แจงขั้นตอนนักท่องเที่ยว
สงขลานิวไฮ-ป่วยพุ่ง676
เชียงใหม่วิกฤตขาดเตียง
สปสช.เคลียร์หนี้2หมื่นล.
เฟกนิวส์คนละครึ่งเฟส4

สั่งยกเลิกเคอร์ฟิว กทม.-16 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว ราชกิจจานุเบกษาประกาศให้มีผล 5 ทุ่มคืนวันที่ 31 ต.ค. ต้อนรับเปิดประเทศ 1 พ.ย. 45 ประเทศ+1 เขตปกครองพิเศษฮ่องกง เข้าไทยไม่ต้องกักตัว ต้องอยู่ในประเทศต้นทางเกิน 21 วัน หากไม่เข้าเกณฑ์เลือกเข้าโครงการแซนด์ บ็อกซ์ 7 วันได้ มุ่งฉุดเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น-ไตรมาส 4 ศบค.รายงานป่วยโควิดเพิ่มอีก 9,810 ราย เสียชีวิต 66 ราย กทม. ต่ำกว่าพันวันแรก ลดเหลือ 908 ราย แรงงานตัดอ้อย คลัสเตอร์ใหม่ อรัญประเทศ สระแก้ว ชาวกัมพูชาป่วยแล้ว 23 ราย ประจวบฯ ยังวิกฤต พบป่วยอีก 341 คน เจอในปราณบุรีถึง 238 คน ฉีดวัคซีนแล้ว 69.2 ล้านโดส บูสเตอร์เข็ม 3 แล้ว 2,084,705 ราย สปสช.เร่งเคลียร์หนี้เบิกจ่ายบริการโควิด 2 หมื่นล้าน คาดโอนได้พ.ย.นี้ โฆษกรัฐเตือนภัยเฟกนิวส์ ให้แจ้งชื่อคนละครึ่งเฟส 4 อย่าหลงเชื่อแก๊งมิจฉาชีพฉวยฉกข้อมูล-แฮ็กบัญชี

ป่วยอีก 9,810-ตาย 66

เมื่อวันที่ 22 ต.ค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังต่ำกว่าหมื่นรายอีกวัน คือ 9,810 ราย หายป่วย 10,513 ราย เสียชีวิต 66 ราย รักษาตัว 102,317 ราย อาการหนัก 2,585 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 583 ราย แนวโน้มลดลงต่อเนื่อง กลุ่มจังหวัดรายงานติดเชื้อเสียชีวิตสูงยังอยู่ในภาคใต้ ติดเชื้อคิดเป็นสัดส่วน 19% กทม.ปริมณฑลลดลงต่อเนื่อง สัดส่วนคือ 16% ส่วนผู้เสียชีวิต 66 ราย มาจากภาคใต้ 25 ราย และใน 10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด จะเห็นว่า ภาคใต้ติดอันดับสูง โดยคลัสเตอร์ในภาคใต้พบการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์เล็กๆ เริ่มกระจายเข้าไปสู่ครอบครัวและชุมชน เช่น ตลาด ดังนั้นต้องระวังอย่างเข้มงวด

สำหรับผู้ป่วยสะสม มีจำนวน 1,710,447 ราย เสียชีวิตสะสม 18,625 ราย อยู่ในร.พ. 43,681 ราย ร.พ.สนามและอื่นๆ 58,636 ราย ภาพรวมผู้ติดเชื้อวันนี้ม าจาก 67 จังหวัดรวมกันสูงสุด 6,285 ราย คิดเป็น 65% 4 จังหวัดชายแดนใต้ 1,836 ราย คิดเป็น 19% กทม.และปริมณฑล 1,559 ราย คิดเป็น 16% เรือนจำ 120 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศมี 10 ราย ได้แก่ สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินเดีย สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน พื้นที่ละ 1 ราย กัมพูชา 2 ราย และเมียนมา 3 ราย (ช่องทางธรรมชาติ)

ผู้เสียชีวิต 66 ราย มาจาก 29 จังหวัด ได้แก่ กทม. 10 ราย, ปัตตานี 7 ราย, สมุทรสาคร นครราชสีมา ตาก ยะลา นครศรีธรรมราช จังหวัดละ 3 ราย, สมุทรปราการ อำนาจเจริญ ลำพูน นราธิวาส สตูล สงขลา ภูเก็ต ชุมพร กระบี่ ชลบุรี สระบุรี สมุทรสงคราม จังหวัดละ 2 ราย และปทุมธานี อุดรธานี อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ลำพูน แพร่ ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง ฉะเชิงเทรา และลพบุรี จังหวัดละ 1 ราย ผู้เสียชีวิตเป็นชาย 31 ราย หญิง 35 ราย อายุ 39-100 ปี ค่ากลางอายุ 72 ปี โดยเป็น ผู้สูงอายุ 60 ปีและมีโรคประจำตัวรวมกัน 94% ไม่มีโรคเรื้อรัง 6%

29 จว.ยังป่วยเกิน 100 ราย

จังหวัดที่ติดเชื้อเกิน 100 รายมี 29 จังหวัด โดย 10 อันดับที่ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1.กทม. 908 ราย สะสม 391,850 ราย 2.สงขลา 676 ราย สะสม 41,647 ราย 3.นครศรีธรรมราช 662 ราย สะสม 24,801 ราย 4.ยะลา 432 ราย สะสม 37,212 ราย 5.ปัตตานี 422 ราย สะสม 31,967 ราย 6.เชียงใหม่ 412 ราย สะสม 12,993 ราย 7.ประจวบคีรีขันธ์ 341 ราย สะสม 13,345 ราย 8.ตาก 309 ราย สะสม 19,749 ราย 9.สมุทรปราการ 307 ราย สะสม 119,955 ราย และ 10.นราธิวาส 306 ราย สะสม 33,596 ราย

สำหรับ 19 จังหวัดที่เหลือ ได้แก่ ชลบุรี 299 ราย, จันทบุรี 248 ราย, สุราษฎร์ธานี 241 ราย, ราชบุรี 238 ราย, ระยอง 227 ราย, ปราจีนบุรี 209 ราย, ตรัง 202 ราย, ขอนแก่น 172 ราย, อุดรธานี 161 ราย, เพชรบูรณ์ 149 ราย, สระแก้ว 149 ราย, เพชรบุรี 146 ราย, สตูล 138 ราย, นครสวรรค์ 134 ราย, ภูเก็ต 125 ราย, กาญจนบุรี 125 ราย, ชุมพร 118 ราย, สระบุรี 115 ราย และอุบลราชธานี 104 ราย

ฉีดวัคซีนแล้ว 69.2 ล้านโดส

ขณะที่ติดเชื้อต่ำกว่า 20 ราย มี 20 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร 18 ราย, อ่างทอง 18 ราย, ยโสธร 18 ราย, สกลนคร 18 ราย, เลย 16 ราย, ระนอง 15 ราย, ร้อยเอ็ด 13 ราย, แพร่ 10 ราย, สุโขทัย 9 ราย, สิงห์บุรี 8 ราย, ลำปาง 7 ราย, ลำพูน 4 ราย, มุกดาหาร 4 ราย, อุทัยธานี 3 ราย, บึงกาฬ 3 ราย, ชัยนาท 2 ราย, นครพนม 1 ราย, อำนาจเจริญ 1 ราย, น่าน และหนองบัวลำภู 0 ราย

สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 วันที่ 21 ต.ค. ฉีดเพิ่มขึ้น 714,104 โดส สะสม 69,217,162 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 39,358,277 ราย คิดเป็น 54.6% ของประชากร เข็มสอง 27,774,180 ราย คิดเป็น 38.6% ของประชากร และเข็มสาม 2,084,705 ราย คิดเป็น 2.9% ของประชากร

ยกเลิกเคอร์ฟิว 17 จว.รับเที่ยว

พญ.อภิสมัย แถลงเรื่องการเปิดประเทศว่า มีการหารือและนำเสนอข้อสรุปให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ลงนาม เมื่อวันที่ 21 ต.ค. และออกประกาศฉบับที่ 36 ตามมาตรา 9 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 โดยระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้น รัฐบาลเห็นความจำเป็นการฟื้นฟูประเทศ เพื่อประโยชน์การใช้ชีวิตและเศรษฐกิจ จึงให้เปิดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวมาจากต่างประเทศมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานในภาคท่องเที่ยวและบริการ ยึดหลักประชาชนปลอดภัย สร้างความมั่นใจนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนในประเทศ

สำหรับการกำหนดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (แซนด์บ็อกซ์) หรือพื้นที่สีฟ้า 17 จังหวัด ให้สถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมในเขตพื้นที่ ดังกล่าวดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด เช่น มาตรการป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา มาตรการองค์กรปลอดโควิด โควิด ฟรี เซ็ตติ้ง เป็นต้น โดยยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดง) มีผลวันที่ 31 ต.ค. เวลา 23.00 น. แต่ยังห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มกันของบุคคลมากกว่า 500 คน ส่วนสถานประกอบการคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะ ที่อยู่ในพื้นที่นำร่อง ท่องเที่ยวยังให้ปิดดำเนินการ แต่ให้เตรียมความพร้อมเพื่อการผ่อนคลายมาตรการที่เกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสามารถกำหนดมาตรการเพิ่มเติมหรือสั่งปิด ห้ามดำเนินกิจการกิจกรรมได้หากมีการแพร่ระบาด

ทั้งนี้ 17 จังหวัด แนบท้ายคำสั่งศบค. เรื่องพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวนั้นได้แก่ 1.กรุงเทพฯ 2.กระบี่ 3.ชลบุรี (เฉพาะ อ.บางละมุง เมืองพัทยา ศรีราชา เกาะสีชัง และสัตหีบ เฉพาะ ต.นาจอมเทียน และ ต.บางเสร่) 4.เชียงใหม่ (เฉพาะ อ.เมืองเชียงใหม่ ดอยเต่า แม่ริม และแม่แตง) 5.ตราด (เฉพาะ อ.เกาะช้าง) 6.บุรีรัมย์ (เฉพาะ อ.เมืองบุรีรัมย์) 7.ประจวบคีรีขันธ์ (เฉพาะ ต.หัวหิน และ ต.หนองแก) 8.พังงา 9.เพชรบุรี (เฉพาะเทศบาลเมืองชะอำ) 10.ภูเก็ต 11.ระนอง (เฉพาะเกาะพยาม) 12.ระยอง (เฉพาะเกาะเสม็ด) 13.เลย (เฉพาะ อ.เชียงคาน) 14.สมุทรปราการ (เฉพาะบริเวณพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ) 15.สุราษฎร์ธานี (เฉพาะเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า) 16.หนองคาย (เฉพาะ อ.เมืองหนองคาย สังคม ศรีเชียงใหม่ และท่าบ่อ) และ 17.อุดรธานี (เฉพาะ อ.เมืองอุดรธานี บ้านดุง กุมภวาปี นายูง หนองหาน และประจักษ์ศิลปาคม)

45ปท.+ฮ่องกงเข้าไทยไม่กักตัว

ส่วนมาตรการเดินทางเข้าประเทศไทยรวมถึงคนไทยและต่างชาติ ตอนนี้จะมีมาตรการแบ่งเป็น 3 กลุ่ม 3 ประเภท คือ 1.เดินทางโดยไม่ต้องกักตัว กลุ่มประเทศนี้มี 45 ประเทศ บวก 1 เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ข้อจำกัดคือ ผู้เดินทางต้องพำนักในประเทศนั้นๆ ที่กำหนดต่อเนื่องอย่างน้อย 21 วันก่อนเดินทางมาประเทศไทย ยกเว้นผู้เพิ่งเดินทางออกจากประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องอยู่ในประเทศนั้นครบ 21 วัน กลุ่มประเทศได้แก่ 1.ออสเตรเลีย 2.ออสเตรีย 3.บาห์เรน 4.เบลเยียม 5.ภูฏาน 6.บรูไนดารุสซาลาม 7.บัลแกเรีย 8.กัมพูชา 9.แคนาดา 10.ชิลี 11.จีน 12.ไซปรัส 13.เช็ก 14.เดนมาร์ก 15.เอสโตเนีย 16.ฟินแลนด์ 17.ฝรั่งเศส 18.เยอรมนี 19.กรีซ 20.ฮังการี 21.ไอซ์แลนด์ 22.ไอร์แลนด์ 23.อิสราเอล 24.อิตาลี 25.ญี่ปุ่น 26.ลัตเวีย 27.ลิทัวเนีย 28.มาเลเซีย 29.มอลตา 30.เนเธอร์แลนด์ 31.นิวซีแลนด์ 32.นอร์เวย์ 33.โปแลนด์ 34.โปรตุเกส 35.กาตาร์ 36.ซาอุดีอาระเบีย 37.สิงคโปร์ 38.สโลวีเนีย 39.เกาหลีใต้ 40.สเปน 41.สวีเดน 42.สวิตเซอร์แลนด์ 43.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 44.อังกฤษ 45.สหรัฐอเมริกา และบวก 1 เขตบริหารพิเศษฮ่องกง

ฉีด 2 เข็ม-อาร์ที-พีซีอาร์เป็นลบ

หลักเกณฑ์คือรับวัคซีนครบ 2 เข็มอย่างน้อย 14 วันก่อนวันเดินทาง ตรวจหาเชื้อ โควิด อาร์ที-พีซีอาร์ 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางผลเป็นลบ มีประกันสุขภาพอย่างน้อย 5 หมื่นเหรียญ เมื่อมาถึงรับการตรวจอาร์ที-พีซีอาร์ ทันที เข้าพักคืนแรกในโรงแรมหรือสถานที่ราชการกำหนด เอเอสคิว หรือโรงแรม SHA Plus รอผลตรวจ 1 คืนผลเป็นลบ สามารถเดินทางไปพื้นที่อื่นได้ไม่ต้องกักตัว แต่เน้นย้ำตาม พ.ร.ก.ฉบับที่ 36 ต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นตั้งแต่มาถึงประเทศไทย เพื่อให้ติดตามตัวได้ว่าไปที่ไหนอย่างไร และร่วมมือมาตรการเฝ้าระวังการติดเชื้อ สวมหน้ากากตลอดเวลา เว้นระยะห่าง ล้างมือ ตามมาตรการป้องกันตนเองสูงสุด ไปใช้บริการพื้นที่ใดจังหวัดใด ปฏิบัติตามมาตรการโควิด ฟรี เซ็ตติ้ง กรณีคนไทยเดินทางมาจากกลุ่มประเทศไม่ต้องกักตัว ไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน 5 หมื่นเหรียญ เหมือนคนต่างประเทศ โดยเฉพาะสัญชาติไทย มีสิทธิการรักษาพยาบาลตามกฎหมายบัญญัติ การอนุญาตนี้เน้นเฉพาะเดินทางทางอากาศ และระบุท่าอากาศยาน คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต สมุย อู่ตะเภา และบุรีรัมย์ที่เป็นการเช่าเหมาลำเท่านั้น

เปิดช่องเข้าแซนด์บ็อกซ์ได้

2.หากไม่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวสามารถเข้ารูปแบบโปรแกรม แซนด์บ็อกซ์ คือ ภูเก็ต สมุย พังงา กระบี่ เป็นต้น ใช้หลักการเดียวกัน รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ตรวจโควิดอาร์ที-พีซีอาร์ 72 ชั่วโมงเป็นลบ ประกันสุขภาพ 5 หมื่นเหรียญ มีหลักฐานการจองที่พักมาตรการ SHA Plus เป็นโรงแรมในพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ เท่านั้นไม่สามารถไปพักที่ไหนได้ตามอิสระ มีหลักฐานการจ่ายเงินเรียบร้อยด้วยว่าติดตามพักที่ไหนเป็นเวลา 7 วัน มาถึงมีการตรวจหาเชื้อวันที่ 1 ผลเป็นลบ เดินทางในพื้นที่กำหนดได้ และตรวจโควิดซ้ำวันที่ 6-7 ก่อนออกจากแซนด์บ็อกซ์ไปพื้นที่อื่นได้

3.กลุ่มคนที่อาจจะไม่เข้าเกณฑ์เลย เช่น ยังไม่ได้รับวัคซีนเลย รับแล้วไม่ครบ ได้เข็มเดียวฉีดเข็ม 2 ไม่ถึง 14 วัน มาจากประเทศอื่นๆ จาก 45 ประเทศ และ 1 เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ยังเข้าประเทศไทยได้ภายใต้เงื่อนไขการกักกันที่ประเทศไทยกำหนด ทั้ง เอสคิว เอเอสคิว โอคิว และเฮชคิว แต่ละกรณีต้องเข้ารับการกักตัว มีรายละเอียดต่างกัน 7 วัน 10 วันตามแต่กรณี โดยจะมีการตรวจหาเชื้อวันที่ 1 ตรวจซ้ำกรณีก่อนออกจากคอวรันทีน เช่น กักตัว 7 วัน ตรวจวันที่ 6-7 หรือกักตัว 10 วันตรวจในวันที่ 8-9

เมื่อเริ่มใช้ในวันที่ 1 พ.ย. แล้วมีการเปลี่ยนแปลง สธ.และศบค.จะติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด หากมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดจะแจ้งทันที ส่วนกรณีอาจมีคำถามเพิ่มเติม คนไทยอยู่ในต่างประเทศ คนต่างชาติจำเป็นเข้ามาติดต่อการค้า ธุรกิจท่องเที่ยว สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ

มั่นใจแผนกระตุ้นศก.

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประกาศจำนวนกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำดังกล่าว ตามแผนเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ โดยไม่ต้องกักตัว นายกฯได้ย้ำให้ทุกหน่วยงาน บูรณาการการทำงานร่วมกัน ดำเนินการอย่างรอบคอบ รัดกุม และคำนึงถึงสถานการณ์ด้านสาธารณสุข โดยเล็งเห็นว่า หากประเทศไทยต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศให้มากขึ้นเพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว และภาคธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไทยจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าให้เร็วขึ้น และทำตั้งแต่ตอนนี้ เพราะการที่จะรอให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบก่อนนั้น จะทำให้ช้าเกินไป อีกทั้งนักท่องเที่ยวอาจตัดสินใจเลือกเดินทางไปประเทศอื่นก่อน แม้การเร่งเดินหน้าอย่างรวดเร็วนี้จะมีความเสี่ยงที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่เราต้องยอมรับ ประเทศไทยเอง มีความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยงของ โควิด-19 ได้ดีขึ้น และเราก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด-19 ให้ได้ โดยหลังจากที่ไทยได้ประกาศยกเลิกแผนการกักตัวประเทศอื่นๆ อาทิ อเมริกา อินโดนีเซีย (บาหลี) ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และมาเลเซีย ก็กำลังดำเนินการในลักษณะเดียวกัน รวมทั้งมีการผ่อนคลายมาตรการข้อบังคับต่างๆ

“นายกฯ ได้กำหนดนโยบายเหล่านี้ต่อยอดจากความสำเร็จด้านการจัดการโรคในประเทศ เพื่อเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และฟื้นฟูศรษฐกิจ ซึ่งท่านนายกฯ ได้ขอบคุณกระทรวง และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมกันทำภารกิจที่เต็มไปด้วยความกดดันนี้ พยายามแก้ไขและจัดการ กฎระเบียบ ขั้นตอน และกระบวนการต่างๆ ในระยะเวลาอันสั้น และตระหนักดีว่า ทุกคนทุกฝ่ายพยายามกันอย่างเต็มที่ และได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งเครื่องการฉีดวัคซีนให้เร็วมากยิ่งขึ้นไปอีก” นายธนกรกล่าว

ราชกิจจาฯระบุ 6 ขั้นตอน

นายธนกรกล่าวว่า ในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 21 ต.ค.2564 มีเงื่อนไขหลักๆ ใน 6 ขั้นตอน ได้แก่ 1.นักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติและคนไทยที่เดินทางมาจากประเทศที่กำหนดทางอากาศ กรณีมาจากกลุ่มประเทศอื่น ให้พำนักในประเทศที่กำหนดอย่างน้อย 21 วัน 2.มีเอกสารหรือหลักฐานรับรองการได้รับวัคซีน (Certificate of Vaccination) ครบตามเกณฑ์ที่ผู้ผลิตวัคซีนกำหนด ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยาหรือได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกหรือตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือ กรณีเคยติดเชื้อ และได้รับวัคซีน 1 เข็มในช่วง 3 เดือนหลังติดเชื้อ (เป็นประเทศที่กระทรวงการต่างประเทศตรวจสอบว่าใบรับรองการติดเชื้อแบบเป็นทางการ) เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วันก่อนออกเดินทาง ยกเว้น ผู้มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ที่ไม่อยู่ในเกณฑ์การได้รับวัคซีน และเดินทางมาพร้อมกับผู้ปกครอง

3.มีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางไม่พบเชื้อโรคโควิด – 19 โดยวิธีอาร์ที-พีซีอาร์ โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทางกรณีตรวจพบการติดเชื้อ ต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าเคยติดเชื้อมาก่อนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา และทำประกันสุขภาพ อย่างน้อย 50,000 เหรียญ 4.มีใบจองที่พักโรงแรม อาจเป็นสถานกักกันที่ที่ทางราชการกำหนด (เอสคิว โอคิว และเอเอชคิว) หรือโรงแรมที่เป็น SHA+ ที่มีโรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการสำหรับตรวจหาเชื้อ ในวันแรกที่มาถึง โดยรวมค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 โดยวิธี อาร์ที-พีซีอาร์

5.เมื่อเดินทางมาถึงท่าอากาศยาน โหลดแอพพลิเคชั่นหมอชนะ (ภาษาอังกฤษ) เดินทางโดยรถที่จัดไว้โดยมีการกำกับการเดินทาง เพื่อเข้าพักตามโรงแรมที่จองไว้ ร.พ.คู่ปฏิบัติตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 โดยวิธีอาร์ที-พีซีอาร์ ในวันที่ 0-1 โดยผู้เดินทางรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองและต้องอยู่ในโรงแรม จนได้รับผลการตรวจอย่างเป็นทางการ

6.เมื่อผลการตรวจหาเชื้อ ไม่พบเชื้อ สามารถเดินทางได้ตามความต้องการ และจะพักในโรงแรมที่จองและจ่ายเงินไว้แล้วล่วงหน้า หรือกลับไปพักที่บ้าน (กรณีมีที่พำนักในไทย) ก็ได้ โดยโรงแรมจะแนะนำให้สังเกตอาการอย่างน้อย 7 วัน หากมีอาการ ให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อจากโรงพยาบาลใกล้ที่พัก หรือ ตรวจแอนติเจนเทสต์ คิต (เอทีเค) ที่โรงแรม หากพบเชื้อรายงานเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่

ศก.ฟื้นไตรมาส 4-ต้นปีหน้า

นายธนกรกล่าวว่า สนามบินที่ปัจจุบันมีการบินระหว่างประเทศอยู่แล้ว ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ท่าอากาศยานนานาชาติสมุย ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา (มีเที่ยวบินชาร์เตอร์ เท่านั้น) และท่าอากาศยานบุรีรัมย์ (มีเที่ยวบินชาร์เตอร์ เท่านั้น) ส่วนสนามบินที่แจ้งความพร้อมแล้ว แต่ยังไม่มีเที่ยวบินระหว่างประเทศ ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ ท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ และท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี ซึ่งจะยืนยันในวันที่ 27 ต.ค.นี้

“ททท.ได้ประมาณการแผนการเปิดประเทศของรัฐบาลในวันที่ 1 พ.ย.2564 แบบไม่ต้องกักตัว จะทำให้เศรษฐกิจและการ ท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว โดยในไตรมาสที่ 4/2564 และ ไตรมาสที่ 1/2565 ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจะเติบโตในรูปแบบตัววี (V) และปีหน้าจะมีรายได้ประมาณ 50% ของปี 2562 ที่มีรายได้ 2 ล้านล้านบาท และมีรายได้เพิ่ม 80% ของปี 2562 ในปี 2566 และขอย้ำให้ทุกภาคส่วนปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวด เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการดูแลความมั่นคงด้านสาธารณสุขตามแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล” นายธนกรกล่าว

จวกเฟกนิวส์คนละครึ่งเฟส 4

นายธนกรกล่าวถึงกรณีข่าวโครงการคนละครึ่งส่งเอสเอ็มเอส ให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ์สำหรับเฟส 4 นั้น ยืนยันจากการตรวจสอบทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ของกระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมด้วยธนาคารกรุงไทยพบว่าประเด็นดังกล่าวว่า เป็นการกระทำของมิจฉาชีพที่แอบอ้าง ให้ประชาชนกรอกข้อมูลเพื่อยืนยันตัวตน เพื่อนำไปทุจริตโอนเงินออกจากบัญชีลูกค้า ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทยไม่มีนโยบายขอข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงิน และข้อมูลบัตรเดบิตของประชาชนโดยการส่งเอสเอ็มเอส แต่อย่างใด ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลสำคัญทางการเงินแก่บุคคลอื่นหรือลงในสื่อออนไลน์ต่างๆ

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุด รัฐบาลยังเพิ่มวงเงินให้กับผู้ได้รับสิทธิในโครงการคนละครึ่งเพิ่มอีกคนละ 1,500 บาท ในเดือน พ.ย. นี้ รวมวงเงินที่ได้รับในโครงการคนละครึ่งเฟส 3 ทั้งหมดเป็น 4,500 บาท ซึ่งประชาชนสามารถใช้สิทธิได้ถึง 31 ธันวาคม 2564 ในขณะที่โครงการคนละครึ่งเฟส 3 มีสิทธิเหลือ จำนวน 193,628 สิทธิ (ข้อมูล ณ วันที่ 19 ต.ค.) ส่วนของคนละครึ่งเฟส 4 นั้น อยู่ในแผนกระตุ้นไตรมาสที่ 4 ของกระทรวงการคลังและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะต้องหารือในเรื่องดังกล่าวต่อไป

เคลียร์หนี้โควิด 2 หมื่นล้าน

ด้านนพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งขาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีงบค่าบริการโควิด-19 ไม่เพียงพอ ว่า ตั้งแต่ช่วง พ.ค.ที่ผ่านมา มี ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นหลักพันเป็นหลักหมื่นราย มีผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิดเข้ารับคัดกรองการติดเชื้อ รักษาพยาบาล ฉีดวัคซีน และบริการดูแลที่บ้านและชุมชน ผ่านหน่วยบริการทั้งรัฐและเอกชน ทำให้มีการเบิกจ่ายค่าบริการส่งเข้ามายัง สปสช. เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่า โดยเดือนพ.ค. – ก.ค. อยู่ที่ 5-7 พันล้านบาท ส.ค.เพิ่มเป็น 1.1 หมื่นล้านบาท และด้วยการเบิกจ่ายค่าบริการมีระยะเวลาเบิกจ่าย 1-2 เดือน ทำให้เดือนก.ย.เพิ่มสูงถึง 1.5 หมื่นล้านบาท มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้งบประมาณที่ สปสช. ขอรับเพิ่มเติมจาก พ.ร.ก. กู้เงินฯ สำหรับบริการโรคติดเชื้อโควิด ไม่เพียงพอต่อการเบิกจ่ายค่าบริการกรณีโควิด และเกิดภาวะรอจ่ายหน่วยบริการเป็นจำนวน 20,829.23 ล้านบาท ที่ผ่านมา สปสช. รับทราบปัญหาและหารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเร่งแก้ปัญหา โดยให้ สปสช. จัดทำคำของบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม ซึ่งบอร์ด สปสช.มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 11 ต.ค.

นพ.จเด็จกล่าวต่อว่า ระหว่างนี้ สปสช. ได้นำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หมวดรายการและประเภทบริการอื่นหรือ รายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสม ที่ไม่มีภาระผูกพัน ทดรองจ่ายค่าบริการโควิด 19 ที่ค้างจ่ายหน่วยบริการส่วนหนึ่งไปก่อนระหว่างรอการอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม ขณะที่หน่วยบริการที่ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด และส่งเรื่องเบิกจ่าย เข้ามายัง สปสช. แล้ว แต่ยังไม่ได้รับชดเชย ค่าบริการ สปสช. อยู่ระหว่างประสานของบเพิ่มเติมเพื่อนำมาจ่ายชดเชยแล้ว ทันทีที่ได้รับการอนุมัติจาก ครม.แล้ว สปสช.จะเร่งโอนงบเพื่อจ่ายค่าบริการโควิดที่ค้างจ่ายโดยเร็ว คาดว่าจะจ่ายได้ในกลางเดือนพ.ย.

เชียงใหม่ยังหนัก 356-ตาย 2

ด้านสถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ต่างๆ ที่จ.เชียงใหม่ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มอีก 356 ราย จากในจังหวัด 350 ราย และอีก 6 รายจากต่างจังหวัด

สำหรับผู้ติดเชื้อที่ยังรักษาตัวอยู่นั้น แยกเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย (สีเขียว) 2,665 ราย อาการปานกลาง (สีเหลือง) 491 ราย อาการหนัก (สีแดง) 78 ราย ทั้งนี้ สถานการณ์การใช้เตียงนั้น ปริมาณเตียงที่มีการใช้คิดเป็น 72.7% แบ่งเป็นเตียง ผู้ป่วยสีเขียว 2,665 เตียง จาก 2,871 เตียง, ผู้ป่วยสีเหลือง 491 เตียง จาก 500 เตียง และผู้ป่วยสีแดง 78 เตียง จาก 85 เตียง ส่วนผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 ทำให้ยอดสะสมเป็น 47 ราย

พญ.กชพร อินทวงศ์ ผอ.ร.พ.เชียงดาว และรองผอ.ร.พ.สนามจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางร.พ.เตรียมปรับร.พ.สนาม 1,500 เตียง จากที่รับกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวไม่มีอาการ มารับ ผู้ป่วยสีเหลือง ที่มีอาการซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น

นครศรีฯ งัดเคอร์ฟิวสกัดโควิด

ด้านนายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผวจ.นครศรีธรรมราช แถลงประกาศเคอร์ฟิว โดยห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. แต่มีข้อยกเว้นสำหรับผู้ที่มีเหตุอันควรจริงๆ อาทิ เกษตรกรชาวสวนยางที่ต้องไปตัดยางในยามวิกาล, ผู้ปฏิบัติงานออกเวรยามในยามวิกาลและเจ้าหน้าที่มูลนิธิต่างๆ ตลอดเจ้าหน้าที่ในการออกปฏิบัติหน้าที่ พร้อมสั่งปิดชุมชนหน้าวัดหญ้า หมู่ 2 ต.นาทราย อ.เมือง และซอยมะขามทอง หมู่ 1 ต.โมคลาน อ.ท่าศาลา ไปจนถึงวันที่ 27 ต.ค. หลังจากพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและจำนวนมาก โดยสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อ วันละกว่า 600 ราย ล่าสุดวันเดียวกัน พบผู้ติดเชื้อพุ่งสูงเป็นนิวไฮคือ 665 ราย

แซนด์บ็อกซ์ป่วยอีก 2

ขณะที่ศูนย์ข้อมูลภูเก็ต รายงานว่า พบ ผู้ติดเชื้อใหม่ 128 ราย แยกเป็นจากในจังหวัด 126 ราย จากโครงการแซนด์บ็อกซ์ 2 ราย และมีเสียชีวิต 2 ราย

วอล์กอิน – ประชาชนกลุ่มเสี่ยง หญิงตั้งครรภ์ และกลุ่มอายุ 12-17 ปี เข้ารับบัตรคิว เพื่อฉีดวัคซีนไฟเซอร์แบบวอล์กอิน โดยมีผู้มารับวัคซีนประมาณ 400 คน ที่โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา จังหวัดที่เชื้อโควิดกำลังระบาดรุนแรงน่าห่วง เมื่อวันที่ 22 ต.ค.

สงขลานิวไฮ 676 คน

ด้านสำนักงานสาธารณสุข (สสจ.) สงขลา รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 676 คน เสียชีวิต 2 คน

ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า ม.อ.ปัตตานี ได้เปิดร.พ.สนามอีก 200 ห้องอีกครั้ง หลังจากปิดมาได้ 20 วัน

โคราชเร่งวัคซีน-รับเปิดเมือง

ส่วนความคืบหน้าการฉีดวัคซีน เพื่อเตรียมความพร้อมเปิดเมืองโคราช ในวันที่ 1 พ.ย. ตามนโยบายของนายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา ซึ่งตั้งเป้าว่าจะต้องฉีดวัคซีนให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย อายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 2,112,381 คน ให้ได้อย่างน้อย 70% ล่าสุดฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายไปแล้ว จำนวน 1,304,206 ราย หรือร้อยละ 61.74% โดยจะเร่งฉีดวัคซีนให้ได้ครบตามเป้าหมาย 100% ภายในวันที่ 31 ต.ค.

สระแก้วพบคลัสเตอร์ใหม่

นพ.ประภาส ผูกดวง นพ.สสจ.สระแก้ว กล่าวว่า มีผู้ป่วยยืนยันใหม่ 151 ราย แยกเป็นในจังหวัด 140 ราย จากจังหวัดอื่น 9 ราย และจากต่างประเทศ 2 ราย สำหรับคลัสเตอร์ใหม่ แรงงานตัดอ้อย ต.คลองทับจันทร์ อ.อรัญ ประเทศ พบผู้ติดเชื้อเป็นชาวกัมพูชา แล้ว 23 ราย เชื่อมโยงจากนายจ้างพาแรงงานไปต่อ อายุบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ที่ร.พ.อรัญประเทศ แล้วตรวจพบเชื้อ 1 ราย จากการสอบสวนโรคทราบว่ามีแรงงานที่ดูแลทั้งหมดประมาณ 40 ราย ส่วนที่เหลือได้กักตัวแล้วรอตรวจซ้ำ

ปราณบุรีป่วยพุ่งพรวด 238

ด้านสสจ.ประจวบคีรีขันธ์ รายงานว่า พบผู้ป่วยใหม่ 341 คน อยู่ที่อ.หัวหิน 57 คน ขณะที่อ.ปราณบุรี ทำสถิตินิวไฮสูงสุด มีผู้ติดเชื้อวันเดียว 238 คน โดยมีคสัสเตอร์ขนาดใหญ่ในโรงงานแปรรูปผลไม้กระป๋อง 4 แห่ง แคมป์คนงานก่อสร้างรถไฟทางคู่ บ้านพักคนงานโรงงานสับปะรดกระป๋อง สำหรับ อ.หัวหิน มีผู้ติดเชื้อในรอบ 14 วัน ก่อนเปิดเมืองในวันที่ 1 พ.ย. รวมแล้ว 616 คน ขณะที่อ.ปราณบุรี จำนวน 925 คน โดยเป็นการติดเชื้อจากแรงงานต่างด้าว

ทุกข์โควิด – พ่อค้าแม่ค้าและแรงงานในตลาดเมืองใหม่ เข้าคิวรอลงทะเบียนเพื่อกลับเข้าไปค้าขายในตลาดตามมาตรการป้องกันโควิด หลังถูกสั่งปิด 3 วันเพื่อทำความสะอาดฆ่าเชื้อ ที่สำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 ต.ค.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน