1.5หมื่นโรงเรียน
3จว.ไร้ผู้ติดเชื้อ

ศธ.คิกออฟฉีดไฟเซอร์นักเรียน 3.6 ล้านคน วันจันทร์ 4 ต.ค.นี้ ‘บิ๊กตู่’เป็นประธานเปิดที่โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ ‘อภ.’เร่งโมเดอร์นาหาจากแหล่งผลิตอื่นในสหรัฐส่งล็อตแรกตามสัญญาเดือนต.ค. ยอดเสียชีวิตรายวันต่ำกว่าร้อย เหลือ 87 ติดเชื้อเพิ่ม 11,375 เผย 3 จังหวัด‘น่าน-พะเยา-แพร่’ติดเชื้อรายใหม่เป็น 0 ส่วนที่ยะลาป่วยใหม่พุ่ง 738 ราย พุ่งอันดับ 2 ของประเทศ รองจากกทม. 1,241 ผู้ว่าฯนครศรีธรรมราชยันไม่ปิดอำเภอเมือง แต่ยกระดับมาตรการคุมเข้ม พื้นที่ไหนติดเชื้อเกิน 5 คนขึ้นไปก็จะปิดชุมชน ‘แม่สอด’ สั่งปิดหมู่บ้านม้งเนื่องจากพบเชื้อกระจาย

ตายโควิดต่ำร้อย-ติดเชื้อ 11,375

เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า วันนี้ประเทศไทยมี ผู้ติดเชื้อใหม่ 11,375 ราย ติดเชื้อสะสม 1,626,604 ราย หายป่วยเพิ่ม 13,127 ราย หายป่วยสะสม 1,496,273 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 87 ราย เสียชีวิตสะสม 16,937 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 113,394 ราย อยู่ในร.พ. 38,865 ราย ร.พ.สนามและอื่นๆ 74,529 ราย มีอาการหนัก 3,124 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 725 ราย

ภาพรวมผู้ติดเชื้อวันนี้มาจาก 67 จังหวัดรวมกันสูงสุด 6,795 ราย กทม.และปริมณฑล 2,401 ราย 4 จังหวัดภาคใต้ 1,978 ราย เรือนจำ 184 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศมี 17 ราย ได้แก่นิวซีแลนด์ ไต้หวัน กาตาร์ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศละ 1 ราย กัมพูชา 5 ราย มาเลเซีย 2 ราย จากช่องทางธรรมชาติ 1 ราย และเมียนมา 4 ราย จากช่องทางธรรมชาติ 3 ราย

ผู้เสียชีวิต 87 ราย มาจาก 34 จังหวัด ได้แก่ กทม. 25 ราย, ชลบุรี 6 ราย, สมุทรปราการ ราชบุรี จังหวัดละ 5 ราย, ระยอง 4 ราย, สมุทรสาคร 3 ราย, นครปฐม ตาก เพชรบูรณ์ กระบี่ ชุมพร นราธิวาส ยะลา สุราษฎร์ธานี ลพบุรี สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี จังหวัดละ 2 ราย และมหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ เชียงราย สุโขทัย พังงา ระนอง อ่างทอง ประจวบคีรีขันธ์ สระบุรี สระแก้ว พระนครศรีอยุธยา และเพชรบุรี จังหวัดละ 1 ราย

ผู้เสียชีวิตเป็นชาย 44 ราย หญิง 43 ราย อายุ 35 – 104 ปี เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 60 ราย คิดเป็น 69% อายุต่ำกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 23 ราย คิดเป็น 26% รวม 2 กลุ่มนี้สูง 95% อายุน้อยกว่า 60 ปีไม่มีโรคเรื้อรัง 4 ราย คิดเป็น 5%

‘น่าน-พะเยา-แพร่’ไม่มีป่วยใหม่

ภาพรวมติดเชื้อเกิน 100 ราย มี 30 จังหวัด โดย 10 จังหวัดที่ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1.กทม. 1,241 ราย สะสม 369,287 ราย 2.ยะลา 738 ราย สะสม 24,041 ราย 3.สมุทรปราการ 646 ราย สะสม 110,869 ราย 4.ชลบุรี 638 ราย สะสม 88,689 ราย 5.นครศรีธรรมราช 524 ราย สะสม 16,315 ราย 6.นราธิวาส 495 ราย สะสม 24,849 ราย 7.ระยอง 451 ราย สะสม 32,267 ราย 8.สงขลา 434 ราย สะสม 30,788 ราย 9.ปราจีนบุรี 349 ราย สะสม 16,556 ราย และ 10.ปัตตานี 311 ราย สะสม 22,135 ราย

สำหรับ 20 จังหวัดที่เหลือ ได้แก่ จันทบุรี 264 ราย, สุราษฎร์ธานี 251 ราย, นครราชสีมา 250 ราย, ราชบุรี 242 ราย, อุดรธานี 226 ราย, ตาก 217 ราย, ประจวบคีรีขันธ์ 201 ราย, ขอนแก่น 193 ราย, นนทบุรี 183 ราย, ฉะเชิงเทรา 178 ราย, สระบุรี 172 ราย, อุบลราชธานี 172 ราย, ชุมพร 164 ราย, พระนครศรีอยุธยา 154 ราย, สมุทรสาคร 151 ราย, ภูเก็ต 147 ราย, กระบี่ 139 ราย, กาญจนบุรี 126 ราย, ตราด 109 ราย และปทุมธานี 106 ราย

ขณะที่ น่าน, พะเยา และแพร่ ยอดผู้ป่วยใหม่ 0 ราย

ฉีดวัคซีนแล้ว 54 ล้านโดส

สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 วันที่ 1 ต.ค. ฉีดเพิ่มขึ้น 796,583 โดส สะสม 54,581,395 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 32,815,130 ราย คิดเป็น 45.6% ของประชากร เข็มสอง 20,355,829 ราย คิดเป็น 28.3% ของประชากร และเข็มสาม 1,410,436 ราย คิดเป็น 2% ของประชากร

อภ.เร่ง‘โมเดอร์นา’ส่งล็อตแรก

จากกรณีบริษัทซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ผู้นำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2564 แจ้งกำหนดการส่งมอบวัคซีน โมเดอร์นา จำนวน 1.9 ล้านโดส ในไตรมาส 4 ของปี 2564 คาดว่าจะเริ่มส่งมอบได้ในพ.ย.นั้น

ล่าสุดองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ออกประกาศชี้แจงว่า ได้รับจดหมายแจ้งจากบริษัทซิลลิค เพิ่มเติมว่า ตามที่ทางบริษัทคาดว่าจะส่งมอบวัคซีนโมเดอร์นาในต.ค.ได้นั้น ต่อมาพบว่าแหล่งผลิตในยุโรปที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสำหรับนำเข้าไว้มีแนวโน้มว่าจะส่งมอบได้ตั้งแต่พ.ย.เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามบริษัทซิลลิคฯพยายามจะนำเข้ามาให้ได้ภายในต.ค. โดยจัดหาจากแหล่งผลิตอื่นมาทดแทนโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแหล่งประเทศสหรัฐอเมริกา

องค์การเภสัชกรรม และสมาคมโรงพยาบาล เอกชนจะติดตามเร่งรัดให้มีการส่งมอบให้ได้ ตามที่บริษัทซิลลิคฯได้เคยแจ้งไว้ คือในต.ค.นี้ และเมื่อได้รับวัคซีนแล้ว จะเร่งดำเนินการ กระจายตามสัดส่วนที่ร.พ.จองไว้อย่างรวดเร็วต่อไป ส่วนวัคซีนที่เหลือ 3.1 ล้านโดส ตามสัญญาที่ 1 และซื้อเพิ่ม 3.7 ล้านโดส ตามสัญญาที่ 2 รวมทั้งสิ้น 6.8 ล้านโดส ทางบริษัทซิลลิคฯ จะส่งมอบได้ในไตรมาส 1 ของปี 2565

คิกออฟฉีดไฟเซอร์นร.3.6ล้านคน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับนักเรียนเยาวชน โดยความยินยอมจากผู้ปกครอง เพื่อให้นักเรียนกลับมาใช้ชีวิตที่เรียนหนังสือในโรงเรียนโดยเร็วที่สุด โดยวันที่ 4 ต.ค.นี้ นายกฯจะร่วมพิธีคิกออฟสร้างเกราะป้องกันด้วยวัคซีน เด็กปลอดภัย เรียน อุ่นใจ ต้อนรับเปิดเทอม ที่โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ พร้อมกับโรงเรียนใน 12 เขตสุขภาพทั่วไทย เพื่อให้กำลังใจนักเรียนที่จะได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์ เข็ม 1 และจะเยี่ยมชมจุดฉีดวัคซีน ชมนิทรรศการโรงเรียนปลอดภัยของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

สำหรับโรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์เป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล-ม.6 มีนักเรียนช่วงอายุระหว่าง 12-18 ปี ที่มีคุณสมบัติรับการฉีดวัคซีนจำนวน 799 คน สมัครใจฉีด 695 คน คิดเป็นร้อยละ 86.98 โดยจะเข้ารับการฉีดวัคซีนในวันจันทร์ที่ 4 ต.ค.นี้ จำนวน 200 คน และจะทยอยฉีดวัคซีนนักเรียนเมื่อได้รับการจัดสรรในรอบต่อไป

“นายกฯกำชับการฉีดวัคซีนสำหรับเด็กนักเรียน เยาวชน รวมถึงการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรภายในโรงเรียนทุกระดับ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับนักเรียน เยาวชนให้มากที่สุด ขณะเดียวกันเร่งกระทรวงศึกษาที่การดำเนินการโครงการ Sandbox Safety Zone in School (SSS) สำหรับโรงเรียนที่มีความพร้อม โดยคาดหวังให้โรงเรียนกลับมาเปิดเรียนในที่ตั้งให้มากที่สุด เพื่อจะได้ลดความเครียดและข้อจำกัดของนักเรียนในการเรียนการสอนออนไลน์ด้วย”

นายธนกรกล่าวต่อว่า กระทรวงศึกษาธิการกำหนดแผนให้นักเรียน นักศึกษา ทุกสังกัด ที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี จำนวน 5,048,081 คน เบื้องต้นมีผู้ประสงค์จะฉีด 3.61 ล้านคน คิดเป็น 71.67% จะได้รับการฉีดวัคซีนสูตร ไฟเซอร์ บวก ไฟเซอร์ ตั้งแต่ 4 ต.ค.นี้เป็นต้นไป โดยจะเริ่มฉีดให้กับสถานศึกษาในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ที่มี 15,465 แห่ง ใน 29 จังหวัดก่อนและจะฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ตั้งแต่ต้นเดือนพ.ย.ต่อไป

ทั้งนี้ข้อมูลจากองค์การอาหารและยา (อย.) วัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้สำหรับกลุ่มเด็กตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป ในประเทศไทย ได้แก่ วัคซีนไฟเซอร์และวัคซีนโมเดอร์นา ซึ่งมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก นอกจากนี้หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ แคนาดา อินโดนิเซีย ฯลฯ ยังได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์สำหรับกลุ่มเด็กตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไปแล้ว

แม่ฮ่องสอนติดเชื้ออีก 14

ด้านศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคจังหวัดแม่ฮ่องสอน รายงานว่า มีผู้ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด 375 ราย พบเชื้อ 14 ราย เป็นผู้ป่วยในจังหวัดทั้งหมด ประกอบด้วยผู้ติดเชื้อที่อ.แม่สะเรียง 10 ราย จากคลัสเตอร์ห้วยบง ติดเชื้อสะสม 35 ราย และอ.สบเมย ติดเชื้อ 4 ราย เป็นคลัสเตอร์โรงเรียนสบเมยวิทยาคม พบคลัสเตอร์นี้ป่วยสะสม 235 ราย ส่วนยอดผู้ติดเชื้อระลอกเมษายนที่เข้ารับการรักษาในจังหวัด 747 ราย เสียชีวิต 5 ราย รักษาหายแล้ว 539 ราย ยังอยู่ระหว่างรักษา 203 ราย การแพร่ระบาดมีแนวโน้มกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น ขอให้ประชาชนทุกคนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรค

ด้านนายสงวน ศรีสวัสดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลแม่ยวม มอบหมายให้กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลแม่ยวม ร่วมกับโรงพยาบาลแม่สะเรียง โรงพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพตำบลห้วยสิงห์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านน้ำดิบลงพื้นที่ค้นหา ผู้ป่วยโควิด-19 แบบเชิงรุกในพื้นที่บ้านห้วยบง พร้อมสนับสนุนอาหารครอบครัวที่ได้รับการติดเชื้อเบื้องต้นก่อน และส่ง เจ้าหน้าที่พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบ้านเรือนที่อยู่อาศัยผู้ติดเชื้อ พื้นที่สาธารณะ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ในพื้นที่ทุกๆ 3 วัน

เชียงใหม่ติดเชื้อเพิ่ม 88

ส่วนที่จ.เชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 88 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด 81 ราย และอีก 7 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างจังหวัด ผู้ติดเชื้อสะสมระลอกตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.64 จำนวน 8,777 ราย และรักษาหายแล้ว 7,834 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลทุกประเภท 868 ราย และผู้เสียชีวิตสะสม 40 ราย

ขณะนี้มีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 688,114 คน คิดเป็นร้อยละ 54.56 ของเป้าหมาย

ปิดหมู่บ้าน – เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองปิดหมู่บ้านเจดีโคะเหนือ หมู่ 10 ต.มหาวัน อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นเวลา 14 วัน พร้อมตั้งจุดตรวจคัดกรอง เนื่องจากมีชาวบ้านติดเชื้อโควิดแล้ว 50 คน เมื่อวันที่ 2 ต.ค.

‘แม่สอด’ล็อกดาวน์หมู่บ้านม้ง

วันเดียวกัน นายสมชาย ไตรทิพย์ชาติสกุล นายอำเภอแม่สอด จ.ตาก นำเจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดนอำเภอแม่สอดที่ 3 เจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านเจดีย์โคะเหนือ และ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหมู่บ้านเจดีย์โคะเหนือ ตั้งจุดตรวจคัดกรองโควิด-19 เพื่อปิดพื้นที่เข้า-ออกหมู่บ้านเจดีย์โคะเหนือ หมู่ 10 ต.มหาวัน อ.แม่สอด จ.ตาก 14 วัน เนื่องจากพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง 50 ราย

นายสมชายเปิดเผยว่า ในอ.แม่สอดพบ ผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนมากในพื้นที่หมู่บ้านเจดีย์โคะเหนือ หมู่ที่ 10 เพื่อป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคและการจัดระบบดูรักษาผู้ติดเชื้อเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึง ขอความร่วมมือประชาชนผู้พักอาศัยในพื้นที่หมู่บ้านเจดีย์โคะเหนือ หมู่ 10 งดออกจากเคหสถานโดยเหตุไม่จำเป็น ให้แยกกักผู้ติดเชื้อไว้ในที่พักอาศัย ภายใต้การกำกับดูแลของสาธารณสุขอำเภอแม่สอด และให้ชุดปฏิบัติการประจำจุดตรวจ จุดสกัด และลาดตระเวนพื้นที่ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และป้องกัน ควบคุม และยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19

นายชัชวาล แซ่กือ อายุ 54 ปี ชาวบ้าน เจดีย์โคะเหนือ กล่าวว่า เนื่องจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แพร่ระบาดในหมู่บ้าน เจดีย์โคะเหนืออย่างหนัก และพี่น้องประชาชนขาดแคลนเรื่อง อาหาร น้ำ เครื่องดื่ม และที่จะมาอุปโภคบริโภค ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริจาคถุงยังชีพให้พี่น้องประชาชนหมู่บ้าน เจดีย์โคะเหนือ 300 หลังคาเรือนที่ถูกกักตัวออกจากบ้านไม่ได้

ชลบุรียอดป่วยยังพุ่ง 638

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรีรายงานว่า พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 638 ราย ยอดติดเชื้อสะสม 88,691 ราย กำลังรักษา 10,937 ราย หายป่วยสะสม 77,133 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 6 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 621 ราย โดยพบผู้ติดเชื้อกระจาย 10 อำเภอ มากสุดที่อ.เมืองชลบุรี 165 ราย พบคลัสเตอร์ใหม่อีก 1 แห่งที่แคมป์คนงานซอยบ่อนไก่ อ.สัตหีบ ติดเชื้อ 4 ราย

ส่วนคลัสเตอร์เดิมยังน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะคลัสเตอร์ในเขตพื้นที่ทหาร อ.สัตหีบ ติดเชื้อเพิ่ม 36 ราย ติดเชื้อ สะสม 1,136 ราย แยกเป็นกองนักเรียนจ่า นาวิกโยธิน 29 ราย และทหารเกณฑ์ 7 ราย

‘มหาชัย’ป่วยลดเหลือ 151

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครรายงานว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 151 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากค้นหาเชิงรุก 20 ราย และผู้ติดเชื้อที่มาจากการเข้ารับการตรวจในโรงพยาบาล 131 ราย ติดเชื้อสะสม 106,896 ราย รักษาหายเพิ่ม 295 ราย รักษาหายและกลับบ้านได้แล้วสะสม 98,648 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 7,139 ราย เสียชีวิตรายวัน 3 ราย เสียชีวิตสะสม 1,109 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาครครั้งล่าสุด มีนายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าฯสมุทรสาคร เป็นประธาน ได้หารือเพื่อขออนุมัติแผนการตรวจเชิงรุกและฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่แรงงานต่างด้าว ภายในตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร และตลาดทะเลไทย หรือที่เรียกว่า “Market Sandbox” ตามมาตรการ COVID-Free Setting ซึ่งนายณภัทร์ เอมอ่อน นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร และนพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร เป็น ผู้เสนอ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดค้าส่งอาหารทะเลรายใหญ่ทั้ง 2 แห่ง หลังจากเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดระลอกที่ 2 เมื่อกลางเดือนธ.ค. 2563

สำหรับแผนการดังกล่าวมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าวประมาณ 5,000 คน แบ่งออกเป็นตลาดกลางกุ้งฯ 3,000 คน และตลาดทะเลไทย 2,000 คน

ขณะเดียวกันที่ประชุมเห็นชอบสนับสนุนชุดตรวจ ATK จำนวน 5,000 ชุด และอนุมัติใช้วัคซีนของซิโนแวค 3,000 โดส และ แอสตร้าเซนเนก้า 2,000 โดส เพื่อดำเนินการตามแผนการดังกล่าว

โคราชติดเชื้อเพิ่ม 102-ตาย 4

คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราช สีมา รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 102 ราย และเสียชีวิต 4 ราย โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่แบ่งเป็นติดเชื้อในจ.นครราชสีมา 93 ราย ติดเชื้อจากนอกพื้นที่ 9 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 26,177 ราย รักษาหายแล้ว 22,381 ราย ยังรักษา 3,611 ราย เสียชีวิตสะสม 185 ราย

สำหรับผู้เสียชีวิตรายใหม่ 4 ราย ประกอบด้วย ชายอายุ 73 ปี ชาวต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา สัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่ ซึ่งติดเชื้อและเข้ารับการรักษาที่ร.พ.ปากช่องนานา เมื่อวันที่ 27 ก.ย.64 อาการไม่ดีขึ้น วันที่ 30 ก.ย.64 ถูกส่งตัวมารักษาต่อที่ร.พ.มหาราชนครราชสีมา แต่อาการทรุดลงต่อเนื่อง กระทั่งเสียชีวิตเมื่อเวลา 15.32 น. วันที่ 30 ก.ย. 64, ชายอายุ 50 ปี ชาวต.บัวใหญ่ อ.บัวใหญ่ สัมผัสผู้ป่วยในพื้นที่ เข้ารักษาที่ร.พ.มหาราชนครราชสีมา เสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 ต.ค.64 เวลา 14.05 น., ชาย อายุ 85 ปี ชาวต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา สัมผัสกับผู้ป่วยในพื้นที่และมีโรคประจำตัวคือวัณโรค เสียชีวิต ที่ร.พ.มหาราชนครราชสีมา เมื่อวันที่ 1 ต.ค.64 เวลา 14.43 น. และชาย อายุ 39 ปี ชาวต.โคกกรวด อ.เมืองนครราชสีมา สัมผัสผู้ป่วยในพื้นที่ เสียชีวิตที่ร.พ.มหาราชนครราชสีมา เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 64 เวลา 15.25 น.

2 คลัสเตอร์อุบลฯป่วยเกิน 300

ส่วนที่จ.อุบลราชธานี พบผู้ป่วยติดเชื้อทำสถิตินิวไฮจาก 2 คลัสเตอร์ใหญ่ คือเล่นพนันในงานศพ ต.ท่าลาด อ.วารินชำราบ และติดจากร้านขายเหล้า หน้ามหาวิทยาลัยอุบลราช ธานี ต.เมืองศรีไค อ.วารินชำราบ รวม 317 คน แบ่งเป็นคลัสเตอร์เล่นพนัน 206 คน คลัสเตอร์ร้านขายเหล้า 111 คน ทั้งสองคลัสเตอร์มีคนกลุ่มเสี่ยงต้องกักตัวสังเกตกว่า 200 คน

สำหรับร้านขายเหล้ามีการแจ้งความดำเนินคดีแล้ว 1 แห่ง ฐานฝ่าฝืนประกาศพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ซึ่งห้ามขายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และเปิดให้บริการเลยเวลาที่กฎหมายกำหนด มีโทษทั้งจำและปรับ

นายวิรุจ วิชัยบุญ รองผู้ว่าฯ อุบลราชธานี กล่าวถึงกรณีร้านขายอาหารหน้ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีแอบขายเหล้าจนทำให้เกิดคลัสเตอร์ในกลุ่มนักศึกษา ได้สั่งให้นายอำเภอและตำรวจอำเภอวารินชำราบดำเนินคดีกับเจ้าของร้านที่แอบขายเหล้าทุกราย ส่วนการแอบเล่นไพ่งานศพ ตีไก่ ได้กำชับให้นายอำเภอและตำรวจทุกท้องที่กวดขันไม่ให้มีการลักลอบเล่น ถ้าพื้นที่ใดปล่อยปละละเลย จะถูกลงโทษทางวินัย พร้อมขอความร่วมมือจากประชาชนที่พบการฝ่าฝืนดังกล่าว โทรศัพท์แจ้งมาที่ตนได้ทันที

สงขลาป่วยเพิ่ม 434

สำนักงานสาธารณสุข (สสจ.) สงขลา รายงานว่า พบผู้ป่วยโควิดรายใหม่เพิ่ม 434 ราย ยอดป่วยสะสม 31,912 คน เสียชีวิตสะสม 155 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 6,200 คน และที่รักษาหายกลับบ้าน 25,380 คน และยังพบผู้ป่วยในกลุ่มผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่มากที่สุด รองลงมารอการสอบสวนโรค กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในชุมชนและกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในร้านค้า บริษัทและโรงงาน

ด้านโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) แจ้งเตือนประชาชนสงขลาและ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังมีตัวเลผู้ป่วยโควิดสูงให้คุมเข้มตัวเองเริ่มตั้งแต่มาตรการที่บ้านและที่ทำงาน ล้างมือ ใส่แมสก์ เมื่อซื้อของแล้วรีบกลับ ไม่ควรไปตลาดบ่อย หากจำเป็นไม่ควรเดินเกิน 15 นาที และเลือกในที่โล่งเสมอ งดรับแขก งดกินข้าวร่วมกับคนนอกครอบครัวและเก็บตัวอยู่กับบ้านให้มากที่สุด

ขณะที่สำนักงานควบคุมป้องกันโรค 12 รายงานว่าในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้พบผู้ป่วยสูง 4 จังหวัด มีจ.สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และ จ.ยะลามา จากพฤติกรรมส่วนตัว เช่นการบริโภค พิธีกรรมศาสนาและที่สำคัญคือปฏิเสธเข้าถึงวัคซีนในสัดส่วนยังสูง

ภูเก็ตติดเชื้อเพิ่ม 182

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จากในภูเก็ต 182 ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่จากแซนด์บ็อกซ์ 6 ราย ผู้ติดเชื้อยังคงรักษาตัวในโรงพยาบาล 4,693 ราย รักษาหายกลับบ้านเพิ่ม 147 ราย รักษาหายกลับบ้านสะสม 6,762 ราย

ผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 11,298 ราย เสียชีวิตสะสม 75 ราย ผู้ติดเชื้อจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์สะสม 122 ราย

ยะลาป่วยโควิดพุ่ง 738

นพ.สงกรานต์ ไหมซุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา กล่าวว่า วันนี้มีผู้ติดเชื้อ 738 ราย ขึ้นมาสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นของจ.ยะลา ไม่ได้เกิดจากการมีคลัสเตอร์ใหญ่ การติดเชื้อยังคงเป็นลักษณะเดิม คือการติดเชื้อในครัวเรือนและชุมชน แห่งละประมาณ 10-20 คน แต่มีการกระจายเลยทำให้มีจำนวนมาก

สาเหตุเป็นเรื่องการจัดกิจกรรมรวมตัว เช่น งานแต่งงาน กินเลี้ยงในชุมชนในบ้าน แต่บังเอิญมีในเรื่องของครอบครัวใหญ่ด้วย เลยติดเชื้อเพิ่มขึ้นมา ตอนนี้ค่อนข้างกังวล เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เคยลดลงเริ่มกลับมาเพิ่มอีก จึงยังต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องเรื่องของการเสียชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงกลุ่มเปราะบางต้องระวังเป็นพิเศษ และมีการคัดกรองการติดเชื้อในชุมชน

นพ.สงกรานต์กล่าวต่อว่า ขณะนี้คนที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยรุ่นและคนทำงาน อาจจะต้องตั้งศูนย์สู้ภัยโควิดในสำนักงาน หน่วยบริการ ตามโรงงานสถานประกอบการ ร้านอาหาร และตลาด พยายามไม่ให้เป็นแหล่งแพร่เชื้อเพื่อตัดวงจรการระบาด และป้องกันการกลับไปแพร่เชื้อที่บ้าน

โดยเน้นมาตรการป้องกันตนเองสูงสุดครอบจักรวาล (Universal Prevention) ในโรงงาน สถานประกอบการ สถานที่ราชการ ซึ่งอาจจะต้องทำเรื่องของทำงานที่บ้านด้วย และเน้นการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม และตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ ประมาณ 10% ของหน่วยงานหรือองค์กร การตรวจ ATK จะประเมินเป็นสัปดาห์ ซึ่งเรื่องชุดตรวจขณะนี้มีการสนับสนุนจากชุดตรวจของสปสช. ซึ่งกำลังกระจายของในสัปดาห์นี้

สำหรับจ.ยะลาติดเชื้อสะสม 24,041 ราย

ผู้ว่าฯนครศรีฯโต้ปิดเมือง

นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าฯนครศรีธรมราช พร้อมด้วยดร.กณพ เกตุชาติ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันเปิดศูนย์ปฏิบัติการนครรวมใจสู้ภัยโควิด ที่เทศบาลนครนคร ศรีธรรมราช เพื่อบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนในการสนับสนุนช่วยเหลือการเฝ้าระวัง การป้องกันและควบคุมโรคโควิดในพื้นที่ โดยเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านสายด่วน 199 และ 075-348118

นายไกรศร เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิดในพื้นที่อ.เมืองนครศรีธรรมราช และพื้นที่อื่นๆ มีความต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชุมชนต่างๆ ของอำเภอเมืองจึงจำเป็นต้องยกระดับมาตรการให้ครอบคลุมในทุกด้านและครอบจักรวาล จึงขอความร่วมมือประชาชนร่วมกันป้องกันตนเองขั้นสูงสุด ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าพื้นที่แพร่ระบาด ซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 สัปดาห์ และจะประเมินผลอีกครั้ง

“จะไม่มีการปิดอ.เมืองนครศรีธรรมราช แต่จะปิดพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด 5 คนขึ้นไป โดยให้นายอำเภอเมืองและนายกเทศบาลนครนครศรีธรรมราชเป็นคนเสนอมาว่ามีชุมชนใดบ้าง โดยจะเข้มงวดการเข้าออกมากขึ้น” ผู้ว่าฯนครศรีธรรมราช กล่าว

แพร่ติดเชื้อทะลุ 1.6 พัน

เภสัชกรเด่น ปัญญานันท์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจ.แพร่ เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 4 ราย มีความเชื่อมโยงกับผู้ป่วยที่พบในพื้นที่เดิมในต.ป่าแดง อ.เมือง 1 ราย เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในครอบครัวของคลัสเตอร์ ม.2 ต.ป่าแดง ต.ร่องฟอง อ.เมือง 1 ราย เป็นนักเรียนโรงเรียนเทพพิทักษ์วิทยา พบจากการตรวจค้นหาเชิงรุก ต.เด่นชัย อ.เด่นชัย 1 ราย และอยู่ระหว่างสอบสวนโรค ต.สรอย อ.วังชิ้น 1 ราย ผู้ติดเชื้อสะสม 1,603 ราย เสียชีวิตสะสม 6 ราย รักษาตัวอยู่ 87 ราย รักษาหายแล้ว 1,510 ราย

สตูลป่วยโควิดเพิ่ม 43

นายแพทย์สมบัติ ผดุงวิทย์วัฒนา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสตูล เปิดเผยว่า มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 43 ราย เป็น กลุ่มสัมผัสผู้ป่วย กลุ่มที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เบื้องต้นมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 86 คน ได้ไปกักตัวที่สถานที่สังเกตอาการที่รัฐจัดให้ 86 คน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน