ลดระบาย‘เจ้าพระยา-ป่าสัก’
โจรลักสายไฟสูบกรมชลฯ
ทำน้ำทะลัก-ท่วมนนทบุรี

อุตุฯ เตือนด่วน ‘ดีเปรสชัน’ ลูกใหม่จ่อถล่มไทย เขื่อนเจ้าพระยา-ป่าสักฯ ลดการระบายน้ำแล้ว ผู้ว่าฯ กทม. เผยระดับน้ำยังไม่กระทบกรุงเทพฯ โจรย่องลักตัดสายไฟเครื่องสูบน้ำประตูระบายคลองบางไผ่ใหญ่นนทบุรี ทำน้ำท่วมทั้งบาง ท่าเรือ-กรุงเก่าจมมิดหลังคา ลพบุรีไล่น้ำออกไปทางฝั่งขวาคลองชัยนาท-ป่าสัก บรรเทาท่วมบ้านหมี่ ขอนแก่นอพยพวุ่นหนีน้ำชีทะลัก อุบลฯ เร่งผันลงโขงเคลียร์ที่รับน้ำมูน-ชี

ท่วมหนัก – สภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ในหมู่บ้านท้ายคุ้ง ต.วังแดง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา หลังระดับน้ำท่วมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงเอว ทำให้ชาวบ้าน 106 ครัวเรือนได้รับความเดือดร้อน เมื่อวันที่ 6 ต.ค.

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 6 ต.ค. นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุฯ เรื่อง พายุดีเปรสชัน บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ฉบับที่ 1 ระบุว่า เมื่อเวลา 15.00 น. พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 10-11 ต.ค.

อนึ่ง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ในช่วงวันที่ 7-11 ต.ค. ลักษณะเช่นนี้ทำให้คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนกำลัง แรงขึ้น โดยทะเลอันดามันคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนอ่าวไทยคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 ต.ค. นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) TEAMG หรือทีมกรุ๊ป ซึ่งมีประสบการณ์ความชำนาญในด้านการบริหารจัดการน้ำมากกว่า 30 ปี วิเคราะห์พายุ “ไลอ้อนร็อก” ขึ้นฝั่งล่าช้ากว่าปกติ จากเดิม 7-9 ต.ค. แต่พายุขึ้นไปทางเหนือ อ้อมไปที่เกาะไหหลำ ก่อนจะมาขึ้นเมืองวิญ ประเทศเวียดนาม

ทั้งนี้ การรวมตัวกันช้า เมื่อเข้าไทยจึงมีพลังมากพอ เพราะรวมพลังได้ใหญ่ผ่านทะเลรวบรวมความชื้นมากขึ้น โดยจะเข้าไทยที่ จ.นครพนม ฝนที่นครพนม ตกหนัก 11-12 ต.ค. เช่นเดียวกับที่จ.บึงกาฬ จ.อุดรธานี แต่ไม่น่าห่วง เพราะสามารถระบายลงแม่น้ำโขงได้เร็ว

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับหน่วยงานภายใต้ กอนช. อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สสน. จิสด้า กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริม การเกษตร เป็นต้น ประเมินและบริหารจัดการสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก และลุ่มน้ำชี-มูน

ขณะนี้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 2,749 ลบ.ม.ต่อวินาที และปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระราม 6 สูงสุดในอัตรา 762 ลบ.ม.ต่อวินาที ปริมาณน้ำไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา 2,784 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยจะไหลออกสู่อ่าวไทย ในช่วงวันที่ 8-10 ต.ค.

ขณะเดียวกัน กรมชลประทานจะปรับลดการระบายน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ลงจากเดิมระบายวันละ 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ลดลงเหลือ 800 ลบ.ม.ต่อวินาที ให้สถานการณ์น้ำท่วมลดระดับลง และกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ปัจจุบันเขื่อนป่าสักฯ ระบาย 933 ลบ.ม.ต่อวินาที และทยอยปรับลดลงให้สอดคล้องกับน้ำไหลเข้า เพื่อลดระดับน้ำให้เข้าสู่เกณฑ์ควบคุมเตรียมรองรับน้ำที่อาจมีเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยม วิทยาที่อาจจะมีฝนเพิ่มขึ้นในช่วงระหว่าง วันที่ 10 ต.ค.นี้

ส่วนหย่อมความกดอากาศต่ำ 2 ลูก ที่ ก่อตัวในทะเลจีนใต้ กรมอุตุฯ ร่วมกับ สสน. เฝ้าระวังผลกระทบต่อประเทศไทย คาดการณ์ว่า หย่อมความกดอากาศต่ำลูกแรกมีแนวโน้มต่ำที่จะพัฒนาเป็นพายุโซนร้อน เนื่องจากอิทธิพลของความกดอากาศสูงที่แผ่ลงมา แต่ยังคงมีฝนอยู่ตามฤดูกาล ส่วนหย่อมความกดอากาศต่ำลูกที่สองมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากกว่าหย่อมความกดอากาศลูกแรก กอนช. ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแนวทางป้องกันพื้นที่เสี่ยงให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

สำหรับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อเร่งคลี่คลายสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูน ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งบริเวณ 9 จังหวัด ได้แก่ เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ที่ประชุมมอบหมายการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับกรมชลฯ บริหารจัดการน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ โดยระบายน้ำในระดับที่ไม่มีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ อัตรา 20 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการกลางจังหวัดขอนแก่นแล้ว

รวมถึงการควบคุมน้ำในลำน้ำของแม่น้ำชี-มูน ให้กรมชลฯ เปิดประตูระบายน้ำให้เต็มศักยภาพเพื่อให้ไม่เป็นการหน่วงน้ำ และสามารถระบายน้ำได้ พร้อมทั้งเร่งระบายน้ำที่ไม่สามารถเก็บกักได้ลงแม่น้ำโขงโดยเร็ว

ที่ประชุมยังติดตามสถานการณ์และการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์พายุที่อาจจะเข้าสู่พื้นที่ภาคใต้ตอนบนและภาคใต้ ตอนล่าง คาดว่าต.ค.มีโอกาสฝนตกเพิ่มขึ้น อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในบางแห่ง พร้อมคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยพื้นที่ภาคใต้ เดือนต.ค.-ธ.ค. มีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย 668 ตำบล 125 อำเภอ 14 จังหวัด

โดยจำแนกพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในแต่ละจังหวัด โดยที่ประชุมซักซ้อมความพร้อมรับมือสถานการณ์ เครื่องจักรเครื่องมือประจำจุดเสี่ยง จุดอ่อนไหวต่างๆ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนน้ำมากในเกณฑ์เฝ้าระวัง อาทิ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเขื่อนบางลาง จ.ยะลา เป็นต้น

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากอิทธิพลพายุ “เตี้ยนหมู่” ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. ถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 32 จังหวัด รวม 208 อำเภอ 1,130 ตำบล 7,618 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 298,901 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 9 ราย (ลพบุรี 6 ราย เพชรบูรณ์ 2 ราย ชัยนาท 1 ราย) สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 16 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พิจิตร เพชรบูรณ์ ตาก กำแพงเพชร บุรีรัมย์ นครปฐม ยโสธร สุรินทร์ เลย ศรีสะเกษ สระแก้ว จันทบุรี ปราจีนบุรี

ยังคงมีสถานการณ์ 16 จังหวัด ประกอบด้วย สุโขทัย พิษณุโลก ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา อุบลราชธานี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี รวม 74 อำเภอ 410 ตำบล 2,176 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 101,005 ครัวเรือน

ที่บ้านท่าพระเนาว์ ต.ท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น นำกำลังเจ้าหน้าที่ ปภ., ทหาร ตำรวจ, ฝ่ายปกครอง, เทศบาล และหน่วยกู้ภัย เร่งให้การช่วยเหลือประชาชนที่ถูกกระแสน้ำจากแม่น้ำชีไหลท่วมบ้านเรือน กระแสน้ำไหลท่วมบ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตรในหลายจุดอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ล่าสุดอสูงประมาณ 1.80 เมตร ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านต้องอพยพสิ่งของออกจากบ้านตลอดทั้งคืน ขณะที่บางรายจำเป็นต้องทิ้งทรัพย์สินไว้ในบ้าน เนื่องจากเก็บข้าวของไม่ทันเนื่องจากน้ำมาแรงและเร็วมาก

ล่าสุดระดับน้ำชีด้านเหนือเขื่อน ยโสธร-พนมไพร ต.เขื่องคำ อ.เมืองยโสธร จุดสะพานข้ามลำน้ำชีบนถนนยโสธร-นครราชสีมา สายใหม่ ไป อ.พนมไพร และอ.สุวรรณภูมิ จจ.ร้อยเอ็ด ระดับน้ำชีลดลงกว่า 2 เมตร จนตอม่อโผล่เหนือน้ำชีอย่างเห็นได้ชัด

ทั้งนี้ จากการเปิดประตูระบายน้ำสูงสุดทั้ง 8 บาน เพื่อรองรับน้ำชีที่ไหลมาจาก จ.ขอนแก่น ที่ผ่าน จ.มหาสารคาม จ.กาฬสินธุ์ และจ.ร้อยเอ็ด พร้อมทั้งปิดประตูระบายน้ำจากลำน้ำชีเข้าชุมชน และไร่นาเพื่อป้องกันน้ำเหนือไหลบ่า ก่อนที่เจ้าหน้าที่จากกรมชลประทานจำนำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ติดตั้งจุดต่างๆ ใน 4 อำเภอ เพื่อสูบน้ำฝนและปริมาณน้ำท่วมสระสมในพื้นที่ลงลำน้ำชีตลอด 24 ชั่วโมง จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ปกติ

ชลประทานอุบลราชธานี ตั้งรับมวลน้ำจากลำเชียงไกร จ.นครราชสีมา มาตามแม่น้ำมูน และน้ำแม่น้ำชีจาก จ.ชัยภูมิ ที่จะไหลมาบรรจบกันที่จังหวัดจะมีน้ำเข้ามาเติมอีกราว 10 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำที่มีอยู่แล้ว จึงจัดการจราจรน้ำใช้เครื่องผลักดันน้ำมูนลงโขงให้เร็ว ก่อนมวลน้ำใหม่มาถึง

สถานการณ์ล่าสุดแม่น้ำมูนที่สถานีวัดน้ำสะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมือง มีระดับน้ำสูง 7.49 เมตร มีน้ำล้นตลิ่ง 49 เซนติเมตร ไหลท่วมชุมชนลุ่มต่ำใน 3 เขตเทศบาลคือ เทศบาลนครอุบลราชธานี เทศบาลเมืองแจระแม และเทศบาลเมืองวารินชำราบ รวม 21 ชุมชน และต้องอพยพไปอยู่ตามศูนย์พักพิง 236 ครัวเรือน จำนวน 915 คน โดยวันนี้ แม่น้ำมูนเริ่มทรงตัวก่อนจะปรับตัวลดลง

ที่ อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี โดยเฉพาะ ต.หนองเมือง, ต.บ้านกล้วย, ต.หนองกระเบียน, ต.หนองทรายขาว และต.พุคา น้ำยังคงท่วมสูงอยู่ ชลประทานที่ 10 จังหวัดลพบุรีเร่งระบายน้ำออกไปทางฝั่งขวาคลองชัยนาท- ป่าสัก เพื่อให้ฝั่งซ้ายบรรเทาความเดือดร้อนบ้าง แต่สำหรับ ต.พุคา และ ต.หนองทรายขาว ชาวบ้านก็ยังทนทุกข์อยู่กับสภาวะ น้ำท่วมขังอยู่

ส่วนบริเวณวัดนางเล่ว ต.ชัยฤทธิ์ อ.ไชโย จ.อ่างทอง น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นเข้าท่วมหลังจากเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา คันกั้นน้ำระหว่าง ต.จระเข้ร้อง และต.ชัยฤทธิ์ พังทลายลง ทำให้กระแสน้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนกว่า 100 หลังคาเรือน แม้กระทั่ง โบสถ์ เมรุ ของวัดนางเล่วจมน้ำเสียหาย รวมทั้งเจดีย์ของชาวบ้านที่บรรจุกระดูกของญาติโยมด้วย

ท่วมวัด – ภาพมุมสูงกระแสน้ำจากแม่น้ำป่าสักล้นตลิ่งเข้าท่วมวัดสะตือพุทธไสยาสน์ หรือวัดสะตือ ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำสูงถึงครึ่งเมตรและเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อวันที่ 6 ต.ค.

วันเดียวกัน เขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำที่ 2,719 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่าน จ.พระนครศรีอยุธยา แม่น้ำน้อย ที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพรยา และคลองสาขา แม่น้ำน้อย ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นท่วมบ้านเรือน วัด โรงเรียน สถานที่ราชการ บางจุดน้ำสูงกว่า 4 เมตร ต้องขยับขนย้ายสิ่งของหนีน้ำขึ้นสูงขึ้นกว่าเดิม

ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำป่าสัก เขื่อนพระราม 6 อ.ท่าเรือ ระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนอยู่ที่ 953 ลบ.ม.ต่อวินาที น้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ตลาดท่าเรือ อ.ท่าเรือ บริเวณโดยรอบของชุมชนวัดสะตือ กว่า 100 หลังคา บางบ้านระดับน้ำท่วมสูงไม่สามารถพักอาศัยได้ บางหลังถูกท่วมมิดหลังคา น้ำท่วมครั้งนี้เกือบเท่ากับ 2554

ที่ศาลาว่าการกทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงสถานการณ์น้ำเหนือไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ว่า วันนี้ (เวลา 06.00 น.) ปริมาณน้ำของกรมชลประทานที่อำเภอบางไทรตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่าน กทม. เฉลี่ย 3,104 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาด เขตพระนคร อยู่ที่ระดับ 1.78 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยังต่ำกว่าระดับคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานครอยู่ประมาณ 1.22 เมตร จึงยังไม่ส่งผลกระทบในพื้นที่กรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันที่ 7-10 ต.ค.นี้ คาดว่าระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 30-50 เซนติเมตร ขอให้ชุมชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา 11 ชุมชน 239 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักการระบายน้ำ

วันเดียวกัน นายรัฐพล บุณณะ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม โครงการชลประทานนนทบุรี และนายสรศักดิ์ เบิกขุนทด วิศวกรเครื่องปฏิบัติการ หัวหน้าฝ่ายช่างกล โครงการชลประทานนนทบุรี กำลังนำเจ้าหน้าที่เร่งซ่อมแซมติดตั้งสายไฟฟ้าใหม่ให้กับเครื่องสูบน้ำขนาด 0.5 ลบ.ม.ต่อวินาที จำนวน 2 เครื่อง ประตูระบายน้ำคลองบางไผ่ใหญ่ ซอยบางไผ่ 18 ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี เนื่องจากคนร้ายลักตัดสายไฟทำให้เครื่องสูบน้ำทำงานไม่ได้ ส่งผลทำให้เกิดน้ำเอ่อล้นคลองบางไผ่และเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน

เบื้องต้นพบว่า คนร้ายลักตัดสายไฟเป็นครั้งที่ 3 แล้ว มูลค่าความเสียรวม 2 แสนกว่าบาท ขณะที่คนร้ายนำไปชั่งกิโลขายได้ไม่เกิน 2 หมื่นบาท แต่ผลกระทบในวงกว้างที่ตามมาคือชาวบ้านจะได้รับความเดือดร้อนจากน้ำที่ไหลเข้าท่วม หากประตูระบายน้ำไม่สามารถระบายน้ำออกได้ทัน

ส่วนที่ชุมชนศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเก่า ปากคลองอ้อม หมู่ 3 ต.บางศรีเมือง อ.เมือง จ.นนทบุรี กระแสน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาทลายแนวกระสอบทรายจำนวน 1 พันลูก ที่เทศบาลตำบลบางศรีเมืองนำมาเสริมแนวคันกั้นน้ำเก่า เมื่อกลางดึกที่ผ่ายนมา น้ำจำนวนมหาศาลเอ่อล้นท่วมพื้นที่ศาลหลักเมืองเก่าและบ้านเรือนของชาวบ้านในชุมชนหลัง คันกั้นน้ำในทันที โดยระดับน้ำท่วมสูงกว่า 50 ซ.ม.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน