและพันธมิตรที่เห็นความสำคัญของเปลความดันลบ และร่วมกันมอบ PETE เปลปกป้อง เพื่อใช้ประโยชน์ ซึ่งจำเป็นอย่างมากในวิกฤตโควิด

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการมอบ PETE เปลปกป้องครั้งนี้ นายพินิจ จารุสมบัติ ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้มอบชุดหนังสือจำนวน 275 เล่ม มูลค่า 50,000 บาท ผ่านเครือมติชน เพื่อมอบแก่ห้องสมุด ร.พ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติอีกด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้และการดูแลสุขภาพของประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน