ฝ่ายค้านยื่นตีความแน่
‘ชวน’ส่งร่างแก้รธน.แล้ว
ครม.โอนงานธรรมนัส
ป้อมดู4กรมแทนอู๊ดด้า

‘บิ๊กตู่’ไม่วิตก นั่ง นายกฯ เกิน 8 ปีขัดรัฐธรรมนูญ ยันฝ่ายกฎหมายพิจารณาอยู่แล้ว อดีตที่ปรึกษากรธ.ชี้ศึกใหญ่แน่แนะฝ่ายค้านยื่นตีความก่อนส.ค.65 ฝ่ายกฎหมายเพื่อไทยบอกต้องรอปัญหาเกิดก่อนถึงยื่นศาลรธน.วินิจฉัยได้ ประธานสภาฯ เผยส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถึงมือนายก รอขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว หลังครบ 15 วัน ไม่มีส.ส.เข้าชื่อขอส่งตีความ ครม.มอบอำนาจ ‘บิ๊กป้อม’ คุม 4 กรมกระทรวงเกษตรฯ แทน ‘จุรินทร์’ เผยเป็นหน่วยงานที่ ‘ธรรมนัส’ อดีตรมช.เคยดูแล ‘3 ป.’ย้ำภาพกลมเกลียว ปิดห้องคุยหลังถกครม. ‘น้องตู่’ โต้ทัวร์ต่างจังหวัดวัดพลัง ‘พี่ป้อม’ พร้อมสั่งรัฐมนตรีสลับลงพื้นที่ ช่วยน้ำท่วม

ประชุมครม. – พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม เดินจากห้องทำงานไปประชุมครม.ที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมประเมินสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด เมื่อวันที่ 28 ก.ย. โดยพล.อ.ประยุทธ์จะไปตรวจน้ำท่วมที่จ.ชัยภูมิ ในวันที่ 29 ก.ย.

‘3ป.’ปิดห้องคุย-ย้ำไร้รอยร้าว

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 28 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมเต็มคณะ โดยมีคณะรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง เวลา 14.00 น. หลังเสร็จสิ้นการประชุมครม. พล.อ.ประยุทธ์ พร้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้ปิดห้องคุยนอกรอบ ก่อนที่ พล.อ.อนุพงษ์จะแยกไป

ขณะที่นายกฯ เดินเคียงคู่ออกจากห้องประชุมมาพร้อม พล.อ.ประวิตร เพื่อส่งขึ้นรถ โดยมีนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ยืนรออยู่บริเวณทางออก ส่วนนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มายืนรอส่ง พล.อ.ประวิตร ที่ทางเชื่อมระหว่างตึกไทยคู่ฟ้าและตึกสันติไมตรี เช่นเดียวกับนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ที่รอส่งด้านข้างรถ โดยที่นายกฯ ได้พูดคุย หยอกล้อและโอบไหล่นายชัยวุฒิอย่างอารมณ์ดี ก่อนเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าพร้อมกับนายสุชาติ นายชัยวุฒิ และนายอธิรัฐ

‘ป้อม’ยึด4กรมเดิมของธรรมนัส

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ครม.มีมติให้ พล.อ. ประวิตร กำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรี แทนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ เป็นการชั่วคราว ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เฉพาะกรมพัฒนาที่ดิน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร








Advertisement

เดิมทั้ง 4 กรม อยู่ในความรับผิดชอบของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรมช.เกษตรฯ แต่ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ เมื่อครม.มีมติดังกล่าวส่งผลให้งานของ 4 กรมนี้ เมื่อรมว.เกษตรฯ พิจารณากลั่นกรองแล้วจะเสนอเรื่องเข้าครม. ต้องเสนอผ่านพล.อ.ประวิตร จากเดิมที่เสนอผ่านนายจุรินทร์

ตู่โต้ลงพื้นที่วัดพลังป้อม

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกฯตอบคำถามสื่อมวลชน ถึงกระแสความขัดแย้งระหว่าง 2 ป. ที่แม้ พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร ย้ำชัดไม่มีปัญหากัน แต่กลุ่มการเมืองทำให้เกิดภาพการวัดกำลังภายในว่า นายกฯชี้แจงว่าสื่อโซเชี่ยลพยายามสร้างข่าวและสร้างประเด็นดราม่าไปเรื่อยๆ จึงขออย่าไปสนใจนัก ยืนยันไม่มีการแสดงพลังกันแต่อย่างใด และเป็นหน้าที่นายกฯ ในฐานะผู้บริหารสูงสุดไปตรวจเยี่ยมรับฟังความคิดเห็นประชาชนและรับฟังส่วนราชการอย่างทั่วถึง

เมื่อถามว่าเป็นห่วงหรือไม่ว่าการลงพื้นที่ของ 2 ป. จากนี้ไปจะถูกกลุ่มการเมืองทั้งในพรรคและนอกพรรคนำมาเป็นประเด็นการเมือง นายธนกรกล่าวว่า นายกฯยืนยันว่าจะไปวันเดียวกันหรือคนละวันก็เป็นเรื่องของเวลาที่แต่ละคนมี ทั้งนายกฯ รองนายกฯและรัฐมนตรีที่ต้องลงไปเยี่ยมประชาชน ที่ผ่านมาว่างเว้นไปเนื่องจากสถานการณ์โควิด โดยเฉพาะช่วงน้ำท่วมตอนนี้ที่ต้องดูแลประชาชนทุกกลุ่ม รวมทั้งเกษตรกร พร้อมย้ำผู้ว่าราชการจังหวัดและส่วนราชการระดับพื้นที่ในการดูแลประชาชนด้วย

สั่งรมต.สลับลงช่วยน้ำท่วม

เมื่อถามว่ามีการออกมาเผยว่าการเดินสายของ พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นการเช็กฐานเสียง เตรียมไปเล่นการเมืองกับพรรคของนายฉัตรชัย พรหมเลิศ แทนพรรคพลังประชารัฐ นายธนกรกล่าวว่า นายกฯ ชี้แจงว่าเป็นเรื่องที่เขียนขึ้นมาเอง ย้ำว่าการไปเยี่ยมประชาชนเพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการที่เป็นไปได้ในการพัฒนาจังหวัดและพัฒนาท้องถิ่น พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการในที่ประชุมด้วยว่า ขอให้ครม.หมุนเวียนกันลงพื้นที่ในนามของรัฐบาล และในนามของนายกฯ เพื่อให้กำลังใจประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม รวมทั้งดูแลการประกอบอาชีพของประชาชน ซึ่งรัฐบาลเตรียมงบประมาณไว้พร้อมรองรับแล้ว

ที่ระบุการลงพื้นที่ตรวจดูสถานการณ์ น้ำท่วมหลายพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ สร้างภาระให้หน่วยงานในพื้นที่นั้น การที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหรือข้าราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพบ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะต้องการมารายงานปัญหาให้ทราบด้วยตนเอง ไม่ต้องฝากหน่วยงานต่างๆ รายงานตามขั้นตอนปกติ เพื่อความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหา ยืนยันไม่มีการจัดฉากใดๆ

ไม่วิตกปมนายกฯ 8 ปี

ส่วนคำถามที่ว่านายกฯ วิตกหรือไม่ที่ ฝ่ายค้านยกรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ห้ามนายกฯดำรงตำแหน่งรวมกันเกิน 8 ปี นายธนกร กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงว่าเรื่องนี้ต้องไปศึกษาดูว่านายกฯดำรงตำแหน่งมา 2 ครั้ง ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับใด ซึ่งมีฝ่ายกฎหมายพิจารณาเรื่องนี้อยู่แล้ว ดังนั้นนายกฯ จะต้องวิตกทำไม ซึ่งเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ

พท.แนะยื่นตีความหาข้อยุติ

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะทำงานด้านกฎหมาย พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงข้อถกเถียงเรื่องเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า ควรถือตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่อาจถือเอาระยะเวลาเริ่มต้นที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มานับได้ เพราะเท่ากับใช้กฎหมายย้อนหลัง

เมื่อพล.อ. ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ หลังการ เลือกตั้งปี 2562 การนับระยะเวลา 8 ปี จึงควรเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560 คาบเกี่ยวรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวมาตั้งแต่ 24 ส.ค.57 กระทั่งประกาศใช้ฉบับ 2560 ก็ยังคงดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อเนื่อง

จึงเกิดคำถามว่าเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ตั้งแต่ 6 เม.ย.60 ประกอบกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 บัญญัติให้ครม. เป็นครม.ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย และตามมาตรา 264 หรือบทเฉพาะกาลอื่นๆ มิได้บัญญัติยกเว้น มิให้นับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ รวมในระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ทำให้เกิดปัญหาการตีความได้ว่าระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ ควรนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้คือ 6 เม.ย.60 ซึ่งจะครบกำหนด 8 ปี ในวันที่ 5 เม.ย.68 ซึ่งการตีความดังกล่าวไม่ใช่การใช้กฎหมายย้อนหลังเพื่อเป็นโทษแก่พล.อ.ประยุทธ์

ดังนั้น เรื่องนี้จึงยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ การจะให้ปัญหาเรื่องนี้ยุติลงได้คงต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่มิใช่ทำได้ขณะนี้ ต้องรอให้ถึงระยะเวลาที่ฝ่ายที่เห็นว่าการดำรงตำแหน่งของพล.อ.ประยุทธ์ครบ 8 ปีแล้ว จึงจะเกิดเงื่อนไขยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยการเข้าชื่อให้วินิจฉัย ในขณะนี้เงื่อนไขยังไม่เกิดขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าไม่มีหน้าที่อธิบายรัฐธรรมนูญ

อดีตที่ปรึกษากรธ.ยึดปี 57

นายเจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย และอดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวกรณีนายสุทิน คลังแสง ส.ส.เพื่อไทย ระบุนายกฯ อยู่ในตำแหน่งเกิน 8 ปีไม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 ว่า หากฝ่ายการเมืองจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ต้องพ่วงมาตรา 264 ที่บัญญัติให้ครม.ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นครม.ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ไปด้วย สำหรับตนจะนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ตั้งแต่ปี 2557 ส่วนคนที่บอกว่านับตั้งแต่ปี 2560 ที่รัฐธรรมนูญบังคับใช้ ทำไมถึงนับปี 2560 แล้วคนที่บอกว่านับหลังการเลือกตั้งปี 2562 ทำไมจึงนับหลังการเลือกตั้ง เพราะมาตรา 264 บอกชัดเจน ดังนั้น คุณต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560

แนะยื่นตีความก่อนส.ค. 65

เรื่องนี้หากจะทำให้เกิดความชัดเจนต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเท่านั้น ว่าสรุปแล้วการนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ นับตั้งแต่ปีไหน ครบวาระเมื่อไร หากพรรคฝ่ายค้าน ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลจะยื่นเรื่องก็ควรไปยื่นให้ก่อนที่จะเกิดปัญหาขึ้นจะดีกว่า คือ ยื่นก่อนเดือน ส.ค. 2565 เพราะตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง

ไม่เช่นนั้นแล้วหากมีการยื่นไปตีความหลังจากที่เกิดเหตุแล้ว ศาลวินิจฉัยว่าพล.อ.ประยุทธ์อยู่เกินวาระ และอยู่โดยไม่มีอำนาจ จะทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหายได้ เพราะนายกฯ ต้องบริหารประเทศและพิจารณาสั่งการตลอด ถามว่าใครจะรับผิดชอบ ทำไมต้องรอให้ถึงวันนั้นเพื่อให้เกิดปัญหาขึ้นก่อน เรื่องนี้ถือเป็นศึกใหญ่ที่ร้อนหูร้อนตัวของพล.อ.ประยุทธ์อีกครั้ง

สภาส่งร่างแก้รธน.ให้นายกฯ

ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราให้นายกรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อ 27 ก.ย. 2564 หลังจากครบกำหนด 15 วัน ที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 จากที่ประชุมรัฐสภา โดยไม่มี ส.ส.เข้าชื่อ ขอส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แม้ร่างรัฐธรรมนูญถึงมือนายกฯ แล้ว แต่นายกฯ มีเวลาพิจารณาช่วงหนึ่งว่าจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ หรือไม่ ตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญ กระบวนการของสภาถือว่าทำตามกรอบกฎหมายแล้ว หลังจากนี้เป็นภารกิจของรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ร่างแก้รธน.ถึงมือนายกฯแล้ว

รายงานข่าวทำเนียบเผยว่า ในครม. พล.อ.ประยุทธ์ อารมณ์ดีอย่างเห็นได้ชัด บางช่วงเอ่ยแซวรัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการ และเดินทักทายรัฐมนตรีในช่วงพักประชุมเหมือนเคย โดยก่อนเริ่มวาระประชุม พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวขอบคุณหัวหน้าส่วนราชการที่กำลังจะเกษียณ 30 ก.ย. คือ นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผอ.สำนักงบประมาณ และพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสมช. ว่า “ขอให้มีความสุขหลังเกษียณ ถึงอย่างไรก็อาจต้องมาช่วยงานผมบ้าง เราเป็นครอบครอบครัวเดียวกัน มีโอกาสก็ต้องมาช่วยกันทำงาน รวมถึง ครม.ทุกคนที่นั่งในที่นี้ เราเป็นรัฐบาล เป็นครอบครัวเดียวกัน ก็ต้องช่วยกันทำงาน”

จากนั้นธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เลขาธิการครม. รายงานว่า รัฐสภาส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระ 3 มาให้ ครม.แล้วเมื่อ 27 ก.ย. ตามขั้นตอนนายกฯ ต้องรอ 5 วันก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า ขอให้มีมติ ครม.ร่วมกัน เพื่อแจ้งไปยัง กกต.ให้เตรียมจัดทำกฎหมายประกอบการเลือกตั้งไว้ด้วย เพื่อทำควบคู่กันไปในระหว่างนี้ จะได้ไม่เสียเวลา เพราะต้องมีกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนด้วย ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า กฎหมายทุกฉบับต้องช่วยกันโหวต ฝากทุกพรรคให้ช่วยกันโหวตด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ ยังระบุถึงการลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมว่า “การลงพื้นที่ไม่ใช่การวัดพลังใคร ไม่ได้ทะเลาะกัน สื่อออนไลน์ชอบเอาไปเขียนให้ทะเลาะกัน วัดพลังกัน ไม่ใช่ ไม่มีอะไร และให้ ครม.รวมถึงรองนายกฯ ลงพื้นที่ไปช่วยประชาชนได้ เพื่อไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพราะผมก็ไปไม่ได้ทุกพื้นที่ อยากให้ช่วยๆ กันไป”

พปชร.แห่รับตู่ตรวจน้ำท่วม

นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ถึงการลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมของพล.อ.ประยุทธ์ วันที่ 29 ก.ย. ที่จ.ชัยภูมิ ว่า นายกฯจะเดินทางมาดูพื้นที่ อ.เมือง และอ.จัตุรัส ที่ขณะนี้สถานการณ์น้ำยังคงท่วมสูง โดยส.ส.ชัยภูมิ พรรคพลังประชารัฐ คือ ตน และนายเชิงชาย ชาลีรินทร์ กลุ่มสามมิตร และนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธาน วิปรัฐบาล รวมทั้งส.ส.นครราชสีมา จะมาทั้งหมด

แต่ส.ส.บางจังหวัด อาจไม่ได้เดินทางมาเนื่องจากมีปัญหาการเดินทาง โดยส.ส.ในพื้นที่และผวจ.ชัยภูมิ จะรวบรวมปัญหาเพื่อนำเสนอนายกฯ รับทราบ ถึงความเสียหายในพื้นที่ว่ามีมากน้อยแค่ไหน แต่เนื่องสถานการณ์โควิด จึงไม่มีผู้ใหญ่บ้านและประชาชนมาต้อนรับนายกฯ

ยันจัดงานรำลึก45ปี6ตุลาในมธ.

วันที่ 28 ก.ย. ที่ตึกกิจกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ท่าพระจันทร์ คณะกรรมการจัดงานรำลึก 6 ตุลา 2519 ประจำปี 2564 ร่วมกันแถลงข่าวยืนยันการจัดงานรำลึก ณ สถานที่จริง คือพื้นที่ภายในมธ.

โดยนายสุเทพ สุริยะมงคล ประธานคณะกรรมการจัดงาน กล่าวว่า การจัดงานรำลึกยืนหยัดจะจัดสถานที่จริง คือพื้นที่ภายในมธ. ท่าพระจันทร์ ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายไปมาก ศบค.ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ขณะที่เราจัดงานในสถานที่โล่งแจ้ง มีมาตรการเว้นระยะห่าง จึงมองไม่เห็นเหตุผลใดมหาวิทยาลัยไม่ให้จัดงาน เราจะให้ความร่วมมือในการป้องกันโรคระบาดอย่างดี ไม่มีงานสัมมนา แต่ขอจัดพิธีกรรมรำลึกถึงผู้เสียชีวิต พิธีสงฆ์ และการวางพวงมาลา

นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กรรมการจัดงาน กล่าวว่า วันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยนัดองค์ปาฐกมาบันทึกเทปในงาน ตนปฏิเสธเพราะไม่เห็นความจำเป็นต้องจัดออนไลน์ แต่ยืนยันว่าจะพูดวันที่ 6 ต.ค.นี้ ที่มธ. ซึ่งเป็น สถานที่จริง หน้าลานประติมากรรม ข้างหอประชุมใหญ่ ตั้งแต่เวลา 07.00 น. เป็นต้นไป เราจะจัดงานแบบไม่แออัด อย่างน้อยคนคงไม่มากเท่าที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปตรวจน้ำท่วม

น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ กรรมการ กล่าวว่า สภานักศึกษามธ.ทำหนังสือขอใช้สถานที่ตั้งแต่ 20 ก.ย.ที่ผ่าน เดดไลน์ 1 ต.ค.นี้ การจัดงานไม่ใช่แค่รำลึก เรายังต่อสู้กับเผด็จการทรราช ประวัติศาสตร์ยังไม่ถูกชำระ คนผิดยังไม่ถูกลงโทษ วันที่ 6 ต.ค.จะเป็นหมุดหมายสำคัญที่บอกว่าการต่อสู้ยังไม่จบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน