แต่มหาลัยล็อกปิดประตู
ทั่วปท.ร่วมคู่ขนานด้วย

คณะผู้จัดงานเชิญชวนร่วมรำลึก 45 ปี 6 ตุลา 2519 หนี้เลือดที่ยังไม่ชดใช้ ไว้อาลัยผู้เสียชีวิตจากเหตุสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชน พิธีเริ่มตั้งแต่เช้า มีกิจกรรมตลอดทั้งวัน ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แต่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยสั่งปิด ล็อกประตูทางเข้า ขณะที่หลายจังหวัดทั่วประเทศร่วมจัดรำลึก ทั้งในรูปแบบออนไซต์ และเสวนาออนไลน์ ด้าน ‘ไอลอว์’ ฟ้องศาลแพ่งขอให้สั่งเพิกถอนประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามชุมนุม

ฟ้องประยุทธ์ – นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผจก.ไอลอว์, ‘ครูใหญ่’ นายอรรถพล บัวพัฒน์, ‘วาดดาว’ น.ส.ชุมาพร แต่งเกลี้ยง เฟมินิสต์ปลดแอก ยื่นฟ้องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และพวก ให้เพิกถอนข้อกำหนดห้ามชุมนุม เรียกค่าเสียหาย 4.5 ล้านบาท ที่ศาลแพ่ง รัชดาฯ เมื่อวันที่ 5 ต.ค.

เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ศาลแพ่ง นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) น.ส.ชุมาพร แต่งเกลี้ยง ตัวแทนกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก และนายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ แกนนำราษฎร ยื่นฟ้องพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกับพวก กรณีออกประกาศข้อกำหนดในมาตรา 9 ตามพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เรียกค่าเสียหาย 4,500,000 บาท และขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนข้อกำหนดดังกล่าว

นายยิ่งชีพกล่าวว่าในสถานการณ์โควิด รัฐสามารถจำกัดสิทธิ์บางอย่างได้ แต่ไม่ใช่สั่งห้ามชุมนุม และการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็เพื่อควบคุมโรคระบาด ไม่ใช่เพื่อห้ามการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน แม้จะไม่ใช่สถานที่แออัด ไม่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ทุกครั้งที่จัดการชุมนุม ผู้จัดและผู้ปราศรัยจะถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามมาตลอด จนขณะนี้มีคดีมากกว่า 483 คดี มี ผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดี 1,171 คน

ผู้จัดการไอลอว์กล่าวอีกว่าเราเห็นว่า ข้อจำกัดที่ห้ามชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น กว้างขวางและจำกัดสิทธิเสรีภาพจนเกินไป จึงมาฟ้องต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้เพิกถอนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หมายความว่าให้ศาลสั่งว่า ข้อกำหนดและคำสั่งไม่เคยมีมาตั้งแต่แรก และให้มีผลย้อนหลัง จะทำให้คดีต่างๆ ของ ผู้ชุมนุมให้มีอันถูกยกเลิกไปด้วย ถ้าการชุมนุมผิดกฎหมายอย่างไร ก็ให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายได้ ทั้งประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่ควบคุมดูแลการชุมนุมได้อยู่แล้ว

จากนั้นศาลแพ่งพิจารณาแล้วรับคำฟ้องไว้เป็นคดี โดยกำหนดนัดชี้สองสถาน และกำหนดแนวทางการดำเนินคดี หรือสืบพยานโจทก์ในวันที่ 31 ม.ค.2565 เวลา 09.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวาระครบรอบ 45 ปี 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนกลางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สำนักพิมพ์มติชนจัดวงเสวนา “45 ปี 6 ตุลาและขวาพิฆาตซ้าย” ร่วมเสวนาและดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต เป็นวิทยากร ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย และ ดร.ศิบดี นพประเสริฐ ผู้เขียนหนังสือ “ขวา (พิฆาต?) ซ้าย” เริ่มเวลา 13.00 น. ถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กสำนักพิมพ์มติชน ข่าวสด มติชนออนไลน์ The Politics และมติชนสุดสัปดาห์

ขณะที่องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ เชิญชวนฟังปาฐกถาพิเศษจากนักกิจกรรม ต่างประเทศที่มาร่วมรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา พร้อมกล่าวถึงความสำคัญของการยืนหยัดสนับสนุน และต่อสู้ร่วมกันของประชาชนข้ามประเทศ ไลฟ์สดทางเพจเฟซบุ๊กองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ

ส่วนสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบล ราชธานี ร่วมกับองค์การนิสิตมหา วิทยาลัยมหาสารคาม เชิญผู้รู้เห็น ผู้ที่ได้รับอิทธิพล และผลสืบเนื่อง จากเหตุการณ์ 6 ตุลา ตลอดระยะเวลา 45 ปี จวบกระทั่งปัจจุบัน มาร่วมพูดคุยในธีมของ “6 ตุลา จากปากคำของสามัญชน ความทรงจำ ประสบการณ์ของบุคคล สู่สาธารณะ” เริ่มเวลา 20.00 น. ทางคลับเฮาส์

ขณะที่จ.เชียงใหม่ จัดเสวนาชำระประวัติศาสตร์ 6 ตุลา วันล้อมฆ่าชาว (ล้าน) นา ที่ข่วงประตูท่าแพ เวลา 16.00-18.00 น. มีการแสดง กิจกรรม และนิทรรศการ ส่วน จ.ลำพูน จัดงานรำลึก 6 ตุลา ร่วมขบวนประวัติศาสตร์ประกาศว่าจะชำระบาดแผล 6 ตุลา โดยตั้งขบวนที่สถานีรถไฟลำพูน เวลา 16.00 น. ผ่านโรงเรียนจักรคำ ศาลากลาง แจ่มฟ้า สู่ข่วงท่าขาม

ขณะเดียวกัน มีการเสวนาเรื่อง “จากพยานเหตุการณ์สู่ผู้ขุดคุ้ยประวัติศาสตร์เมื่อเขม่าปืน ไม่อาจกลืนความจริง”ตั้งแต่เวลา13.00-16.00 น. ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กเพจศิลปะนานาพันธุ์ โดยช่วงที่ 1 จากพยานเหตุการณ์สู่ผู้ขุดคุ้ยประวัติศาสตร์ โดยสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ร่วมพูดคุยกับทีมงานกล่องบันทึกเหตุการณ์ 5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง

ช่วงที่ 2 “เมื่อเขม่าปืนไม่อาจกลืนความจริง ไม่มีอะไรจะหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลา” ร่วมเสวนาโดย รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นาย รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นายพริษฐ์ วัชรสินธุ และน.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำนักศึกษา ผู้ดำเนินรายการ ทุกช่วงเสวนาโดยนายนพเก้า คงสุวรรณ

ด้าน จ.ขอนแก่น มีกิจกรรมตั้งเช้ายันค่ำ โดยเวลา 09.00 น. ที่พิเพิ่ล คาเฟ่ จ.ขอนแก่น นิทรรศการศิลปะ นิทรรศการดนตรี วงเสวนารำลึกเหตุการณ์เดือนตุลา ต่อมาเวลา 16.00 น. ที่ลานรูปพัด คณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น รำลึก 6 ตุลา ใครฆ่าประชาชน

ส่วน จ.อบุลราชธานี จัดงานรำลึก 45 ปี 6 ตุลา เริ่มเวลา 17.00 น. ที่พระอนุสาวรีย์พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้างศาลหลักเมืองอุบลราชธานี

ขณะที่ จ.กาญจนบุรี จัดงานที่หน้าศาลากลางจังหวัด เริ่มเวลา 06.00 น. วางดอกไม้สด จุดเทียน และทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง เพื่ออุทิศแด่ผู้สูญเสียจากเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาและประชาชน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ขณะเดียวกันโครงการบันทึก 6 ตุลา ร่วมกับกลุ่มพลเมืองตื่นรู้ Active Citizens ขอเชิญชวนทุกคนร่วมฟังเสวนาพิเศษ 6 ตุลาคม เริ่มเวลา 19.30-22.30 น. ร่วมพูดคุยกับ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา หนึ่งในนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ที่อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ติดตามรับฟังได้ในคลับเฮาส์ พลเมืองตื่นรู้ Active Citizens และ เฟซบุ๊กเพจบันทึก 6 ตุลา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประตูทางเข้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีป้ายประกาศปิดทำการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. ถึงวันที่ 31 ต.ค. จะเปิดทำการระยะที่ 1 ในเดือนพ.ย.2564 โดยระบุว่าเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด แก่บุคลากรและนักศึกษา และเพื่อให้การดำเนินงานของ ม.ธรรมศาสตร์ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ให้งดการปฏิบัติงาน และการติดต่อราชการทั้งหมดภายในมหาวิทยาลัย และให้ส่วนงานใน ม.ธรรมศาสตร์ ใช้รูปแบบการปฏิบัติงานภายในที่พัก หรือการปฏิบัติงานที่บ้านเต็มจำนวน จนถึงวันที่ 31 ต.ค.

ปิดมธ. – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ติดป้ายที่ประตูทางเข้าแจ้งปิดทำการชั่วคราวจนถึง 31 ต.ค. รวมถึงลานประติมานุสรณ์ 6 ตุลาคม 2519 หน้าหอประชุมใหญ่ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดรำลึก 45 ปี 6 ตุลาฯ ในปีนี้

ขณะที่กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และ การชุมนุม และเฟซบุ๊กเพจ 45 ปี 6 ตุลา โพสต์เชิญชวนร่วมกิจกรรมรำลึกที่สวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยระบุว่า 6 ตุลา หนี้เลือดที่ยังไม่ชดใช้ งานเริ่มเวลา 07.30 น. ทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 9 รูป ตัวแทนคณะกรรมการจัดงาน 45 ปี 6 ตุลา กล่าวเปิดงาน เชิญชวนผู้ร่วมงานยืนไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิต

น.ส.จุทาทิพย์ ศิริขันธ์ หรืออั๋ว นักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ อ่านรายชื่อผู้วายชนม์ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 น.ส. ชุมาพร แต่งเกลี้ยง หรือวาดดาว เฟมินิสต์ปลดแอก ร่ายบทกวีแด่วีรชน 6 ตุลา ต่อด้วยการอ่านบทกวีของวัฒน์ วรรลยางกูร และบทกวีของสุขุม สมหวัง ยังวัน จากนั้นวางพวงมาลาและดอกไม้ ณ ประติมานุสรณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยผู้แทนองค์กรต่างๆ

เวลา 09.30-10.00 น. ปาฐกถาพิเศษโดย นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อดีตผู้นำนักศึกษา 6 ตุลา เวลา 10.00-10.30 น. มอบรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย ให้นายพริษฐ์ หรือเพนวิน ชิวารักษ์ ต่อด้วยพิธีกล่าวไว้อาลัย เปิดนิทรรศการ “หนี้เลือด 6 ตุลาคม 2519 ถึงเวลาชำระ” โดยนาย จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตผู้นำนักศึกษา 6 ตุลา ที่สนามฟุตบอล ม.ธรรมศาสตร์

ต่อมาเวลา 16.00 น. เปิดเวทีปราศรัยที่ลานปืนใหญ่ข้างหอประชุมใหญ่ การแสดงดนตรี โดยนายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย หรือลูกนัท นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ ต่อด้วยนิทรรศการสด โศกนาฏกรรมเดือนตุลา พร้อมเพลงจากลานโพธิ์ถึงภูพาน และเพลงสหาย เวลา 18.45 น. อ่านบทกวี โดยน.ส.ปนัสยา หรือรุ้ง ต่อด้วยจุดเทียนรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา ร่วมร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา และเวลา 19.00 น. ปิดงาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน